read
interview
04 ก.พ. 2565 | 15:12 น.
เก่ง - จักรวาล นิลธำรงค์: Anatomy of Time อยากชวนผู้ชมตั้ง ‘คำถาม’ มากกว่าให้ ‘คำตอบ’
Play
Loading...
“บุญ - กรรมมีจริงไหม?”
“นรก - สวรรค์มีจริงไหม?”
“แล้วนิพพานล่ะ?”
ทั้งหมดไม่ใช่แค่คำถามที่ตัวละครอย่าง ‘แหม่ม’ จากภาพยนตร์เรื่อง ‘Anatomy of Time - เวลา’ (2021) ได้ถามกับพ่อของเธอเมื่อครั้งตัวเองยังเป็นวัยรุ่น แต่ผู้ชมที่ได้รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คงมีโอกาสได้ตั้งคำถามและคิดหาคำตอบเช่นเดียวกัน เพียงแค่ไม่ว่าจะหาเท่าไร คำตอบก็ไม่ได้ถูกสลักเอาไว้ในภาพยนตร์ และผู้กำกับอย่าง ‘เก่ง - จักรวาล นิลธำรงค์’ ที่กำลังให้สัมภาษณ์กับทีมงาน The People ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ก็ไม่มีคำตอบให้
แต่ไม่เป็นไร ถึงแม้จะไม่ได้คำตอบ อย่างน้อยก็ได้ลองตั้งคำถาม
นั่นคือจุดประสงค์ในการสร้างหนังของจักรวาลที่ภาพยนตร์คืองานศิลปะ และงานศิลปะที่ดีควรจะตั้งคำถามที่ดีให้กับผู้ชม จนถึงขั้นที่ใครหลายคนออกปากว่า ภาพยนตร์ของจักรวาลนั้น ‘ดูยาก’
เบื้องหลังหนังที่ใครก็บอกว่าดูยาก
“เราเชื่อว่างานศิลปะที่ดี มันควรจะตั้งคำถามที่ดีให้กับผู้ชม ไม่ใช่เราบอกเขาว่าอะไรคือของดี มันไม่ใช่หน้าที่เรา หน้าที่เราคือตั้งคำถามที่ดี ที่น่าสนใจมากพอให้เขาไปหาคำตอบเอง
“ถ้าเราไปบอกเขาว่าอันนี้คือสิ่งที่ดี อันนี้คือสิ่งที่ไม่ดี เหมือนการสั่งสอนบางอย่าง งานเราจะกลายเป็นงาน propaganda คือวันหนึ่งมันอาจจะผิดก็ได้ เพราะว่ามันก็คือการเชื่อใน attitude (ทัศนคติ) ของตัวเอง”
จักรวาลหาวิธีตั้งคำถามผ่านงานศิลปะและภาพยนตร์ของเขาโดยไม่จำกัดคำตอบไว้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งการปล่อยให้ผู้ชมได้มีเวลาคิดทบทวนหลังเดินออกจากโรงภาพยนตร์ก็กลายเป็นต้นกำเนิดของการแลกเปลี่ยนและเอกลักษณ์ของ ‘หนังจักรวาล’ ที่ใครหลายคนเปรยกันว่าดูยาก
การวางโครงเรื่องอย่างชัดเจนของจักรวาลเป็นรองการตั้งคำถาม เขาให้เหตุผลว่า การฟังเรื่องเล่าเรื่องใดเรื่องหนึ่งคือการสื่อสารแบบ Grand Narrative ที่คนสามารถเข้าใจได้ร่วมกัน โดยสิ่งนี้แฝงอยู่ในทุกมิติ เช่น สังคม หรือชาติ ซึ่งจะทำให้สังคมเดินหน้าต่อไปได้ง่าย
“Grand Narrative ถูกใช้มาเป็นร้อยปีแล้ว จนวันนี้มันถูกท้าทาย คือสังคมทุกวันนี้ เราเคลื่อนไปสู่ความเป็น Post-Modern หรือว่า Post-Structuralism ที่มันท้าทาย Grand Narrative เหล่านี้ว่าจริง ๆ แล้วมันไม่ได้มี Narrative เดียว มันมี Narrative อื่น ๆ ที่ถูกซ่อนอยู่และไม่ถูกพูดถึง
“มันก็เลยถูกถ่ายทอดออกมาเป็นวิธีในการทำหนังของเรา ที่เราไม่ทำหนังที่มันเป็นเรื่องเล่าเพื่อจะสรุป Narrative บางอย่าง”
จากคำตอบของเขา เราจึงถามถึงความเห็นจากเหล่านักศึกษามหาวิทยาลัยที่จักรวาลเป็นอาจารย์อยู่ เขาตอบกลับด้วยเรื่องเล่าในวัยเดียวกับนักศึกษาว่า อาจารย์ของจักรวาลเองก็ทำงานแบบ Conceptual Art ซึ่งตัวเขาไม่เข้าใจเลยว่าอาจารย์ทำสิ่งเหล่านั้นไปทำไม ดังนั้นนักศึกษาที่ไม่เข้าใจภาพยนตร์จึงมีอยู่ตลอด ด้วยงานศิลปะประเภทนี้จะไม่เหมือนกับงานศิลปกรรมแห่งชาติ แต่หน้าที่ของอาจารย์คือการอธิบายที่มาที่ไป การพัฒนาบท และกระบวนการทำงานให้ฟังอย่างเข้าใจ
“เราแค่แชร์ประสบการณ์เราให้เขา ให้เขารับรู้แล้วก็แลกเปลี่ยนกัน นักศึกษาเขาก็แชร์บางอย่างกลับมาให้เรา ตัวหนังมันก็ว่ากันไปแล้วแต่รสนิยมและทัศนคติคนทำ แต่วิธีการมันเป็นสิ่งที่สามารถศึกษากันได้ อย่าง Development Project การหาทุน การทำหนังนอกจากระบบสตูดิโอว่าเขาทำกันอย่างไร”
‘การทำหนังให้เด็กดู’ ของจักรวาลไม่ใช่แค่การบอกเล่าเรื่องราวผ่านภาพเคลื่อนไหวที่เต็มไปด้วยคำถาม แต่เขายังถือเป็นจุดเริ่มต้นและตัวอย่างการทำงานที่นักศึกษาสามารถเรียนรู้ได้ โดยจักรวาลยกตัวอย่างภาพยนตร์ของ ‘เจ้ย - อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล’ และ ‘เป็นเอก รัตนเรือง’ ที่ครั้งหนึ่งเขาก็เคยสงสัยเช่นกันว่า “คนประเภทไหนที่ให้เงินคนประเภทนี้มาทำหนังแบบนี้?”
คำตอบคงต้องให้จักรวาลย้อนเล่าไปถึงชีวิตของเด็กศิลปกรรมที่ฝึกตัดต่อ แต่ฟุตเทจที่ใช้ดันไม่ได้ดั่งใจ และทำให้เขาเริ่มเรียนรู้เรื่องในวงการภาพยนตร์อย่างจริงจัง
เส้นทางสายฟิล์มของเด็กศิลปกรรม
“อันดับแรกมันต้องเริ่มจากชอบหนังแบบไหนก่อน สิ่งที่เราทำก็คือเรานั่งดู End Credit ว่ามันประกอบด้วยคนแบบไหน กองทุนที่ไหน เงินมาจากประเทศไหน แล้วเราค่อยไปรีเสิร์ชว่า มันคือกองทุนนี้ ประเทศฮอลแลนด์ เขาชอบหนังแบบนี้”
การศึกษาภาพยนตร์อย่างจริงจังของจักรวาลเกิดขึ้นในต่างประเทศขณะที่เขานำฟุตเทจต่าง ๆ มาฝึกตัดต่อ จากเด็กที่เรียนวาดภาพในคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เขาก็ได้รับรู้ถึงข้อจำกัดในการทำงานสองมิติ และอยากลองทำงานวิดีโอขึ้นมา แต่ประเทศไทยในขณะนั้นยังไม่มีให้เขาเรียน จักรวาลจึงเลือกเดินทางไปเมืองนอก
หลังจากไปใช้ชีวิตที่ต่างประเทศ จักรวาลยังไม่ได้เข้าเรียนอย่างที่ตั้งใจ แต่เขาก็ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์โดยการนำฟุตเทจวิดีโอของคนอื่นมาตัด และเริ่มหัดดูภาพยนตร์ จนค้นพบตัวเองว่า วิดีโอคืองานที่อยากทำ และเรื่องราวที่เขาอยากเล่ามีความเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบของเวลา หรือ ‘Time Base’
“เราเอาวิดีโอหนังคนอื่นมาตัด เริ่มหัดดูหนัง จากที่ไม่รู้เรื่องเลย แต่สุดท้ายมันก็ไม่ได้ฟุตเทจดั่งใจอยู่ดี ก็ต้องไปหาวิธีมาถ่ายเอง สุดท้ายมันก็เลยวนกลับมาที่ว่า ต้องมาถ่ายหนังเอง พอถ่ายเองก็ค่อย ๆ เรียนรู้มันไปว่า มันต้องเขียนบท”
ในวัยเด็ก จักรวาลมีปฏิสัมพันธ์กับภาพยนตร์ไม่ต่างจากเด็กทั่วไป เขาให้เหตุผลที่เลือกเรียนศิลปะว่า เพราะศิลปะสามารถทำงานได้ด้วยตัวเอง ไม่วุ่นวาย และไม่จำเป็นต้องมีความเกี่ยวข้องกับคนเยอะ ตัวเขาที่ไม่คิดว่าจะสามารถพูดคุยหรือติดต่อกับผู้คนได้จึงกลัวการสร้างภาพยนตร์ในช่วงแรก และเริ่มต้นด้วยการฝึกตัดต่อ กระทั่ง ‘จักรวาลหนังทดลองปรากฏ’
ใครหลายคนจดจำจักรวาลในฐานะผู้กำกับหนังแนวทดลอง (Experimental film) และผู้ที่มองภาพยนตร์เป็น ‘วัตถุดิบ’ ที่สามารถจับต้องได้ ซึ่งแตกต่างจากการเรียนกำกับภาพยนตร์สไตล์ฮอลลีวูด อย่างไรก็ตาม จักรวาลบอกว่า เขาไม่ได้ปฏิเสธหนังตามกระแส เพียงแค่ดูแล้วไม่ได้รู้สึกบันเทิงเท่าไรนัก
“เราเคยสงสัยมากเลยว่าหนังแบบ Transformers เขาดูอะไรกัน (หัวเราะ) เราก็ซื้อตั๋วไปดู แต่เรากลับไม่รู้สึกสนุกกับอะไรแบบนั้น เราไม่รู้สึกว่าไฟในหนัง มันทำให้คนตัวแสดงร้อนได้จริง ๆ หรือแม้กระทั่งว่า คนมันเป็นเหมือนตัวประกอบให้กับ CGI เราชอบคิดอะไรแบบนี้เลยไม่ค่อยเข้าไปอินกับสิ่งเหล่านั้น แต่สิ่งที่ตัวเราเองทำ เราดูแล้วเราสนุกด้วยมันก็กลายเป็นงานพวกนี้ เป็นงานหนังทดลอง เป็นงานในเชิง Conceptual”
ก่อนจะเปลี่ยนหัวข้อสนทนาไปยังปรัชญาชีวิตที่เขาสอดแทรกเข้าไปบนแผ่นฟิล์ม เราลองถามจักรวาลถึงกลุ่มผู้ชมที่เขาตั้งใจสร้างภาพยนตร์ให้ดู และคำตอบก็ทำให้คนถามเลิกคิ้วด้วยความประหลาดใจ เพราะไม่เคยนึกถึงมาก่อน
“คนสูงวัยในยุโรปครับ
“คือตอนที่เราทำโปรเจกต์ มันต้องทำเรื่องกลุ่มเป้าหมาย มันมีงานวิจัยว่าคนส่วนใหญ่ที่ไปดูหนังในยุโรปคือคนที่อายุ 40 - 50 ขึ้น แล้วส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง
“เรามองเห็นหน้าคนดูตั้งแต่เราเขียนบทอยู่แล้วว่าเราจะเขียนให้ใครดู เป็นผู้หญิงสูงวัยว่างั้นเถอะ แต่เราคิดว่าไอ้สถิตินี้มันใช้กับเมืองไทยไม่ได้” (หัวเราะ)
เพราะเหตุนี้ จักรวาลจึงไม่แปลกใจหากผู้ชมจะคิดว่าหนังของเขาดูยาก ซึ่งขึ้นอยู่กับรสนิยมที่แตกต่างกันด้วย เขาปิดท้ายหัวข้อสนทนาที่คุยกันมาเกือบ 15 นาทีด้วยการอธิบายเสริมว่า ‘ที่มาของเงินในการทำหนัง คือที่ที่หนังจะไป’
หากทุนมาจากสตูดิโอ ภาพยนตร์ก็จะถูกผลิตออกมาเพื่อการค้า และภาพยนตร์นั้นจะต้องไม่ทำให้สตูดิโอขาดทุน แต่ทุนของจักรวาลมาจากกองทุนทางวัฒนธรรม ซึ่งส่วนใหญ่มาจากยุโรป ภาพยนตร์ของเขาจึงไหลกลับไปยังแหล่งที่มา
โดยภาพยนตร์เรื่องล่าสุด ‘Anatomy of Time’ (2021) ได้เปิดตัวรอบปฐมทัศน์โลก (World Premiere) ที่ ‘เทศกาลภาพยนตร์เวนิส’ (Venice Film Festival) เมื่อเดือนกันยายน 2021 และได้รับ ‘รางวัล Bisato Award for Best Screenplay’ จากเวทีดังกล่าว รวมถึง ‘รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม’ (Grand Prize) จากเทศกาล ‘TOKYO FILMeX’ ประเทศญี่ปุ่น ‘รางวัล Special Mention’ และ ‘Five Flavours Film Festival’ ประเทศโปแลนด์มาครอง
ความชื่นชอบโดยส่วนตัวของผู้เขียนที่มีต่อภาพยนตร์ Anatomy of Time คือความรู้สึกที่ว่า ภาพยนตร์จบแบบปลายเปิด และเนื้อเรื่องระหว่างนั้นก็เปิดให้เราเรียงร้อยเรื่องราวได้อย่างไร้ขอบเขต แต่ยังเป็นเหตุเป็นผล เมื่อจบบทสนทนาเรื่องเส้นทางชีวิตของเขา เราจึงเริ่มเกริ่นถึงปรัชญาชีวิตอันน่าสนใจที่ถูกสอดแทรกอยู่ในภาพยนตร์ทุกเรื่อง
ปรัชญาชีวิตที่ได้มาเพราะความสงสัย
นรก - สวรรค์ บุญ - กรรม และนิพพาน คือตัวอย่างคำถามที่เกิดขึ้นจากตัวละครในภาพยนตร์ แต่ส่งผลถึงการคิดหาคำตอบของคนในโลกแห่งความจริง เราถามจักรวาลว่า อะไรคือสาเหตุที่เขาเลือกนำหลักศาสนาและปรัชญาชีวิตไปแฝงไว้ในภาพยนตร์ ซึ่งจักรวาลให้คำตอบว่า ทุกอย่างคือคำถามที่เขาสงสัยและอยากจะชวนผู้ชมสงสัยไปด้วยกัน
“อย่างเรื่องศาสนา มันอยู่ในงานเราตั้งแต่ตอนสมัยเราทำภาพพิมพ์ แล้วพอไปอยู่อเมริกา กลายเป็นว่าเป็นสิ่งที่เราสนใจ สิ่งที่เราอ่านมันคือตำนาน หนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในเวอร์ชันภาษาอังกฤษ เลยกลายเป็นว่า เราได้มองประเทศไทยจากระยะไกลแล้วมันก็เห็นอะไรชัดขึ้น”
จักรวาลเล่าด้วยสีหน้าที่เต็มไปด้วยความสนใจและสายตาของเขาก็ดูเป็นประกายมากขึ้นแม้จะอยู่ในหน้าจอคอมพิวเตอร์
“เวลาเราจะทำงานศิลปะขึ้นมาชุดหนึ่ง เราก็ต้องรีเสิร์ชว่ามันมีข้อมูลอะไรบ้าง อย่างหนังสือที่เราอ่านช่วงนั้นก็เป็นแบบหนังสือของ ‘ดาไล ลามะ’ (Dalai Lama) ‘The Art of Happiness’ เนื่องจากว่าในช่วงนั้น อเมริกาเพิ่งผ่าน 9/11 มา คนจึงโหยหาอะไรที่ Mindfulness”
ชีวิตของจักรวาลเข้าใกล้ศาสนามากขึ้นทุกวัน จนถึงเวลาที่เขากำลังจะเริ่มสร้างภาพยนตร์ Anatomy of Time เขาจึงคิดเรื่อง ‘การบวช’ ขึ้นมา ซึ่งนั่นกลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดคำถามอีกมากมาย และนำตัวเขาเข้าไปศึกษาศาสนาอื่นเพิ่มเติมด้วยแนวคิดว่า นิพพานในศาสนาอื่นอาจเป็นสิ่งเดียวกัน แต่แตกต่างกันที่มุมมองของศาสดา
จักรวาลในสถานะพระสงฆ์ศึกษาปริยัติอย่างจริงจัง เขาเล่าว่าเมื่อครั้งยังบวชก็จดสิ่งที่ได้เรียนรู้อย่างจริงจัง กระทั่งมีคำถามหนึ่งผุดขึ้นมา
“เราถามท่านว่า กรรมส่งผลกับอดีตได้ไหม?”
“เออมันน่าสนใจเนอะ” เขาว่าอย่างนั้นเมื่อเห็นคนฟังอย่างเราทำหน้าครุ่นคิดเช่นกัน
“พอเราคิดถึงเวลาอดีต แปลว่าเราคิดว่าอดีตมันคือสิ่งที่ผ่านมาแล้ว ผลของปัจจุบันมันจะเป็นเหตุของอนาคต หรือว่าเหตุในปัจจุบันมันเป็นผลจากอดีต ซึ่งอันนี้เป็นวิธีคิดแบบพุทธใช่ไหมว่า เราทำอะไรวันนี้ มันก็จะเป็นผลต่อไป”
หากคำตอบคือ สิ่งเหล่านั้นเป็นวัฏจักรที่สามารถหมุนวนเป็นวงกลม ส่งผลกลับไปกลับมาได้ จักรวาลให้ความเห็นที่ได้จากการอ่านหนังสือว่า เมื่อพูดถึงการไปข้างหน้าหรือย้อนกลับ แปลว่าโลกมีด้านซ้ายและด้านขวา ซึ่งเรียกว่า Binary Opposition ที่หมายถึงการมีขั้วตรงข้าม และนั่นหมายความว่าเรากำลังใช้มนุษย์เป็นศูนย์กลางในการตัดสินสิ่งต่าง ๆ
“วิธีคิดแบบนี้แหละ มันทำให้โลกทุกวันนี้เป็นแบบนี้ เพราะว่าเราเอามนุษย์ตั้งต้นว่ามนุษย์คือจุดศูนย์กลาง มีซ้ายและมีขวา คือมัน apply ได้ทุกอย่างเลยนะ ทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การเมือง ระบบการปกครอง
“เราก็เคยสนใจวิธีคิดแบบนี้มากกว่าว่า การที่ยกมนุษย์ออกไปจากความเป็น center ที่เขาเรียก human centric เนี่ย มันทำได้ด้วยวิธีไหนบ้าง แต่คือมันเป็นนามธรรมมาก ยังนึกไม่ออกว่ามันจะออกมาเป็นงานได้อย่างไร เราก็เลยต้องหาคำตอบจากวิธีอื่นโดยการอ่านปรัชญาพวกนี้”
สุดท้ายคำถามที่ว่า กรรมส่งผลต่ออดีตไหม? จนถึงวันนี้จักรวาลก็ยังไม่ได้คำตอบ แต่เพิ่มเติมคือมีคนอ่านที่จะร่วมสงสัยและ (อาจร่วม) หาคำตอบไปกับเขาแล้ว
ส่วนในเรื่อง Anatomy of Time ปรัชญาชีวิตหลักที่จักรวาลกล่าวถึงคือเรื่องของเวลา การมองธรรมชาติของการเกิด ดับ และแตกสลาย ซึ่งถูกถ่ายทอดผ่านตัวละครแต่ละตัวและฉากหลังที่เต็มไปด้วยภาพธรรมชาติ
เขาเน้นย้ำถึงความน่าสนใจของปรัชญาอีกครั้งว่า ปรัชญาเป็นสิ่งที่ผิดได้ และสามารถ ‘out date’ ได้ในศตวรรษที่ต่างกัน ไม่เหมือนศาสนาที่เมื่อเข้าไปเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและประเพณีแล้วจะทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ยาก
“เราเริ่มต้นด้วยการสนใจพุทธศาสนาหรือศาสนาต่าง ๆ แต่มันพาเราเคลื่อนตัวออกไปเรื่อย ๆ จนตอนนี้เราเห็นภาพกว้าง แล้วเราเข้าใจว่า ทำไมหลายเหตุการณ์จึงเกิด ทำไมมีสงครามที่นั่น แล้ววิธีที่จะแก้มัน เราจะใช้หลักอะไรในการตอบ เราเลยคิดว่าหลักปรัชญานี่แหละที่บอกได้ว่า ครั้งหนึ่ง คนหนึ่งก็เคยผิดได้ ครั้งหนึ่งในอนาคต ความคิดบางความคิดมันก็อาจจะถูกได้”
หลังจากแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันไปกว่าครึ่งชั่วโมง จักรวาลก็เริ่มหยิบหนังสือที่เขาอ่านมาให้ดูเพื่ออธิบายทุกอย่างให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เขาเอาหนังสือ 2 เล่มที่วางไว้ใกล้ตัวขึ้นมาโชว์
“ถ้าให้ตอบแบบชัด ๆ หนังสือที่อยู่ข้าง ๆ ตัว บางทีอาจจะเป็นไบเบิลให้เราได้ (หัวเราะ) อันหนึ่งคือ ‘ฟรีดริช นิตเช่’ (Friedrich Nietzsche) เป็นนักปรัชญาเยอรมัน อีกคนหนึ่งคือ ‘มาร์ติน ไฮเดกเกอร์’ (Martin Heidegger) เล่มนี้ก็ถือว่าสะท้อนอยู่ในหนังค่อนข้างเยอะ ชื่อ ‘Being and Time’ มันพูดถึงการที่เรากำลังมีตัวเองอยู่ในปัจจุบัน แล้วปัจจุบันมันจะสั้นหรือมันจะยาว มันเกิดขึ้นจากองค์ประกอบได้หลายอย่าง ง่าย ๆ นะ สมมติว่า เวลาเรารอคอยบางอย่าง ช่วงเวลา 5 นาที กับช่วงเวลา 5 นาทีที่เรามีความสุขมาก จริง ๆ เวลามันไม่เท่ากันแล้ว”
ความน่าสนใจของปรัชญาทำให้ทั้งคนสัมภาษณ์และผู้ถูกสัมภาษณ์ติดลม แต่เวลาในการพูดคุยของเราใกล้จะหมดลงแล้ว จักรวาลบอกว่า ‘ปรัชญาไม่ใช่เรื่องยาก’ และมันถูกอธิบายอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน
หากใครที่สนใจเรื่องปรัชญาก็สามารถลองอ่านหนังสือที่เขาแนะนำได้ และใครที่อยากลองคิดหาคำตอบถึงคำถามที่เขาได้ตั้งเอาไว้ก็สามารถร่วม ‘สงสัย’ และร่วม ‘หาคำตอบ’ ไปได้พร้อมกัน เริ่มจากภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของเขา Anatomy of Time ที่ตั้งคำถามถึงมิติอันน่าฉงนอย่าง ‘เวลา’ และชวนย้อนมองการเดินทางที่ผ่านมาทั้งชีวิต
เรื่อง: วโรดม เตชศรีสุธี
ภาพ: Anatomy of Time (2021)
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3487
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6940
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
818
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Interview
The People
Anatomy of Time
จักรวาล นิลธำรงค์