แอสทรูด จิลแบร์โต: เจ้าของเสียงร้องใน ‘The Girl From Ipanema’ คำลวง และหมาป่าห่มหนังแกะ ชีวิตที่สะท้อนความโหดร้ายของค่ายเพลง
ท่ามกลางเสียงเพลงจังหวะบอสซาโนวา ‘The Girl From Ipanema’ นั้นงดงามทั้งต่อหูและตาด้วยภาพ ‘สาวน้อยในอิปาเนมา’ ผู้เยื้องย่างกลางหาดในชุดน้อยชิ้น สูง สวย ผิวแทน สะกดสายตา ถูกเล่าร้องถ่ายทอดด้วยน้ำเสียงหวานกระซิบบริสุทธิ์ของ ‘แอสทรูด จิลแบร์โต’ (Astrud Gilberto) ภรรยาของ ‘จาว จิลแบร์โต’ (João Gilberto) ชายที่ถูกยกย่องว่าเป็นหนึ่งในสองราชาแห่งบอสซาโนวา
ด้วยความหวานใสน่ารักในน้ำเสียง ชื่อของแอสทรูดไม่ได้ถูกหลงลืมหลัง ‘The Girl From Ipanema’ โด่งดังไกลไปทั่วโลก ทว่าความสำเร็จที่งดงามของเธอกลับต้องมีข้อกังขา โดยคำของชายบางคนที่กล่าวทำนองว่า “เธอเป็นเพียงแม่บ้านที่ผม ‘ค้นพบ’ และมีชื่อเสียงขึ้นมาอย่าง ‘โชคดี’ ที่สุด”
สาวน้อยหกภาษาและภรรยานักดนตรี
‘สาวน้อยในอิปาเนมา’ รังสรรค์ดนตรีโดย ‘แอนโทนิโอ คาร์ลอส โจบิม’ (Antonio Carlos Jobim) และปั้นแต่งเนื้อเพลงภาษาโปรตุเกสโดย ‘วินนิเชียส เดอ มอเรส์’ (Vinícius de Moraes) บทเพลงนี้ถูกเรียบเรียงเป็นภาษาอังกฤษโดย ‘นอร์แมน กิมเบล’ (Norman Gimbel) และส่งตรงไปถึงมือของ ‘จาว จิลแบร์โต’ กับ ‘สแตน เก็ตซ์’ (Stan Getz) ผู้กำลังสร้างสรรค์อัลบั้ม ‘Getz/Gilberto’ อยู่
วันหนึ่งที่แอสทรูด จิลแบร์โต ติดสอยห้อยตามสามีของเธอไปยังห้องอัดเสียง และพบว่าเนื้อเพลง ‘The Girl From Ipanema’ ที่ถูกเสริมแต่งโดยนอร์แมน กิมเบลนั้นระบายด้วยภาษาอังกฤษสลับโปรตุเกส - สำหรับท่อนภาษาโปรตุเกสนั้นเป็นของจาว สามีของเธอโดยแน่ แต่ท่อนภาษาอังกฤษนั้นยังเว้นว่างชื่อคนร้องไว้
ท่ามกลางชายหนุ่มนักดนตรีและเหล่าวิศวกรเสียงมืออาชีพ แอสทรูดขันอาสา ‘ฟิล ราโมน’ (Phil Ramone) วิศวกรเสียงจำได้แม่นยำถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
“แอสทรูดอยู่ในห้องด้วยตอนที่นอร์แมนมาพร้อมกับท่อนภาษาอังกฤษในมือ โปรดิวเซอร์ ‘ครีด เทย์เลอร์’ (Creed Taylor) มองไปรอบห้องและบอกว่าเขาอยากทำเพลงให้เสร็จในเวลาอันใกล้นี้ แอสทรูดจึงอาสาบอกว่าเธอร้องเพลงภาษาอังกฤษได้ ครีดบอกว่า ‘เยี่ยม’ แอสทรูดไม่ใช่นักร้องอาชีพ เธอแค่เป็นคนเดียวที่ทำได้และอยู่ตรงนั้นพอดี”
แม้แอสทรูดจะไม่ใช่นักร้องอาชีพ แต่ก็อาจจะกล่าวได้ว่าชีวิตของเธอนั้นผูกพันกับดนตรีมาตั้งแต่ก่อนพบจาวเสียด้วยซ้ำ แอสทรูดเกิดวันที่ 29 มีนาคม 1940 ในซัลวาดอร์ ดา บาเฮีย ประเทศบราซิล แม่ของเธอเล่นดนตรีได้หลายชนิด และความสนใจที่มีต่อเสียงเพลงเหล่านั้นก็ส่งมายังเธอด้วย เมื่อพบจาว เด็กสาวอย่างแอสทรูดก็ได้ร่วมร้องเพลงทั้งวงเล็กวงใหญ่กับสามีเป็นประจำ รวมทั้งเคยขึ้นคอนเสิร์ตอยู่บ้าง ส่วนความสามารถทางภาษานั้น พ่อของแอสทรูดเป็นศาสตราจารย์ เขาสอนลูกสาวของตนให้พูดได้ถึง 6 ภาษา นอกจากภาษาโปรตุเกสซึ่งเป็นภาษาแม่ แอสทรูดสื่อสารภาษาญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน และอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว
โกหกคำโต
การโกหกคำโตเกิดขึ้นหลังเพลงนี้โด่งดังไปทั่วโลก และผู้คนเริ่มถามหาเจ้าของเสียงร้องหวานหยดภายในเพลง ทั้งครีด เทย์เลอร์ และสแตน เก็ตซ์ ต่างออกปากว่าตนเป็นเจ้าของ ‘ไอเดีย’ นำทางให้แอสทรูดมาร้องในเพลงนี้
เทย์เลอร์บอกว่า เมื่อแอสทรูดก้าวเข้ามาด้วยเสียงเล็กน่ารักและร้องเพลงด้วยสำเนียงของเธอ เขาก็รู้ได้ทันทีว่าเพลงนี้ต้องดัง ขณะที่เก็ตซ์ให้สัมภาษณ์ในปี 1964 ว่า เขารู้ว่าเสียงไพเราะไร้เดียงสาของแอสทรูด จิลแบร์โตนั้นเร้าใจ และยังบอกอีกว่า “ในตอนนั้นเธอเป็นแค่แม่บ้านเท่านั้น ผมให้เธอบันทึกเสียงครั้งนั้นเพราะผมต้องการให้ ‘The Girl From Ipanema’ มีท่อนร้องอังกฤษ ซึ่งจาวไม่สามารถร้องได้ นับว่าเธอโชคดีมาก เพราะเพลงนี้กลายเป็นเพลงดัง”
สำหรับแอสทรูด จิลแบร์โต ที่ถูกกล่าวถึงด้วยถ้อยคำว่าเป็น ‘แม่บ้านผู้โชคดี’ ก็ได้ฤกษ์กล่าวตอบโต้หลังจากเกือบยี่สิบปีผ่านไป ปี 1982 เธอบอกว่า “ที่ตลกคือพวกเขาพยายามสร้างเรื่องราวขึ้นมาหลังความสำเร็จของฉัน เรื่องราวประมาณว่า เทย์เลอร์กับเก็ตซ์ ‘ค้นพบ’ ฉันได้อย่างไร ทั้งที่มันไม่ใช่เรื่องจริง
“ฉันเดาว่ามันคงทำให้พวกเขาดูเป็นคนสำคัญ เป็นคน ‘หูตาแหลมคม’ ที่รับรู้ได้ทันทีถึงศักยภาพการร้องเพลงของฉัน ฉันควรจะรู้สึกปลื้มใจที่พวกเขาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แต่ก็อดรู้สึกรำคาญใจไม่ได้ทุกที ที่เห็นว่าพวกเขากำลังโกหก”
การกีดกันหลังถ้วยรางวัล
หลังการวางขายในเดือนมีนาคม ปี 1964 อัลบั้ม ‘Getz/Gilberto’ ขึ้นแท่นอัลบั้มขายดี พร้อมด้วยตัวเลขสถิติที่งดงาม และรางวัลหลายถ้วยจากเวทีแกรมมี โดยมี ‘The Girl From Ipanema’ เป็นเพลงที่โด่งดังที่สุดในอัลบั้ม และเป็นเพลงที่ถูกบันทึกเสียงมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก จะเป็นรองก็เพียงแต่ ‘Yesterday’ ของ The Beatles เท่านั้น
เดือนพฤษภาคมปีเดียวกันนั้นเอง เพลง ‘The Girl From Ipanema’ ก็ถูกวางขายในรูปแบบซิงเกิล ลดความยาวของเพลงโดยการตัดเสียงร้องท่อนผู้ชายออกไป และคงไว้เพียงเสียงของแอสทรูด จิลแบร์โต ขณะที่ ‘ไบรอัน แมคแคน’ (Bryan McCann) ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์บราซิลที่มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ก็เขียนความเห็นเกี่ยวกับเรื่องราวนี้ไว้ในหนังสือ ‘Getz/Gilberto’ ของเขาว่า “เป็นแอสทรูด จิลแบร์โตนั่นเองที่ทำให้อัลบั้มนี้ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า แอสทรูดมอบเสน่ห์ที่ไม่อาจบรรยาย และทำให้อัลบั้มนี้ไม่อาจต้านทาน”
เช่นเดียวกับที่เขียนชมเธอและเสียงของเธอเอาไว้ ไบรอัน แมคแคนเขียนเล่าในหนังสือเล่มเดียวกันไว้เช่นกันว่า ในช่วงเวลานั้นนักดนตรีชาวบราซิลมากมายไม่ยินดีและยอมรับในความสำเร็จของแอสทรูด พวกเขาคิดว่าเธอแค่ ‘โชคดี’ มากกว่า ‘มีความสามารถ’
ดังนั้น ทั้งที่น้ำเสียงของเธอทำให้เพลงสาวน้อยในอิปาเนมาติดหูคนทั้งโลก ท่ามกลางยอดขายและถ้วยรางวัลมากมายที่เป็นเหตุให้เดาได้ว่ามีเม็ดเงินมากโขกำลังไหลสะพัดอยู่ในนั้น สิ่งที่ตกถึงกระเป๋าเงินใบน้อยของแอสทรูด จึงมีแค่เงินจำนวนเท่าราคาว่าจ้างนักดนตรีสำหรับทำงานหนึ่งคืน นั่นคือ 120 ดอลลาร์
ไม่มีชื่อในหน้าเครดิต ไม่ได้รับค่าลิขสิทธิ์ และไม่ได้ส่วนแบ่งจากรางวัล ‘จีน ลีส์’ (Gene Lees) บรรณาธิการนิตยสาร DownBeat ผู้แปลบทเพลง ‘Corcovado’ เป็นภาษาอังกฤษ เขียนในคอลัมน์ Singers and the Song II ของเขาว่า สแตน เก็ตซ์ ผู้ที่มักจะออกตัวในฐานะคนที่ทำให้แอสทรูดโด่งดังอยู่เสมอ รู้แจ้งแก่ใจว่ายังไง ‘The Girl From Ipanema’ ก็ดังแน่ เขาถึงกับโทรฯ ไปที่สำนักงานของครีด เทย์เลอร์ - ในเวลานั้นครีดอยู่นอกออฟฟิศ และเบ็ตซี (Betsy) เลขาฯ ของเขาเป็นคนรับสาย เบ็ตซีบอกครีดว่าสแตน เก็ตซ์ ต้องการคุยกับเขา
ครีดคาดเดาว่าเก็ตซ์คงต้องการโทรฯ มาถามเรื่องค่าตอบแทนส่วนที่แอสทรูดควรได้รับ แต่กลับกลายเป็นว่าเขาโทรฯ มาเพื่อต้องการให้แน่ใจว่าแอสทรูดจะไม่ได้รับผลประโยชน์ใดแม้แต่สตางค์เดียว
แม้ไม่ได้รับส่วนแบ่งอย่างที่ควรจะได้รับ แต่แอสทรูดในวันนั้น กลับจำต้องตกลงร่วมทัวร์อเมริกากับวงดนตรีของสแตน เก็ตซ์ด้วยความจำเป็นบางประการ
แม่บ้านผู้โชคดี (?)
ตั้งแต่ปี 1963 แล้วสัมพันธ์รักระหว่างสองสามีภรรยาจิลแบร์โตนั้นก็จืดจางจากความไม่ซื่อสัตย์ของผู้เป็นสามี แอสทรูดและจาวหย่าร้างกันในปี 1964 จาวแต่งงานใหม่อย่างรวดเร็วกับนักศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะ ที่ต่อมากลายเป็นนักร้องที่รู้จักในนาม ‘Miúcha’
ชีวิตของแอสทรูดในวัย 24 ปี กลับตาลปัตรกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว เธอที่เพิ่งเป็นมือใหม่ในเส้นทางนักร้องจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากตกลงร่วมงานกับสแตน เก็ตซ์ แม้ว่ามันจะทำให้เธอนึกเสียใจในภายหลัง เพราะว่ามันแทบจะเป็น ‘สัญญาทาส’ ของ ‘หมาป่า’ เจ้าเล่ห์ที่ห่มหนังแกะมาให้เธอตายใจ
“นอกเหนือจากการหย่าร้าง ความรับผิดชอบในฐานะแม่ และความสับสนบนเส้นทางสายใหม่ นั่นคือครั้งแรกในชีวิตที่ฉันต้องกัดฟันสู้ด้วยตัวคนเดียว ในประเทศที่ไม่รู้จัก กับลูกเล็ก ๆ โดยที่สถานการณ์การเงินไม่คล่องตัว และแน่นอน ฉันในวันนั้นช่างใสซื่อเหลือเกิน” เธอกล่าว
“ฉันกลัวการอยู่บนเวที และฉันกลัวไปทุกสิ่งทุกอย่าง” คือคำบอกเล่าของเธอที่มีต่อช่วงเวลานั้น ขณะที่เก็ตซ์ก็ไม่ได้ปฏิบัติกับเธอดีนัก สื่อหัวซุบซิบของบราซิลมักรายงานข่าวลือเรื่องเก็ตซ์กับเธอไปในเชิงชู้สาว เนื่องจากอุปนิสัยเสือผู้หญิงของเก็ตซ์ซึ่งเป็นที่เลื่องลืออยู่ก่อน เก็ตซ์บอกว่าเขาทำให้เธอ “ดูดีและควรค่าแก่การปรบมือให้” ขณะที่แอสทรูดเชื่อว่าเธอเชื่อฟังเขาเพราะตนเกิดในยุคสมัยที่ผู้หญิงไม่มีสิทธิ์เถียง ไม่มีเสียงสู้ ชื่อของเธอเด่นหราอยู่ในหน้าสื่อจนถึงขั้นมีคนพูดถึงเธอว่า เธอ “ปลุกฝันกลางวันของผู้ชายด้วยร่างกายในชุดบิกินีและท่าทีอ่อนน้อมถ่อมตน”
‘มาร์เซโล จิลแบร์โต’ (Marcelo Gilberto) ลูกชายของเธอยังจำได้ดีถึงช่วงเวลาที่แม่ของตนไม่ได้ถูกสื่อและเหล่าผู้ชายมองอย่างเป็นมนุษย์ แต่ถูกมองเป็น ‘สัญลักษณ์ทางเพศ’ วันนั้นเขายังเยาว์นัก ในช่วงเวลาที่แอสทรูดต้องปรากฏตัวในการแถลงข่าวครั้งแรกกับสื่อในนิวยอร์ก
“ตอนนั้นผมยังเป็นแค่เด็กชายเล็ก ๆ มีครั้งหนึ่งผมคุยกับเธอและเรียกเธอว่า ‘แม่’ แล้วเสียงบ่นงึมงำอย่างไม่พอใจก็ดังไปทั่วห้อง ผมทำลายภาพลักษณ์ในฝันของพวกเขา สัญลักษณ์ทางเพศเป็นแม่ไม่ได้ ผมรู้สึกแย่มาก ผมเลยเรียกเธอว่า ‘แอสทรูด’ หลังจากนั้น”
หลังจากสิ้นสุด ‘สัญญาทาส’ และออกจากวงของเก็ตซ์ แอสทรูดเดินทางต่อบนถนนสายดนตรี สร้างสรรค์งานเพลงของตัวเองภายใต้ค่าย Verve Records นับจากปี 1965 - 1971 และมีอัลบั้มเดี่ยวถึง 8 อัลบั้ม รวมถึงอัลบั้ม ‘Astrud Gilberto’ ที่ทำให้ชื่อของเธอถูกเสนอเข้าชิงรางวัลแกรมมีสาขา Best Vocal Performance Female
เช่นเคย แอสทรูดมักพบว่าชื่อของเธอไม่ปรากฏในช่องเครดิต และไม่ได้รับค่าตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อ รวมทั้งพบว่าเพลงของเธอถูกบรรจุและวางขายในรูปแบบใหม่โดยที่เธอเองไม่รู้มาก่อน
ความซื่อและเชื่อใจคนของแอสทรูดเปิดโอกาสให้เธอถูกทำร้ายอีกครั้งเมื่อเธอกลับไปร่วมงานกับครีด เทย์เลอร์ในค่ายเพลงของเขาอย่าง CTI Records ที่นั่น เธอบันทึกเสียงเพลงจำนวนมากโดยไร้สัญญา ทำให้เธอมักจะได้รับส่วนแบ่งจากงานของตัวเองน้อยกว่าที่ควรจะเป็นอยู่เสมอ และบางครั้งก็ไม่ได้เลย
“พวกเขาหลอกใช้เธอจากธรรมชาติของเธอ จากความดี ความไว้วางใจของเธอ และความปรารถนาที่จะสร้างสรรค์ดนตรีของเธอ” มาร์เซโล จิลแบร์โต ลูกชายของเธอในวัยที่โตเป็นหนุ่มกล่าว
หลังจากเจ็บปวดและเรียนรู้ แอสทรูดหาเส้นทางของตัวเองเจอได้จากการร่วมงานกับศิลปินต่างประเทศ และได้ร่วมงานกับศิลปินชั้นนำมากมายรวมทั้ง ‘จอร์จ ไมเคิล’ (George Michael) และ ‘เชต เบเคอร์’ (Chet Baker)
“บราซิลหันหลังให้เธอก่อน แต่เมื่อเธอก้าวไปข้างหน้าและประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงในต่างประเทศ สื่อมวลชนบราซิลกลับมองว่าเธอทรยศ” มาร์เซโลเสริม
ปี 2002 ขณะที่ชื่อของเธอถูกยอมรับในหอเกียรติยศดนตรีละตินสากล แอสทรูด จิลแบร์โตประกาศว่าเธอจะหยุดพักงานเพลงอย่างไม่มีกำหนด ปัจจุบันเธออาศัยอยู่อย่างเรียบง่ายในฟิลาเดลเฟีย แวดล้อมความสนใจด้วยปรัชญา การวาดภาพ และการรณรงค์ต่อต้านการทารุณสัตว์
เธอยืนยันว่าเธอยังไม่ลืมเลือนความน่าหวั่นหวาดของเวที และความโหดร้ายของบริษัทค่ายเพลง ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใดก็ตาม
ที่มา: https://www.independent.co.uk/arts-entertainment/music/features/astrud-gilberto-girl-from-ipanema-b2006879.html
https://www.udiscovermusic.com/stories/astrud-gilberto-singer-life-legacy/