สารคดี Winter on Fire: ฤดูหนาวที่ร้อนเป็นไฟกับการประท้วงต่อต้านฝ่ายนิยมรัสเซียในยูเครนปี 2013
หรือเหตุการณ์นี้คือจุดเริ่มหนึ่งของการรุกรานยูเครนโดยรัสเซียในต้นปี 2022 นี้?
ปลายปี 2013 ในอุณหภูมิที่ต่ำกว่าจุดเยือกแข็งในยูเครน เกิดการประท้วงใหญ่ต่อต้านการลุแก่อำนาจ และความกลับกลอกของประธานาธิบดีของตนที่มีใจฝักไฝ่รัสเซีย การประท้วงลุกลามบานปลายจนมีผู้คนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก เรื่องราวในครั้งนั้นถูกถ่ายทอดเป็นภาพยนต์สารคดีความยาว 1 ชั่วโมง 38 นาโดย เยฟเกนี อฟินเนเยฟกี (Evgeny Afineevsky) ในชื่อ วินเทอร์ ออนไฟร์: การต่อสู้เพื่ออิสรภาพของยูเครน” (Winter on Fire: Ukraine’s Fight for Freedom) ในปี 2015
สารคดีนี้ได้รับรางวัล Toronto International Film Festival 2015 ในสาขาสารคดี และปี 2016 สารคดีนี้ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ ในสาขาสารคดียอดเยี่ยม (Academy Awards 2016: Best Documentary, Feature) และรางวัลเอ็มมี (Primetime Emmy Awards 2016: Exceptional Merit in Documentary Filmmaking) และได้รับรางวัล The Television Academy Honors 2016 ในสาขาสารคดี
Winter on Fire กำลังตั้งคำถามกับผู้ชมว่า เมื่อคนกลุ่มหนึ่งตัดสินใจรวมตัวกันก้าวเดินลงท้องถนนเพื่อที่จะประท้วงต่อผู้มีอำนาจ พวกเขารู้ทั้งรู้ว่าการตัดสินใจครั้งนี้อาจนำมาซึ่งการบาดเจ็บหรือแลกด้วยชีวิต พวกเราในฐานะผู้เฝ้าดูควรเข้าใจพวกเขาอย่างไร พวกเราจะเข้าใจว่าพวกเขาคือกลุ่มคนดื้อรั้นที่ไม่ยอมสยบต่ออำนาจตามที่ใคร ๆ เขาต่างยอมกัน เป็นกลุ่มคนที่อยากสร้างความปั่นป่วนให้สังคม เป็นกลุ่มคนที่ถูกชักจูงหลอกลวงโดยคนที่ไม่หวังดีต่อประเทศชาติ เป็นกลุ่มคนที่ถูกจ้างมาจากคนที่ไม่หวังดีต่อประเทศชาติ หรือเป็นกลุ่มคนที่เกลียดชังชาติ
หากผู้ชมอย่างพวกเราตีความสิ่งที่พวกเขาเหล่านั้นกระทำเช่นนี้ พวกเราจะแน่ใจได้จริง ๆ หรือว่านี่คือเหตุผลที่ทำให้พวกเขาต้องเสี่ยงชีวิต เพราะถ้าเราเองก็ยังคิดว่าชีวิตเป็นสิ่งที่มนุษย์หวงแหนที่สุด หากจะมีสิ่งใดมาแลกกับชีวิตได้ สิ่งนั้นมันจะต้องสำคัญอย่างยิ่งยวดมิใช่หรือ
และบางทีผู้ชมอย่างพวกเราอาจต้องสอบถามถึงความกล้าหาญและความเที่ยงธรรมในจิตใจของพวกเราเอง เพราะการที่พวกเราดูแคลนกลุ่มคนเหล่านั้นทั้งที่พวกเราเองก็เห็นความฉ้อฉลหลายหลากอยู่ตรงหน้า และพวกเราก็เลือกที่จะไม่ตั้งคำถาม เพิกเฉย เพียงเพราะคนที่ฉ้อฉลนั้นเป็นคน ๆ เดียวกับคนที่มีอำนาจ
ดังนั้นหากเราจะลองมองพวกเขาด้วยหัวใจที่เป็นกลาง และด้วยหัวใจที่เข้าใจความเป็นมนุษย์อีกเพียงนิด เราอาจจะเห็นพวกเขาเหล่านั้นในแง่มุมใหม่ กระทั่งอาจมองว่าพวกเขาเหล่านั้นนี่แหละคือเหล่าวีรชน จุดนี้เองที่ภาพยนต์สารคดีเรื่องหนึ่งกำลังพยายามบอกเล่าแก่พวกเรา ภาพยนต์สารคดีที่พูดถึง ‘พวกเขา’ เหล่าวีรชนแห่งยูโรไมดาน
และด้วยเหตุผลที่ว่ามาทั้งหมดนี้ ภาพยนต์สารคดี Winter o Fire เรื่องนี้จึงเป็นหนึ่งในภาพยนตร์สารคดีชั้นดีที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง
ย้อนไปก่อนจุดเริ่มต้น: ความเป็นชาติและการถูกกดขี่
หากจะเข้าใจภาพความขัดแย้งในปัจจุบัน บางทีอาจต้องเริ่มจากการรู้จักกับ 'เคียฟแวน รัส' (Kievan Rus’) หรือจักรวรรดิรุสเคียฟ ซึ่งเป็นชื่อของจักรวรรดิโบราณในศตวรรษที่ 9 อันเป็นถิ่นกำเนิดของชนชาติยุโรปตะวันออกในปัจจุบัน และศูนย์กลางของจักรวรรดิดังกล่าวก็คือ กรุงเคียฟ เมืองหลวงของประเทศยูเครนนั่นเอง ดังนั้นหากว่ากันด้วยประวัติศาสตร์แล้วนั้น ยูเครนถือว่ามี ‘เรื่องราวของความเป็นชาติ’ มาอย่างยาวนาน เพียงแต่ว่าเมื่อกาลเวลาหมุนผ่าน อาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ที่เกิดขึ้นมาใหม่อย่างจักรวรรดิรัสเซียที่มอสโกก็พยายามดูดกลืนความเป็นชาติดังกล่าวให้สูญหายไปเสีย แต่นั่นก็ไม่ได้ง่ายนัก เมื่อสำนึก ‘ความเป็นยูเครน’ ไม่ได้หายไปง่าย ๆ และมันพร้อมเผยร่างออกมาอย่างยิ่งใหญ่ผ่านเหล่าวีรชนทุกเมื่อที่การกดขี่ ความกลับกลอก และความอยุติธรรมบังเกิดทั้งจากภายนอกประเทศ และจากภายในประเทศยูเครน
การที่ชาวยูเครนนั้นถูกกดขี่มาอย่างยาวนาน นั่นเป็นเพราะประเทศยูเครนเป็นทั้งพื้นที่ที่ชาวรัสเซียที่ได้เติบใหญ่จนกลายเป็นประเทศมหาอำนาจรู้สึกว่ายูเครนเป็นสมบัติของตน สมบัติที่ว่าเป็นทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และความมั่นคง ถึงขนาดในยุคที่รัสเซียถูกเปลี่ยนแปลงเป็นสหภาพโซเวียต ยูเครนก็เป็นพื้นที่ที่วลาร์ดีมีร์ เลนิน และพรรคบอลเชวิกใช้เป็นที่มั่นในการต่อสู้กับฝ่ายนิยมกษัตริย์จนได้รับชัยชนะ และสถาปนาสหภาพโซเวียต (The Union of Soviet Socialist Republics: USSR) ได้สำเร็จในปี 1922 ยูเครนถูกผนวกเข้าเป็นมลรัฐ (หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นแว่นแคว้นก็อาจจะชัดเจนกว่า) กับประเทศใหม่นี้ในชื่อ สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครน (The Ukrainian Soviet Socialist Republic: UkSSR)
การที่ยูเครนถูกผนวกเข้ากับโซเวียตไม่ใช่ครั้งแรก ยูเครนถูกมองจากประเทศมหาอำนาจว่ามีทั้งความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์และในเชิงเศรษฐกิจ เพราะยูเครนเป็นที่ราบที่เหมาะสมต่อการทำการเกษตร จนได้รับสมญานามว่า ‘ตะกร้าขนมปังของยุโรป’ และแม้ยูเครนจะตกอยู่ภายใต้อำนาจของมหาอำนาจใด แต่ก็มีความพยายามต่อสู้เพื่อธำรงสำนึกความเป็นชาติของชาวยูเครนด้วย ‘การทำให้เป็นยูเครน’ (Ukrainization) ซึ่งก็คือความพยายามที่จะทำให้ชาวยูเครนเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของตน ใช้ภาษาของตน อักษรของตน ใช้วัฒนธรรมของตน และในหลายครั้งการกระทำเช่นนี้ก็ถูกตอบโต้อย่างรุนแรง
และการถูกกดขี่ครั้งที่โหดเหี้ยมรุนแรงที่สุดก็คือเหตุการณ์ โฮโลโดมอร์ (Holodomor) หรือการที่รัฐบาลโซเวียตของโจเซฟ สตาลิน ประกาศนโยบายนารวม (collectivized agriculture) ในปี 1929 เพื่อห้ามไม่ให้ชาวนาสามารถบริโภคสิ่งที่พวกเขาผลิต แต่ต้องส่งผลผลิตทั้งหมดให้แก่รัฐบาลกลาง และการบริโภคใด ๆ ต้องได้รับการแบ่งสรรจากรัฐเท่านั้น รวมถึงห้ามประชาชนเดินทางออกนอกพื้นที่ หรือหาอาหารโดยที่รัฐบาลไม่อนุญาต (ซึ่งก็ไม่เคยอนุญาต) แม้นโยบายดังกล่าวจะส่งผลกระทบไปทั่วสหภาพโซเวียต และมีคนอดตายไปราว 5 ล้านคน แต่สำหรับยูเครนนั้นดูจะเป็นพื้นที่ที่นโยบายนี้ถูกใช้อย่างเคร่งครัดมากที่สุด และผลของมันคือชาวยูเครนอดตายไปถึง 4 ล้านคน รวมถึงมีการรายงานว่าผู้คนอดอยากยากจนถึงกับต้องขุดศพ ขโมยศพ หรือขโมยเด็ก หรือทารกเพื่อนำมากินประทังชีวิต
ต้นทศวรรษ 1990 จากความอ่อนแอของสหภาพโซเวียต และแนวคิดชาตินิยมที่เริ่มรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ การที่ประชาชนจะยอมสยบต่อผู้มีอำนาจในรัฐบาลกลาง โดยเฉพาะรัฐบาลที่ห่างไกลจากประชาชนทั้งในเชิงพื้นที่ และในเชิงการเข้าถึงนโยบาย และในปี 1991 สหภาพโซเวียตก็ล่มสลายลง เกิดเป็นรัฐอิสระใหม่ถึง 15 ประเทศ และนั่นก็เป็นโอกาสสำหรับยูเครนเช่นกัน
ประเทศยูเครนประกาศตัวเป็นรัฐอิสระเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 1991
รัฐเกิดใหม่ที่ยังไม่รู้จะไปทางไหนดี
นโยบายหลักของประธานาธิบดีคนแรกของยูเครน ลีโอนิด คราฟชุค (Leonid Kravchuk) คือการสร้างความเข้มแข็งให้กับชาติเกิดใหม่ และแม้เขาจะมีแนวคิดแบบสังคมนิยม ที่กระเดียดไปทางประชาธิปไตยสังคมนิยม (social democracy) แต่คราฟชุคก็เลือกที่จะดำเนินนโยบายเป็นกลางแต่ก็เริ่มสร้างความสัมพันธ์กับยุโรปตะวันตก ซึ่งนั่นทำให้เกิดความไม่พอใจจากรัสเซียทันที แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ยูเครนยังอยู่รอดปลอดภัยก็เพราะการที่หัวรบนิวเคลียร์ของสหภาพโซเวียตที่หลงเหลืออยู่ในประเทศยูเครน ณ เวลานั้นมีมากเป็นอันดับ 3 ของโลก จนทำให้ชาวยูเครนจำนวนไม่น้อยรู้สึกอุ่นใจว่าสิ่งนี้คือเครื่องการันตีว่าประเทศเกิดใหม่ของพวกเขาจะไม่ถูกรุกรานไปได้อีกสักพักใหญ่ ทว่าเมื่อยูเครนเลือกประธานาธิบดีคนที่สองเป็น ลีโอนิด คุชมา (Leonid Kuchma) ผู้มีแนวคิดนิยมรัสเซีย เพียงไม่นานในปลายปี 1994 ยูเครนก็ยอมอ่อนข้อให้กับสหรัฐอเมริกาและรัสเซียในการยอมปลดหัวรบนิวเคลียร์ภายใต้บันทึกข้อตกลงบูดาเปสต์เกี่ยวกับการประกันความปลอดภัย (Budapest Memorandum on Security Assurances)
การปกครองของคุชมาได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่านิยมรัสเซีย ทั้งยังเต็มไปด้วยการคอร์รัปชัน แต่ด้วยการสนับสนุนจากชนชั้นนำและนักการเมืองของยูเครนที่นิยมรัสเซีย ทำให้เขายังได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีอีกหนึ่งสมัย กระทั่งปลายสมัยของเขาปัญหาการคอร์รัปชันหนักข้อ และถูกวิพากษ์หนักจนคุชมาออกนโยบายควบคุมสื่อจนทำให้เสียงสนับสนุนของเขาลดลง แต่เมื่ออิทธิพลของกลุ่มนิยมรัสเซีย โดยเฉพาะจากพื้นที่ฝั่งตะวันออกของประเทศที่ใกล้ชิดและได้รับการสนับสนุนทางเศรษฐกิจจากรัสเซีย ปี 2004 วิกเตอร์ ยานูโควิช (Viktor Yanukovych) นักการเมืองนิยมรัสเซียผู้ที่คุชมาให้การสนับสนุนสามารถคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ทว่าชาวยูเครนที่ไม่นิยมรัสเซียมองว่าชัยชนะของยานูโควิชในครั้งนั้นมีความไม่ชอบมาพากล ทำให้ชาวยูเครนจำนวนมากทำการ ‘ปฏิวัติสีส้ม’ (The Orange Revolution) ปฏิเสธผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งส่งผลให้เกิดการเลือกตั้งใหม่ และคราวนี้ วิกเตอร์ ยุชเชงโก (Viktor Yushchenko) นักการเมืองที่นิยมตะวันตกได้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี ซึ่งในปีแรกที่เขามีอำนาจ เขาก็ประกาศนโยบายถอยห่างจากรัสเซียทันที
ปี 2005 ยุชเชงโกพยายามนำยูเครนเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization: NATO) และสหภาพยุโรป (European Union: EU) ด้วยเหตุผลในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ แต่ในขณะเดียวกันยูเครนเองก็ยังคงเป็นสมาชิกสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย (Eurasia Economic Union: EAEU) ที่รัสเซียเป็นพี่ใหญ่อยู่ก่อน สิ่งนี้ทำให้รัสเซียยิ่งไม่พอใจยูเครนมากขึ้นไปอีก และด้วยการบริหารประเทศของยุชเชงโกที่ผิดพลาดในหลายด้าน และการที่ยูเครนยังไม่สามารถเข้าเป็นสมาชิกของอียูได้เสียที ร่วมกันกับชนชั้นนำในยูเครนที่สนับสนุนรัสเซียเองก็ไม่คิดสนับสนุนแนวทางทางการเมืองของยุชเชงโก ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหม่ในปี 2010 ยานูโควิชก็ได้รับเลือกกลับมาเป็นประธานาธิบดีของยูเครนอีกครั้ง โดยในครั้งนี้เขากลับมาพร้อมคำสัญญาว่าจะเดินหน้าพายูเครนเข้าสู่อียูให้ได้ ทว่ามันก็ไม่เคยเกิดขึ้น และนั่นเป็นจุดเริ่มของโศกนาฏกรรม
Winter on Fire: เมื่อกองไฟถูกจุดโดยประชาชนแต่ถูกราดด้วยน้ำมันโดยผู้มีอำนาจ
ปี 2013 ยานูโควิชระงับการเจรจากับอียู ถอยห่างจากตะวันตก และกลับมีนโยบายอิงแอบรัสเซียอย่างชัดเจน สิ่งนี้สร้างความไม่พอใจให้คนหนุ่มสาวชาวรัสเซียเป็นอย่างมาก คืนวันที่ 21 พฤศจิกายน เกิดการรวมตัวของนักศึกษา ณ จัตุรัสไมดาน (Maidan Nezalezhnosti หรือ จัตุรัสเอกราช) กลางกรุงเคียฟ แต่รัฐบาลสั่งให้ตำรวจควบคุมฝูงชนเข้าปราบปรามอย่างรุนแรงในวันที่ 30 พฤศจิกายน สิ่งนี้ทำให้มีชาวยูเครนโดยเฉพาะจากฝั่งตะวันตกเข้าร่วมถึงราว 400,000 - 800,000 คน การประท้วงนี้ถูกเรียกกันในชื่อ ‘ยูโรไมดาน’ (Euromaidan) แต่ในขณะเดียวกันชาวยูเครนจากฝั่งตะวันออกก็ประณามการประท้วงในครั้งนี้ และกล่าวหาว่าผู้ประท้วงนั้นเป็นกลุ่มนีโอนาซี
“วินเทอร์ ออนไฟร์: การต่อสู้เพื่ออิสรภาพของยูเครน” (Winter on Fire: Ukraine’s Fight for Freedom) บอกเล่าเรื่องราวตั้งแต่การประท้วงเริ่มต้น สิ่งที่ผู้ชมจะได้เห็นคือความจริงจากฝั่งผู้ประท้วงตั้งแต่ความไม่พอใจการกลับกลอกของยานูโควิช การเรียกร้องให้ยานูโควิชรักษาสัญญา แต่กลับได้รับการตอบสนองด้วยกระบอง ระเบิดแสง และในที่สุดกระสุนปืนจากตำรวจควบคุมฝูงชน
เราจะได้ยินคำถามจากฝั่งผู้ชุมนุมว่า “ทำไมอนาคตของคนหนุ่มสาวจึงถูกขโมยจากนักการเมืองที่กลับกลอก” “ทำไม” ที่สื่อความหมายไม่เข้าใจการกระทำของตำรวจที่ควรจะเป็น ‘ผู้คุ้มครองประชาชน’ ไม่ใช่ ‘ผู้คุ้มครองนักการเมือง’
เราจะมองเห็นสายตาแห่งความโกรธแค้นของเหล่าผู้ชุมนุมที่ไม่เข้าใจว่า เหตุใดการที่พวกเขาออกมาเรียกร้องในสัญญาของประธานาธิบดีที่หากเกิดขึ้นจริงตามสัญญาน่าจะเป็นโอกาสในอนาคตที่ดีกว่าของพวกเขาในทางเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่เขาได้รับกลับมาคือการถูกรุมทุบตีโดยตำรวจจนเกิดการบาดเจ็บล้มตาย ไม่เว้นแม้แต่เจ้าหน้าที่กาชาด เราเห็นการเรียกร้องให้ปฏิบัติต่อผู้ประท้วงอย่างมีมนุษยธรรมจากบรรดานักการศาสนา เราเห็นการสวดอ้อนวอนต่อพระเจ้าเพื่อลดความรุนแรงของเหตุการณ์ลง แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือความรุนแรงที่มากขึ้นจากทั้งตำรวจและกลุ่มอันธพาลที่รัฐบาลสนับสนุน
เราเห็นผู้ประท้วงที่กำลังวิ่งเข้าไปช่วยเพื่อนที่กำลังลำบากและเสี้ยววินาทีต่อมาเขาก็ล้มตายลงจากกระสุนปืนที่ถูกซุ่มยิงจากฝั่งตำรวจ เราเห็นตำรวจควบคุมฝูงชนบุกรุกทำลายโรงพยาบาลสนามเพื่อทำลายยาและเวชภัณฑ์ และเข้าจับกุมผู้ประท้วงที่กำลังบาดเจ็บ เราเห็นการขับรถพุ่งชนเพื่อทำลายแบร์ริเออร์ที่สร้างจากหิมะและน้ำแข็งจนร่างผู้ประท้วงลอยละลิ่ว เราเห็นผู้คนมากมายโดยเฉพาะวัยรุ่นหนุ่มสาวที่ในช่วงต้นของสารคดีให้สัมภาษณ์ด้วยแววตาแห่งความหวัง แต่เมื่อดำเนินมาถึงเกือบท้ายเรื่อง เราก็ได้รับรู้ว่าเขาได้จากเราไปเสียแล้ว เราเห็นนักการเมืองที่พยายามอิงแอบกับผู้ประท้วง แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ผู้ประท้วงมองว่าเขาทำเพื่อผู้ประท้วงแต่อย่างใด เพราะผู้ประท้วงยูโรไมดานนั้นพวกเขาเชื่อว่ากำลังต่อสู้เพื่อ ‘อนาคต’ ไม่ใช่ ‘การเมือง’
ทั้งที่วีรชนแห่งยูโรไมดานพยายามจุดไฟแห่งความหวังในฤดูหนาวที่เย็นยะเยือก แต่มันกลับถูกโหมกระพือให้กลายเป็นไฟแห่งความตายโดยผู้มีอำนาจอย่างเลือดเย็น
และเมื่อพวกเราได้รับชมภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ไปถึงจุดหนึ่ง ตัวผู้ชมอย่างพวกเราก็คงเกิดคำถามเดียวกันกับวีรชนแห่งยูโรไมดานที่ถามซ้ำ ๆ อยู่ตลอดว่า “ทำไม” เช่นเดียวกัน
การประท้วงจบลงในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2014 กว่า 90 วันเมื่อรัฐบาลถูกกดดันจากทั้งภายในและภายนอกประเทศจนไม่สามารถเมินเฉยโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นได้อีกแล้ว ประธานาธิบดียานูโควิชถูกขับไล่ออกจากตำแหน่ง (impeachment) และเขาก็ลี้ภัยการเมืองไปที่รัสเซีย สารคดีจบลงด้วยแววตาแห่งความสุขของวีรชนอีกครั้ง
แต่นั่นคือความสุขที่เกิดขึ้นเพียงในตอนจบสารคดีของเรื่องนี้
ภาพของวีรชนแห่งยูโรไมดานในสารคดีเรื่องนี้ได้รับการฉายให้แก่ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลเวเนซุเอลา ในปี 2017 และในการประท้วงที่ฮ่องกงในปี 2019 - 2020 โศกนาฏกรรมของวีรชนแห่งยูโรไมดานสะท้อนภาพของความหวังแก่คนหนุ่มสาวที่อยากจะเรียกร้องต่อผู้มีอำนาจที่กำลังช่วงชิงอนาคตของพวกเขาไป นอกจากนั้นมันก็ยังสะท้อนด้วยว่าการเรียกร้องเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการนี้ไม่เป็นที่พึงใจนักจากบรรดาผู้มีอำนาจในสังคม มันสะท้อนว่าการต่อสู้ของพวกเขาอาจต้องนำมาซึ่งเลือดและน้ำตา และโศกนาฏกรรมเหล่านี้มันสมควรที่จะจบลงด้วยสุขนาฏกรรม
หรือไม่ใช่
รอยยิ้มที่กำลังหายไป…หลังจากนั้น
ในปี 2014 หลังรอยยิ้มดังที่เห็นในฉากจบของภาพยนตร์สารคดีไม่นาน รัสเซียตอบโต้ยูเครนด้วยการบุกยึดคาบสมุทรไครเมีย (Crimea) พร้อมทั้งจัดการประชามติว่าชาวไครเมียต้องการจะเป็นพลเมืองรัสเซียด้วยคะแนนโหวต 96.77% จากนั้นรัสเซียก็แสดงท่าทีสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในเมืองลูฮันสก์ และโดเนตสก์ และเมื่อยูเครนมีประธานาธิบดีคนใหม่ในปี 2019 คือ โวโลดีมีร์ เซเลนสกี (Volodymyr Zelenskyy) ที่มีแนวทางต่อต้านรัสเซียและประกาศผลักดันยูเครนเข้าเป็นสมาชิกนาโต้ ยูเครนก็ถูกรัสเซียบุกรุกด้วยข้ออ้างของการรักษาสันติภาพให้กับประเทศที่เกิดขึ้นใหม่ที่เป็นรัสเซียนั่นเองที่สถาปนาขึ้นจากเขตแดนของยูเครน
พวกเราคงบอกไม่ได้ว่าการรุกรานยูเครนในครั้งนี้เป็นเพราะชัยชนะของวีรชนแห่งยูโรไมดานต่อนักการเมืองผู้ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย แต่พวกเราก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าทั้งสองเหตุการณ์นี้มันต่างมีจุดเชื่อมเข้าหากัน คำถามสุดท้ายที่อาจเกิดขึ้นในใจของหลายคนก็คือ ทำไมการชุมนุมเพื่อเรียกร้องชีวิตที่ดีกว่าของคนกลุ่มหนึ่งจนทำให้ประเทศของตนดูราวกับจะมีอนาคตที่สดใสรออยู่ข้างหน้า กลับถูกปฏิเสธและทำลายทิ้งโดยเหล่าผู้มีอำนาจได้อย่างรุนแรงและเหี้ยมโหดเพียงนี้
น่าเศร้าที่รอยยิ้มแห่งชัยชนะของวีรชนที่จัตุรัสไมดานในวันนั้นกำลังค่อย ๆ ถูกกลบหายไปด้วยระเบิดและควันปืน
เรื่อง: พิสิษฐิกุล แก้วงาม
อ้างอิง:
Conant, E. (2022, 19 Feb). Russia and Ukraine: the tangled history that connects—and divides—them. Retrieved. https://www.nationalgeographic.com/history/article/russia-and-ukraine-the-tangled-history-that-connects-and-divides-them
imdb.com.(n.d.). Winter on Fire's awards. Retrieved. https://www.imdb.com/title/tt4908644/awards
Stebelsky, I. (2022, 24 Feb: last updated). Ukraine. Retrieved. https://www.britannica.com/place/Ukraine
Kozyrev, Y. (2014, 23 Feb). Understanding Ukraine’s Euromaidan Protests. Retrieved. https://www.opensocietyfoundations.org/explainers/understanding-ukraines-euromaidan-protests
NetFlix. (n.d.). Winter on Fire: Ukraine's Fight for Freedom. Retrieved. https://www.netflix.com/th-en/title/80031666
Ramirez, V. and Aponte, A. (2017, June 29). Venezuela's shield-bearing protesters inspired by Ukraine". Reuters. Retrieved. https://www.reuters.com/article/us-venezuela-politics-protesters/venezuelas-shield-bearing-protesters-inspired-by-ukraine-idUSKBN19K26V
Laurenson, J. (2019, August 7). Hong Kong protesters draw strong inspiration from Ukraine revolution. KyivPost. Retrieved. https://www.kyivpost.com/ukraine-politics/hong-kong-protesters-draw-strong-inspiration-from-ukraine-revolution.html?__cf_chl_tk=wTl9Ncbkkl1B9xOUpiFQt8Dpb.Z9RRIdFYVfSoBLB6o-1645884132-0-gaNycGzNCL0