*** บทความชิ้นนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ Memoria (2021) ***
Memoria เป็นผลงานเรื่องใหม่ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล (ผู้กำกับรางวัลปาล์มทองคำจากหนังเรื่อง ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’) ซึ่งสามารถคว้ารางวัล Jury Prize จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ปีล่าสุดมาครอง หนังได้รับเสียงปรบมือหลายนาที และได้รับเสียงชื่นชมมากมายจากผู้ชมในงาน หลังจากเข้าฉายมาแล้วหลายประเทศ ในที่สุดก็ได้เข้าฉายในไทยเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
Memoria ถือเป็น ‘ครั้งแรก’ สำหรับอภิชาติพงศ์หลายอย่าง อย่างแรกคือมันเป็นหนังยาวเรื่องแรกที่เขาถ่ายทำนอกประเทศไทยและมีตัวละครเป็นชาวต่างประเทศทั้งหมด โดยใช้บทพูดภาษาอังกฤษกับสเปนเป็นหลัก
ฉากหลังในหนังอยู่ที่ประเทศโคลอมเบียในทวีปอเมริกาใต้ ถึงแม้จะห่างจากไทยไปอีกฝั่งซีกโลกพอดี แต่ประเทศนี้ก็มีองค์ประกอบบางอย่างที่ใกล้เคียงกับไทย ทั้งทางด้านภูมิประเทศ (ลักษณะของภูเขา ป่าไม้ แม่น้ำ) และทางด้านประวัติศาสตร์บาดแผล (มีการประท้วงรัฐบาลหลายครั้ง ซึ่งรัฐก็ได้ใช้ความรุนแรงตอบโต้)
อย่างที่สองคือ มันเป็นหนังยาวเรื่องแรกที่เขาได้ร่วมงานกับนักแสดงที่โด่งดังในระดับนานาชาติอย่าง ‘ทิลดา สวินตัน’ (Tilda Swinton) (ร่วมด้วยนักแสดงสมทบซึ่งเป็นนักแสดงชื่อดังจากหลายประเทศ ได้แก่ โคลอมเบีย ฝรั่งเศส และเม็กซิโก) ด้วยฝีมือการแสดงและออร่าของทิลดา ส่งผลให้ตัวละครของเธอที่มีลักษณะนิ่งเฉยและพูดน้อยกลับมีความน่าสนใจ มีแรงดึงดูด อีกทั้งยังเพิ่มความลึกซึ้งและระดับความดราม่าให้กับตัวละครได้เป็นอย่างดี
แม้องค์ประกอบโดยรวมจะแตกต่างไปจากหนังเรื่องก่อน ๆ ของอภิชาติพงศ์ แต่ Memoria ยังคงรักษาลายเซ็นของเขาเอาไว้ได้อย่างชัดเจน ทั้งลายเซ็นด้าน ‘สไตล์’ อย่างตัวหนังที่เรียบนิ่ง แช่กล้องนาน ขับเน้นบรรยากาศของภาพกับเสียงมากกว่าที่จะมุ่งเล่าพล็อตเรื่อง ถ่ายทอดแบบเน้นความสมจริงแต่ปะปนด้วยองค์ประกอบแปลกประหลาดเหนือจริง ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในความฝัน มีอารมณ์ขันที่คาดไม่ถึง และลายเซ็นด้าน ‘เนื้อหา’ ซึ่งเกี่ยวข้องกับความฝัน การหลับใหล ความทรงจำ ประวัติศาสตร์ การแพทย์ การทหาร อิทธิพลจากนวนิยายไซไฟ เป็นต้น
หนังเล่าเรื่องราวของเจสสิก้า (ทิลดา สวินตัน) คนทำฟาร์มกล้วยไม้ชาวสกอตแลนด์ซึ่งย้ายถิ่นฐานมาอยู่ในเมืองเมเดยีน โคลอมเบีย เธอเดินทางมาเยี่ยมน้องสาวที่ป่วยในเมืองโบโกตา ระหว่างที่อยู่เมืองนี้เธอได้ยิน ‘เสียงปัง’ อันกึกก้องกัมปนาทจนตื่นขึ้นมายามดึก ตอนแรกเธอเข้าใจว่าเสียงดังกล่าวมาจากสถานที่ก่อสร้าง แต่กลับกลายเป็นว่ามันดังจากภายในหัวของเธอ เธอพยายามค้นหาสาเหตุของเสียงดังกล่าว ซึ่งนำไปสู่การเดินทางพบเจอผู้คนในสถานที่ต่าง ๆ
(หมายเหตุ - อาการดังกล่าวมีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า Exploding Head Syndrome ซึ่งอภิชาติพงศ์เคยมีอาการนี้และกลายเป็นแรงบันดาลใจให้หนังเรื่องนี้)
Memoria มีโครงสร้างของหนังใกล้เคียงกับหนังยาวยุคแรก ๆ ของอภิชาติพงศ์ (สุดเสน่หา, สัตว์ประหลาด, แสงศตวรรษ) นั่นคือ มีการแบ่งหนังออกเป็นสองพาร์ตอย่างชัดเจน ได้แก่พาร์ตที่ดำเนินเรื่องในเมืองกับชนบท ซึ่ง ‘พาร์ตในเมือง’ นั้นมักมีบรรยากาศเย็นชา มืดหม่น ห่างเหิน ส่วน ‘พาร์ตชนบท’ มักมีบรรยากาศอบอุ่น สงบ ผ่อนคลาย แต่สำหรับ Memoria พาร์ตในเมืองกลับมีลักษณะอบอุ่นและมีสีสันมากกว่าเรื่องก่อน ๆ ของเขา โดยผู้ชมจะได้เห็นถึงบรรยากาศของผู้คนและบ้านเมืองในเมืองหลวงของโคลอมเบียอย่างโบโกตา ซึ่งให้ความรู้สึกสวยงาม แปลกตา และสัมผัสได้ถึงประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน
สำหรับเนื้อหาของพาร์ตในเมือง เป็นการถ่ายทอดถึงความพยายามของเจสสิก้าในการแก้ปัญหาเสียงในหัวด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ เธอไปขอความช่วยเหลือจากแอร์นัน (ฮวน ปาโบล อูร์เรโก) ชายหนุ่มซาวนด์ดีไซเนอร์ในสตูดิโอแห่งหนึ่งซึ่งน้องเขยของเธอที่เป็นศาสตราจารย์แนะนำมา เธอพยายามอธิบายลักษณะของเสียง ซึ่งถือเป็นประสบการณ์ส่วนบุคคลและมีลักษณะนามธรรมให้ออกมาเป็นคำพูด เช่น ‘เหมือนเสียงคำรามจากใจกลางโลก’ และ ‘ลูกบอลคอนกรีตที่กระทบบ่อโลหะซึ่งล้อมรอบด้วยน้ำทะเล’ จากนั้นเขาก็ได้ใช้เครื่องมิกซ์เสียงสุดไฮเทคจำลองเสียงดังกล่าวให้ออกมาเป็นรูปธรรม เขาได้สร้างเสียงดังกล่าวในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงนำไปดัดแปลงเป็นเพลง แต่ต่อมาเขากลับหายตัวไปอย่างลึกลับ (หรืออาจมองได้ว่าเขาไม่มีตัวตนตั้งแต่แรก)
แม้จะใช้วิธีทางวิทยาศาสตร์และเครื่องมือที่ทันสมัย แต่มันกลับไม่อาจช่วยให้เธอค้นพบคำตอบหรือแก้ปัญหาเรื่องเสียงในหัวได้ ต่อมาเธอได้ใช้วิธีทางการแพทย์ด้วยการขอยา xanax จากแพทย์ซึ่งแพทย์ไม่แนะนำ เพราะมันทำให้เธอชินชาและสูญเสียความรู้สึกที่มีต่อโลกนี้ไป แพทย์แนะนำให้เธอใช้วิธีทางจิตวิญญาณด้วยการเข้าหาพระเยซู ซึ่งมุกตลกสไตล์อภิชาติพงศ์ดังกล่าวเป็นการบอกเป็นนัยถึงเนื้อหาในพาร์ตที่สองของหนัง ที่ใช้วิธีการค้นหาคำตอบเป็นไปในแนวทางจิตวิญญาณ
สำหรับพาร์ตที่สองมีฉากหลังอยู่ในเขตชนบท ซึ่งประกอบด้วยเทือกเขา สายน้ำ และแมกไม้สีเขียว มันเป็นฉากหลังที่ให้ความรู้สึกสงบ อบอุ่น ทำให้ผู้ชมเหมือนได้เข้ารับการ Meditation หรือวิปัสสนา
ที่ริมธารน้ำในเมืองเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง เจสสิก้าได้พบกับชายหาปลาวัยกลางคนอย่างแอร์นัน (เอลคิน ดิอาซ) ซึ่งช่วยเธอไขปริศนาเรื่องเสียงในหัวได้สำเร็จ (การที่บุคคลซึ่งช่วยเธอไขปริศนาในแต่ละพาร์ตล้วนมีชื่อว่าแอร์นัน ถือเป็นการเปิดให้ตีความได้หลากหลาย เช่น อาจเกิดจากความบังเอิญ หรือทั้งคู่อาจเป็นคนเดียวกันในคนละมิติเวลา)
แอร์นัน (ที่เป็นคนหาปลา) สามารถจดจำประสบการณ์ทุกอย่างได้อย่างครบถ้วนไม่ลืมเลือน เขาจึงพยายามจำกัดสิ่งที่รับรู้ด้วยการไม่เคยเดินทางออกไปนอกเมือง ไม่ดูทีวีและหนัง เพราะมันทำให้เขารับรู้สิ่งต่าง ๆ มากเกินไป เขาไม่เคยฝัน โดยเขาทำได้เพียงดื่มสมุนไพรบางอย่างเพื่อให้เข้าใกล้สภาวะนั้นมากที่สุด (ฉากที่ผู้เขียนชอบที่สุดในเรื่องคือตอนที่แอร์นันสาธิตการนอนแบบไม่ฝันให้เจสสิก้าได้ดูซึ่งกินเวลาหลายนาที จนทำให้ผู้ชมรู้สึกอยากนอนไปด้วย)
ภายหลังเจสสิก้าได้ค้นพบว่าเสียงที่เธอได้ยินนั้นไม่ได้เป็นเรื่องของปัจเจกหรือเป็นปัญหาของเธอเพียงคนเดียว แต่มันเป็นเสียงที่มาจากเหล่าบรรดาผู้คนบนโลกโดยมีแหล่งที่มาจากแอร์นัน เขาเป็นแหล่งเก็บรวบรวมสรรพเสียงต่าง ๆ เอาไว้มากมาย ซึ่งเขาได้พูดเปรียบเปรยไว้ว่า เขาเป็นเหมือนฮาร์ดดิสก์ที่เก็บรวบรวมเสียงต่าง ๆ เอาไว้ ในขณะที่เจสสิก้าเป็นเหมือนเสาอากาศที่รับสัญญาณเสียงเหล่านั้น
กล่าวได้ว่าเหล่าสรรพเสียงนั้นคือ ‘ความทรงจำ’ ของผู้คนตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งมีลักษณะทับซ้อน กระจัดกระจาย พร่าเลือน (สอดคล้องกับเสียงที่ถูกมิกซ์ในหนังซึ่งมีลักษณะหลากหลายและทับซ้อน ซึ่งอภิชาติพงศ์ได้บอกในงาน Masterclass ที่หอภาพยนตร์ว่ามีการผสมผสานเสียงหลายรูปแบบลงไปในหนัง หนึ่งในนั้นคือ ‘เสียงที่ถูกบันทึกเป็นครั้งแรกของโลก’ ด้วย)
นอกจากนั้นความทรงจำยังถูกถ่ายทอดในลักษณะไม่เป็นเส้นตรง คลาดเคลื่อน พลิกผัน และไม่ใช่สิ่งที่เชื่อถือได้ 100% เห็นได้จากความทรงจำของเจสสิก้า ทั้งที่มีต่อแอร์นันซึ่งเป็นซาวนด์ดีไซเนอร์ว่ามีตัวตนจริงไหม รวมถึงความทรงจำที่เธอมีต่อหมอฟัน ซึ่งเธอคิดว่าเกิดขึ้นไม่นาน แต่กลับกลายเป็นว่าเขาเสียชีวิตไปนานแล้ว
หนังยังแสดงให้เห็นว่าเสียงหรือความทรงจำนั้นไม่ได้ถูกบรรจุอยู่แค่ในตัวบุคคล แต่มันยังถูกฝากฝังและถ่ายทอดในสิ่งที่นอกเหนือมนุษย์อย่างก้อนหินหรือธรรมชาติ มันคือความทรงจำที่อยู่ในสรรพสิ่งต่าง ๆ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด ‘Post - Anthropocene’
Anthropocene (ยุคสมัยของมนุษย์) คือยุคสมัยที่จัดวางให้มนุษย์เป็นศูนย์กลางของสรรรพสิ่ง โดยมองว่ามนุษย์มีอิทธิพลอย่างมากในการสร้างผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงให้กับโลก แนวคิดดังกล่าวถือเป็นการมองมนุษย์แยกออกจากธรรมชาติ เป็นการเน้นย้ำมายาคติคู่ตรงข้ามระหว่าง ‘มนุษย์ - ธรรมชาติ’ หรือ ‘สังคม - ธรรมชาติ’ ซึ่งมองว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตเพียงชนิดเดียวที่มีความคิด วิญญาณ วัฒนธรรม (ในขณะที่สิ่งอื่น ๆ ในธรรมชาตินั้นไม่มีสิ่งเหล่านี้) ส่วนธรรมชาติก็ถูกมองว่าเป็นสิ่งที่หยุดนิ่ง และไม่มีประวัติศาสตร์
ภาพยนตร์เรื่อง Memoria (รวมถึงลุงบุญมีระลึกชาติ) แสดงให้เห็นถึงการก้าวข้ามแนวคิดดังกล่าว โดยมองว่าธรรมชาติเองก็มีความเป็นผู้กระทำ (Actor) มีความสัมพันธ์กับมนุษย์ด้วยเช่นกัน
มีการตั้งคำถามว่า Memoria ถือเป็นหนังการเมืองหรือไม่ ซึ่งบางคนมองว่าเป็นแค่เล็กน้อย เพราะหนังแตะเรื่องการเมืองแบบผิว ๆ (เช่น ฉากสั้น ๆ ที่แสดงภาพของทหารคุมด่านตรวจบนถนน, เสียงในหัวซึ่งเจสสิก้าบอกว่า ‘เหมือนไม้กระแทกกับร่างกายห่อผ้านวม’ ซึ่งชวนให้คิดถึงเหล่าผู้ต้องหาการเมืองที่ถูกลงโทษและทรมาน) แต่ก็สามารถมองได้อีกมุมว่า หนังเรื่องนี้พูดถึงการเมืองในภาพใหญ่นั่นคือเรื่องของประวัติศาสตร์
ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ได้กล่าวว่า เสียงใน Memoria ไม่ได้เป็นแค่ความทรงจำของตัวละครหลักเพียงคนเดียว แต่มันเป็นความทรงจำมหาศาลของคนอื่นซึ่งถือเป็นความทรงจำร่วมของสังคม และสืบทอดกันมาจนกลายเป็น ‘ประวัติศาสตร์’ นอกจากนั้นมันยังปรากฏในลักษณะชิ้นส่วนเศษเสี้ยว แต่เราที่มีความทรงจำร่วมก็จะสามารถรับรู้ได้ว่าภาพใหญ่ทั้งหมดคืออะไร แต่สิ่งที่ยากคือการส่งต่อความทรงจำให้คนอื่น เพราะจำเป็นต้องอาศัยทักษะต่าง ๆ รวมถึงพยายามก้าวข้ามข้อจำกัดบางอย่างด้วย (จากการบรรยายหัวข้อ ‘ประวัติศาสตร์ความเงียบ’ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2022 จัดโดยคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต)
จะเห็นได้ว่า ถึงแม้เสียงและความทรงจำร่วมต่าง ๆ ที่ปรากฏจะมีสถานะเป็นประวัติศาสตร์ แต่มันก็ไม่ใช่ประวัติศาสตร์กระแสหลัก แต่เป็นประวัติศาสตร์ของคนนอกหรือคนตัวเล็กตัวน้อยที่ไม่ได้รับการจดจำ ถูกเบียดขับ ถูกฝังกลบเอาไว้ลึก ๆ และรอคอยวันที่จะถูกค้นพบ (หรืออาจจะไม่ได้รับการค้นพบเลยก็ได้) ซึ่งชวนให้คิดถึงประวัติศาสตร์ของคนตัวเล็กหรือผู้ถูกกระทำ ซึ่งมีชะตากรรมแบบเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นที่ไทย โคลอมเบีย หรือสถานที่อื่น ๆ บนโลกนี้
กล่าวโดยสรุปแล้ว ถึงแม้ Memoria จะมีเส้นเรื่องชัดเจน อย่าง ‘ผู้หญิงออกตามหาที่มาของเสียงในหัว’ แต่มันก็ไม่ใช่หนังที่ดูง่ายหรือเข้าใจง่าย มันเป็นหนังที่ท้าทายต่อผู้ชม ไม่มีบทสรุปชัดเจน และเปิดโอกาสให้ตีความได้หลากหลาย ซึ่งผู้ชม 10 คนก็อาจตีความได้ 10 แบบ
นอกจากนั้นมันยังเป็นหนังซึ่งขับเน้นที่บรรยากาศทั้งด้านภาพและเสียง (มากกว่าการเน้นที่เนื้อเรื่องหรือตัวละคร) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้ใช้ผัสสะต่าง ๆ ซึมซับองค์ประกอบต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ โดยจุดเด่นของหนังเรื่องนี้อยู่ที่เสียง (ผลงานการออกแบบเสียงโดยอัคริศเฉลิม กัลยาณมิตร, ริชาร์ด ฮอกส์, โคอิชิ ชิมิสึ) ซึ่งมีความซับซ้อน ชวนให้จินตนาการต่อ ทำให้ผู้ชมได้รับรู้ถึงเสียงในหัวของเจสสิก้าและเหมือนได้อยู่ในบรรยากาศในหนังจริง ๆ และนั่นทำให้ Memoria เป็นหนังที่เหมาะแก่การดูในโรงภาพยนตร์ (ซึ่งไม่ได้เป็นแค่คำโฆษณาเก๋ ๆ แบบที่มักพบในโปสเตอร์หนัง แต่มันหมายความแบบนั้นจริง ๆ) เพื่อให้ได้รับอรรถรสอย่างเต็มที่
และนั่นทำให้ถึงแม้ผู้ชมจะชอบหรือจะชังหนังเรื่องนี้ จะเข้าใจหรือไม่เข้าใจตัวหนัง แต่ถ้าใครที่มีโอกาสได้รับชมหนังเรื่องนี้ในโรง คุณจะไม่มีวันลืมประสบการณ์ภาพยนตร์ (Cinematic Experience) ครั้งนี้เลย
หมายเหตุ - บริษัทจัดจำหน่ายหนังเรื่องนี้ในอเมริกาอย่าง Neon ได้วางกลยุทธ์ในการฉายคือฉายหนึ่งเมืองต่อหนึ่งโรงเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์แล้วเปลี่ยนเมืองไปเรื่อย ๆ โดยฉายในโรงภาพยนตร์เท่านั้น โดยที่ไม่มีแผ่นดีวีดีหรือสตรีมมิ่งตามมา ทำให้ได้รับเสียงวิจารณ์ว่าทำให้ผู้ชมทั่วไปเข้าถึงหนังเรื่องนี้ได้ยากเกินเหตุ แต่ก็เข้าใจได้ หากมองว่านี่เป็นหนังที่ควรรับชมในโรงภาพยนตร์เท่านั้น