The 1975 - Love It If We Made It: บทเพลงที่ตะโกนบอกแก่เราว่าจะไม่หมดหวัง แม้โลกนี้จะไม่เคยเป็นอย่างที่หวังก็ตาม

The 1975 - Love It If We Made It: บทเพลงที่ตะโกนบอกแก่เราว่าจะไม่หมดหวัง แม้โลกนี้จะไม่เคยเป็นอย่างที่หวังก็ตาม
ความเชื่อที่ว่า ‘มนุษย์จะพัฒนาไปสู่สังคมอันมีอารยะ’ ตามแนวคิดทางมานุษยวิทยาในยุคแรกที่อิงมาจากทฤษฎีวิวัฒนาการ ‘ธรรมชาติจะคัดสรรผู้อยู่รอด’ ของ ‘ชาร์ลส์ ดาร์วิน’ (Charles Darwin) หากเป็นเช่นนั้นเมืองแห่ง Utopia ที่ผู้คนต่างฝันหาคงจะมาถึงในสักวัน อัดแน่นไปด้วยความหวังอันเต็มเปี่ยมต่อโลกที่ดีขึ้น แต่หากธาตุแท้ของสังคมไม่เคยเป็นเช่นนั้นเล่า หากความเป็นอารยะที่เราใฝ่ฝันถึงเป็นเพียงความสวยงามของวัตถุสิ่งสร้างที่สวนทางกับสำนึกความเป็นมนุษย์ เราจะสูญสิ้นศรัทธาต่อโลกใบนี้หรือไม่ “Modernity has failed us” หนึ่งในเนื้อเพลงที่เป็นดังคีย์เวิร์ดสำคัญในเพลง ‘Love It If We Made It’ ได้ตอกย้ำความเป็น ‘ยุคสมัยใหม่’ ที่ฉากหน้าดูน่าพิสมัย แต่กลับทิ้งเศษซากความผุพังของมนุษยชาติไว้เบื้องหลัง ‘Love It If We Made It’ สามารถจับความสนใจของคนฟังได้ทันทีตั้งแต่เริ่มเพลง Intro เสียงดนตรีอันเปี่ยมพลังสอดรับกับเสียงกลองที่กึกก้องเป็นจังหวะ ตามแบบฉบับของการผสมผสาน Electro-Pop, Pop และ Funk เสริมด้วยเสียงร้องอันเป็นเอกลักษณ์ของ ‘แมตตี้ ฮีลีย์’ (Matty Healy) นักร้องนำแห่งวง ‘The 1975’ แมตตี้ ฮีลีย์ เปิดเผยกับ Genius ถึงแรงบันดาลใจของบทเพลงนี้  “ปี 2016 - 2018 เป็นช่วงเวลาเกี่ยบกับประเด็นทางการเมืองและสังคมที่บ้าคลั่งที่สุดที่ผมเคยผ่านมา ผมแค่เขียนอะไรบางอย่างและคอยเพิ่มสิ่งที่เขียนลงไปในทุกครั้งที่ผมรู้สึกขุ่นมัว เราต้องสร้าง Sign ‘O’ The Times ขึ้นมา  “Love It If We Made It เปรียบเสมือนอัญมณีแห่งความหวังที่ส่องแสงท่ามกลางหมู่มวลซากปรักหักพัง ผมไม่ได้ต้องการจะทำเพลงต่อต้าน (Protest Song) ผมเพียงอยากครุ่นคิดถึงมัน แต่ก็ไม่เชิงว่าให้มันเป็นไดอารี่ของผมเสียทีเดียว” แมตตี้ต้องการให้เพลงนี้เป็นบทสรุปของเหตุการณ์ที่เป็นกลางมากกว่าการแสดงความคิดเห็นส่วนตัว โดยหากสำรวจเนื้อเพลงอย่างครบถ้วนจะพบว่าเนื้อที่ประกอบกันเป็นบทเพลงเป็นเพียงการนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงมาเรียบเรียงเท่านั้น แมตตี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเพลงของศิลปินคลาสสิกราวยุค 80s อย่าง ‘Prince’ ที่มีชื่อว่า ‘Sign ‘o’ the Times’ (1987) ที่พูดถึงสภาวะทางสังคมของสหรัฐอเมริกาในช่วงนั้น ทั้งเรื่องความรุนแรง ยาเสพติด และโรคเอดส์ Love It If We Made It จึงเป็นเพลงที่ต้องการสื่อสารในทำนองเดียวกัน แต่เป็นเวอร์ชันที่เกิดขึ้นในยุคสมัยที่ใหม่กว่า  โดยมิวสิกวิดีโอ Love It If We Made It ฉายภาพปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นทั้งในอดีตและปัจจุบัน ทั้งภัยพิบัติ มลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม ความรุนแรง คนผิวดำ ชนกลุ่มน้อย ศาสนา การเมือง สงครามจากความขัดแย้ง โศกนาฏกรรมของชาวโลกที่เกิดขึ้นอย่างยาวนานและดูไร้หนทางของการจบสิ้น   ถอดรหัส(ไม่)ลับที่ถูกซ่อนไว้ในบทเพลง ในสังคมที่ถูกเรียกว่าเป็นยุคแห่ง ‘ความสมัยใหม่’ ทุกสิ่งดูรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว จากความชาญฉลาดของสมองมนุษย์ที่คิดค้นและแสวงหาความเจริญอันศิวิไลซ์อย่างไม่สิ้นสุด แต่ทุกคนคงจะคุ้นเคยกับสำนวนที่ว่า ‘ได้อย่างเสียอย่าง’ การพัฒนาของระบบเศรษฐกิจและสังคม ความทันสมัย การเติบโตของวัฒนธรรมป็อป โลกออนไลน์ที่ใครต่างสามารถเข้าถึง สิ่งเหล่านี้แม้จะดูสวยงาม แต่กลับเป็นส่วนหนึ่งของความโกลาหลแห่งโลกยุคใหม่ที่ยากจะจัดการ ทั้งความขัดแย้งและสงครามที่เกิดจากความต้องการเป็นใหญ่ของมนุษย์ รวมถึงการถูกครอบงำจากสื่อและเทคโนโลยี  เพลง Love It If We Made It มีเนื้อหาที่พูดถึงประเด็นทางสังคมและการเมืองอย่างชัดเจน ผ่านการนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงพร้อมกับ Quote ของบุคคลสำคัญอย่างอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ (Donald Trump) มาเรียบเรียงกลายเป็นบทเพลงที่ทรงพลังจนถูกขนานนามให้เป็น ‘เพลงประท้วงแห่งยุคสมัย’ ที่พูดคุยกับผู้ฟังอย่างตรงไปตรงมา ภาพภายใน MV ถูกฉายให้สอดรับกับเนื้อร้องที่เป็นเหตุการณ์จริง ดั่งการกระตุ้นให้ผู้ชมได้ย้อนไปพบกับเรื่องราวอันน่าเศร้า ประกอบกับภาพสงคราม จลาจล การระเบิด เหตุเพลิงไหม้ ที่ส่งเสริมให้มวลรวมของเพลงนี้ทรงพลังและตราตรึงต่อผู้รับชม  เริ่มต้นด้วยท่อน “Selling melanin and then suffocate the black men” การพูดถึงปัญหาการเหยียดสีผิวที่เกิดขึ้นอย่างยาวนาน มีการค้าขายหากินกับวัฒนธรรมของคนดำและเรือนจำที่ได้รับประโยชน์จากการกักขังชายผิวดำผู้ยากจน การใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ตำรวจจนนำไปสู่การเสียชีวิตของ ‘อีริค การ์เนอร์’ (Eric Garner) ในปี 2014 และซ้ำร้ายเกิดขึ้นทำนองเดียวกันอีกในปี 2020 กับ ‘จอร์จ ฟรอยด์’ (George Floyd)  ที่เหมือนฉายภาพซ้ำวนต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด ตามมาด้วย “Write it on a piece of stone, a beach of drowning three-year-olds” ที่พูดถึง ‘อลัน คูร์ดี’ (Alan Kurdi) เด็กน้อยวัย 3 ปีชาวซีเรียที่เสียชีวิตจากการจมน้ำในปี 2015 ด้วยภาพร่างไร้วิญญาณนอนคว่ำที่ถูกซัดเกยตื้นมายังริมชายหาดในประเทศตุรกีอย่างน่าเวทนา จากการพยายามลี้ภัยมากับแม่และพี่ชาย แต่สุดท้ายต้องจบชีวิตลงทั้ง 3 คน เสริมรับด้วยท่อน “Rest in peace, Lil Peep, there’s poetry in the streets” ที่กล่าวถึง ‘ลิล พีพ’ (Lil Peep) แร็ปเปอร์ชื่อดังผู้บุกเบิกการแร็ปอีโมที่เสียชีวิตในวัยเพียง 21 ปี จากการกินยาเกินขนาดโดยไม่ได้ตั้งใจเนื่องจากยาแก้ปวดที่มีส่วนผสมของ ‘เฟนทานิล’ (Fentanyl) อยู่ด้วย และ ‘บทกวีบนท้องถนน’ หรือภาษาฝรั่งเศสคือ ‘La Poesie Est Dans La Rue’ เป็นวลีที่ปรากฏให้เห็นในมิวสิกวิดีโอยอดนิยมของวงอย่าง ‘Robbers’ และอีกหลาย ๆ เพลงซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวลีที่ถูกกล่าวขึ้นในเหตุการณ์ประท้วงของนักศึกษาฝรั่งเศสในเดือนพฤษภาคมปี 1968 รวมถึงประเด็นอีกมากมายที่ปรากฏอยู่ในเนื้อเพลง แต่ที่จะไม่กล่าวถึงเลยไม่ได้คงจะเป็นท่อนที่มาจาก Quote ของ โดนัลด์ ทรัมป์ อย่าง “I moved on her like a bitch!” ซึ่งได้เผยให้เห็นถึงทัศนะที่เขามีต่อผู้หญิง โดยแมตตี้ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องน่าขันที่สถานีวิทยุพยายามเซนเซอร์ประโยคนี้ทั้งที่มันหลุดออกมาจากปากของผู้นำแห่งโลกเสรีจริง ๆ   การแสดงสดบทเพลงที่น่าจดจำ   “And I’d love it if we made it Yes, I’d love it if we made it Yes, I’d love it if we made it Yes, I’d love it if we made it”   เสียงร้องกึ่งตะโกนของแมตตี้บนเวทีคอนเสิร์ตที่ sziget festival เมื่อปี 2019 ได้ถูกขนานนามว่าเป็นอีกหนึ่งการแสดงสดที่กลายเป็นที่จดจำของบทเพลงนี้จากอุบัติเหตุที่ไม่ตั้งใจ  เมื่ออารมณ์เพลงที่พลุ่งพล่านพาไป ทำให้นักร้องหนุ่มเกิดอาการเลือดกบปากจากไมค์เจ้ากรรมที่กระแทกเข้าไปอย่างจัง แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่สามารถขัดขวางการแสดงของเขาได้ แมตตี้ร้องตะโกนออกไปอย่างสุดเสียงจนจบเพลง พร้อมกับเขวี้ยงไมค์เจ้าปัญหาทิ้งลงพื้นเป็นการส่งท้าย เขาชี้ไปที่จอ LED ยักษ์กลางเวทีที่ฉายภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม ยิ่งเพิ่มความเข้มข้นให้กับโชว์นี้ขึ้นไปอีก ‘ฉันจะรักมันเลย หากเราทำมันสำเร็จ’ ท่อนฮุกที่ร้องวนไปมาเป็นดังการสร้างความหวังให้แก่โลก ความเชื่อที่ว่าเราจะสามารถทำมันได้สำเร็จ ‘เรา’ ที่ไม่ใช่เพียงใครคนใดคนหนึ่ง เราที่ไม่ใช่กลุ่มคนเพียงหยิบมือ แต่เป็นเรา - มนุษย์ทุกคนที่ได้เหยียบยืนอยู่บนโลกใบใหญ่นี้ เราที่หมายถึงมนุษยชาติที่จะเป็นทั้งผู้สร้างสรรค์ ทำลาย และกำหนดอนาคตของสิ่งที่กำลังจะมาถึง แม้เวลาล่วงเลยมากว่า 3 ปีหลังจากได้ปล่อยเพลง Love It If We Made It ออกมาให้ได้รับฟัง เพลงนี้ยังคงถูกนำมาใช้ได้ทุกครั้งเมื่อเกิดประเด็นบางอย่างในสังคม Love It If We Made It ทำให้เราเห็นถึงธาตุแท้และความเห็นแก่ตัวที่มนุษย์ได้กระทำต่อกัน แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นการปลอบประโลมไปด้วย ‘ความไม่สิ้นหวัง’ และ ‘ความเชื่อใจ’ ที่มีให้แก่มนุษย์ด้วยกันว่าเราจะทำมันได้ เราจะสามารถไปสู่สังคมที่เราฝันถึงได้ในสักวัน    การเดินทางบนเส้นทางสายดนตรีของ The 1975 นับตั้งแต่อัลบั้มแรกจนถึงปัจจุบันผ่านมากว่า 9 ปี เราเห็นถึงการเติบโตของบทเพลง การข้ามพ้นช่วงวัยจากบทเพลงคลั่งรัก ความสัมพันธ์ สิ่งเสพติด สู่บทเพลงที่หลากหลายมากขึ้น และกล้าที่จะวิพากษ์ประเด็นทางสังคมอย่างจริงจัง และในครั้งต่อไปกับอัลบั้มที่ 5 ของ The 1975 ที่กำลังซุ่มทำเพลง ณ ขณะนี้ เราจะได้เห็นถึงการเติบโตและมุมมองในเรื่องใดที่ถูกซุกซ่อนไว้ในบทเพลงที่ใกล้จะมาถึง คงต้องติดตามกันต่อไปกับวงดนตรีอินดี้ร็อคแห่งยุคสมัย The 1975     เรื่อง: ดวงนฤมล วงศ์ใหญ่ ที่มา: https://studybreaks.com/culture/music/the-1975-love-it-if-we-made-it/ https://www.songfacts.com/facts/the-1975/love-it-if-we-made-it https://atwoodmagazine.com/wmi-the-1975-love-it-if-we-made-it-song-review/ https://faroutmagazine.co.uk/every-cultural-event-mentioned-the-1975-love-it-if-we-made-it-lyrics/ http://culture.affinitymagazine.us/the-1975s-love-it-if-we-made-it-declares-the-scary-truth-of-our-world-today/