พิมพ์กุล โอฬารศิรโรจน์: เริ่มเก็บสุนัขจากข้างทาง จนกลายเป็น ‘มูลนิธิบ้านสงเคราะห์สัตว์พิการ’ ที่ดูแลสัตว์กว่าพันตัว
‘เพียงหนึ่งช่วงชีวิตของเรา อาจเป็นทั้งชีวิตของพวกมันก็ได้’
ในการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงสักตัว ไม่ว่าจะเป็นชนิดใดก็ตาม นอกจากความพร้อมในด้านการเงินแล้ว ความพร้อมในการดูแลและส่งต่อความรัก ก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน
เพราะหลาย ๆ ครั้ง เรามักจะได้ยินข่าวการทิ้งสัตว์เลี้ยงตามที่ต่าง ๆ หลังจากเลิกกับแฟน หรือหลังจากสัตว์เลี้ยงเกิดความพิการอยู่บ่อยครั้ง จนกลายเป็นความรู้สึกหดหู่ใจปนสงสารมาเสมอ
พิมพ์ - พิมพ์กุล โอฬารศิรโรจน์ ประธานมูลนิธิบ้านสงเคราะห์สัตว์พิการ (home4animal) อดีตอาจารย์สอนหนังสือ ก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ต้องพบเจอกับเรื่องเหล่านี้เสมอมา
จุดเริ่มต้นของการตัดสินใจก่อตั้งมูลนิธิบ้านสงเคราะห์สัตว์พิการ (home4animal) ขึ้นมาอย่างเป็นทางการ เริ่มต้นในระหว่างการเดินทางไปสอนหนังสือของเธอ
“ในระหว่างการเดินทางไปสอนหนังสือ ก็จะเจอหมาที่ขาหักตัวหนึ่งอยู่เป็นประจำ เบื้องต้นก็ซื้ออาหารไปให้ แล้วก็เริ่มพาเขาไปรักษา รักษาอยู่พักใหญ่ ๆ จนเริ่มเป็นปัญหา เพราะเราต้องพาเขาไปหาหมอทุกวัน เราก็เลยพาเขากลับบ้านเพราะง่ายต่อการพาไปรักษามากกว่า”
เมื่อมีตัวที่หนึ่ง ตัวต่อ ๆ ไป ก็ค่อย ๆ ตามมา
“หลังจากนั้นเราก็เริ่มเก็บพวกเขากลับบ้านมาเรื่อย เจอก็เก็บ มานับอีกทีก็ประมาณเกือบร้อยตัวแล้ว” พิมพ์กล่าว
บางตัวก็หายดีจนกลายเป็นเพื่อนแก้เหงา แต่บางตัวก็ยังจำเป็นต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง
ด้วยจำนวนสัตว์ทั้งสุนัขและแมวที่นับวันจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ในที่สุดพิมพ์จึงตัดสินใจจัดตั้งเป็นมูลนิธิขึ้นมา โดยหวังว่าวันหนึ่งที่เธอจากโลกนี้ไป ในวันนั้นเหล่าสัตว์ที่อยู่ในความดูแลของเธอจะสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้ ผ่านคนดูแลคนอื่นที่มาสานต่อเจตนารมณ์ของเธอ
“ตอนแรกเราตั้งเป็นบ้านสงเคราะห์สัตว์พิการก่อน แล้วหลังจากนั้นถึงมาจัดตั้งเป็นมูลนิธิอย่างเต็มตัว”
บ้านสงเคราะห์สัตว์พิการ ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในปี 2524 ที่ลำลูกกา ก่อนที่จำนวนสุนัขและแมวจะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ จนต้องย้ายมาอยู่บริเวณอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ตามที่ได้รับการบริจาคที่ดินมากกว่า 200 ตารางวา และจดทะเบียนขึ้นเป็นมูลนิธิอย่างเป็นทางการในปี 2541 ทำให้ทางมูลนิธิสามารถรับบริจาคเงินและสิ่งของ เพื่อนำมาดูแลสัตว์พิการได้มากยิ่งขึ้น
พิมพ์เล่าว่าหลังจากที่มีการจดทะเบียนก่อตั้งเป็นมูลนิธิขึ้น ก็มีนักศึกษาสัตวแพทย์มาขอฝึกงานบ้าง เพื่อเรียนรู้ และนำเคสไปศึกษา แต่ภายหลังเป็นทางมูลนิธิเองที่ไม่ได้เปิดรับนักศึกษาเข้ามาช่วยงานเหมือนเดิม เพราะสัตว์บางตัวไม่คุ้นชิน ทำให้การดูแลเป็นไปได้อย่างยากลำบากกว่าเดิม
ทางมูลนิธิจึงตัดสินใจจ้างคนงานประจำและสัตวแพทย์ประจำ เพื่อที่จะคอยดูแลและให้อาหารเหล่าสัตว์พิการเพียงเท่านั้น
แต่ด้วยจำนวนสัตว์ในการดูแลที่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ พื้นที่ขนาด 200 ตารางวาที่ปากเกร็ดจึงไม่สามารถรองรับสัตว์ได้เพียงพอ
ทำให้ในที่สุดพิมพ์และมูลนิธิตัดสินใจย้ายสัตว์บางส่วนไปยังพื้นที่ใหม่ที่ใหญ่กว่า เพื่อให้สามารถรองรับสัตว์เหล่านี้ได้มากขึ้น รวมไปถึงสุขอนามัยที่ดีขึ้นตามไปด้วย
แต่ยังไม่ทันได้ย้าย กลับเกิดเรื่องขึ้นเสียก่อน
เมื่อคอนโดฯ ใหม่ที่มาสร้างติดกับทางมูลนิธิที่ปากเกร็ด ได้มีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานภาครัฐถึงเสียงที่ดังรบกวนการอยู่อาศัย รวมไปถึงการอ้างเรื่องสุขอนามัยในการใช้ชีวิต
“โดยปกติแล้วด้านหลังของเราจะเป็นตะแกรงตาข่ายปิดหมดเลย เพื่อกันหมาหลุดออกไป แล้วก็จะมีพื้นที่ทำครัว เขาก็จะเห็นหม้อข้าว เห็นเตา มันก็ดูแล้วไม่สะอาดตา แล้วเสียงหมาก็จะดังลอดออกไปทางเขาอีก”
เมื่อการร้องเรียน ทางภาครัฐจึงเข้ามาตรวจสอบและทำประชาพิจารณ์เพื่อถามความเห็นจากประชาชนโดยรอบ
ซึ่งในตอนแรกทุกอย่างก็ดูเป็นไปด้วยดี เพราะไม่มีใครที่ร้องเรียนทางมูลนิธิ แต่อย่างไรก็ตาม สุดท้ายกลายเป็นทางมูลนิธิต้องย้ายออกภายใน 15 วัน
“ในตอนแรกเขาก็ถามว่าเราจะสู้ความไหม ถ้าจะสู้เราสู้ได้นะเพราะเราอยู่ก่อน แต่เราไม่อยากวุ่นวายเรื่องแบบนี้ เพราะเรามีโครงการที่จะย้ายไปที่บางเลนในอนาคตอยู่แล้ว แต่ว่ามันพลาดตรงที่เราต้องย้ายมาอย่างกะทันหันภายใน 15 วันที่เขากำหนด เลยค่อนข้างทุลักทุเลพอสมควร”
ทำให้ปัจจุบันมูลนิธิสงเคราะห์สัตว์พิการถูกแบ่งออกเป็น 2 แห่ง ได้แก่ที่ปากเกร็ดและบางเลน โดยสัตว์ที่ถูกย้ายไปที่บางเลนจะเป็นสุนัขและแมวที่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ หรือไม่จำเป็นต้องมีแพทย์ดูแลเป็นประจำ
ส่วนสัตว์บางส่วนที่ยังคงจำเป็นต้องอาศัยอยู่ที่ปากเกร็ดจะเป็นส่วนที่ยังมีอาการหนัก และต้องอยู่ใกล้หมออยู่ ทำให้ไม่สามารถย้ายไปยังสถานที่ใหม่ได้
ถึงแม้จะมีความทุลักทุเลไปบ้างในช่วงขนย้ายสัตว์ไปยังที่ใหม่ แต่ในปัจจุบัน พิมพ์เล่าว่าทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทางมากขึ้นแล้ว เหลือเพียงบ้านพักสุนัขพิการที่บางเลนที่ยังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากมีการย้ายไปเร็วกว่ากำหนด รวมไปถึงสภาพทางการเงินและผู้รับเหมาสำหรับการก่อสร้างยังไม่ลงตัว
จึงอยากเรียนมายังผู้ที่มีจิตศรัทธาว่า หากสนใจทำบุญ หากสามารถบริจาคเป็นเงิน ทางมูลนิธิจะสามารถใช้งานได้ตรงจุดมากกว่า
“การบริจาคเรารับทั้งที่เป็นเงินและอาหาร แต่ถ้าบริจาคมาเป็นอาหาร เราต้องเรียนให้ทราบว่า ถ้าอาหารมากเกินไป เราก็แบ่งปันให้กับองค์กรอื่นที่เขาช่วยสัตว์อยู่ แต่ถ้าเป็นเงิน เราสามารถเก็บนำมาใช้งานได้ตรงกับวัตถุประสงค์ได้มากกว่า” พิมพ์กล่าว
พิมพ์เล่าว่าตนเองต่างเข้าใจผู้บริจาคบางคนที่กังวลว่าหากให้เป็นเงิน อาจจะถูกนำไปใช้อย่างไม่ถูกจุด หากผู้สนใจท่านใดที่มีจุดประสงค์ต้องการบริจาคเป็นสิ่งของ จำพวกอาหารหรือของใช้ ก็สามารถโทรฯ มาสอบถามทางมูลนิธิได้ก่อน จะได้บริจาคได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุดทั้งตัวผู้บริจาคและสัตว์ในการดูแล
ส่วนใครที่สนใจบริจาคเป็นเงินก็สามารถโอนให้ทางมูลนิธิได้เลย หรือหากอยากใกล้ชิดกับสัตว์ในความดูแลของทางมูลนิธิ ก็สามารถเข้ามาเยี่ยมเยียนได้ที่สาขาบางเลน เพราะมีการเปิดคาเฟ่สัตว์ ให้สามารถซื้ออาหารและเครื่องดื่ม รวมไปถึงเล่นกับน้อง ๆ ได้
นอกจากนี้ทางมูลนิธิยังมีการจำหน่ายของที่ระลึกอีกมากมาย เพื่อนำรายได้ทั้งหมดแบบไม่หักค่าใช้จ่าย ไปใช้สำหรับการดูแลสัตว์พิการ ไม่ว่าจะเป็นค่าหมอ ค่ายา รวมไปถึงค่าน้ำ ค่าไฟของทางมูลนิธิเองด้วย
“ที่ทำคาเฟ่ก็เพราะโควิด-19 รอบล่าสุดด้วยส่วนหนึ่ง เพราะคนก็ตามมาดูสัตว์ที่บางเลน เขาก็ขับรถตรงเข้าไปข้างใน ดูหมาเสร็จก็ขับรถออกเลย เราเลยทำคาเฟ่ขึ้นมา”
ทำให้คนที่มาเยี่ยมชม มาทำบุญก็สามารถหยุดแวะเล่นกับสุนัขและแมวได้ด้วย นอกจากจะอิ่มบุญแล้วยังได้อิ่มใจไปกับความน่ารักของสัตว์เหล่านี้ได้ด้วย
ดังนั้นการมีอยู่ของมูลนิธิบ้านสงเคราะห์สัตว์พิการ นอกจากจะเป็นสถานที่พักพิงที่มีส่วนช่วยเหลือและบรรเทาความเจ็บป่วยให้กับสุนัขและแมวเหล่านี้แล้ว ยังเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยความสุขของเหล่าสัตว์ที่สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติ หรือแม้กระทั่งเป็นที่พักหลังสุดท้าย
ที่เราสามารถพูดได้ว่า ในที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของพวกมันก็ได้พบเจอกับความสุขอย่างแท้จริง ก่อนที่พวกมันจะต้องลาจากไปดาวหมาดาวแมวอย่างตลอดกาล
ภาพ: มูลนิธิบ้านสงเคราะห์สัตว์พิการ และ รายการ Pet พาเพลิน ตอน "บ้านหลังสุดท้ายของน้องหมา น้องแมวพิการ"