ต้นกำเนิดวลี ‘Friend of Dorothy’ คำแทนตัวเพศหลากหลายในวันที่ LGBTQIA+ ไม่ถูกยอมรับ

ต้นกำเนิดวลี ‘Friend of Dorothy’ คำแทนตัวเพศหลากหลายในวันที่ LGBTQIA+ ไม่ถูกยอมรับ
“ขอโทษนะครับ คุณใช่ ‘เพื่อนของโดโรธี’ ไหม?” “โอ้! ใช่ครับ เราสนิทกันมากเลยแหละ” ท่ามกลางคำถาม - ตอบง่าย ๆ ที่ฟังในยุคสมัยนี้ อย่างไรก็ไม่พ้นประโยคชวนคุยธรรมดา จนคาดเดาได้ว่าหลังจากนั้นคนสองคนคงสนทนากันออกรสชาติ ถึง ‘โดโรธี’ เพื่อนของทั้งคู่ แต่ในยุคหนึ่งก่อนหน้านี้ วลี ‘Friend of Dorothy’ นั้นมีความหมายพิเศษ เพราะมันคือรหัสลับของ ‘เกย์’ ในวันที่การเปิดเผยว่าตนคือผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้นยังถูกมองว่าเป็นความผิดร้ายแรงในสองฟากฝั่ง - เกาะอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ถ้อยคำ ‘Friend of Dorothy’ จึงผลิบานท่ามกลางเควียร์คอมมูนิตี เป็นคำที่ฟังแล้วอบอุ่นใจ บอกให้รู้ว่าพวกเขาไม่ได้อยู่เพียงลำพัง และบางครั้ง ถ้อยคำนี้ก็ถูกยกขึ้นมาถ้อยถามกันก่อนการ ‘จีบ’ เพื่อให้รู้ว่าความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายจะไปต่อได้หรือไม่ บทสนทนาหลังคำว่า ‘ใช่’ เมื่อถูกถามว่า ‘คุณเป็นเพื่อนของโดโรธีไหม’ จึงอาจเป็นบางอย่างที่ชักนำคนทั้งคู่ไปหาความรักแสนหวาน หรือมิตรภาพแสนงามก็ตามแต่เห็นสมควร แต่ว่า…ใครคือ ‘โดโรธี’ ที่สังคม LGBTQIA+ ในวันวานพูดถึงกันล่ะ เธอมีตัวตนอยู่จริงไหม? และเกี่ยวข้องกับธงไพรด์ที่สะบัดโบกอย่างไร?   โดโรธีคนที่หนึ่ง หนึ่งในความเป็นไปได้ใต้คำว่า ‘โดโรธี’ คือกวีหญิงชาวอเมริกัน ‘โดโรธี พาร์กเกอร์’ (Dorothy Parker) ผู้เป็นนักคิดนักเขียนและนักเคลื่อนไหวที่มีชีวิตอยู่ระหว่างปี 1893 - 1967 โดยโดโรธีผู้นี้แต่งงานกับชายที่เปิดเผยกับโลกว่าเขาเป็นไบเซ็กชวล ทั้งคู่ต่างสร้างสรรค์ผลงานจรรโลงโลกฮอลลีวูดอยู่พักใหญ่ กระทั่งโดโรธี พาร์กเกอร์ถูกกาหัวขึ้นบัญชีดำเพราะถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นพรรคพวกของ ‘โจเซฟ แม็กคาร์ตนีย์’ (Joseph McCarthy) นักการเมืองที่สหรัฐฯ กล่าวว่าเป็นคอมมิวนิสต์และสายลับโซเวียต เป็นที่รู้กันว่าตลอดชีวิตของ ‘โดโรธี’ คนนี้ เธอเปิดรับความหลากหลายทางเพศ และคบหาเควียร์มากมายเป็นเพื่อนจนวันสุดท้ายที่เธอมีลมหายใจ   โดโรธีในหนังสือพ่อมดมหัศจรรย์แห่งออซ อีกหนึ่ง ‘โดโรธี’ ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ เพราะปัจจุบันเชื่อกันว่าเธอคือที่มาที่พาให้วลี ‘Friend of Dorothy’ แพร่หลาย ก็คือสาวน้อยผู้เป็นตัวเอกแห่งการผจญภัยในหนังสือพ่อมดมหัศจรรย์แห่งออซ นามว่า ‘โดโรธี เกล’ (Dorothy Gale) นั่นเอง หากใครเคยอ่านและยังจำได้ หนังสือตระกูล ‘ออซ’ เขียนโดย ‘ลีแมน แฟรงก์ บอม’ (Lyman Frank Baum เจ้าของนามปากกา L. Frank Baum) นั้นเต็มไปด้วยตัวละครแปลกประหลาดในโลกแห่งจินตนาการ หลังจากเจ้าหนูโดโรธีและสุนัขน้อยเพื่อนยาก ‘โตโต้’ ถูกพายุทอร์นาโดหอบไปตกยังเมืองมหัศจรรย์ ตามที่หนังสือเล่มแรกของชุดอย่าง ‘The Wonderful Wizard of Oz’ (1900) เล่า เธอที่เดินเท้าหาทางกลับบ้านก็ได้พบกับเพื่อนร่วมทางมากมาย ไม่ว่าจะเป็นหุ่นไล่กา หุ่นกระป๋อง สิงโตขี้ขลาด และอื่น ๆ การผจญภัยก็เริ่มขึ้น ในเล่ม ‘Road to Oz’ (1906) ปรากฏหนึ่งประโยคแสนกินใจโดยหนูน้อยโดโรธี เมื่อเธอถูก ‘Polychrome’ เทพธิดาแห่งเมฆ ลูกสาวคนเล็กของสายรุ้ง ถามทักถึงเพื่อนร่วมทางของเธอ “โดโรธี เธอมีเพื่อนแปลก ๆ เยอะเชียว” นางฟ้าเอ่ย “แปลกหรือไม่ก็ไม่สำคัญ ก็พวกเขาคือเพื่อนหนูนี่คะ” เด็กน้อยตอบ คำว่า ‘แปลก’ ที่ผู้เขียนใช้นั้นมาจากคำว่า ‘queer’ ในต้นฉบับ โดยที่ผู้เขียนเลือกแปลว่า ‘แปลก’ แทนที่จะทับศัพท์ให้หมายความถึงกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้น เป็นเพราะหนังสือเล่มดังกล่าวเขียนในปี 1906 ส่วนการรับเอาคำว่า ‘เควียร์’ มาเป็นตัวแทนแห่งเพศวิถีนั้นเพิ่งจะเริ่มถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายก็ให้หลังไปแล้วหลายสิบปี อย่างไรก็ตาม ประโยค ‘The queerness doesn’t matter, so long as they’re friends!’ นี้ เมื่อนำมาอ่านในปัจจุบัน บวกกับเนื้อเรื่องที่เล่าถึงตัวละครแสนหลากหลายนั้นก็ให้ความรู้สึกของคำ ‘เควียร์’ ในนิยามที่งดงามไม่ใช่น้อย  เช่นเดียวกับที่เจ้า ‘สิงโตขี้ขลาด’ เพื่อนของโดโรธี ก็เคยเอ่ยประโยคจับใจเอาไว้ว่า “เพื่อนของโดโรธี ก็คือเพื่อนของเราด้วยเช่นกัน” เรื่องแต่งตระกูลออซเผยโฉมกับโลกครั้งแรกในรูปแบบนิทานสำหรับเด็ก แต่ความมหัศจรรย์ทั้งจินตนาการสุดล้ำและแนวคิดนำสมัยนั้นพาให้มันกลายเป็นมากกว่าหนังสือเล่ม ต้นฉบับของ ‘ออซ’ บันดาลใจให้เกิดเป็นละครเพลงและภาพยนตร์มากมาย   โดโรธีในหนังและภาพแห่งความหวังที่ปลายสายรุ้ง ปี 1939 บริษัทสื่อ MGM หยิบ ‘ออซ’ มาเล่าในรูปแบบภาพยนตร์ ‘The Wizard of Oz’ กลายเป็นผลงานชิ้นคลาสสิกที่ประกอบไปด้วยเพลงเพราะจับใจ ขับร้องโดย ‘โดโรธี’ อย่าง ‘Somewhere Over the Rainbow’ ที่พูดถึงการเฝ้าฝันถึงสถานที่ ‘ที่ใช่’ ทว่าอยู่ไกลออกไปที่ปลายสายรุ้ง แนวคิดชีวิตที่ฝันหา และท่อน “somewhere over the rainbow…the dreams that you dare to dream really do come true” นั้นถูกตีความว่าเกี่ยวพันกับเควียร์คอมมูนิตี และสัญลักษณ์ ‘สีรุ้ง’ ที่นำมาใช้เป็นภาพแทนอย่างมีนัยสำคัญ เช่นเดียวกับเพลง ‘Come Out, Come Out, Wherever You Are’ ที่นางฟ้ากลินดากับโดโรธีร่วมกันร้อง ก็ได้ถูก ‘มิกกี วีมส์’ (Mickey Weems) ตั้งข้อสังเกตว่า ‘ฮาร์วีย์ มิลค์’ (Harvey Milk) นักการเมือง LGBTQ ชาวอเมริกันคนแรกที่ชนะการเลือกตั้ง นั้นได้โอบรับเอาวลีเดียวกันนี้มาใช้ในการรณรงค์ต่อต้านความตั้งใจของรัฐแคลิฟอร์เนียที่ต้องการแบนเกย์ไม่ให้เข้าทำงานในโรงเรียนของรัฐอีกด้วย โดยนักแสดงหญิงผู้รับบทโดโรธี และขับร้องเพลง ‘Somewhere Over the Rainbow’ ในครานั้นมีชื่อว่า ‘จูดี้ การ์แลนด์’ (Judy Garland) จูดี้ การ์แลนด์ คนนี้นี่เองที่กลายเป็น ‘โดโรธี’ ที่เป็นทั้งหลักยึดและ ‘ที่รักของเกย์’ นับจากนั้นเป็นต้นมา   โดโรธีผู้เป็นที่รักของเกย์ “ท่ามกลางฝูงชน เราเสียงดังและคึกคักเป็นพิเศษเมื่อจูดี้ การ์แลนด์ ขึ้นเวที เราไม่เพียงแต่ได้ยิน แต่เราสัมผัสได้อย่างลึกซึ้งถึงทุกเนื้อเพลงที่เธอร้องออกมา “จูดี้ การ์แลนด์ เป็นของเราทั้งผอง เธอเป็นพรรคพวกของเกย์หญิงและชายทั้งหมดในโรงละคร” คือถ้อยคำของ ‘แดเนียล แฮร์ริส’ (Daniel Harris) ที่บันทึกไว้ในหนังสือ ‘The Rise and Fall of Gay Culture’ ถึงช่วงเวลาที่หญิงสาวผู้รับบทโดโรธีโด่งดังในคอมมูนิตี้ LGBTQIA+    เรื่องเล่าชาวกะลาสี มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับวลี ‘Friend of Dorothy’ อยู่ว่า ครั้งหนึ่งคราวต้นยุค 80s นายกะลาสีที่เปิดเผยตัวว่าเป็นเกย์ ชื่อ ‘เมล ดาฮ์ล’ (Mel Dahl) สมัครเข้ารับตำแหน่งหนึ่งในกองทัพเรือโดยไม่ได้ปิดบังเพศวิถีของตนจากเจ้านายแต่อย่างใด การกล้าพูดกล้าเปิดของเขาทำนายเรือระดับบอสหัวเสีย ไม่นานก็กลายเป็นคดีความทางกฎหมาย ในการไต่สวน ดาฮ์ลให้การอย่างไม่ยอมแพ้ว่า แท้จริงแล้วในกองทัพเรือมีเกย์มากกว่าที่คิด กองทัพอึ้ง…และถามกลับ รู้ได้อย่างไร? ภารกิจสืบเสาะชีวิตลูกเรือที่สิ้นเปลืองงบประมาณ (อย่างไม่ค่อยจำเป็นนัก) จึงเริ่มขึ้น เมื่อกองทัพเรือหมดค่าใช้จ่ายจำนวนไม่น้อยไปกับการสอดส่องตามบาร์เกย์เพื่อตามหาว่ามีลูกเรือของตนไหม เจอเมื่อใดก็นำเข้ากระบวนการไต่สวนที่นำไปสู่ความน่าฉงนใจ เมื่อเกย์มากมายที่พวกเขาเจอล้วนให้ข้อมูลถึงคนชื่อ ‘โดโรธี’ ที่เป็นเพื่อนกับพวกเขา กองทัพเรือหัวใสจึงเปลี่ยนเป้าหมายไปสืบหาตัว ‘โดโรธี’ ที่ว่านี้เอง กะว่าเมื่อเจอเธอเมื่อไหร่จะเค้นให้คายรายชื่อเกย์ที่เธอรู้จักออกมาให้หมด แต่ด้วยความซับซ้อนด้านที่มาของโค้ดลับดังกล่าวนี่เอง ทำให้จนแล้วจนรอด กองทัพก็ไม่สามารถหา ‘โดโรธี’ คนที่ว่าเจอ อย่างไรก็ตาม พวกเขาก็ถลุงเงินหลายล้านดอลลาร์ไปกับการตามหาเกย์ในกองทัพ และไล่นายเรือที่เป็นเพศหลากหลายออกจากกองทัพเรือร่วมร้อยนาย   เรื่อง: จิรภิญญา สมเทพ ที่มา: https://www.pride.com/identities/2020/7/08/so-what-does-it-mean-be-friend-dorothy#media-gallery-media-8 https://folklife.si.edu/talkstory/2016/are-you-a-friend-of-dorothy-folk-speech-of-the-lgbt-community https://archive.nytimes.com/www.nytimes.com/books/first/h/harris-culture.html https://www.irishtimes.com/culture/film/friends-of-dorothy-how-judy-garland-became-a-gay-icon-1.4028718 https://www.menshealth.com/entertainment/a34736124/friend-of-dorothy-meaning-definition/