ฉากตัดสัมพันธ์เหนือร่างมังกรหลับแห่งเมืองจีน และงานศิลปะว่าด้วยความรักแสนขม ความทรงจำแสนหวาน ระหว่าง ‘มารินา อบราโมวิช’ กับ ‘อูไลย์’
ปี 1983 ศิลปินคู่รักคู่หนึ่งประกาศความฝันที่พวกเขาวาดร่วมกันต่อโลก ว่าจะจัดพิธีวิวาห์บนกำแพงเมืองจีน สถาปัตยกรรมที่ได้รับสมญา ‘มังกรหลับ’ เธอจะออกเดินจากหัวมังกร เขาค่อยย่างก้าวมาจากหาง พวกเขาจะพบกันระหว่างกลาง มอบอ้อมกอด และกล่าวคำสัตย์สาบานแห่งรักให้แก่กัน
ปี 1988 ความฝันของพวกเขากลายเป็นจริง เธอออกเดินจากหัวมังกร เขาย่างก้าวมาจากหาง ทั้งคู่พบกันระหว่างกลาง มอบอ้อมกอด ทว่าไม่มีใครกล่าวคำสัตย์สาบานแห่งรักใด ๆ
‘The Lovers’ เป็นผลงานศิลปะแสดงสดที่ถ่ายทอดด้วยกันของมารินา อบราโมวิช หญิงผู้ถูกขนานนามว่าเป็น ‘แม่ใหญ่แห่งศิลปะแสดงสด’ และ ‘อูไลย์’ คนรักของเธอ ทั้งคู่พบรักและแปรรูปความสัมพันธ์ให้เป็นงานศิลปะแสดงสดอยู่ร่วม 12 ปี ก่อนที่ผลงานชิ้นนี้จะเป็นผลงานสุดท้าย และกลายเป็นฉากอำลาของทั้งคู่ ทั้งในฐานะเพื่อนร่วมสรรสร้างงานศิลป์ และฐานะผู้เดินเคียงข้างบนเส้นทางชีวิต
หลังการพบกันกลางลำตัวมังกร มารินา อบราโมวิชและอูไลย์แยกกันขึ้นเครื่องบินคนละเที่ยวกลับอัมสเตอร์ดัม พวกเขาไม่ได้พบกันอีกเลยนานกว่า 22 ปี
‘มารินา อบราโมวิช’ (Marina Abramović) ศิลปินผู้สร้าง Performance Art หรือ ศิลปะแสดงสดชาวเซอร์เบีย พบกับ ‘อูไลย์’ (Ulay หรือชื่อจริงว่า ‘แฟรงก์ อูเว่ ไลซีเปียน’ (Frank Uwe Laysiepen)) ครั้งแรกที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ปี 1975 ในวันเกิดของทั้งคู่ คือวันที่ 30 พฤศจิกายนเช่นกัน แต่อูไลย์นั้นแก่กว่ามารินาอยู่ 3 ปี มารินาต้องตาในรูปโฉมและการแต่งกาย ‘กึ่งชายกึ่งหญิง’ ของอูไลย์เป็นอย่างแรก ขณะที่อูไลย์ก็ประทับใจในความเป็นตัวของตัวเองและมีชีวิตชีวาของเธอ ความถูกใจแรกสบตาพัฒนาขึ้นระหว่างที่อูไลย์ช่วยพยาบาลบาดแผลรูปดาวห้าแฉกบนหน้าท้องของมารินา ที่เธอได้มาจากครั้งที่แสดงงานศิลปะชื่อ ‘Lips of Thomas’ (1975)
มารินากับอูไลย์ตกหลุมรักและย้ายมาอยู่ด้วยกันดังคำที่มารินาเคยกล่าวไว้ว่า
“คู่รักคู่อื่นอาจซื้อกระทะและหม้อเมื่อตัดสินใจจะอยู่บ้านหลังเดียวกัน แต่ฉันกับอูไลย์กลับคิดว่าเราจะสร้างงานศิลปะอะไรกันดี”
งานศิลปะชุด ‘Relation Works’ (1976 - 1979) จึงผลิบานขึ้นพร้อมกับความสัมพันธ์ของทั้งคู่ งานศิลปะแสดงสดชุดนี้ให้คุณค่ากับความรัก และตรวจตราหลายซอกมุมของสิ่งที่เราเรียกกันว่าความสัมพันธ์อย่างละเอียดลออ และบ่อยครั้ง - ค่อนข้างจะรุนแรงอยู่บ้าง
ศิลปะชิ้นแรกสุดของชุดที่พวกเขาร่วมกันสร้าง มีชื่อว่า ‘Relation In Space’ (1976) ในการแสดงสดครั้งนั้นมารินากับอูไลย์จะต้องเปลือยกายและวิ่งเข้าหากันด้วยความเร็ว จนร่างของทั้งคู่สัมผัส - กระแทกกันครั้งแล้วครั้งเล่า รวมถึงเพิ่มความเร็วของการวิ่งและชนมากขึ้นในทุกรอบเป็นเวลา 58 นาที ขณะที่ใน ‘Light / Dark’ (1977) มารินาและอูไลย์ผลัดกันตบแก้มขวาของอีกฝ่าย เริ่มจากเนิบช้าจนรัวแรงจนครบ 6 นาที
งานศิลปะอีกชิ้น ‘Relation in Time’ (1977) ที่พวกเขานั่งหันหลังให้กันโดยผูกผมของตนไว้กับผมของอีกฝ่าย นิ่งและนานราว 16 ชั่วโมง ส่วนงานศิลปะแสดงสด ‘AAA-AAA’ ก็ปรากฏคู่รักทั้งสองหันหน้าเข้าหากัน ระยะห่างใบหน้าของพวกเขาไม่มากเกินกว่า 3 นิ้ว ทั้งคู่ตะโกนใส่กันดังสุดเสียงเกือบ 10 นาที
แม้ผลงานโดยมากที่พวกเขาร่วมกันสร้างจะสื่อสารความนัยถึงการอยู่ร่วมกันฉันคนรักได้รุนแรงอย่างนั้น แต่อูไลย์มักจะให้สัมภาษณ์เสมอว่า การแสดงออกเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นในความรักประจำวันของพวกเขา “เราอยากนำเสนอความขัดแย้งที่สุดโต่งที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ สิ่งที่เราแสดงนั้นตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับวิธีที่เราเข้าใจกัน อยู่ร่วมกัน และมอบรักให้แก่กัน”
ด้วยการกินนอนร่วมกันในรถตู้เหล็กมากกว่าบ้าน และการออกเดินทางเพื่อถ่ายทอดศิลปะแสดงสดไปทั่วยุโรป เมื่อปี 1980 ตอนที่ผลงานชิ้น ‘Rest Energy’ ถูกแสดงในเมืองดับลิน พวกเขาก็มีชื่อเสียงมากขึ้นจากเดิมมากแล้ว
คันธนูถูกง้าง บรรจุลูกธนูหนึ่งดอกที่ปลายศรชี้ไปตรงอกมารินา เธอและอูไลย์หันหน้าเข้าหากัน มารินาจับปลายลูกศร อูไลย์ง้างคันธนู ทั้งคู่เอนตัวไปด้านหลังและรักษาการทรงตัวให้มีระยะเท่าคันศร ชีวิตของมารินาขึ้นอยู่กับการขยับไหวที่เล็กน้อยที่สุดของอูไลย์ แม้เพียงการสะดุดหนึ่งครั้งหรือมือสั่นหนึ่งหน ลูกศรแหลมคมที่ขึ้นคันไว้จะปล่อยเป้าเข้าสู่หัวใจของเธออย่างพอดิบพอดี งานชิ้นนี้สื่อสารถึงความเชื่อใจของความรักที่อาจคร่าชีวิตอีกฝ่ายได้ เช่นเดียวกับที่แฝงความหมายถึงความเป็นชายที่มีอำนาจต่อหญิงในยุคสมัยดังกล่าว
ราวต้นยุค 80s ควบคู่มากับชื่อเสียงที่เอื้อให้ทั้งคู่แสดงออกทางศิลปะได้มากขึ้น คู่รักศิลปินที่ถูกจับตามองโดยสื่อและผู้คนคู่นี้ผุดไอเดียว่าพวกเขาอยากแต่งงาน
‘กำแพงเมืองจีน’ คือสถานที่วิวาห์ที่มารินาและอูไลย์เฝ้าฝันถึง ด้วยความยาวของทางเดินเท้าเหนือกำแพงราว 6,000 กิโลเมตร พวกเขาจะเริ่มออกเดินจากคนละฝั่ง และมาบรรจบกันตรงกลาง ทั้งคู่คิดฝันเอาว่าศิลปะแสดงสด ‘The Lovers’ นั้นจะเป็นศิลปะชิ้นแรกและอาจจะเป็นชิ้นเดียวที่มีเพียงพวกเขาเท่านั้น - เป็นผู้แสดงและผู้ชม
หากฝันหวานของชาวตะวันตกสองคนกลับต้องถูกเบรกโดยรัฐบาลจีน ที่เห็นว่าการเดินเท้าบนมังกรหลับโดยลำพังเพื่อศิลปะนั้นอันตรายเกินไป พวกเขาร่างจดหมายขออนุญาตรอบแล้วรอบเล่า และจดหมายที่ตีกลับมาก็ปรากฏคำปฏิเสธหราอยู่บนหน้าซองรอบแล้วรอบเล่าเช่นกัน
กระทั่งปี 1988 คำขอที่ถูกแก้ไขราวไม่รู้จักจบสิ้นจึงค่อยถูกยอมรับ ในที่สุดรัฐบาลจีนก็อนุญาตให้พวกเขาเดินเท้าเหนือกำแพง ‘เพื่อการศึกษา’ โดยมีผู้ติดตามและล่ามอยู่ข้างตัว
“ผมอยู่กับกำแพงในหัวมา 5 ปีแล้ว และรู้สึกราวกับว่าผมเดินข้ามมันมามากกว่า 10 ครั้ง” คือคำสารภาพของอูไลย์ ถึงกำแพงที่เขาเคยฝันใฝ่ถึงโดยไม่รู้ว่าเมื่อวันนั้นมาถึงจริง ๆ ความสัมพันธ์ระหว่างตนและมารินา จะไม่ได้รักกันหวานชื่นเช่นดั่งวันวานอีกต่อไป 5 ปีแห่งการรอคอยทำให้ความคุ้นเคยกลายเป็นความแตกต่าง พวกเขาขัดแย้งกันด้วยเรื่องชีวิตและงาน - มารินายินดีกับชื่อเสียงที่เพิ่มพูนขึ้นในปีหลัง ๆ และพร้อมสร้างงานศิลปะต่อไป ขณะที่อูไลย์อึดอัดกับการทำสิ่งใดก็ถูกจ้องมอง และเริ่มคิดว่าชีวิตและความสัมพันธ์ของเขาไม่ควรถูกแปรรูปกลายเป็นงาน
กระนั้น วันที่จดหมายอนุญาตมาถึง พวกเขากลับไม่คิดจะยุติมัน
ท่ามกลางการถ่ายทอดสดโดยรายการโทรทัศน์ของจีน มารินาและอูไลย์เริ่มออกเดินทางบนศิลปะแสดงสดรอบประวัติศาสตร์เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 1988 มารินาเริ่มก้าวแรกของเธอที่กำแพงเหนือทะเลปั๋วไห่ ด้านที่ถูกเรียกว่าเป็น ‘หัวมังกร’ ส่วนอูไลย์เริ่มจากทะเลสาบโกบี ด้านที่ถือว่าเป็น ‘หาง’ ของมังกรหลับ ทั้งคู่ออกเดินช่วงเช้าและเข้านอนในกระท่อมหรือบ้านของชาวจีนผู้อาศัยในหมู่บ้านติดกำแพง ท่ามกลางถนนที่ทอดยาว บางช่วงของทางเดินเป็นกำแพงที่ถูกทำลายในยุคของเหมาและนโยบาย ‘ฆ่ามังกร’ ก้าวย่างที่อันตรายเหล่านั้นทำให้พวกเขาได้รู้ว่างานศิลปะที่เคยคิดว่าจะ ‘มีแค่เราเป็นผู้แสดงและผู้ชม’ นั้นไม่มีอยู่จริง
พวกเขาไม่เพียงอยู่ใต้สายตาของป่าเขา แต่เป็นสายตานับสิบ นับร้อย หรือมากกว่านั้นของฝูงชนที่บ้างเดินตามพวกเขา บ้างจดจ้องอย่างสนอกสนใจ และเมื่อคู่รักมาพบหน้ากันอีกครั้งหลังเวลา 90 วันพ้นผ่าน 27 มิถุนายน 1988 เหนือกำแพงหินในตำบลเสินมู่ อำเภอฉ่านซี อ้อมกอดแรกระหว่างพวกเขาหลังพบหน้าก็กลายเป็นอ้อมกอดสุดท้าย พิธีวิวาห์กลายเป็นการเลิกราร้างไกล
อูไลย์และมารินาแยกย้ายกันไปใช้ชีวิตอย่างที่ตนต้องการ และไม่ได้คาดหวังในเวลานั้นว่าจะกลับมาพบกันอีก
ชื่อเสียงของมารินาโด่งดังมากขึ้นหลังเลิกรา งานศิลปะของเธอเข้าถึงผู้คนมากมายได้อย่างที่เธอตั้งใจ วันเวลาผ่านไปราวสองทศวรรษ จากหญิงสาวผู้รักงานศิลป์ เธอกลายเป็นบุคคลที่โดดเด่นใต้คำเรียกขาน ‘แม่ใหญ่แห่งศิลปะแสดงสด’
ปี 2010 ขณะที่เธอจัดแสดงงานศิลปะของตนภายใต้ชื่อ ‘The Artist Is Present’ ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ในนิวยอร์ก (MoMa) มารินา อบราโมวิชนั่งอยู่ที่นั่น 8 ชั่วโมงต่อวัน เบื้องหน้าของเธอมีโต๊ะหนึ่งตัว เก้าอี้เปล่า และแถวเหยียดยาวของฝูงชนที่หลั่งไหลมานั่งตรงข้ามเธอ และสบตาชั่วครู่
22 ปีที่ไม่ได้พบหน้าอดีตคนรักแม้สักครั้ง มารินาไม่รู้ว่าอูไลย์คือหนึ่งคนที่รอพบเธอจากส่วนใดส่วนหนึ่งของแถว จนกระทั่งชายที่ย่างเข้าวัยกลางคนปรากฏกายขึ้นตรงหน้า อูไลย์นั่งลงตรงข้ามเธอ ทั้งคู่สบตาและมอบรอยยิ้มแรกในรอบหลายปีให้แก่กัน
นับเป็นวินาทีประวัติศาสตร์แห่งโลกศิลปะ เมื่อมารินา ผู้มีประกายน้ำตาอย่างเงียบงันทำลายกฎที่เธอเป็นผู้ตั้ง - ว่าจะสบตากับผู้ที่มาหาโดยไร้การสัมผัสกัน เธอยื่นสองมือมาข้างหน้า รอให้มืออีกคู่ที่เคยคุ้นมาประสาน ทั้งคู่จับมือกันชั่วคราวพร้อมเสียงปรบมือที่ดังก้องของคนรอบกาย อูไลย์จากไป มารินาในชุดแดงกวาดรอยน้ำตาให้พ้นทาง
ผู้เขียนคงจบบทความไว้ตรงนี้ หากเรื่องราวของพวกเขาเป็นเพียงเรื่องเล่าชวนฝัน แต่เมื่อมารินากับอูไลย์คือบุคคลที่มีอยู่จริง และบุคคลที่มีอยู่จริงก็มักทำอะไรที่เราไม่คาดฝันได้อยู่เรื่อย
ปี 2015 อูไลย์ฟ้องร้องเธอในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยการจัดแสดงผลงานเก่าที่เขาเคยร่วมสร้าง เขาชนะคดี อย่างไรก็ตามในภายหลังอูไลย์และมารินาก็ยุติความขัดแย้งและกลายเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน จนกระทั่งวันสุดท้ายของอูไลย์มาถึง ศิลปิน Performance Art ผู้เคยใช้ช่วงชีวิตหนึ่งสร้างสรรค์ผลงานศิลปะด้วยรักและความสัมพันธ์ร่วมกับมารินา อบราโมวิช จากโลกใบนี้ไปเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2020 ด้วยอาการแทรกซ้อนจากโรคมะเร็ง
แม้เรื่องราวความรักของมารินากับอูไลย์จะไม่ได้ลงท้ายด้วยการอยู่เคียงคู่ สร้างงานศิลปะด้วยกันตลอดไปอย่างที่พวกเขาเคยวาดฝันเอาไว้เมื่อเริ่มแรก แต่ก็เรียกได้ว่าความสัมพันธ์ผ่านงานศิลป์ของทั้งคู่นั้นหยั่งรากในโลกศิลปะ และหลงเหลืออะไรเอาไว้ยาวนานยิ่งกว่า 12 ปีที่พวกเขาเคียงคู่ เช่นเดียวกับที่ครั้งหนึ่ง มารินาเคยกล่าวไว้ว่า
“ฉันคิดว่าสิ่งที่เราทิ้งไว้คืองานศิลปะที่สวยงาม นั่นคือสิ่งเดียวที่เหลืออยู่ และเป็นสิ่งเดียวที่สำคัญ”
ที่มา
https://www.moma.org/audio/playlist/243/3120
https://www.theartnewspaper.com/2019/09/17/it-was-painful-it-was-hardship-marina-abramovic-on-her-ill-fated-epic-walk-towards-ulay-across-the-great-wall-of-china
https://www.vox.com/22917869/ulay-marina-abramovic-performance-art-love
https://channel.louisiana.dk/video/story-marina-abramovic-ulay
https://www.theguardian.com/travel/2020/apr/25/marina-abramovic-ulay-walk-the-great-wall-of-china
https://www.cobosocial.com/dossiers/ulay-marina-abramovic/
https://www.anothermag.com/art-photography/12324/marina-abramovic-ulay-moved-the-art-world-the-artist-is-present-moma