หากอุดมการณ์คือสิ่งที่คนเราเชื่อถือยึดมั่น วัฒน์ วรรลยางกูร ก็เป็นนักเขียนที่ไม่เคยคลายมือจากอุดมการณ์ที่เขาศรัทธา ตลอดทั้งชีวิต สองสิ่งที่เขามุ่งมั่นทำมาอย่างแน่วแน่ได้แก่ หนึ่ง การเขียนหนังสือ และสอง การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคม
จาก วัฒนู บ้านทุ่ง สู่ วัฒน์ วรรลยางกูร บนเส้นทางนักเขียน
แน่นอน เรารู้จักเขาในชื่อ วัฒน์ วรรลยางกูร แต่เดิมทีตอนที่เขาเกิดเมื่อ 12 มกราคม พ.ศ. 2498 ชื่อของเขาคือ วีรวัฒน์ วรรลยางกูร
ในวัยเด็ก ชีวิตวัฒน์ไม่ค่อยอบอุ่นนัก เนื่องจากพ่อแม่แยกทางกัน ความเงียบเหงาในบ้านที่จังหวัดลพบุรี ถูกเติมเต็มด้วยหนังสือ โดยเฉพาะช่วงเรียนจบ ม.4 ซึ่งเขามาอาศัยอยู่กับยาย บ้านที่แทบไร้เสียงใด ๆ ปราศจากไฟฟ้า มีเพียงแสงตะเกียง เรียกร้องให้เขาหยิบหนังสือที่พ่อซื้อเก็บไว้มาอ่าน และทำให้เขาได้รู้จัก ศรีบูรพา, มาลัย ชูพินิจ, อ. อุดากร, อิงอร และนักเขียนอีกมากมายตั้งแต่ตอนนั้น
ไม่เพียงหนังสือเล่ม เขายังได้อ่านนิตยสารมวยของตา ซึ่งในนั้นไม่ได้มีแค่เรื่องหมัด ๆ มวย ๆ ยังมีนวนิยายให้อ่านอย่างต่อเนื่องด้วย นิตยสารอีกเล่มเขาได้อ่านเป็นประจำคือ “คุณหญิง” ซึ่งมีคอลัมน์ “แวดวงกวี” และนี่เองเป็นเมล็ดพันธุ์วรรณกรรมที่ค่อย ๆ หยั่งรากลึกลงในใจเด็กชายวีรวัฒน์
จากเด็กผู้หลงใหลการอ่าน ตัวหนังสือของเขาเริ่มวาดลวดลาย จากกลอนจีบสาวและหนังสือลายมือที่ทำอ่านกันเองในห้อง ก่อนจะปรากฏในหนังสือโรเนียวของโรงเรียน วัฒนู บ้านทุ่ง เป็นนามปากกาแรกที่เขาใช้ในการเขียนเรื่องสั้น จากนั้นเขาเริ่มพาผลงานออกนอกรั้วโรงเรียน โดยการส่งต้นฉบับทั้งเรื่องสั้นและบทกลอนไปยังนิตยสารชื่อดัง อาทิ ชัยพฤกษ์ และ ฟ้าเมืองไทย แม้ในช่วงแรกงานจะลงตะกร้า ไม่ได้รับการตีพิมพ์ แต่เขาก็ไม่ย่อท้อ มุ่งมั่นส่งไปอีกเรื่องแล้วเรื่องเล่า จนวันหนึ่งเขาก็ได้รับข่าวดี
“คนหากิน” เป็นเรื่องสั้นหนึ่งในสี่เรื่องที่เขาเขียนส่งนิตยสาร “ยานเกาะ” ถึงบรรณาธิการจะช่วยแก้ไขให้เป็นอันมาก แต่หัวใจของเด็กชายวีรวัฒน์ก็พองฟูด้วยความดีใจ บัดนี้เส้นทางการเป็นนักเขียนของเขาเริ่มต้นขึ้นแล้ว
จากเรื่องสั้นเรื่องแรก ตามมาด้วยบทกลอนที่ส่งประกวดใน “ชัยพฤกษ์” และเรื่องสั้น “มุมหนึ่งของเมืองไทย” ในคอลัมน์ “เขาเริ่มต้นที่นี่” นิตยสารฟ้าเมืองไทย พอถึงจุดนี้ชื่อนักเขียนหน้าใหม่ วัฒน์ วรรลยางกูร ก็โลดแล่นไปทั่ววงการ มีผลงานทั้งใน ฟ้าเมืองไทย ชาวกรุง ลลนา ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นที่สถิตของนักเขียนสุดยอดฝีมือทั้งสิ้น
เดิมที วัฒน์ วรรลยางกูร เป็นเพียงนามปากกา แต่เพราะมักมีปัญหาเรื่องการนำเช็คไปขึ้นเงิน เขาจึงตัดปัญหาด้วยการเปลี่ยนชื่อจาก วีรวัฒน์ เป็น วัฒน์ คำเดียวโดด ๆ ไปเสียเลย
เส้นทางชีวิตและเส้นทางนักเขียนของเขา อาจไม่เป็นแบบที่เรารับรู้กัน หากไม่เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองในปี พ.ศ. 2516 และ 2519 มันเป็นแรงเหวี่ยงที่มีพลังมหาศาล ชนิดเปลี่ยนชีวิตเขาทั้งชีวิต ไม่ต่างจากที่เกิดขึ้นกับหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยในเวลานั้น
นักศึกษา นักเขียน และนักหนังสือพิมพ์
เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เกิดขึ้นช่วงที่ วัฒน์ วรรลยางกูร มาถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต เขาเพิ่งเรียนจบชั้นมัธยมที่ลพบุรี และกำลังจะย้ายไปเรียนต่อในกรุงเทพฯ
เมื่อเข้าเรียนที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในปี 2517 พลังคนหนุ่มสาวกำลังเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในสังคม ความรักในการเขียนดึงดูดให้วัฒน์เข้าไปคลุกคลีกับเพื่อนใหม่ในแผนกวรรณศิลป์ ก่อนชักนำเขาเข้าไปทำหนังสือพิมพ์อธิปัตย์ของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ที่นี่เองที่เขามีโอกาสได้ลับคมงานเขียน ทั้งเรื่องสั้น บทกวี สารคดี อีกทั้งยังได้เขียนข่าว บทความ และนวนิยายเรื่องแรกในชีวิต
“ตำบลช่อมะกอก” เป็นนวนิยายที่มีต้นทางมาจากคอลัมน์ “ช่อมะกอก” ซึ่งเขาเขียนโดยใช้นามปากกา ชื่นชอบ ชายบ่าด้าน ในเวลาต่อมา นวนิยายเรื่องนี้กลายเป็นในหนึ่งในหนังสือต้องห้าม ด้วยเนื้อหาที่ว่าด้วยการต่อสู้เพื่อสิทธิ์บนที่ดิน ระหว่างชาวบ้านผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริง กับชนชั้นศักดินาที่พยายามจะฮุบเอาไป
ด้วยวัยเพียง 19 ปี วัฒน์มีผลงานนำหน้านักเขียนร่วมรุ่นทุกคน ไม่เพียงนวนิยาย “ตำบลช่อมะกอก” เท่านั้น เขายังมีรวมเรื่องสั้นออกมาถึง 2 เล่มคือ “นกพิราบขาว” ในปี 2518 และ “กลั่นจากสายเลือด” ในปี 2519 ขณะที่เส้นทางการเขียนกำลังสดใสนี่เอง ได้เกิดโศกนาฎกรรม 6 ตุลาคม 2519 ที่ วจนา วรรลยางกูร ลูกสาวของเขาเคยบอกไว้ว่า มันคือปมในชีวิตพ่อ
สหายร้อยและการต่อสู้ครั้งใหม่
การล้อมปราบนิสิต นักศึกษา และประชาชนอย่างโหดเหี้ยม ต่อด้วยปฏิบัติการกวาดล้างซึ่งขยายวงกว้าง เป็นระเบิดลูกมหึมาของสังคม วัฒน์เป็นคนหนึ่งที่ไม่รอช้า หลบหนีจากเมืองสู่ไพร ไปเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย มีชื่อใหม่ที่รู้กันดีว่า สหายร้อย
เมื่อแรกเข้าไป เขาไม่ได้อยากทำหนังสือพิมพ์ ตั้งใจที่จะทำงานมวลชนมากกว่า เพราะอยากได้ข้อมูลมาเขียนเรื่องที่เข้มข้นด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับคนจน แต่ด้วยชื่อเสียงที่มีอยู่เดิม ทำงานมวลชนได้เพียง 6 เดือน เขาก็ถูกดึงตัวมาเป็นบรรณาธิการ “ธงปฏิวัติ” แต่ถึงจะไม่ใช่ความตั้งใจแรก วัฒน์ก็ทำอย่างเต็มที่ โดยไม่รู้ล่วงหน้าว่า หนังสือเล่มนี้เองที่จะกลายมาเป็นจุดแตกหัก ระหว่างเขากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
ด้วยการทำงานที่ไม่ได้กินเวลามากมายอะไรนัก เพราะ “ธงปฏิวัติ” ออกแบบราย 2 เดือน แต่ละฉบับมี 28 หน้า พิมพ์รูปแบบโรเนียว ทำเพียงสองวันก็เสร็จ วัฒน์จึงยังสามารถทำงานเขียนที่เขารักได้อย่างเต็มที่ ในช่วงที่เข้าป่าเขาเขียนเรื่องสั้น บทกวี และนวนิยายได้เป็นจำนวนมาก มีผลงานรวมเล่มออกมาถึง 3 เล่ม ได้แก่ รวมเรื่องสั้นและบทกวี “ข้าวแค้น” ในปี 2522 กับ “น้ำผึ้งไพร” ในปี 2523 ส่วนเล่มที่ 3 เป็นนวนิยายที่สะท้อนแนวคิดของเขาได้อย่างชัดเจน นั่นก็คือ “ด้วยรักแห่งอุดมการณ์” พิมพ์ครั้งแรกในปี 2524 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ชีวิตเขามาถึงจุดหักเหอีกครั้ง
ในเวลานั้นวัฒน์เป็นเช่นเดียวกับสหายทั้งหลาย ที่ชักไม่พอใจการนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เมื่อมีสื่ออย่าง “ธงปฏิวัติ” อยู่ในมือ เขาก็ใช้เป็นพื้นที่ในการวิพากษ์วิจารณ์ ปรากฏพอหนังสือออกไปกลับสร้างความไม่พอใจให้แก่กองทหารบางหน่วย ถึงขั้นเตรียมยกพวกมาถล่มยังสำนักพิมพ์ 74 ซึ่งเป็นหน่วยที่เขาอยู่ วัฒน์เคยเล่าว่าเหตุการณ์แบบนี้ไม่ได้เกิดแต่กับเขา แม้แต่กรรมการกลางอย่าง นายผี - อัศนี พลจันทร หรือ เปลื้อง วรรณศรี ซึ่งเคยแสดงความคิดเห็นต่อพรรค ก็โดนแรงกดดันมาไม่น้อย
เมื่อสถานการณ์ไม่เป็นไปอย่างที่คิดไว้ บวกกับนโยบาย 66/23 ที่สร้างความมั่นใจ วัฒน์จึงตัดสินใจสลัดชุดทหารประชาชน กลับคืนสู่นาครมาพร้อมอัศนา หรือเล็ก คู่ชีวิตซึ่งพบรักกันกลางป่า ก่อนที่ครองคู่และมีลูกด้วยกันสามคน ได้แก่ วนะ, วสุ และ วจนา ทั้งคู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา จนอัศนาเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2552
นับหนึ่งอีกครั้งบนทางสายอาชีพ
หลังกลับสู่เมืองหลวง วัฒน์ก็ได้เริ่มต้นชีวิตนักหนังสือพิมพ์อีกครั้ง โดยเข้าทำงานในหนังสือพิมพ์ “มาตุภูมิ” “ไฮคลาส” และ “ถนนหนังสือ” โดยลึก ๆ แล้ว งานอย่างเดียวที่เขาอยากทำคือ การเป็นนักเขียน เพราะเหตุนี้เอง หลังอยู่ในกองบรรณาการหนังสือต่าง ๆ มาได้ประมาณปีเดียว วัฒน์ก็ลาออกมาเป็นนักเขียนเต็มเวลา
วัฒน์ประเดิมเส้นทางอาชีพด้วยนวนิยาย “คือรักและหวัง” และ “จิ้งหรีดกับดวงดาว” ในนิตยสารลลนา “บนเส้นลวด” ในสตรีสาร “มนต์รักทรานซิสเตอร์” ในบางกอก และ “เทวีกองขยะ” ในมติชนสุดสัปดาห์ สลับการเขียนเรื่องสั้นและบทกวีออกมาอย่างต่อเนื่อง จนมีผลงานระดับเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ในทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นนวนิยาย “คือรักและหวัง” (พิมพ์ปี 2525 เข้ารอบปี 2528) “ปลายนาฟ้าเขียว” (พิมพ์ปี 2532 เข้ารอบปี 2534) “ฉากและชีวิต” (พิมพ์ปี 2539 เข้ารอบปี 2540) และ “สิงห์สาโท” (พิมพ์และเข้ารอบในปี 2543) รวมเรื่องสั้น “ลูกพ่อคนหนึ่ง (ถากไม้เหมือนหมาเลีย)” (2530) และรวมบทกวีนิพนธ์ “เงาไม้ลายรวง” (พิมพ์ปี 2534 เข้ารอบ 2535)
แต่สำหรับคนที่ไม่ใช่คอวรรณกรรมแล้ว ผลงานของวัฒน์ซึ่งเป็นที่รู้จักมากที่สุดคงไม่มีเล่มไหนเกิน “มนต์รักทรานซิสเตอร์” ที่ เป็นเอก รัตนเรือง นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เมื่อปี 2544 กวาดรางวัลทั้งระดับประเทศและระดับนานาชาติไปมากมาย ถึงแม้นวนิยายเรื่องนี้จะไม่ได้นำเสนอภาพการต่อสู้ หรือชีวิตผู้ยากไร้ เหมือนอีกหลายเรื่องของเขา แต่ “มนต์รักทรานซิสเตอร์” ก็สะท้อนอีกด้านในความเป็น วัฒน์ วรรลยางกูร นั่นก็คือ การเป็นผู้รักเสียงเพลง
นอกจากเชี่ยวชาญงานเขียนทุกประเภทแล้ว วัฒน์ยังมีผลงานเพลงที่ได้รับการยอมรับอยู่ไม่น้อย หนึ่งในบทเพลงสำคัญที่ยังคงก้องอยู่ในใจผู้คนมาจนทุกวันนี้คือ “จากลานโพธิ์ถึงภูพาน” ซึ่งเนื้อเพลงที่เขาแต่งได้สะท้อนถึงความรู้สึกนึกคิดของนักต่อสู้ในเวลานั้นอย่างแจ่มชัด
ดินสอโดมธรรมศาสตร์ เด่นสู้ศึก
ได้จารึก หนี้เลือด อันเดือดดับ
6 ตุลา เพื่อนเรา ล่วงลับ
มันแค้นคับ เดือดระอุ อกคุไฟ
เรามีเพียงมือเปล่ามันล้อมปราบ
ระเบิดบาป กระสุนบ้า มาสาดใส่
เสียงเหมือนแตรงานศพ ซบสิ้นใจ
สนามหญ้าคลุ้งกลิ่นไอ คาวเลือดคน
มันตามจับ ตามฆ่า ล่าถึงบ้าน
อ้างหลักฐาน จับเข้าคุก ทุกแห่งหน
เราอดทน ถึงที่สุด ก็สุดทน
จึงเปลี่ยนหนทางสู้ขึ้นภูพาน
การทำงานเขียนอย่างต่อเนื่อง มีผลงานร่วม 40 เล่ม อีกทั้งผลงานเหล่านั้นยังเด่นชัดถึงอุดมการณ์ที่ไม่เคยแปรเปลี่ยน ในปี 2550 กองทุนศรีบูรพาจึงประกาศยกย่องให้ วัฒน์ วรรลยางกูร เป็นนักเขียนรางวัลศรีบูรพา คนที่ 19 ซึ่งวัฒน์ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อครั้งได้รับรางวัลว่า “รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง เพราะว่ารางวัลศรีบูรพาเป็นรางวัลที่นักเขียนมอบให้กับนักเขียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ศรีบูรพา’ เป็นนักเขียนที่ได้จุดแรงบันดาลใจด้านงานประพันธ์ตั้งแต่ผมยังเป็นนักเรียน” (จากบทสัมภาษณ์ “วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนรางวัลศรีบูรพา ปี 2550” โดย พรชัย จันทโสก หนังสือพิมพ์ จุดประกาย วรรณกรรม ปีที่ 20 ฉบับที่ 6638 วันอาทิตย์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2550)
การเดินทางครั้งสุดท้าย
เกียรติยศด้านการเขียนของ วัฒน์ วรรลยางกูร ควรถึงระดับศิลปินแห่งชาติ หากเขาไม่ยืนอยู่อีกฝั่งของรัฐบาล ด้วยการเข้าร่วมกับประชาชนคนเสื้อแดง ต่อเนื่องด้วยการต่อต้านการรัฐประหารแบบสู้ไม่ถอย
ในปี 2557 หลังการมาถึงของรัฐบาล คสช. เพียงสองวัน วัฒน์ได้รับคำสั่งให้ไปรายงานตัว แต่เขาไม่ยอมรับคำสั่งนั้น จึงมีคำสั่งซ้ำมาอีกหนึ่งฉบับ ก่อนคำสั่งเรียกรายงานตัวจะเปลี่ยนเป็นหมายจับ ฐานกระทำความผิดมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา จากการจัดแสดงละครเรื่อง “เจ้าสาวหมาป่า” ซึ่งทางการเห็นว่า มีเนื้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
คดีที่ได้รับทำให้วัฒน์ไม่ลังเลที่จะหลบหนีออกนอกประเทศ โดยเดินเท้าเข้าประเทศกัมพูชา ก่อนจะเดินทางต่อไปยัง สปป.ลาว นั่นเป็นช่วงที่เขาโดนหมายจับ ขณะที่นักแสดงนำของเรื่อง “เจ้าสาวหมาป่า” คือ ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม และ ภรทิพย์ มั่นคง ต้องถูกลงโทษจำคุก 5 ปี แต่ลดโทษเหลือกึ่งหนึ่ง โดยไม่รอลงอาญา หลังรับสารภาพในคดีเดียวกัน
ในระยะแรกที่พำนักในต่างประเทศ วัฒน์ยังไม่ได้เคลื่อนไหวทางการเมืองใด ๆ จนในปี 2559 เมื่อวิทยุใต้ดินผ่านยูทูบในนาม “สถานีไทยเสรีเพื่อสาธารณรัฐไทย” โดยโกตี๋ หรือ สหายหมาน้อย และชูชีพ ชีวะสุทธิ์ หรือ ลุงสนามหลวง ถือกำเนิดขึ้น วัฒน์จึงได้เข้าร่วมในนาม ‘สหายร้อยสิบสอง’ จัดรายการวิเคราะห์สถานการณ์การเมือง ร่วมกับลุงสนามหลวงและสหายยังบลัด อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการก่อเกิดของวงดนตรี ‘ไฟเย็น’ อีกด้วย
กลางปี 2560 เกิดเหตุร้ายกับกลุ่มผู้ลี้ภัย โกตี๋ถูกอุ้มหายไปตัว จนทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครพบศพ ถึงอย่างนั้น สหายร้อยสิบสอง ยังดำเนินรายการวิทยุใต้ดินต่อ จนในปี 2561 เขาจึงออกจากกลุ่มวิทยุใต้ดิน หลบไปอยู่นอกนครหลวงเวียงจันทน์ เพื่อเขียนหนังสือตามที่ตั้งใจไว้ แต่เพียงไม่นานหลังจากนั้น การหายตัวไปของ สุรชัย แซ่ด่าน กับลูกน้องอีกสองคน ก็เป็นสัญญาณเตือนให้รู้ว่า การซ่อนตัวอยู่ใน สปป.ลาวนั้น ไม่ปลอดภัยอีกต่อไป
วัฒน์ใช้เวลาทำเรื่องขอลี้ภัยถึงครึ่งปี ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม ปี 2561 จนถึงกลางเดือน พฤษภาคม ปีถัดมา จึงได้เดินทางออกจากนครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว สู่นครปารีส ซึ่งเป็นบ้านหลังสุดท้ายในชีวิตเขา วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 จรัล ดิษฐาอภิชัย ได้เปิดตัว “สมาคมนักประชาธิปไตยไร้พรมแดน” พร้อมกับต้อนรับสมาชิกใหม่คือ วัฒน์ วรรลยางกูร ซึ่งเพิ่งเดินทางมาถึงได้ไม่นานนัก
ชีวิตต่างแดนใช่ว่าจะสุขสบาย หลังกลายเป็นผู้ลี้ภัย เขามีรายได้เพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ จากหนังสือที่จัดพิมพ์ซ้ำ อีกทั้งยังล้มป่วยตั้งแต่ปีแรกที่ไปฝรั่งเศส จากการมีเนื้องอกที่ตับ เขาต่อสู้กับโรคนี้ยกแล้วยกเล่า เดินเฉียดเส้นตายมาหลายหน จนลูก ๆ ต่างหวังว่า ปาฏิหาริย์จะมีจริง
แต่ถึงจะป่วยหนัก วัฒน์ก็ไม่เคยหมดไฟเขียนหนังสือ ผลงานเล่มสุดท้ายของเขาเป็นการบอกเล่าประสบการณ์ตลอด 7 ปีที่ใช้ชีวิตในฐานะผู้ลี้ภัย ต้นฉบับส่งถึงสำนักพิมพ์ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการจัดพิมพ์ น่าเสียดายที่เขาไม่มีโอกาสได้เห็นหนังสือเล่มนี้ ประมาณสามทุ่มครึ่งของวันที่ 21 มีนาคม ตามเวลาในฝรั่งเศส นักเขียนนักอุดมการณ์นาม วัฒน์ วรรลยางกูร ได้จากทุกคนไปอย่างไม่มีวันกลับ
กว่า 7 ปีนับจากที่เขาต้องหลบหนี ห่างจากบ้านและลูก ๆ อันเป็นที่รัก อาจถึงเวลาแล้วที่เขาจะได้กลับบ้านเสียที
เรื่อง: จรูญพร ปรปักษ์ประลัย
ภาพ: สํานักพิมพ์ประพันธ์สาส์น