พลตรี จักรชัย ศุภางคเสน สายลับเสรีไทย ผู้ชี้เป้าทิ้งระเบิดทางรถไฟสายมรณะ
ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ขบวนการเสรีไทยมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้ประเทศไทยไม่ตกอยู่ในสถานะของผู้แพ้สงคราม (โดยสิ้นเชิง) แม้ว่าไทยจะประกาศสงครามกับประเทศสัมพันธมิตรและให้ความร่วมมือกับญี่ปุ่นมหาอำนาจฝ่ายอักษะก็ตาม
อย่างไรก็ดี คนทั่วไปอาจไม่ค่อยรู้เรื่องราววีรกรรมของขบวนการเสรีไทยมากสักเท่าใดนัก ส่วนหนึ่งเพราะกองกำลังของเสรีไทยมิได้เผชิญหน้ากับข้าศึกอย่างซึ่งหน้า (แผนดังกล่าวมีอยู่เพียงแต่ญี่ปุ่นได้ยอมแพ้สงครามไปเสียก่อน) หากส่วนใหญ่เป็นการต่อต้านแบบใต้ดิน ซึ่งภารกิจของ พลตรี จักรชัย ศุภางคเสน ก็เป็นหนึ่งในหลักฐานของการทำหน้าที่เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายของฝ่ายเสรีไทย
ในหนังสือ ปฏิบัติการลับ ในสมรภูมิรบ: บันทึกประวัติศาสตร์การทหาร การเมืองไทย ที่เพิ่งค้นพบ ของ พลตรี จักรชัย ศุภางคเสน โดย ดร. ทิพภานิดา ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้เขียนซึ่งเป็นธิดาของ พลตรี จักรชัย ได้เล่าถึงสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ พลตรี จักรชัยเข้าไปเกี่ยวข้อง อย่างเช่นกรณีสงครามอินโดจีนที่กองทัพไทยบุกยึดดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงที่ยังอยู่ในความยึดครองของฝรั่งเศส หลังฝรั่งเศสพ่ายกองทัพนาซี
และในสงครามมหาเอเชียบูรพา (ส่วนหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ 2) หลังถูกกองทัพญี่ปุ่นบุกแบบสายฟ้าแลบแทบทุกทิศทาง แม้กองทัพไทยจะพยายามต่อสู้อย่างเต็มที่ แต่เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้นำไทยในขณะนั้นเห็นว่าหากสู้ไปไทยคงแหลกลาญในเวลาเพียงไม่กี่วัน ก็ตัดสินใจให้ความร่วมมือกับญี่ปุ่นให้เคลื่อนทัพผ่านไทยไปยังพม่าและอินเดียซึ่งเป็นฐานใหญ่ของอังกฤษในภูมิภาคเอเชีย
ขณะเดียวกัน กระแสต่อต้านญี่ปุ่นในหมู่ประชาชน รวมไปถึงข้าราชการทหาร พลเรือนก็ได้ก่อตัวขึ้นจนกลายเป็นขบวนการเสรีไทย ฝ่าย พลตรี จักรชัยเองก็เป็นหนึ่งในเสรีไทยสายทหารซึ่งภารกิจสำคัญครั้งหนึ่งของเขาก็คือการแฝงตัวไปในฐานะตัวแทนของมิตรประเทศที่เดินทางมาดูการทำงานของทหารญี่ปุ่นในฝั่งพม่า แต่มีภารกิจแอบแฝงในการสืบหาจุดยุทธศาสตร์ของญี่ปุ่นในฝั่งพม่าเพื่อให้ฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดทำลาย
เหตุคราวนั้นเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2487 ระหว่างเดินทางไปยังพม่า พลตรี จักรชัยซึ่งมีความกังวลกับการรับภารกิจสำคัญซึ่งหากถูกจับได้อาจทำให้เขาไม่อาจกลับมาเห็นหน้าครอบครัวและอาจเป็นชนวนขัดแย้งระหว่างไทยและญี่ปุ่นได้ เมื่อถึงด่านเจดีย์สามองค์จึงได้ขอทางญี่ปุ่นแวะสักการะ และอธิษฐานขอพรให้ช่วยแสดงปาฏิหาริย์เพื่อบอกเป็นนัยให้เห็นว่าภารกิจนี้จะสำเร็จ
เมื่อไหว้เจดีย์องค์ที่หนึ่งในฝั่งพม่า ถอยมาถึงเจดีย์องค์ที่สองที่แบ่งพรมแดนสองประเทศ ก็มิได้เกิดเหตุอันใด จนทำให้เขาใจเสีย แต่เมื่อได้ปักธูปหน้าเจดีย์องค์ที่สามในฝั่งไทย ทันใดนั้นก็เกิดฝนตกลงมา พลตรี จักรชัยจึงเชื่อแน่ว่า ภารกิจคราวนี้ฟ้าจะเป็นใจ
"ทันใดที่ข้าพเจ้าปักธูปที่ฐานเจดีย์ ปรากฏการณ์ที่ไม่น่าเป็นไปได้ก็คือ หยาดฝนที่ไม่มีเค้าอะไรเลย ท่ามกลางแสงจันทร์วันเพ็ญและทรงกลดรัศมีเจิดจ้าก็พรูลงมาเสมือนการพรมด้วยน้ำมนต์จากสวรรค์ หยาดฝนพรูลงมาเพียงชั่วครู่แล้วก็เงียบหายไป ข้าพเจ้าขนลุกเกรียวและก้มลงกราบด้วยเบิกบานใจ ข้าพเจ้าได้เห็นปรากฏการณ์มหัศจรรย์ด้วยตนเองแล้ว งานกอบกู้เอกราชและงานที่ได้รับมอบหมายมาต้องสำเร็จอย่างแน่นอน" บันทึกของ พลตรี จักรชัย กล่าว
ภารกิจลับคราวนั้นสำเร็จได้อย่างเหนือความคาดหมาย เมื่อ พ.ต. นากามูระ (คนละคนกับนายพลนากามูระ ผู้บังคับบัญชากองทัพญี่ปุ่นในไทย) เจ้าหน้าที่ฝ่ายญี่ปุ่นอำนวยความสะดวกแก่เขาโดยมิได้เอะใจ พาไปดูวิธีการพรางตาทางอากาศของสถานีรถไฟในมะละแหม่งอย่างหมดเปลือก จนนายทหารรายนี้ถูกนายพลญี่ปุ่นตบหน้าเมื่อรู้ว่าพานายทหารต่างชาติมาชมแผนลับทางยุทธศาสตร์ แม้ว่าจะเป็นทหารชาติพันธมิตรก็ตาม
หลังเห็น พ.ต. นากามูระถูกผู้บังคับบัญชาตบหน้าและรู้ถึงสาเหตุ ฝ่าย พลตรี จักรชัยจึงแสร้งกล่าวว่า ไทยและญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรกันไม่ควรคลางแคลงใจกัน พ.ต. นากามูระ จึงกล่าวว่า "ก็ไม่แน่นัก หากย่านนี้ถูกทิ้งระเบิด ก็หมายถึงว่าท่านนั่นแหละเป็นผู้บอกที่หมายให้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตร" เพราะนอกจาก พลตรี จักรชัยแล้วทหารญี่ปุ่นก็ไม่เคยพาคนนอกมาดูงานแถวนี้เลย
การที่สามารถเข้าถึงจุดยุทธศาสตร์ที่เป็นความลับของญี่ปุ่นได้ ทำให้ พลตรี จักรชัย อดคิดไม่ได้ว่าน่าจะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิอย่าง "พระไทยเทวาธิราช " (พระสยามเทวาธิราช) ที่ช่วยดลใจนายทหารญี่ปุ่นหรือไม่?
หลังจากนั้น พลตรี จักรชัย ก็เดินทางกลับประเทศไทยโดยสวัสดิภาพและได้แจ้งข้อมูลลับให้กับผู้บังคับบัญชาในเสรีไทยซึ่ง พลตรี จักรชัย บันทึกไว้ว่า กองบินของสัมพันธมิตรได้ทิ้งระเบิดถูกเป้าหมายอย่างจัง สร้างความเสียหายอย่างรุนแรง ทำให้การก่อสร้างทางรถไฟของญี่ปุ่นต้องหยุดชะงักลงเป็นระยะเวลานาน เป็นประโยชน์อย่างสำคัญแก่ฝ่ายสัมพันธมิตรในการดำเนินการต่อต้านฝ่ายญี่ปุ่นต่อไป
นี่เป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ จากหนังสือ ปฎิบัติการลับในสมรภูมิรบฯ ซึ่งในหนังสือเล่มนี้ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจของ พลตรี จักรชัย อีกมากมาย รวมถึงภารกิจลับอื่นในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพาให้ผู้อ่านติดตาม
นอกจากนี้แล้วในงานเปิดตัวหนังสือเล่มนี้ที่จักรพงษ์วิลล่าเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ยังมีการจัดเสวนา "เหลียวหลัง แลหน้า..หาคำตอบ การทหาร การเมืองไทย" โดยมี พลเอก จรัล กุลละวณิชย์ เป็นประธานการเสวนา ร่วมด้วย พลเอก เอกชัย ศรีวิลาศ และ ร.ศ. สุขุม นวลสกุล
และในงานเสวนาคราวนี้ก็มีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องของ “ความลับ” สืบเนื่องจากชื่อหนังสือของ ดร. ทิพภานิดา เมื่อ พลเอก จรัล ได้ตั้งข้อสังเกตถึงหนังสือต้นเรื่องว่า สำหรับทหารไม่มีคำว่า "ปฏิบัติการลับในสมรภูมิรบ" โดยชี้ว่าหากขึ้นชื่อว่าเป็นปฏิบัติการลับแล้วต้องลับเสมอไม่มีการเปิดเผยจนตัวตาย ส่วนกรณีของ พลตรี จักรชัย นั้นผู้เผยเป็นลูกที่ทำด้วยความกตัญญูยังพอถือว่าเป็นเหตุอันควรได้
ขณะที่อาจารย์สุขุมฟังแล้วไม่เห็นด้วยกับการปิดลับภารกิจของทหารไปตลอดกาล โดยชี้ให้เห็นว่า บันทึกเหตุการณ์ในอดีตมีส่วนช่วยคลี่คลายปมสงสัยต่าง ๆ ในอดีตให้กับคนรุ่นหลังได้ ทั้งยังชี้ถึงปัญหาความไม่โปร่งใสของพฤติกรรมที่ชอบปกปิดความลับ
เหมือนเช่นการ "รัฐประหาร" ในปี 2549 ซึ่ง พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้นำคณะรัฐประหารชุดนั้นเคยตอบคำถามเมื่อครั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ถูกตั้งคำถามในสภาถึงคนที่อยู่ "เบื้องหลัง" ของการรัฐประหารครั้งนั้นเอาไว้ว่า "บางสิ่งบางอย่างต้องเป็นความลับไปจนตัวตาย" ซึ่งเท่ากับเป็นการปกปิดความจริงแก่ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยว่า แท้จริงแล้วในการทำรัฐประหารเขาทำเพื่อกลุ่มผลประโยชน์ใดหรือไม่?