ทิโมที แลรี ผู้ส่งเสริมการใช้ แอลเอสดี เพื่อปล่อยจิตเป็นอิสระ

ทิโมที แลรี ผู้ส่งเสริมการใช้ แอลเอสดี เพื่อปล่อยจิตเป็นอิสระ

ทิโมที แลรี ผู้ส่งเสริมการใช้ แอลเอสดี เพื่อปล่อยจิตเป็นอิสระ

ในช่วงครึ่งหลังของยุค 60 เป็นช่วงเวลาที่สังคมอเมริกันรู้สึกเหนื่อยหน่ายกับปัญหาความขัดแย้งทั้งสงครามเย็น และสงครามเวียดนามที่ดำเนินมาเป็นเวลานับสิบปีและยังไม่มีท่าทีจะยุติลง ทำให้คนยุคใหม่รู้สึกต่อต้านสังคมแบบเดิม โครงสร้างสังคมแบบเดิม ๆ และหันมาใช้ชีวิตที่เป็นอิสระจากขนบแบบเก่า ๆ กลายเป็นกลุ่มที่รู้จักกันว่า "ฮิปปี้" หรือพวกบุปผาชน ลักษณะเด่น ๆ ของคนกลุ่มนี้ก็คือเป็นคนต่อต้านสังคมไม่เอาค่านิยมเดิม มองหาความหลุดพ้นและความสุขนอกเหนือไปจากกรอบเดิม ๆ ของสังคมคริสเตียน อย่างเช่นการศึกษาศาสนาของตะวันออกฝึกการทำสมาธิ รวมไปถึงการใช้ยาเสพติดจำพวกยาหลอนประสาท ซึ่งทิโมที แลรี (Timothy Leary) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากฮาร์วาร์ดก็ถือเป็นหัวหอกคนสำคัญที่ช่วยผลักดันในข้อหลังจนทำให้เขาต้องกลายมาเป็น "บุคคลที่อันตรายที่สุดในอเมริกา" ในสายตาของ ริชาร์ด นิกสัน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้น ทิโมที แลรี เกิดเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 1920 เป็นชาวเมืองสปริงฟิลด์ แมสซาชูเซตส์ เกิดในครอบครัวคาทอลิกเชื้อสายไอริช เขาถือเป็นคนที่มีปัญหากับสังคมและคนรอบข้างมาตั้งแต่วัยรุ่น เคยเข้าโรงเรียนทหารเวสต์พอยต์แต่เรียนไม่จบ ออกมาเรียนมหาวิทยาลัยแอละแบมาแม้ผลการเรียนจะดี แต่ก็เรียนไม่จบถูกไล่ออกเสียก่อน (มีปัญหาเรื่องผู้หญิง) มาได้ปริญญาตรีจากกองทัพในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และมาได้ปริญญาเอกด้านจิตวิทยาในปี 1950 จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย, เบิร์กลีย์ หลังเรียนจบก็ได้เป็นอาจารย์ต่อที่สถาบันเดิม แลรีได้รับการจับตามองในฐานะนักจิตวิทยาหน้าใหม่ไฟแรงเป็นผู้พัฒนารูปแบบการตอบโต้อย่างเท่าเทียมระหว่างคนไข้กับผู้ให้การบำบัดทางจิต และช่วยส่งเสริมเทคนิคใหม่ๆ ในการบำบัดแบบกลุ่ม รวมถึงเผยแพร่ระบบการจัดหมวดหมู่พฤติกรรมความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (interpersonal behavior) ช่วงปี 1955 ถึง 1958 เขาได้เป็นผู้อำนวยการแผนกวิจัยด้านจิตวิทยาประจำโรงพยาบาลมูลนิธีไกเซอร์ ในโอกแลนด์ แคลิฟอร์เนีย โดยระหว่างปี 1955 เขาก็ได้พบกับจุดเปลี่ยนสำคัญเมื่อภรรยาของเขาฆ่าตัวตาย ทิ้งลูกชายและลูกสาวให้เขาต้องเลี้ยงดูต่อไป ปีเดียวกันนั้นเองขณะที่เขาเดินทางไปสเปนเขาก็ป่วยหนักอย่างหาสาเหตุไม่ได้ ในหนังสือ "High Priest" ของเขาที่เผยแพร่เมื่อปี 1968 เล่าว่า ภายใต้ภาวะเพ้อเพราะพิษไข้เขารู้สึกขึ้นได้ว่า ตัวเองได้ตัดขาดออกจากสังคม กลายเป็นเพียงสัตว์เพศผู้วัย 38 ปี ที่มีลูกติด 2 ตัว ถึงปี 1959 เขาย้ายมาสอนที่ฮาร์วาร์ด ที่นี่เขาเริ่มทำการทดลองกับไฟโลไซบิน (psilocybin) สารสังเคราะห์ที่ทำให้เกิดอาการประสาทหลอนซึ่งพบในเห็ดเมา เขาได้ข้อสรุปหนึ่งขึ้นมาว่า ยาที่ทำให้เกิดอาการประสาทหลอน (psychedelic drugs) อาจมีผลทำให้ผู้รับยามีบุคลิกภาพที่เปลี่ยนแปลงไปได้ และยังมีส่วนช่วยขยายความสามารถในการรับรู้ทางจิตของมนุษย์ได้อีกด้วย เขาร่วมกับริชาร์ด อัลเพิร์ต (Richard Alpert ภายหลังเปลี่ยนมาใช้ชื่อภาษาฮินดีว่า Ram Dass) เพื่อนนักจิตวิทยาในการทดลองนี้ ต่อมาในปี 1962 พวกเขาหันมาให้ความสนใจกับ "แอลเอสดี" (lysergic acid diethylamide, LSD เป็นยาหลอนประสาทชนิดหนึ่ง บ้างเรียก "กระดาษเมา") และได้ทดลองให้ยากับนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ทั้งยังเอายาไปเผื่อแผ่ให้กับศิลปิน นักเขียน นักดนตรี โดยมีเป้าหมายเพื่อศึกษาถึงผลกระทบทางด้านวัฒนธรรมและปรัชญาสืบเนื่องจากการใช้ยาเสพติดจำพวกนี้ ทั้งยังเห็นว่าควรเผยแพร่ยาออกไปสู่สาธารณะโดยเฉพาะกับเยาวชน ขณะที่กลุ่มนักวิจัยส่วนใหญ่เห็นว่า การใช้ยาหลอนประสาทต้องมีการจำกัดกลุ่มการใช้งาน และต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เมื่อหนังสือพิมพ์เริ่มรายงานข่าวการแพร่ระบาดของยาเสพติดในฮาร์วาร์ด กลายเป็นเรื่องอื้อฉาวที่ทำให้ทางสถาบันต้องลงมาสอบสวน เมื่อผลสอบสวนพบว่านักศึกษาชั้นปริญญาตรีเองก็ได้รับยาจากทางนักวิจัยด้วย ทำให้ทั้งแลรีและอัลเพิร์ตถูกไล่ออกในปี 1963 หลังถูกไล่ออกก็ยิ่งทำให้แลรีมีอิสระในการใช้ยาเสพติดมากยิ่งขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนจากมหาเศรษฐีที่เชื่อในมันสมองของเขาและได้ตั้งศูนย์วิจัยขึ้นที่มิลบรูกในนิวยอร์ก จนกลายมาเป็นชุมนุมชนของเหล่าฮิปปี้ที่มานั่งสมาธิและรับยาหลอนประสาท แลรีกลายเป็นคนดังในฐานะผู้ผลักดันการใช้ยาแอลเอสดีถูกรับเชิญไปให้ความเห็นอยู่บ่อยครั้ง และวลีที่เขาพูดว่า "turn on, tune in, drop out" กลายมาเป็นคำขวัญยอดฮิตของเหล่าฮิปปี้ต่อต้านสังคม (วลีนี้เขาเคยอธิบายใน Flashbacks หนังสืออัตชีวประวัติของตัวเองว่า turn on ก็คือการเปิดรับเพื่อปลดล็อกระดับการรับรู้ทางจิตซึ่งยาหลอนประสาทก็เป็นตัวหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นได้ tune in หมายถึงการตอบรับให้สอดคล้องกับโลกรอบ ๆ ตัว ส่วน drop out ก็คือการเลือกที่จะตัดขาดจากความผูกมัดต่าง ๆ ทั้งที่เกิดขึ้นโดยสมัครใจ หรือจากใต้จิตสำนึก) อุดมการณ์ความคิดของแลรีถูกมองว่าเป็นอันตราย ในหมู่นักวิชาการเขาคือคนที่ทำให้การใช้ยาหลอนประสาทเพื่อการบำบัดถูกสังคมมองด้วยความเคลือบแคลง เขายังถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ชักจูงคนรุ่นใหม่ไปในทางที่ผิด แลรีถูกจับด้วยข้อหาเกี่ยวเนื่องกับยาเสพติดอยู่หลายครั้ง และในปี 1970 ที่เขาประกาศจะลงสมัครตำแหน่งผู้ว่าฯ แคลิฟอร์เนีย เขาก็ถูกศาลแคลิฟอร์เนียและเท็กซัสพิพากษาจำคุกจากความผิดฐานมีกัญชาในครอบครองคดีละ 10 ปีต่อเนื่องกัน (หากต้องรับผิดเต็มทั้งสองคดีก็เป็น 20 ปี) ความหวังที่จะเป็นนักการเมืองของเขาจึงเป็นหมันไป และเมื่อถูกส่งตัวสู่เรือนจำเขาก็วางแผนที่จะ “แหกคุก” โดยทันที ในวันแหกคุก แลรีไต่สายโทรศัพท์ข้ามกำแพงเรือนจำออกมาได้โดยมีกลุ่มซ้ายจัดให้ความช่วยเหลือพาเขาออกนอกประเทศไปอัลจีเรีย ก่อนย้ายไปยังสวิตเซอร์แลนด์ และอัฟกานิสถานที่ที่เขาถูกจับกุมตัวได้ในปี 1973 และถูกส่งมารับโทษที่แคลิฟอร์เนียแต่ติดคุกได้เพียง 3 ปี ในปี 1976 เขาก็ได้รับการปล่อยตัว แลรีใช้ชีวิตในบั้นปลายในการให้คำบรรยายแก่ผู้สนใจในชีวิตอันโลดโผนของเขา แต่เขาก็ไม่ได้รับความสนใจจากสาธารณะมากเหมือนทศวรรษก่อนหน้า และเขาก็ยังคงใช้ยาเสพติดเรื่อยมา จนกระทั่งปี 1995 เขาก็ได้รับข่าวร้ายว่าเขาป่วยด้วยโรคมะเร็งที่ไม่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดได้ แต่เขากลับบอกว่านั่นทำให้เขารู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างมากกับประสบการณ์ที่น่าระทึกซึ่งเขาไม่เคยสัมผัสมาก่อนแต่ก็ได้เตรียมพร้อมมาตลอดเวลาก่อนที่จะเสียชีวิตลงตามปรารถนาในวันที่ 31 พฤษภาคม 1996   ที่มา: https://www.britannica.com/biography/Timothy-Leary https://www.nytimes.com/1996/06/01/us/timothy-leary-pied-piper-of-psychedelic-60-s-dies-at-75.html https://www.npr.org/2018/01/05/575392333/nixons-manhunt-for-the-high-priest-of-lsd-in-the-most-dangerous-man-in-america