read
social
11 ก.พ. 2565 | 18:00 น.
ผ้าป่าดีไซน์วีค: ทอดผ้าป่าออนไลน์ แลก ‘พระพลาสติก’ ไว้เตือนใจให้มีสติ
Play
Loading...
‘พระเครื่อง’ ทั่วไปที่เรากราบไหว้บูชา คุณค่าอยู่ที่ตรงไหน? แล้วถ้าพระเครื่องที่เรากราบไหว้ ถูกทำมาจาก ‘พลาสติก’ ล่ะ คุณจะยอมรับมันได้ไหม?
หรือแม้กระทั่งคำถามที่ว่า คนรุ่นใหม่ยังสนใจในพระพุทธศาสนา หรือการบริจาคเงินอยู่ไหม?
คำถามเหล่านี้เกิดขึ้นมาด้วยความสนใจและสงสัยถึงความเปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ในขณะที่ความเชื่อและวัฒนธรรมยังถูกคงไว้ซึ่งรูปแบบเดิม ๆ จะสามารถเดินไปด้วยกันได้อยู่ไหม
จนในที่สุดก็ได้ออกมาเป็นโปรเจกต์
‘ผ้าป่าdesignweek’
ที่ยกเอา
‘การทอดผ้าป่า’
มาอยู่ในโลกออนไลน์ เปลี่ยนแปลงการทำบุญแบบเดิมให้โปร่งใสและสามารถเข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยมีของที่ระลึกเป็นพระเครื่องที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิลให้กับผู้เข้าร่วมงาน
เริ่มจากโต๊ะอาหาร สู่ผ้าป่าdesignweek
“ไอเดียของการทำพระจากพลาสติกรีไซเคิลเนี่ยก็คุยกันไว้ตั้งแต่ 2 ปีที่แล้วด้วยซ้ำ เป็นไอเดียที่คุยเล่นกันบนโต๊ะอาหาร”
ตั้ม - กฤษณ์ พุฒพิมพ์
ตำแหน่ง Design director ประจำ
dots design studio
หนึ่งในกลุ่ม
Attanona
ผู้ก่อตั้งโปรเจกต์ ‘ผ้าป่าdesignweek’ ออกสู่สายตาประชาชน ร่วมกับทาง
Qualy
และ
Harv
และสปอนเซอร์หลักอย่าง
สุนีย์พลาสติก
ได้มาบอกเล่าเรื่องราวถึงจุดเริ่มต้นที่กว่าจะมาเป็นโปรเจกต์ผ้าป่าdesignweek ให้เราเห็นในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2565 (Bangkok Design Week 2022) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่
5 - 13 กุมภาพันธ์ 2565
และที่ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยเป็นเวลานานกว่าที่ผลงานที่เป็นรูปเป็นร่างจะถูกส่งออกสู่สายตาประชาชน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทางกลุ่มค่อนข้างเป็นกังวลกับผลตอบรับจากคนในสังคม
“กลุ่มทำงานค่อนข้างกังลวว่ามันจะดราม่าไหม หรือคนจะมองอย่างไร เราใช้เวลาไตร่ตรองอยู่นานเหมือนกัน”
แต่ด้วยช่วงเวลาที่พอเหมาะ เมื่อมีการเปิดรับสมัครจากทางเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ จึงทำให้ทางกลุ่มตัดสินใจเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงาน เพื่อทำการทดลองเชิงออกแบบออกมาก่อน
“อันนี้เราถือว่ามันเป็นเทศกาลงานออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ เราก็เลยถือจังหวะใช้เวทีนี้เป็นตัวทดลอง ถ้ามันดีมันก็ได้ไปต่อ ถ้ามันไม่ดีมันก็ไม่ได้ไปต่อ แค่นั้นเอง”
โดยทางกลุ่มผ้าป่าdesignweek ได้ดึงเอาจุดสนใจ 2 จุดมาไว้ในงานครั้งนี้ด้วย นั่นก็คือเรื่องการใช้ทรัทยากรพลาสติกที่เป็นความสนใจเดิมของทางกลุ่ม เนื่องจากเดิมทำงานกับทางแบรนด์ Qualy ซึ่งเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ที่ผลิตจากพลาสติกอยู่แล้ว และการเริ่มตั้งคำถามถึงเรื่องของการทอดผ้าป่า ว่ายังมีคนรู้จักอยู่ไหม หรือคนยังอยากทำบุญอยู่ไหมในยุคสมัยนี้
“สองก้อนนี้มันเป็นสารตั้งต้นที่ทำให้เกิดโปรเจกต์นี้ แล้วเรา setup โปรเจกต์นี้ขึ้นมาด้วยการวิเคราะห์วิธีการทำบุญใหม่ ในมุมมองของคนรุ่นเรา รุ่นที่อยู่ตรงกลางระหว่างยุคใหม่กับยุคเก่า”
ตั้มเล่าย้อนกลับไปในสมัยก่อนให้เราฟังว่า ความจริงแล้วงานทอดผ้าป่ามันคือการที่ชาวบ้านต้องการจะช่วยพระสงฆ์ในเรื่องของการหาเครื่องนุ่งห่ม จากเดิมที่พระต้องเก็บเศษผ้าเอาเองตามป่า ก็เลยแสร้งว่าเอาเศษผ้าไปวางไว้ตามป่าให้พระมาหยิบไปแทน แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนผ่านมาจนปัจจุบัน การทอดผ้าป่ากลับกลายเป็นการบริจาคเงิน เพื่อให้วัดนำเอาไปใช้ประโยชน์แทนรูปแบบเดิม ๆ
ซึ่งหากมองย้อนไปถึงรูปแบบการทอดผ้าป่าแบบเดิมในอดีต สิ่งเหล่านี้ก็เป็นเหมือนแนวคิดการใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียนหรือการรีไซเคิลที่เหล่าคนรุ่นใหม่พยายามรณรงค์กันอยู่ในทุก ๆ วันนี้ แบบที่เรียกได้ว่าแทบจะเหมือนกัน
“เราก็เลยใช้ชื่อ ‘ผ้าป่า’ ละกัน เพราะทุกคนก็รู้จักอยู่แล้วว่าผ้าป่าคืออะไร เราพยายามจะพูดให้มันทำงานกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งในฝั่งของพระเครื่องที่เป็นพลาสติก คือเราพยายามตีความแกนของพระพุทธศาสนา เรื่องการเวียนว่ายตายเกิด เหมือนกันกับวัสดุมันสามารถนำไปรีไซเคิลได้เช่นกัน” ตั้มกล่าว
ผ้าป่าออนไลน์ โปร่งใส ตรวจสอบได้
ซึ่งนอกจากตัวโปรเจกต์ผ้าป่าdesignweek ที่จัดแสดงอยู่ที่บริเวณไปรษณีย์กลางบางรักแล้ว ก็ยังมีเว็บไซต์
www.attanona.com
สำหรับผู้ที่ไม่สามารถเดินทางเข้าไปร่วมงานได้ สามารถทำการ
‘ทอดผ้าป่าออนไลน์’
ได้ผ่านทางเว็บไซต์ที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยคนภายในกลุ่มเอง
“ถ้าจำได้สมัยเด็ก ๆ เวลาทอดผ้าป่าหรือทอดกฐิน เขาก็จะมีแจกซองมาทำบุญกัน มันก็เป็นธรรมเนียมวัฒนธรรมแบบสมัยก่อน ประเด็นคือมันเกิดปัญหาด้วยความไม่โปร่งใส ไม่รู้ว่ายอดบริจาคมันได้เท่าไร
” ตั้มเล่าถึงปัญหาของการทอดผ้าป่าในอดีต
จากประเด็นดังกล่าวทำให้ทางกลุ่มผ้าป่าdesignweek ได้มีการพัฒนาตัวเว็บไซต์ให้กลายเป็นช่องทางการทำบุญแบบออนไลน์ ด้วยการลองวิธีการหรือ interface แบบใหม่ ที่ทำให้คนสามารถมองเห็นการบริจาคเงินได้อย่างโปร่งใสมากที่สุด
อีกทั้งผู้บริจาคสามารถเลือกมูลนิธิที่ต้องการบริจาค จากเบื้องต้น 3 มูลนิธิ ได้แก่ มูลนิธิแพทย์ชนบท มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ และวัดโบสถ์วรดิตถ์ โดยหวังว่าในอนาคตจะมีหน่วยงานอื่น ๆ เข้ามาร่วมด้วย เพื่อให้ตัวเว็บไซต์สามารถเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะสามารถเชื่อมคนรุ่นใหม่เข้ากับวัฒนธรรมแบบเดิม ๆ ไว้ได้
และความน่าสนใจของตัวเว็บไซต์ ก็คือการที่เราจะได้ใบอนุโมทนาบุญแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเอาไปลดหย่อนภาษีได้จริง ๆ ถือเป็นกิมมิกเล็ก ๆ ที่เชิญชวนให้คนร่วมทำบุญด้วยกัน
“คือเราก็อยากจะให้มันอยู่ต่อแหละ แต่ก็ด้วยความที่ว่าทุกคนตอนนี้ก็มีงานประจำของตัวเองอยู่ เราเลยมาช่วยงานนี้ดู เผื่อมันจะมีประโยชน์กับสังคมได้ ในระยะยาวอาจจะต้องมีคนหรือองค์กรเข้ามาช่วยซัพพอร์ต เพราะไม่อย่างนั้นเราก็ทำงานกันอย่างนี้ไม่ไหว”
ตั้มกล่าว
พระเครื่องรีไซเคิล เตือนสติให้รักษ์
กลับมาที่อีกหนึ่งสิ่งที่เป็นไฮไลต์ของงาน ที่ใคร ๆ ในโลกโซเชียลฯ ต่างก็พูดถึงความแปลกใหม่ที่ไม่เคยเห็น อย่างการที่พระเครื่องทำมาจากพลาสติกรีไซเคิลในหลากหลายรูปแบบ มีสีสันน่ารัก น่าครอบครอง
และเมื่อเท้าความไปถึงต้นกำเนิดของพระเครื่องในอดีต พระเครื่องถูกสร้างสรรค์ขึ้นโดยพระสงฆ์เพื่อทำเป็นเครื่องเตือนสติ และให้ขวัญกำลังใจกับนักรบที่ต้องออกรบ
จึงมีการย่อขนาดพระให้อยู่ในขนาดเล็ก สามารถพกพาได้สะดวก โดยทำมาจากเศษวัสดุใกล้ตัว อย่างเศษดินป่าช้า หรือเศษไม้ที่เป็นวัสดุเหลือใช้ ดังนั้นหากเรามองในมุมมองของการนำวัสดุรอบตัวมาทำพระเครื่องบ้าง การมองเห็นพระเครื่องที่ทำขึ้นมาจากพลาสติกรีไซเคิลจึงไม่ใช่เรื่องใหม่ หากเรามองในมุมนี้
“ในมุมมองของเราในฐานะนักออกแบบ เราอยากทำงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เราอยาก remind ให้คนรู้ว่า สิ่งที่คุณถืออยู่มันอยู่กับของรอบตัวคุณ และมันสามารถนำไปหมุนเวียนให้ในหลากหลายมิติได้”
เพราะฉะนั้นในงานนี้ ตัวพระเครื่องจึงทำหน้าที่หลัก ๆ 2 อย่างด้วยกัน หนึ่งคือเป็นของที่ระลึกในกิจกรรมสำหรับคนที่มาบริจาคเงินหรือสิ่งของ สองก็คือการที่ทางกลุ่มต้องการสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องเตือนสติสำหรับทุกคนว่า ของที่กำลังถืออยู่นี้สามารถเอาไปรีไซเคิลได้
ส่วนในการออกแบบดีไชน์ ตั้มเล่าว่าทางกลุ่มพยายามนำเสนอวิธีการสวมใส่พระเครื่องในรูปแบบใหม่ ที่ไม่ใช่แค่การห้อยคอในแบบเดิม ๆ
“ถ้าสังเกตพระจะมี proportion เดียวกันกับ Apple Watch ส่วนหนึ่งก็เพราะเราจะคุ้นเคยกับสิ่งที่เราใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ทำให้จดจำได้และเข้าถึงมันได้ง่าย ส่วนอีกไอเดียคือเราพยายามจะสร้างวิธีการสวมใส่มันใหม่ สามารถใส่เป็นเหมือนนาฬิกาได้ โดยใช้สายนาฬิกาของ Apple Watch คนจะได้ไม่ต้องไปซื้อใหม่”
โดยในอนาคตหากมีผู้ที่ได้พระไปเยอะพอ และมีโครงการอื่นเข้ามาสนใจร่วมมือกับทางกลุ่ม ตั้มเล่าว่าอาจจะมีการผลิตกรอบพระที่ทำมาจากพลาสติกรีไซเคิลเช่นเดียวกัน เพื่อให้สามารถใช้งานได้หลากหลายขึ้น เนื่องจากมีการดีไซน์ตัวกรอบไว้บ้างแล้ว
แถมยังสามารถใส่เป็นพระเครื่องได้จริง ๆ เพราะผ่านการปลุกเสกมาแล้ว!
“ตอนที่เราทำคือเราทำกับพี่ที่เขาเป็นเจ้าของ Qualy แล้วคุณพ่อคุณแม่เขามาเห็น เขาก็ขอไป เอาไปปลุกเสกเพื่อเอาไปแจกเพื่อน เราก็เลย งั้นเอามาละกัน เดี๋ยวทำให้”
ตั้มเล่าถึงเรื่องราวน่ารักระหว่างความเชื่อของคนสองวัย ที่ทำให้ในท้ายที่สุดพระพลาสติกก็ถูกปลุกเสกอย่างถูกต้อง แทนที่แต่เดิมอยากให้เป็นแค่สิ่งของที่เอาไปเตือนสติคนเท่านั้น
และตั้มยังบอกกับเราอีกด้วยว่า ส่วนตัวทางกลุ่มก็ไม่ได้คาดคิดว่ากระแสตอบรับของโปรเจกต์จะออกมาดีเกินคาดขนาดนี้ ทำให้มีพระที่ผลิตขึ้นเพียง 1,000 องค์เท่านั้น
เพราะฉะนั้นหากใครที่อยากได้ตัวพระรีไซเคิลไว้ในครอบครอง ก็อาจจะต้องรีบไปจับจองกันได้ที่บูธของทางผ้าป่าดีไซน์วีค ในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2565 ที่จะจัดถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้เป็นวันสุดท้าย ด้วยการบริจาคเงินเพียง 100 บาท หรือบริจาคพลาสติกรีไซเคิล 1 กิโลกรัม
“เรามองว่าตัวพระมันทำหน้าที่ของมันละ เราพยายามจะสร้างมุมมองใหม่ เพื่อสานต่อวิธีคิดแล้วก็วัฒนธรรมของคนไทยกับพุทธศาสนา ให้มันดำเนินต่อไปได้ ด้วยมุมมองของคนรุ่นเรานี่แหละ”
เรื่อง: มณิสร วรรณศิริกุล
ภาพ: ผ้าป่าdesignweek
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
UNGCNT-UN in Thailand เตรียมจัดงาน GCNT Forum 2024 กระตุ้นเศรษฐกิจ
20 พ.ย. 2567
เฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ในแบบฉบับยุโรปคลาสสิก ณ โรงแรมสยามเคมปินสกี้ กรุงเทพฯ
20 พ.ย. 2567
5
“ดีพร้อม” ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ ส่งเสริมสินค้าแฟชั่นไทย เสริมศักยภาพผู้ประกอบการสู่ระดับสากล
20 พ.ย. 2567
4
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Social
The People
ผ้าป่าdesignweek
dots design studio
Qualy
Harv
BKKDW22