ยุค 60s เป็นช่วงเวลาที่หลายสิ่งหลายอย่างผลิบาน หากว่าความเป็นไปในช่วงปีนั้น ๆ เปรียบได้กับดอกไม้ - ระหว่างที่เจ้าดอกไม้กำลังแย้มกลีบ ชูช่อ หรือโรยรา ความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ นานาของมันมักถูกบันทึกด้วยหลากวิธีจัดเก็บเวลาของมนุษย์ หนังสือพิมพ์ วารสาร ภาพถ่าย แผ่นเสียง และม้วนฟิล์มยาวเหยียดที่เรียงกันเป็นวิดีโอ ทำให้ความทรงจำจากวันวานมากมายถูกเก็บไว้ราวสมบัติล้ำค่า สิ่งเหล่านั้นถูกเรียกรวม ๆ ว่า ‘ประวัติศาสตร์’ มันเปิดเผย ส่งต่อ เล่าขานเพื่อให้มนุษย์ทั้งผองรู้ว่าก่อนที่เราจะมาเป็นเราในวันนี้ ‘ราก’ จากวันวานของเราเป็นมาอย่างไร
การบันทึกประวัติศาสตร์เอาไว้ ทำให้เรารู้ว่าเมื่อห้าสิบหรือหกสิบปีที่แล้วมีเหตุการณ์สำคัญใดเกิดขึ้น เรารู้ว่าในยุค 60s มนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์เป็นครั้งแรก รู้ว่าผู้นำคนสำคัญแห่งสหรัฐอเมริกาจบชีวิตลงอย่างไร รู้ความเป็นมาเป็นไปของสงครามเวียดนาม รู้ว่าในยามนั้น นักร้องหรือวงดนตรีใดเป็นที่นิยม เรารู้จัก ‘เทศกาลดนตรีวูดสต็อก’ ที่มีขึ้นในปี 1969 อย่างละเอียดราวเสียงเพลงกำลังเต้นเป็นจังหวะอยู่ในหู หรือราวกับว่ากำลังมองผ่านอดีตไปเห็นผู้คนมากมายขวักไขว่ โยกขยับร่างกายตามศิลปินชื่อดังบนเวทีอยู่ตรงหน้า
แต่ประวัติศาสตร์ที่ถูกส่งต่อมาจนถึงรุ่นเรานั้นเป็นประวัติศาสตร์ของทุกคนโดยครบถ้วนแล้วหรือ ? ภาพยนตร์สารคดี ‘Summer of Soul (...or, When the Revolution Could Not Be Televised)’ ให้คำตอบแก่เราว่า ‘ไม่ใช่’
ภาพยนตร์เรื่องนี้เรียบเรียงจากฟุตเทจซึ่งเกือบสูญหายของ ‘เทศกาลทางวัฒนธรรมฮาร์เล็ม’ เทศกาลดนตรีซึ่งจัดปี 1969 หรือปีเดียวกันกับวูดสต็อก ทว่าห่างออกไปราว 160 ไมล์ ที่สวนสาธารณะเมานต์มอร์ริส ใจกลางกรุงฮาร์เล็ม นิวยอร์ก เทศกาลดนตรีดูฟรีไม่ต้องจ่ายค่าบัตรนี้จัดยิงยาว 6 สัปดาห์ โดยเมื่อนับจากวันแรกจนวันสุดท้ายมีผู้เข้าชมราว 300,000 คน
มีการบันทึกภาพและเสียงตลอด 6 สัปดาห์ของเทศกาลดนตรีหน้าร้อน แต่หลังความเริงรื่นชื่นบานของเสียงดนตรีแห่งความฝันจบลง ฟุตเทจมากมายที่ถูกถ่ายไว้กลับเสมือนว่าสูญหาย ถูกทิ้งร้างไว้ในห้องใต้ดินนานกว่า 50 ปี ความยิ่งใหญ่ของเทศกาลดนตรีนี้จึงยังคงหลงเหลือไว้แต่เพียงในใจของผู้คนราว 300,000 คนที่เคยได้ชมมันด้วยตาของตัวเองเท่านั้น
เหตุใดเทศกาลดนตรีที่มี ‘บี.บี. คิง’, ‘นีนา ซีโมน’, ‘สตีวี วันเดอร์’, ‘มาฮาเลีย แจ็กสัน’ และเหล่าศิลปินอีกมากมายมารวมกันกลายเป็นตำนานที่ไม่ถูกเล่าขาน ภาพยนตร์สารคดี ‘Summer of Soul’ ที่เข้าฉายในปี 2021 เรื่องนี้สรุปใจความให้เราได้รู้ว่า เป็นเพราะเทศกาลดนตรีที่เรากล่าวถึง คือช่วงเวลาเฉลิมฉลองของคนดำ เพื่อคนดำ มันจึงถูกทำให้เสมือนว่าเลือนหายในยุคที่สีผิวเป็นเครื่องกำหนดถูก-ผิด ดี-เลว
การรวบรวมฟุตเทจเหล่านั้นกลับมาฉายในทศวรรษปัจจุบันได้ และสารที่ต้องการสื่อจากปากคำของผู้เคยเป็นส่วนหนึ่งในเทศกาลนั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ขึ้นแสดงบนเวที หรือผู้ชม ทำให้ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ถูกจัดว่าเป็นสารคดีดนตรีที่ดีที่สุดในรอบหลายปี และได้รับรางวัลภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม จากเวทีออสการ์ ครั้งที่ 94 ไปในการประกาศรางวัลเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2022
‘Summer of Soul’ ตัดสลับระหว่างคำสัมภาษณ์ของคนบนเก้าอี้ ฟุตเทจจากเทศกาลดนตรี และฟุตเทจบริบทแวดล้อม ประกอบกันเป็นภาพยนตร์ที่เล่ามากกว่าเรื่องราวของฟรีคอนเสิร์ตหนึ่งครั้ง แต่เป็นวิถีทั้งด้านดนตรีและชีวิตของคนดำในอเมริกา ในยุค 60s - ยุคเดียวกับที่ดนตรีป็อปและร็อกของคนขาวเฟื่องฟู ยุคเดียวกับที่นีล อาร์มสตรอง กลายเป็นมนุษย์โลกคนแรกที่ก้าวสองเท้าเหยียบดวงจันทร์ ยุคเดียวกับที่ความฝันของคนขาว ดูเหมือนว่าจะไม่มีสิ่งใดเป็นจริงไม่ได้ ยุคที่อเมริกาเริ่มแสวงหาสิ่งใหม่ และเกณฑ์ทหารพลเรือนมากมายให้จากบ้านไปเพื่อเข้าร่วมสงครามเวียดนาม
ท่ามกลางช่วงเวลารุ่งโรจน์ของคนขาว ชีวิตของคนดำยังต้องดิ้นรนและต่อสู้กับอคติที่อเมริกันชนผิวขาวมีให้พวกเขาด้วยเหตุแห่งสีผิวและชาติพันธุ์ ‘Summer of Soul’ ฉายภาพที่คนดำต้องสูญเสียผู้นำ ‘จอห์น เอฟ. เคนเนดี’ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถูกลอบสังหารในปี 1963, ‘มัลคอล์ม เอกซ์’ นักกิจกรรมสิทธิมนุษยชนมุสลิมเชื้อชาติแอฟริกัน-อเมริกัน ถูกลอบสังหารในปี 1965, ‘มาร์ติน ลูเธอร์ คิง’ ถูกลอบสังหารในปี 1968, ‘โรเบิร์ต เคนเนดี’ นักการเมืองผู้เป็นน้องชายของจอห์น เอฟ. เคนเนดี ถูกลอบสังหารในเดือนมิถุนายน ปี 1968
สำหรับคนผิวดำในอเมริกา ช่วงเวลานั้นราวกับว่าใครก็ตามที่มีการเคลื่อนไหวหรือนโยบายเพื่อคนดำนั้นต้องลงเอยด้วยการถูกฆ่า ส่วนพวกเขาก็ต้องฝากชีวิตที่แร้นแค้นซึ่งสิทธิพลเมืองของตนไว้ในมือคนขาวอย่างไม่มีทางเลือก
สารคดี ‘Summer of Soul’ เล่าว่าประกายไฟแรกที่ทำให้เกิด ‘เทศกาลทางวัฒนธรรมฮาร์เล็ม’ นั้นในสายตาบางคน นัยหนึ่งเป็นไปเพื่อไม่ให้คนดำที่เคืองแค้นและเริ่มออกมาเดินแถวประท้วงเผาเมืองนิวยอร์กให้ราบอย่างที่พวกเขาเคยประกาศ
ผู้ริเริ่มแนวคิดฟรีคอนเสิร์ตในรอบนี้คือ ‘โทนี ลอว์เรนซ์’ ชายผิวดำผู้มีรอยยิ้มพิมพ์ใจ และมีวาทศิลป์ในการเจรจากับทุกฝักฝ่าย เขาโน้มน้าวใจเหล่านักดนตรีให้มางานนี้ เชื้อเชิญนายทุนอย่าง ‘กาแฟแมกซ์เวล เฮาส์’ ให้ร่วมเป็นสปอนเซอร์ และมีนายกเทศมนตรีแห่งนิวยอร์กอย่าง ‘จอห์น ลินซีย์’ เป็นผู้ให้คำรับรอง รวมถึงมาปรากฏตัวบนเวทีในวันงานด้วย
เมื่อเทศกาลทางวัฒนธรรมฮาร์เล็มเริ่มขึ้น สวนสาธารณะที่ถูกใช้เป็นสถานที่จัดงานก็คลาคล่ำไปด้วยฝูงชน ล้นหลั่งและเนืองแน่น เหล่าคนดำมารวมตัวกันมากจนละลานตา บนเวทีมีศิลปินตำนานโซลอย่าง ‘บี.บี. คิง’ ขึ้นเล่น เช่นเดียวกับที่ ‘นีนา ซีโมน’ เปล่งเสียงร้องเปี่ยมพลังของเธอพลางร้องเล่ากวีปลุกใจคนดำให้ฮึดสู้ ‘สตีวี วันเดอร์’ ในวันเยาว์วัยแสนโชติช่วงร้องและเล่นดนตรีอย่างเต็มความสามารถ ‘มาฮาเลีย แจ็กสัน’ ใช้เสียงร้องมีพลังของเธอขับกล่อมฤดูร้อนของคนดำให้งดงาม
ร่วมด้วยศิลปินอีกหลากนามที่ล้วนมีเป้าประสงค์เดียวกัน - เพื่อให้ความบันเทิงด้วยดนตรี และบอกใครก็ตามที่ได้รับชมว่าคนดำจะไม่ยอมแพ้ ที่แห่งนั้น คนดำหลักแสนเชื่อมโยงกันได้ด้วยดนตรีโซล ผสมผสานด้วยบทเพลงกอสเปลสรรเสริญพระเจ้า ‘สาธุคุณเจสซี แจ็กสัน’ บาทหลวงนักเคลื่อนไหว และ ‘เบ็น แบรนช์’ สองคนสุดท้ายที่ได้สนทนากับมาร์ติน ลูเธอร์ คิง ก่อนเขาถูกลอบสังหาร เล่น ‘My Precious Lord’ เพลงโปรดของคิง ศิลปินค่าย ‘โมทาวน์’ ผู้ขับร้องเพลงคนดำที่ทำให้คนขาวฟังได้ก็เล่นเพลงของพวกเขา อีกทั้งวินาทีที่นักร้อง-นักดนตรีอย่าง ‘สไล สโตน’ (Sly Stone) มาพร้อมวงดนตรีที่สองสมาชิกเป็นคนผิวขาว และมือเป่าทรัมเป็ตเป็นผู้หญิง ความหลากหลายทางเพศและผิวก็เกิดขึ้นกลางลานกว้างนั้นเอง
ท่ามกลางดนตรีโซลที่โลดแล่นอย่างไม่หยุดยั้ง สารคดี ‘Summer of Soul’ ข้ามข้อจำกัดของสารคดีดนตรีไปเป็นสารคดีที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์แห่งชาติพันธุ์และชีวิต ด้วยความข้นเข้มแห่ง ‘โซล’ ของคนดำ หรือ ‘จิตวิญญาณ’ ที่ถูกกดขี่อย่างไม่หยุดยั้งถูกเล่าผ่านปูมหลังเมืองฮาร์เล็มที่เต็มไปด้วยปัญหายาเสพติดและคนยากจน ส่วน ‘ความคับแค้น’ ของคนดำก็ถูกเล่าผ่านคำสัมภาษณ์
วันอาทิตย์ที่ 20 กรกฎาคม 1969 ขณะที่คนดำหลายหมื่นกำลังเริงรื่นร่วมกันอย่างหาได้ยากนั้นเอง นาซาก็พามนุษย์ไปเยือนดวงจันทร์ได้ตามฝัน ท่ามกลางการเฉลิมฉลองของคนขาว และคำกล่าว “นี่คือก้าวเล็ก ๆ ของมนุษย์คนหนึ่ง แต่เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ” ของนีล อาร์มสตรอง ที่แปะหราไปทั่วหน้าสื่อ - ใจกลางเมืองฮาร์เล็ม ผู้เข้าร่วมฟรีคอนเสิร์ตทางวัฒนธรรมให้สัมภาษณ์ว่า
“ช่างหัวดวงจันทร์สิ”
ช่างหัวดวงจันทร์สิ, มันก็งดงามดี แต่สำหรับผมไม่สนเลยสักนิด, เงินที่พวกเขาใช้ไปเหยียบดวงจันทร์ อาจนำมาเลี้ยงปากท้องคนผิวดำในฮาร์เล็มและทั่วประเทศได้ด้วยซ้ำ, คนทั่วอเมริกากำลังหิวโหย เรามาทำอะไรเรื่องความยากจนกันเถอะ
นอกจากเสียงสะท้อนของคนดำที่เล่าเรื่องราวของพวกเขาผ่านดนตรี คำสัมภาษณ์ที่เป็นความจริงอีกมุมเหล่านี้ทำให้สารคดี ‘Summer of Soul’ เปี่ยมชีวิต และแม้มากล้นด้วยคนดูหมิ่น หรือเต็มไปด้วยข้อจำกัดในความเป็นอยู่ ผู้หญิงผิวดำหลายคนเพิ่งได้รับโอกาสให้เรียนในโรงเรียนเดียวกับคนขาวเมื่อไม่นานมานี้ วัยรุ่นผิวดำที่ถูกกีดกันจากการศึกษาและอาชีพหลายคนลงเอยด้วยการติดยาเสพติด คนดำกำลังต่อสู้ - เพื่อปากท้องของตนเอง เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในวันนี้ และเพื่ออนาคตของลูกหลานในวันหน้า
ปี 1969 เทศกาลดนตรีดังกล่าวกลายเป็นหมุดหมายที่สำคัญและงดงามสำหรับพวกเขา เพราะนั่นคือช่วงเวลาที่พวกเขาได้ตะโกนไปพร้อมกันว่า ‘ฉันเป็นคนดำ ฉันงดงาม และฉันภูมิใจ’ อีกทั้งยังเป็นปีที่คำว่า ‘คนผิวดำ’ ถูกนำมาใช้แทน N Word เป็นครั้งแรกในหนังสือพิมพ์เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์
และนีนา ซีโมนก็ขับร้องเพลง ‘To Be Young, Gifted and Black’ ในคอนเสิร์ตครั้งนี้ เพื่อบอกหนุ่มสาวผิวดำทั้งหลายว่า ‘มีโลกข้างหน้ารออยู่ และภารกิจเพิ่งเริ่มต้น’