read
interview
07 มี.ค. 2562 | 17:10 น.
สัมภาษณ์ประภัสร์ จงสงวน อดีตพรรคไทยรักษาชาติ ความลักลั่นในการพัฒนาเมือง
Play
Loading...
บทสัมภาษณ์นี้ สัมภาษณ์ประภัสร์ จงสงวน กรรมการยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562 ที่สำนักงานพรรคไทยรักษาชาติ – 1 เดือนก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติ
สัมภาษณ์ว่าด้วยเรื่องปัญหาการพัฒนาเมือง คมนาคม และผังเมือง ที่เป็นปัญหาเรื้อรังในสังคมไทยมาหลายสิบปี
The People: การพัฒนาเมืองและการพัฒนาโครงสร้างของประเทศไทยในภาพรวมเป็นอย่างไรบ้าง
ประภัสร์:
จริง ๆ เรื่องการพัฒนาเมือง เราต้องพูดกันว่าต้องการจะให้เมืองเป็นยังไงก่อนถูกไหมฮะ ที่ผ่านมาการพัฒนาเมืองของเรามันค่อนข้างจะไร้รูปแบบ เรามี... ผังเมือง มีนู่นมีนี่ แต่ผังเมืองของประเทศไทยเป็นผังซึ่งปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา แล้วปรับเปลี่ยนตามความต้องการของผู้ที่มีเสียงดัง ๆ ในสังคม เพราะฉะนั้นทำให้การพัฒนาเมืองของเราค่อนข้างจะประหลาดถ้าเทียบกับต่างประเทศ
ยกตัวอย่างของเรา เรามีศูนย์ธุรกิจหรือที่เขาเรียกว่าเป็นไอ้ business district ทั่วไปหมดเลย ซึ่งในต่างประเทศจะไม่ทำกันแบบนี้ จะไว้ที่หนึ่งที่ใด แล้วก็เป็นที่อยู่อาศัย ของเรากลับผสมผสานมั่วไปหมด เพราะว่าเป็นเรื่องของการที่แบบทุกคนก็...เห็นแก่ตัวนะฮะ อันนี้พูดตรง ๆ ครับ ยกตัวอย่างอย่างสุขุมวิท เมื่อก่อนนี้มันจะเป็นบ้านอยู่อาศัยใช่ไหมฮะ แต่ว่าแถวนั้นเป็นคนที่มีสตางค์หน่อย แต่เป็นขนาดที่ดินที่ค่อนข้างขนาดใหญ่ เดิมอาจจะอยู่สักครอบครัว สองครอบครัวอย่างเก่งก็แค่นั้น วันดีคืนดีคุณขายปัง แล้วคุณสร้างเป็นคอนโดสูง 30-40 ชั้น จาก 1-2 ครอบครัวกลายเป็นห้องเลย เป็นร้อยห้องนะครับ มันก็เปลี่ยนสภาพ แล้วทุกคนก็แข่งกันทำไม่มีการควบคุม
เพราะงั้นสุขุมวิทเป็นถนนที่วันนี้ถามว่าน่าอยู่อาศัยไหม คือชื่อดี แต่ถามว่ามันน่าอยู่อาศัยไหม ไม่ค่อยน่าอยู่นะครับ เพราะว่าเอาแค่กลับบ้านเช้าเย็นก็แย่แล้ว ออกจากบ้านก็ลำบากแสนสาหัส กลับบ้านก็แสนสาหัส มีหนำซ้ำรถก็ติดตลอดเวลา คุณภาพชีวิตเนี่ยผมว่าไม่ได้ดีนะ เพียงแต่ว่าชื่อของคำว่าสุขุมวิทเนี่ยมันมีความ...ทำให้คนมีความเข้าใจว่าถ้าอยู่ตรงนี้แล้วคือเศรษฐี ก็เลยทำให้ราคาที่ดินก็ขึ้นไปเรื่อย แล้วก็แออัดกันอยู่ตรงนั้น
แล้ววันนี้ก็เริ่มกระจายออกไป รู้สึกล่าสุดมีข่าว วันนั้นเปิดอ่านในเว็บ มีการซื้อขายที่ดินแปลงหนึ่งแถว ๆ ทองหล่อ ราคาที่สูงที่สุดคือ 2.8 ล้านต่อตารางวา เป็นอะไรที่แสดงให้เห็นว่าวันนี้บ้านเรา ผมว่าพัฒนาผิด แล้วก็เรื่องการพัฒนาระบบขนส่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งขนส่งมวลชน เราก็พัฒนาไม่ค่อยถูกเท่าไหร่ เราไปให้ความสำคัญกับเรื่องของรถยนต์ค่อนข้างจะมาก เอาตั้งแต่สมัยผมอยู่การทางพิเศษฯ เริ่มทำงานเมื่อปี 2527 ก่อนหน้านั้นตอนที่เขามีการตั้งการทางพิเศษแห่งประเทศไทยขึ้นมาครั้งแรกเมื่อปี 2518 ตอนนั้นนโยบายก็คือว่าอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานนี่คือสร้างรถไฟฟ้าแล้วก็ทำทางด่วน
ปรากฏว่าวันนั้นสภาพัฒน์ฯ เห็นความสำคัญของการสร้างทางด่วนมากกว่าการสร้างระบบขนส่งมวลชน โดยเฉพาะขนส่งมวลชนระบบราง เหตุผลก็คือว่าขนส่งมวลชนระบบราง เขามองว่ามันแพง ประเทศไทยเราเป็นประเทศยากจน ฉะนั้นก็ไม่จำเป็น ทำทางด่วนดีกว่า แล้วก็ไปทำทางด่วน โดยสมมติฐานมันก็คือทำทางด่วนขึ้นมาเพื่อแก้ไขเรื่องของรถบรรทุกที่จะเข้ามาในเมือง เพื่อให้ทางด่วนเส้นนี้วิ่งเข้าท่าเรือ แล้วก็เอารถบรรทุกเข้าออกได้โดยเร็ว ไม่ไปยุ่งกับข้างล่าง แต่ว่าเอาเข้าจริง ๆ ก็ไม่ใช่นะฮะ มันก็กลายเป็นที่วิ่งของรถปกติ แล้ววันนี้ก็กลายเป็นที่จอดรถช่วงเช้าเย็นของรถยนต์ส่วนใหญ่
เพราะงั้นตรงนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่า เรื่องของวิสัยทัศน์ในการมองการขยายตัวของเมืองหรืออะไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจริง ๆ ผมว่าเขามองสั้นและมองแคบ และที่สำคัญที่สุดคำว่าแพง มันต้องดูว่าคุณแพง คุณคิดตรงไหน คำว่าแพงสำหรับคนแต่ละคน สำหรับคนแต่ละกลุ่มก็ไม่เหมือนกัน อย่างคนที่มีสตางค์คำว่าแพง 100 บาทอาจจะไม่รู้สึกว่ามีอะไรเลยหรือ 10 บาท แต่สำหรับคนที่หาเช้ากินค่ำเนี่ย 100 บาทนี่มูลค่ามหาศาล
เพราะงั้นใช้คำว่าแพงเป็นตัวกำหนด ผมว่ามันไม่ถูก มันควรจะดูว่าถ้าคุณจะทำอะไรก็ตามโครงการที่เป็นของรัฐหรือของอะไรก็ตาม โดยเฉพาะของหน่วยงาน ดูราคามันสมเหตุสมผลไหม แล้วสิ่งที่ได้มามันคุ้มค่าหรือไม่คุ้มค่า คุ้มค่าในที่นี้ไม่ใช่เรื่องว่า อย่างเช่นคุณสร้างทางด่วนขึ้นมาสายหนึ่ง สร้างรถไฟฟ้าขึ้นมาสายหนึ่ง แล้วคุณบอกเฮ้ย เก็บค่าโดยสารเท่านี้แล้วคุ้มค่า มันคงไม่ใช่ ต้องดูในภาพรวมว่าเมื่อมีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแล้ว ไอ้ธุรกิจก็ดี อสังหาริมทรัพย์ก็ดี ราคามันขึ้นไปหมด นี่คือผลตอบแทนที่เกิดจากมีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน อันนี้ก็คือ...เป็นผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทางอ้อม เรื่องพวกนี้ต้องเอากลับมาคิดด้วย เอาคิดเสร็จแล้วเนี่ยเพื่อไม่ให้หน่วยงานมันกลายเป็นว่าไปดูเฉพาะว่าคุณมีรายได้เท่าไหร่ แล้วเงินกู้เท่าไหร่ พอคุณจ่ายเงินกู้ไม่ไหวเพราะว่าค่าโดยสารมันไม่ได้เป็นอย่างที่คิด แล้วคุณเอาเฉพาะตรงนั้นมาคิด แล้วบอกหน่วยงานนี้ไม่ดี เป็นหนี้ ผมว่ามันคงไม่แฟร์เท่าไหร่ มันคงต้องดูไอ้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจนะครับ เอากลับขึ้นมาดูด้วย แล้วก็เอามาคิดในงบดุลหรือว่าในบัญชีของทางหน่วยงานด้วย
อย่างผมยกตัวอย่างเอาชัด ๆ ก็คือว่าในการทำโครงการ ๆ หนึ่ง ต้องมีการพูดถึงว่าที่จะเพื่อให้หน่วยงานเองผ่านความเห็นชอบของบอร์ดฯ ผ่านความเห็นชอบของกระทรวงแล้วก็ไปที่ ครม. มันต้องมีการศึกษาถูกไหม ผลการศึกษาก็จะมีการศึกษาเรื่องผลตอบแทนทางการเงิน ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ แล้วส่วนใหญ่เวลาเขาอนุมัติเขาดูที่ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจนะครับ ก็คือผลตอบแทนทางอ้อมทั้งหมดว่าถ้าทำแล้วเป็นผลประโยชน์กับประเทศ กับสังคมขนาดไหน ถ้าตรงนี้มาก เขาจะบอกว่าโอเค คุณสร้างได้
แต่ที่ตลกคือว่าพอมาสร้างแล้ว ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจตรงนี้ คุณไม่เอากลับมาคิดอีกเลย คุณคิดเฉพาะตอนที่คุณอนุมัติโครงการ แต่พอตรงนี้มันไม่ได้คิด พอหน่วยงานทำไป ไอ้ผลตอบแทนทางการเงินส่วนมากมันจะต่ำอยู่แล้ว มันก็ทำให้หน่วยงานกับรายได้ที่เกิดขึ้นมา กับไอ้หนี้สินที่เกินเป็นขึ้นมากับดอกเบี้ย ก็ไปกันไม่ค่อยรอด ก็เลยทำให้หน่วยงานกลายเป็น...เป็นหนี้เป็นสิน
ยกตัวอย่างอย่างการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือแม้กระทั่ง รฟม. นะครับ การรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย รถไฟอายุเท่าไหร่ครับ 120 กว่าปี รถไฟตั้งแต่สมัย ร.5 ก็มีเส้นทางอยู่ประมาณเกือบ 4,000 กม. วันนี้ก็ประมาณ 4,000 กว่า ๆ เพิ่มมานิดเดียว ทำไมคนไม่คิดบ้างว่าไอ้ร้อยกว่าปีเนี่ย รถไฟเพิ่งเป็นหนี้เท่าไหร่ฮะ 80,000-90,000 ล้าน ท่านฟังตัวเลขบอก โอ้โห เยอะเหลือเกิน แต่ถ้าท่านคิดว่ารถไฟอยู่มา 120 กว่าปี ตัวเลขตัวนี้น้อยมากนะครับเมื่อเทียบกับสิ่งที่รถไฟได้ทำให้กับสังคม เป็นการขนส่งรูปแบบเดียวในวันนั้นนะครับ ที่เอาคนจากต่างจังหวัดเข้ามาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ เป็นที่ขนส่งสินค้า พ่อค้าแม่ค้า ให้กับเด็กได้ไปเรียนหนังสือ ตรงนี้ทำไมคุณไม่คิดบ้าง แล้วก็เป็นการพัฒนาเมือง ท่านสังเกตดูนะครับ ท่านไปดูสถานีรถไฟ ทุกจังหวัดที่รถไฟผ่าน สถานีรถไฟอยู่ใจกลางเมืองเลย แล้วตรงนั้นทำให้มีการพัฒนาเมืองขึ้นมา ของพวกนี้ทำไมท่านไม่คิดกันเลย ท่านมาดูแต่เพียงว่าเป็นหนี้ แต่ถามว่าไอ้ตัวสิ่งที่เป็นผลตอบแทนทางเศรษฐกิจทำไมไม่ดูเลย คล้ายกับ รฟม. เหมือนกันนะครับ
รฟม. วันนี้ก็เป็นหนี้ค่อนข้างจะเยอะเนื่องจากว่าค่าที่ดินในกรุงเทพฯ เพราะเรามาสร้างในเมืองก่อน เราอำนวยความสะดวกให้กับคนในเมือง ซึ่งจริง ๆ แล้วปกติต้องสร้างจากนอกเมืองเข้าหาในเมือง ก็บ้านเราก็เลือกที่จะสร้างจากในเมืองก่อน ทำให้ที่ดินมันก็ขึ้นไปอีก ราคาสูงขึ้นไปอีก คนที่อยู่ในเมืองก็มีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นไปอีก บางทีบ้านเราไปดูงานกันเยอะแต่เราทำอะไรไม่ค่อยจะสอดคล้องกับสิ่งที่คนอื่นเขาทำกัน
อย่าง รฟม. ค่าที่ดินก็แพง เวนคืนก็แพง ค่าก่อสร้างก็โอเค สมเหตุสมผลนะครับ แต่ว่าพอทำแล้วรัฐบาลบอกว่าเราต้องอำนวยความสะดวกให้ประชาชน เพราะงั้นค่าโดยสารมันก็อยู่บนพื้นฐานที่ว่ามันต้อง...อันแรกเลย เนื่องจากว่าเรารับสัมปทานใช่ไหม ให้สัมปทาน ผู้ที่ลงทุนก็ต้องอยู่ได้ แล้วพออยู่ได้เขาต้องมีกำไรบ้าง เพราะงั้นค่าโดยสารก็จะถูกจำกัดโดยตัวของมันเอง แต่ไอ้ตรงนั้นก็เป็นส่วนที่แบ่งมาให้หน่วยงาน เพราะเอกชนก็ต้องได้เงินเขาก่อน ในหลักในสถานะผู้รับสัมปทานต้องได้ก่อน และก็ทำให้เงินตรงนี้มันน้อยมากที่จะกลับเข้ามาแล้วก็เอาไปใช้หนี้ ก็ทำให้ รฟม. เป็นหนี้ ดอกเบี้ยก็ไปเรื่อย กลายเป็นว่าหน่วยงานนี้ไม่ดี แต่อย่างที่ผมเรียนครับ ถ้ามีการพูดถึงผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ และยอมให้มีการเอาผลตอบแทนทางเศรษฐกิจมาหักกลบ หรือว่าเป็นส่วนที่เป็นบวกให้กับองค์กร มันจะทำให้บัญชีขององค์กรไม่เป็นอะไรที่มันเป็นอย่างทุกวันนี้
อันนี้จริง ๆ ก็พูดมานานแล้ว แต่ว่าอย่างที่บอกครับว่า พอพูดไปแล้วก็ไม่ค่อยมีใครฟัง แล้วตรงนี้ก็โยงไปถึงเรื่องของผังเมือง การพัฒนาเมือง จริง ๆ แล้วอย่างที่เรียนครับ มันต้องมีว่าโอเค ไอ้ทางด้านธุรกิจอยู่ตรงไหน ที่เป็นที่อยู่อาศัยอยู่ตรงไหน พวกที่เป็นสรรพสินค้าอยู่ตรงไหน แต่ของเราไม่ใช่เลย ของเรานี่ผสมไปหมด ที่ที่เคยเป็นที่อยู่อาศัยก็กลายเป็นว่ามีทุกอย่างเข้าไปอยู่หมด มันทำให้คนต้อง...รถติด ไอ้คนที่อยู่เดิม อย่างเช่นว่าคุณบอกว่าเฮ้ย วันดีคืนดีคุณมาสร้างศูนย์การค้าขนาดใหญ่ คนที่อยู่แถวนั้นถามว่าได้ประโยชน์จากศูนย์การค้าไหม ได้ แต่ถามว่าสิ่งที่เขาเสียไปคืออะไร เรื่องของสภาพแวดล้อม เรื่องของรถราที่ติดมหาศาล ถามว่าตรงนั้นเขาเสียไปมีใครสนใจไหม
ในขณะที่คนลงทุน ท่านเป็นคนลงทุน ท่านก็ไม่แคร์เพราะท่านรับเงิน แล้วตรงนี้ถามว่าท่านมีอะไรคืนให้กับสังคมหรือเปล่า ก็ไม่มี กลายเป็นว่าอ้าว ผมเสียภาษีแล้วคือจบ แต่ความจริงมันไม่ใช่ หรือแม้กระทั่งการทำ...อย่างที่เราเห็นมีศูนย์การค้าใหญ่ ๆ ใหม่ ๆ ขึ้นมา คุณลองไปถามคนอยู่รอบ ๆ เขารู้สึกยังไง ถามว่ามันเป็นธรรมหรือเปล่าที่คุณมาสร้าง แล้วคุณก็บอกว่าคุณจ่ายภาษีอย่างเดียว แล้วคุณไปทำความเดือดร้อนให้คนที่เขาอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ เขาอยู่เฉย ๆ อยู่ของเขาดี ๆ คุณไปสร้างความเดือดร้อนให้เขา แล้วคุณก็ไม่เคยดูแลเขาเลย มันก็ไม่ค่อยเป็นธรรมเท่าไหร่ คือผมว่าเป็นอะไรที่ละเอียดอ่อนพอสมควร
The People: แล้วจะทำอย่างไรกับภาวะนี้ได้บ้าง
ประภัสร์:
ต้องถามตัวเองก่อนว่าวันนี้...คือถามสังคมนะฮะ ผมก็เรียนว่าวันนี้คนไทยเราควรจะอยู่กันในระบบที่มีความเห็นจากทุก ๆ ภาคส่วนนะครับ ว่าเรื่องนี้ทำ ไม่ทำ คือถ้าไม่ทำคือจบแล้วไม่ต้องมานั่งบ่น อย่างเช่นเรื่องทำ Zoning ถามว่านี่พอหรือยังที่จะเป็นอย่างนี้ ถ้าทุกคนลงคะแนนเสียงทำประชามติอะไรก็ได้บอกว่าเออ พอแล้ว ถ้าบอกพอแล้ว เราก็หยุดเรื่องการก่อสร้างอะไรที่มันขนาดใหญ่แล้วบอกคุณไปสร้างข้างนอก ไล่เขาออกไปอยู่ข้างนอก
แล้วบอกอะไรที่สร้างไปแล้ว มันควรมีอายุการใช้งานสักกี่ปี ก็มานั่งคิดว่าตรงนี้เราต้องการให้มันเป็นอะไรต่อไปในวันข้างหน้า อยากให้เป็นที่อยู่อาศัยหรือเปล่า อยากให้เป็นอะไรหรือเปล่า แล้วถ้าเกิดบอกว่าวันนี้ทุกคนต้องไปอยู่ข้างนอกเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับธุรกิจ การออกไปอยู่ข้างนอกเนี่ย รัฐบาลก็ต้องไปคิดถึงเรื่องพวกสาธารณูปโภคพื้นฐานทั้งหมด ต้องทำให้เขานะครับ ไม่ใช่บอกว่า เฮ้ย คุณไปอยู่ไกล ๆ แต่ขณะเดียวกันผมอยู่แล้วอะไรก็ไม่มีสักอย่าง ไฟฟ้าประปาก็ลำบาก การเชื่อมต่อต่าง ๆ ถนนหนทางก็สภาพไม่ดี ผมว่าตรงนี้มันต้องเอามาจากคนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดเอามา กลับมาสู่สังคม
The People: คิดอย่างไรกับประเด็น ความเป็นเมืองของไทยนั้น เป็นเมืองที่ซ่อนคนจน
ประภัสร์:
ผมคิดว่าเป็นทุกสังคมนะ เพียงแต่ว่าเป็นมากเป็นน้อย ผมว่าเมืองไทยเป็นคนที่คำนึงถึงเรื่องหน้าตา คือเราอาจรับอิทธิพลจากเมืองจีนเยอะ อย่างคนจีนเรื่องหน้าตาเป็นเรื่องสำคัญมาก ฉะนั้นก็พยายามที่จะเอาแต่ภาพดี ๆ ภาพสวย ๆ ไปให้คนอื่นดู โดยที่เอาทุกอย่างไปซุกไว้ที่อื่น เพราะงั้นตรงนี้ผมว่ามันก็เป็นปัญหานะ แล้วมันไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหา มันควรจะบอกว่าโอเค เรามีความแตกต่าง มีช่องว่างระหว่างคนรวยคนจน ก็ควรจะต้องมาดูว่า แล้วทำยังไงให้คนจนที่เขาอยู่ในบริเวณเดียวกันมีความเป็นอยู่ที่ดี สภาพที่ดี และสุขภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น ไม่ใช่บอกว่ามันไม่เกี่ยวกับฉัน ฉันไม่เกี่ยว แกก็อยู่ของแกไป ฉันก็หาทางสร้างรั้ว สร้างอะไรที่มันขึ้นมาปิดบัง ไอ้พวกคุณก็เหมือนไปอยู่คนละโลกกับฉัน เราไม่ได้อยู่ด้วยกันอะไรงี้
ผมว่าวิธีนั้นมันทำให้สังคมเกิดความเหลื่อมล้ำ แล้วก็ทำให้คนที่อยู่ตรงนั้นเองก็เกิดความรู้สึกที่ เอ๊ะ ฉันเป็นอะไร ฉันเป็นส่วนเกินเหรอ ตรงนี้เมืองนี้มันเป็นของคนรวยอย่างเดียวเหรอ ซึ่งตรงนี้ผมว่าเราต้องมานั่งคุยกันจริง ๆ จัง ๆ แต่ผมว่าวันนี้นะครับ ถ้าพูดจริง ๆ แล้วทุกเรื่องมันต้องพูดความจริงกันก่อน แล้วจากประสบการณ์จริง ๆ คือวันนี้ผมว่าคนไทยพูดความจริงน้อยลง ๆ ทุกที ทุกคนจะพูดแบบภาษาการทูตกันฮะ ไม่ค่อยพูดความจริงกัน กลัวว่าเดี๋ยวจะกระทบนู่นกระทบนี่ กระทบความรู้สึก
ผมว่าวันนี้ สังคมรุ่นใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กรุ่นใหม่ ผมว่าการพูดความจริงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะการพูดความจริง มันบอกว่าจะเกิดอะไรขึ้น คุณสามารถทำให้เขาเตรียมเนื้อเตรียมตัวเตรียมใจ เตรียมว่าคุณจะทำยังไงต่อ ไอ้การที่มาพูดแบบ...นะฮะ เอาแบบฟังแล้วฟังสบาย ๆ แล้วขณะเดียวกันพอเกิดเรื่องขึ้นมาแล้ว มันไม่ได้มีการเตรียมอะไรเลย ผมว่าเป็นการโหดร้ายทารุณมากกว่า
The People: คิดอย่างไรกับคำกล่าวว่า “กรุงเทพฯ ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว”
ประภัสร์:
ต้องถามว่าดีสำหรับใครล่ะ สำหรับคนเดินถนนคงไม่ใช่ สำหรับคนที่ไม่มีเงินมีทองมาก ๆ ที่จะมีรถเก๋งนั่งไปไหนมาไหน มีคนขับรถเทียบถึงทุกที่ที่คุณจะไป มันคงไม่ใช่ เพราะถ้าคุณใช้ถนน ใช้บริการสาธารณะ ผมว่ามันไม่ใช่ชีวิตที่ดีกว่า อย่างเรื่องของทางเท้าก็ดี เรื่องของไฟฟ้าอะไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าในความเป็นจริงบ้านเราหลักเกณฑ์ทุกอย่างมีหมด แต่ไม่ค่อยมีใครปฏิบัติโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นงานของหน่วยงานของราชการเองแทบจะไม่มีใครกล้าเข้าไปดูเลย ก็จะปล่อย มีหลายครั้งที่เราเห็นข่าวใช่ไหมครับว่ามีการขุดทำพวก Duct Bank แล้วไม่มีการติดตั้งไฟ ไฟฟ้าแสงสว่างหรือป้ายเตือนอะไรก็ตามทำให้เกิดอุบัติเหตุหลายครั้ง
เดี๋ยวนี้ยังดีขึ้นเมื่อก่อนนี่ท่านทำกันแบบ...ไฟก็ไม่มี เมื่อก่อนบ้านผมอยู่แถวถนนนราธิวาส ท่านขุดถนนเมื่อก่อนนะฮะ ท่านไม่เคยติดไฟสัญญาณเลย ขับไปก็คือเสี่ยงเอาเอง ยิ่งต่างจังหวัดนี่ยิ่งแล้วกันเลย เมื่อก่อนกรมทางหลวง ทั้งทางหลวง ทางหลวงชนบท ไปดูได้เลย ท่านก่อสร้าง ท่านไม่เคยมีอะไรเลย สัญญาณก็ไม่มี ไฟก็ไม่มี แล้วมันก็มืดนะฮะต่างจังหวัด มันมืดมาก ห่างไกลมากๆ เพียงแต่บ้านเรา ประชาชนไม่กล้าฟ้องร้องหน่วยงาน ถ้าไปฟ้องร้องหน่วยงานก็เหมือนกับวิ่งเอาหัวชนกำแพง ถ้าเป็นเมืองนอกนะ ผมเรียนได้เลยเขาฟ้องกันแบบเอาตายเลย คือเอาหน่วยงานล้มละลายได้ แต่บ้านเราอย่างที่บอกครับ บ้านเราค่อนข้างจะเป็นประเทศซึ่ง...ชีวิตพี่น้องประชาชนเป็นอะไรที่ผู้บริหารจะคำนึงถึงหลังสุดมั้งฮะ
The People: ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ผังเมืองกรุงเทพฯ เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
ประภัสร์:
คือมันเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลงนะครับ ผมยกตัวอย่าง วันนี้เราพูดถึงการจราจรติดขัดในถนนสายต่าง ๆ ที่เป็นสายหลักถูกไหมฮะ ไม่ว่าจะเป็นถนนพระราม 4 ถนนวิทยุ ถนนสาทร ถนนอะไรทั้งหลาย แถว ๆ นั้นที่ถือว่าเป็นส่วนแอดอัดของกรุงเทพฯ วันนี้ก็ลามไปถึงฝั่งธนฯ พวกนี้ยังปล่อยให้มีการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่อยู่นั่นแหละ โดยที่คุณไม่เคยคิดเลยว่าไอ้การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ คุณเอารถใส่เข้าไปตัวเลขเท่าไหร่ แล้วรถมันติดขนาดไหน มันมีมลภาวะขนาดไหน มีหน่วยงานไหนบ้างครับ ทุกคนอ้างแต่เพียงว่าอ้าว โดยกฎหมาย เขาขออนุญาตก่อสร้าง ผมก็ต้องอนุญาตเขา
ถามว่ากฎหมายมันเขียนแค่นั้นเหรอ มันควรจะมีคำว่าพอบ้างในการก่อสร้าง เพราะว่าทุกอย่างจะมี capacity ของมัน ผมยกตัวอย่างเลยนะครับ อย่างห้องนี้ดูแล้วกันพื้นที่ประมาณกี่ตารางเมตร ถ้าเป็นเมืองนอก ก็คล้าย ๆ กับที่เราไปทำกับพวก...พวกสถานบันเทิงใช่ไหม สถานบันเทิงตอนนั้นที่มีการเหยียบกันตาย ซานติก้าใช่ไหมครับ นั่นน่ะเพราะอะไรครับ เพราะคุณเอาคนใส่เข้าไปมากกว่า capacity ของมัน พอมันเกิดเหตุขึ้นมาคุณก็ออกไม่ได้ บ้านเราเป็นงั้นเลย
วันนี้ถนนทุกเส้น เนื่องจากว่ามันมีการก่อสร้าง ซึ่งไม่เคยคำนึงเลยว่า คุณพูดโฆษณาอย่างเดียวว่า นี่จะเป็นใหญ่ที่สุด ไอ้นี่ก็ใหญ่ที่สุด แหมจะเป็นพื้นที่กี่ล้านตารางเมตร ผมถามไอ้พื้นที่ที่คุณพูดทั้งหมดมันเกี่ยวข้องกับคนอีกเท่าไหร่ แล้วเกี่ยวข้องกับรถยนต์ที่ต้องเข้าไปตรงนั้นอีกเท่าไหร่ แล้วถนนตรงนั้นมันเต็มแล้วใช่ไหม แล้วรถยนต์พวกนี้ไปอยู่ตรงไหน มันเป็นการสร้างความแออัดให้กับทั้งเมือง แล้วถามว่าแล้วใครดูแล มีใครพูดว่าเฮ้ย อย่างนี้ไม่ถูก ไม่มีนะฮะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ผมบอก กลุ่มทุนที่ใหญ่ ๆ หน่อยทุกคนก็เงียบกันไปหมด แล้วถ้ามี connection ด้วย ยิ่งไปกันใหญ่เลย ทุกคนแบบมองไม่เห็น
ผมถามง่าย ๆ อย่างทองหล่อ ผมถามว่ามันมีอะไรตรงไหนที่แบบ...มันติดจนแทบจะไม่ไหวอยู่แล้วนะ คุณก็ยังปล่อยให้สร้าง แล้วทำให้ราคาที่ดินถีบตัวสูงขึ้นไปถึงขนาดที่บอกครับว่า ล่าสุดนี่ขึ้นไปถึง 2.8 ล้านต่อตารางวานะครับ คุณว่ามันเกิดอะไรขึ้น แล้วพอคุณสร้างขนาดนั้นก็กลายเป็นว่าพอคุณไปก่อสร้างอะไรก็ตาม เช่นคุณทำคอนโดขึ้นมา เป็นตารางเมตรตั้งเท่าไหร่ มันถึงได้ปรากฏว่าวันนี้เรามีคอนโดบางที่ ตารางเมตรละ 400,000-500,000 นะครับ แล้วถ้าเป็นห้องขนาดใหญ่ 700 ล้านยังมีเลยตอนนี้ คอนโดนะครับ 700 ล้านกว่าบาท
คิดดูแล้วกัน ทุกคนบอกเฮ้ย ความเหลื่อมล้ำประเทศไทยไม่มีหรอก ช่องว่างระหว่างความรวย ผมถามว่านะ ท่านต้องมีเงินขนาดไหนท่านถึงจะมีปัญญาไปซื้อคอนโดที่ราคาขั้นต่ำรู้สึกเท่าไหร่ 200 กว่าล้านใช่ไหมฮะห้องหนึ่ง ท่านต้องรายได้ขนาดไหนครับ หรือท่านจะบอกว่าเฮ้ย ผมก็ชวนต่างชาติมาซื้อ ผมถามว่าคุณชวนต่างชาติมาซื้อเยอะ ๆ แล้วอีกหน่อยคนไทยอยู่ตรงไหนหมดครับ เพราะงั้นตรงนี้ผมว่ามันต้องมีคนที่จะบอกว่ามีข้อกำหนดหรือมีข้อกฎหมาย หรืออะไรก็ตามหรืออะไรสักอย่างที่จะมาบอกว่าบริเวณนี้ วันนี้มันเต็มแล้ว ถ้าคุณจะสร้างตรงนี้คุณต้องรอให้มันมีที่ว่างหรือมีเหมือนกับสมัยก่อน คุณจะสร้างตึกขึ้นมาใหม่ คุณต้องมีตึกที่คุณต้องทุบทำลายก่อนถูกไหมฮะ เพื่อจะสร้างตึกใหม่ขึ้นมาทดแทน แล้วก็ต้องทดแทนในสัดส่วนปริมาณที่ใกล้เคียงกับของเดิมด้วย
ผมยกตัวอย่างอย่างอังกฤษก็ดีหรือฝรั่งเศส ท่านลองไปดูสิ ที่เป็นบริเวณที่อยู่อาศัย เขาจะเป็นยังงั้นหมด เขาจะไม่ให้มีการตกแต่งใดที่ให้เกิดความกระทบกระเทือนกับชาวบ้าน อย่างเช่นคุณเป็นที่อยู่อาศัย อยู่ดีๆ คุณจะบอกว่าสร้างเป็น shopping mall ขึ้นมาแทน ไม่ได้นะฮะ ไม่ใช่นึกว่าจะสร้าง shopping mall ก็สร้าง เพราะงั้นตรงนี้เป็นอะไรที่ผมเรียนไงครับว่ามันจะต้องถึงจุดๆ นั้นซะทีผมว่า ถ้างั้นแล้วเราก็จะเจอแต่ปัญหาอย่างนี้แหละครับ
พูดตรง ๆ อย่างพระราม 4 ครับอีกไม่นานก็จะเป็นจุดที่ทำให้ทุกคนต้องปวดหัวอีก เพราะวันนี้มีโครงการขนาดใหญ่ขึ้นมา 2-3 โครงการพร้อม ๆ กัน และแต่ละโครงการนี่ท่านก็โฆษณาว่าท่านจะมีพื้นที่ใหญ่โตมโหฬารมาก ๆ แล้วคนที่เข้าไปตรงนั้นอีกเท่าไหร่ คุณบอกว่าไม่เป็นไรมีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน แต่ผมถามว่ารถไฟฟ้าขนส่งมวลชนมันก็มีความจุของมันเหมือนกัน มันไม่ใช่ว่ามีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแล้วจะขนไปได้ไม่มีจุดจำกัด มันก็มีขีดจำกัดเหมือนกันว่าเมื่อมันเต็ม capacity ไปแล้ว คุณจะทำยังไงกับคนที่เหลืออยู่ เพราะ headway จะเพิ่มนะครับ คือความถี่ของการเดินรถนะครับ มันก็เพิ่มได้ถึงจุดๆ หนึ่ง ก็เพิ่มไปมากกว่านั้นมันก็ไม่ได้เพราะเป็นเรื่องของความปลอดภัย ทุกอย่างมันมีขีดหมดแหละฮะ ให้มันเกินขีดไม่ได้ แต่วันนี้บ้านเรา เราปล่อยทุกอย่างเกินขีดได้หมด เพราะเพียงแต่ว่า...อย่างที่บอกครับ แล้วทุกคนอ้างแต่เพียงว่าก็ทำตามกฎหมายฉบับนี้แล้ว แต่คุณไม่ได้ดูเลยว่าในภาพใหญ่มันเป็นยังไง ตรงนี้สำคัญนะฮะ
The People: คิดอย่างไรกับ PM 2.5
ประภัสร์:
เรื่องนี้เกิดจากหลาย ๆ สาเหตุ แต่ว่าอันแรกเลยการที่ประเทศไทยไปกำหนดค่าตัวนี้แตกต่างจากชาวบ้านเขาเยอะ ๆ เท่าตัว ผมว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูก เพราะตัวนี้มันกำหนดมาเพื่ออะไรครับ เพื่อดูแลสุขภาพของคน ถ้าคุณจะกำหนดให้มันสูงกว่าชาวบ้าน ก็นั่นแหละครับเป็นเท่าตัว ก็แสดงว่าวันนี้ประเทศไทยเราไม่สนใจสุขภาพของคนใช่ไหม หรือเราคิดว่าสุขภาพของคนไม่ใช่เรื่องที่สำคัญที่สุดใช่ไหม ถูกไหมฮะ เพราะถ้าคุณเห็นว่าสุขภาพของคนสำคัญที่สุด แล้วมีเหตุผลอะไรที่คุณกำหนดให้แตกต่างจากเขาในปริมาณที่สูงกว่ากันเป็นเท่าตัว
PM 2.5 เป็นอะไรที่ร้ายแรง มันร้ายแรงในแง่ที่ว่าสามารถเข้าไปได้ทุกส่วนของร่างกายคุณ แล้วเป็นอะไรที่มีมาตลอด เพียงแต่ว่ารัฐบาลพยายามไม่พูดถึง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็พยายามไม่พูดถึง ไอ้ที่ผ่านมาพูดถึงเพราะว่าอะไรฮะ เพราะกลายเป็นว่าเหมือนมันมีหมอกอยู่ตลอดเวลา แต่เป็นหมอกที่เป็นสีน้ำตาล ๆ เทา ๆ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมมีการพูดถึงเรื่องนี้
มันต้องเริ่มจากพูดความจริงก่อน ไอ้ของเรานี่กลายเป็นว่าทุกคนก็บอกว่าไม่พูดอย่างนี้ ไม่บอกตรง ๆ หรือว่าไม่นั่นไม่นี่ ก็เพราะว่ากลัวเดี๋ยวกระทบด้านอื่น กลัวเดี๋ยวนักท่องเที่ยวจะไม่มา กลัวว่านั่นกลัวว่านี่ แต่ผมถามจริง ๆ ว่าโลกวันนี้เป็นโลกที่ใบเล็กมากนะครับ เกิดอะไรขึ้นก็ตามในประเทศไทย ทั่วโลกเขาก็รู้ ภายในไม่กี่นาทีเขารู้หมด เพราะฉะนั้นก็เป็นอะไรที่ดีกว่าที่เราจะไปปิดบังและไม่พูดถึง แล้วปล่อยให้ประชาชนไปเสี่ยงกันเอาเอง เพราะอย่าลืมว่าประชาชน เราก็เหมือนกับเด็กนักเรียน สังคมเราเป็นสังคมที่ให้เชื่อผู้ใหญ่ รัฐบาลก็เหมือนผู้ใหญ่ ถ้าผู้ใหญ่บอกไม่เป็นไร ทุกคนก็เชื่อว่ามันไม่เป็นไร
ถ้าท่านลองกลับไปดูนะ ย้อนกลับไปดูการให้สัมภาษณ์ของผู้ใหญ่ในรัฐบาลหลาย ๆ คนจะพูดแต่เรื่องของรถเมล์ควันดำ รถควันดำและจะไปเน้นตรงนั้น แต่ผมถามว่าแล้วงานก่อสร้างที่เป็นตัวสาเหตุอีกอันหนึ่ง ทำไมไม่มีใครพูดถึงเลย ทำไมไม่มีใครลงไปดูว่าเฮ้ย วันนี้งานก่อสร้างทั้งหลายในกรุงเทพฯ มีการทำตามมาตรฐานที่ควรจะเป็นหรือเปล่า อย่างโครงการขนาดใหญ่ทุกโครงการต้องมีการทำเรื่องสิ่งแวดล้อมถูกไหมครับ ต้องมีว่าการบรรเทาสิ่งแวดล้อม การแก้ไขสภาพสิ่งแวดล้อมเป็นยังไง ทำอะไรบ้าง ลองไปดูสิครับทำครบไม่ครบ
อย่างเมื่อก่อนนี้ประมาณสัก 2-3 ปีที่แล้วมา 4-5 ปีด้วยซ้ำไปก่อนหน้านี้ ในงานก่อสร้างทุกโครงการ ท่านสังเกตว่าจะมีการคลุมตัวอาคาร คลุมจริง ๆ คลุมแบบไม่เห็นเลย แต่วันนี้มีคลุมไหม คือวิธีวันนี้ก็จะใช้เป็นอะไร วัสดุที่เป็นแบบรู ๆ คือเขาอ้างว่าคนงานร้อนบ้าง ให้มันระบายอากาศได้ แต่ตรงนั้นมันไม่ใช่วัตถุประสงค์นะฮะ วัตถุประสงค์การคลุมคือไม่ให้มันมีฝุ่นจากข้างในออกมาข้างนอก แล้วท่านก็ต้องไปดูแลคนงานของคุณให้ใส่หน้ากากอะไรป้องกัน
หรือแม้กระทั่งเรื่องการเผาในที่โล่งแจ้ง ทุกปีจะมีการพูดกันทุกปี ห้ามประชาชน ห้ามเกษตรกรไปเผาอ้อย เผาซังข้าว เผานู่นเผานี่ตลอด แต่ถามว่าเอาเข้าจริง ๆ แล้วคุณไปห้ามเขาได้ไหม ที่ห้ามไม่ได้เพราะอะไรครับ เพราะเราไม่มีการบังคับใช้กฎหมายเลย แล้วกฎหมายเรามัน...มันเหมือนกับมีไว้เพื่อไปบังคับคนที่แบบ...จะพูดว่าคนที่รายได้น้อยก็...มันก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ อย่างที่เขามีคำโจ๊ก ๆ กันทางภาษากฎหมายที่บอกว่า มีกฎหมายมากเสมอสำหรับคนที่มีเงิน แล้วก็มีกฎหมายน้อยสำหรับคนที่ไม่มีเงิน ถ้าคุณมีเงินเยอะ ๆ ท่านสามารถไปจ้างนักกฎหมายมาให้มานั่งดูฎีกา ให้มานั่งดูข้อกฎหมายทุกฉบับที่เกี่ยวข้อง แล้วคุณสามารถหาช่องโหว่ที่จะไปต่อสู้หรือไปโต้เถียงกับราชการได้ง่าย ๆ เลย ขณะเดียวกันคนที่แบบไม่มีสตางค์ เพราะท่านไม่มีปัญญาที่ไปจ้าง ท่านก็รู้กฎหมายไม่กี่ฉบับหรอกครับ พอถึงท่านไปเจอราชการท่านก็เสร็จ
The People: ในอนาคตต้องมีการขนส่งสาธารณะเพื่อคนต่างจังหวัดในแบบไหน
ประภัสร์:
พูดถึงเรื่องนี้นะฮะ ผมสะท้อนใจ เพราะจริง ๆ แล้วอย่างที่ผมบอก ผมทำงานที่การทางพิเศษฯ ตั้งแต่ปี 2527 ตอนนั้นการทางพิเศษฯ รับผิดชอบเรื่องของรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เรามีการไปศึกษาในหัวเมืองใหญ่ เชียงใหม่ ขอนแก่น โคราช ภูเก็ต ที่ตอนนั้นเป็นเมืองค่อนข้างจะเป็นเมืองท่องเที่ยว ท่านเชื่อไหม จากวันนั้นถึงวันนี้ยังไม่มีการทำอะไรเลย เพราะอะไรรู้ไหมฮะ เพราะว่าทุกคนมองแต่เพียงว่ามันราคาแพง คือคุณไม่เคยคิดเลยว่าไอ้คำว่าแพงของคุณเนี่ย แต่ว่าสิ่งที่มันจะได้ตามมาคืออะไรบ้าง
ลองนึกภาพนะ ถ้าวันนั้นมีการก่อสร้างขนส่งมวลชนในเชียงใหม่ เชียงใหม่ก็คงไม่เป็นอย่างทุกวันนี้ที่มีแต่ปัญหารถติดมาก ๆ วันนี้เชียงใหม่หรือเมืองอื่น ๆ มันก็จะเหมือนกับกรุงเทพฯ วันนี้ คือพื้นที่ตรงไหนที่เป็นพื้นที่ธุรกิจ ราคาจะถีบตัวสูงขึ้นไป ๆ ไปเรื่อย ๆ สูงแบบไร้สาระ และก็ไม่มีการควบคุมว่าการเข้า-ออกตรงนั้นจะเป็นยังไง จริงๆ อย่างที่ผมเรียน มันต้องมีการดูว่าถนนมีความจุเท่าไหร่ แล้วคุณเอาอะไรมาเติม แล้วไอ้คนที่เติมมันต้องช่วยกันออกนะที่ทำให้เกิดตรงนั้น แล้วเพื่อจะได้เอาเงินที่ได้มาไปคิดว่าจะทำยังไงต่อ ไปสร้างถนนเพิ่มไหม ไปทำอะไรเพิ่มไหม มันต้องกล้า คือคุณกล้าที่จะอนุมัติโครงการใหญ่ ๆ คุณก็ต้องกล้าที่จะเวนคืนเพื่อทำถนนให้ประชาชนที่เขาไม่เกี่ยวข้อง ให้เขาได้เดินทางได้โดยสะดวก ไม่ใช่บอกว่าพอคุณพัฒนาแล้ว คนอื่นก็เดือดร้อนนี่ไม่เป็นไรเพราะว่าเราได้ภาษี มันไม่ใช่
ในต่างจังหวัดที่ผมเรียนว่ามีนะ มีโครงการศึกษาทั้งหมด แต่ว่าในการขออนุมัติมันต้องผ่านกระบวนการ กระทรวง ผ่านสภาพัฒน์ฯ ผ่านอะไร ผ่านกระทรวงคลัง ผ่านอะไร บ้านเราถ้าการไปลงทุนยังงี้ เขาก็จะมองว่ามันไม่คุ้มค่า พอไม่คุ้มค่าปั๊บก็ถูกเก็บ แม้กระทั่งทุกวันนี้รถไฟฟ้าก็ยังไม่เกิดขึ้นที่เชียงใหม่ ยังไม่เกิดขึ้นที่ขอนแก่น วันนี้ขอนแก่นรู้สึกทำเองใช่ไหมฮะ แล้วก็โคราชก็ยังไม่มี ภูเก็ตก็ไม่มี ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วภูเก็ตเป็นพื้นที่ที่จำเป็นมาก ๆ ก็ยังไม่มี ผมเข้าใจได้นะว่าในยุคหนึ่งวันหนึ่ง ความสำคัญเรื่องความมั่นคงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ เพราะวันนั้นเรามีภัยเรื่องสงคราม ตั้งแต่สงครามเวียดนามใช่ไหมฮะ แล้วก็ไล่มาถึงลาว แล้วมันก็หายไป เลิกกันไป
วันนี้ทุกประเทศเราแข่งเรื่องการพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเขมร เวียดนาม พม่าเองซึ่งเพิ่งพ้นจากรัฐบาลทหารมาก็เร่งพัฒนา ลาวเองก็พยายามพัฒนานะ แต่เนื่องจากทรัพยากรจำกัด ประชากรก็จำกัด ก็ใช้ทางลัดคือคุยกับจีนและให้จีนพัฒนา ซึ่งจะเป็นความสูญเสียอะไรเดี๋ยวก็ต้องคอยดูกันต่อไป แต่ตรงนั้น ณ วันหนึ่งตอนที่สงครามเวียดนามเริ่มใหม่ ๆ ผมจำได้เลยว่าทั้งสภาพัฒน์ฯ ก็ดี ทั้งราชการก็ดี พูดเหมือนตอนสมัยที่นั่นเป๊ะเลย ตอนที่สิงคโปร์กับมาเลเซียได้รับเอกราชใหม่ ๆ เมื่อปี 1964 เขาบอก เฮ้ย ประเทศพวกนี้ยังไงก็ตามประเทศไทยไม่ทันหรอก 50-60 ปีนู่นกว่าจะทัน แล้ววันนี้ผ่านมากี่ปีครับ เวียดนามเนี่ยจวนจะแซงเราอยู่แล้วนะฮะ เขมรเนี่ยเผลอ ๆ แผลบเดียว เขามีจีนเข้าไปพัฒนาเลยนะครับ มันก็จะทำให้ประเทศไทยอยู่ตรงไหนก็ไม่ทราบ ส่วนมาเลเซีย สิงคโปร์ซึ่งในปี 1964 ไปอ่านหนังสือได้ ไปดูหนังสือพิมพ์เล่มเก่า ๆ ก็ได้ สภาพัฒน์ฯ ยืนยันเลยว่าไม่มีทางทันประเทศไทย วันนี้ประเทศไทยเราเป็นศูนย์กลางของทุกอย่างจริงๆ ในที่เขาบอกตะวันออกเฉียงใต้เนี่ยประเทศไทยคือศูนย์กลางจริงๆ เรามีสนามบินดอนเมืองที่เชิดหน้าชูตา เรามีทุกอย่าง
แต่หลังจากวันนั้นมาจนถึงวันนี้ ผมถามว่าวันนี้มีใครที่กล้าพูดว่าประเทศไทยจะไปแข่งกับสิงคโปร์หรือไปแข่งกับมาเลเซียบ้าง ไม่มีนี่ครับ แล้วผมก็ไม่อยากเห็นว่าวันหนึ่งเราก็จะไม่กล้าไปบอกว่าเราจะแข่งกับเวียดนาม แข่งกับเขมร หรือแม้กระทั่งพม่า คือในฐานะคนไทยที่อยู่วันนี้นะครับ ผมเศร้าใจนะ ผมเศร้าใจจริง ๆ ที่นักวิชาการของเรา ข้าราชการของเรา ไม่มีวิสัยทัศน์เลย เราทำให้ประเทศไทยไม่ไปข้างหน้า แล้วเราเป็นประเทศที่คนพูดเยอะที่สุดว่ารักประเทศไทย แต่ผมอยากจะให้หันกลับมาดูจริง ๆ ว่าการกระทำแต่ละอย่างที่ผ่าน ๆ มา พวกท่านรักประเทศไทยจริงหรือเปล่า หรือท่านเพียงแต่ว่าอยู่ไปเพื่อหาผลประโยชน์ แล้วไม่ต้องสนใจว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยบ้าง
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3512
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6952
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
828
แท็กที่เกี่ยวข้อง
ThePeople
Politics
พรรคไทยรักษาชาติ