read
social
09 มี.ค. 2565 | 09:00 น.
สุภาณี วิชัยพล เกษตรอินทรีย์กลางหุบเขา ที่ส่งออกความอร่อยผ่านช่องทางออนไลน์
Play
Loading...
บริเวณดินแดนที่ราบท่ามกลางหุบเขา ซึ่งมีแม่น้ำลำคลองหลายสายพาดผ่าน รวมไปถึงอากาศกำลังพอเหมาะกับการเพาะปลูก น่าจะทำให้ชาวบ้านเขาแก้วมีรายได้ที่มั่นคงจากผลผลิตทางการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ แต่ทำไมที่ผ่านมากลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น
แม้มองไปตรงไหนก็จะเห็นสีเขียวของพืชผลนานาชนิดทั้งผลไม้ เช่น เงาะ ลองกอง มังคุด ทุเรียน ทุเรียน มังคุด พืชผักอื่น ๆ ที่งอกงามตามฤดูกาล ไปจนถึงพืชเศรษฐกิจอย่างยางพารา แต่เพราะความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลายอย่างในช่วงที่ผ่านมาทำให้การทำเกษตรแบบเดิมกลับไม่ได้ผลเหมือนเคย ไม่นับการตลาดแบบไร้พรมแดนที่ส่งผลกระทบกับราคาพืชผลของชาวบ้านเขาแก้วอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“หมู่บ้านเขาแก้วเราแทบไม่ประสบปัญหาอื่นเลย นอกจากเรื่องราคาผลผลิตการเกษตรตกต่ำ ซึ่งเป็นอาชีพหลักที่เราใช้เลี้ยงปากท้องของคนในครอบครัวมาตั้งแต่รุ่นปู่ยาตายาย”
ผู้ใหญ่หญิง-สุภาดี วิชัยพล
ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 ตำบลเขาแก้ว อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช เล่าให้เราฟังถึงสภาพโดยรวมของบ้านเขาแก้วที่เธอเป็นผู้ใหญ่บ้าน เธอยังบอกอีกว่านอกจากจะเป็นผุ้ใหญ่บ้านแล้วเธอยังดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการหมู่บ้านอีกตำแหน่ง ซึ่งแม้ว่าบ้านเขาแก้วจะอยู่ในพื้นที่อาจเรียกได้ว่า มีอากาศดีเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย แต่ด้วยปัจจัยหลายอย่างทำให้พืชผักผลไม้อันอุดมสมบูรณ์ของที่นี่กลับถูกมองข้าม จนทำให้ประสบปัญหาราคาผลผลิตการเกษตรตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญมากที่เธอและกรรมการหมู่บ้านทุกคนได้ร่วมกันแก้ไข
ซึ่งในตอนนี้พืชผักผลไม้ของบ้านเขาแก้ว กลับเริ่มเป็นที่รู้จักของคนภายนอกมากขึ้น พร้อมกับราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นกว่าเดิม ส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในบ้านเขาแก้วเริ่มดีขึ้น สิ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนของเรื่องราวนี้จะเป็นอะไรนั้น ต้องให้ผู้ใหญ่บ้านหญิงคนเก่งแห่งบ้านเขาแก้วเป็นผู้เล่าด้วยตัวเอง
“ขั้นตอนแรกของการแก้ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ เราต้องกลับมาแก้ที่การปรับปรุงคุณภาพของดิน เพราะถ้าดินดีก็จะช่วยให้คุณภาพของพืชผักผลไม้ที่ปลูกดีขึ้นไปด้วย เราเลยหันมาอบรมชาวสวนของเราให้ใช้เกษตรอินทรีย์”
เธอเริ่มต้นด้วยการให้ทุกคนเปลี่ยนจากปุ๋ยเคมีมาเป็นใช้ปุ๋ยชีวภาพที่ทำมาจากมูลไส้เดือนอันอุดมไปด้วยธาตุอาหารที่เหมาะสม และไม่มีสารพิษตกค้าง ซึ่งนอกจากจะช่วยปรับปรุงคุณภาพดินในระยะยาวแล้ว ปุ๋ยดินจากไส้เดือนที่สามารถผลิตเองได้ในชุมชนยังทำให้ลดต้นทุนของเกษตรกรที่ต้องไปซื้อปุ๋ยเคมีราคาแพงมาใช้ได้ส่วนหนึ่ง
จากเดิมที่เศษผักเศษอาหารที่กินเหลือในครัวเรือนถูกทิ้งอย่างไร้ค่า ถูกนำมาทำเป็นน้ำหมักสารตั้งต้นของอาหารไส้เดือนดิน ผู้ทำหน้าที่ช่วยย่อยสลายเศษซากเหล่านั้นให้กลายเป็นปุ๋ยชั้นดีจากธรรมชาติ
การใช้แนวปฏิบัติด้วยการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้มากที่สุดนี้ เป็นอีกหนึ่งแนวทางการใช้ชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยผู้ใหญ่หญิงและกรรมการหมู่บ้านทุกคนพยายามให้ชาวบ้านทุกครัวเรือนในบ้านเขาแก้ว หันมาปลูกผักกินเอง พอเหลือก็สามารถนำผักไปขายได้ เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับคนในครอบครัว และรู้จักการทำบัญชีครัวเรือนเพื่อบริหารรายรับรายจ่าย เพราะเธอเชื่อมั่นว่าการพึ่งพาตัวเองได้จากเรื่องเล็ก ๆ อย่างการปลูกผักกินเองนี้ จะช่วยให้ทุกคนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น คนในชุมชนบ้านเขาแก้วก็จะอยู่เย็นเป็นสุขอย่างยั่งยืนต่อไป
ด้วยศักยภาพความอุดมสมบูรณ์ที่มีอย่างเหลือเฟือของหมู่บ้านในหุบเขาแห่งนี้ หลังจากพวกเขาหันหลังให้กับสารเคมี เปลี่ยนมาสู่วิถีธรรมชาติ ไม่นานพลังของพื้นดินที่เคยถูกมองข้ามก็เริ่มปรากฏให้เห็นอีกครั้งในรูปของพืชผักสีสด และผลไม้ลูกโตหวานฉ่ำนานาชนิด
แน่นอนว่าเพียงแค่ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพยังไม่สามารถช่วยให้ชาวบ้านเขาแก้วมีรายได้ที่ยั่งยืนได้ ช่องทางใหม่ ๆ ในการส่งออกความอร่อยนี้ไปถึงมือของผู้ที่อยากลิ้มรสจึงเป็นการบ้านต่อไปของผู้ใหญ่หญิง
“พอพืชผลเรามีคุณภาพแล้ว ขั้นต่อไปก็คือเราส่งเสริมให้มีการขายออนไลน์ ตอนนี้แต่ละวันจะมีออเดอร์เข้าในเยอะมาก ต่างคนต่างก็หาลูกค้ามาให้กับหมู่บ้าน ทางผู้ใหญ่บ้านและคณะกรรมการหมู่บ้านของเราก็มีการช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นการหาวิทยากรมาอบรมการขายของออนไลน์ ไปชี้แนะตามซุ้มบ้านต่าง ๆ ให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการขายออนไลน์ แล้วก็เพิ่มราคาผลผลิตให้ดีขึ้น”
ความยากอย่างหนึ่งของการแก้ปัญหาพืชผลทางการเกษตรราคาตกต่ำ ด้วยการหันมาใช้เกษตรแบบธรรมชาติ อยู่ที่การโน้มน้าวให้คนในชุมชนทุกคนร่วมมือเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการแก้ไขปัญหาครั้งนี้ เพราะหากมีการใช้สารเคมีเพียงเล็กน้อยในพื้นที่ จะส่งผลถึงภาพรวมที่ทุกคนต่างลงมือลงแรงกันมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผลกระทบที่แย่ที่สุดอาจทำให้สิ่งที่ช่วยกันสร้างขึ้นมาทั้งหมดต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ภายในแค่ชั่วข้ามคืน
ผู้ใหญ่หญิงเลยใช้กลไกของคณะกรรมการหมู่บ้านที่โดดเด่นเรื่องการเข้าถึงชาวบ้านเพื่อสร้างเข้าใจในเรื่องนี้ ทำให้ทุกคนในหมู่บ้านได้ให้ความร่วมมืออย่างจริงจัง จนท้ายที่สุดพืชผักผลไม้ของบ้านเขาแก้วที่ผลิตออกมาเป็นพืชผลเกษตรอินทรีย์ปลอดสารพิษตามที่ตลาดกำลังต้องการ
แม้บ้านเขาแก้วมีเพียงปัญหาราคาผลผลิตการเกษตรตกต่ำ ไม่มีปัญหาอื่น ๆ อย่าง ปัญหายาเสพติด หรือ ปัญหาคนแรงงานต่างด้าว แต่ผู้ใหญ่หญิง และทีมงานคณะกรรมการหมู่บ้านก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พวกเขาได้มีการแผนพัฒนาหมู่บ้านที่ทำกันอย่างจริง โดยการจัดตั้งกองทุนกลางที่สามารถบริหารจัดการได้เองในชุมชน เพื่อใช้ในการพัฒนาหมู่บ้าน
“ในด้านสังคมที่เราช่วยที่เราทำกันในหมู่บ้าน เราจะมีการส่งเสริมเด็กด้อยโอกาส ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง เราจะใช้เงินสวัสดิการจาก 5 เปอร์เซ็นต์ของกองทุนหมู่บ้านมาช่วยเหลือ ไม่ว่าทุนการศึกษาเด็ก การนอนโรงพยาบาล แล้วก็ถุงยังชีพ เราจะสามารถช่วยเหลือคนในชุมชนได้จากสวัสดิการกองทุนหมู่บ้านส่วนนี้ เพราะเราจะไม่ปล่อยให้คนของเราที่กำลังลำบากไว้ข้างหลัง เราจะต้องเติบโตไปด้วยกัน”
ยิ่งในช่วงการเฝ้าระวังโรคระบาดโรคโควิด-19 ผู้ใหญ่หญิงซึ่งเป็นเจ้าพนักงานควบคุมโรคโดยตำแหน่ง คอยรับนโยบายในการป้องกันและเฝ้าระวังจากจังหวัดและเป็นเจ้าพนักงานควบคุมโรคของหมู่บ้าน ทำหน้าคัดกรองคนเข้าออกในหมู่บ้าน ถ้าสงสัยว่าเสี่ยงสูงก็ทำการตรวจเบื้องต้นด้วย ATK มีการกวดขันห้ามออกเคหสถานในช่วงเคอร์ฟิว แล้วก็มีการรณรงค์ให้ฉีดวัคซีนครบ 100 เปอร์เซ็นต์ ผลที่ได้ทำให้ตอนนี้หมู่บ้านกลางหุบเขาแห่งนี้ มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงถึง 91 เปอร์เซ็นต์
ความสำเร็จที่เกิดขึ้นของบ้านเขาแก้ว มาจากความร่วมมือของคณะกรรมการหมู่บ้าน แล้วก็คนในชุมชน โดยทุกคนมีเป้าหมายร่วมกันที่จะสร้างการพัฒนาในหมู่บ้านให้เติบโตไปด้วยกันโดยไม่ทิ้งคนที่ลำบากไว้ข้างหลัง สิ่งที่ตามมาคือทำให้ผู้คนในชุมชนหมู่บ้านเขาแก้วมีความรัก ความสามัคคี มีความกลมเกลียวกันมากขึ้น
“กรรมการหมู่บ้านมีคำขวัญว่าประเทศต้องมีรัฐบาล หมู่บ้านต้องมี กม. เพราะคณะกรรมการหมู่บ้านเหมือนคณะรัฐบาลของหมู่บ้าน ที่ทำหน้าที่เพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนในหมู่บ้านดีขึ้นเรื่อย ๆ มีความทุกข์น้อยลง สุขมากขึ้น ตามภารกิจของเราคือ บำบัดทุกข์บำรุงสุข”
ผู้ใหญ่หญิงเป็นตัวแทนของทุกคนที่เกี่ยวข้องพูดความรู้สึกที่พวกเธอได้มีส่วนช่วยทำให้บ้านเขาแก้ว หมู่บ้านกลางหุบเขาที่เคยประสบปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ เปลี่ยนมาเป็นสร้างรายได้ด้วยการส่งออกความอร่อยของพืชผลเกษตรอินทรีย์ไปทั่วประเทศด้วยช่องทางออนไลน์ว่า
“พอได้เห็นคนในหมู่บ้านของเรามีความสุข ก็รู้สึกอยากทำงานต่อไป ไม่รู้สึกเหนื่อยท้อกับการทำงานค่ะ กลับมีกำลังใจในการดำเนินงานให้กับหมู่บ้าน เพราะมีพ่อแม่พี่น้องเป็นกำลังใจให้ ช่วยผลักดันให้หมู่บ้านเราเข้มแข็ง”
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3487
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6940
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
818
แท็กที่เกี่ยวข้อง
ThePeople
PartnerContent
กรมการปกครอง
บำบัดทุกข์บำรุงสุข
ทุกข์น้อยลงสุขมากขึ้น
คณะกรรมการหมู่บ้าน