บีพี: คดีน้ำมันรั่วครั้งใหญ่ที่เงินแสนล้านชดเชยธรรมชาติไม่ได้
“ตั้งแต่ Deepwater Horizon ระเบิดไปเมื่อสิบปีที่แล้ว ตอนนี้เราเหมือนกำลังเดินไปข้างหน้าสองก้าว แล้วถอยหลังกลับมาอีกหนึ่งก้าว แม้จะเป็นเพียงก้าวเดียว แต่ก็อาจทำให้เรามีจุดจบแบบเดียวกับในอดีต” - แมตต์ ลี แอชลีย์ (Matt Lee Ashley) นักวิจัยแห่งศูนย์อเมริกันก้าวหน้า (Center for American Progress) กล่าวถึงกรณีอุบัติเหตุการรั่วไหลของน้ำมันในอ่าวเม็กซิโก
อุบัติเหตุการรั่วไหลของน้ำมันในทะเลที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก คงหนีไม่พ้นกรณีแท่นขุดเจาะน้ำมัน ‘Deepwater Horizon’ กลางอ่าวเม็กซิโกของบริษัท บีพี (British Petroleum) ได้เกิดระเบิดขึ้นในปี 2010 ส่งผลให้น้ำมันดิบ 4.9 ล้านบาร์เรล หรือกว่า 779 ล้านลิตรไหลทะลักลงสู่น่านน้ำสหรัฐฯ ครอบคลุมพื้นที่ถึง 176,100 ตารางกิโลเมตร แม้เวลาจะผ่านไปกว่าสิบปีแล้ว แต่อุบัติเหตุครั้งนั้นยังคงทิ้งร่องรอยความเสียหายต่อระบบนิเวศมาจนถึงปัจจุบัน
สัญญาณก่อนเกิดเหตุระเบิด
คืนวันที่ 20 เมษายน 2010 ขณะคนงานกำลังทำหน้าที่อยู่บนแท่นขุดเจาะน้ำมัน Deepwater Horizon อย่างขะมักเขม้น ทุกอย่างดูเป็นไปตามปกติเหมือนที่ควรจะเป็น แม้ว่าทีมงานของบริษัททรานส์โอเชียนได้สังเกตเห็นความผิดปกติบางอย่างกำลังก่อตัวขึ้น แต่จากคำสั่งของเบื้องบนที่เร่งให้ ‘ขุด’ น้ำมันออกมาให้เร็วและลึกที่สุดเท่าที่จะทำได้ พวกเขาจึงจำใจต้องก้มหน้าก้มตาทำตามคำสั่งอย่างเลี่ยงไม่ได้
ซึ่งไม่ใช่นักขุดเจาะจากที่ไหนก็ทำได้ บีพีเลือกมาแล้วเป็นอย่างดีว่าต้องเป็นทีมงานมือฉมังจากทรานส์โอเชียนเท่านั้น เพราะหากพลิกแฟ้มย้อนดูผลงานของทีมงานชุดนี้ จะเห็นได้ว่า ‘นี่แหละคือทีมนักขุดเจาะมือหนึ่ง’ พวกเขาเคยทำสถิติเจาะผิวโลกลงไปลึกระดับ 10,684 เมตรใต้พื้นดินมาแล้วในปี 2009
ดังนั้นความผิดปกติเล็ก ๆ ของแท่นขุดเจาะน้ำมัน Deepwater Horizon ซึ่งมีความก้าวหน้าด้านวิศวกรรมระดับสูง จึงไม่ใช่เรื่องที่ควรกังวลใจ เพราะแท่นขุดเจาะแห่งนี้มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยวางโครงสร้างอันซับซ้อน ทุกอย่างถูกควบคุมด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย
อีกทั้งยังมีการออกแบบให้มีลักษณะคล้ายเรือสำราญขนาดใหญ่ สามารถบรรจุคนงานได้เกือบสองร้อยชีวิต พรั่งพร้อมไปด้วยห้องหับและอุปกรณ์อำนวยความสะดวก ไม่ว่าจะเป็นโรงยิม โรงภาพยนตร์ เรียกได้ว่าคงไม่มีแท่นขุดเจาะน้ำมันจุดไหนยิ่งใหญ่หรือมีความปลอดภัยเทียบเท่า Deepwater Horizon ได้อีกแล้ว
เหตุผลที่พวกเขาต้องเร่งขุดเจาะแหล่งน้ำมันมาคอนโด (Macondo) ในบริเวณอ่าวเม็กซิโก ซึ่งอยู่ใต้ระดับน้ำทะเล 1,522 เมตร และหลุมน้ำมันก่อตัวลึกลงไปในชั้นหินอีก 5,486 เมตร เกิดขึ้นจากความต้องการที่จะเสาะแสวงหาแหล่งน้ำมัน เพื่อนำไปขายในตลาดโลกได้อย่างทันท่วงที
ถึงจะมีประวัติการันตีในฝีมือของทีมงานชุดนี้ และแท่นขุดเจาะน้ำมัน Deepwater Horizon ที่สามารถเจาะลงไปใต้ผิวทะเลได้ลึก 2,400 เมตร และขุดเจาะชั้นหินลึกถึง 9,100 เมตร แต่กระบวนการการทำงานกลับยากกว่าที่ตาเห็น เพราะทุกขั้นตอนต้องอาศัยความรอบคอบ รัดกุม การเร่งลงมือขุดโดยไม่วางแผนไว้ให้ดีอาจนำมาซึ่งหายนะ
และใช่, Deepwater Horizon กำลังจะกลายเป็นหายนะครั้งใหญ่ที่มนุษยชาติไม่อาจลืมเลือน...
แหล่งน้ำมันมาคอนโดมีลักษณะเป็นหลุมลึก มีโครงสร้างชั้นหินที่ซับซ้อน ยิ่งเพิ่มการทำงานให้ยากขึ้นไปอีก กว่าจะลงมือขุดเจาะได้จริงก็กินเวลาไปนานกว่า 5 เดือน เวลาเกือบครึ่งปีที่พวกเขาเสียไป ทำให้บีพีกดดันทีมงานมากขึ้นเรื่อย ๆ
เพราะราคาน้ำมันโลกกำลังดีดตัวขึ้นสูง การจะปล่อยโอกาสทองหลุดลอยไปคงไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีนัก
ในไม่ช้าทีมงานจากทรานส์โอเชียนจึงจำใจต้องเร่งรัดกระบวนการและลงมือขุดเจาะอย่างจริงจัง ทั้งมองข้ามสัญญาณรอยรั่วในหลุม ปัญหาแรงดันอากาศ และอุปกรณ์ที่ไม่พร้อมใช้งาน ขณะที่คนงานบางส่วนที่กระโดดขึ้นมาทำงานบนแท่นขุดเจาะน้ำมัน ยังปลอมแปลงเอกสาร เพื่อให้สามารถทำงานบนแท่นขุดเจาะนี้ได้อย่างถูกกฎหมาย
“เพราะเงินมันดี เงินคือแรงจูงใจเดียวที่ทำให้ชนชั้นแรงงานส่วนใหญ่ยินดีที่จะปลอมแปลงเอกสาร และสมัครเข้าทำงานร่วมกับบริษัทน้ำมัน
“บางครั้งพวกเขาก็ได้เงินเดือนมากกว่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน (ราว 300,000 บาท) บางคนได้รับเงินเดือนหลักล้าน แม้จะจบแค่ ม.ปลาย เพราะงานพวกนี้ต้องใช้แรงกายหนัก เข้ากะไม่ต่ำกว่า 12 ชั่วโมง แต่ผลตอบแทนที่ได้รับก็คุ้มค่า แม้จะโดนสูบเอาเวลาและพลังชีวิตไปจนหมดก็ตาม” หนึ่งในผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์การรั่วไหลของน้ำมันในอ่าวเม็กซิโกกล่าว
จนกระทั่งวันที่ 20 เมษายน 2010 เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็มาเยือน เจ้าหน้าที่คนงานไม่สามารถควบคุมปริมาณความดันของเหลวภายในบ่อให้เสถียร ความดันเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่อุปกรณ์ลดความดันเพื่อป้องกันการระเบิดอัตโนมัติ (Blowout Preventer; BOP) ก็ไม่ทำงาน ก๊าซมีเทนจำนวนมากเบียดเสียดกันอยู่ภายในท่อความดันเล็ก ๆ พุ่งทะลักออกมาจากบ่อกักเก็บและติดประกายไฟ
แรงระเบิดได้คร่าชีวิตคนงาน 11 รายในทันที และบาดเจ็บอย่างน้อย 17 คน
แม้แท่นขุดเจาะน้ำมัน Deepwater Horizon จะจมลง และคร่าชีวิตคนงานอีกกว่าสิบชีวิต แต่อีกหนึ่งปัญหาที่ตามมาคือ ปริมาณน้ำมันดิบที่ไหลทะลักอยู่บริเวณนอกชายฝั่งสหรัฐฯ จำนวนไม่ต่ำกว่า 200 ล้านแกลลอน หรือประมาณ 700 ล้านลิตร ทำให้พื้นที่ชายหาดยาว 1,728 กิโลเมตร บริเวณรัฐเท็กซัส ลุยเซียนา มิสซิสซิปปี แอละแบมา และฟลอริดา ต้องเผชิญกับปัญหาคราบน้ำมันตกค้างมาจนถึงปัจจุบัน
การรั่วไหลในครั้งนั้นกินเวลายาวนานถึง 87 วันเต็ม ๆ สร้างความเสียหายให้กับสิ่งแวดล้อม พรากชีวิตสัตว์ทะเลอย่างเต่า นก และปลา ไปไม่ต่ำกว่า 8,000 สายพันธุ์ รวมถึงวิถีชีวิตของผู้คนที่ต้องอาศัยน่านน้ำในการประกอบอาชีพก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ
แม้ว่าในปัจจุบัน คราบน้ำมันจะเหลือน้อยลงแล้วก็ตาม แต่ร่องรอยดังกล่าวยังคงตามหลอกหลอนสะท้อนถึงความละโมบของบริษัทน้ำมันในอดีตได้อย่างแจ่มชัด
กำจัดคราบน้ำมัน
เมื่อสถานการณ์เลวร้ายขั้นสุด มวลน้ำมันปกคลุมเต็มทั่วผิวน้ำ ขนาดภาพที่ส่งมาจากดาวเทียมนอกโลก ยังสามารถมองเห็นท้องทะเลที่เต็มไปด้วยคราบน้ำมันในอ่าวเม็กซิโกแห่งนี้ได้ แน่นอนว่าผู้รับผิดชอบเหตุการณ์ครั้งนี้คงหนีไม่พ้น ‘บีพี’ แต่การจะกล่าวโทษกันไปมาคงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก
เพราะยิ่งปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปนานเท่าไร คราบน้ำมันก็จะยิ่งแผ่ขยายมากขึ้นเท่านั้น
ภารกิจกำจัดคราบน้ำมันจึงเริ่มต้นขึ้นอย่างเร่งด่วน ทีมงานหลายฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน หรือแม้แต่ประชาชนเอง ต่างเข้ามาช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพื่อเร่งกอบกู้สถานการณ์ โดยขั้นตอนแรก บีพีต้องทำการปิดรอยรั่วของบ่อน้ำมัน จากนั้นจึงโปรยสารกระจาย (Dispersant) ซึ่งเป็นสารเร่งจำกัดการแพร่กระจายของคราบน้ำมัน
และใช้อุปกรณ์อีกหลากหลายชนิดเพื่อขจัดคราบน้ำมันให้หมดไป เช่น การใช้เรือตักคราบน้ำมัน และทุ่นลอยน้ำความยาวกว่า 1,676 กิโลเมตร เข้ามาดักจับและซับคราบน้ำมัน นอกจากนี้ยังได้นำสารเคมีมาโปรยเหนือผิวน้ำเพื่อดูดซับคราบน้ำมัน รวมถึงนำวิธี ‘การเผา’ เข้ามาใช้ เพื่อกำจัดวงการแผ่ขยายของคราบน้ำมันให้แคบลง แต่กลับส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นไปอีก
ความเสียหายที่ประเมินค่าไม่ได้
ผลกระทบภายหลังจากเกิดเหตุการณ์รั่วไหลของน้ำมันในอดีต ทำลายระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตทางทะเลกว่า 8,332 สายพันธุ์ โดยคราบน้ำมันที่ไหลทะลักออกมานั้น ได้รวมตัวกันก่อเกิดเป็นสารพิษรุนแรงชื่อ ‘โพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน’ (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons; PAHs) ซึ่งมีฤทธิ์เป็นสารก่อการกลายพันธุ์ หรือสารก่อมะเร็งในสัตว์ และมีส่วนทำให้ออกซิเจนภายในอ่าวเม็กซิโกลดระดับต่ำลงอย่างน่าใจหาย
นอกจากสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลายอย่างย่อยยับ เศรษฐกิจเองก็ย่ำแย่ไม่แพ้กัน ชาวอเมริกันและผู้คนที่ต้องอาศัยน่านน้ำแห่งนี้ในการทำมาหากิน ถูกบริษัทเลิกจ้างเป็นจำนวนมากถึง 47,000 ชีวิต
เหตุการณ์ครั้งนี้ กลายเป็นที่จับตามองจากสื่อทั่วทุกมุมโลก ทุกคนต่างจับจ้องทุกการกระทำของบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ไม่วางตา เพราะสถานการณ์ทุกอย่างเริ่มเข้าขั้นวิกฤต อีกทั้งยังมีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายสูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งทางบีพีเองก็ได้ออกมายอมรับความผิดที่เกิดขึ้นทั้งทางอาญาและทางแพ่ง
ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2015 สำนักข่าว BBC รายงานว่า บีพียอมจ่ายเงินค่าปรับแก่รัฐบาลกลางเป็นจำนวน 4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 144,000 ล้านบาท หลังจากบรรลุข้อตกลงกับกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เพื่อฟื้นฟูแหล่งน้ำตามกฎหมาย Clean Water Act และเยียวยาผลกระทบในแต่ละชุมชนที่ได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุดังกล่าว
นอกจากนี้ บีพียังต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ประชาชน ภาคธุรกิจ และหน่วยงานรัฐอีก 5 รัฐ คือ แอละแบมา ฟลอริดา ลุยเซียนา มิสซิสซิปปี และเท็กซัส รวมทั้งองค์กรท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องอีกราว 7,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 249,600 ล้านบาท) และชดเชยค่าเสียหายอีกหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ เช่น มูลนิธิปลาและสัตว์ป่าแห่งชาติ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งชาติ กองทุนฟื้นฟูชายฝั่งอ่าวเม็กซิโก และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ
ภายหลังรัฐบาลสหรัฐฯ ได้เข้ามาตรวจสอบขั้นตอนการทำงานของบีพีอย่างละเอียด และทำการเพิกถอนสิทธิในการได้รับสัมปทานน้ำมันในสหรัฐฯ ถือเป็นบทเรียนราคาแพงที่ไม่ว่าบริษัทจะมีขนาดธุรกิจใหญ่แค่ไหนก็ตาม หากทำผิดพลาด ย่อมถูกลงโทษตามกฎหมายไม่ต่างกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงเช่นนี้ขึ้นอีกในอนาคต
ทำไมผมไม่ตาย ๆ ไป ให้มันจบไป
อุบัติเหตุน้ำมันรั่วไหล ไม่ได้ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ‘สตีเฟน สโตน’ (Stephen Stone) หนึ่งในผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์การระเบิดของแท่นขุดเจาะน้ำมัน Deepwater Horizon เองก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงทางด้านจิตใจไม่ต่างกัน แม้ดูภายนอกจะเห็นว่าเขาคือชายคนหนึ่งที่เนื้อตัวสะอาดสะอ้าน ไม่มีบาดแผลหรือร่องรอยการบาดเจ็บจากโศกนาฏกรรมในอดีต
“มันเริ่มจากมีก๊าซมีเทนทะลุบ่อกักเก็บที่ผู้รับเหมาจากบริษัท Halliburton เพิ่งมาติดตั้งได้ไม่นาน พุ่งขึ้นมาข้างบนแท่น ผ่านรอยรั่วตามชั้นหิน แล้วลูกไฟขนาดย่อมก็กระจายไปทั่วดาดฟ้า จากนั้นทุกอย่างก็เลวร้ายลง”
“น้ำกำลังลุกเป็นไฟ!”
“แท่นขุดเจาะกำลังลุกไหม้!”
ขณะที่ทุกอย่างรอบตัวของสตีเฟนกำลังวุ่นวาย เปลวไฟลุกท่วม แต่เขาทำได้เพียงแค่มอง มอง และก็มอง ทุกอย่างเหมือนถูกหยุดเวลาไว้ เขาขยับตัวไม่ได้แม้แต่ก้าวเดียว
“ทำไมผมไม่ตาย ๆ ไป ให้มันจบไป” นี่คือคำพูดที่วนเวียนอยู่ในหัวสตีเฟน ทั้งก่อนและหลังจากได้รับการรักษาจนหายดี และกลับมาอยู่ที่บ้านกับภรรยา ‘ซาร่า สโตน’ (Sara Stone) เธอรู้ดีว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสามีของเธอ
“ตอนนั้นฉันได้รับสายโทรศัพท์จากทรานส์โอเชียน เขาบอกว่าสตีเฟนคือหนึ่งในผู้โชคดี สามีของฉันอยู่บนเรือข้ามฟาก กำลังถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลในนิวออร์ลีนส์” หลังจากซาร่าได้รับสายโทรศัพท์ เธอก็รีบบึ่งรถมาทันที แม้จะใช้เวลานานถึง 3 ชั่วโมงครึ่งกว่าจะถึงที่หมายก็ตาม
ทันทีที่เห็นหน้าสตีเฟน เธอรับรู้ได้ทันทีว่า สามีของเธอเหมือนคนจะขาดใจตาย ใบหน้าขาวซีด ดวงตาไร้ความรู้สึก ทุกการกระทำของเขามีแต่ความว่างเปล่า เธอไม่อาจสัมผัสได้ถึงความอบอุ่นจากเขาได้ เขาทั้งดูตกใจ ช็อก และเปราะบาง เหมือนแก้วบาง ๆ ที่สัมผัสเพียงแผ่วเบาก็พร้อมจะแตกสลายได้ทุกเมื่อ
“จากสายตาของเขาที่มองมาที่ฉัน ฉันรู้ได้ทันทีว่าสามีของฉันเพิ่งผ่านเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดในชีวิตมา”
ซาร่าให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว The Guardian ในเดือนพฤษภาคม 2010 ว่า ทุกคนกำลังมอบความเห็นอกเห็นใจให้แก่สัตว์ทะเลและสิ่งแวดล้อม แต่พวกเขาลืมเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง พวกเขามักจะน้ำตาซึมทุกครั้งที่เห็นภาพของสัตว์ปีกเนื้อตัวเปรอะเปื้อนไปด้วยคราบน้ำมัน ภาพของโลมา เต่า หรือสัตว์ทะเลแต่ละชนิดนอนเกยตื้นตายอยู่บนชายหาด แล้วคนงานที่รอดชีวิตไปอยู่ตรงไหนในเหตุการณ์ครั้งนี้ พวกเขาหลงลืมที่จะมอบความเห็นอกเห็นใจให้แก่สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์เดียวกันจนหมดสิ้น
“เป็นเรื่องปกติที่เวลาพูดถึงเหตุการณ์แท่นขุดเจาะน้ำมัน Deepwater Horizon ระเบิด แล้วพวกเขายกเอารูปนกทะเล เต่า หรือโลมา ขึ้นโชว์หราอยู่บนหน้าจอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถเรียกคะแนนความสงสารได้เป็นอย่างดี
“ฉันก็คิดนะว่าทำไม แทนที่จะเอาภาพสัตว์เหล่านี้ขึ้น ทำไมไม่ลองนำเสนอภาพของคนงานที่ได้รับบาดเจ็บดูบ้าง พวกเขาก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีจิตใจเหมือนกัน”
ในทางกลับกัน สตีเฟน สามีของเธอกลับเข้าใจถึงการนำเสนอภาพเหล่านี้ออกไปเป็นอย่างดี เพราะคนงานส่วนใหญ่ที่มาทำงานที่แท่นขุดเจาะน้ำมัน พวกเขาเป็นแค่ชาวบ้านธรรมดา ๆ ไม่ได้มีบทบาทที่สำคัญอะไร ต่างจากผู้บริหารระดับสูงที่บริษัทบีพีได้ประกาศมอบโบนัสให้เหล่าบิ๊กบอสที่ทำหน้าที่ดูแลอุบัติเหตุครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้น หลังจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วเพิ่งผ่านไปไม่กี่เดือน
“พวกเขาพูดว่าปี 2010 เป็นปีที่มีการยกระดับความปลอดภัยสูงสุดเท่าที่เคยมีมา มันทำให้ผมโกรธจนทำอะไรไม่ถูก” ซึ่งสตีเฟนได้ยื่นจดหมายลาออกในเวลาต่อมา เพราะเขารู้สึกเหมือนโดนหักหลังจากบริษัทที่เขารักและไว้ใจมากที่สุด
“ผมบอกกับตัวเองว่าพอแล้ว ผมควรหยุด ขณะที่ในหัวของผมมีแต่คำหยาบคายเต็มไปหมด อยากจะตะโกนออกไปว่า ‘ช่างแม่ง’ จะไปตายที่ไหนก็ไป ผมจะไม่ทำงานให้บริษัทเส็งเคร็งนี้อีกแล้ว”
สำหรับความเสียหายจากการระเบิดของแท่นขุดเจาะน้ำมัน ‘Deepwater Horizon’ กลางอ่าวเม็กซิโก ในปี 2010 นั้น จนปัจจุบันคราบน้ำมันก็ยังคงหลงเหลืออยู่ตามชายหาด คงต้องรอเวลาให้ธรรมชาติจัดการสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้ให้หายไปอย่างช้า ๆ แม้ว่าโศกนาฏกรรมทั้งหมดจะเกิดขึ้นโดยน้ำมือมนุษย์ก็ตาม
ภาพ: Getty Images
อ้างอิง:
https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/103139
https://www.britannica.com/event/Deepwater-Horizon-oil-spill
https://www.matichon.co.th/entertainment/news_274648
https://www.thairath.co.th/content/509180
https://www.nationalgeographic.com/animals/article/how-is-wildlife-doing-now--ten-years-after-the-deepwater-horizon
https://www.nationalgeographic.com/science/article/bp-oil-spill-still-dont-know-effects-decade-later
https://www.theguardian.com/news/2022/jan/06/life-after-deepwater-horizon-the-hidden-toll-of-surviving-disaster-on-an-oil-rig
https://www.washingtonpost.com/climate-environment/2020/02/12/toxic-reach-deepwater-horizons-oil-spill-was-much-larger-deadlier-than-previous-estimates-new-study-says/