แฟรงคลิน คลาเรนซ์ มาร์ส ผู้สยบความวีนด้วย ‘Snickers’ ช็อกโกแลตบาร์ที่เข้าใจคนหิวมากที่สุด
“อย่าให้ความหิวทำให้คุณเปลี่ยนไป ถึงเวลารองท้อง ถึงเวลาสนิกเกอร์ส”
สโลแกนสุดคุ้นหูที่ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปีก็ยังตราตรึงอยู่ในความทรงจำ ด้วยรูปแบบการทำการตลาดที่ไม่เหมือนใคร และมักจะหยิบอารมณ์อันขุ่นมัวเมื่อคนเราเกิดหิวจัด ๆ ขึ้นมาขยี้ จนเป็นกระแสไวรัลอยู่บ่อยครั้ง นี่คือ ‘สนิกเกอร์ส’ (Snickers) ช็อกโกแลตบาร์แหล่งพลังงานทางเลือกที่มีอายุกว่าร้อยปี และยังคงได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน
สนิกเกอร์ส เป็นหนึ่งในขนมยุคบุกเบิกของบริษัทขนมหวานยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกันอย่าง Mars โดยมี ‘แฟรงคลิน คลาเรนซ์ มาร์ส’ เป็นผู้บริหารหลัก แต่กว่าจะปลุกปั้นแบรนด์ กว่าจะเป็นที่รู้จัก และได้รับความนิยมขนาดนี้ เรียกได้ว่าเขาต้องฝืนใจตัวเองอย่างหนัก เพื่อที่จะทดลองทำสูตรขนมหวานนอกตำราที่แม่เคยพร่ำสอน
และนี่คือเส้นทางการเดินทางของสนิกเกอร์ส ขนมช็อกโกแลตที่มาพร้อมกับส่วนผสมสุดล้ำ อย่างถั่วลิสง คาราเมล และนูกัต (ลักษณะคล้ายตังเม) ที่เราอยากจะชวนให้ร่วมสัมผัสประสบการณ์ความหวานไปพร้อมกัน
วัยเด็กที่แตกต่าง กับแม่ที่รักการทำขนมยิ่งชีพ
แฟรงคลิน คลาเรนซ์ มาร์ส (Franklin Clarence Mars) เกิดในปี 1883 ที่รัฐเพนซิลเวเนีย ทางตะวันออกของสหรัฐอเมริกา มาพร้อมกับโรคโปลิโอ ทำให้วัยเด็กของเขาแตกต่างจากเด็กทั่วไป แฟรงคลินถูกเลี้ยงดูมาโดยเอลวา (Elva) แม่แท้ ๆ ที่ชื่นชอบการเข้าครัวทำขนมเป็นชีวิตจิตใจ ส่วนผู้เป็นพ่อนั้นไม่อาจทราบได้แน่ชัดว่าเขาเป็นคนจากที่ไหน หรือชื่ออะไร รู้เพียงแค่ว่าทำงานอยู่ในโรงงานแห่งหนึ่งที่รัฐมินนิโซตาเท่านั้น
ชีวิตวัยเด็กของแฟรงคลินจึงหมดไปกับการเข้าครัวช่วยแม่ทำขนม เมื่อแฟรงคลินอายุ 19 ปี เขาเริ่มทดลองนำสูตรขนมหวานของแม่ออกไปวางขายตามท้องตลาดเป็นครั้งแรก และแน่นอนว่าได้รับผลตอบรับกลับมาอย่างล้นหลาม
ขณะที่แฟรงคลินกำลังง่วนอยู่กับการทำขนมขายจนลืมวันลืมคืน ในปี 1902 โชคชะตาก็ได้นำพาให้มาพบกับ อีเธล เกล คิสแซ็ค (Ethel Gale Kissack) ครูสาวจากโรงเรียนประถม รัฐมินนิโซตา ทั้งคู่ตกหลุมรักเข้าอย่างจัง และแต่งงานกันในเวลาต่อมา
15 เดือนผ่านไป อีเธลได้ให้กำเนิดลูกชายหัวแก้วหัวแหวน ‘ฟอร์เรสต์ มาร์ส’ (Forrest Mars) ซึ่งต่อมาเขาจะกลายเป็นผู้ช่วยคนสำคัญและเป็นคนปลุกปั้นอาณาจักร Mars ให้ยิ่งใหญ่ในอนาคต
แม้จะมีโซ่ทองคล้องใจ ก็ไม่อาจทำให้เส้นทางชีวิตรักราบรื่น ในที่สุดพวกเขาต้องแยกทางกัน หลังจากใช้ชีวิตฉันสามี-ภรรยาร่วมกันเกือบสิบปี ส่วนสาเหตุที่อีเธลตัดสินใจหย่ากับแฟรงคลิน เกิดขึ้นจากครอบครัวประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนัก ไม่ว่าแฟรงคลินจะหาเงินมากเท่าไร เขาก็ไม่สามารถประคองชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวให้ดีขึ้นได้ ทั้งอบขนมขาย ทำงานที่บ่อนกาสิโน แต่ทั้งหมดล้วนสูญเปล่า
ขณะเดียวกันอีเธลก็มองไม่เห็นอนาคตของร้านขนมเล็ก ๆ นอกตัวเมืองมินนีแอโพลิส ว่าจะทำให้ครอบครัวมีชีวิตรอดในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ไปได้อีกนานแค่ไหน โรงงานทำขนมขนาดเล็ก - ใหญ่ เริ่มผุดขึ้นเต็มเมือง เมื่อเทียบกำลังการผลิตและคุณภาพแล้ว ผู้คนส่วนใหญ่เลือกที่จะซื้อขนมจากแบรนด์ที่มีชื่อเสียงมากกว่าขนมจากร้านเล็ก ๆ ที่แฟรงคลินในวัย 20 ปีเป็นเจ้าของ เขาเด็กเกินกว่าจะเข้าใจโลกของธุรกิจ ขาดทั้งประสบการณ์ ขาดทั้งความรู้ มีเพียงความชื่นชอบในการทำขนมเท่านั้น ที่ทำให้เขายังคงยืนหยัดเปิดร้านต่อไป
หลังจากหย่าร้างไม่นาน ร้านขนมของแฟรงคลินต้องปิดตัวลง เขาย้ายไปที่เมืองซีแอตเทิล ในปี 1911 และแต่งงานใหม่กับ อีเธล ภรรยาคนที่ 2 ที่บังเอิญชื่อเหมือนภรรยาคนแรก ความสัมพันธ์ระหว่างเขาและลูกชายขาดสะบั้น ถึงอดีตภรรยาจะพาฟอร์เรสต์มาหาบ้างเป็นครั้งคราว แต่ชีวิตครอบครัวของทั้งคู่ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
เกิดใหม่อีกครั้งตอนอายุ 30 ปี
ขณะแสวงโชคอยู่ในซีแอตเทิลเกือบสิบปี แฟรงคลินพบแต่ความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า ความฝันที่จะเปิดโรงงานทำขนมเล็ก ๆ เริ่มเลือนราง อีกทั้งเงินสำรองก็เริ่มร่อยหรอลงเต็มที แฟรงคลินในวัย 28 ปี ที่ทั้งเนื้อทั้งตัวเหลือเงินติดกระเป๋าอยู่แค่ 400 ดอลลาร์สหรัฐ จึงตัดสินใจเดินทางกลับมินนีแอโพลิส เพื่อเปิดบริษัททำขนมเล็ก ๆ ขึ้นมาใหม่ ในปี 1920 โดยใช้ชื่อว่า ‘นูกัต เฮาส์’ (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Mar-O-Bar และ Mars จนถึงปัจจุบัน)
และครั้งนี้เขาตั้งปณิธานว่าจะไม่ล้มเหลวอีกต่อไป…
แฟรงคลินมักจะตื่นมาทำขนมตอนตี 3 ของทุกวัน ขณะที่ภรรยาคอยทำหน้าที่ตรวจเช็กสต็อกสินค้าให้พร้อมส่ง และวางแผนที่จะกระจายขนมไปยังร้านต่าง ๆ ภายในเมือง โดยมีแพทริเซีย ลูกสาวตัวน้อยคอยให้กำลังใจอยู่ไม่ห่าง
ธุรกิจของทั้งคู่เริ่มไปได้ด้วยดี ประจวบกับช่วงเวลานั้น ลูกชายคนเดียวของเขาเพิ่งเรียนจบจากมหาวิทยาลัยมาหมาด ๆ แฟรงคลินจึงชวนฟอร์เรสต์มาช่วยงานในโรงงาน แม้ว่าความสัมพันธ์ของทั้งคู่จะตึงเครียดอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งยังชอบโต้เถียงกันบ่อยครั้ง เพราะไม่ว่าฟอร์เรสต์จะเสนอแนวทางการบริหารทิศทางของบริษัทอย่างไร แฟรงคลินก็ไม่รับฟัง
โชคดีที่แฟรงคลินยอมฟังไอเดียสูตรขนมใหม่ ๆ ที่ลูกชายแนะนำ ในปี 1924 ว่าที่ขนมหวานสุดฮิต ‘Milky Way’ จึงถือกำเนิดขึ้น อันที่จริงไอเดียนี้ฟอร์เรสต์ไม่คิดว่าพ่อเขาจะเห็นด้วยสักเท่าไร เพราะมันค่อนข้างจะเหนือชั้นมากไปหน่อย “ตอนนั้นผมแค่ลองเสนอไอเดียเล่น ๆ ออกไป ว่าทำไมพ่อไม่ลองทำลูกกวาดอัดแท่งรสช็อกโกแลตมอลต์ ราดคาราเมลไว้ด้านบน แล้วเคลือบช็อกโกแลตไว้ด้านนอกดูล่ะ?”
ใครจะไปคิดว่าไอเดียบ้า ๆ นี้ ทำให้พ่อหัวรั้นยอมทำตาม จนกลายเป็นสินค้ายอดนิยมขึ้นมาแบบไม่คาดฝัน ซึ่งฟอร์เรสต์ได้เผยในภายหลังว่า เขาได้ความคิดนี้มาจากเมนูมิลค์เชก ที่ชาวอเมริกันทั้งประเทศกำลังคลั่งไคล้ โดยไม่คิดว่าช็อกโกแลตอัดแท่งที่เขาร่วมพัฒนาสูตรขึ้นมากับพ่อ จะขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
Milky Way ทำยอดขายได้สูงถึง 793,000 ดอลลาร์สหรัฐ ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 1 ปีที่เปิดตัว เมื่อเทียบกับปีก่อน ๆ ที่มีรายได้ไม่ถึง 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นความสัมพันธ์ของสองพ่อลูกกลับไม่ได้ดีขึ้นตาม มีแต่จะแย่ลงเรื่อย ๆ พ่อที่หัวรั้นยังไงก็ยังหัวรั้นอย่างนั้น แม้ลูกชายพยายามเสนอวิธีผลักดันให้บริษัทเติบโตมากขึ้นไปอีก แต่แฟรงคลินกลับพอใจที่จะอยู่กับบริษัทเล็ก ๆ กับรายได้ที่เพียงพอที่จะใช้ไปทั้งชีวิต
‘สนิกเกอร์ส’ ม้าตัวโปรด
หลังจากความสำเร็จของ Milky Way ครอบครัวมาร์สเริ่มมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดีถึงขนาดที่สามารถซื้อที่ดิน 7,084 ไร่ ในรัฐเทนเนสซี เพื่อสร้างฟาร์มชื่อ Milky Way เป็นอนุสรณ์เตือนใจว่าครอบครัวมาร์สเดินทางมาไกลได้ขนาดนี้ เพราะลูกกวาดอัดแท่งรสช็อกโกแลตมอลต์
นอกจากกว้านซื้อที่ดินเกือบหมื่นไร่แล้ว แฟรงคลินได้เปลี่ยนที่ดินเปล่า ๆ ให้เป็นฟาร์มเพาะพันธุ์ม้าขนาดใหญ่ โดยมี ‘สนิกเกอร์ส’ เป็นทั้งม้านำโชคและม้าตัวโปรดประจำครอบครัว ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เขากำลังพัฒนาสูตรขนมชนิดใหม่ขึ้นมา โดยเพิ่มถั่วลิสงลงไปแทนมอลต์
แต่เขายังคิดชื่อไม่ออก จนกระทั่งเจ้าสนิกเกอร์ด่วนจากโลกนี้ไป ‘สนิกเกอร์ส’ จึงกลายเป็นชื่อที่พอเหมาะพอเจาะที่จะนำมาตั้งเป็นชื่อแบรนด์ เพราะเขาไม่อยากจะให้มันหายไปจากความทรงจำของครอบครัว
สนิกเกอร์ส วางจำหน่ายในปี 1930 ราคาชิ้นละ 20 เซ็นต์ ซึ่งแพงกว่า Milky Way ถึง 4 เท่า แม้จะมีราคาแพงขนาดไหน แต่ชื่อเสียงขนมจากตระกูลมาร์สก็เป็นที่ยอมรับในตลาด ขนมหวานตัวใหม่ชิ้นนี้ ทำให้ชาวอเมริกันติดหนึบยิ่งกว่าตังเม ด้วยรสชาติที่แปลกใหม่ และความหนึบหนับแบบไม่มีใครเหมือน มาพร้อมกับรสชาติหวานแสบคอ ที่นักโภชนาการในยุคปัจจุบันผ่านมาเห็นเป็นต้องกรีดร้อง
แฟรงคลินเสียชีวิตลงในปี 1934 ด้วยโรคหัวใจ ขณะกำลังเดินตรวจความเรียบร้อยของโรงงาน ปิดตำนานชายหัวรั้นผู้ทะเลาะกับลูกชายจนวินาทีสุดท้าย เพื่อสร้างขนมสูตรแปลกใหม่ไว้ประดับประวัติศาสตร์ขนมหวาน
ส่วนภาพจำของสนิกเกอร์สที่ถูกยกให้เป็นช็อกโกแลตลดอาการโมโหหิว เริ่มขึ้นราว ๆ ปี 2010 หลังจากเข้าไปเป็นหนึ่งในสปอนเซอร์หลักในงานซูเปอร์โบวล์ และทำให้ผู้คนทั่วโลกเข้าใจ ‘อารมณ์’ ของตัวเองขณะหิวมากขึ้น
หากกำลังโมโหหรือหงุดหงิดใจอยู่ก็อย่าลืมลองหาอะไรรองท้อง เพราะไม่แน่ว่าอารมณ์ที่กำลังพุ่งปรี๊ด อาจสงบลงได้ง่าย ๆ ด้วยของกินเพียงแค่คำเล็ก ๆ
ภาพ: Getty Images
อ้างอิง:
https://www.youtube.com/watch?v=cuBAZc7loSY
https://www.youtube.com/watch?v=VhozpHTzo14
https://www.youtube.com/watch?v=WJJ4ORIGFXA
https://www.mars.com/about/history
https://www.snickers.com/our-story
https://www.snackhistory.com/frank-mars/
https://candyhalloffame.org/inductee/frank-c-mars/
https://www.rewindandcapture.com/why-is-snickers-called-snickers/