read
business
04 มี.ค. 2565 | 18:02 น.
อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา: ความสุขจากปลายพู่กัน สู่นักธุรกิจผู้ผลักดัน JNFT
Play
Loading...
หลายคนอาจรู้จัก ‘
อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา’
ในฐานะนักธุรกิจผู้สร้างอาณาจักร JMART Group และเป็นหัวเรือใหญ่ผู้ผลักดัน ‘JNFT’ แพลตฟอร์มซื้อ ขาย ประมูลงานศิลปะดิจิทัลให้เกิดขึ้นในประเทศไทย
แต่น้อยคนนักจะรู้ว่าอดิศักดิ์สนใจการวาดรูปมาตั้งแต่วัยเยาว์ JNFT จึงมีความหมายกับเขามากกว่าในฐานะนักธุรกิจ และยังรวมถึงการเป็นนักสะสมงานศิลปะและการเป็นนัก (ฝึก) วาดภาพสีน้ำอีกด้วย
#JNFTคืออะไร ?
ก่อนจะเล่าเรื่องราวของอดิศักดิ์และ JNFT หลายคนอาจสงสัยว่า JNFT คืออะไร ?
คงต้องย้อนกลับไปเล่าถึงสินทรัพย์ดิจิทัลในระบบ Blockchain (เทคโนโลยีสำหรับจัดเก็บข้อมูลธุรกรรมต่าง ๆ ได้อย่างปลอดภัยและไม่ต้องอาศัยคนกลาง เช่น ธนาคาร) ว่าแบ่งออกเป็น Fungible Token และ Non-Fungible Token
‘Fungible Token’ คือสินทรัพย์ที่สามารถแลกเปลี่ยนทดแทนกันได้ เหรียญประเภทนี้จึงใช้แทน ‘สกุลเงินดิจิทัล’ ต่าง ๆ เช่น บิตคอยน์
ขณะที่ ‘Non-Fungible Token’ หรือ NFT จะไม่สามารถทดแทนหรือทำซ้ำกันได้ ดังนั้น จึงถูกนำมาใช้แทนสิ่งที่มี ‘ชิ้นเดียวในโลก’ เช่น ภาพวาด ภาพถ่าย ฟุตเทจหนัง เกม ฯลฯ
หากอธิบายให้เห็นภาพโดยเทียบกับสิ่งที่จับต้องได้ Fungible Token คงเหมือนกับเหรียญ 1 บาท ที่เราสามารถใช้ 1 บาทอีกเหรียญจ่ายแทนกันได้ เพราะมีมูลค่าเท่ากัน ขณะที่ NFT เป็นเหมือนกับโฉนดที่ดิน ที่ไม่สามารถเอาโฉนด 2 ฉบับมาแลกเปลี่ยนหรือใช้แทนกันได้ เพราะมีชิ้นเดียวในโลก
โดยข้อดีของ NFT คือการทลายข้อจำกัดบางอย่างของการซื้อขายสิ่งที่จับต้องได้ เช่น เจ้าของผลงานไม่จำเป็นต้องมีชื่อเสียงหรือส่งผลงานไปให้ curator พิจารณา ส่วนนักสะสมก็สามารถซื้อขายได้สะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย ตรวจสอบความเป็นเจ้าของได้ ไม่ต้องกังวลเรื่องการทำซ้ำหรือของปลอม รวมทั้งไม่ต้องเสียเวลาจัดส่ง หาพื้นที่หรือหาวิธีเก็บรักษาผลงาน อย่างไรก็ตาม หากมองในมุมคนที่อยากจะเก็บผลงานแบบจับต้องได้ไว้ดูแลเองมากกว่า NFT ก็อาจจะยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการนี้
สำหรับการซื้อขาย NFT จะมี NFT marketplace เช่น Opensea ที่หลายคนน่าจะคุ้นชื่อ ซึ่งก่อนหน้านี้ยังไม่มีตลาด NFT ที่เป็นของคนไทย อดิศักดิ์จึงเริ่มมองเห็นโอกาสและอยากจะให้มีแพลตฟอร์มดังกล่าวเกิดขึ้นในไทยบ้าง จึงกลายเป็นที่มาของ
‘JNFT marketplace’
ตลาดซื้อ ขาย ประมูล สินทรัพย์ดิจิทัลของไทย ซึ่งต้องใช้ JFIN coin สำหรับการซื้อขายนั่นเอง
“ตอนนั้นเราเองเราก็ต้องไปปรึกษาทั้ง ก.ล.ต. ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งกรรมาธิการการเงินการคลัง เพื่อให้ทุกคนมั่นใจว่าสิ่งที่เราทำเป็นประโยชน์กับประเทศ ไม่อย่างนั้นเราไปทำที่สิงคโปร์ ยุโรป สวิตเซอร์แลนด์ เราก็สามารถเลือกได้ แต่เราเลือกที่จะทำที่เมืองไทย เพราะเราทำธุรกิจในเมืองไทย เราอยากจะเห็นเทคโนโลยีเหล่านี้เกิดที่เมืองไทย”
#
JMART_Group #ธุรกิจที่ก้าวไปพร้อมเทคโนโลยี
ในฐานะผู้ผลักดันธุรกิจด้านเทคโนโลยี อดิศักดิ์เล่าว่าเขาไม่ได้เพิ่งเริ่มสนใจหรือพยายามปรับตัว ‘ตาม’ เทคโนโลยี แต่เป็นการก้าวไป ‘พร้อมกับ’ เทคโนโลยีมาโดยตลอด
“ตั้งแต่ตอนที่ผมอยู่ที่ Philips สมัย 30 - 40 ปีที่แล้ว เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดคือโทรทัศน์สีนะครับ หลังจากนั้นประมาณปี 1990 เราก็จะเริ่มเห็นโทรศัพท์แบบหิ้ว ตัวหนึ่งหนัก ๆ ใหญ่ ๆ ผ่านไปในช่วงปี 2000 โทรศัพท์มันก็จะเปลี่ยนเป็น portable ชิ้นเล็ก ๆ ผมก็เกาะติดมา แล้วก็ยังเชื่อว่าเราควรที่จะอยู่กับเทคโนโลยี
“เพราะฉะนั้นธุรกิจที่ทำมันก็เลยสอดคล้องกับเทคโนโลยี …blockchain ก็เป็นอีกตัวหนึ่งที่เข้ามาใหม่ ที่ไม่สามารถเข้าไป hack และสามารถทำธุรกรรมได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ ประหยัด แล้วต่อไปเราก็จะอยู่กับมันเหมือนอินเทอร์เน็ตครับ”
#สีน้ำ_พู่กัน_และความหลงใหลในวัยเด็ก
เมื่อสร้าง JNFT สำเร็จและเปิดตัวไปในช่วงปลายปี 2021 ในฐานะนักสะสม อดิศักดิ์เริ่มมองเห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ รวมทั้งสิ่งที่ต่างออกไปจากการสะสมงานศิลปะในรูปแบบเดิม
“ต้องบอกว่าคนสมัยใหม่ เด็กรุ่นใหม่ มีความชอบต่างกันจากคนรุ่นเก่า มันมีภาพที่ไม่น่าเชื่อว่าราคาหลายสิบล้านนะครับ สำหรับผม ผมมองว่า เอ้ย! มันไม่เหมือนกับอาจารย์ถวัลย์ ไม่เหมือนกับอาจารย์ประเทือง หรืออาจารย์เฉลิมชัยนะ แต่คนรุ่นใหม่เนี่ยไม่ใช่ เขาไม่ได้ผูกติดนะครับ เขามองแค่อันนี้เป็นสิ่งที่เขาอยากเก็บ แล้วเขาก็ให้ราคา แม้แต่ตัว Jaybird เอง ถูกทำมาเป็นคอลเลกชันตัวหนึ่งตอนนี้ก็ประมาณน่าจะสัก 500 JFIN อันนี้เพิ่งออกมา 5 ตัว ต่อไปถ้าออกมา 10 ตัว 100 ตัว ผมว่าราคาอาจจะถูกพัฒนาไปมากขึ้น ๆ นะครับ”
ขณะเดียวกัน ผลงานสีน้ำของเขาที่เคยวาดเป็นงานอดิเรก ก็ได้ถูกนำมาเผยแพร่และสามารถซื้อขายประมูลได้เป็นครั้งแรก
“อันนี้เป็นภาพฟลอเรนซ์ แต่ไม่ได้ไปยืนวาดที่ฟลอเรนซ์นะครับ เป็นรูปที่ถ่ายมา แล้วก็ใช้เวลาวาด หลายคนอาจจะบอกว่า มันไม่น่าจะใช่ผมวาด ผมบอก ใช่ มีชื่ออยู่ มีนามสกุลอยู่ มีลายเซ็นอยู่นะครับ”
อดิศักดิ์เล่าถึงหนึ่งในผลงานจากปลายพู่กันอย่างอารมณ์ดี
.
“รูปที่เห็นเนี่ยเป็นรูปที่วาดมาน่าจะเกือบ 10 ปีแล้ว ผมไม่ได้ตั้งใจว่าจะมาทำเป็น NFT จนทีมงานบอกว่า อ้าว! ผมมีรูปด้วย ก็อยากจะเอามาทำเป็น NFT ผมบอกว่า โอ้! ยินดีมากเลย จะได้มีโอกาสเผยแพร่ แล้วก็คิดว่าถ้าได้เงินจากการประมูลหรือว่าอะไรก็จะเอาไปทำบุญครับ
“ตั้งแต่เด็ก ผมเป็นคนที่ชอบสีน้ำ แล้วก็เคยเห็นคุณครูที่โรงเรียนเขาใช้สีน้ำแตะบนกระดาษวาดรูป เพียงแค่ไม่กี่ stroke ทำให้เราสามารถเห็นคลื่นสาดมาตรงหินได้ มันเป็นอะไรที่ amazed มาก เลยกลายเป็นสิ่งที่เราสนใจ หลังจากนั้นถ้ามีเวลาก็จะพยายามวาดสีน้ำ
“ในช่วงที่เราวาด เราก็จะไม่ได้นึกถึงอะไรเลยนอกจากเราจะลงสีอย่างไร แล้วการวาดรูปสีน้ำก็ต้องรู้จักคอยเหมือนกันนะ คอยจนให้สีมันแห้ง แล้วก็ค่อยลงสีเข้ม มันก็ทำให้เราเกิดสมาธิอีกแบบหนึ่ง”
#เชื่อมโลกศิลปะกับเทคโนโลยี
แม้จะยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับใครหลายคน แต่อดิศักดิ์เชื่อว่าในอนาคต JNFT จะกลายเป็นแพลตฟอร์มที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้แวดวงศิลปะในประเทศไทยทั้งในมุมนักสะสมและนักสร้างสรรค์
“ผมว่า (JNFT) เป็นโอกาสให้ศิลปิน แล้วก็เป็นโอกาสให้กับ collector ที่สามารถใช้เทคโนโลยีพวกนี้มาให้เป็นประโยชน์ได้ ไม่อย่างนั้น เราก็ใช้วิธีเดิม ก็คือประมูล หาซื้อ แล้วก็เอามาเก็บ จะเห็นว่าหลายภาพที่มีอยู่ก็ต้องรักษา บางทีก็ขึ้นเชื้อรา ก็ต้องเสียค่ารักษา แต่ถ้าเป็นดิจิทัล เราไม่ต้องรักษานะครับ แล้วมันก็เป็นทรัพย์สมบัติของเราเหมือนกัน ก็เป็นคนละสมัย คนละรูปแบบ แต่ว่ามันเป็นประโยชน์แน่นอนครับ”
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3556
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6975
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
871
แท็กที่เกี่ยวข้อง
ThePeople
Business
NFT
Blockchain
JNFT
JMART