หมายเหตุ: บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของหนัง
พิจารณาจากหน้าหนังอย่างผิวเผิน The Power of The Dog ซื่อตรงกับภาพลักษณ์อันแสนคุ้นชินจากขนบหนังคาวบอย ที่อยู่คู่จอภาพยนตร์มาอย่างช้านาน
ภาพของชายหนุ่มหยาบกร้านบนอานม้า ภายใต้ทัศนียภาพอันเวิ้งว้างกว้างใหญ่ของขุนเขาและดินลูกรัง คือภาพจำและภาคบังคับที่หนังตระกูล Western ขานรับความเป็นชายมานับร้อย ๆ ปี หากแต่เมื่อเพ่งพินิจให้ถ้วนถี่ หนังเรื่องนี้กลับเสนอเหรียญอีกด้านที่พลิกมุมมองของหนังแนวนี้ที่น้อยครั้งนักจะมีคนพูดถึงไว้อย่างคมคายและน่าทึ่ง
เรื่องราวของ The Power of The Dog กล่าวถึงช่วงค.ศ. 1925 โดยเล่าถึงพี่น้องที่นิสัยต่างกันอย่างสุดขั้ว “ฟิล” คนพี่ที่หยาบกร้าน แข็งกร้าว เนื้อตัวมอมแมมที่เกิดจากการต้อนวัวจากเมืองหนึ่งมายังอีกเมืองหนึ่ง แม้เขาจะเป็นคนโผงผาง และกักขฬะ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เขาคือพิมพ์เขียวของนิยามความหมายของสุภาพบุรุษ ในแบบที่พระเอกหนังคาวบอยเคยเป็นมา รูปร่างสะโอดสะอง และมีสภาวะผู้นำของเขา ได้รับการยอมรับจากลูกน้องที่ยินยอมให้เขาอยู่แถวหน้าของหัวขบวนของคำว่า “ลูกผู้ชาย”
ตรงกันข้ามกับ “จอร์จ” คนน้อง ที่สุภาพอ่อนโยน, สะอาด, เงียบขรึม และมีความเป็นปัญญาชน แต่เมื่อเขาอยู่ท่ามกลางสังคมที่ผู้นำคือพี่ของเขา จอร์จก็เป็นเพียงไอ้อ้วนที่เป็นลูกไล่และเป็นคนไม่เอาไหนในสายตาของผู้เป็นพี่อยู่เสมอ
กระทั่งวันหนึ่งจอร์จลุกขึ้นทำในสิ่งที่ไม่คาดคิด เมื่อเขารับ “โรส” หญิงม่ายลูกติดเข้ามาอยู่ในชีวิต ฟิลเป็นเดือดเป็นแค้นที่บ่วงบาศที่เขาอุตส่าห์รัดน้องชายไว้ ถูกคลายปมจากหญิงม่ายที่รู้จักกันได้ไม่นาน
ความรักดูจะเป็นพิษไม่ใช่น้อยสำหรับผู้ชายอย่างฟิล เขาไม่เคยคิดรักใคร และแน่นอนว่าไม่มีใครที่คิดจะรักเขา มันจึงนำมาซึ่งการดูถูกดูแคลนน้องสะใภ้ด้วยถ้อยคำอันโหดร้ายและสายตาที่เย็นชา ไม่ว่าจะเป็นคำดูแคลนที่มองว่าโรสจ้องแต่จะจับน้องชายเขาเพื่อหวังสมบัติ ไปจนถึงการกระชากความมั่นใจด้วยการเล่นแบนโจเพื่อกลบเสียงเปียโนจากเธอ
และอีกหนึ่งที่เป็นเหยื่อของ “ความเป็นชาย” ที่ฟิลได้หยามหยัน คือ “ปีเตอร์” ลูกติดของโรส ด้วยท่าทางอ่อนแอและตุ้งติ้งทำให้เขาไม่อาจรอดพ้นการดูแคลนจากฟิล ตั้งแต่แรกพบ ฟิลมอบประสบการณ์ที่ลืมไม่ลงให้กับปีเตอร์ที่บรรจงทำดอกไม้กระดาษเพื่อประดับไว้ให้เป็นสิ่งสวยงามบนโต๊ะอาหาร หากแต่ความเป็นชายกลับตอบแทนด้วยเพลิงเผาไหม้ที่นำไปสู่ไฟแค้นและการตอบแทนอย่างสาสมในภายหลัง
ท่ามกลางการเติบโตของศิลปะที่เรียกว่าภาพยนตร์นั้น ความศักดิ์สิทธิ์ของหนังคาวบอย ถูกวางตัวประดุจอนุสาวรีย์ปูนปั้นที่ตั้งตระหง่านอย่างโดดเด่นตั้งแต่ยุคสมัยหนังเงียบจนมาถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นคาวบอยใจซื่อมือสะอาดอย่างจอห์น เวยน์ จนมาถึงคาวบอยแดนเถื่อนในยุคคลินต์ อีสต์วู้ด แม้ตัวตนจะเปลี่ยนไป แต่เนื้อหาข้างในที่เสนอภาพภาพ “ชายเป็นใหญ่” ก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปเลย มันมักถูกวางไว้อย่างเคร่งครัดเพื่อบอกเล่าถึงอัตลักษณ์อันโดดเด่น ความกำยำของชายชาตรี และศักดิ์ศรีของการยึดมั่นถือมั่นมาตลอดหลายชั่วอายุคน ภาพลักษณ์ของฟิล จึงเป็นภาพบังคับที่ถูกวางไว้ดุจตำราเล่มใหญ่ที่วางไว้บนหิ้งไม่มีใครกล้าที่จะไปแตะต้องมัน
ยิ่งภาพของคาวบอยที่ต้อนวัวให้อยู่กับร่องกับรอย ก็ถูกวางไว้เป็นตัวแทนของชายหนุ่ม (คาวบอย) ที่พยายามใช้กฎแห่งธรรมชาติและความแข็งแกร่งของเพศสภาพ ต้อนวัว (หากจะกล่าวว่าวัวนั้นทำหน้าที่ผลิตนม และนมคือตัวแทนของหญิงสาว) ให้หันซ้ายย้ายขวาไปตามการบังคับที่ผู้ชายจะพาไป ตรงกันข้ามกับภาพลักษณ์ใสสะอาดสุภาพของจอร์จ ที่กลับกลายเป็นตัวตลกในแดนเถื่อนอย่างปฏิเสธไม่ได้
แม้นหากมองว่าสมองนั้นเป็นสิ่งสำคัญ แต่พละกำลังอันแข็งแกร่งกลับอยู่เหนือทุกสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ดังนั้นการที่จอร์จตัดสินใจแต่งงานกับหญิงม่ายอย่างโรส จึงไม่อาจจะเป็นสิ่งที่ฟิลจะรับได้ ยิ่งเมื่อความรักเกิดขึ้นกับหญิงสาวที่มีตำหนิ คือการทำลายกฎเกณฑ์ที่เคร่งครัดมาอย่างช้านาน เสียงเปียโนที่พริ้วไหว ไม่อาจต้านเสียงดีดเบนโจอันแสนดุดันของฟิลได้เลย ความแพ้พ่ายของโรส ต้องลงเอยด้วยการข่มตานอนด้วยฤทธิ์ของสุรา และก้มหน้ารับชะตาอันน่าเวทนาที่ฟิลโบยเฆี่ยนมันต่อไปอย่างกล้ำกลืน
หากแต่ตัวแปรสำคัญคือการมาของปีเตอร์ เด็กหนุ่มติ๋ม ๆ ที่ไม่วางตัวเป็นไม้ใหญ่ แต่เป็นไผ่ลู่ลมที่โอนเอนไปตามแรงลมพายุที่ฟิลได้พัดพาและประเคนให้ เขาอยู่ท่ามกลางแรงเสียดทาน ทั้งเสียงติฉินนินทาของลูกน้อง หรือกระทั่งการโดนตีแสกหน้าด้วยคำพูดเจ็บแสบของฟีลเอง ที่ตราหน้าปีเตอร์ว่าเป็น “ไอ้ตุ๊ด” อย่างเย็นชา การรักสวยรักงามกลับเป็นภัยที่ผู้ชายทุกคนต่างตั้งแง่รังเกียจ โดยเฉพาะฟิลเองที่พยายามใช้ความสกปรกโสมมละเลงทั้งตัวและหัวใจให้หยาบกร้านเพื่อคงสภาพไว้ซึ่งคำว่า “ชายชาตรี”
หากแต่ตัวตนของปีเตอร์ กลับเป็นกระจกสะท้อนภายใน ที่ปลุกตัวตนที่หลับไหลที่ตะกอนนอนก้นในจิตใจของฟิลให้ขุ่นมัวอีกครั้ง เมื่อความสะอาดสะอ้านของปีเตอร์ค่อย ๆ ขจัดคราบไคลที่เกาะกินฟิลมาอย่างช้านาน ฟีลกลับได้ชำระล้างร่างกายให้สะอาด เพื่อต้อนรับตัวตนที่แท้จริงที่อยู่มาช้านานของเขาให้ฟื้นคืน…แม้ว่ามันจะสายเกินไปแล้วก็ตาม
The Power of The Dog สร้างจากนิยายที่ตั้งคำถามกับเพศสภาพที่มาก่อนกาลของโธมัส ซาเวจ แม้จะตีพิมพ์มาตั้งแต่ปี 1967 ก่อนที่ทิ้งช่วงเวลาอย่างยาวนานจนแปรรูปจากงานเขียนสู่ภาพยนตร์ ซึ่งระยะเวลาที่ทิ้งช่วงนี้ ไม่นานหรือเร็วเกินไปที่จะบอกยุคสมัยที่กำลังเปลี่ยนแปลงในกาลปัจจุบัน ผ่านตัวละครทั้ง 4 ที่ถูกแทนค่าถึงตัวตนแห่งยุคสมัยในแต่ละยุคได้อย่างแนบเนียน
ฟิลคือตัวแทนของคนยุคเก่า หัวโบราณ ยอมหักไม่ยอมงอ เขาตั้งมั่นอยู่กับจารีตประเพณีแบบคาวบอยที่สืบต่อกันมายาวนานอย่างเคร่งครัด และไม่อาจทนได้หากคลื่นลมแห่งการเวลาจะพัดพาความเปลี่ยนแปลงมันไป แม้ภายในจิตใจ ความปรารถนาจะพยายามสู้รบกับภาพลักษณ์ภายนอกอยู่ตลอดเวลาก็ตาม เราจึงเห็นทั้งความแข็งแกร่งในช่วงต้น, ความหยาบช้าในช่วงกลาง และความเปราะบางในช่วงท้าย จากตัวละครที่คนดูพร้อมที่จะจงเกลียดจงชัง แปรเปลี่ยนสู่บุคคลที่ถูกจารีตกักขังหน่วงเหนี่ยวที่ต้องซุกซ่อนตัวตนข้างในที่น่าเวทนา ได้อย่างแสนสงสาร
ขณะเดียวกัน คู่รักจอร์จและโรส ก็เป็นตัวแทนของคนยุคเก่าเช่นกัน แต่เป็นคนยุคเก่าที่ต้องยอมรับชะตากรรมรันทดที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง แม้พวกเขาจะมีความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงมัน แต่กระแสเชี่ยวกรากของยุคสมัยอันคร่ำครึ ก็พัดพาให้พวกเขาต้องก้มหน้ารับชะตากรรมที่ไม่อาจแข็งขืน จอร์จอาจจะรักและเป็นห่วงโรสอย่างสุดหัวใจ แต่เขาก็ปล่อยปละละเลยให้โรสต้องถูกทารุณจิตใจอย่างไม่น่าให้อภัยเช่นกัน
ตรงกันข้ามกับปีเตอร์ ตัวละครที่อาจจะถูกมองว่าเป็น หมา (DOG) ในสายตาใครต่อใคร ที่เป็นทั้งที่รักและเป็นที่หวงแหนของโรส, เป็นความเฉยชาของจอร์จ และเป็นที่รังเกียจในตอนต้นของฟิล หากแต่ปีเตอร์คือตัวแทนของคนยุคใหม่ที่ที่พร้อมกลบทับความโบราณคร่ำครึโดยเฉพาะตัวของฟีล ไม่ต่างกับผู้ถือครองกาลเวลาปัจจุบันของคนยุคนี้
หากฟีลคือตัวแทนของขุนเขาที่ตั้งตระหง่านและผยองหยิ่งในความแข็งแกร่งของตัวตน ปีเตอร์นั้นก็ไม่ต่างกับเมฆลมที่เคลื่อนคล้อยอย่างไร้รูปทรงและทิศทางที่สายตาของผู้ใหญ่มักมองเด็กเหล่านี้แปลกแยกไม่เป็นโล้เป็นพาย แต่จงอย่าลืมว่า ถึงอย่างไรเมฆก็มีตำแหน่งอยู่เหนือขุนเขา และพร้อมจะกลั่นตัวเป็นเม็ดฝนค่อย ๆ ชะล้างจนขุนเขาเหล่านั้นค่อยผุกร่อนไปอย่างเชื่องช้า แท้จริงแล้วปีเตอร์อาจจะไม่ใช่ DOG อย่างถูกปรามาสไว้ หากแต่เป็น GOD ที่มาเพื่อลงทัณฑ์ผู้คนที่โง่เขลาเบาปัญญา เสียมากกว่า
ดังนั้น The Power of Dog ผลงานการกำกับของ เจน แคมเปี้ยน อาจจะมีนัยที่มากกว่าการวิพากษ์เพศสภาพ อาจจะมากกว่าการวิจารณ์โลกแห่งปิตาธิปไตยที่ชายเป็นใหญ่คือผู้กุมอำนาจโดยเฉพาะโลกของหนังคาวบอย แต่เธอกำลังบอกถึงโลกที่เปลี่ยนไปอย่างไม่หยุดนิ่ง การแข็งข้อแข็งขืนของคนยุคใหม่ อาจไม่ใช้กำลังเข้าปะทะเหมือนอย่างที่คนรุ่นกระทำอย่างที่แล้วมา แต่อาจจะใช้เลื่อยทื่อ ๆ ค่อยแล่ขา ให้สนิมกัดกินคนรุ่นเก่า ที่กว่าจะรู้ตัวก็ถูกบาดทะยักลุกลามจนคนรุ่นเก่าที่ไม่ยอมเปลี่ยนตัวเองไปตามกาลเวลาล้มหายตายจากก็เป็นได้ หนังเรื่องนี้จึงถึงพร้อมที่จะเป็นทั้งเกราะกำบังที่แข็งขืนสำหรับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ และเป็นอาวุธชีวภาพที่พร้อมล้มล้างความคร่ำครึของคนยุคให้หมดสิ้นไปเช่นกัน