read
business
02 มี.ค. 2565 | 16:47 น.
หมอบุญ - นพ.บุญ วนาสิน แพทย์ผู้เตรียมนำเข้าวัคซีนก่อนกาล เพราะโควิด-19 รอไม่ได้
Play
Loading...
“
ในฐานะเป็นเอกชนนี่ยาก อย่างผมยิ่งยากใหญ่ เพราะสังคมจะ question mark ตลอดเวลา เพราะผมอยู่ใน 0.1% ของประเทศ เขาจะสงสัยตลอดเวลาว่า เราพูดเพื่อตัวเองซึ่งว่าไม่ได้ เราก็ทำเท่าที่ทำได้
”
ย้อนกลับไปช่วงปลายปี 2562 ก่อนที่ชื่อของโควิด-19 จะปรากฏอยู่บนหน้าประวัติศาสตร์โลก และกลายเป็นวิกฤตที่คนทั่วโลกต้องเผชิญมาเนิ่นนานกว่า 3 ปี ‘นายแพทย์บุญ วนาสิน’ หรือที่รู้จักกันในนาม ‘หมอบุญ’ ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จํากัด (มหาชน) คือหนึ่งในผู้ที่เล็งเห็นถึงความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และหาทางป้องกันล่วงหน้า เพราะสักวันโควิดอาจกลายเป็นวิกฤตที่รอไม่ได้
หากใครรู้จักชื่อของ หมอบุญ เขาคือผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลธนบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2519 ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกในฝั่งธนบุรี ปัจจุบันขยายเป็นเครือธุรกิจโรงพยาบาล และธุรกิจด้านสุขภาพอื่น ๆ อีกภายใต้การบริหารงานของบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG
อีกหนึ่งผลงานหมอบุญคือการเป็นผู้ร่วมผลักดันการก่อตั้ง ‘โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์’ ซึ่งเป็นโรงเรียนแห่งแรกของประเทศไทยที่เน้นการเรียนการสอนด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (STEM ED) ให้แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปลาย เพื่อพัฒนาสู่ความเป็นเลิศทางด้านวิทยาศาสตร์
ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา หมอบุญมีปณิธานว่า ‘สุขภาพของประชาชนสำคัญ
ทำให้โรงพยาบาลในเครือโรงพยาบาลธนบุรีของหมอบุญเตรียมรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดตั้งแต่เนิ่นๆ นำมาซึ่งการสร้างโรงพยาบาลสนาม เตรียมหน้ากากอนามัย รวมถึงสั่งจองเครื่องช่วยหายใจมาจากทั่วเอเชีย และวางแผนนำเข้าวัคซีนล่วงหน้า เพราะ ‘วัคซีนคือหัวใจสำคัญ’ ในการแก้ไขวิกฤตครั้งนี้
The People : อะไรคือจุดเริ่มต้นในการเตรียมตัวป้องกันโควิด-19
หมอบุญ :
ทางกลุ่ม THG เรามีโรงพยาบาลที่เมืองจีน แล้วเราก็สนิทกับมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ตอนที่อู่ฮั่นเกิดเคส 12 คนแรก ดร.ลี เป็นคนรายงานมา แล้วก็ปรึกษาไปที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งว่า เจอไวรัสตัวใหม่ที่ติดต่อและมันกลายพันธุ์เร็วมาก ทางเราก็เริ่มสนใจ แล้วพออีกสักเดือนสองเดือน มันแพร่กระจายอู่ฮั่นค่อนข้างเร็ว คนตายค่อนข้างเยอะ ถึงแม้จะเป็นสายพันธุ์ที่เราเรียกสายพันธุ์ G ก็ตาม
แล้วเรารู้ว่าเมืองไทยพึ่งต่างประเทศ 95% การท่องเที่ยว 12% นำเข้าและส่งออก 51% แรงงานต่างประเทศอีก รวมกันเข้า เราพึ่งต่างประเทศเกือบ 90% เพราะฉะนั้นถ้าเราป้องกันไม่ดี มันส่งผลหมดเลย ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม เราไม่เหมือนประเทศจีนซึ่งเขาพึ่งท่องเที่ยวแค่ 12% เพราะฉะนั้นเขาไม่แคร์ เขาปิดประเทศเลย แต่ประเทศไทยเราเหมือนกรีซ ศรีลังกา เขมรที่พึ่งการท่องเที่ยวเป็นหลัก อันนี้หนัก ถ้าเราไม่สามารถควบคุมโควิด-19 ได้ ประเทศเราจะเข้าสู่ Failed State คือรัฐล้มเหลว ตอนนั้น ถ้าคนจีนมาที่นี่มากมาย โอกาสที่เราจะหลุดจากไวรัสตัวนี้คงยาก เพราะฉะนั้นเมื่อต้นมีนาคม 2563 เราก็เปิดที่นี่ เพราะต้องเตรียมตัว
The People : แรกเริ่มมีการสั่งเตรียมอะไรเพื่อป้องกันบ้าง
หมอบุญ :
ก็ต้องรีบหาวัคซีน ตอนนั้นวัคซีนยังไม่มี แต่ต้องเตรียมตัวโรงพยาบาล เราสั่งชุด PPE และหน้ากากอนามัยมาเก็บไว้ เราสั่ง Aspirator เครื่องหายใจทุกเครื่องที่มีอยู่ในเอเชีย เราก็จองไว้หมด เพื่อจะเตรียมตัว หมายความว่า เราดูความรุนแรงของจีน เราก็คิดว่า ถ้ามาเมืองไทย เราคงเอาไม่อยู่ ในขณะนั้นก็เตรียมรพ. สนาม กทม. ไว้ให้ด้วยในปี 2563 แต่โชคดีที่ว่า การระบาดประเทศไทยตอนนั้น เมืองไทยเราทำได้ดีมาก
The People : ความหวังที่ฝากไว้กับวัคซีนในช่วงเวลานั้นเป็นอย่างไร
หมอบุญ :
ทุกคนหวังว่าวัคซีนจะออกมา แต่การคิดวัคซีนในโลกนี้ปกติใช้เวลา 5-8 ปีนะ ตัวหนึ่ง แต่พอโควิด-19 มา ทางอเมริกา ยุโรป แม้กระทั่งจีนเองก็ทุ่มเทเพื่อจะผลิตวัคซีนมา แน่นอนไวรัสรักษาไม่ได้ เพราะฉะนั้นตัวที่สำคัญที่สุดคือวัคซีน
แต่วัคซีนกว่าจะออกมาก็ปลายปี 2563 พอถึงตอนนั้นทางเราก็ขอจองวัคซีนไปทั้ง ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม รวมทั้งสปุตนิก ไฟเซอร์ โนวาแวกซ์ คือจองไป 5 ชนิดด้วยกัน เพราะถ้าเป็นแพทย์จะรู้ว่า การที่เป็นไวรัส อันที่ช่วยได้คือวัคซีน คือหัวใจสำคัญที่สุด แต่รัฐบาลบอกว่า เขาได้จองวัคซีนแล้ว ถ้าทุกคนจำได้ ที่ว่ามาผลิตในเมืองไทย แต่ว่าผมบอกมันไม่ไหว เพราะโดสแรกกว่าจะได้มันพฤษภาคม มันช้าไปนิดนึง
พอระบาดครั้งที่ 1 เราทำได้ดี แต่เสียหายทางเศรษฐกิจเยอะ พอมาอันที่ 2 คนเป็นกันเยอะ แล้วก็ตายพอสมควร ตอนนั้นที่ดีที่สุดก็เป็น mRNA เราก็อยากจะนำเข้ามา แต่ปัญหาคือ เราสั่งซื้อไป 30 ล้านโดสเมื่อเดือนมีนาคม 2564 แต่รัฐบาลบอกเราเอกชนสั่งไม่ได้
กว่าแอสตร้าเซนเนก้าจะเข้ามาได้ก็พฤษภาคมแล้วดีเลย์ไปอีก หลังจากที่มีคนตายมากมาย รัฐบาลก็บอกให้เอกชนนำเข้ามา
เราจึงสั่งโมเดอร์นาเข้ามา
The People : THG วางแผนการฉีดวัคซีนให้ประชาชนอย่างไรบ้าง
หมอบุญ :
ที่เราห่วงที่สุดตอนนี้คือเด็ก เพราะเด็กนี่ไม่มีภูมิ แล้วไม่ได้รับวัคซีน หรือคนที่มีกลุ่มเสี่ยงทั้งหลาย รวมทั้งแพทย์ด้วยที่เราต้องป้องกันกลุ่มนี้
เพราะฉะนั้น ผมจึง insist มาตลอดว่า เราจะต้องฉีดให้ได้ 85-90% กลุ่มเสี่ยงต้องฉีด แต่ว่าพวกเราที่ต้องออกไปทำงานทุกวันก็ต้องฉีดด้วย เพราะว่าคนเหล่านี้เขาอยู่บ้านไม่ได้ โดยเฉพาะประชาชนที่หาเช้ากินค่ำ ถ้าเขาไม่ออกไปทำงานเขาก็อดตาย ผมต้อง insist ตลอดว่าจะต้องฉีดพร้อมกันอย่างน้อย 130 ล้านโดส รวมทั้งแรงงาน เพราะแรงงานเจอคนตลอดเวลา
ผมพูดตั้งแต่ 2 ปีแล้วว่า อยากจะฉีดคนกรุงเทพ เชียงใหม่ กระบี่ ภูเก็ต เมืองชล แหล่งท่องเที่ยวเหล่านี้ให้ได้ 100% ในขณะนี้ เราก็ตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนช่วย กทม. 5 แห่งด้วยกัน หนึ่งแห่งใช้งบประมาณ 200,000 กว่าบาท ที่เราช่วยรัฐบาลฉีดให้ครบ 80-90% ให้ได้
อย่างที่นี่ (โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง) ก็ฉีดวันละ 500 คน ที่โซน 1 เราก็ไปตั้งที่การยางฯ แล้วก็ที่ ThaiPBS ฉีดได้วันละ 1,000 คน ตอนนี้เรามีวัคซีนเหลือเฟือ เพราะฉะนั้นวิธีการก็คือ คนที่ไม่มาฉีด เช่น เด็กและผู้ป่วยติดเตียง เราส่งรถไปฉีดที่บ้าน เมื่อขอมา ตอนนี้เราก็ส่งรถไปวันละหลายคัน
เราคิดตลอดเวลาว่า ไม่ว่าเราทำอะไรก็ตาม เราต้องเอาประชาชนเป็นหลัก เพราะกลุ่มธนบุรี เราคิดถึงสุขภาพของประชาชน
The People : THG มีการเตรียมพร้อมหรือปรับเปลี่ยนการให้บริการทางการแพทย์ในช่วงโควิด-19 อย่างไรบ้าง
หมอบุญ :
ตอนนั้นที่โรงพยาบาลมันเต็ม คนรอเตียง เตียงหนึ่งมีคนรออยู่ 5 คน เราก็ไม่สบายใจที่เห็นคนไข้ตาย ตายต่อหน้า โดยที่เราช่วยไม่ได้ ทางการแพทย์เรารับไม่ได้ สำคัญที่สุด ผู้ป่วยจะต้องได้รับออกซิเจนให้เร็วที่สุด
ธนบุรีเป็นที่แรกที่ทำโรงพยาบาลสีแดงสำหรับคนไข้หนัก 500 เตียง ซึ่งทำได้ภายใน 2 เดือน ถือเป็นประวัติศาสตร์เลยว่า innovation ของเราได้รับการชมเชยจากทั่วโลก อันที่ 2 คนไข้สีเหลืองที่ต้องการ overflow เราก็มี 400 เตียง ส่วนสีเขียวมีอาการนิดหน่อย เราก็มี 3,000 กว่าเตียง เพราะฉะนั้นภายใน 3 เดือน เราสามารถสร้างพวกนี้ได้
ส่วนในการป้องกันโควิด-19 บุคลากรทางแพทย์สำคัญที่สุด เพราะถ้าเป็นเยอะๆ แบบเมืองนอก มันไม่มีหมอ ไม่มีพยาบาลคนทำงาน เราก็ใช้ ‘Telemedicine’ ในการติดต่อผู้ป่วย แล้วก็พยายามลดจำนวนผู้ป่วยนอกให้หลงเหลือครึ่งนึง หรือ 1 ใน 4 อันที่ 2 ก็ใช้ robot ร่วมกับมหาวิทยาลัยหลายมหาวิทยาลัยที่จะส่งข้าว ส่งน้ำ ส่งยา
การที่เข้าไปเยี่ยมคนไข้มันต้องเปลี่ยนชุด PPE ลำบากมาก อย่างผมเข้าไปทีเสียเวลาตั้ง 10 นาที กว่าจะใส่รองเท้า ใส่ถุงมือ ใส่หน้ากาก การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยจะช่วยได้เยอะและเป็นการป้องกันบุคลากรทางแพทย์ด้วย
The People : คิดว่าสถานการณ์โอไมครอนในอนาคตจะเป็นอย่างไร
หมอบุญ :
มันเปลี่ยนไปเรื่อย แต่ว่าถ้าคุณสามารถที่จะทำ ‘Achieve Herd Immunity’ หรือภูมิคุ้มกันหมู่ได้ มันจะค่อย ๆ หายไปเอง จนกระทั่งเป็นเขาเรียกว่า โรคประจำถิ่นไปเหมือนไข้หวัดใหญ่
ตอนนี้อเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส หลายประเทศโอไมครอนขึ้นมา 95% แล้ว สำหรับเมืองไทย ผมคิดว่าภายในเดือนกุมภาพันธ์โอไมครอนคงจะเกิน 90% ถ้ามันเป็นโรคประจำถิ่น หรือที่เราเรียกว่า endemic แล้ว เราก็ต้องอยู่กับมัน แต่หัวใจสำคัญที่สุดต้องฉีดวัคซีน อาจจะต้องฉีดทุกปีตอนนี้นะครับ
The People : หมอบุญมีความเห็นอย่างไรต่อระบบสาธารณสุขของประเทศไทย และอะไรคือสิ่งที่อยากทำต่อในอนาคต
หมอบุญ :
เมืองไทยผมต้องยอมรับว่า สาธารณสุขเราถือว่าดีเกือบที่สุดในโลก ไม่มีชาติไหนในโลกที่เอาคนไม่มีอาการเข้ามาดูแล มันแพงมาก มีเมืองไทยเท่านั้นเอง สีเขียวก็เข้า Hospitel ส่วนใหญ่ที่เมืองนอกเขาจะเป็น Home Isolation
เราสามารถที่จะทำ Hospitel ให้เกิดทีนึง 20,000-30,000 ภายในเดือนเดียว แล้ว Home Isolation ก็ทำได้ดี Community Isolation ก็ทำได้ดี เพราะฉะนั้นสาธารณสุขไทย เราถือว่าดีเกือบที่สุดในโลกแล้ว
เราเป็นแพทย์ เราต้องให้ความเห็นเขาไปว่า อะไรที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ ทุกคนก็รู้วัคซีนสำคัญที่สุด
คนไทยเรา stress มา 2 ปีเต็มนี่ลำบาก โดยเฉพาะคนที่ไม่ค่อยมีเงิน เขาเดือดร้อนมากนะ ไม่มีงาน ทุกคนไม่อยากแบมือขอจากรัฐบาล อยากจะทำงานหาเงินเอง เพราะฉะนั้น คนของเราประมาณ 15 ล้านคนเดือดร้อน เมื่อต้นมีนาคม 2563 เราก็เปิดที่นี่ต้องรีบหาวัคซีน เราจะเน้นโควิด-19 เพราะว่าเราต้องป้องกัน มันมีความจำเป็นสำหรับเมืองไทย
ในฐานะเป็นเอกชนนี่ยาก อย่างผมยิ่งยากใหญ่ เพราะสังคมจะ question mark ตลอดเวลา เพราะผมอยู่ใน 0.1% ของประเทศ เขาจะสงสัยตลอดเวลาว่า เราพูดเพื่อตัวเองซึ่งว่าไม่ได้ เพราะฉะนั้นเวลาผมพูด ผมเจียมตัว ผมไม่อยู่ในฐานะที่เป็นผู้นำทางความคิด เราก็ทำเท่าที่เราทำได้
Brief
โรงพยาบาลธนบุรีเป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกที่จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม และ
ICU สนาม ร่วมกับ
กทม. ที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีและอุปกรณ์การรักษา จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ รพ. สนาม มทบ.11 จำนวน 494 เตียง รพ. ราชพิพัฒน์ 2 จำนวน 168 เตียง และรพ. ผู้สูงอายุบางขุนเทียน จำนวน 177 เตียง สร้างฮอสพิเทลอีก 10 แห่ง สามารถรองรับผู้ป่วยในกลุ่มสีเขียว เหลือง และแดง รวมกันได้มากกว่า 4,000 เตียง ควบคู่กับการดึงบุคลากรวิชาชีพอื่น เช่น สจ๊วต แอร์โฮสเตส แพทย์ พยาบาลจากคลินิกความงาม ฯลฯ ที่ได้รับผลกระทบในการประกอบอาชีพเข้ามาช่วยทำงานในรพ.
ปัจจุบัน หมอบุญและเครือ THG ยังคงมีบทบาทในการขับเคลื่อนสาธารณสุขไทยส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา แต่เหนือสิ่งอื่นใด หมอบุญและเครือ THG ยังคงเห็นถึงความสำคัญของสุขภาพประชาชนเสมอ และพร้อมจะเดินหน้าขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขที่ดีที่สุดเพื่อคนไทยต่อไป
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3556
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6975
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
871
แท็กที่เกี่ยวข้อง
ThePeople
THG
หมอบุญ
ผลงานหมอบุญ
หมอบุญกับโควิด19
รพสนาม
สาธารณสุขไทย
โรงพยาบาลธนบุรี