รอย อัลเลน: ผู้ก่อตั้ง A&W จากการขายรูทเบียร์ข้างถนน เพราะกฎหมายห้ามขายเบียร์
แค่พูดคำว่า ‘รูทเบียร์’ รับประกันได้เลยว่าถ้าไม่นึกถึง ‘ยาหม่อง’ ก็ต้องเป็นร้าน ‘A&W’ อย่างแน่นอน
แต่รู้ไหมว่านอกจากรูทเบียร์ที่เป็นที่เลื่องลือแล้ว A&W แบรนด์แฟรนไชส์ร้านอาหารที่มีอายุ 103 ปี ก็ยังสร้างความประทับใจให้กับผู้บริโภคทั่วทุกมุมโลกแบบที่เรียกได้ว่า ไม่น้อยหน้าใครเลยทีเดียว
เริ่มต้นที่ข้างถนน
A&W เกิดขึ้นครั้งแรกด้วยรูทเบียร์เย็น ๆ ในวันที่อากาศร้อนอบอ้าว ริมถนนในปี 1919 สำหรับเทศกาลพาเหรดที่จัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่การกลับมาของทหารผ่านศึกจากเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 1 ในเมืองโลดี รัฐแคลิฟอร์เนีย
แต่ทำไมต้องเป็นรูทเบียร์นะ?
นั่นก็เพราะในช่วงเวลาดังกล่าว โปรเตสแตนต์ผู้เคร่งศาสนามองว่า ‘แอลกอฮอล์’ คือต้นเหตุของปัญหาที่ทำให้สังคมเลวร้ายลง จึงเกิดเป็นช่วงที่มีข้อห้ามในการห้ามผลิตหรือจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสหรัฐอเมริกาตามรัฐธรรมนูญ (Prohibition in the United States) ขึ้นมา
โดยที่มีการให้สัตยาบันโดยรัฐตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม ปี 1919 และมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 17 มกราคม ปี 1920 จนกระทั่งถึง ปี 1933 ยาวนานถึง 13 ปี ด้วยกัน
ทำให้ในช่วงเวลาดังกล่าวผู้คนต่างมองหาลู่ทางใหม่ ๆ ในการอยู่รวมกับกฎข้อห้ามที่สุดโต่งนั้น ทั้งการต้มแอลกอฮอล์ดื่มเอง ค้าเบียร์และเหล้าเถื่อน หรือมองหาสินค้าใหม่ ๆ ที่สามารถมาทดแทนและสร้างกำไรได้
รอย อัลเลน (Roy Allen) ก็เป็นหนึ่งเจ้าของไอเดียสุดแสนบรรเจิดที่หยิบเอา รูทเบียร์ ที่มีส่วนผสมมาจากสมุนไพรจำพวกรากไม้ และเปลือกไม้มาหมัก และกินแทนที่เบียร์ ได้อย่างหมดจด และสามารถกวาดรายได้จากมันได้เป็นจำนวนมาก
อัลเลน เกิดในรัฐอิลลินอยส์ ในปี 1882 ก่อนที่เขาจะมุ่งหน้าไปทางตะวันตกสู่แคลิฟอร์เนีย เพื่อทำงานด้านการโรงแรม และที่แห่งนี้เองที่ทำให้เขาได้พบกับเภสัชกรในรัฐแอริโซนา ที่มาพร้อมกับสูตรรูทเบียร์ในมือ
อัลเลนตัดสินใจซื้อสูตรและรายชื่อส่วนผสมมาด้วยความสนใจ ก่อนจะกลับมาตั้งแผงขายในวันดังกล่าว และประสบความสำเร็จอย่างมาก
กำเนิด A&W
ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้รูทเบียร์ที่ผลิตโดยอัลเลน จะได้รับความสนใจและขายดีเป็นเทน้ำเทท่า แต่เขาก็ยังไม่ได้มีการตั้งแบรนด์ขึ้นมาเป็นของตัวเองเลยซะทีเดียว
จนกระทั่งในปี 1922 ที่เขาได้พบกับคู่หูคนสำคัญอย่าง แฟรงก์ ไรท์ (Frank Wright) ที่เข้ามาร่วมหุ้นด้วย ทำให้จากร้านขายรูทเบียร์ธรรมดา ๆ ถูกกลายมาเป็น A&W Root Beer ชื่อที่ย่อมาจากนามสกุลของทั้ง 2 คน
นั่นก็คือ A ที่ย่อมาจาก Allen และ W ที่ย่อมาจาก Wright นั่นเอง
จนกระทั่งปี 1924 อัลเลนก็ได้ทำการซื้อหุ้นคืนจากไรท์ ก่อนจะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในชื่อ A&W ที่แม้จะไม่มีไรท์ในการดำเนินกิจการต่อก็ตาม
ครั้งแรกของหลายสิ่ง
ถ้าให้พูดถึงระยะเวลาตั้งแต่ A&W เริ่มต้นก่อตั้งขึ้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน หลายคนอาจจะไม่ได้สังเกตว่ามันเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรไปบ้าง หรือเพราะอะไรที่ทำให้ A&W สามารถอยู่รอดมาได้จนถึงในปัจจุบัน
ส่วนหนึ่งนั่นก็เป็นเพราะว่าปัจจุบันมีแฟรนไชส์เจ้าอื่น ๆ ที่เข้ามามีอิทธิพลเหนือกว่า และครองใจเหล่าสาวกฟาสต์ฟู้ด ไม่ว่าจะเป็น KFC McDonald’s หรือ Burger King
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า รากฐานของระบบการจัดการหรือแม้กระทั่งรูปแบบอาหารหลาย ๆ ครั้งก็เป็น A&W ที่เป็นคนริเริ่มขึ้นทั้งสิ้น
เริ่มจากการก่อตั้งร้านอาหารแบบ ‘แฟรนไชส์แห่งแรกในอเมริกา’ ในปี 1921 ที่ให้อิสระกับผู้ซื้อได้มากกว่าด้วยการเพิ่มรายการอาหารอื่น ๆ ได้โดยอิงจากดุลพินิจของพวกเขาได้เลย ไม่ว่าจะเป็น ชีสเต้าหู้ แซนด์วิชหมูสันใน เบอร์ริโต หรือสปาเกตตี ในแฟรนไชส์บางแห่ง และยังเป็นร้านแบบ ‘Drive-in แห่งแรกในซาคราเมนโต’ รัฐแคลิฟอร์เนีย ในปี 1923
และที่หลายคนไม่รู้ คือ A&W ยังคงเป็นที่แรกที่เกิดการรวมตัวอันแสนพิเศษของ ‘แฮมเบอร์เกอร์ เบคอน และชีส’ อีกด้วย! ซึ่งการรวมตัวนี้ก็ไม่ได้มาจากใครที่ไหน แต่เป็นหนึ่งในลูกค้าประจำนั่นเอง
“ขอเบคอนแผ่นหนึ่งวางบนชีสเบอร์เกอร์ และใส่สิ่งนั้นลงในเมนูของร้านให้ที” นั่นคือคำขอจากลูกค้าประจำของร้าน A&W ในปี 1963 ที่แฟรนไชส์ในมิชิแกน จนกลายเป็นต้นตำรับ ‘เบคอนชีสเบอร์เกอร์’ ขึ้น และขยายไปยังฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และญี่ปุ่น
และเป็นเจ้าแรกและเจ้าเดียวที่เสิร์ฟรูทเบียร์ในเหยือกแก้วแช่เย็น ที่ไม่ว่าจะกินกี่ครั้งก็ให้ความรู้สึกชื่นใจอย่างบอกไม่ถูก
A&W ในไทย
เป็นเวลากว่า 39 ปี ตั้งแต่ครั้งแรกที่ A&W ได้เปิดสาขาในไทย โดยมี บริษัท โกลบอล คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLOCON เป็นผู้ถือสิทธิ์มาสเตอร์แฟรนไชส์
และที่หลายคนอาจจะไม่รู้ก็คือ A&W เป็นแบรนด์ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดแฟรนไชส์แห่งแรกที่เข้ามาในประเทศไทย โดยเปิดสาขาแรกที่เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว ในปี 1983
และปี 1994 A&W สาขาในต่างประเทศ ร้านที่ 100 พอดิบพอดี ก็ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยเช่นเดียวกัน
แม้ในไทย A&W จะไม่ได้ฮิตติดตลาดมากนัก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า A&W อยู่คู่กับวัยรุ่นยุคเด็กสยาม จนกลายเป็นอีกหนึ่งร้านในความทรงจำไม่ต่างจาก Milk Plus ที่เพิ่งเปิดตัวไปเลย
หลายคนจึงอดใจหายไม่ได้ หลังจากได้ทราบข่าวการเตรียมยุติกิจการของทาง A&W ในประเทศไทย เนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจและโควิด-19 ที่เกิดขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม ‘รูทเบียร์’ ก็ยังไม่ได้หายไปไหนอย่างที่ใครต่อใครกังวล เพราะรูทเบียร์ในรูปแบบกระป๋อง Coca-Cola เป็นผู้ผลิตยังคงมีวางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อทั่วไปอยู่เหมือนเดิม
แต่สำหรับใครที่หลงรักการดื่มรูทเบียร์จากเหยือกแก้วแช่เย็นกับวาฟเฟิลคู่ใจ ในร้าน A&W อาจจะต้องรีบไปกินส่งท้าย ก่อนที่ร้าน A&W ในไทยทั้ง 26 สาขาจะหายไปในเร็ว ๆ นี้
ภาพ: https://www.awfranchising.com/research/aw-history/
อ้างอิง: https://www.thrillist.com/eat/nation/the-history-of-aw-restaurants-aw-root-beer
https://awrestaurants.com/blog/it-all-started-roadside-stand-roots-aw-restaurants
http://www.awthailand.com/About-us
https://www.awfranchising.com/research/aw-history/