read
social
11 มี.ค. 2565 | 09:30 น.
วิชัย เป็งเรือน: เปลี่ยนปัญหาไฟป่า เป็นรายได้ที่ทั้งคนและโลกได้กำไรไปด้วยกัน
Play
Loading...
ถ้าคุณเป็นนายกฯ จะแก้ปัญหา PM 2.5 ด้วยวิธีไหน? แน่นอนทุกคนรู้ว่าปัญหาฝุ่นควันที่ส่งผลกระทบกับคนทั่วประเทศนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการเผาป่าเพื่อทำการเกษตร ถ้าให้เกษตรกรหยุดเผาเราอาจแก้ไขต้นเหตุหนึ่งของฝุ่นควันได้ แต่ความซับซ้อนที่ตามมาคือ ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นซ้ำเติมเกษตรกรที่มีรายได้น้อยอยู่แล้ว ยังไม่ได้พูดถึงว่าบางครั้งสาเหตุหนึ่งของฝุ่นควันเกิดจากไฟป่าที่ไม่สามารถควบคุมได้
ถ้าเป็นนายกฯ จะแก้ปัญหา PM 2.5 ปัญหาไฟป่า และปัญหาปากท้อง ทั้งหมดนี้ด้วยวิธีไหน?
“ปัญหาหมอกควัน ไฟป่า เป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 คนในชุมชนเราเป็นด่านแรกที่จะเผชิญปัญหานี้ก่อนพี่น้องเชียงใหม่ หรือคนอื่น ๆ จะประสบปัญหา พวกเราเลยหาทางลดปัญหาหมอกควันไฟป่าในพื้นที่อยู่ตลอดเวลา”
หลายคนอาจนึกไม่ถึงว่าชาวบ้านในพื้นที่ที่ถูกมองว่าเป็นต้นเหตุของปัญหานั้น พวกเขาต่างใช้ชีวิตท่ามกลางฝุ่นควันพิษด้วยความยากลำบากกว่าคนนอกพื้นที่หลายเท่าตัว เป็นที่มาให้พ่อหลวงวิชัย เป็งเรือน ผู้ใหญ่บ้าน บ้านต้นผึ้ง หมู่ที่ 7 ตำบลแม่โป่ง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ได้หาวิธีร่วมกับคนในชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหานี้
“ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมหมอกควันไฟป่า ส่วนหนึ่งมาจากการบุกรุกทำลายป่า เมื่อก่อนผู้เฒ่าผู้แก่เขามีความคิดเดิม ๆ ว่าเผาป่าแล้วเห็ดจะออก เผาป่าแล้วจะทำให้เข้าป่าสะดวกขึ้น แต่ปัญหาที่ตามมาคือ หมอกควันไฟป่าที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับสุขภาวะและสุขภาพของคนในหมู่บ้านทั้งการไอหายใจลำบาก”
ด้วยอีกตำแหน่งหนึ่งของผู้ใหญ่บ้านวิชัย เป็นประธานคณะกรรมการหมู่บ้าน ซึ่งทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหารของหมู่บ้าน เขาจึงเหมือนนายกรัฐมนตรีหมู่บ้าน ทำให้เขาต้องคิดไปไกลกว่าแค่การให้ชาวบ้านเลิกเผาป่าเพื่อลดหมอกควัน แต่ต้องแก้ปัญหาเรื่องปากท้องซึ่งเป็นกระดุมเม็ดแรกของปัญหาทั้งหมดอีกด้วย
พ่อหลวงวิชัยเริ่มต้นด้วยการขอจัดตั้งป่าชุมชนภายใต้ พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ให้ถูกต้องตามกฎหมายจากกรมป่าไม้ เพื่อสร้างระเบียบข้อตกลงในการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนร่วมกัน และเป็นการอนุรักษ์พืชพรรณที่มีในป่าชุมชนซึ่งเป็นแหล่งทำมาหากิน แหล่งสร้างรายได้ ที่พ่อหลวงวิชัยเรียกว่าเป็นแหล่ง ซูเปอร์มาร์เก็ตในป่าชุมชน
ในแต่ละปีชาวบ้านต้นผึ้ง จะร่วมกันทำกิจกรรมในป่าชุมชนเพื่อเป็นการดูแลรักษาป่าของพวกเขาอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการทำแนวกันไฟ การทำคอกเสวียนกักเก็บใบไม้ในป่าชุมชน การปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง ตามแนวทางพระราชดำริ
“เรามีต้นไม้ใหญ่ที่มีฝูงผึ้งมาทำรังจำนวนมากเลยเรียกว่าบ้านต้นผึ้ง ป่าชุมชนเราลักษณะเป็นป่าเต็งรัง มีต้นไม้ที่คนท้องถิ่นเรียกว่าต้นตึง ใบต้นตึงในแต่ละปี ๆ มีการร่วงหล่นในป่าชุมชนเราจำนวนมาก รวมแล้วก็หลายตัน ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงไฟป่าอย่างดี เราเลยคิดกระบวนการในการจัดการเชื้อเพลิงในป่าชุมชนและสร้างรายได้ให้ชุมชนไปพร้อมกัน จึงเกิดแนวคิดการนำใบตองตึงมาทำเป็นจานชามใบไม้รักโลก”
จากใบตองตึงแห้งกรอบที่เคยเป็นเชื้อเพลิงไฟป่าชั้นดี ถูกเปลี่ยนเป็นธนบัตรใบไม้มูลค่าใบละ 20 สตางค์ โดยชาวบ้านหรือว่าผู้สูงอายุที่ว่างจากการทำงานสามารถเข้าป่ามาเก็บใบตองตึงไปขายให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนป่าต้นผึ้งได้ ซึ่งมีการรวมกลุ่มกันทำผ้าป่าใบตองตึง เพื่อเอาไว้เป็นกองทุนใบตองตึงของหมู่บ้าน
ใบตองตึงที่รวบรวมได้ จะถูกนำขึ้นรูปเป็นจานชามสวยงามน่าใช้งาน แล้วส่งออกจำหน่ายผ่านช่องทางต่าง ๆ ร้านค้าประชารัฐกองทุนหมู่บ้านบ้านต้นผึ้ง และช่องทางออนไลน์ ส่วนหนึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากโรงแรม รีสอร์ท โฮมสเตย์ต่าง ๆ ที่สั่งผลิตล่วงหน้า ทำให้ผลิตภัณฑ์จากใบตองตึงของหมู่บ้านต้นผึ้งผลิตแทบไม่ทัน
“การนำใบตองตึงมาทำเป็นจานชามใบไม้รักโลก เป็นจุดเปลี่ยนที่ช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้ และลดปริมาณเชื้อเพลิงในป่าชุมชนได้เป็นอย่างดี”
ด้วยความรักสามัคคีของพี่น้องคนบ้านต้นผึ้งด้วยบวกกับการทำงานอย่างตั้งใจของคณะกรรมการหมู่บ้าน โดยการนำของพ่อหลวงวิชัย ทำให้ในปีที่ผ่านมาพื้นที่ป่าชุมชนของหมู่บ้านต้นผึ้ง ไม่เกิดไฟป่าขึ้นในพื้นที่แม้แต่ครั้งเดียว จากการตรวจสอบจุด Hot Spot ด้วยข้อมูลดาวเทียมของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA
“โครงการต่อไปที่พวกเราจะทำในอนาคตคือ จะทำกระถางใบไม้จากใบตองตึงเพื่อเป็นการเพาะชำกล้าไม้แล้วนำมาปลูกคืนป่าโดยให้กระถางใบไม้นั้นย่อยสลายเป็นปุ๋ยให้กับป่าชุมชนเราไปด้วย”
สิ่งหนึ่งที่สะท้อนถึงความสำเร็จของการที่ชาวชุมชนหมู่บ้านบ้านต้นผึ้งหันมาดูแลป่าชุมชนของพวกเขา คือตัวเลขปริมาณการกักเก็บคาร์บอนเครดิตในป่าชุมชน ซึ่งมีการศึกษาว่า ในปี ๆ หนึ่งสามารถกักเก็บคาร์บอนเครดิตได้ประมาณ 300 ตัน คาร์บอนเครดิตเทียบเท่า
โดยในอนาคตพ่อหลวงวิชัยจะนำคาร์บอนเครดิตไปขายให้กับภาคเอกชนที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ เปลี่ยนเป็นทุนในการพัฒนาหมู่บ้าน พัฒนาป่าชุมชนของพวกเขาต่อไป
ตอนนี้หมู่บ้านต้นผึ้ง ที่เคยเป็นหมู่บ้านไกลปืนเที่ยงมาก ๆ ซึ่งครั้งหนึ่งแทบไม่มีคนรู้จักว่าบ้านต้นผึ้งคือหมู่บ้านแห่งหนตำบลไหน เปลี่ยนเป็นหมุดหมายของผู้คนที่ตั้งใจเดินทางมาอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อมาเรียนรู้ศึกษาดูงานในเรื่องการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและการสร้างงานสร้างอาชีพที่ได้ผลจริง ทำให้ชาวบ้านต้นผึ้งเกิดความภาคภูมิใจ
อีกหนึ่งรางวัลที่สร้างความภูมิใจให้กับหมู่บ้านต้นผึ้งคือรางวัลชนะเลิศโครงการคัดเลือกหมู่บ้านเข้มแข็ง ตามแนวทาง “แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง” (หมู่บ้านอยู่เย็น) ประจำปี พ.ศ. 2564 ระดับจังหวัด ของจังหวัดเชียงใหม่
รางวัลนี้เป็นสิ่งพิสูจน์ถึงความรักความสามัคคีและตั้งใจทำงานของคณะกรรมการหมู่บ้าน หน่วยที่เล็กที่สุดในการบริหารหรือการปกครองในพื้นที่ของหมู่บ้าน ร่วมกับพี่น้องชาวบ้านหมู่บ้านต้นผึ้งตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี ในฐานะประธานคณะกรรมการหมู่บ้าน พ่อหลวงวิชัยได้พูดถึงที่มาของความสำเร็จในครั้งนี้ว่า
“ผมเองเป็นผู้ใหญ่บ้านตั้งแต่เรียนจบปริญญาใหม่ ๆ อายุแค่ 25 ปี เพราะชาวบ้านเห็นว่าเราน่าจะปกครองพัฒนาหมู่บ้านได้ แรก ๆ ก็มีล้มลุกคลุกคลานบ้าง เพราะเรายังใหม่ ก็ร่วมมือกันทุกคนช่วยกันพัฒนามาเรื่อย ๆ ลำพังผมคนเดียวไม่สามารถทำงานได้ เราเลยมีการประชุมประชาคมหมู่บ้านร่วมกับคณะกรรมการหมู่บ้านแล้วก็พี่น้องชาวบ้านกันทุกเดือน เวลาเรามีปัญหาก็จะให้คณะกรรมการหมู่บ้านและชาวบ้านได้ร่วมกันแก้ไข”
ความร่วมมือร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวกันของคณะกรรมการหมู่บ้านและชาวบ้านในหมู่บ้าน โดยมีตัวอย่างความสำเร็จในการเปลี่ยนปัญหาไฟป่า ให้เป็นรายได้ที่ทั้งคนในหมู่บ้านและสิ่งแวดล้อมได้ประโยชน์ร่วมกัน เป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ เหมือนเป็นการสร้างรากแก้วสำคัญที่หยั่งลึกอย่างมั่นคงในหมู่บ้าน ซึ่งมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนหมู่บ้านให้เป็นมีความเข้มแข็งในระดับประเทศ โดยการทำงานประสานร่วมกับฝ่ายปกครอง ฝ่ายบริหารท้องที่ ท้องถิ่น ทำให้หมู่บ้านต้นผึ้งมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ตามแนวคิดที่จะทำให้ชาวบ้าน ทุกข์น้อยลง สุขมากขึ้น ซึ่งพ่อหลวงวิชัยได้ตั้งใจไว้
“ภาพที่ผมได้ฝันไว้ อยากให้คณะกรรมการหมู่บ้านหรือชุมชนอื่น ๆ ได้ร่วมกันขับเคลื่อนต่อไป ทำงานเป็นทีมเดียวกันให้มีความสมัครสมานสามัคคี เข้มแข็ง เพื่อให้งานที่ทำประสบผลสำเร็จ เพราะว่าเราเกิด เรากิน เราอยู่ แล้วอนาคตก็จะตายที่บ้านเรา ถ้าเราไม่เริ่มต้นที่ตัวเราก่อน แล้วใครจะมาทำให้หมู่บ้านของเรา เมื่อเราทำสำเร็จในระดับหมู่บ้านแล้ว เราก็ขยายไปช่วยให้ยั่งยืนในระดับที่ใหญ่ขึ้นต่อไป”
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
รายชื่อคณะกรรมการตัดสิน The People Awards 2025: RISE TO LEAD
17 ม.ค. 2568
1
นายกฯ ประกาศช่วยเหลือเด็กนอกระบบทั้ง 77 จังหวัด ผ่าน Thailand Zero Dropout
17 ม.ค. 2568
2
“ไลอ้อน” มอบรอยยิ้มความสุขให้กับเด็กและเยาวชนไทย สนับสนุนงานวันเด็กแห่งชาติ
17 ม.ค. 2568
1
แท็กที่เกี่ยวข้อง
ThePeople
PartnerContent
กรมการปกครอง
บำบัดทุกข์บำรุงสุข
ทุกข์น้อยลงสุขมากขึ้น
คณะกรรมการหมู่บ้าน