read
interview
09 เม.ย. 2565 | 18:00 น.
ดร. เอมอร โคพีร่า: หมอผู้ผลักดันการใช้ ‘กัญชง’ เพื่อยกระดับจิตวิญญาณ ที่ชีวิตจริงบู๊แหลกยิ่งกว่าหนังแอ็คชัน
Play
Loading...
จากประสบการณ์ทำงานมากกว่า 20 ปี ‘ดร. เอมอร โคพีร่า’ ให้คำปรึกษา ผลักดันวงการแพทย์ทั่วโลกโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ให้หันมาเปิดใจและยอมรับยาที่สกัดออกมาจากพืช (Plant-based Medicine) อย่างกัญชง-กัญชา โดยเฉพาะสารกลุ่มแคนนาบินอยด์ (Cannabinoid) ในการรักษาผู้ป่วย ความพยายามของเธอได้ช่วยชีวิตผู้ป่วยจำนวนมาก ให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทรมาน ซึ่งเธอไม่ได้ช่วยแค่ชีวิต แต่ยังช่วยยกระดับจิตวิญญาณของคนที่ป่วยไข้ ให้จากโลกนี้ไปอย่างสงบโดยไม่ต้องรู้สึกเจ็บปวดอีกต่อไป
ปัจจุบัน ดร.เอมอร โคพีร่า คือประธานกรรมการบริหาร บริษัท
จีนีโอมิกซ์ โกลบอล
จำกัด (Geneomics Global) อีกทั้งยังเป็นผู้นำโครงการนวัตกรรมสุขภาพและสุขภาวะต่าง ๆ ระดับโลกที่โลดแล่นอยู่ในวงการเกือบ 3 ทศวรรษ ทำงานร่วมกับหน่วยงานมากมาย เพื่อช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการแพทย์ที่มุ่งเน้นการใช้
ยาจากพฤกษศาสตร์
ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
แต่ทั้งหมดทั้งมวล ดร.เอมอรในฐานะหมอไทยผู้ใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐอเมริกาเกินค่อนชีวิต ทำได้เพียงพัฒนาประเทศอื่นไกลให้ห่างชั้นจาก ‘บ้านเกิด’ อย่างประเทศไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ เธอจึงเปลี่ยนหมุดหมายการทำงานใหม่ เบนเข็มทิศชีวิตให้กลับมายังดินแดนที่เธอจากมา
ในวันนี้เธอได้ทำให้คนทั่วโลกเห็นแล้วว่าประเทศไทยมีศักยภาพมากเพียงพอที่จะกลายเป็นศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ และศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Medical Hub) โดยมี ‘กัญชง’ เป็นตัวเอกของเรื่อง ผ่านการจัดตั้งศูนย์วิจัยนวัตกรรมกัญชงระดับโลกที่ประเทศไทย
คุณหมอในทุ่งสังหาร
ดร. เอมอร โคพีร่า เกิดที่ถนนสายแรกของประเทศไทย เธอเป็นลูกสาวคนโตจากพี่น้องสองคนในครอบครัวไทยเชื้อสายจีน ชีวิตวัยเด็กส่วนใหญ่หมดไปกับการอ่านหนังสือและนั่งสมาธิ เธอชอบที่จะอยู่ในมุมสงบของตัวเอง และเรียนรู้เรื่องราวโลกภายนอกผ่านหน้ากระดาษและสื่อโทรทัศน์
หลังจากเรียนจบคณะแพทยศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายาเป็นรุ่นแรก เธอก็ได้เรียนรู้ว่าการเรียนหมอคือสิ่งที่เธอรักและภาคภูมิใจ “ช่วงที่เรียนจบเราสมัครเข้าไปทำงานอาสาสมัครที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จากนั้นก็ถูกคัดเลือกให้ไป
ทำงานในคณะแพทย์นานาชาติขององค์กรสหประชาชาติ ในช่วงหลังเกิดเหตุการณ์ทุ่งสังหาร (Killing field) ที่กัมพูชา เราได้เห็นความโหดร้ายของสงคราม เห็นความเจ็บป่วย ความอดอยากหิวโหย และความทุกข์ทรมาน ภาพตรงนั้นยังคงติดอยู่ในความทรงจำ ทำให้เราตัดสินใจอย่างแน่วแน่แล้วว่าจะต้องทำงานช่วยเหลือผู้คน
”
หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น เธอตัดสินใจโยกย้านถิ่นฐานไปเรียนต่อที่สหรัฐฯ ในคณะแพทย์ศาสตร์เช่นเดียวกัน เพื่อเติมเต็มสิ่งที่เธอยังคงเฝ้าตามหามาตลอด นั่นคือวิธีการรักษาเพื่อนมนุษย์ให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทรมาน โดยระหว่างเรียนดร.เอมอรได้รับการดูแลแนะนำอย่างใกล้ชิดจากผู้นำด้านการดูแลสุขภาพองค์รวมและการแพทย์บูรณาการอย่างต่อเนื่อง
ย้อนกลับไปเมื่อประมาณปี 2017 ดร.เอมอรเพิ่งเดินทางกลับประเทศไทยจริงจังเป็นครั้งแรก หลังจากห่างบ้านเกิดไปนาน และได้พบว่าสุขภาพของคนไทยย่ำแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด “ตอนนั้นที่เรากลับมายังไม่มีแรงบันดาลใจว่าอยากจะทำอะไรที่เมืองไทย แต่หลังจากเปิดดูข้อมูลตัวเลขอะไรต่าง ๆ ก็พบว่าคนไทยป่วยกันเยอะขึ้น อย่างเช่น
TOFI Generation (thin-outside-fat-inside) เหมือนกับคนไทยร่างเล็ก ๆ ที่ข้างนอกตัวเล็กแต่ข้างในเต็มไปด้วยโรค ร่างกายไม่แข็งแรง”
ส่วนกลุ่มโรคยอดฮิตอย่างเบาหวาน ความดัน หัวใจ และมะเร็ง ก็ยังคงเป็นโรคที่คนไทยและคนทั่วโลกกำลังรับมือกันอยู่ แต่อย่าเพิ่งตกใจไป เพราะเธอบอกว่าโรคทุกโรคที่เกิดขึ้น กว่า 80% รักษาได้ เพียงแค่ต้องรู้สาเหตุของโรค และต้องไม่ใช่อาการเจ็บป่วยจากอุบัติเหตุหรือความผิดปกติของยีน ซึ่งหนึ่งในแนวทางการรักษาที่เห็นผลมากที่สุดคือศาสตร์ที่เรียกว่า เวชศาสตร์การเปลี่ยนแปลง (Transformation Medicine) เป็นการบูรณาการศาสตร์ทางเลือก ตั้งแต่เวชศาสตร์จีโนม การใช้กัญชาทางการแพทย์ อีพีเจเนติกส์ พฤกษศาสตร์พื้นบ้าน และเวชศาสตร์ที่ใช้พืช
หรือจะพูดสรุปรวมง่าย ๆ คือการรักษาโรคโดยใช้ธรรมชาติบำบัด ตั้งแต่จิตใจ ร่างกาย และลงลึกไปจนถึงจิตวิญญาณ
ศูนย์วิจัยนวัตกรรมกัญชงระดับโลก
แต่กว่าที่ดร.เอมอร จะเข้าใจศาสตร์ทางเลือก เธอต้องขลุกตัวอยู่แต่ในห้องวิจัย เพื่อทำการศึกษาอย่างจริงจัง ทั้งปลูก สกัด สูด ดม จนสำลัก ทุ่มเทให้กับการวิจัยชนิดที่ว่าทำงานจนไม่ได้หลับไม่ได้นอน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ซึ่งเธอได้เล่าว่าช่วงแรกที่นำสารกลุ่มแคนนาบินอยด์เข้ามารักษาคนไข้ ส่วนใหญ่มักเป็นคนที่มีอาการใกล้ถึง ‘เดดไลน์’ แล้วเต็มที
“เราเริ่มใช้สารกลุ่มแคนนาบินอยด์มาประคองอาการคนไข้ที่แอตแลนต้า, จอร์เจีย ประเทศสหรัฐฯ ส่วนใหญ่คนไข้ที่ถูกส่งเข้ามามักจะถูกวินิจฉัยว่าจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน มากสุดก็ 1-2 เดือน หรือบางกรณีเขาอาจจะต้องกินยาตลอดชีวิต แต่หลังจากมารักษากับเราเขาก็มีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น
“ส่วนคนไข้คนไหนที่เซลล์ถูกทำลายแล้ว เราไม่สามารถช่วยเขาได้จริง ๆ เราก็จะช่วยให้เขาจากโลกนี้ไปอย่างสงบโดยไม่ต้องทรมาน ไม่เจ็บปวด เพราะเราไม่สามารถไปยับยั้งหรือหยุดการจากไปของเขาได้
“คอนเซ็ปต์ในการรักษาของเราคือการใช้วิธีการรักษาตัวเองเพื่อป้องกันโรค (Self-care) โดยเข้าไปหาสาเหตุของโรค ว่าเป็นโรคได้อย่างไร เรารักษาสาเหตุ เราไม่ได้รักษาอาการ เพราะโรคกว่า 80% ป้องกันได้” เธอกล่าวพลางเขียนบนกระดาษ อธิบายสาเหตุของโรคตั้งแต่ เบาหวาน ความดัน หัวใจ โรคอ้วน โรคนอนไม่หลับ ไปจนถึงโรคยอดฮิตของมนุษย์วัยทำงานอย่างการปวดเมื่อย
ขณะที่เรากำลังจด ๆ จ้อง ๆ กับข้อมูลตรงหน้าที่เธอเผยรายละเอียดออกมา ผ่านลายมือคุณหมอที่อ่านง่ายกว่าที่คิด ด้วยท่าทางสบาย ๆ และรอยยิ้มใจดีของเธอ ทำให้เรารู้สึกสนุกกับข้อมูลตรงหน้า กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็ผ่านไปเกือบ 1 ชั่วโมงแล้ว
“สิ่งหนึ่งที่ทำให้เรากลับมาประเทศไทยคือ จิตใต้สำนึกลึก ๆ ของเราบอกว่าเราต้องกลับบ้าน ต้องเอาความรู้ที่มีกลับมาพัฒนาประเทศไทย ช่วยคนไทย ช่วยประเทศเรา เพื่อลดความเจ็บป่วยของประชาชนในแง่ของระบบสาธารณสุข เพื่อให้พวกเขามีร่างกายที่แข็งแรงไม่เจ็บไม่ป่วย เพียงแค่ต้องเข้าใจสาเหตุของโรค”
โดยเป้าหมายหลักของการจัดตั้งศูนย์วิจัยนวัตกรรมกัญชงระดับโลก หรือ Global Hemp Innovation Collaboration คือการประกาศก้องให้โลกรู้ว่าเมืองไทยเรามีศักยภาพ มีความสามารถเพียงพอที่จะเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์
แต่ก่อนอื่นเลย สิ่งที่สำคัญในการผลักดันให้อุตสาหกรรมนี้ขับเคลื่อนไปได้คือ ‘ความร่วมมือ’ จากทุกภาคส่วน “ความร่วมมือคือสิ่งสำคัญมาก แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือการทำยังไงให้เกษตรกรของเรามีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ต้องติดอยู่ในกับดักแห่งความยากจน เพราะอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ผลิตยา อาหาร หรือว่าผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่รายย่อย ล้วนต้องพึ่งพาเกษตรกร”
เธอเล่าพร้อมกับหยิบกระดาษแผ่นใหม่ขึ้นมาวาดเส้นโค้ง 1 เส้น และวาดเพิ่มอีกสามสี่เส้นเรียงต่อกันเป็นวัฎจักรขนาดย่อม พร้อมกับเขียนกำกับไว้ด้านบนของแต่ละเส้นว่าเป็นตัวแทนของอะไร มีตั้งแต่ ผู้ออกกฎหมาย ผู้ประกอบการ ไปจนถึงเกษตรกรผู้ผลิต และผู้บริโภค
ส่วนเหตุผลจริง ๆ ในการจัดตั้งศูนย์วิจัยนวัตกรรมกัญชงระดับโลกขึ้นมาที่ประเทศไทยนั้น ดร.เอมอร เล่าว่าเมื่อประมาณปี 2016 มีเพื่อนที่มมหิดล เขียนจดหมายมาหาเธอด้วยลายมือล้วน ๆ ส่งตรงมาจากประเทศไทย ตอนแรกก็ไม่ได้เอะใจอะไร แต่หลังจากมีฉบับที่ 2 ฉบับที่ 3 ส่งมาก็ทำให้เธอรู้ว่าคนสำคัญที่สุดในชีวิตของอดีตรูมเมทคนนี้ ถูกโรคร้ายพรากชีวิตไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ
“เรามารู้ว่าสามีของเพื่อนเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ซึ่งเพื่อนเขาก็รู้มาว่าเรามีความเชี่ยวชาญด้านความผิดปกติของยีน เพราะเราศึกษามาตลอด 20 – 30 ปี เราก็เลยกลับมาคิดแล้วว่าหรือจริง ๆ เราควรกลับประเทศ กลับบ้านเกิดของเรา เพื่อเอาความสามารถตรงนี้มาช่วยประเทศ ช่วยคนไทย นี่ก็เลยเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่กลับมาเมืองไทย”
ศูนย์วิจัยนวัตกรรมกัญชงที่เธอจัดตั้ง ได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญระดับโลกด้านกัญชง - กัญชา มารวมทีมกันอย่างคับคั่ง มีตั้งแต่ ศาสตราจารย์ ดร. เจย์ เอส. โนลเลอร์ ผู้อำนวยการ ศูนย์นวัตกรรมกัญชงโลก ซึ่งเป็นผู้ค้นพบสารจากกัญชง-กัญชา ใช้สร้างสูตรมาส่งเสริมการรักษาโควิด-19, ดร.เจอรัลด์ รอส ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาการสกัด และการทำให้สารจากกัญชงกัญชาบริสุทธิ์ และ บิลลี่ มอร์ริสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการปลูกและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยี
“เราเป็นแพทย์ก็จริง แต่เราไม่สามารถทำทุกอย่างได้ด้วยตัวเองได้ การทำงานคนเดียวยังไงก็ไม่เวิร์ก เราต้องมีทีมที่ช่วยซัพพอร์ตกันและกัน” จึงไม่น่าแปลกใจที่เธอได้ผนึกกำลัง
คนเก่งเสมือนการรวมทีม ‘อเวนเจอร์ส’
เพื่อให้ศูนย์วิจัยฯ แห่งนี้ มีศักยภาพทัดเทียมระดับโลก
“เราต้องการทำอะไรบางอย่างที่มันยิ่งใหญ่ สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ศูนย์วิจัยฯ แห่งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งความภูมิใจที่มันสำเร็จออกมาเป็นรูปธรรม หลังจากเราจัดตั้งศูนย์วิจัย 3 แห่งที่ประเทศสหรัฐฯ มาก่อนแล้ว ซึ่งที่ประเทศไทยเป็นสาขาที่ 4 ของ
จีนีโอมิกซ์ โกลบอล
”
Dr.Fearless
แม้ชีวิตการเป็นหมอจะมีงานยุ่งตลอดเวลา แต่บทสนทนาในอีก 1 ชั่วโมงให้หลัง ดร.เอมอร บอกกับเราว่า จริง ๆ การเป็นหมอมันมีอะไรสนุกกว่าที่คิดเยอะมาก เธอได้ลองทำอะไรหลายอย่างที่คิดว่าในชีวิตจะไม่ได้ทำ “โดยธรรมชาติของเรา เราเป็นคนช่างสงสัย ขี้สงสัยตลอดเวลา และเราต้องเรียนรู้ทุกอย่างด้วยตัวเอง ต้องลองเอง จับเอง ถึงจะเอาไปพูดบรรยายหรือให้คำปรึกษาคนอื่นได้ ถ้าเราแค่อ่านหนังสือ เราก็พูดไม่ได้”
“แต่อีกแง่หนึ่งเราคิดว่ามันมาจากจิตวิญญาณมากกว่า มาจากการที่เราฝึกจิตตั้งแต่เด็ก ๆ จนพอเราไปทำงานที่สหรัฐฯ เพื่อนร่วมงานก็จะเรียกเราว่า ‘Dr.Fearless’ เพราะเราไม่กลัวอะไร เราอยากรู้ เราสงสัยทุกอย่าง อยากลองทำไปหมด” (หัวเราะ)
ความไม่เกรงกลัวทุกอย่างในชีวิต คงเป็นอีกหนึ่งตัวแปรหลักที่ทำให้เธอใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ในทุกเรื่อง ตั้งแต่การผลักดันให้เกิดศูนย์วิจัยฯ กัญชงในประเทศไทยได้จนสำเร็จ ไปจนถึงกิจกรรมยามว่างที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะเธอคือสุดยอดนักดำน้ำ ผู้มีประสบการณ์ท่องทะเลลึกมานานกว่า 15 ปี ผ่านมาแล้วหลายที่ตั้งแต่ดำน้ำในสถานที่ที่ใครต่อใครต่างหวาดหวั่นอย่าง Blue Hole ที่เบลิซ อเมริกากลาง ดำน้ำเพื่อไปเยี่ยมคุณปู่
จอร์จผู้เดียวดาย (Lonesome George) ซึ่งเป็นเต่ายักษ์สายพันธุ์เกาะปินตาตัวสุดท้ายที่ตายลงเมื่อปี 2012 และไปดูสิ่งมีชีวิตที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างวาฬ ที่กำลังให้กำเนิดอีกหนึ่งชีวิตขึ้นมา
ยังไม่หมดเพียงเท่านั้นเธอยังเดินเท้าจาก
ประเทศโปรตุเกสเข้าสู่สเปน เป็นเวลา 1 เดือน โดยใช้เส้นทางที่เรียกว่า Camino de Santiago หรือ Way of St. James เป็นเส้นทางแสวงบุญ เพื่อไปยังอาสนวิหาร Santiago de Compostela ในแคว้นกาลิเซียทางตะวันตกเฉียงเหนือของสเปน
“เราเคยนั่งสมาธิในห้องมืดนานติดต่อกัน 21 วัน มืดแบบไม่มีอะไรเลย เพื่อที่จะเข้าใจความเป็นไปของชีวิตและจิตวิญญาณ จริง ๆ ตลอดเวลาที่ผ่านมาเรารู้สึกว่าการที่มนุษย์เกิดมา ทุกคนล้วนมีมิชชัน มีภารกิจที่ต้องทำเพื่อรับใช้สังคม”
“การกลับมาสู่รากเหง้าของตัวเองจึงเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ต้องทำให้สำเร็จ และศูนย์วิจัยฯ แห่งนี้คือมิชชันสำคัญ เพื่อที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล”
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3559
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6975
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
871
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Social
Interview
กัญชง
กัญชาทางการแพทย์
ดร.เอมอร โคพีร่า
Geneomics Global
Global Hemp Innovation Collaboration
ศูนย์วิจัยนวัตกรรมกัญชงระดับโลก
Dr. Aimon Kopera