read
interview
11 เม.ย. 2565 | 10:41 น.
ติ๊ก ชิโร่: มือกลองที่เริ่มจากของในห้องครัว สู่ศิลปินที่รักดนตรีมามากกว่า 35 ปี อย่างไม่ยอมเปลี่ยนแปลง
Play
Loading...
‘ออกมาเต้น’, ‘มาจอยกัน’, ‘ไชโย’, ‘รอรับได้เลย’, ‘รักไม่ยอมเปลี่ยนแปลง’ คือไม่กี่เพลงจากทำเนียบเพลงฮิตจำนวนมาก ที่สร้างสรรค์และนำเสนอโดยชายคนเดียวกัน ชื่อของเขาคือ ‘ติ๊ก ชิโร่’ ศิลปินชื่อดังคนหนึ่งของไทย ที่เรียกได้ว่าคร่ำหวอดกับแวดวงเพลงไทยมาอย่างยาวนาน มากกว่า 35 ปี ตามคำพูดของเจ้าตัว
เมื่อไม่นานมานี้ ติ๊ก ชิโร่ ก็เพิ่งปล่อยเพลงใหม่ในชื่อว่า ‘หยุดเสียที’ โดยเพลงนี้เป็นผลงานชิ้นเปิดหัวในโปรเจกต์ NFT Music TIK SHIRO x LOMABin ที่แฟนเพลงและนักสะสมสามารถครอบครองได้ในรูปแบบ NFT (Non Fungible Token) ซึ่งติ๊ก ชิโร่ ก็ได้เล่าให้เราฟังว่า เพลง ‘หยุดเสียที’ นี้เปรียบเสมือนภาคต่อของ ‘รักไม่ยอมเปลี่ยนแปลง’ เพลงดังเพลงหนึ่งของเขา โดยเพลง ‘รักไม่ยอมเปลี่ยนแปลง’ นี่เอง คือเพลงที่ชุบชีวิต ติ๊ก ชีโร่ ในวันที่อยู่ในช่วงเวลาชี้เป็นชี้ตายว่าชายคนนี้จะร่วงหล่น หรือกลับมาโลดแล่นในเส้นทางดนตรีได้อีกครั้ง
The People ชวน ‘พี่ติ๊ก’ ย้อนคุยถึงวันแรกที่เขาเริ่มสนใจดนตรี ด้วยวัยเพียง 12 ย่าง 13 ที่เขามีความฝันว่า “จะต้องเป็นนักดนตรีที่ดีให้ได้ จะต้องเป็นนักแต่งเพลงที่ดีให้ได้ จะต้องทำดนตรีของไทยให้ก้าวไปสู่ระดับสากลให้ได้” และการก้าวเท้าตามความฝันตั้งแต่วันที่ยังใช้คำนำหน้าว่าเด็กชาย ด้วยการหัดแต่งเพลงพลางเล่นเมโลเดียน เรียนกีตาร์ด้วยวิชาครูพักลักจำ และนำอุปกรณ์เครื่องครัวมาประกอบกันเพื่อฝึกตีต่างกลองชุด - ด้วยความฝันนั้น ติ๊ก ชิโร่ต้องผ่านเรื่องราวมากมาย กว่าจะกลายเป็นชายที่สามารถบอกตัวเองได้ว่า เขาประสบความสำเร็จไม่น้อยแล้ว และหลังจากนี้ หากต้องตายก็ไม่เสียดายชีวิต และนี่คือเรื่องราวของเขา
The People: อะไรคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจดนตรี
ติ๊ก ชิโร่: คงจะต้องย้อนเวลากลับไปสมัยเด็ก ๆ คือมีอยู่สองสามอย่างที่มันตอบโจทย์ความรู้สึกของเด็กซนคนหนึ่ง คือเรื่องของการ์ตูน แล้วก็ดนตรีที่มาจากการ์ตูน 2 อย่างนี้มันจะผสมผสานเนื่องด้วยเราฟังเพลงมาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้วก็ส่วนหนึ่งการวาดภาพกับดนตรีมันเป็นศิลปะที่ใกล้กันมาก ตอนเด็ก ๆ ก็ไม่ได้คิดเหมือนกันว่าเราจะมาทางด้านดนตรี เพราะว่าในยุคสมัยก่อนก็ค่อนข้างยากเหมือนกัน ถ้าสมมติใครสักคนหนึ่งจะมาเรียนดนตรี ไม่เหมือนยุคสมัยนี้ ยุคสมัยนี้ครูคนแรกของเด็กรุ่นใหม่หลาย ๆ คนก็คือ YouTube แต่สมัยก่อนไม่ใช่อย่างนั้น ต้องใช้ลักษณะที่พิเศษที่สุดเลยคือ ครูพัก แล้วก็ลัก แล้วก็จำ
เพราะฉะนั้นก็จะมีครูเพลงที่แต่งเพลง ก็จะมีนักแต่งเพลงที่เป็นหัวหน้าวงดนตรี เหมือนยุคสมัยสุนทราภรณ์ก็จะคล้าย ๆ แบบนั้น แล้วจะเป็นตระกูล มีซุ้มตรงนั้น วงดนตรีวงนี้วงนั้นนะครับ แล้วก็จะมีคนเดินทางเข้ามา ใครมีความสามารถทางด้านร้องเพลงก็มา ใครอยากจะเล่นดนตรีเข้ามาฝึกเข้ามาฝน ค่อย ๆ ไต่เต้ามาทีละเล็กทีละน้อย แต่ถ้าสมมติว่าจะเข้าไปเรียนในโรงเรียนสอนดนตรีก็อาจจะต้องลำบากนิดหนึ่ง สมัยก่อนก็ไม่ได้แพร่หลายเหมือนในยุคปัจจุบันนี้ แล้วก็จะสังเกตเห็นว่ามาตรฐานคนดนตรีของเด็กในยุคสมัยนี้จะค่อนข้างสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็เพราะว่าใกล้ชิดกับครู ใกล้ชิดกับโรงเรียนและในคอนวีเนียนสโตร์ ในห้างอะไรต่าง ๆ ก็จะมีโรงเรียนสอนดนตรี สอนกลอง สอนกีตาร์ สอนเบส สอนไวโอลิน สอนเปียโนเยอะแยะมากมาย ก็ทำให้มาตรฐานดนตรีของเด็กในยุคนี้น่าจะพูดได้ว่าดีกว่าในยุคสมัยก่อน
ส่วนหนึ่งที่เป็นจุดผลักดันให้ผมมาเป็นนักแต่งเพลงก็คือ เริ่มแต่งเพลงตั้งแต่อายุ 13 ขวบ แล้วก็ผลักดันตัวเองเพื่อเก็บหอมรอมริบไปซื้อกีตาร์ แล้วก็มาหัดเล่นกัน เริ่มจาก IS Song Hits บ้าง หนังสือเพลงนี่ต้องซื้อเป็นตั้ง ๆ เหมือนกัน เปิดดูว่าเขาเล่นคอร์ดอะไรอย่างไร แล้วก็ศึกษาเอา
แต่หลังจากนั้นก็คิดว่าตัวเองเนี่ยน่าจะเหมาะสำหรับ 2 ด้านก็คือด้านจิตรกรรมเป็นงานศิลปกรรม แล้วก็ดนตรี ก็เลยเปลี่ยนแนวของตัวเองจากที่ตั้งใจว่าจะเรียนมาทางด้านของเกษตร ก็ต้องเปลี่ยนตัวเองมาทางด้านดนตรีแล้วก็ศิลปกรรม ดนตรีกับศิลปกรรมก็จะใกล้กัน อย่างเช่นเพื่อนรุ่นพี่ที่เรียนอยู่ในตึกเดียวกันก็จะเป็นพี่หงา คาราวาน พี่พงษ์เทพ กระโดนชํานาญ เพื่อนร่วมสถาบันก็จะมีเสือ ธนพล มีปรัชญา ปิ่นแก้ว แล้วก็อีกหลาย ๆ คน
เผอิญ ‘โต้ ชิริก’ คนนี้เขามีความหวัง มีความฝันว่าอยากจะพัฒนาวงการดนตรี อยากจะเป็นนักแต่งเพลงที่เชี่ยวชาญ อยากจะเป็นนักดนตรีที่เชี่ยวชาญ แล้วก็อยากจะนำเสนอดนตรีของไทยเข้าไปสู่ในระดับสากล ซึ่งมันก็เป็นความฝันของเด็กคนหนึ่งซึ่งน่าจะเรียกได้ว่าเป็น impossible dream เป็นความฝันที่คงเป็นจริงไม่ได้
แต่ในเมื่อมีความแข็งแรง มีความมุ่งมั่นในสิ่งนั้นก็ทำให้เรามีความมานะ มีความตั้งอกตั้งใจอย่างมาก การศึกษาก็จะเป็นการศึกษาต่อเนื่องไป อย่างเช่นมีคุณครูที่เขาเรียนจบมาจากสถาบันต่าง ๆ มาแล้วก็เข้าไปเรียน สามารถพูดได้เลยว่าวงดนตรีของเรา ตั้งแต่วงเดอะ ดิสค์, วงดิสโก้คิสส์ มาเป็นเดอะเซเลเบรชั่น มาเป็นริทึ่มมิกซ์ แล้วก็นั่นน่าจะเป็นจุดสุดท้ายจากการที่เข้าไปประกวดวงดนตรีชิงแชมป์แห่งประเทศไทย ของสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ก็ได้ผลิตโปรดิวเซอร์มือทองอยู่คู่กับวงการดนตรีเมืองไทยหลายคนทีเดียว
ส่วนติ๊ก ชิโร่คนนี้ก็จะเป็นทั้งโปรดิวเซอร์ เป็นทั้งคอมโพสเซอร์ อะเรนเจอร์ แดนเซอร์ แอคเตอร์ อะไรอีกหลาย ๆ เอ้อ ๆ นั่นเป็นเส้นทางการเดินทางจากความมุ่งมั่นที่เราพยายามที่จะผลักดันวงการดนตรี เรื่องราวของการเข้ามาสู่ในวงการดนตรีนั้นมันมีเรื่องราวค่อนข้างเยอะเหมือนกัน แต่ก็อยากจะเล่าให้ฟังในจุดจุดหนึ่งว่า หลังจากที่เราประกวดแล้วก็ชนะเลิศเป็นวงดนตรีชิงแชมป์แห่งประเทศไทยแล้ว ก็ได้มีโอกาสออกอัลบั้มชื่ออัลบั้ม ‘คนชุดขาว’ ถ้าลองย้อนเวลากลับไปก็จะมีเรื่องราวที่น่าสนใจมาก ๆ ว่าคนชุดขาวเนี่ยตั้งใจจะให้หลาย ๆ คนได้เห็นฝีไม้ลายมือที่เป็นดนตรีจริง ๆ เป็นเนื้อความเนื้อแท้ของดนตรี โดยมีการปิดหน้าไว้หมดเลย ซึ่งก็อาจจะเป็น inspiration ให้กับวงดนตรีต่อๆ มา
จากนั้นผมก็ได้มีโอกาสมาทำงานต่อเนื่อง โดยในช่วงกลางวันเป็น studio musician ได้ร่วมงานกับพี่เต๋อ - เรวัต พุทธินันทน์ ในช่วงกลางวันจะต้องอยู่ในสตูดิโอ การส่ง score เพลงมาแล้วผมก็เป็นเจ้าหน้าที่คนหนึ่งมีหน้าที่ถอด score เพลงออกมาแล้วก็ลงไปใน lines ของห้องอัด สมัยก่อนจะมีการอัดเสียงที่แตกต่างจากยุคสมัยนี้ เพราะสมัยนี้เป็นยุคดิจิทัล สมัยนั้นเป็นยุคแอนะล็อก เลยต้องยิงเสียง sync ลงไปก่อน ก่อนที่จะทำอะไรทุกอย่าง มีการเตรียมเทปเป็นเทปม้วนใหญ่ จะมีศูนย์รวมที่พวกเราจะเจอะเจอกันตลอด อย่างเช่น ไปรวมกันที่ห้องอัดสตูดิโอที่ชื่อว่า ศรีสยามสตูดิโอ ในนั้นก็จะมีตั้งแต่พี่เบิร์ด - ธงไชย แมคอินไตย์ พี่ป้อม - อัสนี
โชติกุล
พี่เต๋อ - เรวัต พุทธินันทน์ แล้วก็จะเจอะเจอวงดนตรีต่าง ๆ ที่เป็นขวัญใจของใครหลาย ๆ คน โปรดิวเซอร์ต่าง ๆ ก็จะทำงานกันตั้งแต่เช้า บางทีก็ทำงานจนถึงตี่สี่ ตีห้า สิบโมงเช้าของอีกวันหนึ่ง เรียกว่าเปิดประตูห้องอัดมาเนี่ยลืมไปเลยว่าวันนี้วันอะไร เวลานี้กี่โมงแล้ว อะไรประมาณนั้น
อยู่ในห้องอัดจะออกเฉพาะกินข้าว เข้าห้องน้ำ ผมเองเมื่อไปถึงห้องอัดก็จะมีการเตรียมเนื้อเตรียมตัวเรื่องของเทปแล้วจะมาคัดเลือก มีตู้เก็บเทป โห...ใหญ่มากเลยนะ เป็นกำแพงหนาเลย ดึงออกมาว่าวันนี้ของใคร ๆ ๆ พอมาใส่เสร็จปั๊บก็ต้องยิง sync ลงไปก่อน พอจบเพลงเสร็จแล้วก็มาเริ่มเรื่องของ hi-hat บ้าง เรื่องของ bass drum เรื่องของกลอง เรื่องของโน่นนี่ เสร็จเรียบร้อยแล้ว จากนั้นก็จะเป็นหน้าที่ของพี่ ๆ โปรดิวเซอร์อีกหลาย ๆ คนที่จะเดินทางเข้ามาเล่นกีตาร์บ้าง เล่นคีย์บอร์ดบ้าง เล่นเบสบ้าง แล้วจากนั้นก็จะเป็นนักร้อง ช่วงบ่าย ๆ นักร้องก็จะมาร้อง มีคอรัสมา จากนั้นก็จะเป็นการ Mix เสียง ทำกันไปหามรุ่งหามค่ำกว่าที่จะได้แต่ละเพลง ใช้เงิน ใช้เวลามากมายมหาศาล
The People: จุดเริ่มต้นของการเป็นศิลปินเดี่ยว เป็นมาอย่างไร
ติ๊ก ชิโร่: ตั้งแต่เด็กๆ นะครับ ผมก็มีความฝัน หลาย ๆ คนอาจจะเคยได้ยินคำว่า เสื่อผืนหมอนใบ แต่ของผมไม่ใช่ เป็นการลากเสื่อผืนอันนี้แน่นอน หมอนหนึ่งใบ แต่พ่วงด้วยวิทยุทรานซิสเตอร์หนึ่งเครื่อง แล้วก็เปิดเพลงฟัง ในยุคสมัยนั้นก็จะมีวงดนตรีที่เป็นระดับโลกนะครับ ก็จะรู้สึกได้อย่างหนึ่งว่าเราอยากจะฟังเพลง เอ๊ะ... สัปดาห์นี้ใครจะขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของ Cashbox นะ ใครจะขึ้นอันดับ 1 ของ Billboard นะ แล้วมันก็จะไล่มาเรื่อย ๆ ทำให้เรารู้สึกว่า เอ๊…กลองนี่เขาจะตีคล้าย ๆ กัน ถ้าอย่างนั้นเราน่าจะตีได้
ผมก็สร้างกลองขึ้นมาโดยเอาอุปกรณ์การทำครัวนี่แหละมาใช้ในการฝึกฝนกลอง แล้วก็มีความตั้งใจตั้งมั่นเลยว่าจะต้องเป็นนักดนตรีที่ดีให้ได้ จะต้องเป็นนักแต่งเพลงที่ดีให้ได้ จะต้องทำดนตรีของไทยเราเนี่ยให้ก้าวไปสู่ระดับสากลให้ได้ เพราะฉะนั้นในจุดนั้นก็เป็นการเสริมสร้างความฝัน แล้วมีเป้าประสงค์ในการที่จะก้าวเดิน
เมื่อมาถึงทางสองแพร่ง การที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของตัวเอง ด้านซ้ายเป็นดนตรี ด้านขวาก็จะเป็นศิลปินวาดภาพ เรายืนอยู่ตรงนั้น เราก็มองว่าสิ่งหนึ่งที่จะก้าวเดินไปได้โดยที่เราสามารถเลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้ ถ้าไปทางขวาอาจจะเป็นศิลปินไส้แห้ง เรายังไม่แน่ใจว่าการเป็นอาร์ทิสต์จริง ๆ แล้วมันจะต้องผจญอะไรบ้าง เพราะฉะนั้นการที่เรามาเป็นนักดนตรี เราสามารถที่จะเล่นดนตรีในโรงแรมได้ เล่นดนตรีตามสถานที่ต่าง ๆ ได้ แล้วเราก็ยังไม่ทิ้งเรื่องของงานศิลปะ ฉะนั้นสองฝั่งนี้มันก็จะมาคู่กันเสมอ
หลังจากนั้นที่ผมเล่าย้อนไปตอนที่ได้รับรางวัลที่เข้าแข่งขันการประกวดนะครับ พอชนะรางวัลก็ได้ออกอัลบั้มเป็นคนชุดขาว หลังจากนั้นก็ทำงานสตูดิโอในตอนกลางวัน พอตอนเย็นก็ไปทำงานเป็นแบ็คอัพของพี่แจ้ - ดนุพล แก้วกาญจน์ ในยุคสมัยก่อนนั้นผมทำงานร่วมกัน เป็นมือกลองกับพี่ดอน สอนระเบียบ พี่ดอนก็จะเป็นนักร้องที่เคยตีกลองมาก่อน แล้วก็มาร้องเพลงแล้วประสบความสำเร็จ คนที่เคยอยู่ใกล้ ๆ กันแล้วก็เป็นศิลปินที่โด่งดังไปทั่วประเทศมีแฟนคลับมากมายก็คือ โป่ง หิน เหล็ก ไฟ แล้วก็คุณโอ้ - โอฬาร พรหมใจ ที่เคยเล่นเวทีเดียวกันมาตั้งแต่สมัยยังไม่มีชื่อเสียงกัน ล้มลุกคลุกคลานกันมาตลอด
เพราะฉะนั้นจุดนี้เองนะครับเป็นจุดเริ่มต้นในการที่เรามุ่งมั่นที่จะทำงานแล้วก็ออกอัลบั้ม พอหลังจากที่ทำงานร่วมกันกับพี่แจ้ คือการเป็นแบ็คอัพเนี่ยมันก็ต้องเดินทางไปด้วยกันตลอด เมื่อเดินทางกันไปบ่อย ๆ เข้า พี่แจ้เริ่มเห็นเอฟซี แฟนคลับวงพลอยที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ก็เลยคิดว่าน่าจะมีโอกาสได้สร้างวงพลอยขึ้นมา ก็กลายเป็นวงแจ้และพลอย พอแจ้และพลอยเกิดขึ้นมาปั๊บ ก็มีอัลบั้มเกิดขึ้นมา 3 อัลบั้ม แล้วผมเองก็รับหน้าที่เป็นกลอง รับหน้าที่ในการเป็นนักแต่งเพลง รับหน้าที่เป็นนักร้อง และก็แน่นอนเป็นคนทำกลองทุก ๆ เพลงในวงพลอย นั่นก็เป็นจุดเริ่มต้น
จากนั้นเมื่อวงพลอยหมดสัญญาก็มีการแยกย้ายกัน วงพลอยส่วนมากก็จะเดินทางไปที่จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ในสมัยนั้นใช้ชื่อว่าแกรมมี่เฉยๆ แล้วก็ไปสร้างผลงานเป็นทั้งโปรดิวเซอร์ เป็นทั้งผู้แต่งเพลง ผลิตเพลงให้กับบริษัท ส่วนติ๊ก ชิโร่เองก็เลือกที่จะทำในสิ่งที่ต้องการมาโดยตลอดชีวิตนั่นก็คือ หนึ่ง, จะต้องแต่งเพลงเอง arrange เพลงเอง เล่นดนตรีทุกชิ้นเอง ดีไซน์เสื้อผ้า ดีไซน์ปก ทำทุกอย่าง 100% แล้วก็หลังจากนั้นถ้าตายไปก็ไม่เสียดายชีวิต
นั่นเป็นความมุ่งมั่นในเรื่องแรกก่อน จากนั้นก็จะมีอัลบั้มออกมาเป็นอัลบั้มชุดแรก ‘โชะ ไชโย’ ก็จะมีเพลงออกมาเต้น มีเพลงไชโย แล้วก็รอรับได้เลย อย่าทำเป็นเห็นใจ ยอมรับคนเดียว เยอะแยะมากมาย จากนั้นก็ต้องการทำงานต่อไป ในยุคนั้นเนี่ยน่าจะเป็นครั้งแรกที่ออกมาเป็นศิลปินเดี่ยวแล้วสามารถขายได้ล้านตลับ ตอนนั้นล้านตลับนี่ก็พี่เบิร์ด ธงไชยแน่นอน คาราบาวแน่นอนนะครับ ทาทา ยัง เจ เจตริน ติ๊ก ชิโร่ แล้วก็อีกหลาย ๆ คน ก็น่าจะเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ
จากนั้นก็จะเป็นอัลบั้มชุดที่ 2 ก็คืออัลบั้ม ‘เต็มเหนี่ยว’ ตอนนั้นเกิดภาวะสงครามเย็นขึ้นมาจากรัสเซียแล้วก็อเมริกา เราก็ไม่อยากให้เกิดสงคราม เพราะว่ามันก็จะมีผลเป็นโดมิโน มาเป็นโดมิโนมาหาแต่ละประเทศ ๆ แต่ละเมือง ๆ ก็เลยตัดสินใจว่าจะต้องทำเพลงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการต่อต้านสงคราม ผมมีแนวคิดอย่างหนึ่งว่าความรัก รักกันดีกว่าเกลียดกันนะ ก็เลยกลายมาเป็นเพลง ‘มาจอยกัน’ วิธีที่ทำให้ทั้งโลกรู้ว่า มาจอยกัน เป็นเพลงที่อยากจะให้ทุกคนมีแต่สันติ ไม่มีการต่อสู้ ก็เลยใช้ชื่อเรียกของแต่ละประเทศมาอยู่ในเพลงเป็นแร็ปท่อนท้าย ซึ่งมันก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก สามารถแหวกกฎเกณฑ์แล้วกลายมาเป็นอีกหนึ่งอัลบั้มที่ขายได้เกินล้านตลับ
ฉะนั้นติ๊ก ชิโร่ก็สามารถบอกตัวเองได้ว่าในขณะนี้เรามาจนถึงจุดที่เราสามารถพิสูจน์ตัวเองได้แล้วว่ามันไม่ใช่เป็นการทำงานแบบฟลุก เป็นการทำงานด้วยความตั้งมั่น แล้วก็เมื่อมาถึงจุดหนึ่งที่ประสบความสำเร็จแล้ว เราก็จะพยายามก้าวเดินต่อไป ตามเส้นทางฝันเส้นเดียวกับวันที่อายุ 13 ขวบ ในตอนนั้นเริ่มแต่งเพลงจากเครื่องไม้เครื่องมือที่เป็นเหมือนเมโลเดียน ตัวเล็กกว่าเมโลเดียนนิดหน่อย เป็นเครื่องไม้เครื่องมือที่มันสามารถสร้างจังหวะปุ๊บปุบ ปุ๊บปุบได้ นี่ก็เป็นเส้นทางการเดินทางจากการเป็นมือกลองมาจนถึงการมาเป็นฟรอนต์แมน เป็นคนที่ยืนร้องเพลงอยู่ข้างหน้าในปัจจุบัน
The People: มองย้อนกลับไป นอกจากวันที่ตัดสินใจว่าจะเป็นนักดนตรีที่ดีให้ได้ มีจุดเปลี่ยนของชีวิตครั้งไหนอีกบ้าง
ติ๊ก ชิโร่: ในอัลบั้มชุดที่ 5 เบอร์ 5 (มหาชน) เป็นช่วงที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมตลาดหลักทรัพย์ เราก้าวกระโดดมาก มีบริษัทหลายบริษัทที่เดินทางเข้าไปเป็นบริษัทมหาชน บริษัทมหาชน บริษัทมหาชน มหาชน มหาชน มหาชน เต็มไปหมดเลย เพราะฉะนั้นติ๊ก ชิโร่ ในอัลบั้มชุดที่ 5 ที่เขาเรียกว่าหมายเลขแห่งอันตรายเนี่ย อัลบั้มชุดที่ 5 มักจะเป็นเลขที่เป็นจุดจบของอะไรทั้งหลายทั้งมวล ผมก็เลยคิดว่าอัลบั้มชุดนี้จะต้องชื่อ ติ๊ก ชิโร่ เบอร์ 5 (มหาชน) ก็อยากจะเป็นมหาชนบ้าง
สำหรับอัลบั้มนี้ ผมก็มาถึงทางสองแพร่งอีกครั้ง หนึ่ง, เราจะก้าวกระโดดเดินหน้าต่อไปเป็นสิ่งใหม่ หรือสอง, เราจะรักษาความเป็นติ๊ก ชิโร่ในแบบเก่า เป็นการตัดสินใจที่ยากมาก ๆ เลย เพราะฉะนั้นผมก็เลยคิดว่าถ้าอย่างนั้นเราจะต้องเปลี่ยนใหม่เลย ทำเพลงแบบใหม่ คิดค้นท่าเต้นขึ้นมาใหม่ ๆ คือท่าที่มันไม่ได้สอดคล้องกับจังหวะ แต่ว่ามีบางสิ่งบางอย่างที่ลื่นไหลไปกับจังหวะ
อันนี้แหละทำให้ไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนมากคนจะกล้าพูดแต่ความสำเร็จ แต่อัลบั้มชุดนี้ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ก็เพราะว่าเป็นก้าวกระโดดที่ทำให้แฟนเพลงช็อก อาจจะไม่ถึงกับช็อกหรอกครับ แต่ว่า อ้า...อยากจะฟังเพลงแบบดั้งเดิม
หลายเพลงในช่วงเวลานี้ ไม่ใช่เป็นเพลงเอาใจแฟนเพลง ไม่ใช่เป็นเพลงที่เอาใจตลาด แต่พยายามที่จะยกระดับ ผมไม่แน่ใจว่าจะใช้คำนี้ดีหรือเปล่า มีความคิดอย่างหนึ่งว่า ถ้าสมมติเราทำเพลงที่มันยากขึ้น เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น เราก็เลยคิดว่า ถ้าอย่างนั้นถ้าเป็นเอฟซีของเรา เป็นแฟนคลับจริง เขาต้องตามเรามาได้ แล้วก็ค่อย ๆ ยกระดับขึ้นไป สักวันหนึ่งติ๊ก ชิโร่อาจจะเล่นเป็นเพลงแจ๊สก็ได้ แต่เมื่อเราคิด แล้วปรากฏว่าคน อาจจะต้องขออนุญาตใช้คำนี้ อาจจะตามเราไม่ถึง มันอาจจะยากเกินไป ร้องตามไม่ง่ายนัก เสียงสูง อะไรพวกนี้ ก็อาจจะเป็นจุดจุดหนึ่งที่เป็นจุดด้อยในอัลบั้มชุดนี้
จากตรงนั้นที่ประสบความสำเร็จมาก ๆ แล้วมาเป็นชุดที่ 5 เป็นหมายเลขแห่งความยากลำบาก ฉะนั้นอัลบั้มชุดนี้ถึงแม้ว่าจะมีเพลงดี ๆ หลายเพลง แต่ก็ยังไม่ได้มียอดขายที่ดีนัก เรื่องราวทั้งหมดมันก็เกิดขึ้นมาพร้อมกัน วงการดนตรีก็เริ่มเปลี่ยนเป็นจากแอนะล็อกมาเป็นดิจิทัล แล้วก็มีการเปลี่ยนแปลงค่ายเพลงต่าง ๆ มีการหมุนเวียนเปลี่ยนถ่ายอะไรกันไปมากมาย จนทำให้อัลบั้มชุดนั้นเป็นอัลบั้มที่ดูเหมือนจะเป็นอัลบั้มสุดท้ายในการที่ทำงานอย่างต่อเนื่อง ก็ไม่ใช่สุดท้ายซะทีเดียวครับ เพียงแค่ว่ามันเป็นบริบทของวงการดนตรีในขณะนั้นที่ทำให้อาจจะต้องยืดระยะเวลาไป
จากการที่เว้นวรรคในช่วงเวลาหนึ่ง ผมถูกชักชวนไปมุ่งเน้นทางด้านการแสดง แล้วก็เป็นคนทำสกอร์ละคร เป็นคนทำเพลงแต่งเพลงให้กับละคร แล้วก็ไปเล่นละครมากขึ้น ๆ หลังจากที่ปฏิเสธการแสดงมาอย่างยาวนาน ก็เลยมีความเกรงใจผู้ใหญ่ว่าเขาให้โอกาสเราหลายครั้งแล้ว ตั้งแต่อรุณสวัสดิ์ ตั้งแต่กระถินริมรั้ว เหินฟ้า อะไรต่าง ๆ ครับ หลายเรื่องเลยที่ปฏิเสธไปจนเราเกรงใจ กระทั่งเป็นพิธีกรในรายการ 7 สีคอนเสิร์ต เราก็ยังปฏิเสธเพราะว่าเรามุ่งมั่นแต่ทางด้านดนตรี
ทีนี้หลังจากที่เราตัดสินใจมาเล่นละครแล้ว การทำงานทางด้านการแสดงก็มีมาต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของละครบ้าง ภาพยนตร์บ้าง ในการสร้างเพลงก็จะลดน้อยเรื่อย ๆ จนมาถึงก้าวเข้าไปสู่วงการพิธีกร ผมเป็นพิธีกรรายการหนึ่งอยู่ 10 ปี ชื่อว่ารายการ ‘ป๊อก ป๊อก ป๊อก’ จะมีจิ้ม ชวนชื่น มีต่าย สายธาร มีอรอนงค์ ปัญญาวงศ์ มีคลาวเดีย จักรพันธุ์ เราอยู่ด้วยกันนะครับเป็นสิบปี จนผมรู้สึกว่าบางครั้ง เอ๊ะ... ตัวตนของติ๊ก ชิโร่หายไปไหน
แล้วก็มีวันหนึ่งได้มีโอกาสเจอะเจอกับพี่ป้อม - อัสนี โชติกุล ผมก็เลยบอกว่า ผมมีเพลงมาให้ฟัง ผมยังจำได้เลยเราไปนั่งอยู่ที่ร้านวนคราม ในซอยกลางแถว ๆ ซอยอโศก พอเปิดเพลงให้ฟัง พี่ป้อมบอก โอ๊ะ... มหัศจรรย์มาก เพราะฉะนั้นมาลองดูว่าเราจะทำกันได้ไหม จากนั้นมันก็เลยกลายมาเป็นเพลง ‘รักไม่ยอมเปลี่ยนแปลง’ จนถึงปัจจุบันนี้แล้วก็สืบทอดความรู้สึกนั้นมา มาเป็นรักไม่ยอมเปลี่ยนแปลง NFT แล้วกลายมาเป็น หยุดเสียที NFT Music ของติ๊ก ชิโร่ในนาทีนี้ครับ
The People: คุณเคยพูดในสัมภาษณ์หนึ่งว่า มีช่วงเวลาหนึ่งที่หลาย ๆ คน สื่อต่าง ๆ ไม่อยากคุยกับคุณ เพราะเขามองว่าคุณเป็นศิลปินยุคเก่า นั่นใช่เรื่องราวเดียวกันกับที่คุณเพิ่งเล่ามาหรือเปล่า
ติ๊ก ชิโร่: ใช่ครับ ใช่ เป็นจุดเดียวกัน จุดนี้เป็นจุดที่พิเศษมาก ๆ เพราะว่ามันเป็นเหมือนเส้นขีดของกราฟชีวิต เป็นจุดที่จะประกาศว่าเราจะเดินต่อได้หรือเปล่า อัลบั้มชุดเมื่อมีโอกาสพูดคุยกับพี่ป้อม เรามีเวลาทำน้อยมาก เพียงแค่ 10 วัน เพียงแค่ 10 วันนะครับ แต่ว่าด้วยความที่เรามุ่งมั่นอยากจะกลับมาเป็นติ๊ก ชิโร่ มือถือไมค์ ไฟส่องหน้าคนเดิม แต่ปรากฏว่าออกอัลบั้มชุดนี้มามันเป็นอัลบั้มที่ยากมาก ก็เพราะว่าวงการดนตรีเปลี่ยนไป พอติ๊ก ชิโร่ออกมา ปั้ง...กลายเป็นเพลงโบราณแมน อัลบั้มชุดนี้เป็นอัลบั้มที่ชื่อว่าโบราณแมน แล้วก็พยายามสร้างคาแรคเตอร์ คือคิดครีเอตโบราณแมนเนี่ยก็จะมีพี่ตู้ - ดิเรก อมาตยกุล มาร่วมร้องด้วย แล้วก็แอนดี้ที่อยู่วงดรากอน ไฟว์ มาร้องด้วย จะเป็นโบราณแมน โดยการนำเอาของเก่าที่มีอายุเกินร้อยปีมาแตะกัน มาถูกัน ก็จะมีโบราณแมนปรากฏตัวออกมา มีการดีไซน์ มีการสร้างคาแรคเตอร์อะไรไว้หมดแล้วนะครับ
แต่หลังจากนั้นเพลงนี้เข้าไม่ถึงครับ เข้าไม่ถึงผู้คน เพราะว่าอย่างที่บอกอาจจะเป็นกลิ่นอายของมิวสิกวิดีโอ กลิ่นอายของเพลง แล้วก็เนื้อเพลงที่อาจจะไม่โดนกลุ่มแมส เพราะฉะนั้นเวลาที่จะไปโปรโมตที่ไหน คนแทบจะไม่อยากต้อนรับ เวลาเปิดเพลงก็จะต้องเปิดเพลงครึ่งเดียว หรือแม้แต่รีบเร่งให้ความเร็วมันจบเร็ว ๆ เพื่อจะได้เปิดเพลงอื่น เหมือนกับว่าเราเป็นตัวไปแทรกงานเขา ต้องยอมรับนะครับว่าในยุคนั้นอาจจะยังเป็นยุคที่มีเพลงละพันวันละเพลงยังมีอยู่ เพลงละพันวันละเพลงก็หมายความว่ามันเป็นจุดจุดหนึ่งในการโปรโมต เพราะฉะนั้นถ้าเราไปแบบลักษณะของการ อะ…มาแบบช่วยเหลือกัน เขาอาจจะไม่อยากทำให้เรา ก็จะเริ่มรู้สึกว่าเขายังไม่ต้อนรับเรา รู้สึกว่าอัลบั้มชุดนี้อาจจะเหนื่อยแน่
เพลงที่สองออกมา ปึ้ง... เงียบอีก ติ๊ก ชิโร่ตกยุคไปแล้ว คนเก่า ไม่ใช่ยุคนี้แน่ เพลงที่สาม ‘รักไม่ยอมเปลี่ยนแปลง’ พอเปิดออกมาครั้งแรกได้มีโอกาสคุยกับพี่ป้อมว่าน่าจะให้โอกาสมันสักประมาณ 3 เดือน ถ้าสมมติว่าไปไม่ถึงฝั่งฝัน เราก็คงจะต้องเข้าใจมันว่ามันไม่ถึงฝั่งฝันนะครับ
มีอยู่วันหนึ่งพี่เก้งคนเก่งแห่ง GTH ขับรถมาเลี้ยวรถจอดข้างทาง เห้ย! เพลงใครวะ โทรฯ ไปถามลูกน้อง เพลงใครวะ ดูดิ ๆ ๆ ปรากฏเขาบอกว่าติ๊ก ชิโร่พี่ เห้ย! หาเบอร์มาให้หน่อย เขาบอกว่า หูย...ชอบมากเลยสไตล์แบบนี้ แล้วจากนั้นพี่เก้งก็โทรฯ มาบอกอยากจะให้แต่งเพลงในภาพยนตร์เรื่องใหม่ชื่อ ตั๊ดสู้ฟุด จากการได้ร่วมงานกับพี่เก้ง ทำให้เพลงรักไม่ยอมเปลี่ยนแปลงได้เปิดขึ้น บ่อยครั้งขึ้น มีคนเริ่มขอ มันเป็นช่วงเวลาที่พิเศษมาก ๆ ความเป็นความตายมันอยู่ตรงนี้แค่นั้นเอง เหมือนทางสองแพร่งเกิดขึ้นอีกแล้วสำหรับชีวิตของติ๊ก ชิโร่ คนเริ่มขอขึ้นเรื่อย ๆ ขอขึ้นเรื่อย ๆ ขอ ๆๆๆๆๆๆๆ เพลงนี้บูมขึ้นมาปุ๊บ ๆๆๆๆๆๆๆ กลายเป็นเพลงแห่งปีไปเลย
วันหนึ่งผมเดินอยู่ที่หน้าตึกจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ พี่เล็ก - บุษบา ดาวเรืองเป็นผู้จัดการของพี่เบิร์ด - ธงไชย แมคอินไตย์ ติ๊กอยากให้แต่งเพลงนี้ให้พี่เบิร์ด ธงไชยหน่อย แบบนี้เลย แล้วก็นั่นเป็นที่มาของเพลง น้า นา ของพี่เบิร์ด - ธงไชย แมคอินไตย์ ลองเอาไปเปิดแล้วก็มาเปรียบเทียบนะว่า ภาษาเพลงของติ๊ก ชิโร่มันเป็นอย่างไร นั่นเป็นการเปิด Era หรือว่าเปิดยุคใหม่ของการแต่งเพลง ซึ่งคำว่าสลากยังมีกินแบ่ง น้ำมันยังมีหมด น้ำมันยังมีหมดมันสองนัย น้ำ ก็ยังมีหมด น้ำมัน ก็ยังมีหมดนะครับ ฉะนั้นสิ่งนี้เองทำให้ทุกคนเปิดหัวใจต้อนรับเพลงรักไม่ยอมเปลี่ยนแปลงของติ๊ก ชิโร่อย่างเป็นทางการ แล้วก็ทำให้เพลงนี้กลายเป็นเพลงหนึ่งที่ทำให้ติ๊ก ชิโร่มีที่กลับมายืนอีกครั้งหนึ่งในวงการอย่างเต็มภาคภูมิ โดยการสนับสนุนของเอฟซี แฟนคลับที่เป็นของแท้แน่นอน
สำหรับผม รักของครอบครัวมันไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดเพลงรักไม่ยอมเปลี่ยนแปลง นี่คือคอนเซ็ปต์ของเพลงนี้ แล้วก็ทำให้เป็นติ๊ก ชิโร่จนถึงทุกวันนี้ แล้วก็อย่าลืมนะครับว่าเพลงที่มีชื่อว่า ‘หยุดเสียที’ ก็เป็นตอนต่อหลังจากที่มีรักไม่ยอมเปลี่ยนแปลงชัดเจน ไทม์แมชชีนแล้วก็หยุดเสียที นี่เป็นการเดินทางในวงการดนตรีของติ๊ก ชิโร่ที่มีมาอย่างยาวนาน และให้คำสัญญาว่าจะต้องมุ่งมั่นทำงานด้านดนตรีต่อไป
The People: อยากทราบเรื่องไอเดียแบงก์ หรือคลังความคิดในการแต่งเพลงของคุณ
ติ๊ก ชิโร่: ผมเป็นคนที่ถ้าหยิบกีตาร์มาแล้วก็แต่งเพลงได้เลย แต่ก็มันมีที่มาที่ไป ไม่ใช่ว่าจะเกิดมาแล้วเก่งเลย การฝึกฝน การคิดมันก็ต้องมีแนวทางในการทำงานมา ผมมักจะมีสมุดอยู่ติดตัวเสมอ ๆ แล้วก็จะเป็น Thinker เป็นนักคิด เขียนหนังสือมาแล้วหลายเล่ม ในสมุดแต่ละเล่มก็จะมีความคิด ไอเดียอะไรต่าง ๆ ที่มันสามารถเอามาแต่งเป็นเพลงได้ เพราะว่าถ้าไม่จดบางทีมันก็อาจจะสูญสลายหายไป มีประมาณผมว่าเป็นพัน ๆ เพลงนะครับที่มันหายหลังจากคิดขึ้นมาได้ หูย...คำนี้ดีมากเลย แต่ไม่สามารถเก็บมันไว้ได้ เพราะว่าอยู่ในสถานการณ์บางอย่าง อย่างเช่นกำลังประชุมอยู่ หรือว่าอยู่กับผู้ใหญ่ มันก็จะสูญสลายหายไป
อย่างเพลงรักไม่ยอมเปลี่ยนแปลงก็ดี มนุษย์ค้างคาวก็ดี ผมคิดว่ามันเป็นการเปลี่ยนมุมมองในการแต่งเพลงอย่างสิ้นเชิงเลย เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่ายุคสมัยนี้นักแต่งเพลงหลาย ๆ คนก็อาจจะ inspiration จากติ๊ก ชิโร่ มีมุมมองแปลก ๆ จากคำของติ๊ก ชิโร่ เพื่อเอาไปขยายผลในการแต่งเพลงใหม่ ๆ แบบใหม่ ๆ ที่ไม่ต้องมีกฎเกณฑ์อะไรมาก อันนี้ก็น่าเสียดายนะครับว่า รางวัลที่เราควรจะได้ ปรากฏว่าไม่มีใครเสนอชื่อ เราจะเสนอชื่อตัวเองก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเพลงเหล่านั้นมันควรจะถูกเสนอชื่อว่าเป็นมุมมองที่พิเศษมาก ๆ แล้วก็ไม่มีใครเหมือน ไม่เหมือนใคร สามารถที่จะเป็นต้นแบบในการทำงานต่อไปได้
แม้ในตอนนี้ผมแทบจะไม่ได้ทำดนตรีด้วยตัวเองแล้ว เพราะว่าผ่านชีวิตมาอย่างมากมายแล้ว เราไม่ได้เก่งทุกอย่าง ให้คนอื่นที่เป็นเด็กที่เพิ่งจบมาทางด้านดนตรี เป็น arranger แล้วก็พัฒนาความคิดไปกับเรา เร็ว ๆ นี้คิดว่าเดี๋ยววันนี้จะลองแต่งเพลงที่เกี่ยวกับเพื่อนหน่อย ผมก็ลองหยิบกีตาร์มา เปียโน กีตาร์ เปียโนแล้วก็แต่งเพลงที่มีชื่อว่า ‘เพื่อน’ ปรากฏว่าน้อง ๆ เขา คนรุ่นใหม่บางครั้งเขาอาจจะวางแผนคิดว่า คีย์บอร์ดจะเป็นแบบนี้ เบสจะเป็นแบบนี้ กีตาร์จะเป็นอย่างนี้ น้องเก่งนะ แต่อาจจะคิดช้าไปหน่อย ถ้าอย่างนั้นเอาอย่างนี้ มา เปิดจังหวะมา เอาจังหวะแบบนี้ เอาลูปแบบนี้ พี่จะเล่นคีย์บอร์ดให้ เมโลดี้ให้ เบสให้เอาแบบนี้ กีตาร์ มา เดี๋ยวพี่โซโล่อินโทรให้ ท่อนกลางเอาโซโล่ ผิดไม่เป็นไรเดี๋ยวค่อยไปปรับปรุงค่อยไปตัดแต่งเอา แล้วก็เขียนเนื้อ ไม่น่าเชื่อครับ เสร็จได้ภายใน 20 นาที อันนี้ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งนะที่เหมือนกับว่าเรารวบรวมประสบการณ์ของเราที่สามารถทำให้มันเสร็จสิ้นได้ภายใน 20 นาที
ตอนนี้ก็คือพร้อมที่จะนำเสนอเพลง ‘เพื่อน’ เรารู้สึกว่ามันได้กลับมาอีกแล้ว ในการที่เราได้ทำงานแบบที่เราถนัด เดี๋ยวจะมีเพลงต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ และตอนนี้ก็พร้อมที่จะก้าวเดินต่อไปในโลกของ NFT ในอนาคตครับ
The People: อะไรคือสิ่งที่ทำให้คุณอยู่ในวงการดนตรีมาได้มากกว่า 35 ปี
ติ๊ก ชิโร่:
ก็ด้วยความมุ่งมั่นครับ ความรัก แล้วก็สิ่งที่เราเป็น ถ้าย้อนกลับไปก็สามารถจะเห็นคำตอบของผมได้ว่าตั้งแต่เด็ก ๆ แล้วเรามีความมุ่งมั่นที่จะก้าวเดินต่อไปในระดับสากล มันก็ประสบความสำเร็จอย่างน่าจะเรียกได้ว่า ก็ไม่อายใคร
The People: สำหรับคุณ มีสิ่งที่เรียกว่าฝันร้ายในวงการดนตรี หรือสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับวงการนี้ หรือนักดนตรีท่านอื่น ๆ แต่ไม่อยากให้เกิดขึ้นในชีวิตไหม
ติ๊ก ชิโร่: มันก็เป็นครรลองครับ น่าจะเรียกได้ว่าเป็นบริบทของการเดินทางในวงการ มันมีคำอยู่คำหนึ่งที่สามารถตอบโจทย์อันนี้ได้ ก็คือทัศนคติไม่ตรงกัน เราจะเห็นได้ว่าวงดนตรีใด ๆ เนี่ยก็จะมีการแตกวง แยกวง หรือแม้แต่คำว่าดังแล้วแยกวงก็พอมีอยู่บ้าง เพราะฉะนั้นเรื่องของเบ้าหลอมของแต่ละคนที่มาอยู่รวมกันมันก็อาจจะทำให้เกิด conflict หรือว่าเกิดการไม่ลงรอยกันก็ได้
อีกจุดหนึ่งที่เป็นจุดบอดในสมัยก่อน ผมเองเคยเอาเงินทั้งหมดมาจ่ายแล้วก็มาผ่อนเครื่องดนตรี เพราะฉะนั้นมันก็เลยน่าจะเคยพูดกันไว้ว่านักดนตรีไทยที่ไม่ค่อยได้พัฒนาก็เพราะว่าเครื่องดนตรีแพง แต่ว่าผมเองก็พยายามเหมือนกันนะในฐานะที่เป็น Thinker ผมเข้าไป เพื่อนผมเป็นนักวิทยาศาสตร์แล้วก็ไปเอากระดาษรีไซเคิลมารวมกันกับเอนไซม์ของความเหนียวของหอยทาก แล้วก็สร้างกระดาษที่แข็งที่สุดในโลกขึ้นมาเพื่อที่จะต้องการไปทำโมล เพื่อจะพรินต์ปั๊มเป็นกีตาร์ออกมาขายในราคา 50 บาท 100 บาท 200 - 300 บาทประมาณนั้น อันนั้นเป็นความคิด อันนั้นเป็นจุดจุดหนึ่งที่เราไม่อยากให้เป็น คือการที่นักดนตรีไม่สามารถซื้อหาเครื่องดนตรีได้เพราะราคาที่แพง
อีกประการก็คือสถานการณ์ปัจจุบันที่เราเจอกับวิกฤตโควิด-19 มันทำให้วงการดนตรีสูญสลายหายไปหมด มือกีตาร์ขายกีตาร์ มือกีตาร์ขายเครื่องช่วยเอฟเฟกต์ มือเบสขายเบส มือคีย์บอร์ดขายคีย์บอร์ด เปลี่ยนอาชีพไปเลย นี่เป็นเหมือนหลุมดำที่ดูดนักดนตรีให้หายไปหมดเลย ห้าเดือนสบาย หนึ่งปีพอทน สองปีลำบากมาก สามปีไม่มีจะกิน ผมก็เลยมีโครงการเพื่อนช่วยเพื่อนช่วยเหลือนักดนตรีตกงาน ขออนุญาตครอบครัวเอาเงินตัวเองมาสองแสนในการที่จะสร้างงาน สร้างสตูดิโอแล้วก็ให้วงดนตรีต่าง ๆ มาเล่นดนตรีแล้วก็ให้วงละ 5,000 จากนั้นก็จะมีผู้ใหญ่ใจดีมาช่วยกันคนละมือคนละไม้นะครับ ก็ถือว่าเป็นการบรรเทาทุกข์ยากของครอบครัวนักดนตรี เป็น musician family อันนั้นก็เป็นจุดจุดหนึ่งที่ผมสร้างมา และก็น่าจะเป็นจุดที่ผมไม่อยากให้เกิดก็คืออันนี้แหละ คือมุมมองการที่เขาเจอะเจอวิกฤตแล้วไม่สามารถที่จะทำอะไรได้
มีบางคนถึงกับต้องทำอัตวินิบาตกรรม อย่างเช่นที่เราเคยเห็นในข่าวที่ผ่านมา และแน่นอนว่าวงดนตรีต่าง ๆ มีความใกล้ชิดกัน คนนี้ก็อาจจะเล่นคลับนี้ คนนี้อาจจะเล่นบาร์นู้น บาร์นี้ มันก็เป็นเหมือนครอบครัวเดียวกัน เพราะฉะนั้นเมื่อเวลามีเรื่องราวอะไรที่มันเป็นแซด ๆ ที่มันเศร้า ๆ มันก็ไปถึงกันได้
แม้ในปัจจุบันนี้คุณภาพชีวิตก็ยังไม่ได้ดีเท่าไร แต่การที่เรามีดนตรีมาจรรโลงจิตใจเนี่ย นอกจากจะให้ความหมายแล้ว แต่เมื่อถึงเวลาที่เราหมดคุณค่า กลายเป็นบุคคลหนึ่งที่ไม่ค่อยมีใครเหลียวแล อันนี้พูดถึงมุมมองเป็นเรื่องหลุมดำในความแซดนะครับ แต่ว่าในขณะหนึ่ง เพลง ‘ฉันตายไม่ได้’ ของผมตอนที่เดินทางไปเล่นที่อเมริกา มันเป็นบางสิ่งบางอย่างที่ไปโดนใจคน มีหลาย ๆ คนเคยอยู่ในค่ายกักกัน รอเวลาที่จะเดินทางไปในประเทศที่สาม ครอบครัวก็ยังไม่รู้เลยว่าวันพรุ่งนี้จะได้ไปที่ไหน หรือจะได้ไปหรือเปล่า ฉะนั้นเพลงฉันตายไม่ได้ที่ให้กำลังใจ ‘ฉันตายไม่ได้ เพราะฉันรักเธอ จะปล่อยให้เธอเดียวดายได้ไง’ เมื่อเล่นเพลงนี้ในสถานที่ต่าง ๆ ในต่างประเทศหรือแม้แต่ในประเทศเอง ขออนุญาตพูดในต่างประเทศแล้วกัน เขาวิ่งเข้ามากอดผมร้องไห้
ผมกับภรรยาเคยคิดว่าจะฆ่าตัวตาย จะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้แล้ว พอฟังเพลงนี้ขึ้นมาปั๊บ ก็บอกกับตัวเองเลยว่า ยังไงตายไม่ได้ ต้องต่อสู้แล้วก็ก้าวเดินต่อไป นี่แหละเขาเรียกว่าพลังบวกของดนตรีที่สามารถทำให้ใครคนใดคนหนึ่งที่อยู่ตรงไหน อยู่ในตรอกซอกซอยประเทศใด ๆ ก็แล้วแต่ สามารถที่มีพลังแล้วก็สร้างพลังชีวิตในการก้าวเดินต่อไป
The People: วันที่คิดว่าไม่อาจมีชีวิตต่อไปได้ ช่วงเวลานั้นเกิดอะไรขึ้น
ติ๊ก ชิโร่: ที่เห็นชัดเจนที่สุดเลยก็คือ money crisis นะครับ เมื่อกี้เราพูดถึงเรื่องความสำเร็จมาตลอดเลย มาถึง 2540 money crisis ก็ทำลายทุกอย่าง ความฝันว่าจะทำสตูดิโอสกายลาร์คก็หมดไป ต้องหลั่งน้ำตาไปกับสิ่งที่เราไม่สามารถที่จะเอากลับคืนมาได้ การก้าวเดินมาถึงตรงนั้น กลับกลายต้องเริ่มต้นใหม่จากติดลบ เป็นหนี้เป็นสินประมาณ 20 ล้าน ซึ่งมันก็เป็นเรื่องของความโศกเศร้า มันเป็นเรื่องของหลาย ๆ คน หลาย ๆ คนก็ทนไม่ไหว เราก็เลยเห็นในภาพครอบครัวหลาย ๆ ครอบครัวที่แบบว่า ไม่ใช่ลำบากคนเดียว พาครอบครัวมาลำบากด้วย อาจจะถึงที่ผมพูดเมื่อสักครู่คือทำอัตวินิบาตกรรม มันก็ทรมานจิตใจกันมาก มันลึกซึ้งนะครับเรื่องแบบนี้ แต่ผมเองก็ขอบคุณครอบครัวที่ยังดูแลเอาใจใส่แล้วก็ยังอยู่เคียงข้างกันเสมอ ตอนนั้นเราเคยคิดเหมือนกันว่าจะกลับไปที่เยอรมนีแล้วก็ไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่ว่าผมคิดว่าเราเป็นหัวหน้าครอบครัว เราก็ต้องต่อสู้ต่อไป แล้วก็จากการติดลบขนาดมหาศาลตอนนั้นก็ยังทำให้เรายังมีชีวิตอยู่รอดได้ทุกวันนี้ แล้วก็ยังสร้างงานเพลงไปอย่างต่อเนื่องครับ
The People: คุณคิดว่าจะทำเพลงไปจนถึงเมื่อไหร่
ติ๊ก ชิโร่: ก็จนกว่าจะไม่สามารถทำได้ครับ
The People: ถ้าวันหนึ่งยุคสมัยที่คุณทำเพลงได้ ได้ผ่านพ้นไป อยากให้ผู้คนยังจดจำคุณไว้ว่าอย่างไร
ติ๊ก ชิโร่: แน่นอนละครับมันเป็นสิ่งที่ดีงาม หลาย ๆ คนที่เสียชีวิตไปแล้วนะครับ ถ้าเราไปมองดูประโยชน์ ไปมองดูความสุขที่เขามอบให้กับทุกคน แน่นอนละครับ พูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าพวกเขาคือศิลปิน และศิลปินก็เกิดมาเพื่อสร้างความสุขให้กับหลาย ๆ คน เราก็ไปคาราโอเกะก็ร้องเพลงเขา คิดถึงเขา ไม่ว่าในวันที่เขายังอยู่เขาจะได้รับการสรรเสริญหรือไม่ ได้รับค่าตอบแทนคุ้มค่ามากน้อยแค่ไหน ศิลปินก็คือศิลปินวันยังค่ำ ฉะนั้นถ้าเราจะปาหัวใจเข้าใส่เขาก็ไม่ผิดอะไร
ผมมักจะใช้คำเรียกตัวเองว่าผมเป็น ‘ติ๊ก วาไรตี้’ ถ้าจะถามว่าติ๊กเป็นอะไร อย่างเมื่อกี้ก็บอกว่านักร้องใช่ไหมครับ เป็นนักร้อง เป็นนักเต้น เป็นนักแต่งเพลง เป็น arranger เป็นนักพากย์หนัง เป็นนักจัดรายการวิทยุ เป็นศิลปินวาดภาพ เป็นประติมากร เป็นนักประดิษฐ์ เป็นนัก CSR นักอนุรักษ์ธรรมชาติ นักอะไรต่อนักอะไรเยอะแยะมากมาย แต่ว่าด้วยพื้นฐานของผมแล้ว ผมทำมาจากความรัก เพราะฉะนั้นผมเองในวันนี้น่าจะเป็นติ๊ก วาไรตี้น่าจะเหมาะที่สุด ผมเป็นนักขี่จักรยาน เป็นนักขี่มอเตอร์ไซค์ ผมเป็นนักวิ่งมาตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ ตั้งแต่มัธยมมาจนถึงวิทยาลัย มหาวิทยาลัยก็เป็นนักกีฬา
คือเป็นทุกสิ่งอย่างที่จะสามารถทำประโยชน์ได้ แต่ไม่ได้เป็นแฮกเกอร์ ไม่ได้เป็นคนขี้ขโมย ไม่ได้เป็นคนเลว ไม่ได้เป็นคนที่โกหก ไม่ใช่เป็นคนที่ทำอะไรที่ไร้สาระ นั่นน่ะไม่ใช่ติ๊ก ชิโร่แน่นอน
The People: อยากให้คุณฝากผลงานสักหน่อย
ติ๊ก ชิโร่: ก็คงจะต้องฝากบอกอย่างนี้ครับว่า เส้นทางการเดินทางของผมนั้นมันมีทั้งโรยด้วยกลีบกุหลาบ โรยด้วยขวากหนาม โรยด้วยก้อนหิน ต้องปีนภูผา ต้องปีนหน้าผา ต้องผ่านทะเลที่เชี่ยวกราก แม่น้ำที่ไหลแรง ความอดอยาก ความอดทน ทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นหลอมรวมเป็นติ๊ก ชิโร่
วันนี้ผมเองก็ต้องฝากเครดิตให้กับทีม LOMABin ที่รังสรรค์เพลงใหม่ของติ๊ก ชิโร่ที่มีชื่อว่า ‘หยุดเสียที’ ไม่ว่าจะเป็นคุณเบิ้ม เป๊กวง Zeal คุณป้อ คุณอั๋น แล้วก็สมาชิกอีกหลาย ๆ คนที่ช่วยกันรังสรรค์เพลงนี้ขึ้นมา และนี่ก็เป็นสัญญาณอีกอันหนึ่งที่ติ๊ก ชิโร่อยากจะฝากบอกว่า ผมจะอยู่เคียงข้างแฟนคลับ เอฟซี แฟนเพลงของผมตลอดไป และอยากจะให้ทุกคนได้ช่วยติดตามผลงานของผมในทุก ๆ ช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นเพจของติ๊ก ชิโร่เองนะ TIK เว้นวรรค SHIRO หรือแม่แต่ใน YouTube ถ้าอยากจะนึกถึงเพลงของติ๊ก ชิโร่ก็ย้อนกลับไป ไปดูว่าผมทำอะไรไว้บ้าง แล้วก็ย้อนกลับมาดูตรงนี้ว่าผมทำอะไรไว้บ้าง
สิ่งที่ผมมอบให้กับเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ มันเป็นสิ่งพิเศษจากผม แล้วผมเองก็สามารถบอกได้ว่าผมจะไม่ทำให้ทุกท่านผิดหวัง ไม่ทำให้พี่ เพื่อน น้อง ใครใด ๆ ต้องผิดหวังในตัวติ๊ก ชิโร่ และผมเชื่อเหลือเกินว่าจากวันนี้ผมยังมีอีกมากมายในการที่จะนำเสนอมาให้กับเอฟซี แฟนคลับ แฟนเพลงของผม แต่ว่าวันนี้อย่างไรก็ตามช่วยกันผลักดันเพลง ‘หยุดเสียที’ ซึ่งมีความไพเราะ แล้วก็ผมว่าน่าจะโดนใจเพื่อน ๆ พี่น้อง แล้วก็ใครหลาย ๆ คน ไม่ว่าจะเป็นแฟนคลับ เอฟซีเก่า แฟนคลับ เอฟซีใหม่ หรือแม้แต่พี่ เพื่อน น้อง คนรุ่นใหม่ ที่ยังไม่เคยสัมผัสกับติ๊ก ชิโร่ ไม่ว่าจะเป็นลูกเล็กเด็กแดงก็ตาม ฉะนั้นในฐานะที่เป็นคนคนหนึ่งที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการนี้ ยังมีพลังเสมอในการที่จะก้าวเดินต่อไปเพื่อนแฟนคลับ ผมเองมีหน้าที่ในการที่จะมีความรับผิดชอบแล้วก็ตอบแทนบุญคุณของ พี่ เพื่อน น้อง แฟนคลับ เอฟซีของติ๊ก ชิโร่ทุก ๆ คนครับ อย่าลืมติดตามแล้วก็ช่วยกันกดไลก์ กดแชร์ กด subscribe แล้วก็แชร์กันมาเยอะๆ นะครับ ขอบคุณมากครับ
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3492
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6940
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
820
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Interview
The People
ติ๊ก ชิโร่
TIK SHIRO
หยุดเสียที
NFT Music