มาริเอลา คาสโตร; หลานสาว ฟิเดล คาสโตร ผู้ปฏิวัติความเท่าเทียมทางเพศในคิวบา
แม้คิวบาจะเป็นประเทศในค่ายคอมมิวนิสต์ แต่กลับขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่เป็นมิตรต่อกลุ่ม LGBTQ+ ประเทศหนึ่ง รวมถึงมีการจัดงาน Pride อย่างเป็นทางการทุกปี ซึ่งความเปลี่ยนแปลงด้านทัศนคติของรัฐบาลคิวบาต่อเพศศึกษาและกลุ่ม LGBTQ+ นั้นมีแรงผลักดันสำคัญจากบุคคลภายในที่ขาดไปไม่ได้ นั่นคือ มาริเอลา คาสโตร (Mariela Castro) ผู้เป็นหลานของ ฟิเดล คาสโตร (Fidel Castro) อดีตผู้นำคิวบา
เธอเป็นลูกสาวของราอูล คาสโตร (Raúl Castro) น้องชายของฟิเดล คาสโตร และนั่นทำให้อดีตผู้นำคิวบามีศักดิ์เป็นลุงของเธอด้วย
มาริเอลาได้ใช้ตำแหน่งและชื่อเสียงของครอบครัวเพื่อผลักดันประเด็นเกี่ยวกับเพศศึกษาและสิทธิ LGBTQ+ มาหลายสิบปี จนเกิดความเปลี่ยนแปลงทางทัศนคติต่อกลุ่ม LGBTQ+ ในคิวบาอย่างมาก หลายคนยังเรียกการเคลื่อนไหวของเธอว่าเป็น 'การปฏิวัติในการปฏิวัติ' ด้วย และนี่อาจทำให้คิวบาเป็นประเทศในละตินอเมริกาที่รองรับสิทธิ์ LGBTQ+ มากที่สุดแห่งหนึ่งก็ว่าได้
คิวบาก็เคยมีประวัติเสียด้านนี้เช่นกัน ในช่วงสงครามเย็น รัฐบาลคิวบาในเวลานั้นยังมีทัศนคติในแง่ลบต่อกลุ่ม LGBTQ+ ซึ่งก่อนการปฏิวัติคิวบาในปี 1959 กรุงฮาวานาเคยเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางเพศมาก่อน และเคยมีสถานที่ให้บริการเพศเดียวกัน ซึ่งส่วนใหญ่ครอบครองโดยผู้มีอิทธิพลในสหรัฐหรือคิวบา แม้การรักร่วมเพศจะไม่ได้ถูกยอมรับตามกฎหมาย แต่เจ้าหน้าที่มักจะเอาหูไปนาเอาตาไปไร่
เมื่อกลุ่มปฏิวัติคิวบาที่นำโดยฟิเดล คาสโตร ขับไล่รัฐบาลเก่าออกไปได้ แหล่งท่องเที่ยวทางเพศหลายแห่งต้องปิดตัวเพราะนายทุนที่ครอบครองได้อพยพหนีไปสหรัฐอเมริกาแทน รัฐบาลคิวบาของคาสโตรจึงมองว่าธุรกิจทางเพศที่เคยบูมเป็นผลจากการล่าอาณานิคมและทุนนิยม รัฐบาลใหม่ไม่ได้ห้ามการค้าประเวณี แต่พยายามจำกัดและตั้งหน่วยงาน สมาพันธ์ผู้หญิงคิวบา (Federation of Cuban Women/FMC) เพื่อชักจูงผู้หญิงออกจากการค้าประเวณี
ส่วนการรักร่วมเพศถูกมองว่าเป็นสิ่งแปลงปลอมที่ทุนนิยมนำเข้ามาในคิวบา รัฐบาลคิวบาในช่วงสงครามเย็นยังเคยกล่าวถึงคนรักร่วมเพศว่าเป็น 'ความเสื่อมทรามของทุนนิยม' (Capitalist Degeneracy) บวกกับแนวคิดความเป็นชายแบบสเปน 'มาชิสโม' (Machismo) และทัศนคติแบบคาทอลิกที่คิวบาไม่อาจสลัดออกได้ ทำให้กลุ่ม LGBTQ+ ในคิวบาถูกเพ่งเล็งจากทั้งสังคมและรัฐบาล เกย์จำนวนไม่น้อยยังถูกจองจำหรือจับส่งค่ายแรงงานเพื่อปรับทัศนคติในช่วงปี 1960-1970 เช่นกัน
แต่ความเปลี่ยนแปลงจะเริ่มจากบุคคลหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อแนวคิดของมาริเอลาอย่างมาก นั่นคือแม่ของเธอ วิลมา เอสปิน (Vilma Espin) ซึ่งเป็นเฟมินิสต์และมีบทบาทเป็นหนึ่งในแกนนำคนสำคัญของกลุ่มปฏิวัติ
วิลมามีหลายบทบาทในรัฐบาลของคาสโตร และงานส่วนใหญ่ของเธอนั้นมุ่งเน้นไปที่สิทธิสตรีเป็นหลัก เพราะสังคมละตินในยุคนั้นมีทัศนคติ เธอยังเป็นผู้ก่อตั้ง 'สมาพันธ์ผู้หญิงคิวบา' ที่ช่วยดูแลเรื่องการศึกษา ทักษะ การทำงาน และส่งเสริมบทบาทและสิทธิ์สตรีทั้งในชีวิตส่วนตัวและทางการเมือง
ในปี 1975 วิลมายังได้ผลักดันให้รัฐบาลคิวบาออกกฎหมายครอบครัวที่ระบุว่าผู้ชายต้องช่วยผู้หญิงทำงานบ้านและช่วยเลี้ยงดูลูกเพื่อแบ่งเบาภาระของผู้หญิง และเริ่มหันมาเรียกร้องสิทธิ LGBTQ+ เธอยังผลักดันให้การรักร่วมเพศกับกลุ่ม LGBTQ+ ไม่มีความผิดทางกฎหมายสำเร็จในปี 1979 เธอยังดำรงตำแหน่งเป็นประธานสมาพันธ์ผู้หญิงคิวบาจนเธอเสียชีวิตในปี 2007 จากนั้น
มาริเอลาเริ่มเข้าสู่การเมืองตั้งแต่เธอยังอายุไม่มาก เนื่องจากทั้งพ่อและแม่เธอล้วนเป็นบุคคลสำคัญในรัฐบาลคิวบา
มาริเอลายังเล่าว่าแม้แม่ของเธอจะเป็นคนผลักดันเรื่องของผู้หญิงและคนรักร่วมเพศ แต่วัยเด็กของเธอเองก็เคยมีส่วนในการล้อเลียนกลุ่ม LGBTQ+ บ่อยครั้ง จนกระทั่งวันหนึ่งเพื่อนที่เป็น LGBTQ+ ที่ทนไม่ไหวได้ต่อว่าเธอและระบายความอัดอั้นในใจถึงความยากลำบากในการปกปิดตัวตนตลอดมา เหตุการณ์นี้ทำให้เธอเริ่มฉุกคิดได้ และหันมาสนใจปัญหาของกลุ่ม LGBTQ+ มากขึ้นตั้งแต่นั้นมา
มาริเอลาช่วยแม่ของเธอผลักดันสิทธิสตรีและ LGBTQ+ ในสมาพันธ์สตรีคิวบาอยู่บ่อยครั้ง แม่ของเธอยังเคยเสนอกฎหมายให้สามารถศัลยกรรมแปลงเพศฟรีในปี 1988 แต่สภาปัดตกข้อเสนอนี้ไป
ในปี 1989 มาริเอลาก็ออกมาตั้งองค์กรใหม่ในชื่อ 'ศูนย์เพศศึกษาแห่งชาติ' (CENESEX) โดยเธอดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ เพื่อดำเนินงานและผลักดันประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม LGBTQ+ โดยเฉพาะ รวมไปถึงให้ความรู้เกี่ยวกับเพศศึกษาอย่างการคุมกำเนิด และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเอดส์ให้ประชาชน
หน่วยงานของเธอยังทำหน้าที่ร่วมกับกระทรวงศึกษาคิวบาเพื่อปรับปรุงหลักสูตรเกี่ยวกับเพศศึกษาในคิวบา และมีการเสนอร่างกฎหมายการสมรสเพศเดียวกันและกฎหมายคู่ชีวิตอยู่หลายครั้ง จนเกิดความเปลี่ยนแปลงหลายครั้งทั้งในสังคมและรัฐบาล
การศัลยกรรมแปลงเพศถูกนับเป็นสวัสดิการทางการแพทย์ฟรีซึ่งประชาชนคิวบาทั่วไปที่ต้องการแปลงเพศสามารถเข้ารับบริการได้ตั้งแต่ปี 2008
ในปี 2014 รัฐบาลคิวบาได้ประกาศให้การเลือกปฏิบัติหรือกีดกันทางเพศในสถานที่ทำงานมีความผิดทางกฎหมาย ต่อมาในปี 2019 สภาแห่งชาติยังประกาศว่าจะเตรียมร่างกฎหมายรองรับการสมรสเพศเดียวกัน และเริ่มมีธุรกิจการท่องเที่ยวที่เกี่ยวกับ LGBTQ+ ในคิวบามากขึ้น
มาริเอลายังประสานงานกับนักกิจกรรม LGBTQ+ ทั้งในประเทศและต่างประเทศอยู่หลายครั้ง เธอยังเดินสายไปทั่วประเทศเพื่อจัดงานเปิดใจให้กลุ่ม LGBTQ+ ในท้องถิ่นออกมาร่วมเล่าประสบการณ์อันย่ำแย่ที่เคยถูกคนรอบข้างหรือรัฐบาลเลือกปฏิบัติเพียงเพราะตัวตนทางเพศที่แตกต่าง
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เธอมีชื่อ 'คาสโตร' จึงมีผู้วิจารณ์ว่าเธอยังคงใช้ชีวิตอย่างใกล้สนิทสนมกับอดีตผู้นำที่เคยวางนโยบายกีดกันกลุ่ม LGBTQ+ และเมื่อถูกถามถึงสิ่งที่รัฐบาลคิวบาเคยปฏิบัติต่อ LGBTQ+ ในอดีต เธอตอบว่า
"เราจะจดจำเรื่องนี้ เพื่อมันจะได้ไม่เกิดขึ้นอีก และฉันต้องขอโทษจริง ๆ"
แต่การเคลื่อนไหวของเธอก็ใช่ว่าจะราบรื่นและไร้อุปสรรค ในช่วงแรกบุคคลที่เป็นอุปสรรคก็คือพ่อและลุงของเธอ หลายครั้งทั้งฟิเดลและราอูลต่างแสดงความกระอักกระอ่วนใจต่อกิจกรรมของมาริเอลา และเคยขัดแย้งกับทั้งสองอยู่หลายครั้ง
"บางครั้งพ่อของฉันก็รู้สึกอับอายที่จะสนับสนุนฉัน มันเจ็บปวดนะ แต่มันก็เป็นอย่างนี้แหละ" เธอเล่า
แต่การรณรงค์ที่ยาวนานและต่อเนื่องของเธอก็ค่อย ๆ เปลี่ยนความคิดของพ่อและลุง รวมถึงคนในรัฐบาลอีกไม่น้อย และทัศนคติของทั้งคู่ต่อความหลากหลายทางเพศก็ได้เปลี่ยนไปมาก
ในปี 2010 ฟิเดล คาสโตร ที่ชรามาก ได้ออกมายอมรับในการปราศัยถึงความผิดที่รัฐบาลกระทำต่อกลุ่ม LGBTQ+ ในอดีตไว้ว่ารัฐบาลคิวบาเคยปฏิบัติอย่างอยุติธรรมต่อกลุ่ม LGBTQ+ ไว้มาก
"หากมีใครต้องรับผิดชอบต่อเรื่องนี้ คนนั้นคือผมเอง" ฟิเดลกล่าวปราศัย และยอมรับว่าตนมัวแต่สนใจปัญหาระหว่างประเทศมาตลอดจนไม่ได้ให้ความสนใจกับประเด็นนี้เลย
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มนักการเมืองที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมในสภารวมไปถึงกลุ่มองค์กรทางศาสนาที่ต่อต้านการรณรงค์ของเธอมาตลอด ซึ่งหลายครั้งองค์กรทางศาสนาก็ได้ก่อความวุ่นวายจนเธอไม่อาจลงปฏิบัติงานในบางพื้นที่ได้ แต่มาริเอลาก็ยังเดินสายทำกิจกรรมของเธออย่างไม่หยุดหย่อน
ผลงานของมาริเอลาทำให้เธอเป็นที่ยอมรับในองค์กรที่เคลื่อนไหวด้านนี้ในต่างประเทศเช่นกัน ในปี 2013 องค์กรอเมริกัน Equality Forum ที่เคลื่อนไหวในประเด็น LGBTQ+ ก็ได้มอบรางวัลให้เธอในฐานะคนที่ผลักดันความเท่าเทียมทางเพศมายาวนานจนเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประเทศตนเอง
ปัจจุบันกฎหมายสมรสเพศเดียวกันในคิวบาเริ่มเข้าใกล้ความจริง ในช่วงปลายปี 2021 สภาแห่งชาติได้ประกาศร่างกฎหมายสมรสเพศเดียวกัน ซึ่งจะต้องผ่านการทำประชามติช่วงกลางปี 2022 ก่อนจะกลายเป็นกฎหมายสมบูรณ์ในช่วงเดือนกันยายนปีเดียวกัน
ไม่มีใครรู้ว่าตัวกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะสำเร็จหรือไม่ แต่การรณรงค์ของมาริเอลาที่ทำให้สังคมคิวบาเปลี่ยนไปมากตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาอาจจะนับว่าเป็นความสำเร็จก้าวใหญ่สำหรับประเทศเล็ก ๆ ในแคริบเบียนแห่งนี้
"ฉันเลือกที่จะต่อสู้กับอคติทางเพศ ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่ายในสังคมมาโช (ชายแกร่ง)แบบคิวบา แม้ว่าคุณจะมีนามสกุลคาสโตรก็เถอะ"
อ้างอิง
https://www.nbcnews.com/feature/nbc-out/raul-castro-s-daughter-push-gay-marriage-cuba-n872026
https://www.losangelesblade.com/2017/05/02/mariela-castro-father-supportive-pro-LGBTQ+-efforts/
https://www.cenesex.org/wp-content/themes/cenesex/about-us/
https://www.panoramas.pitt.edu/news-and-politics/mariela-castro-new-revolutionary
https://observatorial.com/news/world/28633/the-first-LGBTQ+-hotel-in-cuba-reopens-its-doors-in-a-paradisiacal-key/
https://havana-live.com/cubas-first-LGBTQ+-hotel-welcomes-tourists/
https://www.nytimes.com/2007/06/20/world/americas/20espin.html