MH 370: ปริศนาการสูญหายของ 239 ชีวิตบนเครื่องบินโดยสารที่ยังต้องการคำตอบ

MH 370: ปริศนาการสูญหายของ 239 ชีวิตบนเครื่องบินโดยสารที่ยังต้องการคำตอบ
“ตราบใดที่คำถามเกี่ยวกับ MH 370 ยังไม่มีคำตอบ โอกาสในการเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้อีกยังคงเป็นไปได้เสมอ” เกรซ นาธาน นักกฎหมายผู้เฝ้าตามข่าวการหายไปของมารดาบนเครื่องบินสายการบินมาเลเซีย แอร์ไลนส์ เที่ยวบิน MH 370 กล่าวในงานรำลึกครบรอบ 8 ปีที่มารดาของเขาสูญหายไปพร้อมกับเที่ยวบินลำนี้ แอนน์ เดซี่ แม่ของเกรซ คือ 1 ใน 239 ชีวิตที่ออกเดินทางจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ ของมาเลเซีย บนเครื่องบินโบอิ้ง 777 เที่ยวบิน MH 370 เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 2014 จนถึงขณะนี้เธอยังไม่ถึงจุดหมายปลายทางที่กรุงปักกิ่ง ของจีน และไม่มีใครทราบว่าเครื่องบินลำนี้หายไปไหน การหายไปของ MH 370 กลายเป็นปริศนาของอุตสาหกรรมการบินที่มีความลึกลับซับซ้อนมากที่สุดเหตุการณ์หนึ่งของโลก และทำให้เกิดปฏิบัติการณ์ค้นหากินพื้นที่กว้างขวางมากที่สุดในประวัติศาสตร์การบินโลก สัปดาห์แรกหลังเครื่องบินสูญหาย บรรดาหน่วยกู้ภัยระดมกำลังออกค้นหาบริเวณทะเลจีนใต้ใกล้ชายฝั่งเวียดนาม และเกาะปีนังในช่องแคบมะละกา เนื่องจากเป็นเส้นทางมุ่งหน้าสู่ปักกิ่ง ทว่า วันที่ 15 มีนาคม 2014 นายนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ณ เวลานั้นออกมาเปิดเผยข้อมูลใหม่ว่า MH 370 บินออกนอกเส้นทางมุ่งหน้าไปกลางมหาสมุทรอินเดีย ก่อนสัญญาณวิทยุในห้องนักบินจะหายไป  ...และไม่มีใครได้เห็นเครื่องบินลำนั้นอีกเลย   ไทม์ไลน์การหายไปอย่างเป็นปริศนา MH 370 บินขึ้นจากท่าอากาศยานกรุงกัวลาลัมเปอร์ในเวลาเที่ยงคืน 42 นาที ของวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 2014 และติดต่อหอควบคุมการบินครั้งสุดท้ายเหนือทะเลจีนใต้ในเวลา 01:19 น. ด้วยคำกล่าวลาเพียงสั้น ๆ ว่า  “ราตรีสวัสดิ์ จากมาเลเซียน 370 (Good Night, Malaysian Three Seven Zero)” แม้นักบินจะไม่ติดต่ออะไรกลับมาหลังบอกลาหอบังคับการบิน แต่เรดาร์ทางทหารยังสามารถตรวจจับสัญญาณของเครื่องได้จนถึงเวลา 02.22 น. จากนั้นเครื่องบินก็อันตรธานหายไปโดยไม่ส่งสัญญาณฉุกเฉินกลับมาจากห้องนักบิน แม้แต่โทรศัพท์ของผู้โดยสารบนเครื่องก็ไม่มีใครแจ้งข่าวใด ๆ ออกมาเหมือนตอนเกิดเหตุการณ์ 9/11 239 ชีวิตที่อยู่บนเครื่อง MH 370 ทั้งผู้โดยสารและลูกเรือที่หายไปเป็นชาวจีนมากที่สุดจำนวน 153 คน รองลงมา คือ ชาวมาเลเซีย 38 คน ส่วนกัปตันชาวมาเลเซีย ชื่อว่า ซาฮารี อาหมัด ชาห์ วัย 53 ปี เขาเป็นหนึ่งในนักบินที่มีชั่วโมงบินสูงที่สุดของสายการบินมาเลเซีย แอร์ไลนส์ในเวลานั้น   ปฏิบัติการณ์ค้นหาคว้าน้ำเหลว หลังนายกฯ มาเลเซีย เปิดเผยข้อมูลเส้นทางบินใหม่ที่ได้จากสัญญาณวิทยุก่อนเครื่องบินหายไปจากเรดาร์ การค้นหาก็พุ่งเป้าไปยังมหาสมุทรอินเดีย ห่างจากชายฝั่งเมืองเพิร์ธ ประเทศออสเตรเลีย ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 2,000 กม. ทีมค้นหานำโดยนักประดาน้ำออสเตรเลียเริ่มปฏิบัติการณ์ทั้งบนผืนน้ำและใต้มหาสมุทรจนถูกขนานนามให้เป็นการค้นหาเครื่องบินสูญหายที่กินบริเวณกว้างมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ครอบคลุมพื้นที่ 120,000 ตร.กม. และคาดว่าใช้งบประมาณไปทั้งหมดประมาณ 200 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย การค้นหาใช้เวลานานเกือบ 3 ปี แต่ก็ไม่มีวี่แววเครื่องบินลำดังกล่าว จนสุดท้ายออสเตรเลียต้องยุติปฏิบัติการณ์ค้นหาในเดือนมกราคม 2017  แม้ต่อมาในเดือนมกราคมปี 2018 กลุ่ม Ocean Infinity บริษัทเอกชนที่ประกอบธุรกิจสำรวจใต้ท้องทะเลจะกลับมารื้อฟื้นปฏิบัติการณ์ช่วยค้นหาอีกครั้ง แต่พวกเขาก็ทำได้เพียงสั้น ๆ ก่อนยุติปฏิบัติการณ์ไปในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน โดยไม่พบความคืบหน้าใด ๆ   ปริศนาทำให้เกิดทฤษฎีสมคบคิด การทุ่มเททั้งเวลา เงินทอง และสรรพกำลังไปมหาศาลแต่ไม่เจอร่องรอยของ MH 370 ไม่ต่างจากการงมเข็มในมหาสมุทร แม้ต่อมาซากเครื่องบินลำนี้กว่า 30 ชิ้น จะถูกคลื่นซัดขึ้นฝั่งบนชายหาดทวีปแอฟริกา และหมู่เกาะหลายแห่งในมหาสมุทรอินเดีย แต่ปริศนาสาเหตุการหายไปของมันก็ยังคงไร้คำตอบ ความคลุมเครือและไร้คำอธิบาย คือ เชื้อไฟอย่างดีของทฤษฎีสมคบคิด บ้างว่าเหตุการณ์นี้เป็นการก่อการร้าย การจงใจฆ่าตัวตายของนักบิน ปัญหาเครื่องยนต์ขัดข้อง หรือไปไกลกระทั่งถูกมนุษย์ต่างดาวลักพาตัว บางคนเชื่อว่า สาเหตุอาจเกิดจากการขนมังคุดกับแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนไว้ใต้ท้องเครื่องทำให้ของทั้งสองอย่างทำปฏิกิริยากันจนระเบิด แต่บางคนบอกว่าต้องเป็นฝีมือของทหารอเมริกันที่ยิงตก เพราะเครื่องบินผ่านเข้าใกล้เกาะดิเอโก้ การ์เซีย ซึ่งเป็นฐานทัพเรือสหรัฐฯ กลางมหาสมุทรอินเดีย อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีที่ดูเป็นไปได้มาจากปากนักบินผู้หนึ่งซึ่งไม่เปิดเผยชื่อ เขาบอกกับ The Straits Times สื่อของสิงคโปร์ว่า ระบบจ่ายออกซิเจนบนเครื่องอาจขัดข้องทำให้คนบนเครื่องหมดสติเลยไม่มีการส่งสัญญาณฉุกเฉินใด ๆ ออกมา  ส่วนนักบินก็พยายามเปลี่ยนเส้นทางเพื่อไปลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินปีนัง ซึ่งยังเปิดทำการในคืนนั้นและอยู่ใกล้สุด แต่สุดท้ายก็หมดสติเช่นกัน ทำให้เครื่องบินขับเคลื่อนด้วยระบบอัตโนมัติบินเลยไปกลางมหาสมุทรอินเดีย จนน้ำมันหมดและตกลงกลางทะเลในที่สุด   เทคโนโลยีคือคำตอบ ไม่ว่าใครจะพยายามยกทฤษฎีอะไรขึ้นมาดูเหมือนจะไม่มีน้ำหนักพอในทางวิทยาศาสตร์ ตราบใดที่ยังไม่สามารถค้นหาซากเครื่องบินส่วนใหญ่ รวมถึงกล่องดำบันทึกข้อมูลการบิน ซึ่งเป็นหลักฐานที่มีน้ำหนักมากที่สุดมาตรวจสอบ ด้วยเหตุนี้ นานาชาติยังคงมีความพยายามรื้อฟื้นปฏิบัติการณ์ค้นหาเครื่องบิน MH 370 กลับมาอีกครั้ง โดยพยายามใช้ข้อมูลใหม่ในการหาพิกัดจุดตกเพื่อกำหนดขอบเขตค้นหาให้แคบยิ่งขึ้น และนำเทคโนโลยีล้ำสมัยมาช่วยในการค้นหา ทีม Ocean Infinity เผยว่า พวกเขากำลังพัฒนาเรือสำรวจใต้น้ำที่บังคับด้วยรีโมตคอนโทรล เป็นนวัตกรรมเรือสำรวจใต้น้ำที่ล้ำสมัยที่สุด คาดว่าจะพัฒนาได้แล้วเสร็จและกลับมาเริ่มปฏิบัติการณ์ค้นหารอบใหม่ได้เร็วที่สุดในช่วงต้นปี 2023 ปฏิบัติการณ์ค้นหาใต้มหาสมุทรไม่ใช่เรื่องง่าย และเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า มนุษย์รู้เรื่องในอวกาศนอกโลกมากกว่าเรื่องราวใต้ผืนน้ำมหาสมุทรของตัวเอง โลกใต้ทะเลยังคงมีเรื่องราวลี้ลับที่เรายังไม่รู้อีกมากมาย และเทคโนโลยีใหม่ ๆ คือเครื่องมือที่จะช่วยไขความลับเหล่านี้ การค้นพบซากเรือไททานิกที่ชนภูเขาน้ำแข็งจมมหาสมุทรแอตแลนติกตั้งแต่ปี 1912 คือหนึ่งในตัวอย่างที่ดีที่สุด เพราะนักค้นหาต้องรอเทคโนโลยีใหม่ใช้เวลานานถึง 73 ปี กว่าจะสามารถดำลงไปจนพบซากในที่สุด อย่างไรก็ตาม ด้วยความพยายามอย่างไม่ลดละของผู้เชี่ยวชาญ และการพัฒนาเทคโนโลยีที่รวดเร็วในยุคปัจจุบัน คนทั่วโลกได้แต่หวังกันว่า การค้นหา MH 370 จะไม่ใช้เวลายาวนานเหมือนการค้นหาเรือไททานิก เพราะยิ่งเวลายืดเยื้อยาวนานออกไป  ...ปริศนาการหายไปของ MH 370 และ 239 ชีวิตบนเครื่อง นอกจากจะยังเป็นคำถามคาใจ พวกเราทุกคนยังมีโอกาสเผชิญเหตุการณ์แบบเดียวกับที่เกิดขึ้นกับแม่ของเกรซ นาธาน บนเที่ยวบิน MH 370 ได้ทุกเมื่อ   ข้อมูลอ้างอิง: https://www.straitstimes.com/asia/se-asia/st-unsolved-mysteries-of-south-east-asia-the-plane-that-vanished-into-thin-air https://www.bbc.com/news/business-59517821 https://www.nst.com.my/news/nation/2022/03/777912/mh370-eight-years-selamat-omar-still-waiting-answers