สรพงศ์ ชาตรี นักแสดงอมตะของวงการบันเทิงไทย และความหมายที่แท้ของคำว่า ‘พระเอกตลอดกาล’

สรพงศ์ ชาตรี นักแสดงอมตะของวงการบันเทิงไทย และความหมายที่แท้ของคำว่า ‘พระเอกตลอดกาล’

เอก - สรพงศ์ ชาตรี นักแสดงอมตะของวงการบันเทิงไทย และความหมายที่แท้ของคำว่า ‘พระเอกตลอดกาล’ นี่คือเส้นทางของเด็กหนุ่มจากพระนครศรีอยุธยา ผู้กลายมาเป็นพระเอกขวัญใจชาวไทยอย่างยาวนาน

คำว่า “พระเอกตลอดกาล” นั้น สามารถตีความได้หลากความหมาย บ้างก็เปรียบเปรยถึงบทบาทการแสดงที่สมบทบาทบนจอ บ้างก็เปรียบเทียบถึงการวางตัวในฐานะบุคคลสาธารณะ ที่แม้ในจอหรือนอกจอก็ให้ความรู้สึกไม่ต่างกัน

แต่ในถ้อยความของคำว่า พระเอกตลอดกาล สำหรับนักแสดงที่ชื่อว่า เอก - สรพงศ์ ชาตรี ความหมายของคำ ๆ นี้มีมากกว่านั้น

พระเอกเจ้าบทบาท

แรกเริ่มเข้าวงการ เอก พิทยา เทียมเศวต เด็กหนุ่มจากอำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รอนแรมจากบ้านเกิดเมืองนอนสู่เมืองหลวงเพื่อไขว่คว้าหาโอกาสที่หนุ่มน้อยที่จบเพียงการศึกษาชั้นประถมฯ ปีที่ 4 พอจะมีได้ จนเมื่อเอกได้พบกับ ท่านมุ้ย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ผู้กำกับใหม่ไฟแรงแห่งละโว้ภาพยนตร์ ที่ในขณะนั้นถ่ายทำละครประจำอยู่ที่ช่อง 7 

ด้วยหน่วยก้านและใบหน้าในแบบไทยแท้ ขาดแต่ประสบการณ์ทางการแสดง ทำให้ท่านมุ้ยให้เอก คลุกคลีกับกองถ่าย ด้วยการเป็นเด็กยกของประจำกอง ก่อนจะได้เลื่อนขั้นเป็นนักแสดงประกอบในทีวีเรื่องแรก “ผู้หญิงก็มีหัวใจ” (2510)

โดยวันแรกที่สรพงศ์ ได้เข้าฉากคือการแสดงเป็นตัวประกอบกระโดดน้ำไปช่วยเด็ก จากนั้นเขาก็ได้รับบทเล็ก ๆ น้อย ๆ ในละคร “นางไพรตานี” (2511) “ห้องสีชมพู” (2512) โดยได้รับการตั้งชื่อใหม่เป็น สรพงษ์ ชาตรี

“สร” นั้นมาจากชื่อของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ “พงศ์” นั้นได้มาจาก สุรพงศ์ โปร่งมณี ผู้ชักนำเข้าสู่วงการ

ส่วนนามสกุล “ชาตรี” นั้น ก็มาจากชื่อต้นของ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล นั่นเอง

แม้ว่าบทบาทที่ได้รับในตอนต้นจะเป็นบทสมทบที่ไม่ได้สำคัญอะไรมาก แต่เอกก็ฉายแววการแสดงอันน่าจดจำจนไปเตะตา ฉลอง ภักดีวิจิตร ที่เอ่ยปากชักชวนมาเล่นหนังใหญ่เป็นเรื่องแรกใน “สอยดาว สาวเดือน” (2512) โดยบทบาทแรกที่เขาได้รับคือนักเลงปลายแถวที่ถูกพระเอก ชนะ ศรีอุบล ยิงตาย 

แม้หน่วยก้านจะให้ แต่เส้นทางในการเป็นพระเอกของสรพงศ์ ก็ใช่ว่าจะเรียบง่ายดั่งใจหวัง ในยุคที่พระเอกหนังถูกจำกัดเพียงไม่กี่คน ยากนักที่ใครจะกล้าลองเสี่ยงกับนักแสดงหน้าใหม่อย่างเขา กว่าโอกาสจะมาเยือนเขาต้องใช้เวลาอีก 2 ปี และไม่ใช่ใครที่ไหนที่มอบโอกาสนั้น หากไม่ใช่ท่านมุ้ยคนเดิม ที่ขยับฐานะจากผู้กำกับละครจอแก้ว สู่การเป็นผู้กำกับหนังจอเงิน ด้วย

ภาพยนตร์เรื่องแรก “มันมากับความมืด” (2514) หนังไทยที่แหวกขนบในยุคนั้น ด้วยการเสนอในแบบไซไฟสัญชาติไทยที่แปลกรส แม้ว่าหนังจะทำรายได้ไม่มาก ซ้ำร้ายตัวสรพงศ์เอง ที่เป็นพระเอกส้มหล่นจากการมีปากมีเสียงกันระหว่างท่านมุ้ย กับ ไชยา สุริยัน ก็มิวายถูกดูแคลนจากคนดูหนังด้วยสีผิวที่คล้ำและจมูกที่ใหญ่เกินปกติ แต่ฝีมือทางการแสดงของสรพงศ์ ก็เป็นสิ่งที่พิสูจน์ถึงความยอดเยี่ยมจนท่านมุ้ยยกให้เป็น “นักแสดงคู่บุญ” จากนั้นเป็นต้นมา
 
พระเอกบ้านนอก

แม้ “มันมากับความมืด” จะเป็นหนังที่มาก่อนกาลเกินกว่าที่คนดูยุคนั้นจะรับได้ แต่ในผลงานเรื่องต่อมา ทั้งสรพงศ์และท่านมุ้ย ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความเป็น “ตัวจริง” แห่งโลกภาพยนตร์ ผ่านหนังเรื่อง “เขาชื่อกานต์” (2516) หนังดราม่าสุดเข้มข้น ที่สะท้อนภาพความเหลื่อมล้ำของสังคม ในยุคสมัยแห่งการเรียกร้องความเป็นธรรมของสังคม

ภาพแรกของหนังสร้างความช็อคให้กับคนดู ด้วยการที่ตัวเอกอย่างหมอกานต์ ถูกยิงตาย ก่อนจะ flashback ย้อนเล่าถึงที่มาของเหตุสะเทือนใจนี้ ทำให้ เอก สรพงศ์ ได้เข้าชิงรางวัลตุ๊กตาทอง เป็นครั้งแรกจากหนังเรื่องนี้ 

หลังจากนั้น สรพงศ์ ก็ทำให้ภาพลักษณ์ของคำว่า “พระเอก” เปลี่ยนไป เมื่อสรพงศ์ เข้าถึงบทบาทการแสดงโดยไม่เกี่ยงว่าบทบาทที่ได้รับนั้นจะเป็นคนดีหรือเป็นคนร้ายก็ตาม จากหนังเรื่องต่อมา นั่นก็คือ “เทพธิดาโรงแรม” (2517) หนังของท่านมุ้ยที่เล่าถึงโสเภณีสู้ชีวิต สรพงศ์ พลิกบทบาทเล่นเป็นแมงดาป่าเถื่อน สะท้อนภาพการถูกเอารัดเอาเปรียบของคนตาดำ ๆ ที่ถูกครอบงำจากผู้มีอำนาจ ขณะเดียวกันชื่อเสียงของสรพงศ์ในฐานะพระเอกขาลุย ก็ทำให้เขาได้รับเล่นหนังแอ๊คชั่นแนวระเบิดภูเขาเผากระท่อมควบคู่ไปด้วย 

เขาค่อย ๆ สั่งสมชื่อเสียง ทั้งในฐานะนักแสดงเจ้าบทบาท และพระเอกขวัญใจ จนทำให้เขาได้เลื่อนขั้นอยู่แถวหน้าแห่งวงการบันเทิง และสามารถคว้ารางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม จากหนังเรื่อง สัตว์มนุษย์ (2518) เรื่องราวการต่อสู้ของชายหนุ่มที่ต้องพรากจากคนรักเมื่อคนรักถูกฆ่าตายจากลูกผู้มีอิทธิพล เขาจึงต้องกลายมาเป็นศาลเตี้ยเพื่อพิพากษาทรชนคนโหดกลุ่มนั้น

รวมไปถึง “ชีวิตบัดซบ” (2520) หนังดราม่าสะท้อนสังคมที่ถูกถึงครูหนุ่มที่อยู่ในชุมชนสลัมที่ลูกสาวถูกนักเลงถิ่นข่มขืนแล้วฆ่า จึงลุกขึ้นมาทวงคืนความยุติธรรมด้วยการตามไปคิดบัญชี และหนังเรื่องนี้ก็ทำให้เขาคว้ารางวัลตุ๊กตาทองตัวที่ 2 จนทำให้ชื่อชั้นของสรพงศ์เป็นที่รู้จักในหมู่นักดูหนังในฐานะวีรบุรุษของชาวบ้านที่เป็นปากเป็นเสียงต่อสู้กับความอยุติธรรมบนจอภาพยนตร์

ในยุคคาบเกี่ยวพุทธทศวรรษที่ 2510-2520 บทบาทที่สรพงศ์ได้รับส่วนใหญ่ คือบทของชายหนุ่มที่ทวงคืนศักดิ์ศรีและความเป็นธรรมในฐานะปุถุชนที่มีเลือดเนื้อและจิตใจ แต่บทบาทอันยิ่งใหญ่ที่ตราตรึงใจไม่รู้ลืมก็คือบท ไอ้ขวัญ หนุ่มผู้รักษาคำมั่นสัญญาว่าจะครองรักมั่นกับอีเรียม จวบจนชีวิตจะหาไม่

ตำนานรักแห่งท้องทุ่งบางกะปิ “แผลเก่า” (2520) หนังรักยิ่งใหญ่จากการกำกับของ เชิด ทรงศรี ที่สะท้อนความเป็นไทย และความรักอันยิ่งใหญ่จนกลายเป็นหนังอมตะนิรันดร์กาล ที่ทำรายได้สูงในยุคนั้น และทำให้ภาพของสรพงศ์ในบทไอ้ขวัญ ติดตาตรึงใจและเป็นภาพจำที่คนไทยทุกคนไม่เคยลืมเลือน จนได้รับฉายา “พระเอกบ้านนอก” จากหนังเรื่องนี้

การกลับมาแสดงให้ท่านมุ้ยในหนัง “มือปืน” (2526) ในบทจ่าสมหมาย ทหารผ่านศึกขาด้วนที่ฉากหน้าคือช่างตัดผม แต่ฉากหลังคือมือปืนรับจ้าง ที่สะท้อนภาพผลกระทบของวีรบุรุษสงครามที่เหรียญกล้าหาญไม่อาจจะช่วยให้ชีวิตดีขึ้น เรื่องนี้ก็นับเป็นอีกหนึ่งงานมาสเตอร์พีซของสรพงศ์ในยุคบูมเรื่องหนึ่งของวงการหนังไทย

ช่วงพุทธทศวรรษที่ 2520 จึงเรียกได้ว่าเป็นยุคทองของพระเอกที่ชื่อสรพงศ์ก็ว่าได้ 
 
พระเอกรุ่นใหญ่ยอดฝีมือ

แม้ช่วงพุทธทศวรรษที่ 2530 ดาราหน้าใหม่จะมาเบียดบังจนนักแสดงรุ่นเก่าต้องระเห็จไปรับเล่นหนังบู๊ภูธร แต่สรพงศ์เองก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองจะโดนด้อยค่าใด ๆ เพราะท่ามกลางหนังขายสายต่างจังหวัดมากมาย สรพงศ์ก็ยังมีหนังที่แสดงฝีไม้ลายมือเป็นที่จดจำ

ไม่ว่าจะเป็น “คนเลี้ยงช้าง” (2533) เรื่องของคนชายขอบที่ต้องต่อสู้กับอิทธิพลมืด หรือ มือปืน 2 สาละวิน (2536) ในบทจ่าแร่ม ทหารหน่วยลาดตระเวนที่เจนจัดในในสมรภูมิ ไปจนถึงบทบาทในหนังแห่งสยามประเทศอย่าง “สุริโยทัย” (2544) ในบท หมื่นราชเสน่หานอกราชการ และ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชภาค ๑ และ ๒ (2550) ในบทพระมหาเถรคันฉ่อง ที่เป็นผู้สั่งสอนพระนเรศวรในวัยเยาว์ ซึ่งบทบาทส่วนใหญ่ที่ฉายแววนั้นล้วนมาจากการกำกับของท่านมุ้ยแทบทั้งสิ้น

นอกจากการแสดงที่เป็นที่จดจำแล้ว สรพงศ์ยังกลับมาดังแบบทอล์คออฟเดอะทาวน์อีกครั้ง จากโฆษณารณรงค์การข้ามถนนตรงทางม้าลายและสะพานลอย โดยมีวลีติดปากว่า

“ผมเกือบจะไม่ได้เป็นสรพงศ์ ชาตรี เหมือนทุกวันนี้ล่ะครับ”

โดยเล่าเรื่องราวก้าวแรกของการมากรุงเทพของเขาโดยไม่ได้ข้ามถนนตรงทางม้าลายจนเกือบถูกรถชน วลี “ผมเกือบไม่ได้เป็นสรพงศ์” จึงกลายเป็นวลีติดปากในยุคนั้น

เช่นเดียวกันกับการจับไมค์เป็นนักร้องในวัย 40 ปี กับการออกอัลบั้ม หัวใจไม่ได้เสริมใยเหล็ก ในปี 2533 กับสังกัดอาร์เอส บทเพลงสนุกสามช่ายิ่งตอกย้ำภาพความใสซื่อและความน่ารักของตัวสรพงศ์ได้เป็นอย่างดี จนทำให้เขาได้ออกอัลบั้มกับอาร์เอสต่อรวมกัน 3 ชุด 

รวมไปถึงการให้เสียงพากย์ภาษาไทยในหนัง Toy Story ในบทวู้ดดี้ ทำให้เห็นความสามารถอันหลากหลายที่ผู้ชายคนนี้มีต่อวงการบันเทิง
 
พระเอกสายบุญ

จนเมื่อย่างก้าวสู่วัยกลางคน สรพงศ์ค่อยวางมือจากวงการด้วยการรับบทสมทบเพียงเล็กน้อย แต่ถึงอย่างไรบทบาทการแสดงของสรพงศ์ก็ยังเป็นที่จดจำและตราตรึงคนดูอยู่เสมอ โดยเฉพาะซีรีส์ซิตคอมคุณธรรม “หลวงตามหาชน” ที่ออกอากาศมาอย่างยาวนานตั้งปี 2553 ที่ออกอากาศถึง 10 ฤดูกาล ในบทบาทของหลวงตาผู้ซึ่งเป็นที่พึ่งทางใจของชุมชน

และบทบาทนอกจอ สรพงศ์ยังทำนุบำรุงศาสนาด้วยการการก่อตั้งมูลนิธิสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) และสร้างวัดหลวงพ่อโต ณ ริมถนนมิตรภาพ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา จนผู้มาเยือนต่างเรียกวัดนี้ว่า “วัดสรพงศ์” กันจนติดปาก

และเมื่อบ่ายวันที่ 10 มีนาคม ที่ผ่านมา ก็เกิดข่าวเศร้าแก่วงการบันเทิง เมื่อพี่เอก สรพงศ์ ชาตรี พี่ใหญ่ที่เป็นที่รักของคนในวงการบังเทิงได้จากไปอย่างสงบหลังจากสู้กับอาการมะเร็งปอดมาอย่างยาวนาน 

ผลงานกว่า 600 เรื่องคือเครื่องการันตีถึงความยอดเยี่ยมที่ไม่อาจสูญหายไปตามกาลเวลา แต่ทว่ายังทรงไว้ซึ่งคุณค่าและเป็นต้นแบบสำคัญในฐานะนักแสดงที่ใช้จิตวิญญาณแห่งการแสดงอย่างแท้จริง กรุยทางจนสร้างประวัติศาสตร์หน้าสำคัญให้กับวงการบันเทิงไทย ดังที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้กับมติชนว่า 

“สำหรับผม การแสดงเพียง 5 นาที ผมก็มีความสุข เราแสดงให้ดีได้ ความสุขของผมอยู่ที่ใจ นักแสดงที่ดีควรแสดงได้หมดทุกบท”

The People ขอแสดงความอาลัยอย่างสุดซึ้ง และขอขอบคุณจากหัวใจในบทบาทอันทรงคุณค่าที่มอบไว้เป็นมรดกกับโลกใบนี้ตราบนานเท่านาน สรพงศ์ ชาตรี พระเอกตลอดกาลและตลอดไป 
 
อ้างอิง:

https://www.matichon.co.th/entertainment/news_3226272 

หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
 
ภาพ: หอภาพยนตร์ Thai Film Archive