เบน แฮมิลตัน-เบลลี: ออกแบบเมืองที่ถนนไม่มี ‘ทางม้าลาย’ และสัญลักษณ์อื่น เพื่อให้คนและรถเท่าเทียมกัน
ลองจินตนาการถึงการข้ามถนนโดยไม่ต้องมีทางม้าลาย หรือสัญญาณไฟจราจรคอยให้สัญญาณไฟเขียว ไม่ต้องหยุดมองซ้ายที ขวาที หรือวิ่งหลุน ๆ เพื่อข้ามไปอีกฝั่ง ขณะเดียวกันรถก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องหยุดตามสัญญาณไฟแดงอีกต่อไป หากภาพที่คุณเห็นมีแต่ความโกลาหลวุ่นวายก็คงไม่ผิดนัก เพราะถนนหรือ ‘พื้นที่แบ่งปัน’ (Shared Space) ในอุดมคติที่ว่าตั้งอยู่ในต่างประเทศ อีกทั้งนักออกแบบที่จะนำแนวคิดดังกล่าวมาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเมือง กลับกระจุกตัวอยู่ในยุโรปเป็นส่วนใหญ่
‘เบน แฮมิลตัน-เบลลี’ (Ben Hamilton-Baillie) สถาปนิกและนักออกแบบเมืองชาวอังกฤษ หนึ่งในผู้นำแนวคิดดังกล่าวมาช่วยพัฒนาเมือง เพื่อให้ทั้งคนและรถสามารถใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม โดยไม่มีใครมีอำนาจมากกว่ากัน
แฮมิลตัลเกิดในปี 1955 ที่เมือง Iserlohn เยอรมนี โดยมีพ่อเป็นวิศวกรประจำกองทัพบก และแม่เป็นคุณครู ชีวิตวัยเด็กส่วนใหญ่มักโยกย้ายไปมาระหว่างเยอรมนี เยเมน และอังกฤษ ทำให้มองเห็นชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในแต่ละประเทศได้อย่างแจ่มชัด
แฮมิลตันเข้าเรียนที่คณะสถาปัตยกรรม วิทยาลัยซิดนีย์ จากนั้นจึงลงหลักปักฐานกับเจนนิเฟอร์ ฮิลล์ (Jennifer Hill) ในปี 1988 นักสังคมสงเคราะห์ที่ทำหน้าที่ดูแลองค์กรการกุศลในอังกฤษและเวลส์ ซึ่งช่วยให้แฮมิลตันมองเห็นภาพรวมของการพัฒนาโครงสร้างเมืองมากยิ่งขึ้น
“ผมต้องการสร้างพื้นที่สาธารณะที่ช่วยลด ‘การแบ่งแยก’ ผู้ใช้รถ คนเดินเท้า และคนปั่นจักรยาน” ซึ่งแฮมิลตันเชื่อว่า หากยกเลิกสัญลักษณ์ตามท้องถนนออกไปจนหมด จะช่วยให้ผู้ใช้รถใช้ถนนมีความระมัดระวังในการขับขี่มากขึ้น เขาจึงถอนการติดตั้งสัญญาณไฟจราจร ป้ายเครื่องหมายต่าง ๆ ที่ปักเรียงรายอยู่ตามสี่แยก ลบสีขาว-แดงที่ป้ายอยู่ตามขอบฟุตปาธ รวมถึงทางม้าลาย สีและตัวอักษรที่ละเลงอยู่บนพื้นถนนออกไปจนหมด ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก หากนำมาใช้งานจริง
เนื่องจากสัญลักษณ์บนท้องถนนเหล่านี้ อาจมีส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้ใช้รถเพิกเฉยต่อสภาพแวดล้อมภายนอก ไม่สนใจเพื่อนร่วมทาง อีกทั้งยังมองไม่เห็นความสำคัญของคนเดินเท้าและคนปั่นจักรยานที่อาจจะอยู่ในเลนใกล้ ๆ กันอีกด้วย
“ถ้าพวกเขารู้สึกว่าไม่ปลอดภัยที่จะใช้ถนน นั่นก็ดี เพราะจะได้มีสมาธิกับการขับรถมากขึ้น ไม่ต้องคอยมองหาป้ายหรือสัญลักษณ์อะไรก็ไม่รู้ที่มีอยู่เต็มไปหมด จนหลุดโฟกัสจากการขับขี่”
แฮมิลตันเริ่มทำการทดลองกับฮันส์ มอนเดอร์มัน (Hans Monderman) วิศวกรชาวดัตช์ ครั้งแรกที่สี่แยกถนนใหญ่ในเมือง Drachten เนเธอร์แลนด์ ซึ่งโดยปกติแล้วแยกนี้จะมีรถวิ่งราว ๆ 22,000 คันต่อวัน หลังจากการทดลองนำป้ายและสัญญาณไฟจราจรออก พบว่ามีความแออัดบนท้องถนนเพิ่มขึ้น แต่จำนวนอุบัติเหตุนับตั้งแต่ปี 1994 - 2002 ลดลงโดยเฉลี่ยจากเดิม 8.3 ครั้งต่อปี เหลือเพียง 1 ครั้งต่อปี
หลังจากนั้น จึงขยายการทดลองให้ครอบคลุมในอีกหลายพื้นที่ เช่น เมือง Makkinga เนเธอร์แลนด์ เมือง Bohmte เยอรมนี และ Auckland นิวซีแลนด์ โดยผู้เดินเท้ากว่า 80 เปอร์เซ็นต์กล่าวว่าพวกเขารู้สึกปลอดภัยในการใช้ถนนร่วมกับรถมากขึ้น ขณะเดียวกัน 72 เปอร์เซ็นต์ของผู้ขับขี่ รู้สึกว่าการเดินทางของพวกเขาไม่ได้ต่างไปจากเดิม และอาจจะใช้เวลาน้อยกว่าเดิมด้วยซ้ำ
เมื่อผลการทดลองเป็นที่น่าพึงพอใจ ในปี 2011 แฮมิลตันจึงได้นำมาปรับใช้กับถนนในเมือง Poynton เมืองเล็ก ๆ ทางตะวันออกของอังกฤษ ซึ่งนับว่าเป็นเส้นทางการจราจรที่มีความคับคั่งอีกเส้นหนึ่ง เพราะในแต่ละวันจะมีรถวิ่งผ่านโดยเฉลี่ย 27,000 คันต่อวัน โดยแฮมิลตันได้เปลี่ยนอิฐบนพื้นถนนให้กลายเป็นสัญลักษณ์วงเวียนคู่ เพื่อให้ผู้ใช้รถชะลอความเร็วลง นับเป็นการทวงคืนถนนทางอ้อม ให้กลับมาเป็นพื้นที่สาธารณะของประชาชนอีกครั้ง
แม้จะได้รับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในช่วงแรก เพราะการทดลองของแฮมิลตันเรียกได้ว่าเล่นใหญ่ชนิดที่ถ้าผิดพลาดขึ้นมา อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายระดับมหภาค เพราะเขาเปลี่ยนสี่แยกที่มีผู้ใช้งานมากเป็นอันดับต้น ๆ ของเมือง ให้กลายเป็นสนามทดลองทางทฤษฎีที่ไม่มีทางรู้ได้แน่ชัดว่า การนำสัญญาณไฟจราจร ทางม้าลาย และป้ายเครื่องหมายจราจรออก จะสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ขับขี่ได้ แต่ผลการทดลองของแฮมิลตันก็เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า เขาสามารถสร้างถนนในอุดมคติได้จริง
โดยพบว่าความเร็วในการขับขี่ของผู้ใช้งานถนนเส้นนี้ลดลงเหลือเพียง 16 - 17 ไมล์ต่อชั่วโมง ส่งผลให้การจราจรมีความคล่องตัว และอุบัติเหตุ รวมถึงอัตราการเสียชีวิตจากเดิม 1.1 ครั้งต่อปี ลดลงกลายเป็นศูนย์ครั้งนับตั้งแต่เปิดตัวโครงการ ซึ่งต่อมาได้รับรางวัล Highways Excellence Award ประจำปี 2013 และรางวัล Urban Transport Design ประจำปี 2014
“ผมต้องการสร้างอารยธรรมของมนุษย์ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ให้พวกเขามีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันมากขึ้น โดยมีถนนเป็นพื้นที่สาธารณะที่สามารถแบ่งปันช่วงเวลาร่วมกัน ไม่ต่างจากการเดินเข้าสวนเพื่อพักผ่อนระหว่างวัน
“มันทำให้เมืองมีความเป็นมนุษย์มากขึ้น” แฮมิลตันย้ำ
“เพราะถ้าคุณปกครองคนด้วยวิธีการที่มองว่าพวกเขาด้อยกว่าคุณ คนเหล่านั้นก็พร้อมจะทำตัวเป็นคนโง่เง่าไม่ต่างจากแนวทางหรือนโยบายที่คุณวางเอาไว้”
ดังนั้นเพื่อทวงคืนพื้นที่ถนนให้กลับมาเป็นของทุกคน การออกแบบสี่แยกโดยนำสัญญาณไฟแดง ทางม้าลาย และเครื่องหมายจราจรออก จึงเป็นอีกวิธีที่จะช่วยเร่งกระบวนการเหล่านี้ให้เร็วขึ้น
เพราะผู้ใช้รถจะเริ่มขับรถช้าลง เนื่องจากต้องคอยระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ เมื่อไม่มีสัญญาณไฟจราจรและทางม้าลาย ทั้งคนขับรถ คนเดินเท้า และคนปั่นจักรยาน ก็จะเกิดการสร้างปฏิสัมพันธ์ขึ้นระหว่างกัน โดยพวกเขาต้องคอยมองตากัน เพื่อส่งสัญญาณออกไปว่าใครจะไปก่อน-ไปหลัง แม้จะเป็นเวลาเพียงเสี้ยววินาที แต่การสบตาเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ก็ช่วยเชื่อมต่อความรู้สึกของการมีส่วนร่วมในสังคมให้เพิ่มพูนขึ้นโดยไม่รู้ตัว
แต่ปัญหาของการออกแบบถนนของแฮมิลตันคือ ผู้ที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกายและผู้พิการทางสายตาไม่สามารถใช้งานพื้นที่สาธารณะตรงนี้ได้อย่างเต็มที่ เพราะไม่มีสัญญาณไฟจราจรคอยส่งเสียงเตือนว่าถึงเวลาต้องข้ามถนน อีกทั้งยังไม่มีเบรลล์บล็อกช่วยนำทาง ซึ่งอาจทำให้คนกลุ่มนี้มีแนวโน้มเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายกว่าปกติ แม้ว่าจะช่วยให้การจราจรคล่องตัวขึ้นก็ตาม
“เป็นเรื่องยากที่จะควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ แต่ผมเชื่อว่าการกำหนดบรรทัดฐานใหม่ทางสังคมมีส่วนช่วยให้เรามีความเป็นระบบระเบียบมากขึ้น แม้ว่ากฎระเบียบเหล่านี้จะนำมาบังคับใช้กับเด็ก ผู้พิการทางสายตา และผู้ที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกายได้ยากก็ตามที”
แฮมิลตันเสียชีวิตในเดือนมีนาคมปี 2019 ด้วยโรคมะเร็ง ในวัย 63 ปี ทิ้งไว้เพียง ‘พื้นที่แบ่งปัน’ พื้นที่ที่ออกแบบมาเพื่อลดการแบ่งแยกการจราจรในรูปแบบต่าง ๆ ตั้งแต่คนเดินเท้า คนขับรถ ไปจนถึงคนปั่นจักรยาน ให้ขยับเข้ามามีส่วนร่วมในการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันมากขึ้น
ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่าแนวคิดดังกล่าวคงเกิดขึ้นได้ยากในประเทศไทย ประเทศที่ให้ความสำคัญของรถมากกว่าคนเดินข้ามถนน…
ภาพ: Ben Hamilton-Baillie/Twitter
อ้างอิง:
https://www.theguardian.com/cities/2019/mar/18/ben-hamilton-baillie-obituary
http://edition.cnn.com/2014/09/22/living/shared-spaces/index.html
https://www.irishtimes.com/life-and-style/motors/is-there-a-better-way-to-share-our-streets-1.654048
https://www.youtube.com/watch?v=D6sIdTU0oec
https://www.youtube.com/watch?v=-vzDDMzq7d0