จ๊อค เซมเปิล ผู้ชายที่ทุ่มเทให้การวิ่ง แต่เป็นตัวร้ายในสายตาผู้หญิงวิ่งมาราธอน
"Get the hell out of my race and give me those numbers!”
“ไสหัวออกไปจากงานวิ่งฉันเดี๋ยวนี้ แล้วเอาหมายเลขนั้นมาซะ!”
ภาพเหตุการณ์ที่ จ๊อค เซมเปิล (Jock Semple) หนึ่งในทีมผู้จัดการแข่งขัน ตะโกนสุดเสียงพร้อมวิ่งสุดฝีเท้าเพื่อคว้าตัว แคทเธอรีน สวิทเซอร์ นักวิ่งหญิงที่เข้าร่วมแข่งขันบอสตันมาราธอน ปี 1967 ซึ่งเวลานั้นยังไม่อนุญาตให้ผู้หญิงร่วมวิ่งมาราธอน ถูกบันทึกไว้แล้วตีพิมพ์จนโด่งดังไปทั่วโลก สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงขาแรงหลายคนลุกขึ้นเรียกร้องความเท่าเทียมในการวิ่ง จนห้าปีต่อมาบอสตันมาราธอนปรับกฎให้ผู้หญิงร่วมวิ่งได้เท่าเทียมกับผู้ชาย
ภาพประวัติศาสตร์ที่ต่อมาเป็น 1 ใน 100 ภาพเปลี่ยนโลกของนิตยสารไลฟ์ ที่ตีพิมพ์ในปี 2003 นี้ ทำให้ จ๊อค เซมเปิล ถูกคนทั้งโลกมองว่าเป็นตัวร้ายที่ขัดขวางความมุ่งมั่นในการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคของผู้หญิง แต่ในความเป็นจริงแล้ว เซมเปิลนี่แหละที่มีส่วนช่วยผลักดันให้นักวิ่งหญิงเข้าร่วมรายการบอสตันมาราธอนได้ ที่สำคัญเขาเป็นนักวิ่งที่รักการวิ่งมากที่สุดคนหนึ่ง และอยากให้ทุกคนได้มีโอกาสวิ่งกันอย่างอิสระเสรี
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 1967 เซมเปิลไม่ต้องการสกัดสวิทเซอร์ไม่ให้เข้าเส้นชัยที่ 42.195 กิโลเมตร แต่เขาเพียงอยากได้ป้ายหมายเลข 261 ที่อยู่บนเสื้อเธอต่างหาก !!
จ๊อค เซมเปิล เกิดเมื่อปี 1903 ที่ กลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ก่อนอพยพมาสหรัฐอเมริกาในปี 1921 เพื่อทำงานเป็นช่างต่อตู้ที่ฟิลาเดลเฟีย หลังจากเขาลงแข่งบอสตันมาราธอนครั้งแรกเมื่อปี 1929 แล้วเข้าเส้นชัยเป็นอันดับที่ 29 เขาก็ได้ย้ายมาพำนักอยู่บอสตันเป็นการถาวร ทำงานในสายกีฬา ทั้งการเป็นโค้ช นักวิทยาศาสตร์การกีฬา นักกายภาพบำบัด และแน่นอนเป็นนักวิ่งที่ลงแข่งขันบอสตันมาราธอนอีกหลายครั้ง ทำสถิติที่ดีที่สุดในปี 1947 ด้วยอันดับ 17 ทำเวลา 2:45:09 ( คงไม่แปลกใจว่าทำไมเขาวิ่งทันนักวิ่งขาแรงอย่างสวิทเซอร์)
เวลานั้น สมาคมกรีฑาสมัครเล่น (AAU-Amateur Athletic Union) ยังไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าร่วมแข่งขันการวิ่งระยะไกลอย่างมาราธอน เพราะเชื่อว่าจะกระทบกระเทือนถึงระบบสืบพันธุ์ และส่งผลเสียกับสุขภาพในระยะยาวของพวกเธอ ซึ่งความเชื่อนี้ได้รับการพิสูจน์ภายหลังแล้วว่าไม่จริง แต่ตอนนั้นเพราะกฎข้อบังคับนี้ ทำให้เซมเปิลที่ได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์ไม้บรรทัดที่เถรตรงและรักบอสตันมาราธอนมากที่สุดคนหนึ่ง ต้องออกมาปกป้องไม่ให้การแข่งขันบอสตันมาราธอนเสี่ยงต่อการที่สมาคมกรีฑาสมัครเล่นจะตัดสิทธิ์ เนื่องจากมีผู้หญิงหลุดรอดการตรวจสอบลงแข่งวิ่งได้
หลักฐานคือ นอกจากสวิทเซอร์แล้ว ในรายการเดียวกันนี้ยังมีผู้หญิงเข้าร่วมวิ่งอีกหลายคน ที่สำคัญมี บ็อบบี กิ๊บบ์ (Bobbi Gibb) นักวิ่งหญิงที่แอบวิ่งในรายการนี้แบบไม่มีเบอร์ตั้งแต่ปี 1966 และในปีที่เกิดเรื่องเธอยังได้วิ่งแบบไม่มีบิบ (Bib-เลขประจำตัวของนักวิ่ง) อีกครั้ง แถมยังสามารถทำเวลาได้ดีกว่าสวิทเซอร์ถึงหนึ่งชั่วโมง โดยไม่ถูกเจ้าหน้าที่ขัดขวาง ซึ่งเธอเคยให้สัมภาษณ์ว่า
“เซมเปิลเคยบอกว่าเห็นฉันตอนแอบวิ่งในบอสตันมาราธอน แต่เขาปล่อยผ่านเพราะฉันไม่ได้ติดบิบ ที่จริงเขาเป็นคนให้เกียรตินักวิ่งผู้หญิงมาก เพราะแม่ของเขาเองก็เป็นนักกีฬาคนหนึ่ง บอสตันมาราธอนเปรียบเสมือนชีวิตของเขา ไม่แปลกที่พอเห็นบิบของสวิทเซอร์ในปี 1967 เขาจะบ้าคลั่งเพื่อพยายามปกป้องมัน แต่สำหรับฉันที่วิ่งโดยไม่มีบิบ กลับไม่มีเจ้าหน้าที่หรือสื่อมวลชนมาห้ามฉันสักคน”
ปัจจุบัน บอสตันมาราธอนเป็นหนึ่งในหกรายการเมเจอร์สำหรับการวิ่งมาราธอน โดยเป็นรายการแข่งขันประจำปีที่มีอายุยาวนานที่สุด จัดมาตั้งแต่ปี 1897 ทุกวันจันทร์ที่ 3 ของเดือนเมษายน หรือ วันรักชาติ (Patriots' Day) ของสหรัฐอเมริกา มีผู้เข้าร่วมวิ่งมากกว่า 30,000 คน เป็นนักวิ่งผู้หญิงราวครึ่งหนึ่ง หรือเกือบ 15,000 คนเมื่อเทียบกับปี 1967 ที่มีผู้หญิงที่ลงทะเบียนอย่างเป็นทางการเพียงสวิทเซอร์เท่านั้น ใช้ชื่อ “K.V Switzer” สมัครโดยไม่ต้องระบุเพศ เข้าลงแข่งด้วยบิบหมายเลข 261 ท่ามกลางนักวิ่งน่องเหล็กอีก 741 คน
วันนั้นสวิทเซอร์ไม่ได้วิ่งเพียงลำพัง เพราะมีครูฝึกส่วนตัวและแฟนหนุ่มอดีตผู้เล่นอเมริกันฟุตบอลร่างยักษ์ที่พ่วงกีฬาขว้างค้อน ผู้ใช้น้ำหนักตัวร่วม 117 กิโลกรัม กระแทกเซมเปิลจนกระเด็นออกไป ขณะที่เขากำลังวิ่งไปดึงเบอร์เสื้อจากเธอ
“ผมไม่ได้มีอคติกับพวกผู้หญิงนะ แค่พวกเธอจะมาวิ่งในรายการของผมไม่ได้!”
จ๊อค เซมเปิล ได้ให้สัมภาษณ์หลังเหตุการณ์นั้นผ่านมาไม่นานถึงเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังความหัวร้อนของเขาว่า ทั้งหมดเป็นเพราะกฎกติกามารยาทในการแข่งขันที่เขาเองไม่ได้เป็นคนกำหนด แต่เป็นทางสมาคมกรีฑาสมัครเล่น และกว่าที่คณะกรรมการโอลิมปิกสากลจะให้ผู้หญิงลงแข่งขันมาราธอนในกีฬาโอลิมปิกก็ล่วงมาถึงปี 1984
ความเคร่งครัดในกฎเกณฑ์อย่างสุดลิ่มในวันนั้นของ จ๊อค เซมเปิล หรือที่คนตั้งฉายาเขาว่า “มิสเตอร์บอสตันมาราธอน” กลายเป็นที่มาของภาพบันทึกประวัติศาสตร์ที่ทรงพลังมากที่สุดภาพหนึ่ง มีส่วนให้เกิดการเคลื่อนไหวจนผ่านกฎหมายด้านความเท่าเทียมทางเพศในเวลาต่อมา
การดูแลการแข่งขันบอสตันมาราธอนต่อเนื่องกว่า 30 ปี ทำให้เขาเป็นที่รักของคนที่ชื่นชอบการวิ่งทุกคนที่เข้าใจแพชชันและความตั้งใจในการรักษากฎเพื่อสิ่งที่เขาทุ่มเทและหลงใหล คือ การวิ่งในบอสตันมาราธอน ทางสมาคมกรีฑาบอสตันเลยตั้ง รางวัลเซมเปิล (The Semple Award) เพื่อเป็นเกียรติให้กับเขา โดยมอบให้กับนักกรีฑาท้องถิ่นที่สร้างผลกระทบในวงกว้าง รวมไปถึงในปี 1985 สโมสรนักวิ่งทางเรียบของอเมริกา (Road Runners Club of America) ได้บรรจุชื่อเขาในหอเกียรติยศ
ส่วนเรื่องราวความขัดแย้งของ จ๊อค เซมเปิล และ แคทเธอรีน สวิทเซอร์ จบลงอย่างแฮปปี้เอนดิ้ง ทั้งคู่ได้จับมือคืนดีกันในงานบอสตันมาราธอนปี 1973 และในปี 1981 เซมเปิลได้ออกหนังสืออัตชีวประวัติชื่อ “ขานนามข้าว่าจ๊อค” (Just Call Me Jock.) ซึ่งสวิทเซอร์ได้มาช่วยโปรโมทหนังสือเล่มนี้ด้วย และยังคงมาเยี่ยมเซมเปิลที่โรงพยาบาลอย่างสม่ำเสมอ ก่อนเขาจะจากโลกนี้ไปด้วยโรคมะเร็งตับอ่อนในเดือนมีนาคมปี 1988 เพียงเดือนเดียวก่อนบอสตันมาราธอนจะมาถึงอีกครั้ง
ที่มา
https://www.runnersworld.com
https://www.moneytrans.eu/
http://www.scottishdistancerunninghistory.scot
https://kathrineswitzer.com
https://deadspin.com
https://arrs.run