แมว - จิรศักดิ์ ปานพุ่ม: ‘แมว’ ที่เป็น ‘ปลา’ ในมหาสมุทรดนตรี ‘NFT Creator’ ที่เริ่มจากวัยเด็กและโปสเตอร์หนังหน้าโรง
โดดเด่นกลางโทนสีสดที่ละเล่นกับแสงสว่างและความมืดในฉากหลัง เบื้องหน้าปรากฏตัวละคร ‘แพะ’ คาบไปป์ไว้ในปากพลางพ่นควันโขมงนั้นเป็นผลงานของบุคคลที่เราได้ยินชื่อครั้งแรกแล้วเกิดคำถาม - คนคนนี้วาดภาพด้วยหรือ?
‘คนคนนี้’ ที่เราพูดถึงนั้น มีชื่อเสียงเรียงนามว่า ‘แมว - จิรศักดิ์ ปานพุ่ม’ นักร้องที่แต่ไหนแต่ไรเราก็คุ้นชินจากภาพลักษณ์ร็อกเกอร์ และมักจะหยิบเพลงที่เขาร้องอย่าง ‘คนของเธอ’, ‘นักโทษประหาร’ รวมทั้ง ‘ดาวประดับฟ้า’ ไปซ้อมลูกคอ (อย่างค่อนข้างเพี้ยน) ยามร้องคาราโอเกะร่วมกับเพื่อนฝูงอยู่เสมอ
หลังจากได้พูดคุยกัน ผู้เขียนจึงทราบว่า ‘แมว จิรศักดิ์’ นักร้องคนโปรดของใครหลาย ๆ คนนั้นเริ่มสนใจกระดาษวาดเขียนในช่วงเดียวกัน - หรืออาจจะก่อนหน้าความสนใจที่เขามีให้ดนตรีเสียด้วยซ้ำ
ท่ามกลางแสงตะวันที่กำลังคล้อยยามพลบค่ำ ไออาทิตย์สีส้มอาบย้อมผืนฟ้า ประดับแสงเข้ากับผนังโรงภาพยนตร์แห่งหนึ่งในจังหวัดอุดรธานี กลิ่นสีโชยมาตามจังหวะตวัดแปรง ‘เด็กชายจิรศักดิ์’ ยืนมองพื้นผิวว่างเปล่าค่อยถูกแต่งเติมเป็นรูปร่างด้วยฝีมือนักวาดคนหนึ่ง สีสันสวยงามของโปสเตอร์หนังวาดมือกระจ่างชัดในดวงตา
บทความนี้ว่าด้วยวัยเด็ก ความฝัน การเดินทางของเสียงดนตรี และฝีแปรงที่เกือบไม่มีโอกาสได้ขยับวาดในวันที่เติบโต
ชีวิตเป็นปลา ดนตรีเป็นน้ำ
อุดรธานี, พ.ศ. 2513 คือขวบปีที่ ‘จิรศักดิ์ ปานพุ่ม’ ลืมตาดูโลก ครอบครัวของเขาไม่ได้มีฐานะดีนัก กลับกัน ในวัยที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ จิรศักดิ์ไม่อายที่จะบอกใครต่อใครว่าในวัยเด็กนั้น ครอบครัวของเขาเข้าขั้นยากจนก็ว่าได้ หนำซ้ำนอกจากปัญหาปากท้องที่ต้องเผชิญ จิรศักดิ์เล่าให้เราฟังว่าในช่วงเวลาดังกล่าว ความรักระหว่างพ่อและแม่ของเขาก็กำลังเผชิญปัญหา
จิรศักดิ์เป็นเพียงเด็กน้อย ไม่อาจถ่ายทอดหรือจดจำทุกอย่างที่ผ่านพ้นไปได้ทั้งหมด หากสิ่งหนึ่งที่เขาจำได้ คือสมัยก่อนตอนที่พ่อของเขายังอยู่บ้าน เด็กชายจะได้ยินเสียงไวโอลินแว่วมาจากสักมุมหนึ่งของบ้านอยู่เสมอ และรับรู้อย่างไม่ใคร่ใส่ใจนักว่าผู้ที่เล่นเครื่องดนตรีชิ้นนั้นก็คือพ่อของเขานั่นเอง
เสียงไวโอลินคือสิ่งที่จิรศักดิ์ได้ยินทุกวัน เด็กน้อยรู้สึกว่าเสียงแว่วหวานอันผ่านหูทุกครั้งที่กลับมาจากโรงเรียนนั้นเป็นเรื่องธรรมดาไม่ต่างจากกิจวัตรประจำวันอื่น ๆ ของเขา จนกระทั่งวันหนึ่ง เสียงที่เคยคุ้นหูพลันหายไป
เสียงไวโอลินหายไปไหน? เด็กน้อยเฝ้าคิดและเอ่ยถาม จึงได้รู้ว่าพ่อที่ทะเลาะกับแม่มายาวนาน เลือกที่จะหายตัวออกจากบ้านไปเสียแล้ว
“คิดว่าดนตรีมันเหมือนน้ำ แล้วเราเหมือนปลา ที่มันไม่ได้รู้ว่าห้อมล้อมมันมีน้ำอยู่ แต่พอวันหนึ่งไม่มีน้ำ ปลาก็จะตาย”
เสียงไวโอลินที่หายไปนั่นเองคือสิ่งที่ทำให้เด็กชายได้เข้าใจว่าชีวิตเขาขาดสิ่งนี้ไม่ได้ เพราะแม้ว่าเขาจะได้ชื่อเล่นว่า ‘แมว’ แต่เขาก็เป็นปลาในมหาสมุทรแห่งเสียงดนตรี
คิดได้ดังนั้น เด็กชายจึงออกเดินทางแหวกว่าย เริ่มจากชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่จิรศักดิ์ถูกชักชวนให้ไปเล่นดนตรี “สอบเข้า ม.1 ได้ที่อุดรธานี แล้วพี่มาชวนว่าไปเล่นดนตรีกัน ได้เงินนะเว้ย พอได้ยินคำว่าได้เงินปุ๊บ ไปเลย ไม่เรียนเลยหนังสือนะครับ ชีวิตวัยรุ่นตอน ม.1 ผมก็ขาดหายไปเลย ก็ไปเริ่มทำงานเล่นดนตรีหลงใหลดนตรี ชอบดนตรีมาก ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยฝึกเล่นเลย เหมือนว่าไปเริ่มนับหนึ่งเอาเอง
“ไปถึงไม่ใช่ว่าได้เล่นเลยนะครับ ไปถึงก็ได้ฝึกก่อน ตั้งใจว่าจะฝึกสักปีสองปีแล้วค่อยขึ้นเล่นจริง ปรากฏว่าไปฝึกได้ไม่ถึงเดือน มือกีตาร์คนเดิมเขาออกจากวง ผมก็เลยต้องขึ้นไปยืนเป็นนักดนตรีประดับ คือเล่นยังไม่เป็น แต่สัญญาของวงที่มีต่อร้านเนี่ย ตอนนั้นเรียกว่าไนต์คลับ ไม่ได้เรียกว่าร้าน ไม่ได้เรียกว่าผับ วงก็จะมีสัญญากับไนต์คลับว่าสมาชิกวงต้องครบตามจำนวน ไม่งั้นหักเงินเดือน ผมเลยต้องขึ้นไปยืนประดับให้ครบ ขึ้นไปยืนพอถึงท่อนโซโล่ ก็วิ่งเอาโน้ตไปให้มือคีย์บอร์ดโซโล่ทำเป็นเสียงกีตาร์เพราะเรายังเล่นไม่เป็น พอเลิกงานตี 1 เราก็จะหอบโน้ตปึ๊งนั้น มีอยู่ประมาณเกือบร้อยเพลง ผมก็จะหอบโน้ตเหล่านั้นกลับมาฝึกต่อที่บ้านถึง 7 โมงเช้าทุกวัน”
จิรศักดิ์เล่าว่าในช่วงเวลานั้นตนทิ้งการเรียนในระบบการศึกษาเพื่อบ่ายหน้าวิ่งเข้าหาดนตรีอย่างเต็มตัว กระทั่งฝีมือพัฒนาขึ้น จากมือกีตาร์ประดับในไนต์คลับ เป็นมือกีตาร์มีฝีมือ ราว 3 หรือ 4 ปีหลังจากนั้นจึงได้โยกย้ายมาทำงานประจำห้องอัดเสียงในกรุงเทพฯ ด้วยตำแหน่ง ‘มือปืนรับจ้าง’ หรือมือกีตาร์ที่รับจ้างอัดให้กับศิลปินต่าง ๆ โดยจิรศักดิ์ได้เอ่ยชื่อคุ้นหูที่เคยรับงาน ‘มือปืน’ ให้มาหลายราย
“ก็จะมีคุณอาไวพจน์ เพชรสุพรรณ พี่แอ๊ว - ยอดรัก พี่เป้า - สายัณห์ แล้วก็พี่ติ๊ก ชิโร่ ผมก็อัดให้ พี่แจ้ - ดนุพล แก้วกาญจน์ ท่านต่าง ๆ เหล่านี้ พออัดดนตรีอัดกีตาร์ให้ก็เริ่มมีเงิน เริ่มมีเงินแล้วก็เริ่มนึกถึงว่าเราต้องเรียนหนังสือ ก็เลยกลับมาเรียนการศึกษานอกโรงเรียน พอจบแล้วก็เข้าเรียนรามคำแหง คณะเศรษฐศาสตร์”
แม้สิ่งที่เลือกเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยจะไม่ใช่การจับคอร์ด อ่านสเกลเสียง หรือการเขียนโน้ต แต่จิรศักดิ์ก็ไม่เคยทิ้งเสียงดนตรีไปไหน หลังร่ำเรียนวิชาจากเวทีและสั่งสมประสบการณ์ในห้องอัดอยู่นานปีจนมีโอกาสได้สร้างสรรค์อัลบั้มในนามตนเอง ชื่อ ‘แมว จิรศักดิ์’ ก็กลายเป็นชื่อที่คุ้นหูคนไทยในฐานะบุคคลหนึ่งที่ประสบความสำเร็จไม่น้อยในทำเนียบนักดนตรี
ความฝันบนโปสเตอร์หนังหน้าโรง
ชีวิตบนถนนสายดนตรีของจิรศักดิ์เริ่มขึ้นอย่างค่อนข้างจริงจังตอนเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1 และลงท้ายด้วยความสำเร็จ เสียงเพลงกลายเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงทั้งปากท้องและจิตใจของเขาให้เต็มอิ่ม กระนั้นจิรศักดิ์ก็ไม่เคยลืมเลือนอีกหนึ่งความฝัน ที่จะว่ากันตามจริงนั้น เกิดขึ้นก่อนความฝันว่าอยากจะเล่นดนตรีเสียด้วยซ้ำ
เด็กชายจิรศักดิ์ชอบวาดภาพมาตั้งแต่จำความได้ และเล่าเปิดใจกับเราว่าในวัยช่างฝัน เขาเคยวาดการ์ตูนขาย
“แต่ก่อนก็จะมีการ์ตูนพวกขายหัวเราะอะไรพวกนี้ ผมก็จะอ่านทุกวันเลย แล้วก็จะมีการ์ตูนญี่ปุ่นเล่มละบาท เล่มละ 50 สตางค์ ก็ซื้อมาอ่าน อ่านเสร็จแล้ว เห้ย... เราก็วาดได้ ก็เลยวาดการ์ตูนเป็นเรื่อง ๆ แต่งเองแล้วก็เอาไปให้เพื่อนเช่า เช่าเล่มละสลึงอะไรอย่างนี้”
นอกจากจะเป็นเด็กชายที่ชอบวาดการ์ตูนให้เพื่อนที่โรงเรียนเช่าอ่านแล้ว จิรศักดิ์ยังเป็นเด็กชายที่หยุดยืนอยู่กับที่นับชั่วโมงจนแสงสุดท้ายของดวงอาทิตย์ร่ำลา เพื่อยืนมองนักวาดโปสเตอร์ภาพยนตร์ทำงานของตนเรื่องแล้วเรื่องเล่า วันแล้ววันเล่า
“ตอนนั้นเรียน ป.4-5-6 ตลอดทั้ง ป.4-5-6 นี่หลังเลิกเรียนผมจะต้องไปยืนอยู่ที่โรงหนัง แต่ก่อนนี้โรงภาพยนตร์นี่เขาจะแมนนวลมากเลย แมนนวลคือวาดรูปลงบนไวนิล วาดโปสเตอร์หนัง ถ้าใครเกิดทันก็จะเห็นคนนั่งวาดรูปอยู่ข้างโรงหนัง เราก็ไปยืนดูตรงนั้นเลยว่า เขาลงสียังไง เขาตีสเกลยังไง คือเราไม่ได้ไปปั่นจักรยานเล่นกับเพื่อนเพราะว่าไม่มีจักรยาน เราต้องเดินไป-กลับโรงเรียน ก่อนเข้าบ้านมันจะผ่านโรงหนัง เราก็ไปใช้เวลาอยู่ที่โรงหนังจนถึงหกโมงเย็นหรือหนึ่งทุ่ม จนหมดแสงค่อยเดินกลับบ้าน คุณแม่ถามว่าไปไหน เราก็บอกว่าอยู่โรงหนังนี่แม่ ชื่อโรงหนังเจ้าพระยา ที่อุดรธานีนะครับ โรงหนังเจ้าพระยาตอนนี้ไม่มีแล้ว
“ไปยืนอยู่ตรงนั้น แล้วพี่คนวาดเขาก็เห็นมาตลอด เห็นทุกวันเขาก็ถาม เห้ย...ชอบเหรอน้อง ชอบครับพี่ สอนให้เอาเปล่า โอ้โห...ได้ยินคำนี้นี่แบบว่ามันเหมือนได้ขึ้นสวรรค์ ช่วง ป.4 เขาสอนให้เราตีสเกล ช่วง ป.5 เขาสอนให้ผมลงสี สีพื้น สีเนื้อ สมมติสีหน้าคนนี่ต้องลงสีอะไรก่อน ควรจะลงเงาหรือแสงก่อน หรือสีเนื้อธรรมดาก่อน แล้วก็ไล่ไป พอตอน ป.6 กำลังจะได้เริ่มเรียนวาดจริง ๆ แล้ว พี่กำลังจะให้วาดจริง ๆ พี่เขาก็ออกไปก่อน ลาออกไปเลย อาจารย์หาย”
เราถามจิรศักดิ์ว่าระหว่างศิลปะดนตรีกับศิลปะภาพวาด เขาชอบอะไรมากกว่า จิรศักดิ์บอกเราว่าเขาชอบทั้งคู่ไม่ต่างกัน เพียงแค่ช่วงเวลาที่ผ่านมา เขามีโอกาสได้แสดงถึงศิลปะผ่านเสียงเพลงมากกว่าเท่านั้นเอง
ดิจิทัลอาร์ต รูปวาดแรกในชีวิต
วัยเด็กผ่านไป จิรศักดิ์กลายเป็นปลาวัยผู้ใหญ่ที่ยังวิ่งว่ายอยู่ในมหาสมุทรแห่งเสียงเพลงเช่นเดิม ส่วนความฝันวัยเยาว์อย่างการวาดรูปนั้น เขาบอกเราว่าจากวันนั้นจนถึงวันนี้ วันที่ยังเป็นเด็กชายในชุดนักเรียน จนถึงวันที่อายุ 51 ย่าง 52 เขาไม่เคยได้วาดรูปจนเสร็จสมบูรณ์เลยแม้แต่รูปเดียว จนกระทั่งรู้จักงานศิลปะยุคใหม่ที่เรียกว่า ‘ดิจิทัลอาร์ต’
“รูปที่วาดมือผมเคยวาดรูปลูกชาย คือน้องแจสเปอร์ ผมวาดรูปเขาเสร็จนะ แต่เป็นวาดขาว-ดำ ไม่ได้ลงสี เพราะเราไม่รู้ว่าวาดแล้วต้องทำอย่างไรต่อ ทำไม่เป็น จนกระทั่งเราได้รู้จักดิจิทัลอาร์ต รู้จักงานวาด งานศิลปะที่มันทำผ่านโปรแกรมโฟโตชอปได้
“การรู้จักดิจิทัลอาร์ตทำให้ผมได้รื้อความทรงจำเก่า ๆ หรืออาจจะเรียกว่ารื้อไฟ ไฟเก่า ๆ ที่เราเคยรัก เคยชอบการวาดรูป มันทำให้เรามีแพสชันกลับคืนมาและคิดว่าลองทำดูเว้ย!”
แมว จิรศักดิ์จึงเริ่มวาดภาพ ‘แพะ’ ในอิริยาบถต่าง ๆ เมื่อเราถามว่าทำไมถึงเป็น ‘แพะ’ สิ่งที่ชายคนนี้ตอบกลับมามีอยู่ว่า
“คือคนก็เดาทางได้อะ พี่แมววาดรูปแมวมันก็ธรรมดา แต่พอมาเป็นแพะเนี่ย ‘GOAT’ G O A T มันมาจากคำว่า Greatest of All Time คือมันคือยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล มันมาจากคำนี้ แล้วอีกอย่างหนึ่งตัวแพะมันเป็นสัญลักษณ์ของชาวร็อกที่เขาชอบใช้กัน แสดงถึงความอดทน หนักแน่น อะไรอย่างนี้ แต่ผมก็อิงมาจากคำว่า Greatest of All Time มากกว่า”
โลกศิลปะไร้ขีดจำกัด
นั่นเองเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชื่อของ ‘แมว จิรศักดิ์’ เป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้นในอีกแง่มุม และเนื่องจากจิรศักดิ์มีความรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์และสนใจด้านการลงทุนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เขาจึงแบ่งปันดิจิทัลอาร์ตของตนกับผู้อื่นด้วยการขายในรูปแบบ NFT (non-fungible token) ดิจิทัลอาร์ตของเขาจึงไม่ได้มีขอบเขตจำกัดแค่งานวาดเพียงอย่างเดียว แต่เขาผสมผสานงานภาพและเสียงดนตรีเข้าด้วยกันในหนึ่งชิ้นงาน
“พอเข้ามาอยู่จุดนี้ได้เห็นว่า อ้อ...พออะไรมันเป็นดิจิทัลแล้วมันทำได้หมดเลย ทุกอย่างแม้กระทั่งดนตรี แม้กระทั่งงานอาร์ต อะไรที่เราสนใจอยู่มันก็กลายเป็นดิจิทัลหมดแล้วในตอนนี้ ไม่ว่าจะงาน NFT ที่เป็นภาพวาด เป็น Art NFT หรือว่าเป็น Music NFT มันก็อยู่บนแพลตฟอร์มอันเดียวกัน อยู่บน Blockchain อยู่บนอะไรพวกนี้ มันก็ทำให้เรารู้สึกว่า เอ้อ.. มันเป็นที่ใหม่ของเราในการที่จะออมไปด้วย แล้วก็สนุกกับจินตนาการของเราไปด้วยในเวลาเดียวกัน เพราะว่ามันล้วนแต่เป็นสิ่งที่เรารัก ทั้งดนตรีและการวาดรูป”
จิรศักดิ์เล่าให้เราฟังว่า สำหรับเขาโลกแห่งศิลปะนั้นควรเปิดกว้างและหลากหลาย อย่างเช่นตัวเขาเอง แม้คนส่วนใหญ่จะมองว่าเขาเป็นนักร้องนักดนตรีร็อก แต่ที่จริงแล้วเขาหลงใหลในเสียงดนตรีทุกแนว และไม่เคยปฏิเสธที่จะเอาส่วนผสมของแนวเพลงเหล่านั้นมาใส่ในผลงานของตัวเอง กับงานวาดก็เช่นกัน
สิ่งที่เขาบอกกับตัวเองเสมอมีอยู่ว่า
‘จงอย่าเป็นศิลปินที่ปฏิเสธสี และจงอย่าเป็นนักดนตรีที่ปฏิเสธเครื่องมือ’
ป.ล. หากอยากเป็นเจ้าของผลงานดิจิทัลอาร์ต ในแพลตฟอร์ม JNFT ของชายคนนี้ สามารถเข้าไปเลือกชมได้ที่ https://app.jnft.digital/collection/goatdominant
เรื่อง: จิรภิญญา สมเทพ