สัมภาษณ์ 'รังสิมันต์ โรม' : ชีวิต คนหนุ่มสาว หัวใจ และความฝันใฝ่ในสังคมเท่าเทียม

สัมภาษณ์ 'รังสิมันต์ โรม' : ชีวิต คนหนุ่มสาว หัวใจ และความฝันใฝ่ในสังคมเท่าเทียม

ชีวิต คนหนุ่มสาว หัวใจ และความฝันใฝ่ในสังคมเท่าเทียม

"ทำไมประเทศไทยถึงไม่สามารถเป็นประเทศที่ศิวิไลซ์ที่มีรากฐานเป็นระบอบประชาธิปไตยที่แข็งแรง ที่ประชาชนเชื่อในเรื่องของความเท่าเทียม ที่ผม ผู้พิพากษา ประชาชนคนทั่ว ๆ ไป นักการเมือง นายกรัฐมนตรี เราเท่ากันจริง ๆ ไม่ต้องมานั่งกังวลว่าคนนี้ตั๋วใคร คนนี้เส้นใคร คุณไม่ว่าจะเป็นคนยากดีมีจนขนาดไหน คุณอยู่ในสังคมนี้อย่างเท่าเทียมได้" รังสิมันต์ โรม คือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคก้าวไกล ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการพรรค เขาเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่สมัยเรียนระดับชั้นปริญญาตรีที่คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ จนในปัจจุบันกลายเป็น ส.ส. คนหนึ่งที่น่าจับตาในสภาที่หยิบประเด็นที่น่าสนใจอย่าง‘ป่ารอยต่อ’ ‘ตั๋วช้าง’ และ ‘ค้ามนุษย์โรฮิงญา’ มานำเสนอจนกลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงในวงกว้าง ในมุมนี้ สิ่งที่เขาทำ คือสิ่งที่ทำให้สังคมได้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าในการตั้งคำถามกับสิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ในสังคมไทย แต่ในมุมหนึ่ง นี่คือ 'ต้นทุน' ที่เขาต้องแบกรับ ในวันที่หลายอย่างยังคงอึมครึมในสังคม นี่คือ บทสัมภาษณ์รังสิมันต์ โรม ส.ส. พรรคก้าวไกล ว่าด้วยเรื่องราวของชีวิต หัวใจ การเมืองคนหนุ่มสาว เบื้องหลังการอภิปรายในสภา กับความฝันใฝ่ในสังคมที่เท่าเทียม   The People : ความเปลี่ยนแปลงหลังกลายเป็น “นักต่อสู้ในสภา” รังสิมันต์ : ผมคิดว่าข้างในมันก็คงเหมือนเดิมนะ เพราะว่าผมรู้สึกว่าการต่อสู้ของเราในรอบนี้มันเหมือนหนังภาคต่อ มันเหมือนซีรีส์ภาคต่อ เป็นซีซั่นสองของการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ผมนิยามว่าตอนที่เราเป็นแอคทิวิสต์เราเองก็ขับเคลื่อนเพื่อต้านรัฐประหาร เพื่อที่อยากจะเห็นประเทศของเราเป็นประชาธิปไตย แต่ว่ารูปแบบที่เราใช้ในการเคลื่อนไหวมันก็อาจจะเป็นรูปแบบในลักษณะ ตั้งแต่การจัดเสวนาการ จัดเวทีปราศรัย จัดม็อบเพื่อต่อต้านรัฐบาล อันนั้นมันก็เป็นรูปแบบหนึ่ง แต่พอเรามาอยู่ในสภามันก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง แต่ถามว่ามันเหมือนเดิมไหม สำหรับผมข้างในเราเหมือนเดิม เราอยากจะเห็นแบบไหน เราก็ทำแบบนั้น ในวันที่เรายังอายุประมาณสัก 20 ต้น ๆ เราเคลื่อนไหวปราศรัย มันก็เป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้เราสามารถส่งสิ่งที่เราต้องการสื่อสารไปทั่วทางสังคม แต่พอเรามาอยู่ในสภา เราก็ใช้อีกวิธีการหนึ่ง แล้วด้วยการที่เราอยู่ในสภามันทำให้เรามีโอกาสเข้าถึงข้อมูลหลาย ๆ อย่างมากขึ้น การเคลื่อนไหวการพูดในสภามันก็มีข้อมูลมากกว่าเดิม มันทำให้เราสามารถพูดได้ลึกขึ้น แล้วก็พูดในสิ่งที่อาจจะเรียกว่ามันเป็นสิ่งที่แอคทิวิสต์อย่างตอนที่ผมเป็นมันทำไม่ได้  เพราะเราไม่เคยได้ข้อมูลแบบนี้มาก่อน แล้วก็อันที่สอง การที่เราพูดในสภาในแบบที่เราไม่ต้องกังวลว่าเราจะถูกดำเนินคดี การพูดในสภาที่มันปลอดภัยกว่าประชาชนพูดข้างนอก มันทำให้ผมสามารถทำในสิ่งที่ผมอยากจะทำมานานแล้ว ในการพูดในสิ่งที่ตัวเองคิดตอนที่ยังเป็นแอคทิวิสต์แต่ทำไม่ได้ แล้วมาพูดในสภาได้ ผมก็เลยคิดว่าจุดนี้มันคงเป็นจุดที่มันไม่เหมือนกับตอนที่เราเป็นแอคทิวิสต์แต่มันคือหนังภาคต่อ มันคือซีรีส์ภาคต่อที่เกิดขึ้น หลังจากที่เราผ่านช่วงเวลาของการเป็นแอคทิวิสต์มาก่อน สัมภาษณ์ 'รังสิมันต์ โรม' : ชีวิต คนหนุ่มสาว หัวใจ และความฝันใฝ่ในสังคมเท่าเทียม The People : Are you still an angry young man? รังสิมันต์ : (หัวเราะ) ผมก็ยังขับเคลื่อนด้วยความโกรธนะ ผมคิดว่าผมยังขับเคลื่อนด้วยความโกรธ แต่ว่าเราก็มีความหวังมากขึ้น ตอนที่เป็นแอคทิวิสต์เราอาจจะคิดว่าเราไม่อยากเห็นการรัฐประหารแล้ว แต่พอเรามาเป็นนักการเมืองมันไม่ใช่แค่เราไม่อยากเห็นรัฐประหาร แต่เราอยากจะเห็นประเทศเป็นแบบไหนด้วย มันมากกว่าแค่ขอแค่ไม่มีรัฐประหารอีกต่อไป แต่มันเป็นเรื่องของการที่เราต้องมานั่งคิดว่า เราจะทำยังไงให้ประเทศนี้มันเท่ากันจริง ๆ เราจะทำยังไงให้การศึกษาของประชาชนมันแข็งแรงกว่าเดิม เราจะทำยังไงให้ในเรื่องของเศรษฐกิจการเงินต่าง ๆ ของประชาชนมันดีขึ้น มันมีมิติที่มากกว่าตอนที่ผมเคยเป็นแอคทิวิสต์ แต่แน่นอนมันขับเคลื่อนด้วยความโกรธ มันยังขับเคลื่อนด้วยความรู้สึกที่เราถูกกระทำ แล้วก็เราพยายามใช้กลไกสภาในการที่จะถ่ายทอดความรู้สึกนั้น แต่ว่าในเมื่อประเทศมันก็ต้องเดินไปข้างหน้า เราก็ต้องคิดว่าเราจะทำยังไง ในฐานะที่เราเป็นนักการเมืองเราจะทำยังไงให้ประเทศนี้มันเป็นประเทศที่แข็งแรงจริง ๆ แน่นอนมันมีมากกว่าแค่ความโกรธ แต่มันต้องคิดถึงความสร้างสรรค์ มันต้องคิดถึงการจะร่วมมือ จะทำยังไงที่จะทำให้ประเทศของเรามันสามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ ดังนั้น ผมคิดว่ามันมีความสลับซับซ้อนตรงนี้ที่เพิ่มขึ้นเข้ามา   The People : อะไรที่ทำให้กลายเป็น “รังสิมันต์ โรม” ในทุกวันนี้ รังสิมันต์ : ผมคิดว่าเยอะแยะเลย ผมคิดว่าผมเกิดมาในสังคมที่อยู่ในภาคใต้เนอะ ผมเกิดมาในครอบครัวที่ไม่ได้รวย เป็นครอบครัวที่เป็นชนชั้นกลาง อาจจะเรียกว่าล่าง ๆ หน่อย หาเช้ากินค่ำ แม่ผมสมัยก่อนก็เป็นครูสอนอยู่ที่จังหวัดภูเก็ต แล้วก็กลางคืนก็จะไปรำ ทำเป็นรำตามโรงแรมต่าง ๆ เวลาบอกว่าทำเป็นรำ ไม่ได้บอกว่าเป็นเจ้าของธุรกิจอะไร ก็คือไปรำเป็นลูกจ้างเขาอีกทีหนึ่ง ผมจะได้เจอแม่ผมตอนเช้า 7 โมง แล้วมาเจออีกทีหนึ่งประมาณสักหลัง 4 ทุ่ม เป็นแบบนี้ทุกวัน ผมเติบโตมาแบบนั้น ความโชคดีก็คือผมอาจจะมีโอกาสในแต่ละวันได้มีเวลาเป็นของตัวเองมากกว่า มันทำให้ผมอาจจะเรียกว่าบ่มเพาะความเป็นตัวเอง ความมั่นใจจากเวลาที่ไม่มีใครมายุ่งกับเรา มันทำให้ผมสามารถที่จะเรียนรู้หลาย ๆ อย่างด้วยตัวเอง  หลังจากที่ผมอยู่ที่ภูเก็ต ก็ได้มีโอกาสไปใช้ชีวิตอยู่ที่นครศรีธรรมราชเหมือนกัน เป็นช่วงเวลาที่ครอบครัวผมกำลังตัดสินใจที่จะย้ายไปอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ผมเองก็ไปอยู่ที่นครศรีธรรมราช เพราะต้องรอกระบวนการหลายอย่างที่ครอบครัวต้องทำเพื่อจะทำเรื่องไปอยู่อังกฤษ ก็อยู่ที่นั่นก็ได้เรียนรู้สังคมอีกแบบหนึ่ง แต่ผมพบอย่างหนึ่งว่าไอ้ความเป็นสังคมคนใต้มันบ่มเพาะให้คนมันบ้าการเมือง เพราะว่ารอบ ๆ ตัวเราเขาคุยเรื่องการเมืองอยู่ตลอด ผมจำได้ว่าในวันที่ผมป่วย ผมต้องนั่งรถไปที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในนครศรีธรรมราช มันมีวิทยุที่เกี่ยวกับตอนนั้นเป็นคุณทักษิณ (ชินวัตร) ครอบครัวก็มีการพูดถึง จำได้ว่ามีการพูดถึงในเรื่องของนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค หรือในวันที่คุณทักษิณได้ประกาศนโยบายในสภา ผมก็ยังจำภาพที่ครอบครัวมานั่งวงล้อมกันแล้วก็นั่งคุยกันเรื่องการเมือง ดังนั้น การเมืองกับสังคมในนครศรีธรรมราช หรือในภาคใต้เอง มันอยู่รอบตัวเราจริง ๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งเราไปงานมหรสพ เรารู้สึกว่าการเมือง ศาสนา อะไรพวกนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ควรพูดใช่ไหม แต่ในสังคมภาคใต้มันไม่เป็นแบบนั้น ถ้าเราไปงานมหรสพ เราไปดูหนังตะลุง เราจะพบว่าในหนังตะลุงมีการแซวนักการเมือง มีการแซวนายกรัฐมนตรี สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่มันบ่มเพาะทำให้ผมรู้สึกว่าผมบ้าการเมือง  หลังจากที่ผมอยู่ที่ภาคใต้ ผมก็เดินทางมาเรียนต่อที่กรุงเทพมหานคร ผมมาเรียนที่โรงเรียนทวีธาภิเศก การเดินทางครั้งนั้นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้ผมตัดสินใจเดินทางมาเรียน เพราะผมรู้สึกว่าการที่ผมอยู่ที่ไม่ว่าจะเป็นภูเก็ตหรือนครศรีธรรมราช มันมอบโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมกันกับผมเมื่อเทียบกับคนกรุงเทพฯไม่ได้ ผมมีความกังวลในตอนนั้นเลยว่าผมอยากจะเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมอยากจะเรียนต่อที่คณะนิติศาสตร์ แต่ผมไม่รู้ว่าการที่ผมอยู่ภูเก็ตผมจะสอบเข้าได้ยังไง ผมไม่รู้ว่าผมจะสามารถแข่งขันกับนักเรียนโรงเรียนอื่น ๆ ที่อยู่ในกรุงเทพมหานครได้ยังไง  มันจึงทำให้ผมตัดสินใจ น่าจะเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิต คือเป็นการตัดสินใจด้วยตัวเอง ครอบครัวไม่เห็นด้วย ไม่มีใครที่บ้านเห็นด้วยสักคนกับการที่ผมตัดสินใจมาเรียนต่อที่กรุงเทพฯ เพราะเขารู้สึกว่าถ้าเกิดผมเดินทางมาเรียน ม.ปลาย ที่กรุงเทพฯ แบบนี้ผมจะอยู่ยังไง ใครจะดูแลผม แล้วถ้าเกิดมีอะไรเกิดขึ้นจะทำยังไง แต่ตัวเองต้องทำแบบนั้น เพราะถ้าไม่ทำแบบนั้นก็คงไม่รู้จะแข่งสู้กับคนอื่นได้ยังไง เพราะตั้งใจมาเรียนกรุงเทพฯก็คงต้องมาเรียนพิเศษ มาเรียน take course อะไรต่าง ๆ ซึ่งสุดท้ายมันก็เป็นอย่างที่เราคิดจริง ๆ พอเรามา take course เรามาเรียนในสิ่งที่มันอาจจะเรียกว่าเป็นวิชาเฉพาะ ที่คนที่จะสอบเข้านิติศาสตร์สามารถเรียนได้แล้วก็ต้องใช้ สุดท้ายมันก็ทำให้ผมประสบความสำเร็จในการเข้ามหาวิทยาลัย แล้วพอเราเข้ามหาวิทยาลัย อันนี้คือจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตอีกครั้ง คือการที่ผมได้มาเจอคนที่บ้าการเมืองเหมือนกัน ตอนแรก ๆ ผมจำได้เลยว่าพอผมเข้ามาปีแรก ในธรรมศาสตร์เวลานั้นผมไม่เจอใครบ้าการเมืองเลย (หัวเราะ) ผมเข้ามาเราเห็น อ.ปริญญา (เทวานฤมิตรกุล) เปิดวิดีโอเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของธรรมศาสตร์ แต่ผมพบว่าพอเราคุยกับเพื่อนคนอื่น ๆ เขาไม่ได้สนใจ แต่พอเราทำไปเรื่อย ๆ เราออกจากความเป็นคณะ แล้วไปคุยกับเพื่อน ๆ ที่มันอยู่คณะอื่น ๆ เราก็เริ่มพบว่าจริง ๆ มันมีคนที่มันอยู่ตามตึกต่าง ๆ เขาอาจจะเป็นหนึ่งในร้อย เขาอาจจะเป็นหนึ่งในพันของแต่ละคณะที่เขาอยู่ แต่พอมันมารวมกัน เราก็พบเออ มันมี society มันมีสังคมที่มันบ้าการเมือง  แล้วผมคิดว่าจุดนี้มันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมกลายเป็นแอคทิวิสต์กลายเป็นคนที่เริ่มคิดว่าเราสนทนาการเมืองอย่างเดียวไม่พอ  สิ่งที่ทำให้ผมแตกต่างจากการเป็นสังคมภาคใต้ที่ผมเคยอยู่ ตอนภาคใต้เรามักจะนินทา เน้นพูดคุย ดื่มน้ำชาแลกเปลี่ยนความเห็น แต่พอเรามาอยู่ในมหาวิทยาลัย เราบอกว่าเราไม่ทำแบบนั้นแล้ว คือโอเค ยังมีอยู่นะ แต่เราจะไม่ทำแค่นั้น เราบอกว่าเอางี้เรามาลองเริ่มทำอะไรบางอย่างที่มันเป็นการเมืองใกล้ตัวของนักศึกษาก่อน การเมืองแรก ๆ ที่ผมพยายามทำ ก็คือในเรื่องของการแต่งกายของนักศึกษา ทำไมนักศึกษาถึงต้องถูกบังคับให้แต่งชุดนักศึกษา ทำไมอาจารย์มหาวิทยาลัยถึงไม่ถูกบังคับแบบเดียวกัน ความเป็นธรรมระหว่างนักศึกษากับอาจารย์อยู่ตรงไหน หรือการรับน้อง ทำไมรุ่นพี่คุณแก่กว่าเรา บางคนไม่กี่เดือนด้วยซ้ำ ทำไมคุณถึงสามารถสั่งเราได้ยิ่งกว่าพ่อยิ่งกว่าแม่เราด้วยซ้ำ เราเริ่มมาพูดในมิตินั้น หรือพูดในเรื่องของบางวิชาที่มันไม่ควรจะมี ทำไมวิชาแบบนี้มันจะทำให้เรากลายเป็นคนที่พร้อมสำหรับศตวรรษที่ 21 ได้ยังไง มันจะทำให้เราสามารถแข่งขันกับนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอื่นได้ยังไง ผมคิดว่ามันเริ่มมีมุมแบบนี้ แล้วการที่เราพยายามรณรงค์ มันก็ทำให้เราเจอผู้คนเข้ามา คนจำนวนมากที่เห็นด้วยเขาก็เข้ามา แล้วมันทำให้จากเรื่องที่มันอาจจะเป็นเรื่องใกล้ตัวของนักศึกษา มันก็เริ่มเป็นเรื่องที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ มันกลายเป็นเรื่องของการเราจะทำยังไงที่จะช่วยเหลือนักโทษทางการเมือง วันนั้นผมจำได้ว่ามันมีเคสที่คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข ต้องขึ้นศาลแล้วก็อยู่ในเรือนจำแล้ว เราเองก็พยายามรณรงค์เพื่อที่จะให้มีการปล่อยนักโทษทางการเมือง จำได้ว่าแคมเปญที่เราใช้ในเวลานั้น เราเรียกมันว่าแคมเปญ ‘Free Somyot’ ถ้าไปดูภาพเก่า ๆ จะเห็นป้าย Free Somyot ขนาดใหญ่ในงานฟุตบอลจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ อันนั้นเป็นพวกผมทำ เราเองก็ยังจำได้ว่าเราก็เตรียมป้ายขนาดใหญ่เอาไว้เลย แล้วเราก็จะส่งคนไปยืนอยู่สแตนด์ฝั่งหนึ่ง แล้วก็เตรียมช่างภาพอีกฝั่งหนึ่ง เรารู้ว่าการพูดว่า Free Somyot ในช่วงเวลานั้นมันละเอียดอ่อน แล้วคงไม่ได้รับความร่วมมือ วิธีการของเราก็คือก็อยากให้คนรู้ว่าป้ายนั้นคือป้ายอะไร แล้วก็ทำทีเป็นเหมือนกับเราเป็นส่วนหนึ่งของคนจัดงาน แล้วก็ส่งป้ายไป ปรากฏว่าคนก็ช่วยกันชู พอมารู้อีกทีหนึ่ง อ้าวมันคือป้าย Free Somyot (หัวเราะ) ถึงได้รีบเอาออก  ดังนั้น อันนี้มันก็คือสิ่งที่ผมคิดว่าการเรียนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มันเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของผมเลย เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของผมเลยในการที่จะทำให้ตัวผมเอง จากเดิมที่ก็เป็นคนคนหนึ่งที่สนใจการเมือง กลายเป็นคนที่รู้สึกว่าการเมืองมันต้องการการลงมือทำนะ เราไม่สามารถที่จะเปลี่ยนการเมืองได้ด้วยการแค่บ่น เราไม่สามารถเปลี่ยนการเมืองด้วยการแค่รู้สึกว่า เราเห็นฟุตบาทมันพังแล้วเราก็ไม่คิดจะทำอะไรกับมัน มันไม่มีทางเปลี่ยน คุณต้องลงมือทำอะไรบางอย่าง บางครั้งการลงมือทำมันอาจจะเริ่มตั้งแต่การโพสต์ Facebook การชวนคนอื่นมาพูดคุยกัน จนไปถึงการจัดม็อบ จัดประท้วง เพื่อบอกว่าคนที่มีอำนาจจะต้องแก้ไขสิ่งนี้ ผมก็เลยคิดว่าการเรียนในธรรมศาสตร์เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของผมในเส้นทางทางการเมือง สัมภาษณ์ 'รังสิมันต์ โรม' : ชีวิต คนหนุ่มสาว หัวใจ และความฝันใฝ่ในสังคมเท่าเทียม The People : ทำอะไรอยู่ตอนปี 2553 รังสิมันต์ : ผมบอกอย่างหนึ่งว่าผมไม่เคยเป็นคนที่อยู่ในสภาวะเจอปรากฏการณ์ตาสว่าง เพราะผมไม่เคยตาบอด ผมโชคดีตรงที่พอผมอยู่ในสังคมภาคใต้ มันมีความรู้สึกว่าเราไม่ต่อต้านการเมืองแล้ว แล้วมันประกอบกับการมีอยู่ของผมมันเป็นช่วงที่เราเริ่มเข้าถึงอินเทอร์เน็ต แล้วก็ครอบครัวโดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ก็เป็นคนที่บ้าการเมือง แล้วก็ชวนในเรื่องของการพูดคุยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อะไรต่าง ๆ มาโดยตลอด มันทำให้ผมเห็นว่าจริง ๆ แล้วสังคมไทยมันมีความผิดปกติอะไรบ้าง มันเกิดอะไรขึ้นบ้าง ดังนั้น เรื่องราวหลาย ๆ อย่างที่ผม หรือสังคมปกติแอบกระซิบพูดคุยกัน คงไม่ต้อง mention ว่าเรื่องไหนนะ แต่หลายเรื่องที่สังคมจะแอบกระซิบกัน ผมก็รับรู้มาโดยตลอด มันเลยทำให้เวลาผมเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯหรือมาเรียนในธรรมศาสตร์ ผมเลยไม่รู้สึกว่าผมมีภาวะตาสว่าง มันมีแต่ทำให้เรารู้มากขึ้น แต่เรารู้แล้วว่าประเทศนี้มันไม่ได้เป็นไปอย่างที่เราคิด ทีนี้พอมาเจอช่วงปี 2553 ต้องยอมรับว่าตอนปี 2553 ผมเองเรียนอยู่ ม.ปลาย เป็นการเรียนน่าจะชั้นมัธยมปีที่ 6 เป็นช่วงเวลาที่จำได้ว่าเราต้องเตรียมตัวหลายอย่าง ตั้งแต่การเตรียมตัวเพื่อเรียนต่อมหาวิทยาลัย แล้วก็เจอบรรยากาศทางการเมืองที่ต้องยอมรับว่ามัน… สุด ๆ ไปเลย คือคนกลุ่มหนึ่งก็เรียกว่าพยายามใส่ร้ายคนอีกกลุ่มว่าคุณเป็นเหมือนสัตว์ คุณเป็นควาย คนอีกกลุ่มหนึ่งก็พยายามต่อสู้เรียกร้องเพื่อประชาธิปไตยแต่ก็โดนกระทำ นี่คือสิ่งที่ผมอยู่ในช่วงของ ม.ปลาย และผมก็จำได้ว่าการอยู่ในสังคมช่วงเวลานั้นสังคมมันแตกขนาดไหน  อย่างแม่ผม ครอบครัวผม พูดกันตรง ๆ ก็คือเขาเองมีความคิดไปในทางเฉดทางเหลือง แล้วก็น่าจะเคยอาจจะไปมีบทบาทในการชุมนุมเป็นมวลชนใน กปปส. ช่วงเวลานั้นเหมือนกัน ในขณะที่ตัวผมเองก็จะทะเลาะกับที่บ้าน เพราะว่าเรารู้สึกว่าเราต้องเห็นใจคนเสื้อแดง เราต้องสนับสนุนคนเสื้อแดง เพราะคนเสื้อแดงกำลังเรียกร้องในเรื่องของประชาธิปไตย สิ่งที่เขาเรียกร้องมันไม่ใช่สิ่งที่ผิด เช่น เขาเรียกร้องให้มีการยุบสภา มันก็เป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนสามารถทำได้อยู่แล้ว เราก็มีจุดยืนแบบนั้น ทุกครั้งเวลากลับบ้านก็จะทะเลาะกัน แล้วก็จำได้ว่าตัวผมเองกลับบ้านถึงที่บ้าน ถึงขนาดต้องคุยกันว่าเอางี้เราจะไม่คุยเรื่องการเมือง ลองนึกสภาพว่าสมัยก่อนเราอยู่ที่ภาคใต้ใช่ไหมครับ การเมืองมันคุยได้ทุกเรื่องนะ ไม่ว่าคุณจะเห็นไปในทางแบบไหน แต่พอมาเป็นช่วงตั้งแต่ปี 2551 ถึงปี 2553 การเมืองมันกลายเป็นเรื่องที่เหมือนจะกลายเป็นคำต้องห้ามของครอบครัว แล้วทำให้คุยกันไม่ได้ ก็ยอมรับว่าคุยกันไม่ได้  แต่ตัวผมเองก็ไม่เคยไปชุมนุมในเวทีเสื้อแดง ตอนนั้นยังจำได้ว่าเคยคิดจะไปชุมนุม แต่ก็เป็นห่วงว่าที่บ้านจะรู้สึกยังไง แต่ว่าโดยความรู้สึกโดยจุดยืนต่าง ๆ ก็คิดว่าผมเห็นด้วยกับคนเสื้อแดงในการที่ออกมาชุมนุม แล้วยิ่งพอมันเกิดเหตุการณ์ล้อมปราบ แล้วผมคิดว่ามัน… ตอนนั้นผมกับเพื่อน ๆ บางส่วนที่เรียนอยู่ที่โรงเรียนทวีธาภิเศก ด้วยกัน เราก็รู้สึกเสียใจมาก ๆ กับเหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้น แล้วจริง ๆ มันอยู่ไม่ไกล ทวีธาภิเศกอยู่ฝั่งธนฯ ถ้าจะเดินทางไปที่เวทีชุมนุมของคนเสื้อแดงมันก็ไม่ได้ไปยากอะไรเลย แต่ว่าผมจะเริ่มเข้ามามีบทบาทในเรื่องของการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนเสื้อแดง น่าจะหลังจากที่เข้ามหาวิทยาลัยแล้ว ซึ่งก็นอกจากเรียกร้องในเรื่องของการปล่อยตัวคนที่เป็นถูกคุมขัง ที่เราพยายามเรียกร้องในเรื่องของการปลดปล่อยนักโทษทางการเมือง กับอีกอันหนึ่งคือช่วงที่มีการนิรโทษกรรม ถ้าเกิดไปดูข่าวเก่า ๆ ผมเคยไปชุมนุมที่หน้าพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง เราเอาสีไปราดอะไรต่าง ๆ เพราะเรารู้สึกว่าการนิรโทษกรรมเหมาเข่งตอนนั้น มันรวมถึงการนิรโทษกรรมให้กับคนที่ฆ่าประชาชน ซึ่งเป็นจุดที่ผมรู้สึกว่าเรารับไม่ได้กับสิ่งที่เป็นแบบนั้น   The People : ทำไมถึงเลือกเรียนนิติศาสตร์ รังสิมันต์ : จริง ๆ ผมบ้าการเมือง ผมรู้ตัวเองผมชอบการเมือง แล้วความคิดแรกเลยนะผมอยากจะเข้ารัฐศาสตร์ แต่ว่าผมไปเจอครูคนหนึ่งตอนเรียนมัธยมปีที่ 2 ที่จังหวัดภูเก็ต แล้วครูเขาบอกว่าทำไมผมอยากจะเรียนรัฐศาสตร์ ครูเขาบอกเขาเนี่ยจบรัฐศาสตร์ แต่คุณเรียนรัฐศาสตร์ไป อย่างเช่นคุณเรียนปกครองอย่างนี้ คุณเรียนแล้วคุณจะไปปกครองใคร คุณเรียนรัฐศาสตร์ไปมันไม่มีอะไรการันตี คุณต้องไปสอบอะไรต่าง ๆ มากมาย เรียนนิติศาสตร์อย่างน้อยที่สุดรู้กฎหมายปกป้องตัวเองได้ แล้วก็สามารถที่จะไปสอบเป็นผู้พิพากษา สอบเป็นทนาย สอบอะไร มันเหมือนเป็นวิชาชีพ พอผมได้รับคำแนะนำแบบนั้น ผมก็เออโอเค งั้นผมเปลี่ยนมาเรียนนิติศาสตร์แล้วกัน แล้วเดี๋ยวหนังสือการเมืองต่าง ๆ ผมค่อยไปหาอ่านเอาเอง ก็เลยทำให้ตัวเองตัดสินใจมาตั้งแต่ตอนอายุ 14 ปีว่างั้นผมมาเรียนนิติศาสตร์ อย่างน้อยที่สุดผมปกป้องตัวเองได้ แล้วมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ผมคิดว่าการตัดสินใจมาเรียนนิติศาสตร์ก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิด ถึงแม้แม่ผม ครอบครัวผม ไม่ค่อยจะมายุ่งอะไรกับผมมากเท่าไหร่ เพราะว่าเขาต้องทำมาหากิน เขาต้องทำงานหนัก แต่หลายครั้งผมก็รู้สึกว่าเราก็จะมี conflict มีปัญหาที่มันทะเลาะกันอยู่บ้าง  บางครั้งมันก็เป็นมันก็เกิดจากผมเองก็อาจจะซนนะ เช่น ซนแบบบางทีเราไปเล่นอินเทอร์เน็ต แล้วโทรศัพท์มันใช้ไม่ได้จนเขาโกรธแล้วเขาก็จะมาตี พอผมถูกตี ผมก็รู้สึกว่าทำไมเราตัวเล็กจังเลย ผมก็เลยไปเปิดรัฐธรรมนูญ ผมจำไม่ได้แล้วนะมันมาตราไหน ไปเปิดรัฐธรรมนูญ แล้วบางมาตรามันบอกว่าเรามีสิทธิ์ในเนื้อตัวร่างกาย ผมก็ปริ้นท์อันนั้นแล้วผมก็ติดไว้ที่ประตูห้องนอน แล้วบอกว่าผมมีสิทธิ์ในเนื้อตัวร่างกายตามรัฐธรรมนูญรับรองเอาไว้ กฎหมายสูงสุด แม่ตีผมไม่ได้ (หัวเราะ) ก็เลยรู้สึกว่าเออ แม่ก็ดูแบบก็ต้องกลับไปคิด เขาก็ดูแบบเขาก็หยุดว่าเออ ไอ้นี่มันหัวหมอเว้ย แต่มันทำให้ผมมีความรู้สึกว่าการรู้กฎหมายมันปกป้องตัวเองได้ เราช่วยคนอื่นได้หรือเปล่าไม่รู้ แต่อย่างน้อยที่สุดเราทำให้ตัวเองไม่ถูกรังแก ผมคิดว่าให้ผมคิดเร็ว ๆ นะ ความรู้สึกผมตอนที่ผมเป็นเด็ก มันเหมือนเราพยายามถูกทำให้ตัวเราเล็กตลอดเวลา แล้วเรารู้สึกว่าเราไม่รู้จะปกป้องตัวเองยังไง แล้วไอ้การรู้นิติศาสตร์อย่างน้อยที่สุด คุณขับรถถ้าคุณไม่ผิดจริง ๆ คุณขับรถไป คุณไม่โดนไถเงิน คุณสู้กับตำรวจได้ อย่างน้อยที่สุดเวลาคุณคุยกับพ่อแม่คุณ พ่อแม่คุณบางทีถ้าเขาจะเอาเปรียบคุณ มันก็ต้องมียั้ง ๆ บ้าง เขาจะมาตีคุณ คุณสวนไปด้วยข้อกฎหมาย พ่อแม่ก็แบบมึงอะไรของมึง ผมคิดว่าไอ้จุดแบบนี้มันเป็นความรู้สึกที่ทำให้ผมตัดสินใจ ประกอบกับการได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ที่ปรึกษา จากอาจารย์แนะแนว ว่าโอเคงั้นเราไปเรียนกฎหมายดีกว่า อย่างน้อยที่สุดเราปกป้องตัวเอง เราจะไม่กลับไปเป็นคนตัวเล็กแบบเดิม เราสามารถที่จะใช้กฎหมายในการที่จะทำให้สิทธิ์ของเราที่เราควรจะมี มันก็จะมีอยู่ แล้วถ้าดีกว่านั้นเราอาจจะสามารถช่วยครอบครัวเราได้ ครอบครัวของเราซึ่งก็คือคนกลุ่มหนึ่งที่ก็อาจจะถูกทำให้ตัวเล็กอยู่ในสังคม ถูกเอาเปรียบจากตำรวจ จากเจ้าหน้าที่ของรัฐมาก่อน เขาก็จะไม่เป็นแบบเดิม แล้วถ้าใหญ่ไปกว่านั้น เราอาจจะช่วยประชาชน ช่วยประเทศก็ได้ มันก็เลยทำให้เป็นที่มาที่สุดท้ายผม โอเคงั้นไปเรียนกฎหมาย ก็เลยน่าจะเป็นสิ่งที่ตัดสินใจถูก สัมภาษณ์ 'รังสิมันต์ โรม' : ชีวิต คนหนุ่มสาว หัวใจ และความฝันใฝ่ในสังคมเท่าเทียม The People : ทำไมเราไม่เลือกทำงานเป็นอาจารย์ รังสิมันต์ : คือตอนแรกก็คิดว่าอยากจะเป็นอาจารย์ จริง ๆ วันนี้ก็ยังรู้สึกว่ายังอยากกลับไปเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยอยู่ แล้วถ้าต่อไปก็คือก็อยากจะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่ ผมรู้สึกว่าธรรมศาสตร์คือบ้านที่ผมรักมาก แล้วก็อาจจะคุ้นเคยกับมันด้วย แต่ทำไมถึงตัดสินใจแบบนั้น มันก็คงจากที่เราทำงานเคลื่อนไหว ตั้งแต่เป็นนักศึกษา พอเราทำไปเรื่อย ๆ แล้วมันเจอการรัฐประหารเข้าไป ผมก็รู้สึกว่าเฮ้ย เรายอมแบบนี้ไม่ได้ เรายอมให้การรัฐประหารมันพรากอนาคตของเราไม่ได้ คือการรัฐประหารในแต่ละครั้ง มันทำร้ายโอกาสจำนวนมากของประเทศเรา มันทำให้ประเทศเราแทนที่มันกำลังจะเดินไปข้างหน้า มันถอยหลังแทบจะทันที  พอเรารู้สึกว่าเราต้องทำอะไรสักอย่างกับการรัฐประหาร ผมกับเพื่อน ๆ เราก็คุยกันว่าเราคงต้องเคลื่อนไหว อย่างน้อยที่สุดทำให้การรัฐประหารมันไปต่อไม่ได้อีก ทีนี้มันมีความคิดอันหนึ่งตั้งแต่เราเรียนเป็นนักศึกษาแล้ว ว่าอะไรทำให้การรัฐประหารมันสำเร็จ ไอ้การรัฐประหารสำเร็จได้ มันไม่ได้แค่หมายความว่ามันมีกองทหารไปยึดแล้วมันจบนะ แต่การรัฐประหารมันสำเร็จได้ ส่วนหนึ่งเพราะคนหรือกลไกต่าง ๆ ในสังคมยอมรับให้คณะรัฐประหารมันมีอำนาจ อันหนึ่งที่ในฐานะของคนที่เรียนกฎหมายก็จะเห็นอยู่เป็นประจำ ก็คือศาลยอมรับว่าคณะรัฐประหารมีอำนาจ ดังนั้น แนวทางการตีความของบรรดารุ่นที่ผมทั้งหลายในอดีต ก็คือจะบอกว่าเมื่อเขายึดอำนาจสำเร็จ ประชาชนไม่ต่อต้าน เขาก็จะกลายเป็นรัฐบาลที่มีความชอบธรรม  ผมก็รู้สึกว่าภารกิจอันแรกเลยที่เราจะต้องทำให้ได้ คือทำให้เห็นว่ามันมีคนต่อต้าน ทำให้เห็นว่าสังคมไทยไม่เอาการรัฐประหาร เพราะถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่สังคมมันไม่เอา มันก็สร้างความเป็นไปได้ที่กลไกต่าง ๆ ในระบบกฎหมายของเราจะปฏิเสธเรื่องนี้ด้วย ทันทีที่มันมีรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 23 เราจัดชุมนุมเลย เราจัดแรลลี่เดินจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แล้วพอเราเดินไป ซึ่งสุดท้ายเดินไม่ถึงนะ ตำรวจก็มาสกัดก่อน แล้วเขาก็อ้างว่ามันมี กปปส. เดี๋ยวถ้าเกิดปล่อยให้เราไปถึง เดี๋ยวมันจะกลายเป็นม็อบชนม็อบ แต่ว่าอย่างน้อยที่สุดเราทำแบบนี้ ผมก็คิดว่ามันทำให้ศาลมันไม่กล้าพูดว่าเฮ้ย ประชาชนเขาเห็นด้วยกับการรัฐประหารนะ รัฐประหารนี้มันเป็นรัฐประหารชอบธรรมนะ ไม่เห็นมีประชาชนมาต่อต้าน มันอธิบายแบบนี้ไม่ได้อีกต่อไป แล้วผมคิดว่าตลอดตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ผมคิดว่าผมทำสำเร็จนะ ผมไม่เห็นบรรดาผู้พิพากษาออกมาพูดแบบนี้อีกแล้ว โอเค เขาอาจจะยังรับรองอำนาจของคณะรัฐประหารด้วยเหตุผลอื่น แต่เหตุผลประเภทที่ประชาชนยอมรับเนี่ยมันจะไม่มีวันมีอีกต่อไป พอเราทำแบบนี้ไป ปรากฏว่าจัดกิจกรรมอยู่ได้ประมาณแค่เดือนเดียว ผมก็พบว่าคนอื่น ๆ ที่เคยต้านรัฐประหาร ซึ่งช่วงนั้นก็จะมีหนูหริ่ง (สมบัติ บุญงามอนงค์) มีพี่อ๋อย จาตุรนต์ (ฉายแสง) ที่ออกมาเคลื่อนหลัก ๆ  เขาก็ถูกควบคุมตัวไป นักการเมืองล็อตแรก ๆ ที่อยู่ในระบบโดนไปก่อนหน้านั้นแล้ว เราเริ่มเห็นบางส่วนที่ออกไปเป็นผู้ลี้ภัยข้างนอก สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร กลายเป็นว่าคนที่มันยังเคลื่อนไหวได้แล้วต่อสู้อย่างรูปธรรม มันกลายเป็นนักศึกษาที่เป็นกลุ่มของผม วันนั้นเราจำได้ เราเริ่มรู้สึกโดดเดี่ยวแล้วว่าเอ๊ะ เมื่อไหร่กูจะโดนวะ แล้วปรากฏว่าเราโดนจริง ๆ วันที่ 22 มิถุนายน 2557 เราถูกจับ แล้วก็ถูกเอาตัวไปค่ายทหาร ไปอยู่ในค่ายที่สโมสรกองทัพบกที่วิภาวดี แต่พอเราสู้ต่อไปเรื่อย ๆ มันเกิดความรู้สึกอันหนึ่งนะ แล้วเราจะเอายังไงกับชีวิตเราต่อ อาจจะพอเรียนจบแล้วก็เลิกทำแบบเดิม เลิกเป็นแอคทิวิสต์แบบ front line แนวหน้าที่ไปพูด แล้วก็มาเป็นทนายความดีไหม ไปเป็นทนายความ อย่างน้อยก็ช่วยน้อง ๆ ได้ คนที่ขึ้นมาเป็นแอคทิวิสต์เราก็อาจจะไปว่าความให้เขาได้ หลังจากเรียนจบทีแรกผมก็เลยคิดว่าผมจะไปสมัครงาน คือศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยังจำได้ว่าคุยกับพี่เอ๋ ศูนย์ทนายฯ ถามพี่เอ๋ว่าพี่พอจะรับไหมถ้าเกิดไป เขาบอกลองยื่นมาสิน่าสนใจอยู่แล้ว  ปรากฏว่าวิชาสุดท้ายของผมที่ผมสอบในมหาวิทยาลัย มันตรงกับวันที่ 22 พฤษภาคมปี 2558 ครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร ผมยังจำได้ผมสอบวิชาสุดท้ายวิชาประวัติศาสตร์กฎหมายไทย แล้วสอบเสร็จตอนเย็นก็ไปชุมนุมทางการเมือง แล้วก็คิดแค่ว่าเป็นการชุมนุมครั้งสุดท้ายของเรา เราจะใช้เวลาประมาณ 15 นาที โทรบอกเพื่อนว่าเฮ้ย เตรียมเสื้อมาหน่อย เดี๋ยวไปกินเหล้ากันต่อตามประสาแอคทิวิสต์ผมยังไม่ได้กินเหล้า ร้านที่จะไปยังไม่ได้ไปเลยจนถึงวันนี้นะ แล้วก็วันนั้นก็อย่างที่ทุกคนอาจจะพอจำกันได้คือถูกจับ แล้วก็ถูกพาตัวไปที่ สน.ปทุมวัน แล้วเขาก็ดำเนินคดี มันทำให้เรากลับมาว่าโอเค งั้นกูไม่เป็นแล้วทนาย กูจะสู้กับมึงนี่แหละ แล้วก็ขับเคลื่อนมาโดยตลอด ยาวตั้งแต่วันที่เราตั้งใจจะเลิกจนวันนี้ยังเลิกไม่ได้สักทีหนึ่ง แล้วก็สุดท้ายเลยตัดสินใจมาเป็นนักการเมืองตอนอยู่ในห้องขังที่ สน.ชนะสงคราม ตัดสินใจวันนั้นบนพื้นฐานว่า คือตอนนี้มันครบรอบ 4 ปีรัฐประหาร เราพยายามเรียกร้องให้นักการเมืองทุกคนมาช่วยกันต้าน เพราะว่าผมในฐานะประชาชน วันนั้นเรารู้สึกว่าเราไม่ไหวแล้ว เราถูกจับ เราโดนดำเนินคดี เรามีคดีเต็มไปหมด ตอนนั้นผมมีคดีประมาณน่าจะ 9 คดี 10 คดี อาจจะน้อยกว่าน้อง ๆ ยุคนี้นะ แต่เราก็รู้สึกว่าเราไม่ไหวแล้ว ทำไมเราไม่เห็นนักการเมืองคนไหนมาช่วยเราสู้เลย ก็เลยพยายามเรียกร้อง ก็ปรากฏว่าก็น่าจะเห็นคุณวัฒนา เมืองสุข คนเดียวที่ออกมา คนอื่น ๆ ไม่มี ก็เลยตัดสินใจในห้องขังว่าเอ๊ะ บางทีเราอาจจะต้องทำอะไรเองแล้วล่ะ  แล้วประกอบกับมันมีคำพูดหนึ่งที่ผมจำได้น่าจะ AOC (Alexandria Ocasio-Cortez) ของอเมริกาน่าจะเป็นคนพูด Congress woman คือถ้าเราอยู่ในสังคมแบบเดิม ซึ่งทุกอย่างเหมือนเดิม แล้วเราหวังว่าสังคมมันจะเปลี่ยน มันคงเปลี่ยนไปนานแล้ว เช่นกันเราสู้วันนั้นเพื่อให้มีการเลือกตั้ง เพื่อให้มันหยุดระบอบที่มันเป็นรัฐประหารที่มันนำโดย คสช. แต่ปรากฏว่าคนที่เป็นนักการเมืองประกอบไปด้วยคนกลุ่มเดิม ประเทศไทยมันจะเปลี่ยนได้ยังไง ถ้ามันเปลี่ยนได้แล้วทำไมก่อนหน้านี้มันไม่เปลี่ยน แสดงว่าบางทีมันถึงเวลาที่เราจะต้องลองอะไรใหม่ ทำอะไรใหม่ แล้วโชคดีที่ อ.ปิยบุตรแล้วก็คุณธนาธรเขาทำพรรค แล้วเขาก็ยืนว่าเขาเอาคนใหม่หมด ผมเลยงั้นผมขอร่วมด้วยครับ แล้วผมยังจำได้ ผมไม่เคยคุยกับ อ.ปิยบุตรว่าอาจารย์ผมขอเป็น ส.ส. ผมไม่เคยนะ ไม่เคยมีประโยคนี้จากปากผม ผมบอกว่าอาจารย์ ผมเชื่อมั่นในพรรคอนาคตใหม่ แล้วจะให้ผมทำอะไรผมยินดีช่วยทุกอย่าง บอกผมมาแล้วกัน สุดท้ายแกก็… โรมคุณก็มาเป็น ส.ส. แล้วกัน ผมก็ได้ อาจารย์ว่ามาเลยอยากให้ผมทำอะไรบอกมา ก็เลยกลายเป็นที่มาของวันนี้   The People : เจอรัฐกระทำอะไรบ้างในช่วงเป็นนักเคลื่อนไหว รังสิมันต์ : โอ้โห มีตำรวจไปเยี่ยมบ้านทุกเดือน สมัยก่อนชื่อทะเบียนบ้านผมอยู่กับญาติคนหนึ่ง เขาก็มาขอผมว่าแกจะทำอะไรได้บ้างไหม เพราะมีตำรวจมาหาที่บ้านทุกเดือนเลย ตัวเขาเองไม่เดือดร้อนเพราะเขาไม่ได้อยู่บ้าน เขาต้องไปทำงาน แต่เพื่อนบ้านเดือดร้อน แล้วเพื่อนบ้านเริ่มรู้สึกว่าทำไมมันมีแบบนี้เกิดขึ้น สุดท้ายผมก็จำได้ว่าผมก็ย้ายทะเบียนบ้าน ก็คุยกับเพื่อนเลย ขอย้ายไปทะเบียนบ้านของบ้านไหนที่ตำรวจเขาจะไปอยู่แล้ว เพื่อให้มันเป็นที่เดียวกัน ตำรวจจะได้ไม่ต้องไปบ่อย มันจะได้เป็นการประหยัดเงินภาษีประชาชน ก็เลยต้องย้ายทะเบียนบ้าน หาที่ย้ายไปอยู่ที่อื่น แล้วไอ้ประเภทแบบโดนคุกคาม ตาม มาเยี่ยมอยู่หน้าบ้าน อยู่หน้าหอพัก อันนี้มีเป็นประจำ  แล้วหนักสุด ๆ ก็คือเวลามันจะมีขบวนเสด็จอะไรก็แล้วแต่ที่เกิดขึ้น อย่างเช่น บางทีในหลวงเขาเสด็จกลับมาที่ประเทศไทย บางทีก็มีสายโทรศัพท์มาว่าคุณจะทำอะไรหรือเปล่า เรารู้สึกว่า เฮ้ย คือทำไมชีวิตเรามันเหมือนเรามีแม่อีกคนหนึ่ง ที่เราต้องคอยรายงานเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ตลอดเวลาว่าเดี๋ยวกูจะทำแบบนี้นะ เดี๋ยวกูจะไม่ไปยุ่งตรงนั้นนะ มันเป็นแบบนั้น เรารู้สึกว่าตอนนี้ตกลงชีวิตเราเหมือนเราถูกมอนิเตอร์ตลอดเวลา สิ่งที่เราเห็นมันอาจจะเป็นแค่ยอดภูเขาของการรู้ตัว ที่รัฐเขาทำพลาด มันอาจจะมีอีกหลายเรื่องที่เราโดน track ที่เราโดนดักฟัง จนมันทำให้ผมรู้สึกว่าเราไม่สามารถมีชีวิตที่ปลอดภัยได้เลย ชีวิตมันต้องคิดอยู่ตลอดเวลาว่าเอ๊ะ ไอ้สิ่งที่เราคุย สิ่งที่เราทำ มันอาจจะกลายเป็นส่วนหนึ่งที่รัฐพยายามใช้ในการเล่นงานเราตลอดเวลาก็ได้ แล้วผมก็ต้องคิดตลอดเวลาว่าคนในครอบครัวของผมจะเป็นยังไง แม่ผมจะเป็นยังไง ดังนั้น ช่วงที่เป็นแอคทิวิสต์จึงเป็นช่วงเวลาที่ผมไม่สามารถที่จะอยู่ในสังคมอย่างปลอดภัยได้ ผมจะออกนอกประเทศ พี่เชื่อไหมผมออกไม่ได้ ผมต้องขออนุญาตออกนอกประเทศโดยศาลทหารตลอดเวลา ซึ่งหลายครั้งผมก็ยอมรับว่าบางทีอย่างตอนที่คบกับภรรยา ณ วันนั้นเขายังอยู่ที่อินโดนีเซีย แล้วผมต้องการไปเจอหน้าเขา ผมต้องขออนุญาตศาล คือมันแบบบางทีก็ขอไปศึกษาดูงาน ก็โอเคก็ไปศึกษาดูงานด้วย รู้ประวัติศาสตร์ด้วย แต่ก็เจอหน้าแฟนด้วย มันกลายเป็นต้องเป็นแบบนี้ มันต้องมีเหตุผลตลอดเวลาในการที่จะออกนอกประเทศ หรือหนักที่สุดที่ผมจำได้เลยนะ ตอนนั้นมันมีงานอุ่นไอรัก แล้วครอบครัวของภรรยาผมเขาก็คงอยากจะมาดูหน้าว่าที่เจ้าบ่าว เขาก็มาที่เมืองไทย ผมก็ไม่รู้จะพาเขาไปไหนดี ให้ไปดูว่าขนมไทยมันเป็นยังไงอะไร อะไรที่มันเกี่ยวกับความเป็นไทยที่เรารู้จัก ก็ไปดูงานนี้หน่อยแล้วกัน ไปถึงใช่ไหม ในงานมันก็ต้องมีการตรวจบัตรประชาชน ตรวจอะไรก่อน พ่อเขาเป็นคนแรกก็ไม่มีปัญหาอะไร แม่เขาไปคนแรกไม่มีปัญหาอะไร ภรรยาผมซึ่งตอนนั้นเป็นแฟนกันไปก็ไม่มีปัญหา ของผมปุ๊บมันเป็นบัตรประชาชนก็เอาเสียบเครื่อง เครื่องมันคงขึ้นอะไรสักอย่างหนึ่ง ผมก็เลยถูกควบคุมตัว  แล้วคุณลองคิดดู ถูกควบคุมตัวต่อหน้าครอบครัวซึ่งเรากำลังทำคะแนนอยู่ เพื่อที่จะได้รับความไว้วางใจจากครอบครัว (ถอนหายใจ) ผมโกรธมากนะวันนั้น ผมจำได้ ทำไมพี่ต้องทำกับผมแบบนี้ มีหมายจับไหม ไม่มี แต่ว่ามันเป็นคนที่อาจจะติด blacklist ติด watch list อะไรสักอย่าง แล้วเขาต้องเรียกคุยก่อนว่าเอ็งจะมาทำอะไรในงานอุ่นไอรักหรือเปล่า คือไอ้ความ panic บ้าของรัฐไทยมันมากจนมันแบบคุณคิดว่าคุณปกป้องตัวเอง แล้วคุณไม่สนใจว่ามันทำลายชีวิตคนอื่นมากขนาดไหน นี่โชคยังดีที่ผมก็พอมีสกิลอยู่บ้างมันเลยทำให้ยังพอทำคะแนนได้ คือวันนั้นถ้าครอบครัวเขาไม่ใจกว้าง โอ้โห ผมอาจจะไม่ได้แต่งงานกับคนนี้แล้วเนี่ย คือคุณจะให้ลูกสาวมาอยู่กับคนที่ถูกรัฐเล่นงานขนาดนี้ นี่คือแค่ไปงาน คุณไม่ได้จะไปทำอะไร คุณจะไปร่วมงานเฉย ๆ เสียบบัตรขึ้นโชว์ อ๋อ ขอเรียกคุยหน่อย ผมต้องอยู่ในห้องเย็นประมาณ 30 นาที เพื่อที่จะเคลียร์ว่าผมไม่ได้จะมาทำอะไร มาเที่ยวเฉย ๆ นี่คือสิ่งที่มันทำให้ชีวิตเราไม่สามารถเป็นชีวิตปกติได้เลยตั้งแต่เป็นแอคทิวิสต์ สัมภาษณ์ 'รังสิมันต์ โรม' : ชีวิต คนหนุ่มสาว หัวใจ และความฝันใฝ่ในสังคมเท่าเทียม The People : เตรียมตัวเตรียมใจแค่ไหนก่อนอภิปรายประเด็นใหญ่ในสภา รังสิมันต์ : จริง ๆ บางเรื่องผมไม่คิดว่าจะใหญ่ขนาดนั้น แต่มันก็เป็นเรื่องใหญ่ (หัวเราะ) อย่างเรื่องป่ารอยต่อ จริง ๆ เรื่องป่ารอยต่อ เรื่องตั๋วช้าง เรื่องการค้ามนุษย์ ถ้าว่ากันจริง ๆ มันไม่ได้เป็นเรื่องที่ใหม่ขนาดนั้น ป่ารอยต่อถ้าเราไปดูในแวดวงสื่อมวลชน คนก็รู้กันอยู่แล้วว่ามันมีป่ารอยต่อ เพียงแต่แค่ไม่รู้ว่าไอ้ป่ารอยต่อนี้มันสำคัญยังไง สอง-เรื่องตั๋วช้างหรือตัวตำรวจ เราถามตำรวจแต่ละคนทุกคนรู้หมด ครอบครัวตำรวจรู้หมด แต่ว่าก็อาจจะไม่ได้เห็นชัด ๆ ว่าหน้าตาของตั๋วมันคืออะไร แล้วพอมาเรื่องการค้ามนุษย์ เรื่องการค้ามนุษย์นี่แทบจะเป็นการย้อนกลับไปว่ามันเกิดอะไรขึ้นในปี 2558 เป็นประวัติศาสตร์ที่เรามองข้าม ซึ่งตอนแรกผมก็คิดว่าเอ๊ะ คนอาจจะไม่สนใจหรือเปล่า เพราะว่าเราก็รู้อยู่ว่าคนจำนวนมากมีความรู้สึกว่าเรื่องโรฮิงญา ถ้าคุณออกมาวิพากษ์วิจารณ์แสดงว่าคุณอยากจะเอาโรฮิงญากลับบ้านไปเลี้ยงใช่ไหม คือต้องยอมรับว่าทัศนคติของคนจำนวนมากในวันนั้นที่ผมจำได้ เขามีมุมที่มันลบมาก ๆ ผมเลยคิดว่าเผลอ ๆ ผมอาจจะถูกด่าแม่กลับมาด้วยซ้ำ แล้วก็คนก็อาจจะไม่สนใจหรือเปล่า แต่ไป ๆ มา ๆ พอผมพูดไป ผมก็เรียนรู้ว่าดูเหมือนสังคมให้การตอบรับกับสิ่งที่ผมอภิปรายมากกว่าที่ผมประเมินไว้ด้วยซ้ำ  มีเรื่องเดียวที่ผมอาจจะเรียกว่าประเมินแล้วมันใกล้เคียงกับบรรยากาศในสังคมที่สุด ก็คือเรื่องตั๋วช้าง ซึ่งถ้าพูดลึก ๆ วันนั้นหลังจากผมอภิปรายเสร็จผมไม่ได้กลับบ้านนะ ผมไปนอนเซฟเฮ้าส์ ผมต้องหาบอดี้การ์ด มาดู เพราะเราไม่รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น เราลงมาที่ลานจอดรถต้องก้มดูเลยว่ามีอะไรอยู่ใต้รถตัวเองหรือเปล่า แล้วสุดท้ายก็ไม่กล้าใช้รถตัวเอง ต้องไปใช้รถคนอื่น จำได้ว่าคนที่พาผมออกมาจากสภาคือพี่ต๋อม ชัยธวัช (ตุลาธน) ที่ปัจจุบันเป็นเลขาธิการพรรค ช่วงวันนั้นเป็นช่วงเวลาที่เราก็คิดจริง ๆ ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นกับเราหรือเปล่า ครอบครัว ภรรยาผมก็เป็นห่วง ผู้ช่วยผมคนอื่น ๆ ก็ไม่สามารถกลับบ้านไปเจอหน้าครอบครัวตัวเองได้ ไม่สามารถบอกด้วยซ้ำว่าไปพักที่ไหน แม่ผมทันทีที่รู้ว่าผมอภิปรายเรื่องตั๋วช้างก็กังวล แล้วก็พยายามถามว่าผมปลอดภัยไหม โทรเกือบทุกวันแล้วก็ถามว่าอยู่ไหน ผมก็ตอบไม่ได้ ห้ามบอก  เราอยู่ในบรรยากาศแบบนั้นเป็นเดือน ๆ เพื่อที่จะให้มั่นใจว่าเราจะปลอดภัย เพราะว่าเราไม่มีทางรู้มันจะเกิดอะไรขึ้น แล้วผมคิดว่าสิ่งที่ทำให้ผมปลอดภัยมันก็คือการตอบรับของผู้คน ที่พยายามเอาสิ่งที่ผมพูดไปมาขยายผลต่อ พยายามมาพูดต่อว่ามันเกิดอะไรขึ้น แล้วไอ้การมาพูดต่อแบบนี้ มันทำให้เหมือนกับสิ่งที่เราพูดมันมีความสำคัญขึ้นมาในสังคม แล้วทำให้เหมือนสปอตไลท์ทุกดวงมันมาอยู่ที่ผม ซึ่งไอ้การที่สปอตไลท์มันมาอยู่ตรงนี้ มันหมายความว่าถ้าเกิดมันเกิดอะไรขึ้นกับผม ใครบ้างในประเทศนี้ที่จะมีศักยภาพในการทำ มันก็เลยทำให้ผมคิดว่าผมสามารถยืนระยะแล้วก็ปลอดภัยมาจนถึงทุกวันนี้ได้ แต่ยอมรับตรง ๆ ว่าในการเตรียมเรื่องอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยเฉพาะเรื่องตั๋วช้าง เป็นการเตรียมตัวที่เรากังวลที่สุดว่าจะเกิดอะไรขึ้น  พอมาเป็นอภิปรายจริง ๆ ไม่ใช่อภิปรายไม่ไว้วางใจนะ แต่เป็นอภิปรายทั่วไปสำหรับการค้ามนุษย์ ช่วงแรก ๆ พูดกันแบบเบื้องหลังเลยนะ ช่วงแรก ๆ เราคิดว่าเป็นเรื่องไม่ได้ใหม่นะ แต่แค่พยายามฉายภาพให้คนเห็นว่าจริง ๆ มันเกิดอะไรขึ้น แต่พอเราทำไปเรื่อย ๆ เราก็เริ่มคิดเชี่ย กูจะโดนอะไรหรือเปล่าวะ (หัวเราะ) พอเราทำไปเรื่อย ๆ เราก็เริ่มคิดว่าเฮ้ย เราจะฉิบหายหรือเปล่าวะ เราจะซวยหรือเปล่าวะ แล้วพอผมยิ่งคุยกับคุณปวีณ (พงศ์สิรินทร์) มากขึ้น แล้วก็เริ่มเห็นเครือข่ายจำนวนมาก แล้วแต่ละคนมีอำนาจอยู่ในระบบราชการ มันก็ยิ่งให้ผมเริ่มคิดแล้วว่ามันก็เริ่มมีโอกาสนะเรื่องนี้ ไป ๆ มา ๆ อาจจะทำให้ผมอยู่ในสถานการณ์ไม่ต่างอะไรกับตอนทำตั๋วช้างเลย คือตั๋วช้างเนี่ยทันทีที่ผมเห็นเอกสาร ผมรู้เลยว่าโอ้โห เรื่องนี้ผมอาจจะซวยแล้ว แต่ตอนแรกตอนที่ผมคิดว่าจะทำเรื่องนี้ผมไม่คิดว่ามันจะเป็นอะไร ตอนแรกที่จะทำเรื่องนี้เราก็รู้ว่าพรรคเขาเคยมีคนทำเรื่องนี้แล้วคือคุณปกรณ์วุฒิ (อุดมพิพัฒน์สกุล) ก็เห็นเขาปลอดภัยดี ยังครบ 32 แต่ว่าพอเรามาทำเรื่องนี้แล้วมันลึกเรื่อย ๆ ก็เริ่มคิดว่ากังวล ครอบครัวผม ภรรยาเราก็เริ่มกังวล หลังจากอภิปรายเสร็จก็เลยติดกล้องวงจรปิดที่บ้าน (หัวเราะ) ติดเอาไว้ที่บ้าน เพื่อที่จะให้มั่นใจว่าเป็นยังไง แล้วหลังจากผ่านการอภิปรายก็ต้องมาเช็กตลอดว่าหน้าบ้านมีใครมาเฝ้าหรือเปล่า ผมยอมรับนะว่าการที่จะต้องอยู่กับความรู้สึกที่ว่ามันไม่แน่นอนแบบนี้เรื่อย ๆ บางทีมันก็ ทำใจลำบากนะ มันเหมือนผมขับรถก็ต้องมองกระจกหลังตลอดเวลา จะไปไหนมาไหนภรรยาผมก็ต้องบอกว่าอย่าไปไหนคนเดียวตลอดเวลา มันอยู่กับชีวิตที่… ไม่รู้ว่าพรุ่งนี้เราจะเจออะไรตลอดเวลา แล้วผมอยู่แบบนี้มา 10 ปีแล้วตั้งแต่เรียกว่าเป็นแอคทิวิสต์แต่ผมอยู่แบบนี้มานาน แล้วผมรู้สึกว่าบางทีมันก็แบบ… เอ๊ะ ทำไมมันต้องอยู่กับความรู้สึกอย่างนี้จนถึงเมื่อไหร่   The People : มันคือความรู้สึกกลัว? รังสิมันต์ : มันไม่ใช่กลัว มันอึดอัด มันเป็นความรู้สึกที่เราต้องมานั่งคิดตลอดเวลาว่าต้องระวัง ต้องระวังตลอดเวลา นึกออกไหมว่ามันอยู่กับความรู้สึก… ที่ไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้ ต้องระมัดระวังตลอดเวลา ผมรู้สึกว่าชีวิตผมไม่กลัวอะไรอีกแล้ว ผมอาจจะรู้สึกว่าผมแม่งโคตรเบื่อที่จะกลัวเลยนะ มีครั้งหนึ่งสมัยก่อนคงกลัว กลัวว่าเป็นห่วงญาติ เป็นห่วงครอบครัว วันนี้อาจจะเป็นห่วงมากที่สุดคือแมว เคยบอกกับพี่ต๋อมว่าเกิดอะไรขึ้นก็ดูแลแมวผมด้วยแต่ว่า มันก็มีความรู้สึกว่าแม่งทำไมเราต้องมานั่งกังวลตลอดเวลา ทำนู่นทำนี่ไม่ได้แล้วมันอาจจะถูกดำเนินคดีได้ในทุก ๆ เรื่อง แล้วยิ่งภรรยาผมเป็นคนต่างชาติ มันก็อาจจะมีความกังวลในเรื่องของวีซ่าว่า เอ๊ะ เขาจะโดนหางเลขไปด้วยหรือเปล่า หลายครั้งเขาก็อยากจะทำนู่นทำนี่เพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยให้กับประเทศไทย แต่บางทีก็ต้องบอกว่าอย่าเลย เพราะว่าทำไปเดี๋ยวเขาอาจจะเอาเรื่องวีซ่ามาเป็นเงื่อนไขเล่นงานเราก็ได้ มันกลายเป็นความรู้สึกแบบนี้ ผมไม่คิดว่านี่คือความรู้สึกที่กลัวนะ แต่มันเป็นความรู้สึกที่… ไม่ปลอดภัย มันเป็นความรู้สึกที่เราต้องใช้พลังงานชีวิตมาก ๆ ในการบริหารจัดการเพื่อให้เรามีชีวิตในแต่ละวัน สัมภาษณ์ 'รังสิมันต์ โรม' : ชีวิต คนหนุ่มสาว หัวใจ และความฝันใฝ่ในสังคมเท่าเทียม The People : ดูแลใจกันและกันกับภรรยาอย่างไร รังสิมันต์ : จริง ๆ ก็อาจจะเหมือนกับหลาย ๆ บ้านนะ ผมว่าก็กลับมาผมพยายามมากินข้าวกับภรรยาผมทุก ๆ เย็นให้ได้ แล้วก็พยายามที่จะพูดคุยกัน อัปเดตกันว่าในแต่ละวันที่ผมออกไปข้างนอกผมเจออะไร ด้านหนึ่งก็คือผมอยากให้เขารู้ว่าเรากำลังต้องเจอกับอะไร เพราะว่าถึงที่สุดการเป็นนักการเมืองคนหนึ่งมันไม่ใช่แค่ชีวิตหนึ่งคน แต่มันรวมถึงครอบครัวที่ผมพยายามสร้างขึ้นมา แล้วก็เราก็พยายามที่จะมีกิจกรรมบางอย่างด้วยกัน อย่างเช่นการดูหนัง ผมก็พยายามดูหนัง อย่างน้อยจะดูแบบถ้าเป็นซีรีส์ก็คือดูวันละตอน เพื่อให้เราได้ทำบางอย่างที่เราชอบทำด้วยกัน หรือบางทีเราก็อ่านหนังสือ เห็นแบบนี้อันนี้หนังสือมันมีแต่การเมือง แต่จริง ๆ ผมก็ชอบอ่านนิยาย ถ้าบอกตอนนี้ก็อ่าน ‘The Spook's’ เป็นนิยายภาษาอังกฤษจากอังกฤษ ก็ติดตามมาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้วเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับแม่มดหมอผี ก็พยายามอ่านอย่างน้อยอ่านวันละ chapter อ่านวันละบท เพื่อที่เราจะได้มีบางอย่างของชีวิตที่มันยังเกาะเกี่ยวกันอยู่ ผมเชื่อมั่นว่าความรักที่ยั่งยืน มันคือการที่เรานึกถึงอนาคตเราเห็นเขาอยู่เส้นทางนั้น แล้วการที่เราจะเห็นเขาอยู่ในเส้นทางของอนาคตที่เรากำลังเดินทางไป มันจำเป็นที่เราจะต้องเติบโตไปด้วยกัน แล้วเราจะเติบโตไปด้วยกันได้ยังไงถ้าเราไม่ได้มีกิจกรรม ไม่ได้ทำอะไรร่วมกันเลย ลองนึกภาพว่าผมเสร็จการเมืองปุ๊บ ผมกลับบ้านมาแล้วก็นอน แล้วมันเป็นอย่างนี้ทุก ๆ วัน มันก็ไปลำบากนะสำหรับครอบครัว ดังนั้น ผมก็รู้สึกว่ากลับมาแล้วเราก็จำเป็นที่จะต้องใช้เวลาร่วมกันกับครอบครัว มันอาจจะเป็นเวลาที่จำกัด แต่ก็พยายามมีให้กัน  แล้วก็ถ้าว่างเป็นไปได้ก็ไปเที่ยวกัน ก็มีบ้าง แต่ก็ยอมรับว่าน้อย น้อยมาก ส่วนใหญ่ก็อาจจะเป็นแบบไปลงพื้นที่ด้วยกัน ตัวภรรยาผมเขาก็จะมาช่วยสนับสนุนในเรื่องของการถ่ายรูป แล้วก็รูปหลาย ๆ รูปที่เห็นในเพจ Facebook ที่ผมเอามาลง ก็เป็นรูปที่ภรรยาผมเป็นคนถ่าย แล้วก็ยามที่ผมไม่อยู่ที่นี่ ภรรยาผมก็วาดรูปอะไรต่าง ๆ ซึ่งบางรูปที่เขาวาดแล้วเขาให้ผมมา ผมโอเค เอาไปขายหาตังค์ดีกว่า เผื่อว่ามีใครที่เขาชอบ นี่ล่าสุดก็คิดว่าอยากจะวาดแล้วก็เอาไปขาย แล้วก็ตั้งใจว่าจะแบ่งรายได้ครึ่งหนึ่งเอาไปสนับสนุนประเทศยูเครน พวกนี้ก็เป็นสิ่งที่ผมคิดว่ามันเป็น activities ที่ทั้งผมแล้วก็อิวาน่า ภรรยาผมเราพยายามทำร่วมกัน   The People : ทั้งสองคนเจอกันได้อย่างไร รังสิมันต์ : จริง ๆ แบ็กกราวด์เขาเป็นแอคทิวิสต์นะ แต่เป็นแอคทิวิสต์สาย artist คือไม่ได้เป็น front line ไม่ได้เป็นอะไรอย่างนั้น แต่ว่าเขาก็เป็น artist ที่วาดรูป ใช้ศิลปะในการบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ เขาเป็นคนอินโดนีเซียเกิดที่ซูราบายา แล้วก็ไปโตที่กาลิมันตันเป็นจังหวัดที่อยู่บนเกาะบอร์เนียวที่เราอาจจะคุ้นเคย ทีนี้ตอนเรียนมหาวิทยาลัยเขาไปเรียนที่ซูราบายา แล้วก็ด้วยความที่เขาเป็นแอคทิวิสต์อยู่ในไซเคิลนี้ เขาเองก็ได้สมัครไปในค่าย ๆ หนึ่งซึ่งผมเองก็สมัครไปด้วย เป็นค่ายดิจิทัลค่ายนี้จะสอนเราให้รู้ว่าเราจะทำยังไง บริหารจัดการโซเชียลมีเดียมือถือเรายังไงให้มันปลอดภัย เพื่อที่ว่าเวลารัฐหรือคนที่มีอำนาจเขาพยายามเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวเรา เขาจะเข้าถึงไม่ได้  เราก็ไปเจอกันในค่ายนี้ที่ยอกยาการ์ตาที่ประเทศอินโดนีเซีย ก็ไปเจอ ก็ไม่อยากกลับมามือเปล่า เพราะว่าตกหลุมรัก (หัวเราะ) หลังจากนั้นก็เลยมีการพูดคุยกันมาก็มี long distance relationship อยู่ช่วงหนึ่ง ก็ใช้วิธีการแชทบ้าง ตอนนั้นยังไม่ได้ใช้ Zoom นะ Skype กันบ้าง แล้วก็คบหาดูใจกันผ่านทางออนไลน์มาโดยตลอด หลังจากนั้นผมเองก็พยายามเดินทางไปที่อินโดนีเซีย ตัวเขาเองก็พยายามเดินทางมาที่ประเทศไทย ก็จำได้ว่าทุกครั้งที่ผมไปที่อินโดนีเซียเขาเองก็จะมารับผมที่สนามบิน แต่เวลาที่เขามาประเทศไทย ไม่มีครั้งไหนที่ผมไปรับเขาที่สนามบินได้เลย เพราะว่าต้องไปเจอกันที่ไม่ สน. ก็หน้าเรือนจำ มันเป็นแบบนั้น แต่ว่าก็พยายามคบหาดูใจกันมา  จนวันหนึ่งที่เขาเรียนจบ ก็เลยตัดสินใจว่ามาอยู่ประเทศไทยไหม ตัวเขาเองมีรายได้ที่มาจากอินโดนีเซียอยู่แล้ว เขาสามารถทำงานออนไลน์ได้อยู่แล้ว ก็เลยทำให้ตัวเขาตัดสินใจได้ไม่ยากในการที่จะมาอยู่ด้วยกันที่ประเทศไทย แต่ก็ต้องยอมรับว่าการมาเริ่มต้นที่ประเทศไทยเป็นเรื่องที่ยากมากเหมือนกันสำหรับตัวเขา เหตุผลก็คือหนึ่ง-ภาษา คนไทยไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ทุกคน แล้วก็เขาเองก็ต้องมาเริ่มใหม่ อันที่สองก็คือการมาคบกับผม มันก็มีหลายเรื่องที่เขาไม่สามารถทำได้ หรือแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี มันมีหลายเรื่องโดยเฉพาะมันเป็นเรื่องระหว่างประเทศ  แล้วพอผมมาอยู่ใน position ที่มันเป็นนักการเมือง มันยิ่งทำให้เขาต้องระมัดระวัง เหมือนเขาต้องเป็นเหมือน ส.ส. อีกคนหนึ่งที่จะพูดอะไร แสดงความคิดเห็นอะไร มันไม่สามารถที่จะพูดได้ทุกเรื่อง หรือแสดงความรู้สึกได้กับทุก ๆ ประเด็น มันก็มีข้อจำกัดในตรงนี้ แล้วยิ่งมันมีความอ่อนไหวในเรื่องวีซ่า เรื่องอะไรต่าง ๆ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย พูดกันตรง ๆ เขาก็แสดงออกได้อย่างจำกัดมาก ๆ มันก็เลยเป็นช่วงเวลาที่ผมมองเขาแล้วผมรู้สึกว่าเขาเสียสละเพื่อตัวผมมาก เพื่อที่จะมาสร้างครอบครัวที่นี่ ยอมอยู่กับผู้ชายที่ไม่เป็นที่รักของรัฐเท่าไหร่ แล้วก็มีความเสี่ยงในการที่จะถูกดำเนินคดี ถูกนู่นถูกนี่อยู่ตลอดเวลา แม้จะเป็น ส.ส. อาจจะปลอดภัยกว่าประชาชนคนอื่น ๆ ที่อาจจะพูดเรื่องเดียวกัน ทำเรื่องคล้าย ๆ กัน แต่ว่ามันก็ไม่ได้ปลอดภัยขนาดนั้น มันก็เจอเงื่อนไขของพรรคการเมือง เจอในเรื่องของการตรวจสอบต่าง ๆ มีบรรดานักร้องต่าง ๆ ที่ร้องไปทั่ว ซึ่งผมก็โดนไปในเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน  เชื่อไหมตอนผมแต่งงาน ผมต้องทำหนังสือไปหา ป.ป.ช. ไปถาม กกต. ถึงแนวทางว่าถ้าผมจะแต่งงาน มันมีแนวทางในการจัดงานแต่งงานอย่างไรเพื่อไม่ให้ผมติดคุก มันต้องขนาดนั้น ชีวิตการเป็นนักการเมืองมันจึงต้องระมัดระวังในเรื่องพวกนี้อยู่ตลอดเวลา เพราะเราอาจจะโดนปัญหาเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ มากลั่นแกล้งกัน แต่ทำให้เราถูกดำเนินคดีและอาจจะติดคุกได้เลย หรือผมจะขายรูปอย่างนี้ ภรรยาผมให้รูปผมมาเป็นรูปที่ผมคิดว่ามันสวย แล้วตอนที่ว่ามีคนสนใจเยอะ ผมก็ลองทำประมูลดู ผมต้องโทรไปหา ป.ป.ช. ไปหา กกต. ประชาชนทั่วไปอยากจะขายของสักชิ้นหนึ่งคุณทำได้ถูกไหม แต่พอเป็นนักการเมืองคุณต้องระวังเรื่องพวกนี้มาก เพราะเราไม่มีทางรู้ว่าเราจะโดนร้องเรียนอะไรได้บ้าง มันก็เลยกลายเป็นว่าผมกับภรรยาเราเป็นครอบครัวที่ต้องระมัดระวังในทุก ๆ เรื่อง เพื่อที่ไม่ให้เสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดี แล้วก็ตัวเขาก็อาจจะกลายเป็นคนคนหนึ่งที่อาจจะโดนดำเนินคดีไปด้วยได้ สัมภาษณ์ 'รังสิมันต์ โรม' : ชีวิต คนหนุ่มสาว หัวใจ และความฝันใฝ่ในสังคมเท่าเทียม The People : สุดท้ายแล้วคิดว่าอะไรคือเป้าหมายของชีวิต รังสิมันต์ : จริง ๆ ผมคิดว่าเป้าหมายผมกับเป้าหมายประเทศมันคืออันเดียวกัน ผมไม่ได้มองตัวเองในฐานะเราเป็นปัจเจกชนที่เราจะมีเป้าหมายส่วนตัว ใช่ ผมมีบางเรื่องที่ผมอยากจะทำส่วนตัว แต่ในท้ายที่สุดผมรู้สึกว่าสิ่งที่เป็นความตั้งใจของผมทั้งหมด ผมอยากจะเปลี่ยนประเทศนี้จริง ๆ เรามองคนจำนวนมากที่ไปเรียนต่อในต่างประเทศ แล้วเขากลับมาแล้วเขาสามารถพูดได้อย่างเต็มภาคภูมิว่าเขาได้รับการศึกษาที่ดีจากประเทศที่ดี เขามีตัวอย่างจำนวนมากของประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะในยุโรป หรือในอเมริกา หรือในออสเตรเลีย หรือในนิวซีแลนด์ ว่าประเทศเหล่านี้มันพัฒนายังไง  ผมแค่คิดคำถามสั้น ๆ นิดเดียว ทำไมเราทำแบบนั้นบ้างไม่ได้ ทำไมประเทศไทยถึงไม่สามารถเป็นประเทศที่ศิวิไลซ์ที่มีรากฐานเป็นระบอบประชาธิปไตยที่แข็งแรง ที่ประชาชนเชื่อในเรื่องของความเท่าเทียม ที่ผม ผู้พิพากษา ประชาชนคนทั่ว ๆ ไป นักการเมือง นายกรัฐมนตรี เราเท่ากันจริง ๆ ไม่ต้องมานั่งกังวลว่าคนนี้ตั๋วใคร คนนี้เส้นใคร คุณไม่ว่าจะเป็นคนยากดีมีจนขนาดไหน คุณอยู่ในสังคมนี้อย่างเท่าเทียมได้ คุณไม่ต้องมานั่งกังวลว่าถ้าคุณอยากจะเรียนต่อธรรมศาสตร์ คุณอยากจะเรียนต่อจุฬาฯ คุณต้องมาอยู่กรุงเทพฯแบบผม ไม่ใช่ว่าคุณมาเรียนโรงเรียนที่ดีที่สุดหรอกนะ แต่คุณจะได้อยู่ในบรรยากาศแวดล้อมที่มันทำให้คุณสามารถที่จะเข้าถึงการศึกษาที่ดีกว่าเดิมได้ ผมอยากจะเห็นประเทศนี้มันดี  ตอนที่ผมเคยไปอยู่อังกฤษ เราไม่มานั่งคิดหรอกว่าโรงเรียนใกล้บ้านกับโรงเรียนที่มันอยู่กลางเมืองโรงเรียนไหนมันดีกว่ากัน ไอ้โรงเรียนใกล้บ้านมันดี เพราะมันทำให้เรามีเวลานอนเพิ่มขึ้น มันทำให้เราไม่ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง แล้วการศึกษาคุณภาพมันใกล้ ๆ กัน นี่คือสิ่งที่มันเกิดขึ้นในต่างประเทศ แต่ทำไมประเทศเราทำไม่ได้ ผมเรียนทวีธาภิเศก ผมมีเพื่อนที่อยู่บางบัวทองต้องนั่งรถเมล์ไม่รู้กี่สายเพื่อมาเรียนที่ทวีธาภิเศก ผมมีเพื่อนที่อยู่เตรียมอุดมฯแต่เขาต้องมาจากสุราษฎร์ธานี แล้วก็มาอยู่หอพักแล้วมาเรียนที่เตรียมอุดมฯ ทำไมชีวิตมันต้องยากขนาดนั้น ทำไมการเป็นคนไทยมันถึงได้เหนื่อยขนาดนั้น มันเหนื่อยทุกเรื่อง แม้กระทั่งเวลาจะนอนยังนอนเต็มอิ่มไม่ได้เลย  ผมรู้สึกว่าผมไม่อยากจะให้เรามีชีวิตแบบนั้น ผมรับรู้ความเจ็บปวด แล้วผมเจ็บแบบนั้น แล้วทำไมเราต้องเจ็บแล้วเราไม่ทำอะไร วันหนึ่งเราคิดว่าพอเราเป็นนักการเมืองแล้วเราก็โอเค เราเลื่อนสถานะแล้วนะ เราเป็นชนชั้นอีกชนชั้นหนึ่งแล้วนะ เราสามารถต่อยอดจากเครือข่ายต่าง ๆ ที่เราสะสม คนแบบนั้นไม่ใช่ผม ผมรู้สึกว่า… ไม่รู้สิ ผมต้องการเปลี่ยน ผมจะไม่ยอมให้เรากลับไปที่เดิมอีกแล้ว มันถึงเวลาที่จะต้องสิ้นสุดสักอย่างได้แล้ว ถามว่าอนาคตเป้าหมายลึก ๆ อยากจะเป็นอะไร อยากจะทำอะไร ผมรู้สึกว่าผมเป็นอะไรก็ได้ถ้าเกิดประเทศนี้มันเปลี่ยน ผมคิดว่าผมก็ไม่รู้หรอกว่าสุดท้ายถ้ามันจบแล้วจริง ๆ ผมจะยังไงต่อ ผมอาจจะใช้ชีวิตเกษียณก็ได้ ผมอาจจะเลิกเป็นนักการเมืองก็ได้ หรือผมอาจจะเป็นนักการเมืองต่อ แล้วก็อยู่ในบทบาทของระบอบที่มันปกติเสียที ที่ทำให้การพูดอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่ต้องมานั่งคิดว่าเอ กูจะเป็นอะไรไหมวะ กูจะโดนอะไรหรือเปล่าวะ  ผมพูดจริง ๆ นะบางทีผมรู้สึกเศร้าใจ ไอ้เหี้ยเอ้ย แม่งทำไมการเป็น ส.ส. มันน่าจะปลอดภัยที่สุดหรือเปล่าวะ แล้วก็มานั่งคิด ถ้า ส.ส. ยังพูดไม่ได้แล้วคนอื่นมันจะพูดได้ยังไง ประเทศนี้มันจะต้องอยู่ในความกลัวอีกนานขนาดไหน ผมแม่งโคตรเบื่อเลยกับไอ้ความกลัวเนี่ย แล้วไอ้ความกลัวที่มากที่สุดบางทีมันไม่ได้มาจากข้างนอก มันมาจากตัวเราเอง เราหลอนตัวเอง ซึ่งไอ้การหลอนตัวเองไม่ใช่เพราะว่าเราอยากจะหลอนตัวเองด้วยนะ แต่เพราะมันมีเหตุบางอย่างให้มันชวนคิดจริง ๆ แล้วประเทศนี้มันก็อยากให้คนคิดมากแบบนี้จริง ๆ ไม่รู้ว่ะ จบ ๆ กันสักทีแล้วกันเนอะ