04 ก.พ. 2565 | 14:00 น.
- ตำนานเรื่องไส้กรอกเนื้อมนุษย์ที่กล่าวขานกันนั้นมีที่มาจากเรื่องราวในคดีฆาตกรรม ก่อเหตุโดยอดอล์ฟ ลุทเกิร์ต เจ้าของโรงงานเนื้อแปรรูปที่ลงมือสังหารภรรยา
- หลังคดีถูกเปิดเผย เจ้าของธุรกิจโรงงานเนื้อแปรรูปต่างทยอยปิดตัวลง เนื่องจากชาวเมืองชิคาโกไม่ต้องการกินเนื้อแปรรูปที่อาจมีส่วนผสมของ ‘เนื้อมนุษย์’ ปะปน
หลายคนคงเคยได้ยินเรื่องช่างทำผมที่เปิดร้านมาเพื่อ ‘เชือดคอ’ ลูกค้าและนำไปทำเป็นไส้พาย จนกลายเป็นตำนานดังระดับโลก ซึ่งภาพยนตร์ ซีรีส์ และละครเวทีอีกหลายสิบเรื่อง ล้วนได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ครั้งนี้
แต่อีกหนึ่งตำนานประจำรัฐอิลลินอยส์ที่มีความน่าสยดสยองไม่แพ้กันคือ การหายตัวไปอย่างลึกลับของภรรยาเจ้าของโรงงานไส้กรอกในกลางดึกคืนหนึ่ง ก่อนที่จะถูกค้นพบว่าร่างของเธอได้กลายเป็นเศษเนื้อชิ้นเล็กชิ้นน้อย กระจัดกระจายอยู่ข้างถังบดไส้กรอก!
แต่ ‘อดอล์ฟ ลุทเกิร์ต’ เจ้าของโรงงานไส้กรอกและเป็นสามีของผู้ตาย กลับไม่มีท่าทีตื่นตกใจ มีเพียงยามเฝ้าโรงงานเท่านั้นที่ตื่นตระหนก เขาเห็นความผิดปกติบางอย่างในคืนนั้น แต่ได้ปล่อยผ่านเลยไป เพราะใครจะไปคิดว่าสถานที่แห่งนั้นคือพื้นที่ก่อเหตุฆาตกรรม และผู้ต้องสงสัยหลักคือ ‘เจ้านาย’ ของเขาเอง
ราชาไส้กรอก
‘อดอล์ฟ ลุทเกิร์ต’ (Adolph Luetgert) นักธุรกิจเชื้อสายเยอรมัน-อเมริกัน ผู้บุกเบิกการตั้งโรงงานไส้กรอกในเมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ จนได้รับความนิยมไปทั่วประเทศ เรียกได้ว่าเขาคือนักธุรกิจหน้าใหม่ที่ประสบความสำเร็จคนหนึ่งของรัฐ อีกทั้งยังได้รับฉายาว่าเป็น ‘ราชาไส้กรอก’ ประจำเมือง เห็นได้จากโรงงานขนาดใหญ่ สูง 5 ชั้น แต่ละชั้นเต็มไปด้วยเครื่องจักรและคนงานเดินกันขวักไขว่
ลุทเกิร์ตเกิดวันที่ 27 ธันวาคม 1845 ที่เมือง Gütersloh เยอรมนี เขาเกิดมาในครอบครัวใหญ่ ใช้ชีวิตกับพี่น้องร่วมสายเลือด 16 คน โดยมีน้องชายฝาแฝดเป็นเพื่อนคนสำคัญ พ่อเป็นพ่อค้าขายหนังสัตว์ และนักลงทุนมือสมัครเล่นในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ส่วนแม่เป็นเพียงแม่บ้านธรรมดา ที่ทั้งวันหมดไปกับการดูแลลูกชาย 13 คน และลูกสาวอีก 3 คน
ชีวิตวัยเด็กของลุทเกิร์ตไม่ได้มีความหวือหวามากนัก เขาเริ่มเรียนหนังสือครั้งแรกตอนอายุ 7 ขวบ พออายุ 14 ปี ก็ลาออกมาช่วยที่บ้านหาเงิน โดยสมัครทำงานที่โรงงานฟอกหนังสัตว์แห่งหนึ่ง เขาทุ่มเทเวลาไปกับการทำงาน เรียนรู้ทุกอย่างเท่าที่เจ้าของโรงงานจะมอบให้ได้
จนกระทั่งเวลาผ่านไปสองปีครึ่ง เขาลาออกจากงานและเริ่มเดินทางไปทั่วเยอรมนี สมัครทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ระหว่างทาง แลกกับเศษเงินพอประทังชีวิตไปวัน ๆ เด็กหนุ่มออกจากบ้านมาใช้ชีวิตด้วยตัวเองอย่างถาวร ตัดขาดจากพ่อแม่ มีเพียงพี่น้องไม่กี่คนที่ยังคงติดต่อหากันอยู่เป็นระยะ
ลุทเกิร์ตในวัย 24 ปี เริ่มเห็นคนรอบข้างประสบความสำเร็จ ทุกคนมีบ้าน มีครอบครัวที่อบอุ่น มีทรัพย์สินเงินทองมากมาย แต่เขากลับไม่มีอะไรเลย...
เหมือนฟ้าจะเห็นใจ เพื่อนที่ทำงานเก่าส่งข่าวคราวมาว่า อเมริกากำลังขาดแคลนแรงงานฝีมืออย่างหนัก เขาไม่รอช้ารีบตีตั๋ว หอบเสื้อผ้าและสมบัติอันน้อยนิด ไปยังดินแดนแห่งเสรีภาพแทบจะทันทีที่ได้รับข่าว และโชคดีก็ตกมาเป็นของลุทเกิร์ตอีกครั้ง เพราะประสบการณ์การทำงานที่เข้าตาประธานบริษัท เขาจึงได้รับเลือกให้ทำงานในตำแหน่งพนักงานฟอกหนังสัตว์ตามที่ถนัด
ลุทเกิร์ตเก็บหอมรอมริบจนสามารถเปิดโรงเบียร์เป็นของตัวเองได้ในปี 1872 และพบรักกับ ‘แคโรไลน์ แรปเก้’ (Caroline Roepke) ในปีเดียวกัน โชคร้ายที่ชีวิตรักของทั้งคู่จบลงภายในระยะเวลาอันสั้น แคโรไลน์เสียชีวิตขณะกำลังคลอดลูกชายคนที่ 2 ในปลายปี 1877
ความระทมทุกข์ของลูกชายอดีตภรรยายังไม่ทันจางหาย ผู้เป็นพ่อกลับเลือกที่จะเดินต่อไปข้างหน้า โดยทิ้งความเศร้าโศกไว้เป็นเพียงเรื่องราวในอดีต ลุทเกิร์ตแต่งงานใหม่กับ ‘ลูอิซา บิกเนส’ (Louisa Bicknese) สาวรับใช้ที่มีอายุน้อยกว่าเขาเกือบสิบปี หลังจากภรรยาคนแรกจากไปเพียงสองเดือน และมอบแหวนทองวงเกลี้ยงสลักตัวอักษรย่อ L.L. (Louisa Luetgert) ไว้แทนคำมั่นสัญญาว่าจะรักและดูแลเธอตลอดไป
เวลาผ่านไปหนึ่งปีให้หลัง ลุทเกิร์ตเปิดโรงงานไส้กรอก A.L. Sausage & Packing ขนาดเล็กเพื่อลองตลาด และพบว่าชาวเมืองชิคาโกชื่นชอบการกินของแปรรูปขนาดหนัก เขาขยายโรงงานให้ใหญ่ขึ้นในปี 1892 โดยซื้ออาคารสูง 5 ชั้นตรงมุมถนน และเปลี่ยนที่ดินด้านข้างโรงงานให้กลายเป็นบ้านพักหรู 3 ชั้น เพื่อเป็นพื้นที่พักผ่อนสำหรับครอบครัวใหม่ของเขา
ลุทเกิร์ตถูกยกสถานะให้เป็น ‘ราชาไส้กรอก’ ประจำเมืองชิคาโก เขาคือเจ้าของโรงงานเนื้อแปรรูปที่เปิดสายพานการผลิตมากที่สุดในเมือง เม็ดเงินมูลค่ามหาศาลที่เขาได้รับจากธุรกิจเนื้อแปรรูป กำลังทำให้ชายคนนี้หลงระเริง และเริ่มมองหาลู่ทางขยายธุรกิจให้ใหญ่ขึ้นไปอีก
ช่วงเวลาแห่งความสุขมักผ่านไปเร็วเสมอ เพราะเพียง 5 ปี ราชาไส้กรอกกลับตกอยู่ในสถานะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เขาตกที่นั่งลำบาก สถานการณ์ทางการเงินเข้าขั้นวิกฤต หลังจากทุ่มเงินลงทุนในธุรกิจไปจำนวนมาก แต่ผลตอบแทนที่ได้รับกลับติดลบ ลุทเกิร์ตเริ่มมีอารมณ์แปรปรวน เขาฉุนเฉียวง่ายกว่าปกติ และมักกล่าวโทษคนรอบข้างที่ทำให้เขาเป็นหนี้ธนาคารก้อนโต
ชีวิตแต่งงานของทั้งคู่เริ่มระหองระแหง นอกจากอารมณ์ที่ขึ้น ๆ ลง ๆ แล้ว นิสัยเดิมของลุทเกิร์ตที่เป็นเสือผู้หญิง ก็ยิ่งทำให้ภรรยาหนักใจ เขามักนอนในห้องพักส่วนตัวที่โรงงาน ทิ้งภรรยาสาวให้อยู่บ้านกับลูกชายวัย 12 ขวบของเธอเพียงลำพัง แต่เธอรู้ดีว่าสามีกำลังนอกใจ เขาปันใจไปให้แม่ม่ายสาวผู้มั่งคั่ง อีกทั้งยังร่วมหลับนอนกับลูกพี่ลูกน้องของเธออยู่เป็นประจำ ลุทเกิร์ตทำลายชีวิตครอบครัวจนย่อยยับ
แต่ลูอิซาไม่ใช่ภรรยาที่ยอมทนกับพฤติกรรมสำส่อนของสามี เธอทั้งดุด่า ขว้างปาสิ่งของ บางครั้งก็หอบข้าวของหนีออกจากบ้านพร้อมกับลูกชาย ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ถึงจุดแตกหัก แม้จะมีปัญหาครอบครัวเข้ามาไม่หยุดหย่อน แต่สิ่งที่ลูอิซายืนยันอย่างหนักแน่นคือ เธอจะไม่ยอมหย่าขาดกับสามีเด็ดขาด
ลุทเกิร์ตจึงได้แต่เก็บความคับแค้นเอาไว้ในใจ เขาหมดรักภรรยาแล้ว เขาอยากเริ่มต้นชีวิตใหม่กับแม่ม่ายสาว เพื่อนทางจดหมายที่จะช่วยให้สถานการณ์ทางการเงินของเขาดีขึ้น
คืนก่อเหตุ
คืนวันที่ 1 พฤษภาคม 1897 เวลา 22.30 น. โดยประมาณ ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายที่มีผู้พบเห็นว่าลูอิซายังมีชีวิตอยู่ ตำรวจได้รับแจ้งความคนหายจากน้องชายของลูอิซา หลังจากติดต่อพี่สาวไม่ได้นานถึง 3 วัน แต่สามีของเธอกลับไม่แยแสกับความผิดปกติที่เกิดขึ้น เขาไม่รู้สึกว่าสิ่งนี้คือเรื่องผิดปกติ อีกทั้งยังบอกกับตำรวจอีกว่า เธอหนีไปกับชายชู้ ขณะที่บอกกับลูกชายและญาติของภรรยาว่า เธอเดินทางไปเยี่ยมน้องสาวที่ต่างจังหวัด
ตำรวจจับสังเกตความผิดปกติของลุทเกิร์ตได้ในทันที แม้จะยังไม่มีหลักฐานมัดตัวชายเลือดเย็นผู้นี้ ซึ่งระหว่างการสอบสวน พวกเขาได้รู้เบื้องลึกเบื้องหลังของคู่สามี-ภรรยาเพิ่มมากขึ้น ทั้งประวัติการใช้ความรุนแรงในครอบครัว การทะเลาะวิวาทกันเป็นประจำ ไปจนถึงสถานะทางการเงินที่ไม่มั่นคง อีกทั้งลุทเกิร์ตยังมีความสัมพันธ์รักหวานซึ้งกับสตรีผู้มั่งคั่งรายหนึ่ง
หลังจากสอบปากคำพยานแวดล้อม สถานที่ที่พยานให้การไปในทิศทางเดียวกันว่าพบเห็นลูอิซาเป็นครั้งสุดท้าย มุ่งเป้าไปที่โรงงานไส้กรอกของลุทเกิร์ต ในสัปดาห์ต่อมาเหล่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ นักสืบ กระจายกำลังลงพื้นที่ตรวจสอบ พวกเขาค้นโรงงานทุกซอกทุกมุม แต่ไม่เจอความผิดปกติ
จนกระทั่ง แฟรงก์ บีอัลก์ (Frank Bialk) ยามกะกลางคืนของคืนที่เกิดเหตุเดินมาบอกว่า เขาเห็นความผิดปกติในคืนวันนั้น เจ้านายของเขามีท่าทางแปลก ๆ เดินวนเวียนไปมาอยู่รอบถังต้มที่ชั้นใต้ดินของโรงงาน เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญได้เข้าไปตรวจสอบทันที และพบของเหลวหนืดข้นสีน้ำตาลแดง ส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งไปทั่ว
นี่อาจจะเป็นเศษเนื้อธรรมดาก็ได้ เพราะที่นี่คือโรงงานไส้กรอก ย่อมมีเศษเนื้อหลงเหลืออยู่เป็นเรื่องปกติ
แต่ทันทีที่ระบายของเหลวออกจากถัง ภาพความสยดสยองก็ยิ่งกระจ่างชัด โครงกระดูกชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่ดูยังไงก็ไม่เหมือนกระดูกสัตว์ ค่อย ๆ โผล่ออกมาทีละชิ้น แต่มีชิ้นหนึ่งกำลังส่องประกายระยิบระยับ ‘แหวนทองวงเกลี้ยงสลักตัวอักษรย่อ L.L.’ ไม่ผิดแน่ นี่คือชิ้นส่วนที่เหลืออยู่ของลูอิซา หญิงสาวที่หายตัวไป
ลุทเกิร์ตถูกควบคุมตัวในทันที หลักฐานทุกอย่างเป็นที่ประจักษ์ ทั้งเศษเสื้อผ้าที่พยายามเผาทำลายหลักฐาน ฟันซี่เล็ก ๆ ที่หล่นอยู่ข้างถัง กิ๊บติดผม และเศษผ้ารัดหน้าอกของลูอิซา เขาถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานฆาตกรรม และส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำโจเลียต ประจำรัฐอิลลินอยส์
หลังจากข่าวการจับกุม ‘ราชาไส้กรอก’ กระจายออกไป เจ้าของธุรกิจโรงงานเนื้อแปรรูปต่างทยอยปิดตัวลง เนื่องจากชาวเมืองชิคาโกไม่ต้องการกินเนื้อแปรรูปที่อาจจะมีส่วนผสมของ ‘เนื้อมนุษย์’ ปะปนอยู่ แต่นี่เป็นเพียงแค่ข่าวลือเท่านั้น เพราะทันทีที่ลุทเกิร์ตก่อเหตุฆาตกรรม เขาสั่งปิดโรงงานเป็นเวลาสองวันเต็ม เพื่อทำความสะอาดโรงงาน แต่อย่าลืมว่าสุดท้ายแล้วภายในถังต้มก็ยังคงมีชิ้นส่วนของภรรยาตกค้างอยู่ไม่ถังใดก็ถังหนึ่ง
ตำรวจสันนิษฐานว่าลุทเกิร์ตนำร่างภรรยาลงไปต้มในถังไส้กรอก โดยเทโพแทสเซียมลงไปต้มในน้ำด่าง เพื่อให้เนื้อเยื่อละลาย จากนั้นจึงเผาเสื้อผ้าของเหยื่อทิ้งในเตาเผา แต่ลุทเกิร์ตเร่งรีบเกินกว่าจะเก็บรายละเอียดพื้นที่ก่อเหตุให้เรียบร้อย เศษเนื้อของเธอยังคงติดอยู่ตรงก้นหม้อ ข้าวของเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ถูกเผาไม่หมด อีกทั้งยังมีพยานแวดล้อมที่ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เขาคือคนสุดท้ายที่คุณนายลุทเกิร์ตอยู่ด้วยในคืนนั้น
เรื่องราวของลุทเกิร์ตโด่งดังไปทั่ว แม้กระทั่งเด็กในเมืองยังรู้จัก พวกเขายังได้แต่งเพลงขึ้นมาเพื่อ ‘ราชาไส้กรอก’ รายนี้โดยเฉพาะ
Old man Luetgert made sausage out of his wife!
He turned on the steam,
His wife began to scream,
There’ll be a hot time in the old town tonight!
ลุทเกิร์ตใช้ช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตในเรือนจำโจเลียต เขาไม่เคยรับสารภาพว่าเป็นคนลงมือฆ่าภรรยาแม้แต่ครั้งเดียว ถึงจะมีหลักฐานชี้ชัดว่าเขาคือคนร้ายก็ตาม และด้วยความที่เขาคือนักโทษที่ประพฤติตัวดี เป็นที่ชื่นชอบของเพื่อนร่วมห้องขัง ผู้คุมเรือนจำจึงยินยอมให้ ‘ราชา’ หวนคืนตำแหน่งอีกครั้ง โดยรับหน้าที่เป็นพ่อครัวประจำเรือนจำ คอยดูแลอาหารเหมือนครั้งหนึ่งที่เขาเคยมีอิสระในการใช้ชีวิต
ลุทเกิร์ตเสียชีวิตลงในเดือนกรกฎาคม 1899 ด้วยอาการหลอดเลือดหัวใจตีบในวัย 53 ปี ทิ้งไว้เพียงร่างไร้วิญญาณให้ลูกชายของเขาและลูอิซาไว้ดูต่างหน้า
“ตอนที่พ่อมีชีวิตอยู่ พ่อไม่เคยทำอะไรให้ผมภาคภูมิใจเลยสักครั้ง
“ผมไม่มีอะไรจะพูดกับใครมากนัก นอกจากวางแผนจัดงานศพให้พ่อ แต่ตอนนี้ยังไม่รู้เลยว่าจะจัดที่ไหนดี อาจจะที่วัลท์ไฮม์แถวนี้แหละมั้ง เอาเป็นว่าเรื่องวันเวลาค่อยบอกอีกทีแล้วกัน
“เพราะสุดท้ายแล้ว เขาก็คือคนตาย คนตายที่ไม่เคยสร้างความทรงจำดี ๆ ให้ผมเลย”
เรื่อง: วันวิสาข์ โปทอง
ภาพ: Courtesy Illinois State Archives / Stephen Hogan Flickr
อ้างอิง:
The Horrifying & Disturbing Case of Adolph Louis Luetgert | The Sausage King/Brief Case/YouTube