เพื่อชีวิตกู: การดิ้นรนของคนที่ถูกสังคมด้อยค่า ปัญหาปากท้อง และครรลองชีวิตคนไทยในวันที่รัฐทิ้งเรา

เพื่อชีวิตกู: การดิ้นรนของคนที่ถูกสังคมด้อยค่า ปัญหาปากท้อง และครรลองชีวิตคนไทยในวันที่รัฐทิ้งเรา
อะไรคือความหมายของชีวิต - ผู้เขียนขอใช้คำถามปลายเปิดนี้เป็นประโยคแรกของบทความเรื่อง ‘ชีวิต’ ที่เล่าผ่านคำร้องของวงดนตรีวงหนึ่ง ซึ่งโลดแล่นอยู่ในวงการเพลงไทยและก้าวขึ้นมาเป็นวงเมนสตรีมในช่วงเวลาไม่ยาวไม่สั้น ‘ไททศมิตร’ (TaitosmitH) เคยเป็นวงดนตรีหน้าใหม่ที่ทำให้หลายคนกังขา เมื่อพวกเขาเล่าถึงแนวทางดนตรีของตนเองว่าเป็นเพลง ‘เพื่อชีวิตผู้อื่น’ พวกเขาพิสูจน์ถ้อยคำนั้นด้วยระยะเวลา ด้วยอัลบั้มแรก ‘ไททศมิตร’ (2020) และอัลบั้มถัดมา, อัลบั้มล่าสุดอย่าง ‘เพื่อชีวิตกู’ ที่เพิ่งปล่อยออกมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 อะไรคือความหมายของชีวิต? คำตอบที่อยู่ในใจผู้อ่านคงแตกต่างกันไป และผู้เขียนไม่อาจคาดเดาได้ แต่ความหมายของ ‘เพลงเพื่อชีวิต’ นั้นคือเพลงที่บรรเลงเพื่อโอบรับคำตอบเหล่านั้นไว้ คือเพลงที่เล่าถึงเรื่องราว ‘ชีวิต’ ของใครบางคน เพื่อโอบกอดผู้คนอันมี ‘ชีวิต’ เช่นเดียวกับในเพลง เพลงเพื่อชีวิตยังมีลักษณะเด่นเป็นหมุดหมายที่บันทึก ‘ชีวิต’ ของผู้คนในช่วงเวลาที่เพลงถูกแต่งขึ้น เพลงเพื่อชีวิตนั้นเป็นปัจเจกและสากลเท่า ๆ กัน เพลงเพื่อชีวิตฉบับคาราบาว คาราวาน หรือวงโด่งดังที่เราเคยฟังผ่านหูคือหมุดหมายชีวิตของผู้คนในยุคนั้น เพลงเพื่อชีวิตฉบับ ‘ไททศมิตร’ ก็คือหมุดหมายชีวิตของผู้คนในยุคเรา ‘เพื่อชีวิตกู’ คือเพลงชุดที่กว่าครึ่งร้องบรรเลงถึงชีวิตของคนชายขอบใน พ.ศ. นี้ - บทเพลงของผู้คนที่ถูกสังคมด้อยค่าด้วยอาชีพ ด้วยความจน ด้วยความฝัน ด้วยตัวตน หรือด้วยข้อจำกัดชีวิต ขณะที่อีกครึ่งร้องเพื่อเติมฟืนไฟฝันให้ใครก็ตามที่ต้องการมัน มีหนึ่งเพลงบันทึกหมุดหมายทางการเมืองในภาพใหญ่ (สภาโจ๊ก) ส่วนอีกเพลงบันทึกหมุดหมายของตัววงเอง (ไทเท่)   คุณค่าที่ถูกด้อยราคาของคนชายขอบ วินมอเตอร์ไซค์ โคโยตี้ หญิงขายบริการ เพศหลากหลาย และเด็กช่าง คือตัวตนของผู้คนที่ถูกเล่าอย่างชัดเจน รวมถึงมีพื้นที่เป็นของตัวเองในอัลบั้มนี้ แม้ต่างที่มาและอาชีพ แต่จุดร่วมของพวกเขาคือการเป็นคนที่ถูกสังคมด้อยคุณค่า  เพลงที่สามในอัลบั้มอย่าง ‘เสื้อกั๊ก’ เรียงร้อยเรื่องราวของวินมอเตอร์ไซค์ในเสื้อกั๊กสีส้มที่เราเห็นกันจนคุ้นตา แทนที่ภาพจำ ‘พี่วิน’ ผู้ขับขี่ฉวัดเฉวียนด้วยชีวิตของชายหนุ่มคนหนึ่ง ซึ่งเคยมีชีวิตสุขสบายพอประมาณ เรียนมหาวิทยาลัยชั้นนำ แต่พบเจอจุดพลิกผันเป็นอาการป่วยของพ่อและความตายของแม่ ทำให้รายได้ในบ้านร่อยหรอ เมื่อเงินขาดมือ เขาจึงเปลี่ยนเป้าหมายจากความฝันที่พ่อแม่ฝากไว้ อย่าง ‘ครั้งหนึ่งแม่บอก ครั้งหนึ่งพ่อฝาก อยากให้ลูกชายเป็นใหญ่เป็นโต ใส่สูทโก้ ๆ’ มา ‘วิ่งออกรับส่ง วิ่งกันจนล้อพัน กว่าจะได้มาในแต่ละวัน’ ถ้าเทียบกับเพลงอื่น ๆ ที่เล่าถึงบุคคลที่ความชายขอบเด่นชัดกว่า วินมอเตอร์ไซค์อาจไม่ถูกสังคมตีตราหนักเท่าหญิงขายบริการ หรือ LGBTQIA+ แต่เพลงนี้ก็บอกเล่าได้ดีถึงภาพจำที่คนมีต่ออาชีพนี้ ผ่านท่อน ‘ถึงใครว่าจน ถึงใครว่าโง่ แต่จะถึงยังไงก็เรื่องของฉัน’ ที่บอกให้รู้ว่าอาชีพบริการไร้บำนาญและเงินเดือนในบ้านเรา ยังถูกมองว่าด้อยกว่าอาชีพอื่น อีกประเด็นหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นจากเพลงนี้ คือชายหนุ่มขับวินภายในเพลงดูคล้าย ๆ จะเป็นนักศึกษาจบใหม่ หรือจบมาได้ไม่นานนัก ก็อาจสะท้อนถึงสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน ที่เด็กจบใหม่ตกงานกันเป็นว่าเล่นเนื่องจากโรคระบาดและความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจได้ในทางหนึ่ง เพลงถัดไปยังคงไว้ซึ่งทำนองสนุกสนาน มีเพิ่มลูกเล่นเป็นเสียงบีตเสียงแคน และเนื้อเพลง ‘มาเร่เข้ามา มาดู โคโยตี้บนรถปิคอัพ ไงคุณพี่เซ็กซี่ไหมครับ’ ชวนให้นึกถึงนวลน้องนุ่งน้อยในงานมอเตอร์โชว์ สอดรับกับชื่อเพลง ‘โคโยตี้’ ที่ได้แร็ปเปอร์หญิงอย่าง ‘มิลลิ’ (MIlLI) มาสวมบท ‘น้องอำนวย’ เพลงนี้เล่าตรงผสมฮาถึงอาชีพโคโยตี้มอเตอร์โชว์ ที่มักถูกผู้ชายเงินหนาเงินน้อย หาเศษหาเลยจนเกินหน้าที่อยู่เป็นประจำ ท่อน ‘เป็นโคโยตี้ไม่ได้ขายตัวนะพี่ ที่กูต้องแต่งตัวโป๊เพราะอาชีพกูนะพี่ คุณด่าแรด ง่าย โง่ โชว์ความเป็นหญิงรอบโลก ดูใส่โคตรสั้น กูต้องห้ามโกรธ ต้องโยกลั่น’ นั้นเปรียบเสมือนถ้อยคำแทนใจ จาก ‘น้องนวย’ ถึงนักเหน็บแบงก์และคนอื่น ๆ ว่าการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าน้อยชิ้นนั้นไม่ได้ทำให้ผู้หญิงกลายเป็นคน ‘ง่าย’ และเป็นคนละเรื่องกับการขายบริการ ขณะเดียวกัน เสียงเครื่องเป่าเย้ายวนตัดกับเสียงร้องเจือเศร้าใน ‘ดวงดารา’ ก็รับไม้ต่อเล่าถึงชีวิตหญิงขายบริการ ซึ่งมีความจำเป็นให้ ‘แต่งหน้ามาอยู่ใต้แสงไฟ ติดเบอร์ไว้รอใครเรียกมา’ สะท้อนภาพท้องถนนยามค่ำคืน ในเมืองที่คนตื่นหลังพระอาทิตย์หลับ และการโบกรถให้คนรับ ไป ‘เสพสมกามา’ แลกกับเงิน ตามเนื้อเพลง ‘เจ้าดวงดารา’ นั้นเป็นคนสวย แต่ต้อง ‘หมดราคา’ เพราะขายเนื้อตัวร่างกาย ซึ่งหากผู้เขียนเข้าใจถูกต้อง ท่อน ‘หมดความสาว เสื่อมศักดิ์ศรีไม่มีราคา’ นั้นไม่ได้เป็นความคิดเห็นของคนเขียนเพลงที่มีต่ออาชีพค้าบริการ แต่เป็นความคิดเห็นที่สังคมมีต่อเธอ ทำให้เธอพลอยมีความคิดแบบนั้นกับตัวเองไปด้วย - ท่อนดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าสังคมไทยเต็มไปด้วยอคติกับอาชีพนี้ และน่าสะท้อนใจว่าการตีตราคุณค่าหญิงจากการผ่านมือชายนั้นทำให้ผู้หญิงกี่คนแล้วต้องเป็นเหมือนท่อน ‘นาฬิกาปลุกตอนตีห้า ตื่นขึ้นมาหยิบเงินหัวเตียง ออกไปยืนที่ริมระเบียง ลำพัง ความโสมมติดเต็มใบหน้า ขอบดวงตาก่ำเป็นสีแดง เก็บแอบแฝงข้างในสายตา น้ำตา’ อีกเพลงหนึ่งที่ทำให้อัลบั้ม ‘เพื่อชีวิตกู’ มีภาพของบทเพลงในทศวรรษปัจจุบันมากขึ้นคือ ‘ไอ้สอง’ ที่ได้ ‘เบน ชลาทิศ’ มาเพิ่มความหวานเศร้าของเพศหลากหลายให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพลงนี้เล่าถึงเรื่องราวไม่เก่าไม่ใหม่ อย่างประเด็น ‘LGBTQIA+’ ที่แม้จะถูกพูดถึงในบ้านเรามานานปีพอสมควร แต่ในเรื่องของการรับรู้ เข้าใจ และยอมรับนั้นยังไม่ทั่วถึงนัก บุคคลที่มีสำนึกรู้ทางเพศไม่ตรงกับเพศกำเนิด ก็ยังคงต้องเจอกับประสบการณ์แบบ ‘ครอบครัวไม่เข้าใจสอง’ อยู่ ส่วนเพลง ‘นักเลงเก่า’ นั้นมีลักษณะต่างออกไปจาก 4 เพลงข้างต้นเล็กน้อย เมื่อมันเล่าถึงเรื่องราวของเด็กอาชีวศึกษา หรือเด็กช่าง ผ่านมุมมองของรุ่นพี่ ทำนองพี่สอนน้องว่าอย่าเดินทางผิด เพลงนี้จึงพูดถึงประเด็นเด็กช่างยกพวกตีกันในแง่ปรากฏการณ์มากกว่าชี้ให้เห็นสาเหตุเบื้องหลัง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ฟังต้องคิดต่อเอาเอง (หรือไปหาคำตอบได้จากภาพยนตร์ 4KINGS ที่เพลงนี้ไปประกอบ) คล้าย ๆ กับเพลง ‘ผีพนัน’ ที่พูดถึงปรากฏการณ์คนติดพนันในรูปแบบนิทานสอนใจ    สถาบันครอบครัว จุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิต  นอกจากการร้องเล่าแทนเสียงของคนชายขอบ อีกหนึ่งจุดร่วมของหลาย ๆ เพลงในอัลบั้ม ‘เพื่อชีวิตกู’ นั้นคือการให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัว นับตั้งแต่เพลงแรกในอัลบั้มอย่าง ‘เพื่อชีวิตกู’ ที่เป็นเรื่องราวชีวิตที่ต้องกัดฟันสู้เพื่อดูแลแม่กับยาย (ซึ่งนัยหนึ่งอาจสะท้อนถึงสวัสดิการที่รัฐบ้านเรามอบให้คนชรา ที่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต) ส่วนเพลง ‘เสื้อกั๊ก’ และ ‘ดวงดารา’ ก็เล่าถึงชีวิตของคนหนุ่มสาวที่เปลี่ยนผันหลังความเจ็บป่วยหรือความตายของผู้ให้กำเนิด หรืออาจกล่าวได้ว่าการดิ้นรน ‘เพื่อชีวิตกู’ ของพวกเขาเกิดขึ้นและตั้งอยู่โดยไม่ได้มี ‘กู’ เพียงคนเดียวในสมการ - ชีวิตของพวกเขาและคนไทยโดยมากผูกพันเป็นเนื้อเดียวกับครอบครัวจนยากแยก ขณะเดียวกันบทเพลงของไททศมิตรก็สะท้อนว่าครอบครัวสามารถทำให้ชีวิตของคนหนึ่งคนดีขึ้นหรือแย่ลงก็ได้ ขณะที่ ‘ไอ้สอง’ นั้นต้องทนทุกข์เก็บกดกับอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองเพราะพ่อแม่ไม่เข้าใจ พ่อแม่ก็อาจทำให้คนอีกกลุ่มในเพลง ‘นักเลงเก่า’ คิดได้และออกจากเส้นทางสายตีรันฟันแทง ครอบครัวจึงเป็นได้ทั้งแรงบันดาลใจที่ดีที่สุดและความเศร้าสร้อยลึกล้ำที่สุดของมนุษย์   ตัวตลกในสภา เกินครึ่งของอัลบั้ม ‘เพื่อชีวิตกู’ นั้นบอกเล่าถึงชีวิตคนที่ต้องดิ้นรนเมื่อเผชิญปัญหา การที่จังหวะสามช่าของเพลง ‘สภาโจ๊ก’ ดังขึ้นมาจึงทำให้ผู้เขียนทั้งนึกสนุกและอยากถอนหายใจไปพร้อมกัน เพราะแม้ทำนองจะชวนยิ้มชวนหัวแค่ไหน พาร์ตเนื้อหากลับเสียดสีได้จริงและเป็นปัจจุบันชนิดนึกออกว่าท่อนไหนพูดถึงใครในสภา จนชวนให้เหนื่อยใจว่า ขณะที่ใครต่อใครต่างพยายามมากมาย ‘เพื่อชีวิตกู’ แต่รัฐที่โดยแท้แล้วมีหน้าที่ดูแลความเป็นอยู่ของพวกเรา กลับทำตัวเป็น ‘ตัวตลกอยู่ในสภา’ ไปเสียได้ ไททศมิตรเป็นวงที่ตื่นตัวเรื่องการเมืองไม่น้อย ผู้เขียนคิดว่าพวกเขาคงรู้ดีไม่ต่างจากเราว่าปมปัญหาชีวิตที่บรรจุในเพลงของวงนั้น หลายประเด็นสามารถแก้ไข บรรเทา หรือปรับความเข้าใจได้ผ่านนโยบายจากรัฐ แต่ในวันที่รัฐทิ้งเรา และปัญหาในระดับมหภาคยังไม่ถูกแก้ วงดนตรีวงนี้จึงเสนอทางออกระดับปัจเจก ด้วยการกัดฟันสู้ทนให้สมกับที่เกิดมามีเลือด มีเนื้อ มีลมหายใจ ไททศมิตรปลูกต้นความหวังให้เรา ‘ร้องบรรเลง ขีดเขียนบทเพลง หล่อเลี้ยงตัวเอง’ แม้ในวันที่เหนื่อยล้าและเจ็บปวด พวกเขาโหมจังหวะดนตรีตอนที่บอกเราผ่านเพลงแม้ในวันที่ยากจนข้นแค้นที่สุดว่า  ‘แต่ถ้ามึงเป็นนักสู้ มันก็คงไม่มีหรอกอาชีพไส้แห้ง มันก็คงต้องแลกจนกว่าจะได้มา (ไป) ไปสู้’ (เนื้อเพลง ไททศมิตร - ไส้แห้ง)   วงดนตรีที่จะโอบกอด ‘สักวันหนึ่ง’ ของผู้คน อะไรคือความหมายของชีวิต?  อาจเป็นการต่อสู้อย่างไม่หยุดยั้ง อาจเป็นการร้องไห้โดยไม่มีแม้เสียงหรือน้ำตา อาจเป็นการฝ่าลมฝนเพื่อออกตามหาแสงตะวัน อาจเป็นการเรียนรู้จากบทเรียนที่ไม่คิดว่าจะได้รับ อาจเป็นการหัดลุกเมื่อหกล้มครั้งที่ร้อย ชีวิตอาจเป็นอะไรได้มากมาย อาจโศกเสียใจได้มากกว่าที่คิด แต่เพลง ‘สักวันหนึ่ง’ ของไททศมิตร บอกให้เรารู้ว่าชีวิตนี้ยังมีความหวัง ในความเห็นของผู้เขียน ‘สักวันหนึ่ง’ เหมาะสมด้วยประการทั้งปวงกับตำแหน่งเพลงปิดอัลบั้ม จากห้วงอารมณ์มากมาย จากประสบการณ์ชีวิตผู้อื่นที่ได้ฟังมาตลอดอัลบั้ม เพลงนี้เป็นเพลงที่พูดคุยกับเราซึ่งเป็นผู้ฟังโดยตรง   ‘เผื่อสักวันหนึ่ง เธอจะรู้สึก อ่อนล้า คิดถึงบ้าน เผื่อสักวันหนึ่งเธอจะหิวโซ หมดหวัง มากด้วยคำถาม เผื่อถึงเวลา เธอต้องข้ามผ่าน บทเรียน ที่ใครเขียนก็ตาม เพื่อสิ่งที่รักฉันจะยิ้มสู้ หยัดยืนด้วยพลัง’   ด้วยเสียงเครื่องสาย เปียโนในเพลง หรือด้วยมนต์ขลังของถ้อยคำที่พวกเขาบรรจงแต่งขึ้นมาก็ตาม ขณะฟังเพลงนี้ผู้เขียนเห็นภาพของไททศมิตร - วงดนตรีที่ยืนหยัดอยู่ข้างหน้า รอบข้างและเบื้องหลังพวกเขามีผู้คนที่ถูกเล่าถึง มีวินมอเตอร์ไซค์ที่ภูมิใจกับอาชีพ มีน้องอำนวย โคโยตี้รถกระบะ มีผีลุงวาสนา (ที่มาพร้อมมีดสปาต้าบนหัว) มีพ่อไวพจน์ เพชรสุพรรณ ครูเพลงผู้ลาจาก มีรอยยิ้มเศร้า ๆ แต่เข้มแข็งของเจ้าดวงดารา มีไอ้สองที่มาในชุดพร้อมเดินบนรันเวย์ มีผู้คนมากมายหลายอาชีพ หลายอัตลักษณ์ หลากความฝัน หลากความเปราะบางในชีวิต แต่พวกเขาทั้งหมดกำลัง ‘หยัดยืนด้วยพลัง’ อยู่ หวังว่าผู้เขียนและผู้อ่านจะเป็นหนึ่งในนั้น ขอจงหยัดยืนด้วยพลังเพื่อชีวิตตนเอง   ที่มาภาพ: TaitosmitH