ListenField: สตาร์ทอัพไทยผู้นำ ‘Data’ มาใช้ในการเกษตร เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย

ListenField: สตาร์ทอัพไทยผู้นำ ‘Data’ มาใช้ในการเกษตร เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย
อย่างที่ทราบกันดีว่า ประเทศไทยเป็น ‘ประเทศเกษตรกรรม’ มีสายพันธุ์ข้าวชั้นเลิศซึ่งได้รับการยอมรับในระดับโลก ขณะที่รัฐบาลเองก็พยายามยกระดับประเทศให้เป็น ‘ครัวโลก’ อยู่เสมอ แต่กลับกลายเป็นว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงยากจน ขาดแหล่งข้อมูลและเทคโนโลยีช่วยทุ่นแรง เพื่อให้พวกเขาสามารถทำการเกษตรได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว รวมถึงส่งเสริมให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ต้องจมอยู่กับกับดักหนี้สินที่ยากจะหลุดพ้น แม้ว่าเกษตรกรรมจะเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่นำเทคโนโลยีมาเป็นผู้ช่วยคนสำคัญในการดูแลและเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรก็ตาม แต่ประเทศที่นำร่องระบบนี้กลับกระจุกตัวอยู่ที่ประเทศใหญ่ ๆ อย่าง ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ต่างจากประเทศไทยที่การพัฒนาวิถีชีวิตของเกษตรกรให้ก้าวล้ำด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่กลับดูเป็นเรื่องไกลเกินเอื้อม นี่จึงเป็นที่มาของ ‘ListenField’ สตาร์ทอัพที่จะเข้ามาช่วยยกระดับเกษตรกรรมไทย ผ่านเทคโนโลยีการเกษตรแม่นยำ (Precision Farming Technology) เพื่อให้เกษตรกร องค์กรธุรกิจ วิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์ รวมถึงภาครัฐ เข้าใจถึงความสำคัญของการนำข้อมูลมาปรับใช้ในการทำการเกษตร พร้อมทั้งเพิ่มผลผลิตอย่างยั่งยืน โดยจะนำข้อมูลจำนวนมหาศาลที่ได้มาจากระบบเซนเซอร์และดาวเทียม นำมาวิเคราะห์ ตั้งแต่ผืนดิน สภาพอากาศ และพันธุ์พืช เพื่อช่วยให้เกษตรกร หน่วยงาน องค์กร สามารถวางแผนและบริหารทิศทางการทำไร่ทำสวน โดยไม่ต้องกังวลว่าผลผลิตที่ได้มานั้นจะสูญเปล่า เพราะทั้งหมดนี้ ListenField ภายใต้การบริหารของ ‘ดร.นุ่น - รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์’ นักวิจัยไทยที่เกิดและเติบโตท่ามกลางบรรยากาศของท้องทุ่ง จังหวัดนครนายก จะเป็นผู้ช่วยคนสำคัญในการวิเคราะห์ข้อมูลทุกอย่างมาให้แบบละเอียดยิบ เสียงที่อยากให้ทุกคนได้ยิน “นุ่นเป็นเด็กบ้านนอกค่ะ” เธอเล่าในรายการ The Futurist ซีซั่น 2 พลางหัวเราะ ทำให้เธอมองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตของชาวสวนมาตั้งแต่เด็ก แม้ไม่ได้เกิดมาในครอบครัวเกษตรกรก็ตาม เพราะไม่ว่านุ่นจะมองย้อนกลับมาอีกกี่ครั้ง ก็มักจะเห็นรูปแบบการทำไร่แบบเดิม ๆ จนทำให้เธอเริ่มมีความคิดที่จะนำความรู้พื้นฐานจากการเรียนเขียนโปรแกรมในระดับปริญญาตรีที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มาปรับใช้ในงานวิจัยของเธอในระดับปริญญาโทที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) มากขึ้น “เราชอบที่จะแก้ปัญหาสิ่งต่าง ๆ ตอนเรียนต่อปริญญาโท ก็ใช้โปรแกรมที่เราเขียนขึ้นมา นำมาวิเคราะห์สุขภาพของปะการัง ทำเป็น 3D เพื่อให้คนที่จะมาศึกษางานต่อ สามารถเข้าใจสุขภาพของปะการังได้ง่ายขึ้น พอเราได้เห็นกระบวนการแบบนี้เยอะขึ้นเรื่อย ๆ เลยกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เราอยากนำความรู้ ประสบการณ์ต่าง ๆ มาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริง โดยเฉพาะปัญหาในภาคการเกษตรของไทย” (จากรายการ The Futurist ซีซั่น 2) หลังจากนั้น นุ่นจึงตัดสินใจเรียนต่อในระดับปริญญาเอกทางด้านเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรที่มหาวิทยาลัยชูบุ (Chubu University) ประเทศญี่ปุ่น และทำวิจัยเกี่ยวกับ API Integration Platform สำหรับภาคการเกษตร ซึ่งเธอคิดแล้วคิดอีกว่าจะทำอย่างไรให้ข้อมูลที่กระจัดกระจาย และมีการจัดเก็บข้อมูลที่ไม่มีประสิทธิภาพ ให้มารวมกันอยู่ที่เดียว และที่สำคัญคือข้อมูลที่อยู่ในคลังจะต้องถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ระบบ API จึงเข้ามาช่วยจัดเก็บ - จัดเรียงข้อมูลที่ไม่เป็นระเบียบของภาคการเกษตร ให้อยู่ในรูปแบบที่ค้นหาได้ง่าย และสามารถนำไปต่อยอดในการทำการเกษตรได้จริง ซึ่งสอดคล้องกับโครงการปฏิรูปภาคการเกษตรระดับประเทศ (Agricultural Reform) ของรัฐบาลญี่ปุ่นเข้าพอดี งานวิจัยของนุ่นจึงได้รับการยอมรับให้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการในปี 2014 แต่กว่า ListenField จะก่อร่างสร้างตัวมาเป็นสตาร์ทอัพที่น่าจับตามองในปี 2021 นุ่นเล่าว่า ในปี 2017 หลังจากที่เธอเริ่มมองเห็นโอกาสที่จะช่วยแก้ปัญหาภาคการเกษตรของไทยและญี่ปุ่น นุ่นจึงชักชวน คิโยชิ ฮอนดะ (Kiyoshi Honda) อาจารย์ที่ปรึกษาให้ร่วมเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง โดยมีรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นลูกค้ารายใหญ่ และกลุ่มบริษัทผู้ให้บริการ รวมถึงชุมชนเกษตรกรรมมาใช้บริการในสัดส่วนที่ลดหลั่นกันไป สำหรับที่มาของ ListenField เกิดขึ้นหลังจากที่นุ่นทำวิจัยเรื่องระบบเซนเซอร์ และระบบมอนิเตอร์ต่าง ๆ เธอสังเกตเห็นว่า เซนเซอร์เป็นอุปกรณ์ที่ ‘ฟัง’ และ ‘เข้าใจ’ ธรรมชาติได้อย่างลึกซึ้ง เมื่อทำงานวิจัยมากขึ้น โลกของธรรมชาติก็ค่อย ๆ ขยับเข้ามาใกล้เธอมากขึ้นเรื่อย ๆ นุ่นเลยอยากจะเข้าใจว่าธรรมชาติต้องการจะสื่อสารอะไรออกมา แล้วเราในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่มีวิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐานในการใช้ชีวิต จะทำอย่างไรให้สามารถเข้าใจผืนดิน ท้องฟ้า สภาพอากาศ เพื่อที่จะนำมาตอบโจทย์ความต้องการในภาคเกษตร “นี่จึงเป็นที่มาของ ListenField เพราะเราต้องการที่จะเข้าใจกลไกที่เกิดขึ้นในภาคการเกษตร” ความสนุกทำให้ ‘ได้ยิน’ ชัดขึ้น ช่วงแรกที่เริ่มเปิดบริษัท เธอไม่มีความรู้สึกกลัวที่จะทำในสิ่งที่ไม่ถนัด มีแต่ความสนุกเบ่งบานอยู่รอบตัว อีกทั้งยังมีความสุขทุกครั้งที่สามารถเข้าไปแก้ปัญหาของเกษตรกร แต่เมื่อได้ลงสู่สนามธุรกิจจริง ๆ เธอเริ่มมีมุมมองในการทำธุรกิจที่เปลี่ยนไป จากความคิดแรกเริ่มที่จะนำ ‘เทคโนโลยี’ เป็นตัวนำ เปลี่ยนมาสู่โลกที่ ‘ความต้องการของลูกค้า’ เป็นปัจจัยหลักมากขึ้น ซึ่งระหว่างที่นุ่นลองผิดลองถูก นักวิจัยสาวที่มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์มาร่วม 10 ปี ก็ต้องเปลี่ยนบทบาทมาเป็นนักธุรกิจ เพื่อช่วยแก้ปัญหาภาคการเกษตรให้เกิดความยั่งยืนมากที่สุด โดยเธอได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการ Accelerator โครงการสนับสนุนสตาร์ทอัพที่ประเทศญี่ปุ่น และได้รับการคัดเลือกให้เข้าไปศึกษาดูงานที่ Berk บริษัทโลจิสติกส์ ประเทศเดนมาร์ก ที่นั่นทำให้เธอมองเห็นภาพรวมของการทำธุรกิจในทุกแง่มุม และสิ่งสำคัญที่นุ่นได้เรียนรู้จากโครงการดังกล่าวคือ ความสนุกในช่วงก่อตั้งบริษัทนั้น สามารถสนุกขึ้นได้อีก หากท้าทายตัวเองเพิ่มขึ้น นุ่นจึงสานต่อความสนุกและท้าทายตัวเอง โดยถือคติว่าจะทำอะไรต้องทำให้สุด “ตอนเริ่มก่อตั้งบริษัท เราไม่มีความกลัวเลย เรากลับรู้สึกสนุกทุกครั้งที่สามารถช่วยแก้ปัญหาของเกษตรกรในพื้นที่ได้จริง ๆ” นอกจากนี้ นุ่นยังเผยถึงเป้าหมายแรกเริ่มตั้งแต่ตัดสินใจเปิดบริษัทขึ้นมาว่า เธอจะต้องนำพาทีมและบริษัทให้เข้าสู่ระดับโลกให้ได้ ไม่ใช่เฉพาะที่ประเทศญี่ปุ่นหรือไทยเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก เพราะนุ่นเชื่อว่า ListenField จะเป็นสะพานเชื่อมระหว่างงานวิจัยและเทคโนโลยีในห้องแล็บสู่เกษตรกรรายย่อย ให้พวกเขาสามารถใช้เทคโนโลยีที่เธอคิดค้นสู่การใช้งานจริง ปัจจุบัน ListenField เป็นที่รู้จักและได้รับความไว้วางใจทั้งในญี่ปุ่นและไทย โดยมีพนักงาน 20 คน จาก 7 เชื้อชาติ มีตั้งแต่คนไทย ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ แต่ละคนจะทำหน้าที่แตกต่างกันไป แต่สุดท้ายแล้วจุดมุ่งหมายของทีมคือการดูแลเกษตรกรใน 5 ประเทศ คือ ไทย ญี่ปุ่น เวียดนาม อินเดีย และสหรัฐอเมริกา ให้มีความเป็นอยู่ที่ดียิ่งกว่าเก่า ผ่านเทคโนโลยีที่พวกเขาพัฒนาขึ้นมา เข้าใจเกษตรกร_พร้อมปรับตัวตลอดเวลา แม้ว่า ListenField จะมีต้นกำเนิดมาจากประเทศญี่ปุ่น แต่นักวิจัยเชื้อสายไทยคนนี้ก็ไม่ลืมที่จะนำความรู้ที่ได้กลับมาพัฒนาบ้านเกิด ในปี 2019 นุ่นจึงตัดสินใจกลับมาเปิดสาขาที่ประเทศไทย ซึ่งการกลับมาทำงานที่ไทยครั้งนี้ ทำให้เธอมองเห็นความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะเรื่องการวางโครงสร้างพื้นฐานที่ยังขาดระบบการจัดการข้อมูลที่ดี อีกทั้ง ‘นวัตกรรม’ และ ‘วิสัยทัศน์’ ของผู้นำเองก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ภาคการเกษตรหยุดชะงัก ซึ่งทุกครั้งที่ต้องดำเนินการ นุ่นต้องเตรียมเวลาในการประสานงานนานถึง 3 - 4 เดือน กว่าแต่ละขั้นตอนจะได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานต่าง ๆ นอกจากนี้ นุ่นและทีมต้องวางโครงสร้างพื้นฐานใหม่ทั้งหมด เพราะไม่มีข้อมูลพื้นฐานที่จะนำมาใช้ในภาคการเกษตรได้ ขณะที่พื้นฐานตรงนี้ควรจะเป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานรัฐและกระทรวงต่าง ๆ แต่กลายเป็นว่าเธอต้องเริ่มทุกอย่างจากศูนย์ นี่จึงเป็นเรื่องยากที่จะพัฒนาภาคการเกษตรในประเทศไทย เมื่อเทียบกับประเทศญี่ปุ่นที่มีระบบการจัดการข้อมูลที่ดีกว่ากันมาก แม้ต้องเผชิญกับความยากลำบากในช่วงแรก แต่นุ่นเลือกที่จะยึดความตั้งใจแรกในการกลับมาพัฒนาบ้านเกิด ซึ่งเธอได้ให้สัมภาษณ์กับเวิร์คพอยท์ ทูเดย์ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2019 ไว้ว่า “ตอนเรามา เราก็คิดว่า เราจะเอาเทคโนโลยีไปให้เขานี่แหละ เพราะเราคิดว่าดี API, Platform, Analytics คือทุกคนก็ไม่เข้าใจ เราเองก็เข้าใจว่ามันก็ไม่ควรจะเข้าใจหรอก แต่ด้วยความมุ่งมั่นว่าอยากจะให้เกษตรกรไทยได้มี AI ใช้บ้าง เลยเริ่มจากจุดเล็ก ๆ ว่า โอเค ถ้าเกษตรกรกลุ่มเกษตรอินทรีย์จะต้องทำการบันทึก เพราะฉะนั้นเราทำแอปพลิเคชันให้อย่างน้อยการบันทึกของเขาเป็นเรื่องง่ายขึ้น เสร็จแล้วก็ค่อย ๆ เรียนรู้ไปด้วยกัน AI มันก็จะค่อย ๆ ฉลาดขึ้น เลยเป็นจุดเริ่มต้นของการกลับมาที่ไทย แล้วทำแอปพลิเคชัน FarmAI” FarmAI FarmAI เป็นแอปพลิเคชันสำหรับเกษตรกร ที่จะช่วยให้ชาวสวนทำการเกษตรได้อย่างแม่นยำ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการฟาร์มได้อย่างยั่งยืน ทำให้พวกเขาสามารถคาดการณ์ได้ว่า ที่ดินตรงนี้ควรปลูกพืชชนิดไหน ควรใช้ปุ๋ยประเภทใด และควรจะทำอย่างไรจึงจะช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้ผลิดอกออกผลมากที่สุด หรือที่เรียกว่าดิจิทัลฟาร์มมิ่ง (Digital Farming) โดยนำข้อมูลสภาพดิน - ฟ้า - อากาศ และการประมาณผลผลิตทางการเกษตร รวมถึงข้อมูลจากภาพถ่ายทางดาวเทียมมาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลที่นุ่นได้ลงสำรวจพื้นที่ และพูดคุยกับชาวสวนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง นอกจากนี้ เกษตรกรยังสามารถบันทึกข้อมูลแปลงและการเพาะปลูกเก็บไว้ในรูปแบบออนไลน์ หรือจะพิมพ์ออกมาเป็นเอกสาร เอาไว้อ่านในเวลาที่ต้องการละสายตาจากหน้าจอโทรศัพท์ อีกทั้งยังนำไปติดต่อหน่วยงานต่าง ๆ ได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น อีกหนึ่งฟีเจอร์ที่น่าสนใจของ FarmAI คือ ความสามารถในการวิเคราะห์ DNA ของพืชแต่ละชนิด เพื่อประเมินว่าหากมีการพัฒนาสายพันธุ์ต่อไปในอนาคต ผลผลิตที่ได้จะออกมาในรูปแบบใด เพื่อสร้างความแน่นอนให้กับเกษตรกรไทย ในสภาวะเศรษฐกิจที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ ให้ได้รับความอุ่นใจว่าอย่างน้อย การคาดการณ์ด้วยเทคโนโลยีจะช่วยให้พวกเขาไม่ต้องสูญเงินและเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ สำหรับกลุ่มเกษตรกรที่ใช้งานแอปพลิเคชันของนุ่น ส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าของสวนไร่อ้อย มันสำปะหลัง ข้าว มะม่วง และกล้วย ในปี 2021 คูโบต้าเจแปน (Kubota Japan) ได้ตกลงเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของลูกค้ารายสำคัญ นับเป็นอีกก้าวที่ทำให้ ListenField ขยับเข้าสู่แพลตฟอร์มการเกษตรระดับโลกมากยิ่งขึ้น เข้าใจเกษตรกรแล้ว_ต้องเข้าใจคนในทีมด้วย แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะทำให้การทำงานยุ่งยากขึ้น การลงพื้นที่กลายเป็นเรื่องต้องห้าม แต่ด้วยวัฒนธรรมองค์กรที่มีความยืดหยุ่นและคล่องตัวสูง ทุกคนสามารถทำงานทางไกลได้โดยไม่ติดขัด อย่างไรก็ตาม นุ่นยังคงเป็นห่วงความรู้สึกของคนในทีม เนื่องจากสภาวะเช่นนี้ ยิ่งเร่งให้เกิดภาวะเบิร์นเอาต์ได้ง่าย ซีอีโอสาวจึงหมั่นเติมพลังงานด้านบวกให้แก่คนในทีมอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่ลืมที่จะให้ความสำคัญกับเกษตรกรในแต่ละประเทศ “สำหรับการทำงานในภาคการเกษตร การลงพื้นที่และพูดคุยกับชาวสวนโดยตรง ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราสามารถพัฒนาเทคโนโลยีได้ แต่พอเกิดสถานการณ์โควิด-19 การลงพื้นที่ก็ยากขึ้นไปอีก และการทำงานทางไกลก็ยิ่งเร่งให้คนในทีมหมดเอนเนอร์จีได้ง่าย เราจึงต้องคอยเติมเอนเนอร์จีให้แก่กันและกัน เพราะคนในทีมอาจมีความเครียดสะสมได้ง่าย ขณะเดียวกัน เราก็ต้องสร้างสรรค์แนวทางการทำงานใหม่ ๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด” ก่อนจะทิ้งท้ายว่า สิ่งที่นุ่นยึดมั่นมาตลอดระยะเวลาเกือบ 5 ปี หลังจากเปลี่ยนบทบาทจากนักวิจัยมาสู่ผู้บริหารคือต้องหมั่นเติมความรู้ให้กับตัวเองอยู่ตลอดเวลา และต้องเข้าใจสิ่งที่กำลังทำอยู่อย่างลึกซึ้ง ทำทุกอย่างให้เกิดความต่อเนื่องมากที่สุด เพื่อให้เกิดการพัฒนา ขณะเดียวกันก็ต้องมี ‘ความกล้า’ กล้าที่จะไม่รู้ กล้าที่จะถาม กล้าที่จะลองผิดลองถูก นี่จึงเป็นใบเบิกทางที่ทำให้นุ่นมักเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้รวดเร็วโดยไม่กลัวที่จะผิดพลาด เพราะความกล้าที่เธอมีได้ฉายแสงแห่งความหวัง และสร้างคุณค่าให้แก่เกษตรกรไทยในยุคใหม่ได้อย่างแท้จริง ภาพ: listenfield.com   อ้างอิง https://www.youtube.com/watch?v=-IkwPLSceOM https://www.listenfield.com/th/about https://www.matichon.co.th/advertorial/news_2775811 https://thaipublica.org/2021/01/listenfield-rassarin-shinn/ https://www.pier.or.th/en/abridged/2019/19/#farmai https://www.bangkokbiznews.com/tech/868313