“สองวันแรกที่ผมเข้าไปนั่งที่ทำเนียบไวท์เฮาส์ ในฐานะนายคนใหม่ หลายคนที่เคยอยู่ในระบบการบริหารแบบเดิม ๆ ต่างมีอาการเกร็งหวาดหวั่นไปกับข่าวลือว่าผมจะเข้ามากวาดล้างให้สิ้นซาก พากันหลบหน้าหลบตา ไม่มีใครยอมมาทำงาน พวกเขานินทาว่าบอริส ดีแต่ชูกำปั้นประท้วงตามท้องถนน” (นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2539)
คงไม่แปลกที่ชายผู้มีรูปร่างสูงใหญ่อย่าง ‘บอริส เยลต์ซิน’ จะสร้างความหวั่นใจให้แก่เพื่อนร่วมงาน เพราะหากไล่อ่านประวัติอันยาวเหยียดของชายคนนี้ ก่อนที่จะเข้ามานั่งบัลลังก์เครมลิน จะเห็นแต่ข่าวการลุกขึ้นมาประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิให้ประชาชน ไปจนถึงเหตุการณ์ที่พลิกหน้าประวัติศาสตร์การเมืองโลก จนทำให้ผู้นำจากตะวันตกมองรัสเซียเปลี่ยนไป
นั่นคือความพยายามต่อต้านการก่อรัฐประหารของกลุ่มเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์สหภาพโซเวียต ยึดอำนาจจาก ‘มิคาอิล กอร์บาชอฟ’ ประธานาธิบดีรัสเซียที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนั้น เขาปีนขึ้นรถถังคันหนึ่งที่พรรคฯ ส่งเข้าไปยังกรุงมอสโกในปี 1991 อย่างไม่ลังเล
การกระทำของเขาได้รับเสียงสนับสนุนจากผู้นิยมประชาธิปไตยอย่างล้นหลาม แน่นอนว่าในไม่ช้าสหภาพโซเวียต ดินแดนหลังม่านเหล็กแห่งนี้ก็ถึงคราวต้องพังครืนลงมา และปิดฉากจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่ลงในเดือนธันวาคม 1991
แม้ว่าเยลต์ซินจะไม่ใช่ผู้นำที่มีประวัติขาวสะอาด แต่เขาได้พยายามพิสูจน์แล้วว่า ทุกการกระทำของเขา มีไว้เพื่อดูแลและปกป้องความเป็นอยู่ของประชาชนให้กินดีอยู่ดี อย่างไรก็ตามการเมืองภายใต้การนำของเขากลับเต็มไปด้วยความปั่นป่วน ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และอุดมการณ์ทางการเมือง ที่ชายผู้นี้พยายามปรับให้เข้ากับโลกเสรีประชาธิปไตยมากขึ้น
นักเลงหัวไม้
บอริส เยลต์ซิน (Boris Yeltsin) เกิดวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 1931 (ปีเดียวกับมิคาอิล กอร์บาชอฟ) ใกล้เมืองสเวอร์ดลอฟส์ เมืองใหญ่ที่อยู่ห่างจากมอสโกไปทางตะวันออกราว 1,000 ไมล์ เขาเกิดมาในครอบครัวธรรมดา ๆ พ่อเป็นกรรมกร ส่วนแม่เป็นช่างตัดเสื้อ แต่หากย้อนประวัติต้นตระกูลจะพบว่าเขาคือลูกหลานชาวนามาตั้งแต่ไหนแต่ไร แม้ว่าจะถูกยึดทรัพย์และเนรเทศให้มาตั้งรกรากอยู่ในเมืองแห่งนี้ก็ตาม
ในช่วงปี 1930 พ่อและพี่ชายของเขา (ที่ต่อมาเสียชีวิตในมหาสงครามแห่งความรักชาติ - the Great Patriotic War 1941 - 1945) ถูกจับในข้อหาต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์ ทั้งคู่ถูกส่งไปยังค่ายกักกันเป็นเวลา 3 ปี แต่ความน่าเศร้าอยู่ตรงที่ ไม่มีใครสักคนในครอบครัวที่ทราบข่าวคราวการจับกุมครั้งนี้ พวกเขาถูกทางการ ‘ลักพาตัว’ ไปอย่างไร้ร่องรอย ซึ่งเยลต์ซินเพิ่งมารู้ความจริงหลังจากได้อ่านเอกสารลับของ KGB ในระหว่างดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีรัสเซียในปี 1991
[caption id="attachment_42169" align="aligncenter" width="900"]
ภาพถ่ายครอบครัวบอริส เยลต์ซิน / Boris Yeltsin Presidential Center[/caption]
เยลต์ซินเกิดและเติบโตมาท่ามกลางความยากลำบาก ในยุคที่ผู้คนต่างอดอยากหิวโหย ไม่มีแม้แต่อิสระที่จะครอบครองผืนนาของตัวเอง เพราะการปกครองอันโหดร้ายของ ‘โจเซฟ สตาลิน’ ทำให้ชาวโซเวียตต้องผันตัวเข้ามาทำนารวม เพื่อมอบผลผลิตกลับคืนสู่ส่วนกลาง
เขาไม่ยี่หระกับความไม่สมเหตุสมผลของชีวิต และมักจะทะเลาะวิวาทกับชาวบ้านอยู่เป็นประจำ จนได้รับฉายาว่าเป็น ‘นักเลงหัวไม้’ ประจำเมือง ตอนอายุ 11 ขวบ เขาขโมยระเบิดมือจากคลังของกองทัพ และพยายามแยกชิ้นส่วนระเบิดออกมาเล่น จากความซนครั้งนั้นทำให้เขาต้องสูญเสียนิ้วชี้และนิ้วโป้งข้างซ้ายไปจากแรงระเบิด
แม้เยลต์ซินจะมีภาพลักษณ์เป็นนักเลง แต่เขากลับเป็นเด็กหัวดีที่ชื่นชอบการเรียนหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ และมักจะได้คะแนนสูงติดอันดับต้น ๆ ของโรงเรียนอยู่เสมอ อีกทั้งยังถนัดเล่นกีฬาอีกหลายประเภท โดยเฉพาะวอลเลย์บอลที่เขาหลงใหลมากเป็นพิเศษ
เยลต์ซินเกือบไม่จบการศึกษาระดับประถมฯ เพราะไปพูดวิจารณ์การทำงานของครูว่ามีความเข้มงวดเกินไป จนทำให้เพื่อนของเขาหลายคนกลัวจนไม่กล้าเข้าเรียน คณะกรรมการโรงเรียนไม่รอช้า สั่ง ‘แบน’ เยลต์ซินทันที โดยไม่ทำการสืบสวนข้อเท็จจริง แต่เขาไม่ใช่เด็กที่ยอมก้มหน้าก้มตาทำตามคำสั่ง จึงยื่นเรื่องไปยังคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์ส่วนท้องถิ่น เมื่อคณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่าเยลต์ซินไม่มีความผิด เขาจึงได้รับอนุญาตให้เข้าเรียนต่อได้โดยปราศจากมลทิน
หลังจากเรียนจบมัธยม เยลต์ซินเลือกเรียนต่อในสาขาวิศวกรรมโยธา สถาบัน Urals Polytechnic ที่นั่นเขาได้พบรักกับ ‘ไนน่า กิรินา’ (Naina Girina) ภรรยาในอนาคตที่จะครองคู่กันจวบจนวินาทีสุดท้าย เมื่อเรียนจบในปี 1955 เขาได้เข้ามาเป็นหัวหน้าโครงการก่อสร้างหลายโครงการภายในเมือง ชื่อเสียงของเขาเริ่มได้รับการกล่าวขานมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะความขยันขันแข็งและเข้มงวด อีกทั้งยังไม่เลือกงาน เขาพร้อมทำทุกตำแหน่งตั้งแต่ช่างก่ออิฐ ช่างคอนกรีต ไปจนถึงช่างไม้
[caption id="attachment_42167" align="aligncenter" width="900"]
บอริส เยลต์ซิน และภรรยา ไนน่า กิรินา / Boris Yeltsin Presidential Center[/caption]
เข้าสู่พรรคคอมมิวนิสต์
หลังจากทำงานเป็นหัวหน้าคนงานมาเป็น 6 ปี คณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์เริ่มเล็งเห็นความทะเยอทะยานของเยลต์ซิน เขาได้รับการทาบทามให้เข้าร่วมพรรคในปี 1968 จากนั้นก็เติบโตมาเรื่อย ๆ จนขึ้นมารับตำแหน่งเลขาธิการพรรคประจำเมืองสเวอร์ดลอฟส์ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตอาวุธสำหรับป้องกันประเทศ
เยลต์ซินเขียนบันทึกถึงความภาคภูมิใจในการเข้ารับตำแหน่งนี้เอาไว้ว่า “เลขาธิการพรรคคนแรกของจังหวัดไม่ต่างจากการเป็น ‘พระเจ้าซาร์’ เพราะในทุกการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเล็กหรือใหญ่ การตัดสินของเลขาธิการถือเป็นอำนาจเด็ดขาด”
ในปี 1985 มิคาอิล กอร์บาชอฟ ประธานาธิบดีรัสเซียในช่วงเวลานั้น เรียกเยลต์ซินให้เข้ามารับตำแหน่งเลขาธิการพรรคประจำเมืองมอสโก เพื่อกำจัดการทุจริตคอร์รัปชัน เมื่อโอกาสมาถึงมือเร็วกว่าที่เขาคาดคิด ข้าราชการจากดินแดนไกลปืนเที่ยง ไม่รอช้าที่จะคว้าโอกาสนี้เอาไว้ เขากระตือรือร้นเกินกว่าที่สมาชิกพรรคหลายคนคาดคิด ตั้งแต่การตื่นแต่เช้าเพื่อไปตรวจร้านค้าที่เข้าข่ายทุจริตโดยไม่บอกล่วงหน้า ทำให้ได้เรียนรู้ว่าประเทศนี้มันเน่าเฟะกว่าที่คิด
[caption id="attachment_42171" align="aligncenter" width="900"]
บอริส เยลต์ซิน ในช่วงขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีปี 1996 / ALEXEY SAZONOV Boris Yeltsin Presidential Center[/caption]
มีตั้งแต่การติดสินบน ยัดเงินใต้โต๊ะ ไปจนถึงลักลอบส่งอาหารและสินค้าหายากอื่น ๆ ให้กับเจ้าหน้าที่ของพรรคคอมมิวนิสต์ เขาไม่ลังเลที่จะไล่เจ้าหน้าที่หลายร้อยคน ที่มีส่วนร่วมในการทุจริตออกจากพรรค การกระทำครั้งนี้สร้างรอยร้าวลึกให้แก่พรรค เพราะข้าราชการจากแดนไกลผู้นี้ ‘อยู่ไม่เป็น’
แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ที่เข้ามารับตำแหน่ง แต่กลับได้รับความนิยมจากคนในพื้นที่อย่างรวดเร็ว เส้นทางสายการเมืองของเขาเริ่มเข้าที่เข้าทาง เพราะด้วยบุคลิกส่วนตัวที่มีความเป็นกันเอง เขามักจะเดินทางไปทำงานด้วยรถโดยสารประจำทางและรถราง ชาวบ้านจึงเทคะแนนความไว้วางใจให้แก่ชายคนนี้รัว ๆ
แต่สมาชิกพรรคเก่าแก่หลายคนกลับไม่พอใจ เพราะความมุ่งมั่นที่จะเข้ามาปฏิรูประบบ กำลังทำให้ข้าราชการอาวุโสตกที่นั่งลำบาก เขาถูกกดดันจากทุกทิศทาง ไม่เว้นแม้แต่กอร์บาชอฟ เยลต์ซินไม่อาจทนอยู่ในระบบที่เต็มไปด้วยการฉ้อราษฎร์บังหลวงได้อีกต่อไป จึงตัดสินใจลาออกจากคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองในปี 1988 และออกจากพรรคคอมมิวนิสต์ในปี 2 ปีให้หลัง
[caption id="attachment_42170" align="aligncenter" width="900"]
บอริส เยลต์ซิน / Boris Yeltsin Presidential Center[/caption]
[caption id="attachment_42172" align="aligncenter" width="900"]
ป้ายการลงประชามติ ในวันที่ 25 เมษายน 1993 / Boris Yeltsin Presidential Center[/caption]
แม้จะลาออกจากพรรคมาแล้ว แต่คะแนนความนิยมของเขายังคงสูงลิ่ว เขาขึ้นมารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกที่ได้มาจากการเลือกตั้ง หลังจากการบริหารที่ล้มเหลวของกอร์บาชอฟ จนนำมาสู่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตในวันที่ 25 ธันวาคม 1991 ประเทศหลังม่านเหล็กแห่งนี้ก็กระจัดกระจายออกเป็น 15 สาธารณรัฐ
การสิ้นสุดของระบบโลกแบบเดิมทำให้ ‘สงครามเย็น’ ระหว่างซีกโลกตะวันตก-ตะวันออก ยุติลง ซึ่งเยลต์ซินเองก็ไม่ใช่ประธานาธิบดีที่ยึดติดอยู่กับความยิ่งใหญ่ในอดีต เขายินดีปลดปล่อย 15 สาธารณรัฐให้เป็นอิสระ ด้วยรัฐบาลของเขามีภารกิจที่ยิ่งใหญ่กว่าคือการปฏิรูปเศรษฐกิจให้กลับมาเข้ารูปเข้ารอยมากที่สุด
เขาดำเนินนโยบายปฏิรูปอย่างเฉียบพลัน (Shock Therapy) ได้เปิดให้มีเสรีภาพ (Liberalization) ใช้กลไกตลาดเข้ามาและสร้างเสถียรภาพในระบบเศรษฐกิจ (Stabilization) รวมไปถึงการใช้นโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (Privatization) เรียกได้ว่าหันหน้าเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมตามโลกเสรีอย่างเต็มรูปแบบ
แต่เยลต์ซินกลับหลงลืมไปว่า การเร่งปฏิรูปประเทศโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่ตามมา อาจทำให้เศรษฐกิจที่บอบช้ำอยู่แล้ว ยิ่งย่ำแย่จนยากจะกู้กลับมา ซึ่งการเปลี่ยนอุดมการณ์ทางการเมืองจากสังคมนิยมคอมมิวนิสต์มาเป็นประชาธิปไตย ได้สร้างความสับสนให้คนในประเทศอย่างมาก เพราะพวกเขาไม่ทันได้เตรียมใจกับการเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาอย่างฉับพลัน
การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจทำให้ตลาดหุ้นผันผวน เงินเฟ้อทุกหนแห่ง คนที่สามารถปรับตัวได้ก็กลายเป็น ‘โอลิการ์ช’ (Oligarch) หรือกลุ่มนักธุรกิจรัสเซียที่สร้างความมั่งคั่งขึ้นมาอย่างรวดเร็ว จากการแปรรูปทรัพย์สินของรัฐ ภายหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต
ขณะที่คนจำนวนมากต้องทนทุกข์ พวกเขาไม่เคยใช้ชีวิตที่ต้องคิดนอกกรอบ ‘โลกทุนนิยม’ กำลังทำให้ชาวรัสเซียขวัญกระเจิง
[caption id="attachment_42173" align="aligncenter" width="900"]
บอริส เยลต์ซิน ในวันสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีรัสเซีย และวลาดิมีร์ ปูติน ทายาททางการเมืองที่จะขึ้นมาดำรงตำแหน่งต่อจากเยลต์ซิน / สำนักข่าว ТАСС[/caption]
แด่การจากไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ
เยลต์ซินมีอาการหัวใจวายในปี 1996 ทั้งสื่อและโฆษกประจำตัวพยายามปกปิดปัญหาสุขภาพของประธานาธิบดีผู้นี้เอาไว้ แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ไม่อาจหลีกหนีความจริงได้อีกต่อไป เยลต์ซินเข้ารับการผ่าตัดเพื่อทำบายพาสหัวใจในเดือนพฤศจิกายน แต่ 2 เดือนถัดมา หัวใจเขากลับอ่อนแอลงอีกครั้ง แถมยังพ่วงมาด้วยอาการปอดบวมขั้นร้ายแรง
ถึงขนาดที่ชาวรัสเซียบางคนเชื่อว่าเขาคงตายในไม่ช้า แต่เขาสู้ชีวิตกว่าที่คิด และไม่ยอมแพ้ให้กับปัญหาสุขภาพ อีกทั้งยังสามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่ออีก 3 ปี จนประกาศลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 28 ธันวาคม 1999 โดยให้เหตุผลว่ารัสเซียต้องการผู้นำทางการเมืองคนใหม่ เพื่อนำประเทศไปสู่ศตวรรษที่ยิ่งใหญ่กว่า และใครจะเป็นผู้นำคนนั้นไปไม่ได้นอกจาก ‘วลาดิมีร์ ปูติน’ ประธานาธิบดีรัสเซียที่ยังคงดำรงตำแหน่งมาจนถึงปัจจุบัน
เยลต์ซินเสียชีวิตลงในวัย 76 ปี ในปี 2007 ด้วยอาการหัวใจวาย ทิ้งไว้เพียงประเทศที่สับสนวุ่นวาย ทั้งระบบเศรษฐกิจที่ไม่นิ่ง ผู้คนอดอยากหิวโหย อีกทั้งยังไม่รู้วิธีทำมาหากิน เพราะตกอยู่ภายใต้คำสั่งของพรรคมาโดยตลอด แต่วันนี้พวกเขากลับต้องดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อปรับตัวให้เข้ากับระบบทุนนิยม ที่อดีตประธานาธิบดีนำเข้ามาใช้ในการบริหารประเทศ โดยไม่ทันคำนึงถึงผลกระทบที่ตามมา
ภาพ: Getty Images
.
อ้างอิง
- Boris Yeltsin. https://www.theguardian.com/world/2007/apr/23/russia.guardianobituaries
- BRIA 8 1 c On the Road to Revolution With Boris Yeltsin. https://www.crf-usa.org/bill-of-rights-in-action/bria-8-1-c-on-the-road-to-revolution-with-boris-yeltsin
- Биография. Борис Николаевич Ельцин. Президент России (1991–1999). https://yeltsin.ru/news/biografiya-boris-nikolaevich-elcin-prezident-rossii-19911999/
- ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสหพันธรัฐรัสเซียและสหรัฐอเมริกา ในสมัยประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซินและประธานาธิบดีวิลเลี่ยม เจฟเฟอร์สัน คลินตัน. https://km-ir.arts.tu.ac.th/s/ir/media/2988
- ปริทัศน์หนังสือ “Armageddon Averted.” http://www.library.polsci.chula.ac.th/dl/c81b3a89c2cdd76dac6fa59dad687738
- ชีวิตและความตายของเยลต์ซิน ประธานาธิบดีคนแรกของรัสเซีย. https://prachatai.com/journal/2015/12/63075
- บอริส เยลต์ซิน หมีขาวที่ไม่ใหญ่แต่ตัว. http://info.gotomanager.com/news/printnews.aspx?id=34791