บริษัท MicroStrategy ของเขาถือบิตคอยน์ในตลาดหุ้นกว่า 50% มีอยู่ราว ๆ 114,042 BTC และตัวไมเคิลเองมีบิตคอยน์อยู่ราว ๆ 17,732 BTC ซึ่งถ้าให้ตีเป็นมูลค่าสำหรับบริษัทก็อยู่ที่ราว ๆ 4,300 ล้านเหรียญฯ (เกือบ 142,000 ล้านบาท) และตัวเขาก็อยู่ที่ 675 ล้านเหรียญฯ (22,250 บาท)
ชีวิตของ ไมเคิล เซย์เลอร์ (Michael Saylor) เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงในวันอังคารที่ 11 ของเดือนสิงหาคมปี 2020
CEO ของบริษัทที่ไม่ได้มีชื่อเสียงมากมายอะไร จู่ ๆ กลายเป็นที่สนใจถึงขั้นมีชื่อของเขาขึ้นมาข้าง ๆ อีลอน มัสก์ และ แจ็ค ดอร์ซี่ ด้วย
ในขณะที่หุ้นของบริษัทที่หยุดนิ่งมานานก็พุ่งทยานขึ้นอย่างน่าตกใจ
โดยพื้นฐานแล้วบริษัท MicroStrategy ที่ไมเคิลก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1989 นั้นไม่ได้มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปจากปีก่อน ๆ ที่ผ่านมาเลย เป็นแพลตฟอร์มที่ธุรกิจต่าง ๆ ใช้เพื่อวิเคราะห์เทรนด์ data และการประมวลผลผ่าน cloud ฯลฯ
สิ่งที่แตกต่างออกไปมีเพียงอย่างเดียว ในวันอังคารที่ 11 สิงหาคมปี 2020 เขาตัดสินใจเปลี่ยนเงินสำรองของบริษัทที่มีทั้งหมดให้เป็นบิตคอยน์ (Bitcoin) เท่านั้นยังไม่พอ ในช่วงหลายเดือนนับจากนั้นไมเคิลได้ลงเงินใส่ในบิตคอยน์เพิ่มขึ้นไปอีกสองถึงสามเท่า โดยมีการไปยืมเงินมากว่า 2 พันล้านเหรียญฯ (ประมาณ 65,000 ล้านเหรียญฯ) เพื่อซื้อสกุลเงินดิจิทัลที่มีความผันผวนอย่างมาก
เขาเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อในช่วงก่อนหน้านั้นว่า
“วันหนึ่งผู้คนหลายพันล้านคนจะถือครองทรัพย์สินดิจิทัล เราต้องการไปถึงที่นั่นก่อนที่ผู้คนหลายพันล้านคนจะไปถึงที่นั่น”
ไมเคิลเรียนจบมาจาก MIT แบบควบ 2 เอก (double-major) และอดีตเพื่อนร่วมงานของเขาก็บอกว่าไมเคิลเป็นคนที่ ‘ฉลาดเป็นกรด’ สามารถที่จะโฟกัสในการอ่านเก็บรายละเอียดข้อมูลได้อย่างมหาศาล เพื่อนร่วมงานที่ MicroStrategy เล่าว่าครั้งหนึ่งตอนที่บริษัทเข้าซื้อที่ดินในรัฐเวอร์จิเนียเพื่อจะทำการพัฒนา ไมเคิลไปไล่ซื้อหนังสือเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมเพื่อศึกษาข้อมูลมากกว่าร้อยเล่มเพื่อศึกษารายละเอียดก่อนจะลงมือก่อสร้าง เขาสามารถรับรู้ข้อมูลได้อย่างมหาศาล ‘ในระดับที่คนทั่วไปไม่สามารถจินตนาการได้เลย’ เพื่อนของเขาอธิบายถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น
หลายคนที่อยู่รอบข้างเขาให้ข้อมูลกับเว็บไซต์ Business Insider ว่าความหลงใหลในบิตคอยน์ของไมเคิลเริ่มต้นขึ้นมาอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย แล้วตอนนี้มันก็ให้ผลตอบแทนที่ดีไม่น้อย ภายในเวลาเพียงครึ่งปีหลังจากที่ MicroStrategy เข้าซื้อบิตคอยน์ หุ้นของบริษัทพุ่งขึ้นจาก 124 ดอลลาร์เป็น 1,315 ดอลลาร์ ซึ่งอาจจะได้รับอานิสงส์มาจากราคาที่เพิ่มขึ้นของสกุลเงินดิจิทัลโดยรวมด้วย ตอนนี้หุ้นของ MicroStrategy ซื้อขายหุ้นราว ๆ 400 ดอลลาร์ (25 กุมภาพันธ์ 2022) ทั้งที่รายรับต่อปีของบริษัทหดตัวลงมาตลอดตั้งแต่ปี 2014 ตอนนี้มูลค่าของบริษัทมีมากกว่ามากกว่า 6 พันล้านดอลลาร์ไปแล้ว
แต่ถ้าจะมีใครรู้ดีมากที่สุดว่ามูลค่าของหุ้นนั้นสามารถหายวับไปได้รวดเร็วขนาดไหนก็คงจะเป็นไมเคิลอีกเช่นกัน เพราะถ้าย้อนกลับไปเมื่อยี่สิบปีก่อนช่วงฟองสบู่ดอทคอม เขาเคยมีประสบการณ์ที่หุ้นของ MicroStrategy เหวี่ยงขึ้นลงเหมือนรถไฟเหาะตีลังกาแล้วสูญเสียเงินไปหลายพันล้านเหรียญฯ ในเวลาอันรวดเร็ว เขาเคยเจอข้อกล่าวหาเรื่องการฉ้อโกง จนบริษัทแทบจะล้มละลายเลยทีเดียวในตอนนั้น
การกลับมาเฉิดฉายอีกครั้งของไมเคิลในฐานะ ‘Crypto King’ ราชาแห่งเหรียญคริปโตนั้นเหมือนเป็นโอกาสครั้งที่สอง เปรียบเช่นการเกิดใหม่เลยก็ว่าได้ ตอนนี้มีคนติดตามเขาอยู่กว่า 1.5 ล้านคนบททวิตเตอร์ การที่เขาทุ่มเทให้บิตคอยน์และซื้อไว้เป็นจำนวนมากนั้นทำให้คนหันมาให้ความสนใจ MicroStrategy อีกครั้งหนึ่งเพราะตอนนี้ถือเป็นบริษัทที่ถือครองบิตคอยน์ที่เยอะเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก แม้ว่าในขณะนี้ที่สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจะดูคล้ายภาวะ FOMO (Fear of Missing Out) ภาพสะท้อนของเหตุการณ์ที่ฟองสบู่ดอตคอมแตกและทุกคนพยายามจะตักตวงให้มากที่สุดก่อนที่ทุกอย่างจะล่มสลายมากแค่ไหนก็ตาม
ชายผู้สูญเงิน 6 พันล้านเหรียญฯ
ก่อนที่ไมเคิลจะมาเทหมดหน้าตักให้กับบิตคอยน์ คนมักจะรู้จักเขาในฐานะ ‘ชายผู้สูญเสียความมั่งคั่งส่วนบุคคลในวันเดียวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ตลาดทุน’ เพราะถ้าย้อนกลับไปวันที่ 20 มีนาคมปี 2000 ในฐานะ CEO และผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ MicroStrategy เขาได้สูญเสียความมั่งคั่งของตัวเองไปกว่า 6.1 พันล้านเหรียญฯ (ประมาณ 2 แสนล้านบาท) หลังจากที่หุ้นของบริษัทร่วงไปกว่า 140 เหรียญฯ ภายในวันเดียว ลดลงจาก 226.75 เหรียญฯ มาเป็น 86.75 เหรียญฯ หรือหายไปกว่า 62% ภายในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง เหตุผลก็มาจากการที่บริษัทต้องปรับเปลี่ยนรายงานรายได้ทางการเงินใหม่ ทำให้เห็นว่ากำไรที่ได้จากปี 1998 และ 1999 นั้นที่จริงเป็นการขาดทุนสองปีซ้อน และตัวเลขที่ใส่ไปตอนแรกนั้นเป็นการบันทึกกำไรก่อนที่จะเกิดขึ้นจริง
หลังจากที่หุ้นของบริษัทร่วงหนักจนทำให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC) ต้องเข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้ ทำให้จ่ายเงินค่าปรับอีก 10 ล้านเหรียญสำหรับไมเคิลและผู้บริหารอีกสองคนของบริษัท (ที่ปฏิเสธว่าตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิด) ส่วนไมเคิลที่ตอนนั้นก็เป็นผู้บริหารที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งแล้วใน Washington DC ก็บอกกับสำนักข่าว Washington Post ว่า “ที่จริงแล้วก็ไม่ได้รู้สึกอะไรเลย”
แต่คนที่ทำงานกับเขาตอนนั้นภายหลังออกมาบอกว่าที่จริงแล้วเขาก็ตกใจมาก ๆ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นกัน
บริษัท MicroStrategy ถูกก่อตั้งขึ้นมาตอนที่เขาอายุ 24 ปี พ่อของเขาเป็นทหารผ่านศึกของกองทัพอากาศ และแม่เป็นนักดนตรี สมัยที่เขายังเป็นวัยรุ่นมีความฝันที่อยากเป็นนักร้อง จนกระทั่งเขามาทราบภายหลังว่าอาชีพนักดนตรีนั้นไม่ค่อยทำเงินมากสักเท่าไหร่ ความฝันต่อมาของเขาคือการเป็นนักบินหรือนักบินอวกาศก็ถูกโยนทิ้งไปเพราะเรื่องของสุขภาพหัวใจ (ที่ต่อมาภายหลังก็พบว่าหมอวินิจฉัยผิดพลาด)
หลังจากจบการศึกษาด้านประวัติศาสตร์เทคโนโลยีและวิชาการบินและอวกาศที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ไมเคิลก็เริ่มต้นสตาร์ตอัพของตัวอย่างด้วยความบ้าบิ่น โดยระหว่างที่ทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ระบบจำลองคอมพิวเตอร์ที่บริษัทเคมียักษ์ใหญ่อย่าง DuPont เขาก็ตัดสินใจลาออกแล้วมาก่อตั้งบริษัทของตัวเองเพื่อจะเสนอให้ DuPont จ้างบริษัทสตาร์ตอัพของเขาให้เข้ามาทำงานแทน นอกจากจะได้รับงานแล้วเขายังโน้มน้าวให้ DuPont สนับสนุนเงินเพื่อทำสตาร์ตอัพของเขาด้วย
หลังจากที่หุ้นร่วงอย่างหนัก MicroStrategy เกือบจะแย่ ต้องปลดพนักงานออกหลายร้อยคนในช่วงหลายเดือนต่อจากนั้นและพวกเขาก็ใช้เทคนิคการรวมหุ้น (Reverse Stock Split) ที่ทำให้จำนวนหุ้นของ MicroStrategy ลดลง มีความเสถียรภาพมากขึ้น ราคาผันผวนน้อยลง จึงพอถูไถให้บริษัทรอดพ้นวิกฤติครั้งนั้นมาได้
คนฉลาดที่ไม่มีใครอยากอยู่ด้วย
อดีตผู้บริหารของ MicroStrategy หลายคนพูดถึงความเฉียบแหลมทางความคิดเชิงธุรกิจของไมเคิลที่เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง อย่างการเปลี่ยนจากการใช้คอมพิวเตอร์เมนเฟรมมาเป็นคอมพิวเตอร์แบบพกพาในช่วงยุค 90’s ช่วงที่ iPad เปิดตัวแรก ๆ เขาก็พยายามผลักดันให้ผู้บริหารใช้เพื่อช่วยเร่งการพัฒนาของซอฟท์แวร์มือถือ เขายังเป็นคนกลุ่มแรก ๆ ที่ลงทุนในหุ้นของ Amazon และ Apple นอกจากนั้นยังทำให้ซอฟต์แวร์วิเคราะห์ของ MicroStrategy ถูกนำมาใช้ใน Facebook ตั้งแต่ช่วงแรก ๆ เลยด้วย
แต่สไตล์การทำงานของไมเคิลเองก็ไม่ค่อยถูกใจใครหลาย ๆ คน ทั้งเรื่องการจู้จี้จุกจิกทุกรายละเอียดและเปลี่ยนผู้บริหารระดับสูงเป็นว่าเล่น ทำให้คนรอบข้างทำงานด้วยยากมาก ยกตัวอย่างในปี 2014 ที่เขาถูกกดดันให้ลงจากตำแหน่งโดยนักลงทุนว่าเขามีข่าวเสียหายเยอะจากการไปปาร์ตี้และใช้เวลาสำราญบนเรือยอร์ช (ที่มีกว่า 3 ลำ) แถมหุ้นของบริษัทก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ นอกจากไมเคิลจะสามารถปกป้องตำแหน่งของเข้าได้แล้ว ยังเปลี่ยนผู้บริหารและคณะกรรมการยกแผง เพราะโครงสร้างของบริษัทที่ทำให้ไมเคิลนั้นมีอำนาจควบคุมบริษัทอยู่เป็นจำนวนมากนั่นเอง
มาร์จ บรียา (Marge Breya) อดีตหัวหน้าเจ้าหน้าที่การตลาดที่ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการของ MicroStrategy ช่วงหนึ่งบอกกับ BusinessInsider ว่า “ไมเคิลนั้นมีความฉลาดหลักแหลมเป็นอย่างมาก มีความสามารถที่ไร้ขอบเขตที่ใส่ใจแม่นยำในทุกรายละเอียด การทำงานกับเขาในระยะยาวนั้นต้องใช้คนที่พิเศษหน่อย มีคนมีความสามารถมากมายที่ MicroStrategy ที่ทำแบบนั้นได้ แต่สำหรับฉันมันเป็นความรู้สึกที่ผสมผสานระหว่างความบันเทิงทางสติปัญญาและความหงุดหงิดจนหัวจะระเบิดเลย”
หรืออย่างตอนที่เขามีปากเสียงกับ ซานจู บันเซิล (Sanju Bansal) ผู้ร่วมก่อตั้ง MicroStrategy และเพื่อนร่วมชั้นเรียนที่ MIT ช่วงปลายปี 2013 เขาก็ไม่ลังเลที่จะปลดซานจูออกจากบอร์ดบริหารของบริษัททันที อดีตพนักงานที่อยู่ในช่วงเวลานั้นกล่าวว่าซานจูถูกปลดออกโดย ‘ไร้เหตุผล แบบทันที’ เลย
Crypto King
ถึงแม้ว่าตอนนี้อาจจะไม่มีใครทราบว่าความคลั่งไคล้บิตคอยน์ของไมเคิลเริ่มมาจากไหน (อดีตพนักงานของ MicroStrategy ก็บอกว่าไม่เคยมีใครได้ยินไมเคิลพูดถึงเรื่องบิตคอยน์เลยในอดีต แถมยังมีครั้งหนึ่งในปี 2013 ที่เขาทวีตว่า ‘บิตคอยน์กำลังจะตาย เหมือนแค่รอวันที่มันจะกลายเป็นเหมือนการพนันออนไลน์เท่านั้นเอง’) แต่ตอนนี้บิตคอยน์ที่ถือโดยบริษัทในตลาดหุ้นกว่า 50% นั้นอยู่ในมือของ MicroStrategy มีอยู่ราว ๆ 114,042 BTC และตัวไมเคิลเองมีอยู่ราว ๆ 17,732 BTC ซึ่งถ้าให้ตีเป็นมูลค่าสำหรับบริษัทก็อยู่ที่ราว ๆ 4,300 ล้านเหรียญฯ และตัวเขาก็อยู่ที่ 675 ล้านเหรียญฯ (มูลค่าวันที่เขียน 25/02/2022 1 BTC = 38100 USD)
ไม่แน่ใจว่าใครหรืออะไรที่ทำให้ไมเคิลเปลี่ยนใจ แต่หลังจากที่เริ่มหันมาสนใจบิตคอยน์เขาก็พูดถึงเรื่องความดีของบิตคอยน์อยู่ตลอด เขาทวีตว่ามันคือ ‘เงินที่ยังไม่เสื่อมสลาย’ หรือ ‘ให้โอกาสบิตคอยน์บ้าง’ หรือ ‘ถ้าคุณต่อต้านบิตคอยน์ คุณก็จะไม่เหลือเงินไว้ต่อต้านอะไรอีกเลย’ หรือ ‘บิตคอยน์เป็นออกซิเจน’ ฯลฯ นอกจากนั้นก็จะเอาคำกล่าวของคนที่มีชื่อเสียงมาแชร์แล้วแฮชแท็กบิตคอยน์อยู่ตลอดเวลา มันดูเหมือนว่าบทบาทบนทวิตเตอร์ของเขาคือทูตแห่งบิตคอยน์ผู้นำสารมาป่าวประกาศให้โลกได้ทราบยังไงยังงั้นเลย
เขามักถูกเชิญไปเป็นแขกรับเชิญในรายการที่พูดเกี่ยวกับบิตคอยน์และเหรียญดิจิทัลต่าง ๆ สิ่งที่เขาย้ำอยู่เสมอคือว่าโลกกำลังขยับเข้าไปหาบิตคอยน์ และมันก็มีจำนวนบิตคอยน์ที่จำกัด ใครก็ตามที่มีมากที่สุดคนนั้นคือผู้ชนะในเกมนี้ เขาให้สัมภาษณ์ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาในวีดีโอของบริษัทว่า “นี่อาจจะเป็นโอกาสที่น่าสนใจที่สุดที่เคยเห็นมาในชีวิต”
ช่วงต้นปี 2021 ไมเคิลมีการแลกเปลี่ยนการสนทนากับอีลอน มัสก์บนทวิตเตอร์เกี่ยวกับบิตคอยน์ เขาเสนอให้อีลอนนำเงินของเทสลามาเปลี่ยนเป็นบิตคอยน์เหมือนอย่างที่เขาทำ จนภายหลังอีลอนก็ออกมาประกาศว่าเทสลาได้เข้าซื้อบิตคอยน์เป็นมูลค่ากว่า 1,500 ล้านเหรียญฯ และจะยอมรับเงินดิจิทัลสำหรับสินค้าของเทสลาด้วย (แต่อีลอนเองก็ไม่ได้ออกมาคอมเมนต์ว่าเหตุผลที่เขาเข้าซื้อเป็นเพราะไมเคิลหรือสาเหตุอื่น ๆ)
แต่ต่อมาภายหลังอีลอนก็ออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับเรื่องการขุดบิตคอยน์ที่ใช้พลังงานเยอะมาก จึงตัดสินใจยกเลิกการรับบิตคอยน์สำหรับรถยนต์ของพวกเขา ไมเคิลก็ออกมาแสดงความเห็นกับเรื่องนี้ต่อว่าบิตคอยน์นั้นเป็นการลงทุนที่มีประสิทธิภาพที่สุดในด้านพลังงานเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น ๆ
ทุกอย่างไม่มีทางเรียบง่าย
ในงานสัมมนาเกี่ยวกับบิตคอยน์ที่ไมอามีเดือนพฤษภาคมปี 2021 ที่ผ่านมา ไมเคิลบอกกับสื่อว่า “ทุกคนวิจารย์สิ่งใหม่ที่พวกเขาไม่เข้าใจ” ยิ่งไปกว่านั้นเขาบอกว่าคนที่วิจารณ์คือกลุ่มคนที่ขัดขวางเทคโนโลยีให้เดินไปข้างหน้าทั้ง ๆ ที่มันมีโอกาสช่วยทำให้ชีวิตคนในประเทศยากจนนั้นมีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น “หากคุณไม่ให้วิธีแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์ แสดงว่าคุณก็แค่กำลังปฏิเสธสิ่งใหม่เท่านั้นแหละ” (ซึ่งก็เป็นช่วงนี้เองที่ประเทศเอลซัลวาดอร์ประกาศอนุมัติให้ ‘บิตคอยน์’ กลายเป็นเงินถูกกฏหมายประเทศแรกในโลก)
ถึงตอนนี้ใครก็ตามที่ถือหุ้นของ MicroStrategy ก็ไม่ต่างอะไรกับการถือบิตคอยน์ เพราะว่ามูลค่าของบริษัทนั้นขึ้นอยู่กับบิตคอยน์ถึง 80% และที่เหลือคือมูลค่าของสินค้าและบริการที่พวกเขาทำอยู่จริง ๆ ซึ่งมันก็เป็นเรื่องยากที่จะเอาสิ่งที่เกิดขึ้นกับไมเคิลหรือ MicroStrategy ไปเปรียบเทียบกับบริษัทอื่น ๆ เพราะมันก็ไม่มีบริษัทไหนที่กล้า (หรือต้องเรียกว่าบ้าพอ) ทำแบบนี้ แม้จะมีคนมีชื่อเสียงอย่างอีลอน มัสก์ หรือ แจ็ค ดอร์ซีที่ซื้อไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้ทุ่มหมดหน้าตักแบบไมเคิลอย่างแน่นอน แต่เหตุผลที่ MicroStrategy ทำแบบนี้ได้ก็อาจจะเป็นเพราะไมเคิลมีอำนาจในการโหวตลงคะแนนและตัดสินใจถึง 70% ซึ่งโครงสร้างของบริษัทอื่น ๆ ไม่ได้เป็นแบบนั้น
MicroStrategy ได้รับคะแนนที่ต่ำมาก ๆ ในเรื่องของการกำกับดูแลกิจการโดยรวมจากบริษัทที่ปรึกษา Institutional Shareholder Services (ISS) โดยเฉพาะเรื่องความเสี่ยงที่มากเกินไปและการดูแลสิทธิ์ของผู้ถือหุ้นที่ไม่มีประสิทธิภาพ ฮาเวิร์ด ซิลลิทต์ (Howard Schilit) นักบัญชีผู้ซึ่งสังเกตเห็นบางอย่างในบัญชีที่ผิดปกติทำให้ SEC เข้ามาตรวจสอบในปี 1999 กล่าวว่า
“ถ้าคุณมี CEO ที่ทำอะไรก็ได้ และแถมยังเป็น CEO ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำบัญชีแบบสีเทาแล้วยังไม่โดนไล่ออก ถ้ามันไม่ใช่สัญญาณบ่งบอกว่ามันจะเกิดขึ้นอีกครั้ง ผมก็ไม่รู้แล้วว่าสัญญาณจะต้องเป็นยังไงแล้ว”
ไม่มีกฎหมายข้อไหนที่ MicroStrategy จะต้องรายงานอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการซื้อขายบิตคอยน์ของบริษัทให้สาธารณะให้ทราบ (ซึ่งตรงนี้ไมเคิลเองก็ย้ำอยู่เสมอว่าจะไม่มีแผนที่จะขาย) แต่บริษัทจะแจ้งให้ทราบเมื่อเห็นสมควรเท่านั้น
ฮาเวิร์ดแสดงความคิดเห็นว่าการที่ไมเคิลพยายามผลักดันเรื่องบิตคอยน์อย่างมากในตอนนี้ดูคล้ายกับการดันราคาหุ้นให้พุ่งขึ้นสูงเหมือนอย่างตอนฟองสบู่ดอทคอม เขากล่าวว่า
“ผมไม่ชอบเลยเวลามีคนมาบอกว่า ‘ผมจะเปลี่ยนแปลงทุกอย่างที่ทำอยู่ตอนนี้’ แล้วก็ให้เหตุผลแค่ว่า ‘ผมสามารถให้ดีลที่ดีกับคุณได้นะ’”
และด้วยความผันผวนของราคาบิตคอยน์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างมากในแต่ละวัน ทำให้ผู้ถือหุ้นเองก็ต้องรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นระหว่างทางไปด้วย ซึ่งอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ผู้ลงทุนในเทคโนโลยีกำลังมองหา
ไมเคิลก็ออกมาโต้เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่ามันไม่จริงเลย การที่เขานั้นได้สร้างชื่อเสียงให้กับตัวเองเกี่ยวกับบิตคอยน์นั้นทำให้คนสนใจเกี่ยวกับ MicroStrategy มากขึ้นและช่วยเพิ่มยอดขายให้เติบโตขึ้นด้วย พนักงานในบริษัทก็มีความสุขกับสิ่งที่เกิดขึ้น
แน่นอนว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้คือไม่มีใครรู้ได้ เรื่องของกฎหมายของรัฐที่จะเข้ามาควบคุมเรื่องบิตคอยน์เองก็ยังไม่ชัดเจน จะมีการควบคุมมากน้อยขนาดไหน นักวิเคราะห์หรือกลุ่มคนผู้ถือคริปโตเองก็ยังไม่แน่ใจว่ามันจะออกมาหน้าไหน คนที่สนับสนุนเรื่องคริปโตก็บอกว่ามันเป็นอนาคต คนที่วิจารณ์ก็บอกว่ามันเป็นการหลอกลวงเท่านั้น
หลายคนก็มองว่าบิตคอยน์เป็นเหมือนทองคำดิจิทัลมากกว่าหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่มันก็มีความเป็นสีเทาเรื่องกฎหมายที่คลุมเครือโดยเฉพาะในตลาดเทรดฟิวเจอร์ไม่รู้ว่าจะเป็นยังไงต่อ ไมเคิลเองเห็นด้วยว่าการนำกฏหมายเข้ามาควบคุมก็จะช่วยทำให้คนมั่นใจมากขึ้น ทำให้สถาบันเองก็สามารถมาลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลได้อย่างสบายใจมากยิ่งขึ้น ในงานสัมมนาเรื่องบิตคอยน์เมื่อปีก่อนเขาให้สัมภาษณ์ว่า
“ผมพร้อมแล้วที่จะเกษียณอย่างเงียบ ๆ ไม่โพสต์บนเฟสบุ๊ค ไม่โพสต์บนอินสตราแกรม ไม่โพสต์บนทวิตเตอร์เกือบสี่ปี แล้วผมก็ได้รู้จักบิตคอยน์ มันดึงให้ผมกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งหนึ่ง”
ไมเคิลผู้ถูกเรียกว่า ‘ราชาแห่งเหรียญคริปโต’ โดย Business Insider นั้นมีเป้าหมายจริง ๆ กับบิตคอยน์ยังไงไม่มีใครทราบได้ เขาอาจจะเชื่อเรื่องนี้จริง ๆ อย่างสุดหัวใจเหมือนที่เขาทวีตทุกวี่ทุกวัน หรือเขาแค่อยากจะดันราคาหุ้นให้สูงด้วยวิธีสีเทาแบบที่เคยทำรึเปล่า? แต่ยังไงก็ตามในขณะนี้เขาเองก็ไม่ได้ทำผิดกฏหมายข้อไหน คนที่ซื้อหุ้นบริษัท MicroStrategy ก็ทราบดีว่ากำลังทำอะไรอยู่ (หวังว่านะ) และบิตคอยน์ก็มีความน่าเชื่อถือมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่สุดท้ายจะออกมาหน้าไหน ถ้าวันหนึ่งถ้าฟองสบู่บิตคอยน์แตกขึ้นมา (ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้) เขาก็อาจจะแค่ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “ที่จริงแล้วก็ไม่ได้รู้สึกอะไรเลย” อีกครั้งก็ได้
อ้างอิง
https://time.com/5947722/microstrategy-ceo-bitcoin/
https://markets.businessinsider.com/news/currencies/bitcoin-microstrategy-brand-michael-saylor-elizabeth-warren-cryptocurrency-facebook-2021-7
https://www.businessinsider.com/microstrategy-ceo-michael-saylor-betting-billions-on-bitcoin-comeback-2021-8
https://www.businesswire.com/news/home/20200811005331/en/
https://twitter.com/saylor/status/1307029562321231873?s=20
https://fortune.com/2012/06/27/michael-saylor-microstrategys-boy-king-grows-up/
https://ffj-online.org/2014/06/09/saylor-story/
https://www.washingtonpost.com/wp-srv/WPcap/2000-03/21/069r-032100-idx.html
https://www.sec.gov/news/press/2000-186.txt
https://youtu.be/li3a7lKRlFk