โรเบิร์ต เจฟฟรีย์ สเติร์นเบิร์ก : รู้จักความรัก 8 รูปแบบไปกับทฤษฎี ‘Triangle of Love’
ความรัก = ... ?
เชื่อว่าคำถามนี้คงเป็นเหมือนปัญหาโลกแตก ไม่ต่างไปจากการถามว่า ไก่กับไข่อันไหนเกิดก่อนกัน ถึงอย่างนั้นผู้คนก็ยังค้นหาคำตอบของ ‘ความรัก
อยู่เรื่อยมา…
ย้อนไปราว 3 ทศวรรษที่แล้ว นักจิตวิทยาชาวอเมริกันนามว่า ‘โรเบิร์ต เจฟฟรีย์ สเติร์นเบิร์ก’ (Robert Jeffrey Sternberg) ได้เริ่มคิดทฤษฎีเกี่ยวกับความรักขึ้นมาเพื่อตอบคำถามว่าทำไมนิยามความรักความสัมพันธ์ของแต่ละคนจึงแตกต่างกันออกไป โดยทฤษฎีนี้เรียกว่า ‘ทฤษฎีสามเหลี่ยมแห่งความรัก’ หรือ ‘Triangular Theory of Love’
โรเบิร์ต สเติร์นเบิร์กสนใจจิตวิทยามาตั้งแต่วัยเยาว์ เขาจึงเรียนต่อด้านนี้ในมหาวิทยาลัยเยลจนจบการศึกษาเมื่อปี 1972 และคว้าปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในปี 1975 ก่อนจะกลับมาเป็นอาจารย์จิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยเยล (Yale)
สเติร์นเบิร์กคลุกคลีอยู่ในแวดวงนี้มาอย่างยาวนาน โดยหนึ่งในผลงานอันโดดเด่นของเขา คงจะเป็นการเสนอทฤษฎีสามเหลี่ยมแห่งความรัก (Triangular Theory of Love) ในปี 1986 เพื่อให้ผู้คนเข้าใจ ‘ความรัก’ มากขึ้น โดยทฤษฎีนี้แบ่งองค์ประกอบของความรักออกเป็น 3 อย่างด้วยกัน คือ
- ความใกล้ชิดสนิทสนม (Intimacy) คือความรู้สึกผูกพัน สนิทใจ ใกล้ชิดกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ค่อนข้างควบคุมได้มากกว่าอารมณ์ความรู้สึกที่อาจจางหายไปตามกาลเวลา
- ความหลงใหล (Passion) คือความรู้สึกเชิงโรแมนติก ความดึงดูดใจทางร่างกายไปจนถึงความใกล้ชิดทางเพศ แต่ความหลงใหลมีวันหมดอายุที่ไม่ชัดเจน หรือเรียกง่าย ๆ ว่าเราอาจ ‘หมดแพสชัน’ เมื่อไรก็ได้ เพราะเป็นเรื่องของความรู้สึกที่อยู่เหนือการควบคุม
- การตัดสินใจ/การผูกมัด (Decision/Commitment) คือการตัดสินใจว่าจะยอมรับและรักษาความสัมพันธ์นี้ไว้ เช่น การแต่งงาน การตกลงเป็นแฟนกัน โดยองค์ประกอบนี้นับว่าควบคุมได้มากกว่าสองอย่างแรก เพราะเป็นเรื่องของการตกลงร่วมกันมากกว่าเรื่องความรู้สึก
ทั้ง 3 องค์ประกอบนี้เปรียบเสมือนวัตถุดิบหลักของความรักที่เมื่อผสมผสานออกมาในปริมาณที่แตกต่างกัน ย่อมทำให้รูปแบบของความรักความสัมพันธ์แตกต่างกันไปด้วย โดยสามารถแบ่งออกเป็น 8 รูปแบบ
- Nonlove หากแปลตรง ๆ คงเป็นคำว่า ‘ความไม่รัก’ เพราะไม่มีส่วนผสมทั้ง 3 อย่าง เป็นความรู้สึกกลาง ๆ เหมือนกับการทักทายหรือติดต่อคนทั่วไปในชีวิตประจำวัน
- Friendship คือความสัมพันธ์ที่มีเฉพาะองค์ประกอบ Intimacy จึงเหมือนเพื่อนร่วมห้องที่ใกล้ชิดสนิทสนมกัน แต่ไม่ได้มีความรู้สึกหลงใหล ดึงดูด หรือมีข้อผูกมัด แต่ความสัมพันธ์รูปแบบนี้นับว่าเป็นพื้นฐานของความรักในรูปแบบอื่น ๆ ได้เช่นกัน
- Infatuated Love คือความรักที่มีเฉพาะ Passion เช่นคำว่า ‘รักแรกพบ’ ที่เราได้ยินกันบ่อย ๆ เพราะยังไม่เคยสนิทสนม หรือมีข้อผูกมัดใด ๆ แต่ถ้าวันเวลาผ่านไปแล้วยังไม่มี Commitment หรือ Intimacy ความหลงใหลเหล่านี้ก็อาจจะจางหายไปตามกาลเวลา จนกลายเป็น Nonlove ได้เช่นกัน
- Empty Love รักอันว่างเปล่านี้มีเพียงองค์ประกอบ Commitment อย่างทะเบียนสมรสหรือการตกลงคบหากัน ซึ่งกลายเป็นข้อผูกมัดที่ไร้รัก ขาดความผูกพัน เช่น ชีวิตแต่งงานที่ ‘ไม่มีความสุข’ แต่ไม่แน่ว่าหากกลับมาเติม Passion หรือมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น ก็อาจจะพัฒนากลับมาเป็นความรักในรูปแบบอื่นได้เช่นกัน
- Romantic Love คือความรักที่มี Intimacy และ Passion แต่ยังไม่มี Commitment ซึ่งนับเป็นความโรแมนติกสมชื่อเพราะทั้งรักและผูกพัน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญก่อนจะไปถึงขั้นการแต่งงานหรือเริ่มมีสถานะที่ชัดเจน แต่หากวันเวลาผ่านไปแล้วยังไม่มีวี่แววขององค์ประกอบด้าน Commitment ความรักก็อาจจะจืดจางไปได้เช่นกัน คล้ายกับบางคนที่ไม่สามารถอยู่ท่ามกลาง ‘ความสัมพันธ์ที่ไม่ชัดเจน’ อย่างไรก็ตาม หากต่างฝ่ายต่างไม่ได้สนใจเรื่องข้อผูกมัด Romantic Love ก็นับเป็นความรักอันหวานชื่นรูปแบบหนึ่งได้เช่นเดียวกัน
- Companionate Love คือความรักที่มี Intimacy และ Commitment แต่ไม่มี Passion หลงเหลืออยู่ ความรักแบบนี้จะมั่นคงและหนักแน่นมากกว่า Friendship Love เพราะมี Commitment เพิ่มเข้ามา อย่างคู่แต่งงานที่อยู่ด้วยกันมาอย่างยาวนาน จนไม่จำเป็นต้องมี Passion ไม่ได้รู้สึกใจเต้นแรงหรือตกหลุมรักอย่างสุดหัวใจ แต่เป็นความผูกพัน สบายใจ และมั่นคง เช่น ความสัมพันธ์ในครอบครัว หรือเพื่อนสนิท
- Fatuous Love คือความรักที่มี Passion และ Commitment แต่ไม่มี Intimacy ซึ่งจะเห็นได้ชัดในคู่รักที่เพิ่งจะตกหลุมรัก แต่งงาน หรือคบกันแล้วเลิกราแบบสายฟ้าแลบ เพราะไม่ได้เรียนรู้และผูกพันกันจนเกิดความรู้สึกใกล้ชิดสนิทสนม (Intimacy)
- Consummate Love คือความรักที่มีครบทั้ง 3 องค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็น Passion ที่รู้สึกตกหลุมรักใครคนหนึ่งในทุก ๆ วัน Intimacy ที่รู้สึกผูกพัน ใกล้ชิด สนิทใจ และ Commitment ที่ได้คบหาหรือแต่งงานกัน นับเป็นภาพฝันอันสมบูรณ์แบบของความรักที่ใครหลายคนปรารถนา อย่างไรก็ตาม สเติร์นเบิร์กกล่าวว่า สิ่งที่ยากกว่าการสร้างความรักในรูปแบบนี้คือ การรักษาให้ความรักแบบนี้คงอยู่ในระยะยาว
ความรักทั้ง 8 รูปแบบนี้สามารถเกิดขึ้น จางหาย เปลี่ยนแปลงไปได้ตามกาลเวลาและปัจจัยอื่น ๆ เช่น คู่รักบางคู่ที่อยู่ด้วยกันนาน ๆ แล้วรู้สึกสบายใจราวกับมีเพื่อนคู่คิด แต่ไม่ได้รู้สึกหวานชื่นอย่างวันแรก ๆ นั้น ไม่ได้หมายความว่าทั้งคู่รักกันน้อยลง แต่เปลี่ยนมาเป็นความรักแบบ Companionate Love แทน หรือบางคู่ที่ Long-distance relationship กลับกลายเป็นอุปสรรค เพราะไม่มีโอกาสได้ติดต่อหรือใช้เวลาร่วมกัน ขาดความสนิทชิดใกล้ (Intimacy) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์
ดังนั้นทฤษฎีของสเติร์นเบิร์กจึงไม่ใช่การตัดสินว่าความรักของใครดีหรือไม่ดีอย่างไร แต่เป็นทฤษฎีที่พาเราย้อนกลับมาทำความเข้าใจรูปแบบของความรักรอบตัวเรามากขึ้น แล้วเติมเต็มองค์ประกอบที่ขาดหายไป เช่น การแสดงความรักต่อกันมากขึ้น การให้เวลาได้ใกล้ชิดและผูกพัน เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ไปสู่รูปแบบที่ใฝ่ฝัน หรือบางคนอาจเลือกที่จะทำใจ แล้วเดินออกมาจากความสัมพันธ์นั้น ๆ ด้วยความเข้าใจก็เป็นได้
ที่มา:
https://www.verywellmind.com/robert-sternberg-biography-1949-2795530
https://www.simplypsychology.org/types-of-love-we-experience.html
https://www.shape.com/lifestyle/sex-and-love/sternberg-triangular-theory-of-love
https://www.youtube.com/watch?v=-Cxq7ZmnFLU
ที่มาภาพ
https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Triangular_Theory_of_Love.svg#/media/File:Triangular_Theory_of_Love.svg
http://www.robertjsternberg.com/