The Beatles - I Am The Walrus: วอลรัสและมนุษย์ไข่ ในเพลงสุด ‘อิหยังวะ’ จากปลายปากกาจอห์น เลนนอน
Play
แค่ท่อนแรกก็ชวนปวดหัวเสียแล้ว ‘I am he as you are he as you are me. And we are all together’ ท่อนเจ้าปัญหานี้อาจทำใครหลายคนขมวดคิ้วพลางแปลความหมาย ‘ฉันเป็นเขาเหมือนที่คุณเป็นเขาเท่าที่คุณคือฉัน และรวมกันเป็นเรา’ อะไรละนั่น… แต่นี่ไม่ใช่ท่อนที่แปลกที่สุดในเพลง ‘I Am The Walrus’ เมื่อเนื้อความสุดเพี้ยนมากมายพรั่งพรูออกมาได้จากทุกท่อน คำร้องร่ำว่า ‘ฉันเป็นมนุษย์ไข่ พวกเขาก็ใช่ มนุษย์ไข่เหมือนกัน… ฉันคือวอลรัส! Goo goo g’joob’ อาจทำให้หลายคนหูอื้อตาลายเป็นรูปก้นหอย โดยเฉพาะเหล่านักเรียนนักศึกษาที่อาจารย์สั่งงานว่า ‘จงตีความเพลง เดอะ บีเทิลส์ ส่งท้ายชั่วโมง!’ และเหล่านักวิจารณ์เพลงที่งุนงงคลำทางไม่ถูก (แต่หลายคนก็ยังดั้นด้นหาหนทางตีความเพลงนี้กันจนได้)I Am The Walrus คืออะไร และทำไมต้อง ‘วอลรัส’ บทความนี้จะตอบคำถามเท่าที่ตอบได้ ส่วนข้อไหนตอบไม่ได้ ก็ขอให้ ‘ปล่อยใจสนุก ๆ’ ไปตามความตั้งใจของจอห์น เลนนอน ผู้เขียนเนื้อเพลงนี้ขึ้นมาจากความเมาเคล้าขี้เล่นและกึ่งจะท้าทายนิด ๆ ของเจ้าตัวเรื่องมีอยู่ว่า“เขามีความทะเยอทะยานแบบผิด ๆ และพลังงานอันล้นเหลือของเขาก็ถูกใช้ผิดทิศผิดทาง” คือคำอธิบายจอห์น เลนนอนโดยสังเขป ของผู้อำนวยการโรงเรียน Quarry Bank High School ในปี 1956 โดยไม่ทันล่วงรู้ว่าอีกสิบปีต่อมา จอห์น ‘ทะเยอทะยาน’ เลนนอน ‘พลังงานล้นเหลือ’ คนนี้จะกลายเป็นสมาชิกในวงดนตรีที่ยิ่งใหญ่แห่งยุคสมัยอย่างคณะ The Beatles และบรรดาครูอาจารย์ในโรงเรียนของตน ก็มักจะสั่งการบ้านลูกศิษย์ด้วยการให้ ‘วิเคราะห์เนื้อเพลงของสี่เต่าทอง’ มาส่งอยู่เสมอการสั่งการบ้านเพื่อการศึกษาของคุณครูไปถึงหูจอห์น เลนนอน ศิษย์เก่าผู้โด่งดังได้ เมื่อศิษย์ปัจจุบัน (และน่าจะพ่วงตำแหน่งบีเทิลส์แฟน) คนหนึ่งเขียนจดหมายว่าเขากำลังงมหาความหมายแฝงแห่งเพลงเดอะบีเทิลส์ในคลาสเรียนอยู่ จดหมายน้อยฉบับนั้นทำให้จอห์นปิ๊งไอเดียที่จะ ‘ยกระดับ’ ความยากในการวิเคราะห์ตีความ ด้วยการสร้างเพลงที่ ‘ไม่เป็นเหตุเป็นผล’ จนตีความไม่ได้ขึ้นมารถตำรวจและแอลเอสดีทริปเพลงแปลกหูจากความตั้งใจอันแน่วแน่เพลงนี้ ถูกเขียนขึ้นในเดือนสิงหาคม ปี 1967 จอห์น เลนนอนเล่าเอาไว้ว่าเขาเขียนสองท่อนแรกของ ‘I Am The Walrus’ ขึ้นมาระหว่างเพลิดเพลินกับสารหลอนประสาทอย่างแอลเอสดี และแม้มันจะเป็นเพลงที่เมื่อฟังรวมกันแล้วแทบจะจับใจความไม่ได้ แต่เรียกได้ว่าหลาย ๆ ท่อนของ ‘Walrus’ ต่างมีที่มาที่ไป“ผมได้ท่อนแรกมาตอนท่องทริป (เสพยา) ในสุดสัปดาห์หนึ่ง ได้ท่อนที่สองในการท่องทริปครั้งถัดมา และมันก็เสร็จสมบูรณ์หลังจากผมได้พบโยโกะ (ภรรยาชาวญี่ปุ่นของจอห์น)”ระหว่างการเสพยาครั้งที่หนึ่ง จอห์น เลนนอนได้ยินเสียงไซเรนของรถตำรวจที่วิ่งผ่านไปในละแวกบ้าน สิ่งนั้นบันดาลใจ กลายเป็นไรห์มหลักภายในเพลง โดยเฉพาะท่อน ‘I am he as you are he as you are me. And we are all together’ ที่จอห์นพยายามถอดการออกเสียงแต่ละคำมาจากเสียง ‘วี้หว่อ’ นั่นเองขณะเดียวกัน ท่อนนี้ยังได้รับแรงบันดาลใจมาจากเพลง ‘Marching to Pretoria’ ที่มีท่อนร้องว่า ‘I’m with you as you’re with me and we are all together’เสียงรถตำรวจนั้นคงติดใจจอห์นไม่น้อย เพราะในท่อนถัด ๆ มาที่ร้อยเรียงอย่างไม่เป็นระเบียบนักก็ปรากฏเนื้อเพลงว่า ‘Mister City policeman sitting. Pretty little policemen in a row’ อยู่ด้วย‘ฮันเตอร์ เดวีส์’ (Hunter Davies) นักเขียนชาวอังกฤษ ผู้เขียนหนังสือชีวประวัติสี่เต่าทองไว้หลายเล่ม ได้บันทึกถึงต้นกำเนิดของท่อนแปลก ๆ อย่าง ‘Sitting on a corn flake. Waiting for the van to come’ ไว้ว่าอันที่จริงแล้ว จอห์นคิดเนื้อเอาไว้ว่า ‘Waiting for the man to come’ แต่เป็นเพื่อนของจอห์นที่ได้ยินแปร่งไปว่า ‘van’ และจอห์นก็เห็นว่ามันเข้าที จึงเปลี่ยนเนื้อท่อนนี้ให้เป็น “นั่งบนกองคอนเฟลก รอรถตู้มารับ” ไปอีกประโยคจับใจความไม่ได้ใน ‘Walrus’ นั้นเกิดจากเพลงร้องเล่นในสมัยที่จอห์นยังเด็ก ด้วยความช่วยเหลือของเพื่อนเก่าอย่าง ‘พีต ชอตตัน’ (Pete Shotton) ที่ช่วยร้องเพลงร้องเล่นเพลงหนึ่ง เนื้อความว่าYellow matter custard, green slop pie, all mixed together with a dead dog’s eye. Slap it on a butty, ten foot thick. Then wash it all down with a cup of cold sick.เพลงร้องเล่นดังกล่าวก็ถูกสับคำสลับทำนองมาเป็นท่อน ‘Yellow matter custard, dripping from a dead dog’s eye’ ที่ฟังดูชวนงุนงงไปนอกจากนั้น คำ ‘elementary penguin’ ก็หมายถึงลัทธิ ‘ฮเรกฤษณะ’ หรือผู้ศรัทธาองค์กฤษณะที่เอาแต่ท่องคำสรรเสริญพระองค์ รวมไปถึงคนที่ฝากทั้งชีวิตไว้ในมือคนคนเดียว - ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าองค์ใดก็ตามปริศนาวอลรัสและมนุษย์ไข่“วอลรัสก็เป็นแค่คำเพ้อเจ้อช่างฝัน มันไม่ได้มีความหมายขนาดนั้น” คือคำของจอห์น เลนนอน ถึงความหมายในเพลงสุดอิหยังวะของตัวเอง กระนั้น แม้แต่คำว่า ‘วอลรัส’ นั้นก็ไม่ใช่ว่าไร้ที่มา เมื่อจอห์น เลนนอนตั้งชื่อเพลงของเขาโดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากบทกวี ‘The Walrus And The Carpenter’ ในหนังสือ ‘Through the Looking Glass’ ผลงาน ‘ลูอิส แคร์รอล’ (Lewis Carroll) ภาคต่อของ Alice in Wonderland ที่หลายคนรู้จักนั่นเอง ขณะเดียวกัน จอห์น เลนนอนก็ยอมรับว่าเขาไม่เคยตีความเรื่องราวที่เขาได้อ่านอย่างถ่องแท้ จนกระทั่งเพลง ‘I Am The Walrus’ ได้เผยแพร่ไปแล้วหลายปี“ผมไม่เคยนึกเอะใจว่าลูอิส แคร์รอลกำลังวิพากษ์ทุนนิยมในงานเขียน และอันที่จริง ‘วอลรัส’ ก็เป็นตัวร้าย ผมเข้าข้างคนผิด! ผมควรจะเขียนเพลง ‘I Am The Carpenter’ แต่ถ้าผมทำแบบนั้น มันก็จะกลับตาลปัตรไป ใช่ไหมล่ะ?”ขณะที่หลายคนคาดเดาว่า ‘The Eggman’ หรือ 'มนุษย์ไข่’ ในท่อนคอรัสอาจจะหมายถึงตัวละคร ‘Humpty Dumpty’ จากหนังสือ ‘Through the Looking Glass’ เช่นกัน แต่หลายคนก็คิดว่าอาจจะเป็นไปได้มากกว่าที่มนุษย์ไข่ที่ว่าจะเป็น ‘อีริก เบอร์ดอน’ (Eric Burdon) นักร้องนำวง ‘The Animal’ เพื่อนของจอห์น โดยอ้างอิงจากคำบอกเล่าของอีริก ผ่านหนังสือชีวประวัติ ‘Don’t Let Me Be Misunderstood’“ผมอาจจะสงสัยและคิดต่างออกไปเอง, แต่ผมคือ ‘Eggman’ หรืออย่างน้อยเพื่อนของผม (รวมทั้งจอห์น) ก็เรียกผมว่า ‘Eggs’“ผมได้ชื่อนี้มาเพราะความวาบหวามยามคบกับสาวชาวจาเมกา ‘ซิลเวียร์’ วันหนึ่งผมตื่นแต่เช้า เดินเปลือยล่อนจ้อนมาทำอาหารเช้า สาวเจ้ามายืนข้างผมเมื่อไหร่ไม่รู้ เธอให้ผมดมเอมิลไนไตรท์ สมองผมลุกเป็นไฟขณะที่ร่างกายผมทรุดลงกับพื้นห้องครัว เธอหยิบไข่ดิบมาตอกใส่หน้าท้องผม สีใสและขุ่นของมันชุ่มร่างกายที่เปลือยเปล่าของผม”คงไม่ต้องอธิบายต่อว่ามนุษย์ไข่เข้าไปอยู่ในปากของซิลเวียได้อย่างไร อีริกเล่าว่าเขาแชร์ประสบการณ์สุดสยิวนั้นกับจอห์นในงานเลี้ยงค่ำหนึ่ง จอห์นซึ่งสวมแว่นตากลมเล็กตามแบบฉบับของเขาหัวเราะร่า และบอกว่า ‘เอาเลย, Eggman’เพลงแปลกประหลาดเอ๋ย...จงแปลกประหลาดยิ่งขึ้นว่ากันว่าครั้งแรกที่จอห์น เลนนอน เล่นเพลงนี้ให้จอร์จ มาร์ติน (George Martin: โปรดิวเซอร์คู่บุญเดอะบีเทิลส์) ฟัง จอร์จ มาร์ตินตอบกลับเขามาว่า “เอ่อ…จอห์น ฉันขอพูดตรง ๆ นะ นายคาดหวังให้ฉันทำหอกอะไรกับมันวะ?!?”ปรากฏว่ามีหลายอย่างทีเดียวที่จอร์จ มาร์ตินต้องทำ เดอะบีเทิลส์นำเพลงนี้เข้าห้องอัดครั้งแรกวันที่ 5 กันยายน 1967 หรือเพียง 9 วันนับจากการจากไปของ ‘ไบรอัน เอปสไตน์’ (Brian Epstein) ชายผู้เปรียบเสมือนพ่อของสี่เต่าทอง ในวันแรกพวกเขาอัดเสียงไปถึง 16 เทค และสำเร็จลุล่วงไปแค่ 5 เทคส่วนของเสียงร้องนั้น จอห์น เลนนอนมีโจทย์ในใจว่าเขาอยากได้เสียงร้องที่เหมือน ‘ดังก้องมาจากดวงจันทร์’ และเจฟฟ์ เอเมอริก (Geoff Emerick) วิศวกรเสียงของพวกเขาก็จัดให้ตามคำขอบ่ายวันที่ 27 กันยายน 1967 เป็นจอร์จ มาร์ตินที่พาวงออร์เคสตรา 16 ชิ้นเข้ามาในแอบบีโรดสตูดิโอ และเริ่มบทบาทคอนดักเตอร์ และสำหรับช่วงเย็น นักร้องชาย 8 หญิง 8 แห่ง the Mike Sammes Singers ก็มาถึง จอร์จ มาร์ติน ร่วมกับจอห์น เลนนอน ขอให้พวกเขาขับร้องเนื้อเพลงท่อนประหลาด เช่น“ho ho ho, he he he, ha ha ha”และ “Oompah, oompah, stick it up your jumper”และ “Got one, got one, everybody’s got one”เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาแปลกใหม่ของทั้งเดอะบีเทิลส์เอง และของเหล่านักร้องประสานเสียงกลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน นอกจากนั้นเพลงนี้ยังประกอบไปด้วยเสียงอีกสารพัด ตั้งแต่เสียงรายการวิทยุ ไปจนถึงเสียงบทพูดในเรื่อง King Lear ของเชกสเปียร์‘Walrus’ สำเร็จลุล่วงและเผยแพร่ในรูปแบบเพลงหน้าบีของซิงเกิล ‘Hello, Goodbye’ ต่อมาเป็นเพลงประกอบในภาพยนตร์เดอะบีเทิลส์ Magical Mystery Tour TV และปัจจุบัน แม้ว่า ‘I Am The Walrus’ อาจไม่ใช่เพลงที่ ‘แปลกที่สุด’ ของเดอะบีเทิลส์ ตามความเห็นของใครหลาย ๆ คน แต่มันก็เป็นเพลงที่ถูกตั้งคำถามเป็นอันดับต้น ๆ และชวนขบคิดในหลายแง่มุม รวมถึงเป็นอีกหนึ่งเพลงที่เข้าเค้าตามทฤษฎีสมคบคิด ‘Paul was dead’ หรือทฤษฎีที่เชื่อว่าพอล แม็กคาร์ตนีย์ตัวจริงได้ตายไปแล้ว เพราะมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่าคำว่า ‘Walrus’ ในภาษากรีกแปลว่า ‘ศพ’ (ตามหลักภาษาแล้วไม่ใช่ความจริง) ซึ่งผู้เขียนหวังว่าจะได้หยิบยกทฤษฎีดังกล่าวมาเล่าสู่กันฟังในโอกาสต่อไปที่มา: https://www.songfacts.com/facts/the-beatles/i-am-the-walrushttps://www.beatleswiki.com/wiki/index.php/I_Am_The_Walrushttps://www.beatlesbible.com/songs/i-am-the-walrus/https://www.mentalfloss.com/article/30523/who-was-walrus-analyzing-strangest-beatles-songhttps://www.culturesonar.com/10-things-about-i-am-the-walrus/