read
social
15 มี.ค. 2565 | 09:30 น.
สุพจน์ ละบุญเมือง: โครงการน้ำ ที่ช่วยปลดหนี้ให้ชาวบ้านด้วยเกษตรแบบยั่งยืน
Play
Loading...
น้ำเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ ในร่างกายคนเราเองมีน้ำอยู่ถึง 3 ใน 4 ส่วน พืชผลการเกษตรและการทำปศุสัตว์ต่างก็ต้องการน้ำไม่แพ้มนุษย์ สภาพความแห้งแล้งเลยเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาที่ตามมามากมายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แม้ปัญหาความแห้งแล้งจะเป็นปมเงื่อนที่มีความซับซ้อนซึ่งแก้ไขค่อนข้างยาก แล้วยังส่งผลกระทบกับปัญหาอื่น ๆ อีกมาก แต่สำหรับ สุพจน์ ละบุญเมือง ผู้ใหญ่บ้าน ในฐานะประธานคณะกรรมการหมู่บ้าน เขากลับมองในแง่ดีว่าอย่างน้อยก็รู้ว่าควรต้องเริ่มต้นแก้ปัญหาที่ตรงไหน
“ในพื้นที่ของเรากว่า 1,800 ไร่ เป็นพื้นที่ทางการเกษตรประมาณ 800 กว่าไร่ ส่วนใหญ่จะทำอาชีพโคนม รองลงมาเป็นอาชีพเกษตรกรรม ปลูกข้าวโพด ปลูกมัน ผมต้องการผลักดันเรื่องโครงการน้ำ เพราะเชื่อว่าถ้าทำสำเร็จแล้วชาวบ้านทุกครัวเรือนจะมีน้ำเพื่อการเกษตร ทำให้มีอาชีพที่มั่นคง และอยู่เย็นเป็นสุขอย่างแน่นอน”
ผู้ใหญ่สุพจน์ อยู่ในตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 8 บ้านสหสัมพันธ์อ่างทอง ตำบลหนองบัว อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี มานานกว่า 12 ปี ช่วงก่อนหน้าที่เขาอาสาเข้ามารับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน บริเวณแห่งนี้ยามที่ประสบปัญหาภัยแล้ง พื้นดินและบ่อบึงที่เคยชุ่มชื้นกลับแห้งฝาดแตกระแหง จนทั้งหมู่บ้านแทบจะไม่มีน้ำสะอาดไว้ใช้สำหรับดื่มกินเลย
ลองคิดว่าถ้าเป็นเกษตรกรที่ทำไร่ปลูกข้าวโพด ลงทุนไร่นึงไม่ต่ำกว่าครึ่งหมื่น หากในปีนั้นฝนแล้งไม่ตกต้องตามฤดูกาล แรงงาน ปุ๋ย ไปจนถึงเมล็ดพันธุ์ที่ต้องกู้ยืมเพื่อจัดหามาจะกลายเป็นความสูญเปล่าหลังจบฤดูเพาะปลูก แต่ที่ตามมาคือหนี้สินและความยากจนที่จะซ้ำเติมต่อไปอย่างไม่รู้จบ
หลังจากเข้าคลุกคลีกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับพื้นที่นี้อย่างต่อเนื่อง ลงมือศึกษาความเป็นไปพร้อมเริ่มต้นแก้ไขไปทีละนิด
ท้ายที่สุดสิ่งที่เขาและทีมงานคณะกรรมการหมู่บ้านได้พยายามมานานก็ปรากฏผลให้เห็น
“เราพยายามผลักดันโครงการน้ำเพื่อเกษตรมาโดยตลอด โดยรับได้งบประมาณช่วยเหลือจากทางจังหวัดสำหรับดึงน้ำจากแหล่งน้ำอื่นมาช่วยในยามที่ฝนขาดช่วง ระยะแรกครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 400 กว่าไร่ ซึ่งยังไม่ครอบคลุมทั้งหมู่บ้าน แต่ในอนาคตเรากำลังของบประมาณเพิ่มเติมให้ทุกไร่นามีน้ำใช้อย่างเพียงพอ”
น้ำไม่เพียงแค่คืนความชุ่มชื้นสู่พื้นที่ทำการเกษตรเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เกษตรกรของบ้านสหสัมพันธ์อ่างทอง กลับมามีรอยยิ้มอย่างมีความสุขอีกครั้ง หลังจากพวกเขาไม่ต้องรอฝนทนแล้ง มีผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้น มีรายได้ที่มั่นคงกว่าเดิม และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ
“โครงการน้ำเป็นสิ่งที่พวกเราภาคภูมิใจมาก อนาคตเรากำลังจะทำโครงการของบประมาณเพิ่มเติมที่ให้น้ำครอบคลุมทั้งหมู่บ้าน เพื่อที่ชาวบ้านทุกคนจะได้มีอาชีพที่มั่นคงและมีรายได้ที่ยั่งยืน นอกจากนี้เรายังมีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ มีการฝากเงิน ออมทรัพย์ฝากทุกเดือนเดือนละ 100 บาท ใครมีมากฝากมาก แต่ไม่เกิน 1,000 ต่อเดือน เขาก็จะมีเงินเก็บ สิ้นปีจะมีเงินปันผล เพราะว่าเราเอาเงินที่ฝากปล่อยกู้ ให้ชาวบ้านยืมไปทำอาชีพ จะได้เป็นทุนสำรองของเกษตรกร ไม่ต้องไปกู้เงินนอกระบบ จะมีเงินตรงนี้ช่วยเหลือ คาดว่าอนาคตชาวบ้านที่นี่จะไม่มีคนจนเลยสักคนเดียว”
ถ้าน้ำเป็นจุดเริ่มของสิ่งมีชีวิต การออมก็เป็นจุดเริ่มของความมั่นคง ผู้ใหญ่บ้านสุพจน์ เลยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ซึ่งกลุ่มออมทรัพย์ช่วยให้ยามที่ขาดเหลือต้องการเงินทุนพวกเขาไม่จำเป็นต้องไปพึ่งพาภายนอกการกู้นอกระบบรายวัน สามารถใช้เงินหมุนเวียนภายในหมู่บ้านได้เอง
“มีประโยชน์ตรงที่เรามีเงินเก็บ พอถึงเวลาจะกู้ดอกเบี้ยก็ถูกด้วย เป็นการสนับสนุนเกษตรกรที่ต้องการมากู้ นอกจากกู้แล้วใครมีเหลือก็ฝากเพิ่มได้ด้วยเป็นประโยชน์แก่บุตรหลาน เพราะถึงเวลาเบิกเล่าเรียนอะไรก็เบิกได้ง่าย”
ความสำเร็จของโครงการน้ำ และโครงการออมทรัพย์เกิดจากความสามัคคีร่วมกันทำงานเป็นทีมเวิร์คของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งสวมหมวกอีกใบเป็นประธานคณะกรรมการหมู่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้านคนอื่น ๆ ที่มาจากตัวแทนของชาวบ้านในแต่ละคุ้มบ้าน ไปจนถึงภาครัฐ และภาคเอกชนที่มีส่วนร่วมยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ
โดยกลไกคณะกรรมการหมู่บ้านที่มีความใกล้ชิดกับชาวบ้าน ช่วยให้เข้าถึงความต้องการและสภาพปัญหา ความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งนอกจากปัญหาเรื่องความแห้งแล้งแล้ว ปัญหาอื่น ๆ ทั้งเรื่องถนนหนทาง โครงสร้างพื้นฐาน ทางคณะกรรมการหมู่บ้านก็ได้เข้ามาช่วยเหลือแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านในทันที
“คณะกรรมการหมู่บ้านจะเป็นคนแรกเลยที่เข้าไปดูแลชาวบ้าน โดยพวกเราจะมีตัวแทนเพื่อประชุมหารือถึงปัญหาแล้วหาแนวทางแก้ไขร่วมกันอยู่ตลอด เพราะคณะกรรมการหมู่บ้านมีหน้าที่ทำให้ประชาชนในหมู่บ้านมีความสุขเพิ่มขึ้น มีความทุกข์น้อยลง ในการดูแลลูกบ้าน เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับลูกบ้าน”
ไม่เพียงจะคอยบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับคนในหมู่บ้านเท่านั้น แต่ทางคณะกรรมการหมู่บ้าน บ้านสหสัมพันธ์อ่างทอง ยังช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้คนโดยรอบอีกด้วย อย่างเช่นในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ในเวลานั้นทางบ้านสหสัมพันธ์อ่างทองยังมีกลุ่มเสี่ยงเป็นศูนย์ แต่ได้ใช้พื้นที่ในหมู่บ้านเพื่อตั้งเป็นศูนย์ที่พักกักตัวผู้ป่วย
โดยทางคณะกรรมการหมู่บ้านมีหน้าที่ไปอธิบายให้ความรู้สร้างความเข้าใจให้กับชาวบ้านถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ด้วยใช้เครื่องมือสื่อสารผ่านออฟพลิเคชันไลน์ และเฟสบุ๊ค เป็นหนึ่งในช่องทางติดต่อประชาสัมพันธ์ เพราะสามารถเข้าถึงทุกคนได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ควบคู่ไปกับการประกาศเสียงตามสายปกติ
หัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนให้ทุกภารกิจลุล่วงไปด้วยดีของบ้านสหสัมพันธ์อ่างทอง มาจากการทำงานเป็นทีมของคณะกรรมการหมู่บ้าน ที่ทุกคนร่วมมือทุ่มเททำงาน เพื่อเป้าหมายเดียวกัน ในการสร้างความสุขให้คนในหมู่บ้าน ส่งเสริมให้หมู่บ้านเข้มแข็ง ตามแนวทาง “แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง”
“ความภาคภูมิใจที่เราได้แก้ปัญหาความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน ให้เขามีความเป็นอยู่ที่ดี มีความสุข มีเงินเก็บ มีเงินใช้ และก็อยากจะพัฒนาให้เขามีรายได้ที่ยั่งยืนในอนาคตภายภาคหน้า มีบ้างที่รู้สึกเหนื่อย แต่เราไม่ท้อ เพราะเราต้องการให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความสุข และดำรงชีวิตที่ดีทุกคน”
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
รายชื่อคณะกรรมการตัดสิน The People Awards 2025: RISE TO LEAD
17 ม.ค. 2568
1
นายกฯ ประกาศช่วยเหลือเด็กนอกระบบทั้ง 77 จังหวัด ผ่าน Thailand Zero Dropout
17 ม.ค. 2568
2
“ไลอ้อน” มอบรอยยิ้มความสุขให้กับเด็กและเยาวชนไทย สนับสนุนงานวันเด็กแห่งชาติ
17 ม.ค. 2568
1
แท็กที่เกี่ยวข้อง
ThePeople
PartnerContent
กรมการปกครอง
บำบัดทุกข์บำรุงสุข
ทุกข์น้อยลงสุขมากขึ้น
คณะกรรมการหมู่บ้าน