read
business
11 ก.พ. 2565 | 19:11 น.
ซันเต๋อ - ยศนันท์ วุฒิกรสมบัติกุล : จากศิลปะบนรายละเอียดเล็กน้อยของชีวิต สู่ศิลปะ NFT แบบฉบับซันเต๋อ
Play
Loading...
ขณะมองภาพทุ่งหญ้าเขียวทึบราวกับทอดยาวไร้ที่สิ้นสุด เราสะดุดตากับจุดเล็ก ๆ สองจุดบนภาพ เมื่อเพ่งมองอีกครั้งก็พบว่าสองจุดนั้นไม่ใช่รอยเปื้อนแต่อย่างใด หากเป็นภาพของชายผมขาวผู้ถือจดหมายไปยังตู้ไปรษณีย์สีแดง ซึ่ง ‘ความกว้างใหญ่’ ของทุ่งหญ้าตัดกับ ‘ความเล็ก’ ของตู้ไปรษณีย์และคุณลุงคนนี้ ยิ่งเพิ่มความรู้สึกคิดถึงและเปลี่ยวเหงาให้จดหมายฉบับน้อยเป็นสองเท่า
นี่คือความรู้สึกครั้งแรกที่เราเริ่มจดจำผลงานของ
‘ซันเต๋อ - ยศนันท์ วุฒิกรสมบัติกุล’
เขาคือศิลปินที่หลายคนคุ้นชื่อและมีผู้ติดตามในอินสตาแกรมหลักแสนแอคเคานต์ ว่ากันว่าผลงานของเขาเป็นที่กล่าวขานถึงความมินิมอลและความเปลี่ยวเหงา แต่เมื่อได้พูดคุยกับชายคนนี้ บทสนทนากลับเต็มไปด้วยความสบาย ๆ และความหลงใหลในศิลปะที่มีมากกว่าบนผืนผ้าใบ
ศิลปะอยู่ในการใช้ชีวิต
หากย้อนไปในวัยประถม คำชมและรางวัลจากการวาดรูปทำให้เด็กชายซันเต๋อเริ่มรู้สึกว่า ‘สิ่งนี้แหละคือความถนัดของเขา’ แต่ความสนใจของซันเต๋อไม่ได้หยุดอยู่เพียงดินสอสีกับกระดาษวาดรูปเท่านั้น
ไม่เพียงสีสันรูปร่าง ซันเต๋อยังชอบคิดพล็อตหนัง จินตนาการเรื่องราวต่าง ๆ นั่นคือช่วงเวลาที่ ‘โฆษณา’ เริ่มเข้ามาอยู่ในลิสต์ความสนใจของซันเต๋อ ชีวิตมหาวิทยาลัยจึงลงเอยที่คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และก้าวสู่วัยทำงานด้วยงานโฆษณาในเอเจนซี่ ควบคู่ไปกับการเป็นนักวาดภาพประกอบเป็นเวลา 5 ปี เมื่อเริ่มมองเห็นลู่ทางที่จะสานต่อการวาดรูป บวกกับความต้องการใช้ชีวิตอิสระมากขึ้น เขาจึงตัดสินใจลาออกไปใช้ชีวิตที่นิวยอร์ก 2 ปี สถานที่แห่งนั้นทำให้เขาพบว่าศิลปะแทรกซึมอยู่ทุกหนแห่ง
“คือเขาเหมือนเป็นประเทศปลูกฝังศิลปะมาตั้งแต่เด็ก เราจะเห็นเด็ก ๆ เข้าไปมิวเซียม ไปนั่งวาดรูป เพราะว่าที่นู่นเขามีมิวเซียมเยอะมาก แล้วก็งานศิลปะ สังเกตจากราคางานขาย ก็จะพอรู้ว่าเขาให้คุณค่ามากกว่า อาจจะเป็นประเทศที่เขาเจริญแล้ว เขาได้รับการดูแลที่เหมาะสม ทำให้ความกังวลเรื่องความเป็นอยู่มันน้อยกว่า เลยมีเวลาไปให้คุณค่ากับศิลปะอะไรมากขึ้น แต่ในประเทศไทย ตัวเราเองยังต้องคิดอยู่เลยว่าเดือนนี้จะรอดไหม ด้วยหลาย ๆ อย่างในสังคมไทย จึงเป็นเรื่องยากที่ผู้คนจะมาสนใจให้ความสำคัญกับศิลปะ เพราะตอนนี้มันมีสิ่งอื่นที่จะต้องให้ความสำคัญมากกว่า ยิ่งช่วงนี้ด้วย คือทุกคนโดนผลกระทบหมด เศรษฐกิจ สิทธิ สวัสดิการอะไรยังไม่ดี ก็ต้องสนใจปากท้องก่อน มันก็เลยต่างกัน
“คือในไทยศิลปะมันก็แทรกซึมอยู่ทุกที่นะ แต่ว่ามันอยู่ในความเคยชินของเราไปแล้ว เราจะไปเดินในหมู่บ้าน เราเห็นร้านขายของ เห็นนู่นเห็นนี่ เราเห็นจนเราไม่ได้รู้สึกว่ามันแปลก แต่พอไปอยู่ในอีกที่หนึ่งที่มันแปลก ก็เลยทำให้เราเห็นเราสังเกตอะไรมากขึ้น บางทีพวกนั้นมันเป็นไอเดียให้เราเหมือนกัน เพราะฉะนั้นก็ต้องพาตัวเองไปกินเมนูใหม่ ๆ ลองดูหนังแนวที่เราไม่ชอบบ้าง เพื่อใส่เป็นข้อมูลให้กับตัวเราในการผลิตงานออกแบบ
“เราอาจจะไม่ใช่คนดูเยอะ รู้เยอะ เท่าที่ดูมาก็มีหลาย ๆ ภาพที่เราประทับใจ แต่บางทีมันไม่ได้มีอยู่ที่ภาพวาดอย่างเดียว เพราะว่าเพลงเราก็เอามาทำเป็นงานได้ หนังเราก็เอามาทำเป็นงานได้ ศิลปินที่ชอบคือมันไม่จำกัดที่คนวาดรูป อาจจะเป็นช่างภาพ นักร้อง คนทำอาหาร inspire มาเป็นภาพวาด มันก็จะทำให้ภาพวาดเราดูมีอะไรมากขึ้น”
ลายเส้นแบบซันเต๋อ เริ่มด้วยความสบายใจ
แม้หลายคนจะมีภาพจำว่างานของซันเต๋อดูสะอาดตา ชวนให้คนดูสบายใจหรือรู้สึกเปลี่ยวเหงาแล้วแต่จะตีความตามประสบการณ์ แต่กว่าจะออกมาเป็นลายเส้นนี้ เขาผ่านความเปลี่ยนแปลงอยู่หลายหน
“จริง ๆ งานเราเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เหมือนกันนะ ตามยุค ช่วงแรก ๆ ก็จะเป็นการ์ตูนแบบเด็ก ๆ แล้วมันก็ค่อย ๆ เปลี่ยน เหมือนโตไปกับเรา แต่ว่าช่วงนี้ที่เราวาดอยู่ ที่เรายังอินกับมันก็เป็น space เยอะ ๆ คนตัวเล็ก ๆ แต่เดี๋ยวอีก 5 ปีข้างหน้าเราอาจจะเปลี่ยนไปวาดอย่างอื่นก็ได้ คือมันเหมือนเด็กคนหนึ่งที่โตขึ้นเรื่อย ๆ อีก 5 ปีเขาอาจจะใส่เสื้อเชิ้ต อีกสิบปีเขาอาจจะอยากใส่เสื้อยืด มันก็เปลี่ยนไปตามเทรนด์ ตามเวลา จากสิ่งที่เราพบเจอ”
แม้ลายเส้นอาจจะเปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปคือความสบายใจและการตั้งใจทำงานแต่ละชิ้นอย่างสุดฝีมือ
“อย่างแรกเราต้องทำด้วยความไม่ฝืนใจจนเกินไป เพราะงานที่เราสบายใจเราอยากจะทำ ความตั้งใจเรามันจะสูง คืออยากจะใส่ไอเดียนี้ ๆ เหมือนตั้งใจเรียนกับไม่ตั้งใจเรียนน่ะ ถ้าตั้งใจเรียนก็มีโอกาสได้คะแนนดีกว่า แต่เราจะมีมาตรฐานของเรานะ ถึงจะไม่ตั้งใจเรียน แต่เราจะไม่ให้มันสอบตก คืองานที่ออกไปก็จะเป็นชื่อเรา ถ้าเกิดว่าเราทำไม่ดี ต่อไปมันก็ไม่มีใครจ้าง คือเราก็ต้องรักษามาตรฐานให้ดีที่สุดในสถานการณ์ที่มันจะเป็นไปได้”
เมื่อความชอบกลายเป็นอาชีพ
ซันเต๋ออธิบายถึงรูปแบบการทำงานว่ามี 2 แบบหลัก ๆ คืองาน commercial ที่รับโจทย์จากลูกค้า และงาน fine art ที่สร้างสรรค์จากไอเดียของตนเองแล้วขายให้คนที่ชื่นชอบผลงานนั้น แน่นอนว่าแบบแรกนั้นต้องอาศัยการบาลานซ์ให้เป็นไปตามโจทย์ที่ได้รับ โดยไม่สูญเสียตัวตนของศิลปิน
“สมมติว่างานของเรา เรารู้ว่าคนที่ซื้องานเราจะมีการใช้ชีวิตแบบไหน แต่พอเราไปทำให้ลูกค้า บางครั้ง target เป็นเด็กอนุบาล หรือเป็นผู้สูงอายุ แล้วแต่แบรนด์ที่มาจ้างเราว่าเขาขาย product อะไร เราก็จำเป็นต้องทำตามสิ่งที่ลูกค้ามองด้วย เพราะว่าหน้าที่ของเราก็คือช่วยให้เขาขาย product ได้มากขึ้น มันก็เลยจำเป็นต้องลดทอนตัวเองแล้วก็ทำในสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ก็เอาความเป็นตัวเองกับลูกค้ามาบรรจบกัน
“แต่งานพวกนั้นก็ทำให้เราเหนื่อยเหมือนกันนะ พอตอนหลังเราเลยมาจับงาน fine art มากขึ้น คือช่วงอยู่นิวยอร์ก เราก็ไม่ได้มี exhibition อะไร อาจจะยังไม่ใช่ artist เต็มตัว คือเป็นนักวาดภาพประกอบ ใครจ้างอะไรก็วาด แต่พอหลัง ๆ เรารู้สึกว่า เราจะมาทำงานที่เป็นตัวเองมากขึ้น เราอยากทำแล้วมันเกิดอะไรดี ๆ ให้กับคน เลยมาโฟกัสที่งาน painting แบบเป็นเฟรม จัด exhibition ขายลูกค้าเป็นชิ้นงานไปแต่งบ้าน ไม่ได้ลงไปอยู่ในเสื้อยืด อยู่ในกระเป๋าผ้าเหมือนเมื่อก่อน แต่ถามว่ายังทำอยู่ไหม ก็ยังทำนะ แต่เลือกมากขึ้น ไม่ได้ทำหมดเหมือนเมื่อก่อน”
ซันเต๋อยอมรับว่า ‘ความมั่นคง’ คือโจทย์หนึ่งที่ท้าทายสำหรับอาชีพศิลปิน เพราะความยากคือทำอย่างไรให้คนยังคงจดจำและชื่นชอบผลงานของเขาในระยะยาว
“ในตอนนี้ที่ยังมีโอกาสทำงานที่เรารักอยู่ ก็ต้องพยายามทำให้มันดี ทำให้มันเต็มที่ แล้วก็ไม่หยุดสร้างงานออกมา อาจจะหยุดพักได้ แต่ว่าไม่ใช่หยุดทำงานไปเลย เพราะเราเลือกแล้วว่าเราอยากทำสิ่งนี้ เราก็หวังว่าสิ่งที่เราคิดมันจะทำให้เราอยู่กับมันไปได้นาน ส่วนตัวเรามองว่าอาชีพศิลปินของเราที่มีได้ทุกวันนี้เพราะมีคน support”
ศิลปะ NFT แบบฉบับซันเต๋อ
“งานศิลปะมันก็คือเทรนด์แฟชั่นหนึ่งของยุคเหมือนกัน หมายความว่าอีกร้อยปี เราก็อาจจะมองว่ามันเป็นประวัติศาสตร์ของยุคนี้ เช่นเมื่อก่อนมี postmodern งานยุคนั้น เป็นอะไรแบบนี้ งานยุคนี้ก็จะเป็นประวัติศาสตร์ให้อนาคตเหมือนกัน”
เมื่อความชื่นชอบศิลปะเปลี่ยนไปตามกาลเวลา การปรับตัวให้รับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจึงจำเป็นสำหรับอาชีพศิลปิน ซึ่งทางเลือกหนึ่งในยุคนี้คือศิลปะแบบ NFT (non-fungible token) ที่ผู้ซื้อสามารถเป็นเจ้าของ แม้ไม่ได้ครอบครองผลงานแบบจับต้องได้
“NFT ก็ถือว่าใหม่สำหรับเรามากเหมือนกัน คำถามแรกเราก็มีขึ้นมาเหมือนกันว่า ‘แล้วซื้อไปทำไม’ (หัวเราะ) คือตอนแรกเราคิดอย่างนั้น แต่พอลองมามองดูก็รู้สึกว่ามันเป็นคุณค่าในแบบหนึ่งที่เราอาจจะเพิ่งเคยทำความรู้จัก
“NFT อาจจะทำให้เราได้กลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ เพราะถ้าเกิดขายบนออนไลน์ คนที่ซื้อก็จะซื้อได้ง่ายขึ้น เพียงแค่เขาคลิก เขาไม่ต้องเดินดูแกลเลอรี ไม่ต้องมีที่เก็บ เพราะสามารถเก็บทุกอย่างบนออนไลน์ เขาไม่ต้องมาดูว่า เฮ้ย! งานต้นฉบับจะต้องควบคุมความชื้นไม่ให้งานเสีย สีไม่ให้เปลี่ยน คือไม่ต้องมาดูแล แต่เราได้สิทธิ์การเป็นเจ้าของงานศิลปะอันหนึ่ง
“เรามองว่ามันก็เป็นการลงทุนได้นะ วันหนึ่งงานที่คุณซื้อไปราคาเท่านี้ อีกสิบปี คุณก็อาจจะขายต่อได้แพงกว่านี้ แล้วก็ได้เป็นเจ้าของงานศิลปะ คนเราชอบเป็นเจ้าของอยู่แล้ว มันเป็นอีกช่องทางที่ทำให้ศิลปินได้ขยายขอบเขตลูกค้า ได้โปรโมตงานให้มีคนรู้จักมากขึ้น คือคนซื้อไปแล้ว เรารู้ว่าเขาซื้อไปในราคาเท่าไร ถูกส่งต่อไปให้ใคร เราก็จะเห็นข้อมูลหมดเลย แต่ถ้างานจริงวันหนึ่งเราขายไป แล้วเขาส่งไปต่อ เราก็ไม่รู้ว่างานเรามันหายไปไหนแล้ว”
สำหรับงาน NFT ชิ้นแรกของซันเต๋อ คือการนำงานชิ้นเดิมมาปรับให้สนุกขึ้น โดยทำเป็นเวอร์ชันที่สามารถเคลื่อนไหวได้และเผยแพร่ในแพลตฟอร์ม JNFT (
https://jnft.digital/
)
“ไหน ๆ มันก็จะแตกต่างจาก painting ภาพนิ่งแล้ว เราก็เลยคิดว่าทำเป็นภาพเคลื่อนไหวน่าจะดีกว่า แต่เป็นเคลื่อนไหวที่ยังมีความเป็นภาพวาดอยู่ จะไม่ได้แบบดิจิทัลจ๋า 3D จ๋า แต่ก็ยังเป็นภาพ paint ที่เราเอามาทำแบบขยับได้”
หลังสร้างสรรค์ผลงานหลายชิ้น นำเสนอหลากหลายรูปแบบ ทำให้เราอดสงสัยไม่ได้ว่า แก่นหลักในการทำงานแต่ละชิ้นของซันเต๋อเป็นแบบไหน
“ในความคิดความเชื่อของเราคนเดียว เรารู้สึกว่า ภาพที่ดีมันต้องสื่อสารอะไรบางอย่างออกมา ซึ่งเราไม่รู้ว่ามันผิดหรือเปล่านะ บางคนอาจจะไม่ได้คิดแบบนี้ แต่สำหรับตัวเรา เรามองว่า ภาพที่ดีมันควรจะสื่อสารอะไรออกมา อย่างน้อยมันต้องส่งอารมณ์อะไรบางอย่าง ไม่อย่างนั้นก็จะเป็นภาพภาพหนึ่งที่มันไม่ทำงาน แต่ไม่จำเป็นต้องบอก message ที่ยิ่งใหญ่ แค่ทำให้เรารู้สึกอะไรบางอย่างว่า ทำไมมองรูปนี้แล้วมันสบายใจจัง หรือว่ามองรูปนี้ เห็นผลไม้แล้วรู้สึกอยากกินผลไม้ อันนี้ก็เป็นมุมที่เราว่าภาพน่าจะทำหน้าที่นั้น”
ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวการเดินทางของซันเต๋อบนเส้นทางศิลปิน จากหน้ากระดาษที่ส่งคุณครูมาจนถึงหน้าจอที่คนทั่วโลกสามารถคลิกเข้าไปดูได้
ความเปลี่ยนแปลงยังคงดำเนินต่อไป และเขายังตอบไม่ได้ว่าอนาคตผลงานของเขาอาจจะเป็นเหมือนเพลงที่ (เคย) ฮิตในวันหนึ่งหรือไม่ แต่ ณ เวลานี้ ซันเต๋อรู้สึกไม่ต่างจากวันแรกที่ได้จับดินสอสีวาดบนกระดาษ
“เรายังอยากวาดรูปทุกวัน ยังมีอีกร้อยโปรเจกต์ที่คิดไว้แล้วยังทำไม่ได้เลย มันก็ยังมีหลายรูป หลายสิ่งที่เราเห็นภาพ แต่อาจจะยังทำไม่ได้ในตอนนี้ เลยทำให้เรามีอะไรให้เดิน มีอะไรให้มองว่าอยากจะไปตรงไหน อยากจะทำอะไรบ้าง ยังมีตรงนั้นให้เราอยากจะไปอยู่
“เราอาจจะไม่ได้มีความสุขมาก แบบยิ้มทั้งวัน มันก็คงจะเป็นไปไม่ได้ แค่ทำแล้วไม่ได้รู้สึกว่าฝืนใจตัวเอง เอาแค่ความสบายใจก็พอ บางทีเราก็มองว่ามันเป็นสิ่งที่ดีแล้ว”
แม้ซันเต๋อไม่ได้บอกว่าความสบาย ๆ และอยู่กับปัจจุบันเหล่านี้จะเป็นสาเหตุที่ทำให้ภาพวาดของเขาดูสบายตา แต่บทสนทนาคราวนี้ ทำให้เรามองภาพวาดของเขาเปลี่ยนไป มากกว่าความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงา เรามองเห็นความสงบ สบายใจ และความตั้งใจของผู้วาด ยิ่งทำให้รู้สึกเหมือนได้หลบความวุ่นวายของโลกทั้งใบมามองภาพโล่ง ๆ แล้วโฟกัสไปที่อิริยาบถของตัวละครเล็ก ๆ ในภาพแทน
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
รายชื่อคณะกรรมการตัดสิน The People Awards 2025: RISE TO LEAD
17 ม.ค. 2568
29
นายกฯ ประกาศช่วยเหลือเด็กนอกระบบทั้ง 77 จังหวัด ผ่าน Thailand Zero Dropout
17 ม.ค. 2568
2
“ไลอ้อน” มอบรอยยิ้มความสุขให้กับเด็กและเยาวชนไทย สนับสนุนงานวันเด็กแห่งชาติ
17 ม.ค. 2568
1
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Interview
The People
NFT
SUNTUR