Grandpa Never Drunk Alone: ไดรฟ์บาร์คาเฟ่ คอมมูนิตี้ของชาวสงขลาเนี่ยนรุ่นใหม่
ท่ามกลางเมืองท่าอย่าง ‘สงขลา’ กักเก็บประวัติศาสตร์อันเลอค่าไว้เกือบครบถ้วน สิ่งสวยงามในอดีตยังมีร่องรอยให้เห็น ในสิ่งก่อสร้าง ผู้คน อาหาร และร้านรวงต่าง ๆ จากยุคก่อนสงครามโลกที่ยังคงอยู่ เชื่อมถึงกันด้วยวัฒนธรรมไทย จีน มาลายูอย่างลงตัว
ยังมีห้องสี่เหลี่ยมสีเทา ท่ามกลางแสงไฟสีริบหรี่เหลืองบ้างแดงบ้าง ประกอบกับหุ่นลองเสื้ออันเปลือยเปล่า ที่เต็มไปด้วยรอยขีดเขียนจากลูกค้า หรือแม้แต่แผ่นเซิร์ฟขนาดยักษ์ที่ตั้งตระหง่านอยู่ตรงกำแพงหลังร้าน แต่ถึงแม้จะถูกเรียกว่าเป็น ‘บาร์’ แต่กลับมีกลิ่นหอมกรุ่นของกาแฟในช่วงยามบ่ายเชื้อเชิญเหล่าวัยรุ่นมาปลดปล่อยความเป็นตัวเอง
วันนี้เราจะพาทุกคนเดินทางไปยัง ‘Grandpa Never Drunk Alone’ บาร์ขนาดเล็กปลายถนนนครในตรงย่านวัฒนธรรมเมืองเก่า สถานที่ที่คุณสามารถเป็นตัวของตัวเองโดยไม่ต้องแคร์สายตาใคร
ถือกำเนิดไดรฟ์บาร์ เย็นเหล้า เช้ากาแฟ
‘Grandpa Never Drunk Alone’ ถือกำเนินขึ้นจาก ออม - พิชชาภา สาวมาดนิ่งธาตุแข็ง ที่พร้อมชนในทุกเมื่อ และ แอม - พิสุทธิ์พักตร์ ผู้หนีความวุ่นวายจากหัวหิน ได้กลับคืนสู่บ้านเกิดที่ไม่โดดเด่นมากนักอย่าง ‘สงขลา’
สิ่งที่จะเติมความว่างเปล่าสำหรับสาวที่เคยอยู่ในความวุ่นวายไม่ให้น่าเบื่อจนเกินไป คือการเปิดบาร์ที่ใส่ความเป็นพวกเธอลงไป เพื่อชักชวนพวกพ้องที่หลงรักในสิ่งเดียวกันให้ได้เข้ามารู้จักกัน
สำหรับเหล่าลูกค้า Grandpa Never Drunk Alone จะถูกเรียกว่า ‘ชาวปู่’ ที่ถูกหยิบมาจากส่วนหนึ่งของชื่อร้าน ‘Grandpa’ ที่ตรงกับคำว่าปู่ในภาษาไทย
“เพราะเราชอบกินเหล้ากับปู่ จึงเป็นที่มาของชื่อร้าน”
เรื่องราวของร้านที่ถูกบอกเล่าด้วยประโยคสั้น ๆ ที่กล่าวเป็นนัย ๆ ว่า ‘ถึงจะไม่มีใครดื่มด้วย ก็ดื่มกับคุณปู่สิ’ ซึ่งก็ตรงกับส่วนหนึ่งในชื่อร้านว่า ‘Never Drunk Alone’ อย่างพอดิบพอดี
แต่หลังการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สองรุนแรงขึ้น ตามมาตรการของทางรัฐบาล ทำให้บาร์ต่าง ๆ ถูกชะลอการเปิดไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งแกรนด์ป๊าก็เป็นหนึ่งในนั้น
ออมและแอมจึงมองหาสิ่งที่จะมาทดแทนสิ่งที่เสียไป ด้วยการเปิดร้านกาแฟในช่วงบ่ายแทน
ร้านกาแฟที่มีเมนูเพียง 5 เมนู แต่เป็น 5 เมนูที่เต็มไปด้วยจิตวิญญาณของออมและแอม ไม่ว่าจะเป็นลาเต้ อเมริกาโน่ มัทฉะลาเต้ หรือจะเป็นอัฟโฟกาโต้ ช็อตเอสเปรสโซ่ที่เบลนเข้ากับไอติมกะทิขึ้นชื่อของสงขลา และคราฟต์โคล่า ที่ผ่านการต้มเองกับมือ กลายมาเป็นสูตรลับเฉพาะแกรนด์ป๊า
แตกต่างเหมือนกัน ความขบถของเด็กยุคใหม่
เพราะตัวตนที่แท้จริง มักถูกบีบให้เก็บไว้ให้พ้นสายตาของผู้อื่น
ใครเลยจะกล้าพอ ที่จะข้ามออกมาจากความธรรมดาในเมืองอันเต็มไปด้วยขนบธรรมเนียม สวนทางกับแกรนด์ป๊า ที่อนุญาตให้คุณเป็น ‘คุณ’ โดยไม่ต้องเสแสร้งให้พ้นจากการตัดสินโดยเพื่อนร่วมเมือง
ลูกค้าแกรนด์ป๊าในหนึ่งวันอาจเป็นสาวผมสั้นในเสื้อเกาะอกเผยให้เห็นรอยสัก คลุมทับด้วยเบลเซอร์ตัวใหญ่ หรือหนุ่มผมหยิก ที่สวมเสื้อวงโปรดกับกางเกงยีนส์ตัวเก่ง เดินไปไหนมาไหนด้วยไนกี้จอร์แดนหุ้มข้อ
ความหลากหลายที่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืนนี้เอง ที่ดึงให้ผู้คนกล้าออกมารวมกันอย่างเฉิดฉาย
และกลายเป็นจิตวิญญาณอันแรงกล้าของวัยรุ่นหัวขบถ ที่พร้อมผลักดัน เปลี่ยนแปลง และปลดปล่อยความเจ๋ง เพื่อส่องประกายไปทั่วทั้งสงขลา
แต่นอกจากผู้คนที่มีจิตวิญญาณอันแรงกล้า แกรนด์ป๊าก็ยังโอบรับเอากลุ่มคนที่เต็มไปด้วยมวลแห่งความเศร้าไว้ด้วยเช่นกัน
‘My friends are getting married, I’m getting drunk’ ข้อความฟอนต์ธรรมดา ๆ ตัดกับไฟนีออนสีขาวใต้ชื่อร้าน ประดับอยู่บนป้ายทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ที่แปลเป็นไทยได้ว่า ‘เพื่อนกำลังจะแต่งงาน ส่วนฉันกำลังเมา’
บอกเป็นนัย ๆ ว่าการจะมาเป็นชาวปู่ไม่จำเป็นต้องมีคู่ แต่คุณจะต้องกล้าที่จะเป็นตัวเองให้มากพอ โดยไม่ต้องขออนุญาตใคร และพร้อมที่จะปล่อยความเจ๋งของตัวเองตามที่ต้องการ
ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่คนโสดจะมานั่งจิบค็อกเทล พลางจัดระเบียบเรื่องนับร้อยให้ตกผลึกในสมอง คนเหงา ๆ พึ่งพาตัวเองได้ไม่ต้องสนใจใคร หรือแม้แต่คนที่ต้องการแลกเปลี่ยนเรื่องราวกับบาร์เทนเดอร์
สุดท้ายแล้วเมื่อถึงจุดหนึ่งของชีวิต การออกไปจิบค็อกเทลสักสองแก้ว แถมยังได้บทสนทนาที่น่าจดจำ นับว่าดีไม่น้อยเลยสำหรับคนเหงา
ทันทีที่ก้าวเท้าเข้าแกรนด์ป๊า ก็เหมือนการถอดสิ่งที่เผชิญมาตลอดวันลง เหลือเพียงบทสนทนาที่คุกรุ่นไปด้วยความตื่นเต้นและความหวัง และพร้อมที่จะหลบมาเป็นตัวเองได้ดีทีเดียว
กิจกรรมชาวปู่
เพราะกิจกรรมทางทะเลเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่บ่งบอกความเป็น ‘ปู่’ ได้เป็นอย่างดี
ดังนั้นหากคุณไปถึงร้านในช่วงห้าถึงหกโมงเย็น แน่นอนว่าคุณจะไม่ได้ลิ้มรสชาติของค็อกเทลหรือแม้แต่กาแฟสักช็อต
แต่คุณจะเจอป้าย “ไปเซิร์ฟ เดี๋ยวมานะ” แปะอยู่หน้าประตูร้านแทน! พร้อมกับกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่กำลังแบกแผ่นเซิร์ฟ เซิร์ฟสเก็ต หรือแผ่นสคิมบอร์ดเพื่อไปยังชายหาด ‘ชลาทัศน์’ ซึ่งไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นชาวปู่ที่ออกไปโลดแล่นอยู่ริมทะเลสาบสงขลา
คำเชิญชวนให้ออกไปสัมผัสกับ ‘สคิมบอร์ด’ กีฬาทางน้ำที่เล่นกับคลื่นริมหาด ถือเป็นกิจกรรมอันดับหนึ่งของชาวปู่ ถูกส่งต่อไปยังลูกค้าใหม่เสมอ ซึ่งเป็นสิ่งที่พร้อมฝากรอยแผลไว้บนหน้าแข้ง และส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย แต่มันกลับไม่ได้ลดทอนความสนุกที่ได้ออกไปกับเพื่อนชาวปู่แม้แต่น้อย เพราะถึงจะไม่ได้โลดแล่นอยู่บนแผ่น ก็ยังสามารถนอนอาบแดดปล่อยความคิดให้ไหลไปกับเวลา แล้วรับเอาความอบอุ่นที่มาพร้อมกับเสียงลมทะเล และคลื่นกระทบชายฝั่ง
อนุรักษ์ แต่ไม่เอนเอียง
จริงอยู่ที่ว่าการรักษาขนบธรรมเนียมเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติ เหมือนงานศิลปะอายุหลายร้อยปีที่ไม่อาจตีราคาได้ แต่บางสิ่งแค่ทำความรู้จักก็เพียงพอแล้ว เช่น รสนิยมทางเพศที่ควรมีการยอมรับในยุคของความหลากหลายอย่างปัจจุบัน
ตัดกลับมาที่เมืองท่าอย่างสงขลา สิ่งที่ทำให้เมืองนี้น่าสนใจก็ยังเป็นการที่เมืองคงรูปลักษณ์ของความเก่าไว้เป็นอย่างดี
แต่กาลเวลาเปลี่ยนผ่านและเลือดใหม่ได้ถือกำเนิดขึ้น ทำให้การติดอยู่กับอดีตจึงใช้ไม่ได้อีกต่อไป
เมืองสงขลาในปัจจุบันมีพลังจากจิตวิญญาณอันแรงกล้าของเด็กยุคใหม่ ที่พร้อมเติมเต็มให้เมืองเล็ก ๆ แห่งนี้เติบโตไปตามวัยของพวกเขา ไม่ใช่เพียงแค่การหันหลังกลับไปดื่มด่ำกับอดีตเพียงอย่างเดียว
การชื่นชมวัฒนธรรมอันสวยงามสามารทำได้ แต่สิ่งนั้นก็สามารถเป็นทรัพยากรที่ล้ำค่าในการต่อยอดเมืองนี้ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะทำลายสิ่งสวยงามจากอดีต
วันนี้ ‘สงขลาเนี่ยน’ ตัวเล็ก ๆ พร้อมแล้วที่จะแต่งเติม ดัดแปลง เพื่อนำสงขลาก้าวไปข้างหน้า ไม่ว่าจะเกิดความผิดพลาด ไม่สวยงามเท่าอดีต แต่ศักยภาพและความเจ๋งของพวกเขา ก็จะสร้างความภูมิใจในความเป็น ‘สงขลา’ ที่เกิดจากฝีมือคนรุ่นใหม่ไม่แพ้คนรุ่นเก๋าเลยแม้แต่น้อย
เรื่อง: กวีวัฒน์ ศิวะนารถวงศ์ (The People Junior)
ภาพ: กวีวัฒน์ ศิวะนารถวงศ์