One for the Road: แง่งามของความตาย กับลมหายใจที่หมายถึงโอกาสในการใช้ชีวิต
Play
ทั้งหมดคือความลงตัวของเรื่องราวและงานโปรดักชันที่งดงาม สไตล์กำกับของ ‘บาส - นัฐวุฒิ พูนพิริยะ’ ผู้กำกับจากเรื่อง ‘ฉลาดเกมส์โกง’ (2017) ทำให้เนื้อหาของภาพยนตร์ที่ใครต่างก็รอคอยอย่าง ‘One for the Road - วันสุดท้ายก่อนบายเธอ’ ไม่ได้เป็นเพียงหนังเศร้าที่ตัวละครเข้าใกล้ความตายเท่านั้น แต่ยังอบอวลไปด้วยความละมุนของความทรงจำ และรอยยิ้มจาง ๆ ของความรักและความคิดถึงส่วนอีกคนที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือโปรดิวเซอร์ที่ฝังความหว่องไว้ในใจใครหลายคนมาโดยตลอด ซึ่งครั้งนี้ ‘หว่องการ์ไว’ ก็ยังคงไม่ทิ้งลาย ด้วยภาพและสีที่มีกลิ่นอายของเขาผสมอยู่อย่างลงตัว แถมจุดเริ่มต้นของภาพยนตร์เรื่องนี้ก็มีเขาเป็นผู้ตั้งคำถามให้บาส - นัฐวุฒิกลับไปครุ่นคิดด้วยคุณเป็นใครและคุณอยากทำอะไรก่อนตาย“Who are you and what do you want to do before you die?”นั่นคือคำถามที่หว่องการ์ไวถามกับบาส - นัฐวุฒิ หลังจากที่พัฒนาบทกันกว่า 9 เดือน แต่สุดท้ายบทนั้นก็ยัง ‘ไม่ใช่’ จึงต้องทิ้งไป ก่อนที่บาสจะกลับมาในวันรุ่งขึ้นพร้อมพล็อตเรื่อง One for the Road ที่มีเรื่องราวของแฟนเก่า การทำงานที่นิวยอร์ก และชีวิตในบาร์เหล้าของเขาผสมรวมไปด้วยทั้งในตัวละคร ‘อู๊ด’ (รับบทโดย ไอซ์ซึ - ณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์) และ ‘บอส’ (รับบทโดย ต่อ - ธนภพ ลีรัตนขจร)One for the Road (ในภาพยนตร์ให้ความหมายว่า แก้วสุดท้ายก่อนกลับบ้าน) ว่าด้วยเรื่องราวของเพื่อนสนิทสองคนที่คนหนึ่งป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย และอีกคนเป็นหนุ่มเพลย์บอยที่ไม่หยุดอยู่กับผู้หญิงคนไหน เพราะเขายังมีใครคนหนึ่งฝังอยู่ในความทรงจำเสมอมา อู๊ดที่ป่วยเป็นมะเร็งเหมือนพ่อของเขาได้ขอให้บอสกลับจากการทำงานร้านเหล้าที่นิวยอร์ก เพื่อมาเป็นสารถีขับรถคันเก่าตะลอนคืนของและความในใจให้กับแฟนเก่า 3 คน ได้แก่ ‘อลิซ’ (รับบทโดย พลอย หอวัง) ‘หนูนา’ (รับบทโดย ออกแบบ - ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง) และ ‘รุ้ง’ (รับบทโดย นุ่น - ศิรพันธ์ วัฒนจินดา) แต่เรื่องราวระหว่างการเดินทางของทั้งคู่กลับไม่ได้สะท้อนเพียงความหวังและความฝันของคนใกล้ตาย เพราะมันยังขุดคุ้ยความทรงจำของผู้ชมที่มีประสบการณ์ร่วมให้ยิ้มและมีน้ำตาไปพร้อมกันตัวหนังดำเนินเรื่องเหมือนจะเรียบง่าย แต่แฝงไปด้วยความหมายที่ชวนผู้ชมคิดตามในหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่อง ‘ความตาย’ ที่จะคืบคลานเข้ามาหาเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ เป็นดั่งที่หว่องการ์ไวถามกับบาส -นัฐวุฒิ ซึ่งในภาพยนตร์ อู๊ดได้ตัดสินใจเดินทางไปหาแฟนเก่าของเขาเพื่อคืนของ ขอบคุณ และขอโทษเป็นครั้งสุดท้าย และรีแอ็กชันของแฟนเก่าแต่ละคนก็ถือเป็นตัวแทนของคนแต่ละกลุ่มที่จัดการกับอดีตแตกต่างกันไม่ผิดที่จะโอบกอดอดีต ไม่ผิดที่จะคิดถึงคนที่เคยทำให้เจ็บปวด ไม่ผิดที่จะร้องไห้ ไม่ผิดที่จะโกรธ ไม่ผิดที่จะเดินหนี และไม่ผิดที่จะไม่อยากเผชิญหน้า เพราะความรู้สึกที่รับรู้และระดับการยอมรับของแต่ละคนไม่เท่ากัน หากได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ เชื่อว่าหลายคนคงจะเข้าใจและเปิดใจได้มากขึ้นกับสิ่งที่เคยพบเจอมา หรืออาจถึงขั้นที่คุณเสียน้ำตาให้กับประสบการณ์ร่วมในหนังแต่อย่างที่บอกว่า One for the Road ไม่ใช่แค่หนังเศร้าของคนใกล้ตาย เพราะมันเต็มเปี่ยมไปด้วยความหวังและความคะนึงหา พูดอย่างนิทานเด็กคือ ภาพยนตร์เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า หากร่างกายยังมีลมหายใจ จงทำในสิ่งที่อยากทำ และทำมันให้ดีที่สุด (แม้ผลลัพธ์จะไม่ได้ดั่งใจ) เพื่อเวลาที่เหลืออยู่จะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด และไม่ต้องมานั่งเสียใจภายหลังแง่งามของความตายและความใกล้ตายบางครั้งความตายของใครคนหนึ่งอาจเป็นบทเรียนให้กับใครอีกคน ครั้งนี้ ความตายของพ่ออู๊ด (รับบทโดย ธเนศ วรากุลนุเคราะห์) ได้สอนบทเรียนให้กับลูกชายว่า การได้มีเวลาอยู่กับคนสำคัญก่อนที่จะไม่มีโอกาส คือโอกาสที่ดีที่สุดในชีวิต และความใกล้ตายของอู๊ดก็ส่งเสริมให้เขาออกเดินทางในครั้งนี้ตลอดโร้ดทริปของทั้งสอง ความรู้สึกดีและความรู้สึกผิดก่อตัวขึ้นในจิตใจของอู๊ด นั่นทำให้เขาอยากใช้ช่วงเวลาสุดท้ายแก้ไขทุกอย่างให้ถูกต้องอีกครั้ง ถึงแม้บางเรื่องจะไม่ได้ดั่งหวัง แต่เขาก็ได้ลงมือทำ และในท้ายที่สุดก็ได้รู้จัก ‘ปล่อยวาง’ ให้ทุกอย่างเป็นไปตามโชคชะตาของมันแม้ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ จะไม่ได้ปรากฏตัวให้เห็นบ่อยนักในภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่การมาด้วยเสียงในรายการวิทยุ และการปรากฏตัวบนรถคันเก่าที่เขาได้โบกมือลา พร้อมเร่งเครื่องนำหน้ารถของอู๊ดและบอสไปก็ถือเป็นซีนที่ทำให้น้ำตาซึมได้ เพราะนอกจากจะสื่อว่าไม่มีใครหนีพ้นความตาย อู๊ดยังได้ทำในสิ่งที่เขาไม่ได้ทำในอดีตเป็นที่เรียบร้อยเพื่อส่งพ่อของตนเอง รอยยิ้มที่ปรากฏบนใบหน้าคนป่วยทำให้เรารู้ว่า เขาไม่มีห่วงกับพ่อแล้ว และบางทีนี่อาจเป็นการค้นพบว่า พ่อของเขาไม่ได้ตายจากไปไหน หากแต่ยังมีลมหายใจอยู่ในความทรงจำของอู๊ดและแฟนรายการตลอดกาลFather And Sonนอกจากฉากที่ประทับใจบนสะพานของพ่อและอู๊ด เพลงประกอบซีนนี้ก็ยังเพราะและมีความหมายน่าสนใจ นั่นก็คือเพลง ‘Father and Son’ ของ ‘Cat Stevens’ ที่ร้องออกมาเป็นบทสนทนาของพ่อลูกที่มีประสบการณ์ชีวิตที่ไม่ตรงกัน ซึ่งสะท้อนว่าแต่ละคนต่างมีเส้นทางของตัวเองIt’s not time to make a change / ตอนนี้ยังไม่ใช่เวลาจะเปลี่ยนแปลงอะไรหรอกลูก /Just sit down, take it slowly / ใจเย็น ๆ ไม่ต้องรีบร้อน /You’re still young, that’s your fault / ลูกยังเด็ก ประสบการณ์ยังน้อย เท่านั้นแหละที่ลูกผิด /There’s so much you have to go through / ลูกต้องฝ่าฟันอุปสรรคอะไรอีกเยอะ /ฝั่งพ่อพูดกับลูกของเขาด้วยการนำประสบการณ์ชีวิตของตนเองมาเป็นจุดศูนย์กลางให้ลูกทำตามเป็นแบบอย่าง แต่ท้ายที่สุดแล้ว ลูกก็ได้บอกกับพ่อว่า เขามีหนทางในการดำเนินชีวิตของตัวเองIf they were right, I’d agree / หากว่ามันถูกต้องอย่างที่พ่อบอก ผมคงยอมรับมัน /But it’s them they know not me / แต่สิ่งเหล่านั้นมันไม่เหมาะกับผม มันไม่ใช่ตัวตนของผม /Now there’s a way and I know that I have to go away / แต่มันยังมีทางอยู่ และผมรู้ว่าถึงเวลาต้องไป /I know I have to go / ผมรู้ ผมต้องไปตามทางของผม /เช่นเดียวกับพ่อและอู๊ด ปลายทางของทั้งสองคือสิ่งเดียวกันในสักวัน แต่ระหว่างทางคือตัวเลือกของแต่ละคน โดยในครั้งนี้ พ่อทำได้เพียงโบกมือลาและขอให้ลูกชายโชคดีกับเส้นทางที่เขาเลือก ซึ่งอู๊ดที่แรกเริ่มไม่ได้พึงพอใจกับชีวิตตัวเองมากนักก็ได้รู้แล้วว่า ชีวิตที่ผ่านนั้นมีความงดงามในตัวของมัน และมันได้สอนให้เขาเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ในแบบที่แตกต่างจากบอส เพื่อนที่เขาคิดว่ามีพร้อมทุกอย่างNobody Knows but you“ถ้าสมมติเพลงนี้คุณจะมอบให้แฟนเก่า คุณอยากบอกอะไรกับเขา?”บาส - นัฐวุฒิเล่าถึงคำถามที่ ‘แสตมป์ - อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข’ ถามเขาเพื่อทำเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งบาสได้กลับไปนอนคิดก่อนจะให้คำตอบว่า “ขอโทษ ขอบคุณ และขอให้คุณโชคดี” นั่นคือสารตั้งต้นของเพลง ‘Nobody Knows’ ที่ขับร้องเวอร์ชันภาษาไทยโดยแสตมป์และวี วิโอเลต ส่วนภาษาอังกฤษขับร้องโดย คริสโตเฟอร์ ชู (Christopher Chu) นักร้องนำวง ‘POP ETC’ วงอินดี้ ร็อก (indie rock) จากเบิร์กลีย์ รัฐแคลิฟอร์เนียความหมายก็เป็นดังชื่อเพลงคือ ไม่มีใครรู้Nobody knows where all the years go / ไม่มีใครรู้ แต่ละปีที่เคลื่อนผ่านไปจะเป็นเช่นไร /Our stories unfold / เรื่องราวของเราที่ค่อย ๆ ถูกเปิดเผย /What a time, what a time / ช่างเป็นช่วงเวลาที่ /What a time to be alive / ช่างเป็นช่วงเวลาที่น่าใช้ชีวิตเหลือเกิน /และคนที่จะได้ใช้ชีวิตก็คือคนที่มีชีวิต บอสได้เห็นแง่มุมอันงดงามและเปราะบางในตัวของผู้คนที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ซึ่งนั่นทำให้เขาเลือกที่จะเดินออกมาและเดินหน้าต่อไปอย่างอิสระ เพราะเขายังเลือกได้หนึ่งในบทสรุปของเรื่องคือชีวิตนั้นไม่แน่นอนและละเอียดอ่อน บาส - นัฐวุฒิ จึงทิ้งท้ายด้วยประโยคคำถามไว้ระหว่างการสัมภาษณ์ในงานแถลงข่าวภาพยนตร์ว่า “หากมีเวลาอยู่และสามารถทำได้ เราอยากใช้เวลาเดินทาง และดื่มเหล้าแก้วสุดท้ายกับใคร”Nobody knows / ไม่มีใครรู้ /Where we’re heading to / พวกเรากำลังมุ่งหน้าไปที่ไหน /Nobody knows / ไม่มีใครรู้ /Who will win or lose/ ใครจะชนะหรือพ่ายแพ้ /Nobody knows / ไม่มีใครรู้ /เรื่อง: วโรดม เตชศรีสุธีภาพ: One for the Road (2022)