เจน แคมเปียน: จาก ‘The Piano’ สู่ ‘The Power of Dog’ ผู้กำกับหญิงออสการ์ท้าสังคม
หลังรอคอยมาทั้งชีวิต ในที่สุดเจน แคมเปียน (Jane Campion) ผู้กำกับหญิงชื่อดังชาวนิวซีแลนด์ ก็คว้ารางวัลผู้กำกับการแสดงยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์มาครองได้เป็นครั้งแรกในวัย 67 ปี จากหนังที่ถ่ายทอดความอ่อนโยนเปราะบางภายใต้หน้ากากความเป็นชายที่แข็งกร้าวดุร้ายของคาวบอยหนุ่มใน The Power of the Dog (2021)
The Power of the Dog นับเป็นหนังเรื่องแรกในรอบ 12 ปีที่แคมเปียนรับบทผู้กำกับ หลังหันไปทำละครทีวีมาพักใหญ่ นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องแรกที่ตัวละครนำเป็นผู้ชาย และเป็นฝ่ายใช้ความรุนแรง ไม่ใช่ผู้ถูกกระทำ
ก่อนหน้านี้ หนังของแคมเปียนส่วนใหญ่เน้นบอกเล่าเรื่องราวผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อ โดยเรื่องที่สร้างชื่อให้โด่งดังและเป็นเหมือนพิมพ์เขียวงานหนังของเธอคือ The Piano (1993) ภาพยนตร์ที่ทำให้เธอกลายเป็นผู้กำกับหญิงคนแรกที่คว้ารางวัลเมืองคานส์ และถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ครั้งแรก แต่สุดท้ายพ่ายให้กับสตีเว่น สปีลเบิร์ก จาก Schindler's List
คราวนี้ในงานประกาศผลออสการ์ครั้งที่ 94 เธอโคจรมาชิงรางวัลเดียวกันกับสปีลเบิร์กอีกครั้ง และเป็นแคมเปียนที่เอาชนะได้ ทำให้เธอนอกจากจะกลายเป็นผู้หญิงคนแรกที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงผู้กำกับยอดเยี่ยมออสการ์ 2 สมัย ยังเป็นผู้กำกับหญิงคนที่ 3 ที่คว้ารางวัลนี้ไปครองต่อจากแคทริน บิเกโลว์ (The Hurt Locker) ในปี 2010 และโคลอี เจา (Nomadland) ในปี 2021
“ขอบคุณงานอะคาเดมี่ มันถือเป็นเกียรติครั้งใหญ่ในชีวิต” เจน แคมเปียน กล่าวขณะขึ้นรับรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์
แคมเปียนนับเป็นผู้กำกับหญิงที่มีชีวิตสมบุกสมบันมากที่สุดคนหนึ่ง เธอเกิดในครอบครัวที่พ่อแม่หย่าร้าง มารดาเป็นโรคซึมเศร้าและเคยพยายามฆ่าตัวตาย ส่วนตัวเธอเคยถูกพี่เลี้ยงทำร้าย และเคยเข้าไอซียูเพราะบ้างาน ผลงานที่เธอบอกเล่าผ่านแผ่นฟิล์มส่วนใหญ่จึงสะท้อนด้านมืดของคน และนำเสนอมุมมองที่ไม่ค่อยมีใครกล้าพูดถึงในสังคม
เหยื่อพี่เลี้ยงใจร้าย
เจน แคมเปียน (Jane Campion) เกิดวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1954 ที่กรุงเวลลิงตัน นิวซีแลนด์ บิดาของเธอเป็นผู้กำกับละครเวที ส่วนมารดาเป็นนักแสดงและนักเขียน เธอบรรยายถึงทั้งคู่ว่าเป็นพ่อแม่ที่น่ารัก แต่มักไม่ค่อยมีเวลาให้กับลูก
สมัยเด็ก พ่อแม่เคยจ้างพี่เลี้ยงมาดูแลเธอและพี่สาว ระหว่างที่น้องชายเพิ่งคลอด เธอบรรยายถึงพี่เลี้ยงว่าเป็นผู้หญิงขี้โมโห มักพูดจาข่มขู่และทำร้ายร่างกายเธอและพี่สาว ครั้งหนึ่งเธอเคยถูกตีจนหลังลาย แต่ก็ไม่กล้าเล่าให้พ่อแม่ฟัง เพราะเกรงว่าพวกเขาจะไม่เชื่อ
เธอต้องทนอยู่กับความหวาดผวาจากพี่เลี้ยงคนนี้ตั้งแต่อายุ 5 - 11 ขวบ จนสุดท้ายพี่เลี้ยงเสียชีวิต เธอและพี่สาวปฏิเสธเดินทางไปร่วมงานศพเพราะไม่พอใจที่พ่อแม่ไม่เชื่อว่า พี่เลี้ยงเป็นคนใจร้าย
เธอเล่าเรื่องนี้กับนักข่าวของนิวยอร์กไทมส์ พร้อมระบุว่า ความหวาดกลัวจากความรุนแรงภายในบ้านของเธอ สามารถสะท้อนออกมาได้ดีในการถ่ายทอดความสัมพันธ์ระหว่างโรส (รับบทโดยเคิร์สเตน ดันสต์) กับฟิล (เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์) ใน The Power of the Dog
แม่ซึมเศร้าคิดฆ่าตัวตาย
ประสบการณ์วัยเด็กจากปัญหาในครอบครัวอาจมีส่วนสำคัญที่ทำให้แคมเปียน นำมันมาถ่ายทอดบนแผ่นฟิล์มได้อย่างเข้าอกเข้าใจ นอกจากเรื่องของพี่เลี้ยงใจร้าย แม่ของเธอยังป่วยเป็นโรคซึมเศร้า และเคยพยายามฆ่าตัวตายหลังแยกทางกับพ่อ ซึ่งมีปัญหาเรื่องชู้สาว
เธอเล่าว่า วันหนึ่งแม่มารับที่โรงเรียนเพื่อพาไปหาหมอฟัน เธอตื่นเต้นมากเพราะปกติไม่ค่อยได้ใช้เวลาส่วนตัวด้วยกัน หลังจากหาหมอฟันเสร็จ ทั้งคู่ไปปิกนิกกันต่อในสวนสาธารณะ แต่เธอรู้สึกได้ว่า แม่ใจลอยเหมือนไม่ได้อยู่ตรงนั้นกับเธอ
“ฉันพยายามทำทุกอย่างให้ตื่นเต้น ทั้งตีลังกาและหกสูงเพื่อเรียกความสนใจ ทำให้เธอสนุก แต่เธอยังคงเหม่อลอย บางทีอาจเป็นอารมณ์ซึมเศร้า ฉันจำได้ว่าเธอวางไข่ไว้บนหน้าตักจนมันกลิ้งตก”
แคมเปียนเล่าว่า เธอรับรู้ความรู้สึกของแม่ได้จนถึงขั้นที่เคยบอกกับแม่ว่า เธอจะไม่ติดใจอะไรหากแม่ตัดสินใจปลิดชีวิตตัวเอง
“ฉันกลัวมากตอนอยู่ใกล้ ๆ ในขณะที่ชีวิตของแม่ไม่มีความหวังอะไรเหลืออีกเลย”
ความรุนแรงในครอบครัว รวมถึงการเลือกระหว่างความต้องการของตนเองกับสิ่งที่สังคมปรารถนา สะท้อนออกมาได้ดีใน The Piano ภาพยนตร์ที่แคมเปียนเป็นทั้งผู้กำกับและคนเขียนบท และเป็นหนังที่ทำให้ทั่วโลกรู้จัก เจน แคมเปียน หลังคว้ารางวัลบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ได้สำเร็จ
ขวัญใจสายดาร์ก
เธอบอกว่า แรงบันดาลใจในการเขียนบท The Piano มาจากเอมิลี่ บรองเต้ (Emily Brontë) นักประพันธ์ชาวอังกฤษ เจ้าของนิยายแนวดาร์กเรื่อง Wuthering Heights จุดที่ทำให้แคมเปียนประทับใจ คือ ความเป็นอิสระอย่างสุดขั้วของเอมิลี่ และความสามารถของเธอในการสร้างตัวละครชายขึ้นมาจากจินตนาการ ทั้งที่ไม่เคยมีประสบการณ์ใกล้ชิดกับผู้ชายมาก่อน
ก่อนจะมาเป็นผู้กำกับรางวัลออสการ์ แคมเปียนเรียนจบปริญญาตรีที่นิวซีแลนด์ในสาขามานุษยวิทยาเชิงโครงสร้าง ซึ่งศึกษาวิธีที่มนุษย์ใช้ตำนานเรื่องเล่ากับโครงสร้างทางสังคมมาจัดการคู่ตรงข้ามของการดำรงอยู่อย่างชีวิตและความตาย หรือแสงสว่างกับความมืด
นอกจากนี้ เธอยังเรียนจบประกาศนียบัตรด้านวิจิตรศิลป์จากโรงเรียนศิลปะ และหันมาศึกษาการสร้างภาพยนตร์ที่โรงเรียนภาพยนตร์ โทรทัศน์ และวิทยุในออสเตรเลีย
ก่อนโด่งดังจากหนัง The Piano เจน แคมเปียน เคยสร้างชื่อจากการทำหนังสั้นมาแล้วหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่อง Peel (1982) ที่ทำให้เธอคว้ารางวัลจากเทศกาลหนังเมืองคานส์มาครองเป็นครั้งแรก
ส่วนหนังยาวเรื่องแรกของเธอ คือ Sweetie (1989) ต่อด้วย An Angel at My Table (1990) ก่อนจะมาประสบความสำเร็จระดับโลกในเรื่องที่ 3 กับ The Piano หลังจากนั้นก็มีผลงานตามมาอีกหลายเรื่อง อาทิ The Portrait of a Lady (1996), Holy Smoke! (1999) และ In the Cut (2003) ก่อนจะหันไปจับงานทีวีมินิ-ซีรีส์เรื่อง Top of the Lake (2013, 2017) และกลับมากำกับ The Power of the Dog ให้ Netflix ในที่สุด
เบื้องหลังหนัง The Power of Dog
เจน แคมเปียนบอกว่า จุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอสนใจกลับมากำกับหนังอีกครั้งจนกลายมาเป็น The Power of the Dog เริ่มจากความบังเอิญ หลังจากเธอหยิบหนังสือนิยายในชื่อเดียวกันของโธมัส ซาเวจ ที่เขียนไว้ในปี 1967 ขึ้นมาอ่านโดยไม่คิดถึงเรื่องทำหนัง แต่หลังจากอ่านไป เรื่องราวในหนังสือมันติดอยู่ในหัวของเธอไปตลอด
“ฉันไม่สามารถหยุดคิดถึงธีมต่าง ๆ ในหนังสือได้” เธอเผยที่มาของหนังบนเวทีเทศกาลภาพยนตร์นิวยอร์ก โดยระบุว่า เธอประทับใจฉากเปิดเรื่องในหนังสือที่เล่าถึงการตอนวัวของเหล่าคาวบอย
“ฉันรู้สึก โอ้, พระเจ้า! โอเค เรากำลังทำให้ความเป็นชายหายไป มันน่าสนใจดีนะ”
หลังตัดสินใจจะนำเรื่องราวในหนังสือของซาเวจ มาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ เธอใช้เวลาเตรียมการถ่ายทำนานหลายปี ทั้งเดินทางไปรัฐมอนแทนา ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของนักเขียนเพื่อดูสถานที่จริงตามคำบอกเล่าในหนังสือ และเดินทางไปเลือกโลเคชั่นถ่ายทำในนิวซีแลนด์ สังเกตสภาพดินฟ้าอากาศในแต่ละช่วงเวลาของวัน ขณะเดียวกันก็ส่งเบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์ นักแสดงนำไปเรียนรู้วิถีชีวิตคาวบอยของจริงในมอนแทนา
ก่อนถ่ายทำ เธอยังสั่งให้บรรดานักแสดงคาวบอยทุกคนมาใช้ชีวิตร่วมกันเพื่อสร้างความคุ้นเคย และให้คัมเบอร์แบตช์ กับเจสซี่ เพิลมอนส์ นักแสดงที่เล่นเป็นพี่ชาย ฝึกเต้นรำด้วยกัน เพื่อให้ได้รับรู้กลิ่นกาย ความรู้สึก และการเคลื่อนไหวของกันและกัน เมื่อเข้าฉากจะได้เข้าถึงบทบาทของพี่ชาย - น้องชายที่ใช้ชีวิตด้วยกันมาแต่เด็ก
แคมเปียนขึ้นชื่อเรื่องสไตล์การกำกับภาพยนตร์ที่เน้นรายละเอียด เธอมักเตรียมตัวทำการบ้านอย่างหนักก่อนวันออกกองถ่าย เธอเล่าว่าครั้งหนึ่งเคยเตรียมตัวแบบไม่หลับไม่นอน พอถึงวันถ่ายทำ เธอก็ทำงานลากยาวทั้งวันจนเกิดความเครียด สุดท้ายถูกหามส่งห้องไอซียู เพราะเป็นโรคหลอดลมอักเสบ ผสมกับโรคหอบหืดที่ติดตัวมาแต่เด็ก ทำให้หายใจไม่ออก และต้องพักฟื้นนานเกือบปี
“ฉันก็คล้ายกับเครื่องจักร หากยังสามารถทำได้ฉันก็จะทำ จะทำให้ดีที่สุดเท่าที่สามารถทำได้ ฉันทนไม่ได้ถ้าคิดได้ว่าต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างไรให้ดีขึ้นแล้วไม่ได้ทำ”
นั่นคือนิสัยในอดีต และหนังที่ทำให้เธอถึงกับต้องเข้าห้องไอซียู คือ Peel หนังสั้นความยาวแค่ 7 นาที ที่เธอเขียนและกำกับระหว่างเป็นนักศึกษา
“ฉันมาคิดได้ว่า พระเจ้า ถ้ามีคนรู้ว่าฉันเข้าโรงพยาบาลเพราะพยายามทำหนังยาว 7 นาที จริง ๆ แล้ว 10 นาทีรวมเครดิต คงไม่มีใครจ้างฉันแน่นอน”
แคมเปียนเล่าติดตลก พร้อมเผยว่า หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น เธอหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้นด้วยการเล่นโยคะทุกวัน เพื่อให้ได้ทั้งสมาธิและร่างกายที่แข็งแรงไว้ทำงานที่รักต่อไป
“ฉันรักงานกำกับการแสดงเพราะมันทำให้ได้ดำดิ่งลงไปในเรื่องราว และหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวต่อโลกมันช่างยิ่งใหญ่เหลือเกิน”
เจน แคมเปียน กล่าวบนเวทีออสการ์ระหว่างขึ้นรับรางวัลผู้กำกับการแสดงยอดเยี่ยมครั้งแรกในฮอลลีวูด หลังจากผลงานของเธอที่ผ่านมาสามารถเปลี่ยนมุมมองความคิดของใครหลายคน รวมถึงตัวเธอเอง
ข้อมูลอ้างอิง:
https://www.nytimes.com/2021/11/16/magazine/jane-campion-power-of-the-dog.html
https://www.latimes.com/entertainment-arts/movies/story/2022-03-27/oscars-2022-jane-campion-best-director-the-power-of-the-dog
เรื่อง: ภานุวัตร เอื้ออุดมชัยสกุล
ภาพ: Getty Images