พระตรีมูรติ : เทพเจ้าแห่งความรัก (?)
เมื่อวันวาเลนไทน์ใกล้มาถึง พื้นที่บริเวณลานหน้าศูนย์การค้า CentralWorld ฝั่งแยกประตูน้ำ จะคลาคล่ำไปด้วยผู้คนมากเป็นพิเศษ ทั้งชายหญิงและ LGBTQ+ ต่างมารวมกันต่อหน้าเทวรูปองค์หนึ่ง ซึ่งมักเชื่อกันว่าจะบันดาลความสมหวังเรื่องความรักให้กับพวกเขา เทวรูปองค์นั้นเป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วไปในนาม ‘พระตรีมูรติ’ แต่กระนั้นก็มีผู้คนบางส่วนที่ถกเถียงกันว่าเทวรูปองค์นั้นไม่ใช่พระตรีมูรติอยู่เนือง ๆ จนบางคนอาจเกิดคำถามว่า สรุปแล้วเทวรูปองค์นั้นคือใครกันแน่?
ตรีมูรติ คืออะไร ?
คำว่า ‘ตรีมูรติ’ ในพจนานุกรมสันสกฤตให้ความหมายของคำว่า ‘มูรติ’ ว่า ร่าง, การสำแดง, ภาพ ฉะนั้น ตรีมูรติ จึงแปลแบบตรง ๆ ได้ว่า ‘สามรูป’ หรือ ‘สามการสำแดง’ ส่วนแนวคิดเกี่ยวกับตรีมูรติในคติศาสนาฮินดูนั้น อรวินท์ ศรมา นักปรัชญาอินเดียอธิบายว่า แนวคิดนี้เริ่มปรากฏในยุคอุปนิษัทช่วงหลัง (ราว 200 ปีก่อนคริสตกาลจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 2) โดยได้ปรากฏชื่อของพระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ ในบทสวดอุปนิษัทยุคนั้น และแนวคิดนี้เป็นที่นิยมอย่างชัดเจนในยุคปุราณะ ซึ่งเป็นยุคที่มีการแต่งเทวตำนานต่าง ๆ มากมาย อีกทั้งมีการระบุหน้าที่ของตรีมูรติอย่างชัดเจนว่า พระพรหมเป็นผู้สร้าง พระวิษณุเป็นผู้รักษา และพระศิวะเป็นผู้ทำลาย
ถึงแม้ว่า คติตรีมูรติจะกล่าวถึงเทพเจ้าสูงสุดทั้งสาม แต่ไม่ได้หมายความว่า เทพเจ้าสูงสุดทั้งสามจะได้รับการบูชาอย่างเท่าเทียมกัน โดยมีปัจจัยกำหนดเทพเจ้าผู้ได้รับการบูชาสูงสุดอยู่ที่ความศรัทธาและนิกายเป็นสำคัญ อาทิ ในไศวนิกาย พระศิวะจะได้รับการบูชาสูงสุด ส่วนอีกสององค์ก็จะได้รับการบูชารองลงมา หรืออย่างในไวษณพนิกาย ก็จะบูชาพระวิษณุเป็นเทพเจ้าสูงสุด ซึ่งจะเห็นได้จากการสร้างเทวรูปเทพเจ้าทั้งสาม เทพที่ประดิษฐานตรงกลางของเทวรูปจะเป็นเทพที่ได้รับการบูชาสูงสุด
แนวคิดตรีมูรติยังพัฒนาและตีความไปได้อีกมากมาย เช่น แนวคิดตรีมูรติ แนวคิดแบบเอกเทวนิยมระบุว่า ตรีมูรติคือพระผู้เป็นเจ้าสูงสุดของนิกายนั้น ๆ แต่สำแดงออกมาเป็นภาคต่าง ๆ อาทิ เทวรูปพระศิวะที่ถ้ำเอเลแฟนตา เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย ที่ปรากฏเป็นพระศิวะสามเศียร ซึ่งแสดงภาคทั้งสามของพระศิวะ คือ สัทโยชาตะ (การกำเนิด), วามเทวะ (การรักษา) และอโฆระ (การทำลาย) เป็นต้น หรือแนวคิดสัจธรรมหนึ่งเดียวของศังกราจารย์ กล่าวว่า มีสัจธรรมอันเป็นนามธรรมได้กลายเป็นพระเจ้าองค์เดียว ก่อนที่พระเจ้าองค์เดียวนั้นจะแยกออกเป็นสามภาคเพื่อทำหน้าที่สร้าง (พระพรหม) รักษา (พระวิษณุ) และทำลาย (พระศิวะ) ดังนั้น เทพเจ้าทั้งสามในแนวคิดนี้จึงมีที่มาจากสัจธรรมหนึ่งเดียวนั่นเอง
จะเห็นได้ว่า ในหลักตรีมูรติที่มีความหมายว่า ‘รูปสาม’ นั้น มีการตีความที่แตกต่างกันไปตามแนวคิดที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่หลักสำคัญของการมี ‘รูปสาม’ ของตรีมูรติก็ยังเป็นสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด และสังเกตว่าคำว่า ‘ตรีมูรติ’ ไม่ได้เป็นชื่อของเทพเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งแต่อย่างใดด้วย
ทัตตาเตรยะ ตรีมูรติที่ได้รับความนิยม
แม้ว่าจะมีแนวคิดตรีมูรติมากมาย แต่แนวคิดหนึ่งที่มักเป็นที่นิยมคือ การนำเทพเจ้าทั้งสามรวมเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งตรีมูรติรูปแบบนี้ มีเทพเจ้าองค์หนึ่งที่พอจะเป็นที่รู้จักในประเทศไทยบ้าง เทพองค์นั้นมีนามว่า ‘พระทัตตาเตรยะ’
คัมภีร์ปุราณะเล่าที่มาของพระทัตตาเตรยะว่า เป็นบุตรของฤๅษีอัตริกับนางอนสูยา ซึ่งก็มีเรื่องเล่าการกำเนิดที่แตกต่างกันอีก อาทิ เกิดจากการบำเพ็ญตบะบูชาของนางอนสูยาที่ปรารถนาให้เทพเจ้าทั้งสามเป็นบุตรของตน ซึ่งเทพเจ้าทั้งสามก็ให้พรตามที่นางอนสูยาต้องการ บ้างก็ว่าเทพเจ้าทั้งสามได้รวมเป็นหนึ่งเดียวและกำเนิดเป็นพระทัตตาเตรยะ บ้างก็ว่าเทพเจ้าทั้งสามต่างอวตารลงมาแยกกันเป็นบุตรทั้งสาม พระพรหมกำเนิดเป็นโสมเทพ (พระจันทร์) พระศิวะกำเนิดเป็นฤๅษีทุรวาส และพระวิษณุกำเนิดเป็นพระทัตตาเตรยะ
การบูชาพระทัตตาเตรยะเริ่มต้นมาจากรัฐมหาราษฎร์ ประเทศอินเดีย โดยเชื่อกันว่าท่านถือกำเนิดที่เมืองมหูร ทางตะวันออกของรัฐมหาราษฎร์ ก่อนที่คติการบูชาจะเริ่มเผยแผ่ไปยังแคว้นอื่น ๆ เช่น อานธรประเทศ, เตลังคานา, ทมิฬนาฑู ต่อมาก็เริ่มมีการบูชาในประเทศไทยด้วย ส่วนการสร้างรูปเคารพของท่านในหลักประติมานวิทยา (หลักว่าด้วยการสร้างเทวรูป) ระบุว่า เป็นรูปนักบวช มี 3 เศียร (แทนพระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ) 6 กร แต่ละกรถือสิ่งที่สื่อถึงมหาเทพทั้งสาม คือ สร้อยประคำกับหม้อน้ำของพระพรหม, สุทรรศนจักรและสังข์ของพระวิษณุ และตรีศูลกับกลองบัณเฑาะว์ของพระศิวะ มักยืนพิงโคหนึ่งตัวและมีสุนัขสี่ตัวรายล้อม
ด้วยรูปลักษณ์ในฐานะนักบวชของพระทัตตาเตรยะ จึงไม่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องความรักแต่อย่างใด แต่มีบทบาทในฐานะครูผู้สอนหลักธรรมชั้นสูง โดยคำสอนของท่านปรากฏในคัมภีร์ ‘อวธูตคีตา’ (คำว่า ‘อวธูต’ แปลว่า ผู้เป็นอิสระ หรืออาจหมายถึงนักบวชซึ่งไม่สังกัดสำนักใด ๆ) โดยเนื้อหามีความคล้ายคลึงกับปรัชญาเวทานตะ แม้กระทั่งคำสอนฝ่ายตันตระของศาสนาพุทธและศาสนาฮินดู ดังนั้น พระทัตตาเตรยะจึงถูกเรียกว่า ‘คุรุทัตตะ’ ในฐานะครูผู้สอนธรรมชั้นสูงนั่นเอง
ส่วนในประเทศไทยนั้น พระทัตตาเตรยะปรากฏครั้งแรกราวปีพุทธศักราช 2530 - 2540 เพราะปรากฏว่าเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ได้มีการจัดสร้างเทวรูปทองคำ ทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อปีพุทธศักราช 2545 โดยมีพราหมณ์อินเดียจากวัดเทพมณเฑียร (ข้าง ๆ กับโรงเรียนเบญจมราชาลัย) และวัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขกสีลม) ร่วมพิธีจัดสร้าง และถือเอาพระทัตตาเตรยะเป็นรูปแบบของพระตรีมูรติที่ถูกต้องจนถึงปัจจุบัน
เทวรูปพระตรีมูรติ และเทพแห่งความรัก (?)
หลังจากที่พาไปดูที่มาเกี่ยวกับคติตรีมูรติจากอินเดียไปมากมายแล้ว ถึงเวลาที่จะกล่าวถึงเทวรูปพระตรีมูรติที่เป็นที่นิยมบูชากันบ้างว่ามีที่มาอย่างไร ซึ่งต้องย้อนไปถึงที่ตั้งของศูนย์การค้า CentralWorld ในปัจจุบัน โดยพื้นที่บริเวณนั้นเคยเป็นที่ตั้งของ ‘วังเพ็ชรบูรณ์’ ซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย ต่อมาในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็ได้ตกอยู่ในการดูแลของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ จนกระทั่งในปีพุทธศักราช 2525 ก็ได้มีการเช่าที่ดินของวังเพ็ชรบูรณ์เพื่อสร้างศูนย์การค้าเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ โดยนายอุเทน เตชะไพบูลย์ ในนามบริษัท วังเพ็ชรบูรณ์ จำกัด แต่ก็ประสบปัญญาในการก่อสร้าง รวมไปถึงปัญหาทางการเงิน จึงถูกสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ยกเลิกสัญญาและเปิดการประมูลใหม่ โดยกลุ่มบริษัทเซ็นทรัลได้ชนะการประมูลและพัฒนาพื้นที่จนกลายเป็นศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ในปัจจุบัน
ส่วนที่มาของการตั้งเทวรูปที่มักเรียกกันว่า ‘พระตรีมูรติ’ นั้น สุชาติ รัตนสุข ผู้เป็นเจ้าพิธีตั้งศาลของพระตรีมูรติ กล่าวถึงเหตุผลที่เสนอให้ผู้บริหารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์จัดตั้งว่า เขาเคยเห็นเทวรูปแกะสลักจากไม้ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเชื่อว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนำมาประดิษฐานไว้ในบริเวณพื้นที่ที่ต่อมาคือวังเพ็ชรบูรณ์ แล้วกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำวังเพ็ชรบูรณ์ไปในเวลาต่อมา จึงถือว่าเป็นการสร้างเทวรูปที่เคยเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำพื้นที่วังเดิม รวมไปถึงเหตุผลทางด้านฮวงจุ้ยด้วย เพราะหน้าโรงแรมเอราวัณซึ่งอยู่อีกฝั่งของแยกราชประสงค์ในปัจจุบันได้สร้างเทวรูปท้าวมหาพรหมไว้ สุชาติจึงแนะนำให้สร้างเทวรูปที่มีพลังอำนาจมากกว่า (คือพระตรีมูรติ) มาคานพลังอำนาจไว้ โดยตอนแรกได้สร้างศาลพระตรีมูรติไว้ตรงหัวมุมตรงข้ามโรงแรมเอราวัณ (ปัจจุบันคือบริเวณ Apple Store) ก่อนที่จะมีการย้ายไปยังพื้นที่ที่ตั้งอยู่ในปัจจุบัน
ส่วนองค์เทวรูปนั้น สุชาติได้จัดสร้างขึ้นมาเป็นเทวรูป 5 เศียร 4 กร ซึ่งเขาเข้าใจว่านั่นคือลักษณะของพระตรีมูรติของวังเพ็ชรบูรณ์ แต่ถ้าหากเปรียบเทียบกับประติมานวิทยาของพระทัตตาเตรยะที่ถือว่าเป็นพระตรีมูรติที่ถูกต้องนั้น จะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน คือ เศียรของพระทัตตาเตรยะมีเพียง 3 เศียรเท่านั้น แต่เศียรเทวรูปนี้มีมากถึง 5 เศียร อีกทั้งจำนวนพระกรของพระทัตตาเตรยะก็มีอยู่ 6 กร มากกว่าจำนวนกรของเทวรูปนี้ 2 กร นั่นจึงเป็นเหตุผลที่พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ (ชวิน รังสิพราหมณกุล) หัวหน้าเทวสถาน (โบสถ์พราหมณ์) และหัวหน้าคณะพราหมณ์ ปฏิเสธที่จะทำพิธีบวงสรวงให้กับเทวรูปองค์นี้ เพราะสร้างผิดหลักประติมานวิทยานั่นเอง คำถามคือ แล้วเทวรูป 5 เศียร 4 กรนั้นเป็นเทวรูปของเทพองค์ใดกันแน่ ?
คำตอบก็คือ เทวรูปนั้นมีลักษณะของ ‘พระสทาศิวะ’ มากที่สุด ด้วยประติมานวิทยาของพระสทาศิวะนั้น จะมีเศียรอยู่ 5 เศียร ทุกเศียรจะมีพระเนตรที่สามอยู่ตรงกลางพระนลาฎ (หน้าผาก) และเศียรที่อยู่ด้านบนสุดจะมีพระจันทร์เป็นปิ่นปักพระโมลี (ผม) ส่วนพระกรนั้น ขึ้นอยู่กับผู้สร้างเทวรูปว่าจะสร้างไว้เท่าใด ตามคติความเชื่อของศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ซึ่งนับถือพระศิวะเป็นเทพเจ้าสูงสุด ได้อธิบายถึงพระสทาศิวะว่า เป็นรูปลักษณ์อันสูงสุดของพระศิวะ โดยทั้ง 5 เศียรของพระสทาศิวะก็มีการตีความที่แตกต่างกันไป บ้างก็ตีความว่าเปรียบเหมือนธาตุทั้งห้า (ดิน น้ำ ไฟ ลม และอวกาศ) บ้างก็ตีความว่าเป็นกิจของพระผู้เป็นเจ้าทั้งห้าอย่าง คือ สร้าง รักษา ทำลาย ปลดปล่อย และสร้างภาพมายา เป็นต้น
ส่วนเรื่องของการให้คุณทางด้านความรักนั้น พระศิวะก็ไม่ได้มีคุณในด้านนั้นเช่นกัน แถมตัวของพระศิวะเองจะเป็นศัตรูกับความรักและกามารมณ์ทั้งหลายด้วยซ้ำ ดังเรื่องเล่าในศิวะปุราณะว่า ครั้งหนึ่งมีอสูรนามว่า ตารกะ ได้ขอพรให้ผู้ที่สังหารตนได้ต้องเป็นบุตรพระศิวะเท่านั้น เหล่าเทวดาจึงพยายามทำให้พระศิวะซึ่งกำลังบำเพ็ญสมาธิอยู่ให้ตกหลุมรักนางปารวตี เพื่อที่จะได้ให้กำเนิดบุตรที่จะสังหารอสูรตารกะได้ กามเทพจึงรับอาสายิงศรแห่งความรักใส่พระศิวะเพื่อให้เกิดความรัก ทว่า พระศิวะทรงทราบและโกรธกามเทพอย่างมาก จึงเปิดพระเนตรที่สาม เกิดเป็นไฟกรดเผาร่างของกามเทพจนเป็นผุยผง
เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นถึงภาวะของพระศิวะที่ทรงอยู่เหนือความรักและกามราคะทั้งหลาย แต่ในที่สุด นางปารวตีก็เลือกการบำเพ็ญตบะบูชาพระศิวะจนเป็นที่พอพระทัย และได้วิวาห์กับปารวตี (สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าคู่รักกันจะต้องมีความเสมอกันในทุกด้าน) และได้ให้กำเนิดพระกรรติเกยะ (หรือพระขันทกุมาร) เพื่อปราบอสูรตารกะในเวลาต่อมา
แม้ว่าเทวรูปที่หน้าศูนย์การค้า CentralWorld จะไม่ใช่พระตรีมูรติตามหลักประติมานวิทยา และแม้ว่าจะมีนักวิชาการหรือผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับศาสนาและความเชื่อมาอธิบายเหตุผลหักล้างเท่าไหร่ แต่ดูเหมือนว่าก็ไม่มีพลังมากพอที่จะทานกระแสความเชื่อของคนส่วนหนึ่งว่า ‘พระตรีมูรติเป็นเทพแห่งความรัก’ ไปได้ (ถึงขนาดที่แอปพลิเคชันหาคู่ชื่อดังก็ยังทำการตลาดกับกระแสความเชื่อนี้) นั่นก็เพราะมนุษย์มีสิทธิ์ที่จะเลือกชุดความเชื่อใดความเชื่อหนึ่งที่ทำให้รู้สึกสบายใจและปลอดภัย ซึ่งเราก็ไม่มีสิทธิ์ไปบังคับให้เขาเปลี่ยนแปลงความเชื่อได้ นอกเสียจากตัวเขาจะเป็นคนเปลี่ยนแปลงเอง
เรื่อง: กวีวุฒ สุขประเสริฐ
Photo ศูนย์ภาพเนชั่น
อ้างอิง:
https://www.matichonweekly.com/column/article_280130
https://www.matichonweekly.com/column/article_283340
https://www.matichonweekly.com/column/article_285005
http://shreegurudevamantra.blogspot.com/2016/02/blog-post_12.html
https://siamrath.co.th/n/219675