สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ผู้นำกระแสเลิก "อยู่ไฟ" หลังคลอดในหญิงไทย

สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ผู้นำกระแสเลิก "อยู่ไฟ" หลังคลอดในหญิงไทย
ประเพณีการ "อยู่ไฟ" หลังคลอดลูกของผู้หญิงเป็นสิ่งที่สืบทอดมายาวนานในสังคมไทย คนโบราณเห็นว่าเป็นของดี เชื่อกันว่าวิธีการนี้จะช่วยให้บาดแผลของแม่ที่เกิดจากการคลอดลูกสมานตัวได้เร็วขึ้น ขับ "น้ำคาวปลา" ออกจนหมดทำให้มดลูกแห้งเข้าอู่เร็วขึ้น วิธีการก็คือให้ผู้หญิงที่เพิ่งคลอดลูกขึ้นนอนบนกระดาน เอากองถ่านร้อน ๆ มาวางไว้ข้างเตียงในห้องหับที่ปิดมิดชิดทำให้ห้องนั้นร้อนเป็นอย่างมาก จนหลายคนผิวหนังเกิดเป็นแผลพุพองทนต่อไม่ไหว ถึงมีการจับตัวพลิกตะแคงให้ และต้องใช้เวลายาวนานหลายวันไม่แน่นอน ขึ้นอยู่แต่หมอตำแยจะให้คำวินิจฉัย ผู้หญิงที่อยู่ไฟจึงต้องทนทรมานเป็นอย่างยิ่ง แต่เนื่องจากอัตราการตายหลังการคลอดสมัยก่อนนั้นสูงจนน่ากลัว ประกอบกับความเชื่อเรื่องผีสางยังเป็นความเชื่อกระแสหลัก บรรดาแม่หลังคลอดลูกเมื่อได้ฟังคนเฒ่าคนแก่เล่าว่าวิธีการนี้จะช่วยให้เธอรอดพ้นปลอดภัยได้จึงทำตาม ๆ กันมาอย่างมิได้ตั้งข้อสงสัยว่ากระบวนการนี้ช่วยอะไรได้จริงหรือไม่? เรื่องนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งมีโอกาสได้เรียนรู้และเข้าถึงวิทยาการของตะวันตกด้วยมีพระสหายเป็นมิชชันนารีตะวันตกที่มีความรู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ เคยมีพระราชวินิจฉัยว่าการอยู่ไฟนั้นเป็น "อาชญากรรมอันเกิดจากความโง่เขลาเบาปัญญาและโหดร้ายทารุณที่ให้สตรีนอนรมควันและอังไฟอยู่นาน 15 - 30 วัน" แต่นั่นก็มิอาจเปลี่ยนแปลงประเพณีที่สืบทอดมายาวนานได้ มัลคอล์ม สมิธ หมอประจำกงสุลอังกฤษที่ภายหลังได้มารับใช้ราชสำนักสยามด้วยเล่าว่า เมื่อหญิงสมัยนั้นได้ทราบพระราชปรารภของรัชกาลที่ 4 ก็ได้แต่พูดกันว่า "พวกนางต่างหากที่ต้องคลอดลูก ไม่ใช่พระเจ้าอยู่หัว พวกนางปฏิเสธที่จะเปลี่ยนวิถีทางของตนเอง ยอมอังไฟที่แสนเจ็บปวดทรมานมากกว่า แถมยังบอกว่าเป็บการขับไล่ผี" เหตุนี้เองประเพณีอยู่ไฟจึงเป็น "ความเชื่อ" ที่ยากจะเปลี่ยนได้ง่าย ๆ จนกระทั่งมีผู้ทำเป็นเยี่ยงอย่างให้เห็นว่า การอยู่ไฟนั้นอาจจะมีผล "ทางจิตใจ" แต่หาใช่สิ่งที่จำเป็นไม่ ซึ่งสตรีไทยที่เป็นผู้นำทำให้หญิงไทยเห็นดีเห็นงามละเลิกการอยู่ไฟก็คือ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี หรือ "สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง" นั่นเอง ในบันทึกของหมอสมิธ เขาเล่าว่า สมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ คือผู้ที่ทรงปฏิบัติพระองค์เป็นต้นแบบให้สมาชิกราชวงศ์เลิกอยู่ไฟเมื่อพระองค์ทรงคลอดพระราชโอรสธิดาหลายพระองค์  ผู้หญิงในวังและนอกวังที่ใกล้ชิดกับคนในวังต่างเห็นว่าการรักษาแบบตะวันตกโดยไม่ต้องพึ่งพาการอยู่ไฟได้ผลดีจึงพากันปฏิบัติตาม ไม่เพียงเท่านั้น พระองค์ทรงเห็นว่า ผู้ที่จะได้ประโยชน์จากความรู้วิทยาการใหม่ ๆ นี้มิควรจะจำกัดแต่ชนชั้นสูงและคนรวยเท่านั้น พระองค์จึงมีพระราชประสงค์ให้มีการฝึกหัดนางผดุงครรภ์ชาวสยามรุ่นใหม่แทนหมอตำแยแบบเก่า จึงได้มีการคัดเลือกเด็กหญิงอายุ 10 ถึง 11 ปี ส่งไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษเพื่อฝึกหัดเป็นนางผดุงครรภ์ แต่เป็นที่น่าเสียดาย กลุ่มนักเรียนหญิงไทยชุดแรกนี้เมื่อทำการศึกษาขั้นต้นจนสำเร็จแล้ว ก็ไม่สามารถเรียนต่อด้านผดุงครรภ์ได้ตามที่ตั้งเป้า เนื่องจากสมัยนั้นสถาบันสอนการผดุงครรภ์ที่อังกฤษมีข้อกำหนดว่าสตรีที่จะเข้าศึกษาได้จะต้องมีอายุครบ 25 ปีบริบูรณ์แล้วเท่านั้น หากจะเรียนตามที่ตั้งหวังพวกเธอต้องรออีกถึงราวแปดปี สุดท้ายจึงต้องเดินทางกลับเมืองสยามโดยมิได้ศึกษาต่อ แม้ว่าการครั้งนั้นจะไม่เป็นผลสำเร็จ แต่สมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ ก็มิได้ท้อพระทัย ทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้สร้างโรงเรียนผดุงครรภ์ขึ้นและได้เสด็จไปเปิดเมื่อปี พ.ศ. 2440 เพื่อสร้างนางผดุงครรภ์ที่ประกอบวิชาชีพด้วยองค์ความรู้ใหม่ตามพระราชประสงค์     ความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะการสร้างหมอตำแยรุ่นใหม่ต้องใช้เวลา ชาวบ้านชนบทก็ยังคงต้องพึ่งพาหมอตำแยท้องถิ่นไปก่อน เมื่อความรู้นี้ถูกถ่ายทอดออกไปธรรมเนียมการอยู่ไฟในสังคมไทยจึงค่อย ๆ เสื่อมความนิยมลงโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่คนสามารถเข้าถึงแพทย์แผนปัจจุบันได้สะดวก อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีการฟื้นฟูความรู้แพทย์แผนไทยขึ้นมาใหม่โดยนำมาปรับใช้ให้เหมาะสม ยาแผนโบราณหลายชนิดที่ได้ใช้สืบต่อกันมานานและได้รับการวิจัยว่ามีสรรพคุณทางยาจริงก็ได้รับการส่งเสริม เช่นเดียวกับการอยู่ไฟที่มีผู้ให้บริการหลายแห่งโฆษณาชวนเชิญให้มาทดลองการรักษาด้วยองค์ความรู้แบบโบราณ แต่ไม่หนักหนาต้องทนทรมานจนเกิดเหตุอย่างเช่นประเพณีดั้งเดิม