Peacemaker: หนุ่มไบเซ็กชวล อยากโอบกอดรัก ในวงจรอนุรักษนิยม - ขวาจัด
*** Spoiler Alert บทความเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ The Suicide Squad (2021) และซีรีส์ Peacemaker (2022)***
ซีรีส์ ‘พีซเมเกอร์’ ฉายผ่านสตรีมมิ่งในเครือข่ายของ HBO เพิ่งปิดฉากซีซันแรกไปโดยได้เสียงตอบรับเชิงบวกเป็นส่วนใหญ่ นอกเหนือจากชื่อนักแสดงที่ได้จอห์น ซีนา (John Cena) มารับบทเดิมต่อจากบทเดียวกันในภาพยนตร์ The Suicide Squad (2021) ซีรีส์นี้ได้เจมส์ กันน์ (James Gunn) ผู้กำกับและเขียนบทหนัง The Suicide Squad กลับมาเหมางานทั้งเขียนบท กำกับ และผู้สร้าง ทำให้ซีรีส์พีซเมเกอร์ มีกลิ่นอายบางส่วนชวนให้นึกถึงสไตล์งานที่กันน์สร้างชื่อกับฝั่งมาร์เวลเอาไว้
ครั้งนี้กันน์ยังรักษาระดับคุณภาพและฝากลายเซ็นในชิ้นงานในโทนไล่เลี่ยกับที่เคยปั้นทีมฮีโร่ Guardians of the Galaxy ให้ดังเป็นพลุแตก โกยรายได้ถล่มทลายทะลุเป้าเกินความคาดหมายมาแล้ว
สำหรับซีรีส์ ‘พีซเมเกอร์’ เนื้อหาเล่าเรื่องราวหลังจาก The Suicide Squad ทิ้งปมไว้ท้ายเครดิตเกี่ยวกับชะตากรรมของพีซเมเกอร์ ภายหลังรอดชีวิตจากภารกิจในภาพยนตร์รวมทีม ‘วายร้าย’ ของดีซี เมื่อพ่อหนุ่มพีซเมเกอร์หายแล้วและหลบรอดจากจุดกักตัวก็ยังไม่พ้นต้องโดนลากให้มาทำงานลับกับรัฐบาลอีก
ขณะที่ซีรีส์ค่อย ๆ เล่าเรื่องราวและคลี่คลายปริศนาเกี่ยวกับปฏิบัติการลับที่พีซเมเกอร์ต้องรับงานมา โดยที่ไม่รู้รายละเอียดในตัวภารกิจมากนัก ระหว่างที่ปูพื้นเรื่องความสัมพันธ์ของพีซเมเกอร์กับเพื่อนร่วมทีม ซีรีส์สอดแทรกภูมิหลังเกี่ยวกับตัวละครพีซเมเกอร์ ฉายภาพความเป็นมาในเส้นทางกว่าที่จะมาสวมชุดประจำตัวสีแดง น้ำเงิน ขาว และสวมหมวกสีเงินเงาแวววาวรูปทรงประหลาดเป็นเครื่องแบบประจำตัว
สิ่งที่ทำให้พีซเมเกอร์ ตัวละครระดับรองของดีซี กลายเป็นมี ‘ชีวิตชีวา’ แบบผิดหูผิดตามาจากหลายองค์ประกอบตามลายเซ็นของเจมส์ กันน์ เมื่อมาทำงานเกี่ยวกับตัวละครซูเปอร์ฮีโร่จากคอมิกส์ ผู้ชมมักได้สัมผัสส่วนผสมของไดอะล็อกที่ยียวนกวนประสาท มีอ้างอิงวัฒนธรรมร่วมสมัยทั้งหนังและดนตรีอีกตามเคย
ในส่วนดนตรี กันน์หยิบยกมาแนวแฮร์แบนด์ แกลมร็อก จนถึงป็อปเมทัล และเลือกให้โผล่มาแบบจุใจ ตั้งแต่เครดิตเปิดเรื่องที่นำทีมนักแสดงหลักมาเต้นประกอบเพลงร็อก สามารถดูเครดิตเปิดเรื่องแบบเพลินๆ ได้ในทุกอีพี ถึงจะดูซ้ำกันหลายรอบก็ไม่เบื่อ (ถ้าชอบ) ในหลายอีพียังมีฉากที่ใช้เพลงสร้างบรรยากาศและช่วยให้เรื่องราวกลมกล่อมยิ่งขึ้นด้วย
อีกส่วนหนึ่งคือการเล่าภูมิหลังฉบับซีรีส์ (รายละเอียดบางส่วนต่างจากคอมิกส์บ้าง) วัยเด็กของพีซเมเกอร์เติบโตมาพร้อมกับพี่น้องอีกคนหนึ่ง เด็กทั้งสองอยู่ในการดูแลของพ่อที่มีแนวคิดแบบอนุรักษนิยมขวาจัด เป็นผู้นำกลุ่มที่มีแนวคิดเรื่องความสูงส่งของคนผิวขาว (white supremacy) เหยียดเชื้อชาติอื่น ไม่ยอมรับรสนิยมทางเพศที่หลากหลาย
ด้วยเหตุการณ์ที่เป็นจุดพลิกผันครั้งสำคัญในวัยเด็ก ทำให้พ่อของพีซเมเกอร์รู้สึกชังลูกชายคนนี้มาตลอด ความสัมพันธ์ของพ่อลูกคู่นี้จึงไม่ราบรื่น ในขณะเดียวกัน ซีรีส์เล่าว่าพ่อที่เป็นพวกสุดโต่งในทางความคิดเรื่องเชื้อชาติ กลับมีความสามารถด้านเทคโนโลยี สร้างอุปกรณ์ไฮเทคสำหรับให้ตัวเองใช้ หมวกที่พีซเมเกอร์ใช้ก็มาจากการประดิษฐ์ของพ่อเขาเอง
เหตุการณ์ในวัยเด็กยังส่งผลต่อแนวคิดของพีซเมเกอร์ (ฉบับซีรีส์) เขายกชู ‘สันติภาพ’ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ยอมแลกทุกอย่างเพื่อสันติ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม รวมถึงการฆ่าด้วย
อย่างไรก็ตาม ปฏิบัติการลับที่เต็มไปด้วยปริศนาค่อย ๆ โยนคำถามและโจทย์ซึ่งท้าทายความเชื่อเรื่อง ‘สันติภาพ’ ของเขามากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น หากต้องฆ่า ‘เด็ก’ ไม่รู้เรื่องรู้ราวเพื่อให้ภารกิจคุ้มครองความสงบและเสรีภาพของมนุษย์เป็นไปอย่างลุล่วง เขาจะเลือกทำได้ลงคอหรือไม่?
หรือที่จริงแล้ว ‘สันติภาพ’ นั้นเป็นเพียงข้ออ้างที่พีซเมเกอร์ยกมาใช้เป็นแนวทางดำเนินชีวิต มากกว่าจะให้ความสำคัญกับมันอย่างจริงจัง? เพราะหากพิจารณาตามตรรกะแบบตัวละครนี้ หลายคนอาจคิดถึงคำถามทางปรัชญาหรือปรัชญาการเมืองว่า แท้จริงแล้ว การได้มาซึ่งสันติ โดยการทำสงครามหรือโดยการกระทำที่เข้าข่ายความรุนแรง เป็นสันติที่แท้จริงหรือไม่ และจะยั่งยืนมากน้อยแค่ไหน?
ภาวะ ‘สันติภาพ’ เป็นคำถามที่ถกเถียงกันยาวนาน สิ่งที่มาคู่กันเสมอคือ ‘เสรีภาพ’ จนมีทฤษฎีทางการเมืองหรือทางเศรษฐศาสตร์เกิดขึ้นหลากหลายให้ศึกษากันในแวดวงวิชาการ ทั้งนี้ ในซีรีส์ไม่ได้ถึงกับให้รายละเอียดเจาะจงไปที่ข้อถกเถียงเหล่านี้ ในที่นี้เป็นเพียงการตั้งข้อสังเกตและสะท้อนคำถามที่ได้มาจากโครงเรื่องและรายละเอียดบางอย่างในซีรีส์ให้ได้เก็บไปตรึกตรองกัน
คำถามเหล่านี้ยังชวนให้นึกถึงคำพูดที่ตัวละครสำคัญรายหนึ่งในภาพยนตร์ The Suicide Squad เยาะเย้ยเสียดสีไว้ว่า “พีซเมเกอร์เหรอ ช่างน่าหัวร่อ” และยังเป็นประโยคที่คาใจพีซเมเกอร์มาจนถึงเนื้อหาในซีรีส์เดี่ยวของตัวเอง
อีกหนึ่งองค์ประกอบที่ซีรีส์แตะรายละเอียดไว้ตามสมัยนิยมของเนื้อหาในวัฒนธรรมร่วมสมัยยุคนี้คือรสนิยมทางเพศ ซีรีส์ใส่รายละเอียดว่าพีซเมเกอร์เป็น ‘ไบเซ็กชวล’ (bisexual)
เจมส์ กันน์เล่าว่า รายละเอียดรสนิยมทางเพศนี้เป็นไอเดียของจอห์น ซีนา สำหรับคนเขียนบทแล้ว เชื่อว่าไอเดียนี้สมเหตุสมผล หากอ้างอิงจากปมต่าง ๆ ของตัวละครที่ทำให้พีซเมเกอร์ไม่ใช่ฮีโร่ที่มีรายละเอียดของตัวตนในแนวระนาบราบเรียบเพียงมิติเดียว
พัฒนาการของพีซเมเกอร์ฉบับซีรีส์ วางให้เขาอยู่ท่ามกลางวังวนของสังคมแบบอนุรักษนิยมขวาจัด แม้สังคมหรือผู้ปกครองใกล้ตัวจะพยายามหล่อหลอมตัวตนของเด็กรุ่นใหม่ให้ออกมาตามแนวทางเดียวกับที่ผู้ปกครองเชื่อ เมื่อดูเส้นทางพัฒนาการของตัวละครแล้ว พีซเมเกอร์มีปมจากภูมิหลังหลายอย่าง
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแนวคิด ‘สันติภาพ’ รสนิยมทางเพศ และความสัมพันธ์กับบุคคลเชื้อชาติอื่นที่ไม่ได้เหยียดเพื่อนร่วมทีมที่เป็นหญิงผิวดำ และเธอก็คบหาดูใจกับเพศเดียวกันด้วย รายละเอียดของตัวตนพีซเมเกอร์หลายอย่างถูกถ่ายทอดออกมาย้อนแย้งกับสภาพแวดล้อมในครอบครัวและภูมิหลังของพ่อที่เป็นคนใกล้ชิด
หลายคนอาจฉุกคิดตั้งข้อสังเกตว่า พัฒนาการของพีซเมเกอร์ไม่ต่างจากคนรุ่นใหม่ที่เติบโต ผ่านช่วงเวลาและสัมพันธ์ขัดแย้งกับคนในครอบครัว กระทั่งถึงขั้นถอยห่าง เว้นที่ว่างจากครอบครัว หลายคนที่เติบโตด้วยสภาพแวดล้อมแบบนี้ยังสามารถค้นหาตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง ยืนหยัด ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมตามวิถีที่ตัวเองเลือก โดยไม่ได้อิงกับแนวทางที่ผู้ปกครองคนใกล้ตัวยัดเยียดให้
ลักษณะการพูด บุคลิก ท่าทาง ตัวตน แนวคิด ความมั่นใจในตัวเอง และสไตล์การสนทนาอันยียวนชวนหมั่นไส้ของพีซเมเกอร์ (จากหนัง The Suicide Squad) ในซีรีส์จะฉายภูมิหลังและที่มาที่ไปในความเป็นมนุษย์ของตัวละครนี้ ส่วนหนึ่งมีปมมาจากประสบการณ์ในวัยเด็ก ลักษณะการผลักไสคนอื่น และความมั่นใจในตัวเองขั้นสูงที่ปรากฏออกมา เมื่อเขาได้เข้ามาสัมผัสกับความสัมพันธ์ในทีมภารกิจลับแบบปุถุชนในสังคมทั่วไปที่ไม่ได้ถูกครอบด้วยกรอบแนวคิดของผู้ปกครอง เขากลับรับรู้ว่าแท้จริงแล้ว ตัวเขาเองก็เป็นคนที่อยากให้ผู้อื่นมารักเขา (อยากเป็นคนที่ถูกรัก) ซึ่งเจมส์ กันน์เล่าว่า วิธีหนึ่งที่เขาใช้คือ แต่งตัวด้วยชุดสีแดง น้ำเงิน ขาว สวมหมวกสีเงินแวววาวรูปทรงประหลาด
เจมส์ กันน์ ผู้กำกับซีรีส์บอกว่า “วิธีนี้ไม่เวิร์กเลยสำหรับเขา นั่นคือเรื่องในส่วนที่น่าเศร้า”
โดยรวมแล้ว ส่วนผสมขององค์ประกอบต่าง ๆ ในซีรีส์พีซเมเกอร์ จากฉากต่อสู้ ดนตรีประกอบ ไดอะล็อกยียวนกวนประสาท ภาพเนื้อหนังมังสาและคำสบถ เนื้อหา บท การแสดง การเดินเรื่อง ไปจนถึง ‘เซอร์ไพรส์’ ในอีพีสุดท้าย หากแยกออกจากกัน คงต้องบอกว่า แต่ละองค์ประกอบอยู่ในเกณฑ์ ‘ธรรมดา’ ไม่ได้ถึงกับโดดเด่นถึงขีดสุด
แต่เมื่อนำมันเข้ามาผนวกรวมกัน กลับทำให้ซีรีส์เกี่ยวกับตัวละครระดับรองในจักรวาลฮีโร่ยักษ์ใหญ่ที่ครองตลาดสื่อบันเทิงสายทีวีและภาพยนตร์เวลานี้ กลายเป็นอีกหนึ่งผลงานที่มีสีสัน มีชีวิตชีวา
ที่สำคัญคือ บทเรียนอย่างหนึ่งที่ได้จากภูมิหลังของตัวพีซเมเกอร์ ตัวละครซึ่งแม้แต่ผู้กำกับยังนิยามตัวละครเอกของซีรีส์ว่าเป็น ‘ไอ้ระยำ’ (douchebag) คนหนึ่งเลย ส่วนหนึ่งแล้ว ตัวตนของปัจเจกบุคคลไม่ได้พัฒนาขึ้นมาอย่างโดดเดี่ยว หากแต่ประกอบสร้างขึ้นจากองค์ประกอบหลายอย่าง (เช่นเดียวกับซีรีส์)
ด้านหนึ่งของพีซเมเกอร์ได้รับอิทธิพลจากพ่อของเขาเองและประสบการณ์ในวัยเด็กอันมาจากการอยู่กับพ่อนั่นเอง
แต่นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ตัวตนของบุคคลที่แท้จริง เบื้องลึกแล้วมาจากการตัดสินใจด้วยประสบการณ์และความคิดของตัวเองด้วย
เรื่อง: รัชตะ จึงวิวัฒน์
อ้างอิง :
https://www.polygon.com/22948290/peacemaker-bisexual
https://people.com/tv/john-cena-on-peacemaker-season-2-possibilities-of-crossover-with-dwayne-johnson-black-adam/