‘คนเปลี่ยนโลก’ ในมุมมองของ ป๋าเต็ด - ยุทธนา บุญอ้อม นักการสื่อสารและนักจัดอีเวนต์แนวหน้าของไทย
The People : เล่าเรื่องราวของคนที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคุณ
ยุทธนา : คนแรกก็คุณพ่อเลยครับ เพราะว่าคุณพ่อเนี่ย อาชีพคือเป็นโฆษกหนังขายยา ซึ่งพอตอนยังเรียนอยู่ในชั้นประถมศึกษา ตอนนั้นอายุน่าจะไม่เกิน 10 ขวบ พอปิดเทอมใหญ่เราก็จะไปนั่งรถขายยากับคุณพ่อ ซึ่งคนทำหน้าที่โฆษกรถหนังขายยาก็เป็นเหมือนกัปตันทีม ขับรถที่ข้างหลังเป็นเครื่องฉายหนัง และขนยา ยาหม่องตราถ้วยทองเข้าไปในหมู่บ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ พอไปถึงหมู่บ้านก็จะต้องประกาศออกลำโพงที่อยู่บนหลังคารถเพื่อให้คนในหมู่บ้านได้ยิน คุณพ่อก็จะขับรถไปแล้วก็ถือไมค์พูดไปเลยครับว่า “วันนี้ตอนหนึ่งทุ่มตรง เราไปเจอกันที่ลานวัด นู้นนี่นั่น จะมีภาพยนตร์ไทยยอดนิยม แสดงนำโดยสมบัติ เมทะนี อรัญญา นามวงศ์ นะครับ เรื่องศาลาลอย หนังสนุก ตื่นเต้น ตลก” ก็ว่ากันไป เราก็เข้าหูอยู่ตลอดเวลาว่า อ๋อ วิธีการพูดให้คนเขาสนใจมันเป็นอย่างไร พอถึงเวลาฉายหนัง เราบรรยากาศของผู้คนที่มาจากทั้งหมู่บ้านมารวมตัวกันที่ลานนี้ มีการกางจอ เริ่มมีของมาขาย รวม ๆ แล้วมันคือคอนเสิร์ตอะครับ เพียงแต่ว่าตอนนั้นเรายังไม่รู้ว่ามันคือคอนเสิร์ต เพียงแต่ว่าเป็นคอนเสิร์ตที่การแสดงมันไม่ใช่ดนตรี แต่มันเป็นหนัง สิ่งที่เห็นมันฝังอยู่ในตัวเราโดยที่เราไม่รู้ตัว
หรือเรื่องเทคนิคในการสื่อสาร คือตอนนั้นหนัง เราไปทริปหนึ่งมันฉายอยู่แค่เรื่องเดียว แต่ย้ายที่ฉายไปเรื่อย ๆ สิ่งที่เราเห็นนะครับ ก็คือแต่ละหมู่บ้านหัวเราะไม่เท่ากันในฉาก ๆ เดียวกัน หรือบางหมู่บ้านหัวเราะฉากนี้มากกว่าในขณะที่บางหมู่บ้านไปหัวเราะอีกฉากหนึ่ง
แล้วเราก็เริ่มสังเกต คือ ณ วันนั้นเรานึกไม่ออกหรอก เราเด็กเกินไป แต่ว่าพอวันที่เราโตแล้วเรานึกย้อนไป เอ๊ะ เออทำไมเขาหัวเราะไม่เท่ากัน มันก็ตลกเหมือนเดิม สังข์ทอง สีใส ก็ตกน้ำเหมือนกัน แต่ทำไมหมู่บ้านนี้ขำ หมู่บ้านนี้ไม่ขำ มันทำให้เราเห็นว่า อ๋อ แต่ละหมู่บ้าน คือถ้าภาษาการตลาดเดี๋ยวนี้ก็คือ Demographic มันไม่เหมือนกัน บางหมู่บ้านไปฉายช่วงนี้ เด็กเยอะ บางหมู่บ้านเด็กไม่อยู่ ไปทำงานกัน มีแต่คนแก่ บางหมู่บ้านผู้หญิงเยอะเพราะผู้ชายไปเกณฑ์ทหาร หรืออะไรก็ตามมันทำให้เราเห็นว่า อ๋อ นี่คือกลุ่มเป้าหมายจะตอบสนองต่อเนื้อหาแตกต่างกันไป มันไม่ใช่ว่าเนื้อหาเดียวมันจะทำให้ทุกคนถูกใจเทียบเท่ากันได้ ข้อคิดเหล่านี้เป็นเรื่องที่ สำหรับผมแล้ว ใช้มาจนถึงทุกวันนี้ มันเป็นหัวใจสำคัญของการเป็นนักสื่อสารมวลชนด้วยซ้ำไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ได้จากคุณพ่อ โดยที่คุณพ่อไม่ได้มาบอกว่า “จงจำเรื่องนี้ไว้นะ!” แต่เรามาเห็นเอง
The People : คุณพ่อเปลี่ยนแปลงโลกไปอย่างไร
ยุทธนา : เวลาเราได้ยินคำว่าเปลี่ยนแปลงโลก มันอาจจะมองได้หลายมิติ บางคนเปลี่ยนแปลงโลกด้วยการสร้างวิทยาการใหม่ ๆ ออกมา สตีฟ จอบส์ (Steve Jobs)เปลี่ยนแปลงโลกเพื่อจะบอกว่าต่อไปนี้มือถือไม่ต้องมีปุ่มกดอีกต่อไปแล้ว หรือพี่น้องตระกูลไรต์ (Wright Brothers) เปลี่ยนแปลงโลกเพื่อจะบอกว่าเราสามารถบินได้นะ ต่อไปเราเดินทางได้ไกลกว่าเดิม ในเวลาอันสั้นกว่าเดิม แต่สำหรับคุณพ่อผม ไม่ได้ไปเปลี่ยนโลกอะไรอย่างนั้นนะครับ ไม่ได้มีวิทยาการใหม่ ๆ ไม่ได้สร้างทฤษฎีอะไรใหม่มา แต่ว่าสิ่งที่เราเฝ้าเห็นจากสิ่งที่คุณพ่อทำให้เราเห็น ให้ผมเห็นก็คือมันเปลี่ยนมุมมองของเรา ซึ่งการเปลี่ยนมุมมองที่เราอย่างเดียว เวลาเรามองไปที่โลกใบเดิม มันเปลี่ยนทั้งโลกเลย
มันทำให้เรามองโลกในแบบที่ ไม่ได้มองผ่านสายตาของเราเอง ความเชื่อ ความคิด หรือรสนิยมของเราเอง เรากำลังมองโลกผ่านสายตาของชาวบ้าน การที่เดินทางไปกับคุณพ่อฉายหนังเรื่อง “ศาลาลอย (2515)” ตลอดปิดเทอมใหญ่ ผมดูหนังศาลาลอยไปประมาณ น่าจะมี 40 รอบได้ ถ้ามองจากมุมมองของเราเองเรารู้สึกว่ามันน่าเบื่อมาก ดูหนังเรื่องเดิมซ้ำ ๆ ทุกคืน แต่เราดูซ้ำ แต่ชาวบ้าน ณ หมู่บ้านนี้เขาไม่ได้ดูซ้ำกับเรา ดังนั้นการดูศาลาลอยซ้ำ ๆ กันทุกคืนเราจึงเห็นความสนุกทุกคืนเลย นั่นเป็นวิธีการมองที่ทำให้สำหรับผมแล้ว คือมันเปลี่ยนโลกของผมไปเลยจนถึงปัจจุบันนี้
The People : ข้อคิดกับการปรับใช้กับสถานการณ์ ณ ปัจจุบัน
ยุทธนา : ทุกวันนี้ ถ้าในมุมของการเป็นนักสื่อสาร งานที่เป็นเรื่องส่วนตัวของผมมากที่สุดคือตัวรายการ ‘ป๋าเต็ดทอล์ค’ ซึ่งรูปแบบมันก็คือการสัมภาษณ์ผู้คนที่น่าสนใจ สิ่งที่เราพยายามสื่อสารอยู่ก็คือ การพยายามเปลี่ยนมุมมองที่เรามองใครคนใดคนหนึ่ง เรื่องที่เขาเคยทำอาจจะทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่ชอบสิ่งนี้เลย ทำไมเขาทำอย่างนี้นะ เราไม่เห็นด้วย เรารับไม่ได้ แต่การได้ฟังเขาพูด ได้ฟังเหตุผลในมุมของเขา ได้ลองเป็นเขาดู แล้วมองกลับไปที่ปัญหาเดิมแล้วฟังคำอธิบายของเขา หลายครั้งมันเปลี่ยนมุมมองของเราต่อปัญหา ๆ เดิม ซึ่งมันนำไปสู่ประเด็นใหญ่ที่ผมอยากจะสื่อสารมาก ๆ ก็คือว่า การพยายามทำความเข้าใจแม้กระทั่งคนที่เราไม่เห็นด้วยเลย การพยายามเข้าไปนั่งอยู่ แทนที่คนที่คิดไม่เหมือนเราโดยสิ้นเชิง และเมื่อเราเข้าใจแล้ว ไม่ได้จำเป็นว่าเราต้องเห็นด้วยนะ บางที่เข้าใจแล้วก็ยังไม่เห็นด้วยเหมือนเดิม แต่อย่างน้อย เราได้เข้าใจว่าทำไมเขาจึงคิดเช่นนั้น และทำไมเราจึงคิดไม่เหมือนกัน ในที่สุดเลย มันย่อมดีกว่าการที่เราไม่เห็นด้วยกับใครแล้วเริ่มต้นด้วยการทะเลาะกัน หรือเริ่มต้นด้วยการ “งั้นฉันไม่ฟังแก ฉันไม่เห็นด้วยกับแก”
The People : อะไรเป็นสิ่งที่สังคมไทยหรือโลกต้องเปลี่ยนแปลง?
ยุทธนา : เริ่มจากต้องรู้ตัวก่อนว่ามันมีสิ่งไม่ดีอยู่และมันเปลี่ยนแปลงได้ หลายครั้งในระยะหลังผมพูดเรื่องนี้ เรื่องว่า เฮ้ย! พยายามเข้าใจคนที่เห็นต่างจากเราหรือว่าคิดไม่เหมือนเรา หรือการพยายามเข้าไปบอกว่าสิ่งนี้มัน จะบอกว่าไม่ควรก็ไม่เชิง แต่ว่า สิ่งนี้มันทำอีกแบบหนึ่งได้นะ มันทำอีกวิธีหนึ่งได้ แล้วทำให้เรายังคงเป็นเพื่อนกันอยู่ได้ต่อไป แล้วผมมักจะได้รับคำตอบกลับมาว่า “พี่เต็ดอะ มองโลกแบบไม่เข้าใจ มันก็ต้องเป็นแบบนี้แหละ เราจะไปเปลี่ยนแปลงทำไม เรารับไม่ได้เราก็หันหน้าไปอีกทางหนึ่ง” เหมือนกับว่าถ้าไม่ชอบก็เปิดไปดูช่องอื่น
คือในบางกรณีใช้แบบนี้ได้ แต่ในบางกรณีมันมีบางเรื่อง เช่น “ก็บ้านเรามันเป็นอย่างนี้แหละ คนมันก็คงไม่หยุดให้คนข้ามถนนที่ทางม้าลายหรอก คุณจะไปเปลี่ยนคนทุกคนได้อย่างไร” คิดแบบนั้นก็ได้ หรือคิดอีกแบบหนึ่งคือ “มันต้องมีคนเริ่มสักคนสิวะ” และในที่สุดแล้ว ไอ Mindset ที่ว่าทางม้าลายมันเป็นที่ ๆ เราควรจะต้องชะลอรถแล้วก็ปล่อยให้คนข้ามไปก่อนแล้วเราค่อยเดินหน้าต่อไป ถ้ามีไฟแดงเราต้องหยุด ต่อให้ไม่มีคนข้ามถนนอยู่เลย เราก็ต้องหยุด ไม่ใช่ว่ามีไฟแดกแต่ไม่มีคนข้ามถนนอยู่ ถนนว่าง ๆ จะหยุดทำไมเราก็ขับไปสิ นี่คือตัวอย่างที่ผมจะบอกว่า มันต้องเริ่มจากเรารู้ตัวก่อนว่ามันมีเรื่องควรจะเปลี่ยน และเชื่อว่ามันเปลี่ยนได้ด้วย และยอมรับว่ามันอาจจะไม่ได้เปลี่ยนได้ภายในวันเดียว และจงเชื่อมั่นว่ามันเปลี่ยนทีละน้อยก็ได้ อย่างน้อยก็ได้เริ่มต้นแล้ว
คุณแอนชิลีเข้าประกวดมิสยูนิเวิร์สด้วยความเชื่อเรื่อง Real Size Beauty เธอแพ้ ไม่มีใครกังขาเรื่องนี้ หลายคนอาจจะมองว่ามันคือความล้มเหลว “เธอจะไปเปลี่ยนได้อย่างไร เวทีนี้ ความงามมันต้องมีมาตรฐานอยู่” จริง แต่ถ้าคุณย้อนกลับไปดูความงามในแต่ละยุคแต่ละสมัยก็จะเห็นว่ามันไม่เหมือนกัน ภาพเขียนสมัยก่อน ผู้หญิงจะตัวท้วม ๆ และนางแบบยุคนี้ต้องตัวผอม ๆ แต่คนเริ่มพูดเรื่อง Real Size Beauty มากยิ่งขึ้น ดังนั้นสิ่งที่แอนชิลีทำ อาจจะพลาดในการประกวดมิสยูนิเวิร์ส แต่เธอสำเร็จในการเริ่มต้นพูดเรื่องนี้ ในที่ ๆ ควรจะพูดมากที่สุดไปเรียบร้อยแล้ว
ป๋าเต็ด - ยุทธนา บุญอ้อม หนึ่งในคณะกรรมการ The People Awards 2022
ครั้งแรกของ The People ที่จัดงาน The People Awards 2022 ขึ้นมา โดยมีคณะกรรมการที่ทำงานในด้านต่าง ๆ ทั้งนักวิชาการ นักการตลาด นักวิทยาศาสตร์ ผู้ชำนาญการด้านเศรษฐกิจดิจิทัล นักธุรกิจ และกองบรรณาธิการ The People ซึ่งเป็นตัวแทนเสียงของคนรุ่นใหม่มาช่วยกันเฟ้นหา "ผู้คน" ผู้เป็นแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนแปลงสังคม โดยคัดจาก 100 คนให้เหลือเพียง 10 คนสุดท้าย
The People Awards 2022 จะประกาศผลรางวัลรอบสุดท้ายจำนวน 10 รางวัล ในวันพุธที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2565 เวลา 14:00 - 16:30 น. ณ คริสตัล บ็อกซ์ (Crystal Box) ชั้น 19 เกษร เออร์เบิน รีสอร์ท (Gaysorn Urban Resort) พร้อมถ่ายทอดบรรยากาศงานประกาศผลรางวัลผ่านช่องทางออนไลน์ โปรดติดตาม