ก๋วยเตี๋ยว - จตุพงศ์ รุ่งเรืองเดชาภัทร์: มองการศึกษาไทยที่ไร้ศิลปะผ่านเลนส์ภาพยนตร์ของเด็กนิเทศฯ

ก๋วยเตี๋ยว - จตุพงศ์ รุ่งเรืองเดชาภัทร์: มองการศึกษาไทยที่ไร้ศิลปะผ่านเลนส์ภาพยนตร์ของเด็กนิเทศฯ
“ภาพยนตร์เป็นส่วนหนึ่งในความบันเทิงที่มีอยู่แล้วไม่ต่างจากอากาศ” นั่นคือคำตอบของ ‘ก๋วยเตี๋ยว - จตุพงศ์ รุ่งเรืองเดชาภัทร์’ ผู้กำกับรุ่นใหม่ที่จบจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อถูกถามว่าเขาเริ่มสนใจภาพยนตร์มาตั้งแต่เมื่อไหร่ ก๋วยเตี๋ยวไม่อาจทราบได้ เพราะรู้ตัวอีกทีก็มีภาพยนตร์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว การดูหนังสำหรับก๋วยเตี๋ยวถือเป็นกิจกรรมครอบครัว โดยเฉพาะการดูแผ่นซีดีทุกวันก่อนนอน เพราะโรงหนังในจังหวัดสุพรรณบุรี บ้านเกิดของก๋วยเตี๋ยวมีโรงหนังไม่เยอะ เขาเล่าให้ The People ฟังว่า จุดเริ่มต้นในการเข้าศึกษาต่อที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มต้นมาจาก ‘กล้อง’ ถึงแม้ก่อนหน้านี้ เขาจะเล่นดนตรีมาตั้งแต่สมัยมัธยม แต่การสอบเข้ามหาวิทยาลัยในเอกดนตรีจำเป็นต้องใช้วิชาความรู้ที่เฉพาะมากขึ้น ซึ่งก๋วยเตี๋ยวไม่ได้เรียนมา การไปค่ายและได้จับกล้องถ่ายภาพจึงช่วยส่งเสริมสิ่งที่ครอบครัวมอบให้ นั่นคือการเก็บภาพและวิดีโอของคนรักไว้เป็นบันทึกความทรงจำ แรกเริ่มเดิมที ความฝันของก๋วยเตี๋ยวคือการเป็นนักข่าว เพราะเขาเชื่อว่า “การได้เล่าเรื่องถือเป็น privilege อย่างหนึ่ง และเป็นอย่างนั้นมาตลอด ใครก็ตามที่ได้เล่าเรื่องคือคนที่เสียงดังในวงจรอำนาจ” แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นคณะแห่งกิจกรรม เมื่อก๋วยเตี๋ยวเข้ามาจึงมีรุ่นพี่ชักชวนเขาไปออกกองทำภาพยนตร์ จนเขาค้นพบจุดกึ่งกลางระหว่างการเล่าเรื่องและการถ่ายภาพเคลื่อนไหว ก่อนจะกลายมาเป็นผู้กำกับโฆษณา และผู้กำกับซีรีส์ที่สะท้อนความเน่าเฟะของวงการการศึกษาอย่าง ‘เด็กใหม่’ (Girl From Nowhere) ในซีซัน 1 ตอน ‘Wonderwall’ และ ‘Trap’ ที่เน้นประเด็นบูลลี่ในโรงเรียน และซีซัน 2 ตอน ‘JennyX’ ก่อนจะมาถึงภาพยนตร์เรื่องล่าสุดอย่าง ‘เทอมสองสยองขวัญ’ ที่ก็หนีไม่พ้นประเด็นการศึกษาอีกเช่นเคย The People จึงชวนก๋วยเตี๋ยวแลกเปลี่ยนมุมมองที่เด็กนิเทศฯ มีต่อการศึกษาไทย รวมถึงสิ่งที่เขาต้องการสะท้อนผ่านภาพยนตร์ผีเรื่องล่าสุด และปัญหาในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่มองเห็น   ผู้กำกับรุ่นเด็กกับประเด็นการศึกษา ก๋วยเตี๋ยวนับว่าตัวเองเป็นผู้กำกับรุ่นเด็ก ทำให้ดึงดูดโปรเจกต์เกี่ยวกับการศึกษา แต่ส่วนหนึ่งที่เขาได้ทำเรื่องแนนโน๊ะจากซีรีส์เด็กใหม่ก็อาจมีส่วนให้เขาได้ทำภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย ซึ่งก๋วยเตี๋ยวบอกว่า เขาเอนจอยกับการได้เล่าเรื่องเด็กมัธยม และประเทศไทยก็ชอบประเด็นนี้ ไม่ว่าจะกี่ปีผ่านไปก็มีภาพยนตร์วัยมัธยมออกมาให้ชมเสมอ “เพราะวัยนี้มันสนุกที่สุดแล้ว” เขาบอก สำหรับภาพยนตร์เรื่องเทอมสองสยองขวัญ ก๋วยเตี๋ยวต้องทำการบ้านเป็นพิเศษ เพราะเนื้อหาของนักศึกษาแพทย์ถือเป็นเรื่องไกลตัวของเขา ภายใต้ความสนุกสำหรับคนที่ชอบหนังผี ผู้กำกับรุ่นใหม่คนนี้ก็ไม่ลืมจะเชื่อมโยงคาแรคเตอร์ของตัวละครหลักไว้กับการศึกษาไทย ซึ่งนักแสดงอย่าง ‘เจมส์ - ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ’ ก็เข้าใจเส้นเรื่องได้เป็นอย่างดี “พอพูดถึงนักศึกษาแพทย์ ทุกคนนึกออกว่ามันต้องโดนกดดัน แต่สำหรับบางคนเขาไม่ได้มีความฝันอยากจะเป็น ประเทศนี้มอบความฝันอันนี้ให้เขา ถ้าไม่รู้จะฝันอะไร ฝันแบบนี้สิ แต่บางทีมันไม่ได้ฟิกซ์กับเขา แล้วมันจะเป็นอย่างไร? “เราอินกับประเด็นนี้ คนที่ไหลไปตามสายธารของการศึกษา เพราะว่าพอจะทำได้ เราใส่ความเป็น coming of age เอาไว้ มันคือการที่คนคนหนึ่งจะเรียนรู้ว่าตัวเองไม่ได้เหมาะกับทุกอย่างบนโลกใบนี้ มันสะท้อนถึงตัวเราตอนเขียนบท เราต้องยอมรับว่า เราไม่ได้เหมาะกับทุกอย่าง แล้วมันจะช่วยตัดชอยซ์” ก๋วยเตี๋ยวบอกว่า สิ่งที่สะท้อนออกมาในภาพยนตร์เรื่องเทอมสองยังไม่ทันจะส่งผลต่อสังคม เพราะตัวละครหลักคือผลลัพธ์ของภาพใหญ่ นั่นคือสิ่งที่ตัวละครต้องผ่านไปให้ได้ ส่วนการเป็นแพทย์ในสังคมไทย ก๋วยเตี๋ยวบอกว่า เขามีเพื่อนที่อยากเป็นหมอด้วย passion แต่เขาก็มีเพื่อนบางคนเช่นกันที่ไม่รู้ว่าทำไมจึงอยากเป็น นี่คือจุดสำคัญที่เขาอยากจะตั้งคำถาม เพราะบางครั้ง “การเป็นหมอสำหรับบางคนก็คือการอัปคลาสทางสังคมให้ได้ภายในเจเนอเรชันเดียว แทนที่พ่อแม่จะให้ลงทุนทำธุรกิจซึ่งต้องรอเวลา เขาก็บอกให้ไปเรียนหมอ” ก่อนที่การสนทนาจะเข้มข้นขึ้นอีก เราถามก๋วยเตี๋ยวว่า สำหรับเขา ‘ผีในวงการการศึกษาคืออะไร’ ก๋วยเตี๋ยวตอบว่ามันคือ ‘ค่านิยม’ “ค่านิยมที่ไม่เวิร์กคือผี มันหลอกหลอนเด็ก ๆ อยู่เสมอ การเป็นหมอบางทีก็ผี ทรงผมก็ผี ใครถามแล้วโดนแซวในห้องก็ผี ผีของเราเยอะมาก เพราะมันผิดไปหมด” และส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดผีเยอะแยะมากมายขึ้นในทุกวงการ ก๋วยเตี๋ยวบอกว่าเป็นเพราะการศึกษาไทยขาดการเรียนการสอนศิลปะที่เป็นศิลปะจริง ๆ   การศึกษาไทยที่ขาดศิลปะ “เราต้องจริงจังกับศิลปะที่เป็นศิลปะจริง ๆ คนโกงแต่มีศิลปะก็ยังออกมาดูดี แต่บ้านเรามันเลยจุดนั้นไปแล้ว ตอนนี้ไม่มีอะไรเลยที่น่าดู จะทำถนนแต่ตัดสเปคสิ่งของและไม่สวย การปลูกฝังศิลปะมันคือความงดงาม หากบ้านเรามี มันจะช่วยลดทอนปัญหาบางอย่างได้ การไฟฟ้าที่มีศิลปะ เขาคงไม่ทำสายไฟแบบนี้ วิทยาศาสตร์บ้านเราโอเค มีเด็กวิทย์โอลิมปิก แต่เด็กวิทย์ที่มีศิลปะด้วย เขาจะสร้างสิ่งใหม่ ไอน์สไตน์ก็มีศิลปะ เขามีทั้ง 2 โลก แต่บ้านเรากลับแยกกัน” ก๋วยเตี๋ยวบอกว่า ศิลปะในสายตาคนไทยคือวัฒนธรรม เช่น การรำไทย ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด เพราะแท้จริงแล้วศิลปะเป็นอะไรก็ได้ที่ยกระดับคุณค่าทางจิตใจและยกระดับการมองให้ทุกอย่างสวยงาม “เราไม่อาจยอมรับได้ว่าสายไฟที่พันกันกับถนนเหี้ย ๆ เป็นความสวยงามแบบไทย ถ้าจะเคลมว่าบ้านเรามีความสวยงาม ไม่ต้องเคลมลายกระหนก เพราะนั่นคือวัฒนธรรม เราไปนับว่าวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์เท่ากับศิลปะ มันแค่ส่วนหนึ่งของศิลปะ เราควรเรียนศิลปะโลก เพราะมันทำให้เราเชื่อมโยงกับโลกได้จริง ๆ เราจะรู้ว่าฝรั่งมองอะไรสวย แล้วเอาของไทยเข้าไปผสม เพื่อความงามแบบสากลได้”   ศิลปะภาพยนตร์และโฆษณาที่อยากให้เป็นมากกว่าภาพเคลื่อนไหว ภาพยนตร์คือศิลปะในวัยหนุ่ม เพราะเพิ่งอยู่กับมนุษย์มาไม่กี่ร้อยปี แตกต่างจากดนตรีที่อยู่กับมนุษย์มานานกว่า ภาพยนตร์ทำให้มนุษย์ผ่านพ้นช่วงเวลาไปได้ด้วยการแชร์เรื่องเล่า และภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่จะสร้างเรื่องเล่าที่มีพลังยิ่งขึ้นผ่านการทำให้มนุษย์เอนจอยไปกับมัน โดยแต่ละเรื่องจะมีประโยชน์ต่อมนุษย์ที่แตกต่างกัน แต่แทบจะไม่มีเรื่องไหนที่ไม่มีประโยชน์เลย “ภาพยนตร์และโฆษณาเหมือนกันในแง่การเคลื่อนไหวที่มีโลกของมันอยู่ การจ้อง ระยะภาพมันเป็นชุดความรู้เดียวกัน เพียงแต่มันใช้คนละจังหวะและเวลา และมันส่งผลคนละแบบกัน เราเลยทำทุกแบบ” หมวกหลายใบที่ก๋วยเตี๋ยวมีทำให้เขาเลือกสวมได้เมื่อต้องการผลิตผลงานที่แตกต่างกัน หากเป็นงาน commercial ก็จะมีเฟรมที่คม สั้น กระชับ ทั้งภาพและไอเดีย ซึ่งเป็นเรื่องทางการตลาดที่ต้องทำ ขณะที่ภาพยนตร์จะแสดงออกถึงความรู้สึกและความบันเทิง จึงไม่มีความจำเป็นต้องสั้น แต่ทั้งหมดทั้งมวลสามารถหยิบยืมมาผสมกันได้ตราบเท่าที่รู้ว่าใช้อะไรเพื่ออะไร ส่วนการถามว่าโฆษณาควรทำงานกับความคิดเหมือนภาพยนตร์ไหม ก๋วยเตี๋ยวบอกว่ามัน ‘ควรจะ’ ได้แล้ว ไม่ใช่แค่การคิดว่าควรหรือไม่ควร “สื่อเราโตมาถึงขั้นครอบงำมนุษย์ได้ เราต้องเชพมันให้มีประโยชน์ต่อมนุษย์ได้แล้ว ดังนั้น เราไม่ต้องถามแล้วว่ามันดีต่อสังคมไหม มันต้องทำเลย เพราะเราทำโฆษณาเยอะมาก เรารู้ว่า ถ้าตัวแรกไม่นึกถึง ตัวต่อ ๆ ไปก็จะไม่นึกถึง”   ปัญหาจาก Bangkok based ความฝันของก๋วยเตี๋ยวคือการสร้างภาพยนตร์ที่ทำให้คนรู้สึก เพราะความรู้สึกคือความพิเศษของมนุษย์ รวมถึงสร้างภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องที่เป็น subculture ได้มากขึ้น ยกตัวอย่าง ภาพยนตร์ของอีสานที่แฝงด้วยวัฒนธรรมอันน่าสนใจ เขายืนยันว่าประเทศไทยมีเรื่องราวเหล่านี้เยอะมาก แต่นำเสนอยังไม่ได้ด้วยปัญหาเชิงโครงสร้างและการสนับสนุน “เราเห็น possibility ของการเล่าเรื่อง อย่างสุพรรณบุรีก็มีศิลปะทวารวดี มันเล่าได้ ไปทั่วโลกได้ แต่สุดท้ายโปรดักชันอยู่กรุงเทพฯ หมด ออกไปถ่าย เอากลับมาตัดเพื่อให้คนกรุงเทพฯ ดู ทุกอย่างถูกคิดจาก Bangkok based เพราะกลุ่มคนดูและนายทุนอยู่ที่นี่” แต่หลังจากทัังวงการมีการรีเสิร์ชเยอะขึ้น ทำให้พบว่าคนอีสานเสพสื่อเยอะ จึงเริ่มมีโฆษณาที่เป็นภาพของชาวอีสานออกมา หากสังเกตดี ๆ เพลงอีสานมีคนเข้าไปฟังหลายร้อยล้านวิว ซึ่งก๋วยเตี๋ยวบอกว่า เพราะพื้นที่ตรงนั้นไม่ใช่แค่อีสาน แต่เป็นพื้นที่กลุ่มวัฒนธรรมที่ไปได้ไกลกว่านี้ ดังนั้นจึงอยากให้ภาพยนตร์กระจายไปทั่วประเทศตั้งแต่จุดเริ่มต้นของชิ้นงาน  “เราไม่ควรนั่งอยู่กรุงเทพฯ แล้วคิดว่าจะไปขายขอนแก่น เราควรมีคนทำหนังที่อยู่ขอนแก่น แล้วคิดบท แล้วถ่ายหนังที่ขอนแก่นเลย หลายอย่างถูกคิดจากคนกรุงเทพฯ บางอย่างมันจึงไม่ถึง สุดท้ายคนต่างจังหวัดคิดมาก็ถูกคนในเมืองฟันเป็นสายตาของคนในเมืองอยู่ดี แต่กลับกัน ‘อีสานไทบ้าน’ เติบโตรุนแรง เขาไม่ต้องการแว่นตาของคนกรุงเทพฯ เขาไม่สนใจคนกรุงเทพฯ เขาทำให้คนอีสานดู และเขายิ่งใหญ่เลย “กรุงเทพฯ ประเทศไทย มันเหมือนขาดจากกันไป เราก็สงสัยว่า ทำไมถึงไม่รวมกันแล้วทำให้มันดีกว่านี้ ถ้าเราแชร์กันได้ เราไม่ต้องไปยุ่งกับไอเดียของเขา แต่เราช่วยกันพัฒนาโปรดักชันได้” อีกสิ่งหนึ่งที่ก๋วยเตี๋ยวบอกว่าเป็นปัญหาคือเรื่องทุน เพราะนอกจากทุนจะกระจุกอยู่ที่กรุงเทพฯ แล้ว ประเทศก็ยังไม่ยอมลงทุนกับเรื่องนี้ การทำงานที่ผ่านมาทำให้ก๋วยเตี๋ยวเติบโตในหลายแง่มุมทั้งความสามารถและความคิด เขารู้ว่าตัวของเขาทำอะไรได้บ้างและมีประโยชน์อะไรบ้างในการทำงาน ต่อให้รู้ว่าตัวเองทำอะไรไม่ได้ เขาก็จะใช้จุดนี้ในการพัฒนาตัวเอง “ทุกการเติบโตทำให้เราเห็นกำแพง แล้วเราจะทะยานออกไปเจอกำแพงใหม่อีก เป็นการเรียนรู้ต่อไปเรื่อย ๆ” ก่อนจบการสนทนา ก๋วยเตี๋ยวทิ้งท้ายถึงสิ่งสำคัญที่ผู้กำกับควรมีไว้ 3 ข้อ เพื่อจะคงความเป็นตัวตนของผู้กำกับไว้ แต่ในทางกลับกันก็สามารถพัฒนางานภาพยนตร์ไปด้วยกันได้ “ผู้กำกับอย่างไรก็ต้องมีอีโก้ ไม่อย่างนั้นหนังจะไม่เป็นของเรา แล้วชีวิตที่ไม่เหมือนใครก็คือชีวิตของเรานี่แหละ “อย่างที่สองมีสกิลหรือสายตาทางศิลปะสักอย่าง อย่างเดียวก็พอ แล้วใช้ให้เป็นประโยชน์ให้ได้ เช่น เป็นคนวาดรูปเก่งก็จะมี visualize ที่ดี รวมถึงศิลปะการพูดก็จะเล่าเรื่องได้ดี ทุกคนมีอยู่แล้วถ้าเราไม่ได้มองศิลปะแค่การวาดภาพแบบที่การศึกษาไทยบอก “อย่างสุดท้ายคือ มีความพยายามจะเข้าใจสิ่งต่าง ๆ เหมือนการตั้งคำถาม การพยายามจะเข้าใจทำให้เราเกิดการเรียนรู้ มันจะช่วยเสริมคลังความ realistic ของมนุษย์ให้กับเรา ซึ่งภาพยนตร์ต้องการสิ่งนั้น” สำหรับภาพยนตร์เรื่องล่าสุดนี้ ก๋วยเตี๋ยวบอกว่าเป็นครั้งแรกที่เขาได้กำกับหนังผีอย่างเต็มตัว ซึ่งแตกต่างจากเรื่องเด็กใหม่ เขายังไม่รู้ว่ารสชาติของเขาในภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นอย่างไร จึงรอคอยให้ผู้ชมมาฟีดแบคกลับมา  ส่วนในอนาคต เราถามเขาว่ายังอยากทำภาพยนตร์ที่ชูประเด็นการศึกษาต่อไหม เขาตอบว่า ทำอย่างไรสังคมไทยก็หนีไม่พ้นประเด็นนี้ เพราะตัวละครวัยรุ่นต้องเกี่ยวข้องกับมันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หากไม่เรียนอยู่ ทำอะไรอยู่ ก็เป็นเพราะไม่ได้เรียนนั่นเอง แต่ในอนาคตข้างหน้าเขาก็หวังว่าจะได้สร้างภาพยนตร์แนวอื่นอีกเช่นกัน   เรื่อง: วโรดม เตชศรีสุธี