T-Mobile & Sprint : มหากาพย์การควบรวมกิจการของสองค่ายมือถือกับความกังวลเรื่อง ‘การผูกขาด’ ในสังคมสหรัฐอเมริกา
บางครั้ง 'การแต่งงาน' ไม่ได้เป็นเรื่องของคนสองคน แต่อาจเป็นเรื่องของครอบครัวสองครอบครัว สังคมสองสังคม หรือมีคนที่เกี่ยวข้องมากไปกว่าคู่รักคู่หนึ่ง เช่นเดียวกันกับในระดับองค์กรที่ 'การควบรวมกิจการ' ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของผู้บริหารในองค์กรเท่านั้น…
หลังจากได้ยินข่าวการควบรวมกิจการของสองค่ายผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์มือถือในไทย ก็ชวนให้นึกถึงเรื่องราวของ ‘T-Mobile’ และ ‘Sprint’ สองบริษัทในสหรัฐอเมริกาที่ควบรวมกิจการไปเมื่อปี 2020 แต่ก็ใช้เวลายาวนานจนแทบจะเป็นมหากาพย์ เพราะการควบรวมกิจการนี้ไม่ได้มีแค่เรื่องเปลี่ยนชื่อบริษัทหรือเปลี่ยนเก้าอี้ผู้บริหารเพียงอย่างเดียว
ความพยายามครั้งแรก และคำปฏิเสธในปี2014
ก่อนจะเล่าถึง T-Mobile และ Sprint คงต้องเล่าถึงภาพรวมของบริการโครงข่ายโทรศัพท์มือถือในสหรัฐอเมริกาว่ามีเจ้าใหญ่ยักษ์สองอันดับแรกเป็น Verizon กับ AT&T ตามมาด้วยเจ้าเล็กลงมาอย่าง T-Mobile และ Sprint
ย้อนไปในปี 2014 SoftBank บริษัทแม่ของ Sprint เคยพยายามเจรจากับ T-Mobile เรื่องการควบรวมกิจการ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันกับสองเจ้ายักษ์ใหญ่โดยเฉพาะเรื่อง 5G ที่ทั้งสองบริษัทกล่าวว่าพวกเขาต้องอาศัยความร่วมมือกันเท่านั้นจึงจะสำเร็จ
แต่ท้ายที่สุดดีลนี้ก็ต้องหยุดชะงักไปด้วยการฟ้องร้องจากหลายรัฐ และหน่วยงานที่กำกับดูแลไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าการควบรวมดังกล่าวจะทำให้การแข่งขันในตลาดลดลง ซึ่งนับเป็นการกีดกันผลประโยชน์ของผู้บริโภค และอาจทำให้ค่าบริการเพิ่มสูงขึ้น การต่อสู้ในศาลครั้งนั้นจึงกลายเป็นอุปสรรคสำคัญของ T-Mobile และ Sprint
ต่อมาในปี 2017 ทั้งสองฝ่ายได้รื้อข้อตกลงเดิมคืนมาอีกครั้ง แต่ก็ต้องล้มเลิกไปในช่วงปลายปี เมื่อ SoftBank กับ Deutsche Telekom บริษัทแม่ของ T-Mobile ไม่สามารถตกลงกันได้ว่าแต่ละฝ่ายจะมีอำนาจในการควบคุมมากน้อยแค่ไหน
ข้อตกลงครั้งใหม่ สู่การดีลสำเร็จ
หลังความพยายามตลอด 6 ปี ในที่สุดดีลนี้ก็สำเร็จ เพราะสองเดือนหลังจากศาลแขวงสหรัฐฯ ให้ไฟเขียว ทั้งสองบริษัทก็ได้ควบรวมกิจการกันในปี 2020 โดยที่ยังใช้ชื่อ T-Mobile ส่วน CEO อย่าง John Legere ได้ก้าวลงจากตำแหน่งเพื่อให้ Mike Sievert มานั่งเก้าอี้ CEO แทน
สาเหตุที่ดีลอันยาวนานนี้สำเร็จเป็นเพราะสิ่งที่ T-Mobile รับปากกับ FCC (Federal Communications Commission) หน่วยงานที่ดูแลด้านการสื่อสารว่า ในอนาคตพวกเขาจะทำให้มี 5G ครอบคลุมพื้นที่เกือบจะทั่วสหรัฐอเมริกา รวมทั้งพื้นที่ชนบท และจะต้องขายธุรกิจระบบเติมเงิน เช่น Boost Mobile และทรัพย์สินอื่น ๆ ของ Sprint ให้กับ Dish บริษัททีวีดาวเทียม เพื่อผลักดันให้ Dish ขึ้นมาเป็นคู่แข่งในตลาด และสหรัฐอเมริกากลับมามีผูัให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์มือถือ 4 เจ้าเหมือนเดิม
แต่ใช่ว่าทุกคนจะให้ ‘ไฟเขียว’ กับดีลนี้ เพราะสมาชิกพรรคเดโมแครตใน FCC เช่น เจสสิก้า โรเซนวอร์เซล ได้ลงคะแนน ‘ไม่เห็นด้วย’ กับการควบกิจการ โดยเธอกล่าวว่า
“มีหลักฐานมากมายแสดงให้เห็นว่าการควบรวมกิจการของ T-Mobile-Sprint จะลดการแข่งขัน ขึ้นราคา มีคุณภาพต่ำลง และมีนวัตกรรมที่เกิดขึ้นช้าลง
“ทุกคนคงเคยเห็นแล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ถ้าตลาดมีความเข้มข้นมากขึ้นหลังการควบรวมกิจการ เช่น อุตสาหกรรมการบินที่ทำให้มีค่าธรรมเนียมสัมภาระและขนาดที่นั่งเล็กลง หรืออุตสาหกรรมยาที่บริษัทยาบางแห่งขึ้นราคายาตามไปด้วย ซึ่งฉันก็ยังไม่เจอเหตุผลไหนที่จะทำให้ดีลนี้มันส่งผลต่างไปจากเดิม”
ขณะที่ฝั่งนักวิเคราะห์ทางการเงินบางคนกลับเห็นด้วยกับการควบรวม Sprint เข้ากับ T-Mobile เพราะมองว่าอุตสาหกรรมดังกล่าวมีการแข่งขันที่สูงเกินไปเล็กน้อย ดังนั้นการตัดคู่แข่งในตลาดออกไปหนึ่งเจ้าก็น่าจะช่วยลดแรงกดดันได้ดีเหมือนกัน
เราจะทำตามสัญญา (?)
นอกจากมุมมองของบริษัท พนักงานและผู้บริโภคเองก็ได้รับผลกระทบไปตาม ๆ กัน เช่น ปี 2020 มีพนักงานใน Sprint ถูกเลิกจ้างเพื่อให้มีที่ว่างสำหรับตำแหน่งใหม่ 200 ตำแหน่ง ขณะที่ T-Mobile มองว่าพนักงานก็สามารถกลับมาสมัครตำแหน่งเหล่านั้นได้เช่นเดียวกัน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ T-Mobile เคยยืนกรานให้พนักงานสบายใจได้ เพราะการควบรวมบริษัทจะทำให้มีตำแหน่งเพิ่มขึ้นมาอีกนับหมื่นตำแหน่ง ซึ่งตรงข้ามกับภาพการเลิกจ้างที่เกิดขึ้น
ส่วนการวัดผลจาก American Customer Satisfaction Index พบว่าความพึงพอใจของลูกค้า T-Mobile ตกลงมาจากอันดับ ‘ดีที่สุด’ ไปเป็น ‘แย่ที่สุด’ ในสามผู้ให้บริการหลักในปี 2021
นอกจากนี้ หลังควบรวมกิจการ พวกเขายังประกาศว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 ปีเพื่อย้ายลูกค้าจากค่าย Sprint ไปยัง T-Mobile โดยให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่มีการปรับเพิ่มราคาใด ๆ จนกว่าจะถึงปี 2023 แต่หลังจากนั้นคงต้องลุ้นกันว่าราคาจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน และมีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมาอย่างที่เคยกล่าวไว้หรือไม่
แม้เคสนี้จะมีทั้งฝั่งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยจากหลากหลายเหตุผล แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคงเป็นขั้นตอนทางกฎหมายและการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด จนใช้เวลานานหลายปีกว่าดีลนี้จะสำเร็จ ทั้งยังสะท้อนให้เห็นว่าการควบรวมกิจการนั้นไม่ใช่แค่เรื่องของการบริหาร แต่ยังส่งผลกระทบต่อพนักงาน ผู้บริโภคและผู้คนอีกหลายชีวิตในสหรัฐอเมริกา
ที่มา:
https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-12-06/t-mobile-customer-service-is-getting-as-bad-as-all-the-others
https://www.cnet.com/tech/mobile/t-mobile-and-sprint-are-one-what-you-need-to-know-about-the-mobile-mega-merger/
https://arstechnica.com/tech-policy/2021/08/t-mobile-apparently-lied-to-government-to-get-sprint-merger-approval-ruling-says/
https://www.wired.com/story/t-mobile-sprint-merger-guide/
https://www.tmonews.com/2020/06/t-mobile-sprint-hundreds-employees-laid-off/
ที่มาภาพ:
https://www.youtube.com/watch?v=1nsbmtwMrgY