ทอมมี่ ฮิลฟิเกอร์: จากบุคคลล้มละลายตอนอายุ 25 สู่เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าสุดคลาสสิกของอเมริกันชน

ทอมมี่ ฮิลฟิเกอร์: จากบุคคลล้มละลายตอนอายุ 25 สู่เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าสุดคลาสสิกของอเมริกันชน
นับตั้งแต่โทมัส เจคอบ ฮิลฟิเกอร์ (Thomas Jacob Hilfiger) เปิดตัว ‘ทอมมี่ ฮิลฟิเกอร์’ (Tommy Hilfiger) แบรนด์เสื้อผ้าที่ปฏิวัติอุตสาหกรรมแฟชั่นของชาวอเมริกันในปี 1985 ก็ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากเหล่าชายหนุ่มผู้นิยมชมชอบในการแต่งกายด้วยสไตล์ง่าย ๆ แต่แฝงด้วยความเท่แบบคลาสสิก ไม่ว่าจะเป็นเสื้อเชิ้ตออกซ์ฟอร์ด สเวตเตอร์ไหมพรมแบบ Cable Knit กางเกงชิโนเข้ารูปสีอ่อน ตบท้ายด้วยรองเท้า Penny Loafers สักคู่ เท่านี้ก็ดูดีแบบไม่ต้องพยายามแล้ว ซึ่งการแต่งตัวเรียบ ๆ หรือที่เรียกกันว่า ‘เพร็พพี่’ (Preppy Style) ได้กลายเป็นหนึ่งในสไตล์ ‘สุดคูล’ ที่ครองใจชาวอเมริกันมานานนับศตวรรษ แต่เชื่อหรือไม่ว่า ก่อนหน้านี้ฮิลฟิเกอร์คือเด็กหนุ่มอ่อนประสบการณ์ผู้ไม่รู้แม้กระทั่งวิธีการทำบัญชี จนต้องกลายเป็นบุคคลล้มละลายในวัยเพียง 25 ปี นี่คือเรื่องราวของเขากับเส้นทางกว่าจะเป็นแบรนด์ที่ชาวอเมริกันและทั่วโลกให้การยอมรับ ทอมมี่ ฮิลฟิเกอร์: จากบุคคลล้มละลายตอนอายุ 25 สู่เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าสุดคลาสสิกของอเมริกันชน เด็กหนุ่มผู้ทระนง ทอมมี่ ฮิลฟิเกอร์ เกิดวันที่ 24 มีนาคม 1951 เมืองเอลมิรา รัฐนิวยอร์ก เป็นลูกคนที่ 2 จากพี่น้อง 9 คน ความใฝ่ฝันตั้งแต่เด็กของเขาคือการเป็นดีไซเนอร์ โดยในปี 1969 ด้วยวัย 18 ปี และศึกษาอยู่ระดับมัธยมปลาย เขาได้เลือกที่จะเสี่ยงลงทุนเปิดธุรกิจเล็ก ๆ ร่วมกับเพื่อนร่วมชั้นในบ้านเกิดของตัวเอง ใช้ชื่อร้านว่า People’s Place  ธุรกิจของเด็กวัย 18 ปีได้รับกระแสตอบรับอย่างล้นหลาม ผู้คนทั่วทั้งเมืองต่างตบเท้าเข้าแถวรอคิวซื้อกางเกงยีนส์ทรงขากระดิ่งสุดจ๊าบกันอย่างคับคั่ง นอกจากเสื้อผ้าสไตล์อเมริกันแท้ ๆ แล้ว ภายในร้านยังขายเทียนไข และสินค้ายอดฮิตอื่น ๆ ที่ส่งตรงมาจากนิวยอร์กซิตี้ “ตอนผมเรียนมัธยมปลาย ผมเริ่มทำธุรกิจตัวแรกร่วมกับเพื่อนร่วมห้องอีก 2 คน เราเริ่มจากสั่งกางเกงยีนส์จากนิวยอร์กมาขาย จากนั้นเราก็ตัดสินใจเปิดร้าน People's Place ขึ้นมา เป็นคุณจะเชื่อไหมล่ะว่าร้านเล็ก ๆ ของเราได้รับกระแสตอบรับอย่างระเบิดระเบ้อขนาดนี้!” แน่นอนว่า ความสำเร็จจากธุรกิจแรกทำให้เขานึกครึ้มใจ จึงตัดสินใจไม่เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย เพราะฮิลฟิเกอร์เชื่อว่าเขาพร้อมแล้วที่จะต่อสู้กับโลกใบนี้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องหวังพึ่งใบปริญญา “ผมไม่เรียนต่อมหาวิทยาลัย ผมบอกกับครอบครัวแบบนั้น แน่นอนว่าพวกเขาผิดหวัง แต่ผมอยากจะลองเรียนรู้โลกธุรกิจด้วยตัวเอง ผมเชื่อมั่นอย่างสุดหัวใจเลยว่า ผมสามารถสู้กับโลกใบนี้และเติบโตในโลกธุรกิจได้ โดยไม่ต้องพึ่งใบปริญญา ผมจะคว้าปริญญาจากโลกแห่งความจริง” People’s Place รุ่งเรืองมาจนถึง 7 ปี จนกระทั่งล่มสลายลงในปลายทศวรรษ 1970 ฮิลฟิเกอร์กลายเป็นบุคคลล้มละลายในวัยเพียงแค่ 25 ปี เพราะมัวแต่ทุ่มเทให้กับดีไซน์เสื้อผ้ามากเกินไป จนละเลยพื้นฐานการทำธุรกิจที่สำคัญที่สุดอย่าง ‘การเงิน’ “ผมเรียนรู้พื้นฐานการทำธุรกิจจากประสบการณ์ของตัวเอง เพราะที่ผ่านมาผมมัวแต่ให้ความสำคัญกับดีไซน์ แต่ขาดความรอบคอบในการบริหารเงิน ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ผมได้เรียนรู้วิธีการอ่านงบดุล เรียนรู้วิธีควบคุมรายจ่ายที่ไม่จำเป็น และสร้างธุรกิจขึ้นมาด้วยงบประมาณที่รัดกุมที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผมรู้ดีว่ากรณีศึกษาพวกนี้คุณสามารถเรียนรู้ได้ในชั้นเรียน ผ่านธุรกิจของบริษัทอื่น แต่สำหรับผม ผมมีกรณีศึกษาของตัวเอง” แม้จะกลายเป็นบุคคลล้มละลายแบบไม่ทันตั้งตัว แต่ฮิลฟิเกอร์ไม่ยอมแพ้ เขาเลือกที่จะสู้กับโลกใบนี้อีกครั้ง ในปี 1980 เขาตัดสินใจย้ายไปนิวยอร์ก เพื่อเรียนรู้การออกแบบเสื้อผ้าเพิ่มเติม เพราะนี่คือศาสตร์ที่เขาหลงรักอย่างหัวปักหัวปำมาตั้งแต่เด็ก “ตอนนั้นผมอายุ 28 ผมตั้งกลุ่มดีไซเนอร์ขึ้นมา และนำผลงานการออกแบบของเราไปเสนอต่อบริษัท Jordache (บริษัทเสื้อผ้าสัญชาติอเมริกันที่มีความโดดเด่นในเสื้อผ้าประเภทยีนส์) พวกเขาชื่นชอบงานของเรามาก แต่มันไม่ใช่สไตล์ที่เขาต้องการ เขาอยากจะอยู่ในกรอบของ ‘ยีนส์’ ต่อไป เราก็เลยต้องกลับบ้านไปมือเปล่า” จากความสามารถด้านการดีไซน์ที่โดดเด่นของฮิลฟิเกอร์ เขาจึงได้รับการทาบทามให้เป็นผู้ช่วยดีไซเนอร์ร่วมกับแบรนด์ดังอย่าง Calvin Klein และ Perry Ellis แต่เขากลับเลือกที่จะปฏิเสธข้อเสนอทั้งหมดไป แม้ว่าชีวิตในตอนนั้นจะอับจนหนทางมากแค่ไหนก็ตาม “ผมกลับมายืนอยู่ที่เดิม สมองมันขาวโพลนไปหมด แต่แล้วก็คิดได้ว่า หรือจริง ๆ เราควรสร้างแบรนด์ของตัวเองขึ้นมา” เหมือนฟ้าจะเป็นใจ ฮิลฟิเกอร์เจอกับ โมฮัน มูร์จานี (Mohan Murjani) นักธุรกิจชาวอินเดีย ผู้ที่อยากจะสร้างแบรนด์เสื้อผ้าสำหรับสุภาพบุรุษสักแบรนด์ที่มีดีไซน์อันเป็นเอกลักษณ์ ไม่หวือหวามากจนเกินไป แต่ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเรียบง่าย เท่ และทันสมัยในเวลาเดียวกัน ในปี 1985 ‘ทอมมี่ ฮิลฟิเกอร์’ แบรนด์เสื้อผ้าสัญชาติอเมริกันที่มีสีโดดเด่นสะดุดตาอย่าง ‘ขาว - น้ำเงิน - แดง’ จึงได้ถือกำเนิดขึ้น และกลายเป็นผู้บุกเบิกวงการแฟชั่นชุดลำลองสุดเท่มาจนถึงปัจจุบัน ทอมมี่ ฮิลฟิเกอร์: จากบุคคลล้มละลายตอนอายุ 25 สู่เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าสุดคลาสสิกของอเมริกันชน การตลาดที่โดดเด่นจนทำให้ทุกคนต้องเหลียวมอง อันที่จริงทอมมี่ไม่ได้มาเพราะโชคช่วยเพียงอย่างเดียว ทุกอย่างเขาวางแผนมาอย่างดี ตั้งแต่การว่าจ้างครีเอทีฟมือดีเข้ามาช่วยดูแลแคมเปญการตลาด ไปจนถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเปิดตัวคอลเลกชันแรก ที่เขาคิดแล้วคิดอีกว่าชาวอเมริกันต้องการอะไร จนได้คำตอบว่า ‘ความเรียบง่าย’ คือสิ่งที่หลายคนมองหา ‘Preppy with twist’ จึงกลายเป็นสไตล์อันเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ เพราะไม่ว่าจะหยิบจับชุดไหนมาแมตช์ก็ดูดี อีกทั้งยังสวมใส่สบายอีกต่างหาก ไม่ใช่แค่ดีไซน์ของเสื้อผ้าเท่านั้นที่โดดเด่น แต่แคมเปญการตลาดก็น่าสนใจไม่แพ้กัน มูร์จานีถึงขั้นนำชื่อของฮิลฟิเกอร์ไปแปะไว้บนป้ายบิลบอร์ดกลางไทม์สแควร์ โดยระบุข้อความว่า “4 นักออกแบบเสื้อผ้าบุรุษชาวอเมริกันผู้ยิ่งใหญ่แห่งปี ได้แก่ ‘R-L-, P-E-, C-K- และ T-H-’“ ซึ่ง R-L หมายถึง Ralph Lauren, P-E หมายถึง Perry Ellis, C-K หมายถึง Calvin Klein และคนสุดท้ายคือ T-H หรือก็คือ Tommy Hilfiger ชื่อของ Tommy Hilfiger ไม่ได้ปรากฏเป็นข้อความเด่นหรา แต่มาเพียงรูปธงโลโก้สีขาว - น้ำเงิน - แดง สร้างความตราตรึงใจให้แก่ผู้พบเห็นอย่างมาก เพราะคงมีน้อยคนนักที่คิดแคมเปญสุดเจ๋งแบบนี้ขึ้นมา แม้จะไม่มีชื่อแบรนด์ แต่โลโก้ที่อยู่บนแผ่นป้ายก็ฝังลึกอยู่ในความทรงจำของผู้พบเห็นเป็นที่เรียบร้อย ส่งผลให้ในปี 1988 ทอมมี่ ฮิลฟิเกอร์ กวาดรายได้ไปได้ราว 25 ล้านเหรียญสหรัฐ จากแคมเปญโฆษณาครั้งนั้น “ช่วงกลางทศวรรษ 1990 เรามีรายได้สูงถึง 500 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อจบไตรมาส ยอดขายของเราก็พุ่งทะยานไปถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ผมคิดว่านี่แหละคือความสำเร็จที่ได้มาจากความพยายามผสมกับโชคช่วยอีกนิดหน่อย แต่การทำงานหนักทำให้เรามาถึงจุดนี้ รวมถึงการทำตามแผนธุรกิจที่เราวางไว้มาเป็นอย่างดี” เส้นทางการทำธุรกิจกำลังไปได้สวย แต่กลับต้องถึงคราวชะงักงันลงอีกครั้ง เนื่องจากฮิลฟิเกอร์หันไปทุ่มกำลังการผลิต ผลิตสินค้าออกมาจำนวนมากเกินความจำเป็น เพราะเห็นว่าทุกคนกำลังเรียกร้องการหวนคืนสู่ความเรียบง่าย ฮิลฟิเกอร์กำลังสู้กับโลกอย่างสุดชีวิต แต่ดูเหมือนว่าโลกธุรกิจกำลังสู้กลับเขาอย่างหนักหน่วงไม่แพ้กัน… ทำให้ในปี 2006 ฮิลฟิเกอร์ตัดสินใจขายหุ้นกลุ่มผลิตภัณฑ์ 14 กลุ่ม เช่น น้ำหอม ของแต่งบ้าน และเครื่องประดับ ในราคา 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐให้กับพาร์ทเนอร์รายอื่น ๆ และอีก 4 ปีให้หลัง บริษัทเสื้อผ้าสัญชาติอเมริกัน PVH หรือ Phillips-Van Heusen เจ้าของแบรนด์ดังอย่าง Calvin Klein ได้เข้ามาซื้อบริษัทในราคา 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมถึงปรับเปลี่ยนโครงสร้างบริษัทใหม่ด้วยการจ้าง CEO มาดูแลด้านการบริหาร และให้ฮิลฟิเกอร์ทำหน้าที่ดีไซเนอร์ของแบรนด์อย่างเต็มตัวแทน   ทอมมี่ ฮิลฟิเกอร์: จากบุคคลล้มละลายตอนอายุ 25 สู่เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าสุดคลาสสิกของอเมริกันชน เสื้อผ้าที่ตอบโจทย์ทุกความแตกต่าง ปัจจุบัน ทอมมี่ ฮิลฟิเกอร์ มีการแตกไลน์เสื้อผ้าออกมามากมาย แต่หนึ่งในไลน์ที่โดดเด่นที่สุดคงหนีไม่พ้น ‘Tommy Hilfiger Adaptive’ ที่เปิดตัวมาในปี 2016 โดยเริ่มจากการผลิตเสื้อผ้าสำหรับเด็กผู้พิการ เนื่องจากฮิลฟิเกอร์และภรรยา ‘ดี โอคเลปโป’ (Dee Ocleppo) ทั้งคู่มีลูก 3 คนที่เป็นออทิสติก ทำให้เขาเห็นถึงความยากลำบากในการสวมใส่เสื้อผ้า คอลเลกชันนี้จึงเป็นดั่งหมุดหมายสำคัญที่ทำให้เขากล้าที่จะลุกขึ้นมาปฏิวัติอุตสาหกรรมแฟชั่นอเมริกาอีกครั้ง “ผมเห็นลูก ๆ มีปัญหากับการติดกระดุมเสื้อและผูกเชือกรองเท้า เลยคิดว่าเราควรจะมีเสื้อผ้าที่ตอบโจทย์ทุกความหลากหลายดู เลยเป็นที่มาของ Tommy Hilfiger Adaptive เพราะแฟชั่นไม่ควรถูกจำกัดอยู่แค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แฟชั่นควรเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้” หลังจากประกาศเปิดตัวในปี 2016 ยอดสั่งซื้อก็มีเข้ามาอย่างถล่มทลาย จากนั้นในปีต่อมาจึงแตกไลน์ออกมาเป็นเสื้อผ้าผู้ใหญ่ที่ครอบคลุมทุกเพศทุกวัย อย่างละไม่ต่ำกว่า 30 สไตล์ มีตั้งแต่กางเกง เสื้อเชิ้ต แจ็กเกต สเวตเตอร์ และชุดเดรส ทั้งหมดนี้เขาไม่ได้ทำเพื่อคนในครอบครัวเท่านั้น แต่ทำเพื่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน “การแต่งตัวควรเป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้ทุกคนมีความสุข ทำให้ทุกคนดูดีในแบบของตัวเอง และรู้สึกดีทุกครั้งที่ได้สวมใส่เสื้อผ้าที่พวกเขาเลือกมาเองกับมือ Tommy Hilfiger Adaptive จึงเป็นอีกหนึ่งก้าวใหญ่ของเราที่จะเข้ามาปฏิวัติการแต่งตัวในชีวิตประจำวันสำหรับผู้ทุพพลภาพ ทำให้พวกเขามีอิสระและมั่นใจในการแสดงความเป็นตัวของตัวเองออกมา” ย้อนกลับไปในปี 1995 ฮิลฟิเกอร์ได้จัดตั้งมูลนิธิ Tommy Hilfiger Corporate Foundation องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรร่วมกับ PVH โดยมีพันธกิจร่วมกันคือปกป้องดูแลความเป็นอยู่ของเด็ก ๆ พิทักษ์สัตว์ป่า รวมถึงสนับสนุนเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากภัยสงคราม เรียกได้ว่าฮิลฟิเกอร์ไม่ได้เป็นเพียงนักธุรกิจที่ทำงานเพื่อผลกำไรเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่ยังใส่ใจชีวิตความเป็นอยู่ของเพื่อนร่วมโลก และยิ่งมีคนในครอบครัวเป็นออทิสติก ยิ่งทำให้เขาคำนึงถึงความยากลำบากในการใช้ชีวิตของผู้ที่มีความแตกต่างทางด้านร่างกายมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าจะเป็นแบรนด์อเมริกันที่มีอายุเกือบ 40  ปี แต่ฮิลฟิเกอร์ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเขาพร้อมจะปรับตัวเพื่อรองรับทุกความเปลี่ยนแปลง และทุกความเคลื่อนไหวก็สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วอุตสาหกรรมแฟชั่นไม่น้อย ‘ทอมมี่ ฮิลฟิเกอร์’ จึงยังคงมีชีวิตรอดอยู่ท่ามกลางโลกแฟชั่น โลกที่มีการแข่งขันอย่างดุเดือดไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าอุตสาหกรรมไหน ๆ เพราะเขาเชื่อว่าการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้นั้น จะต้องอาศัยความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า และต้องไม่ลังเลที่จะลงมือทำ “ขอแค่คุณมีความฝัน และอย่ายอมแพ้กับมัน ตั้งมั่นในเป้าหมายเข้าไว้ อย่าได้ไขว้เขว และต้องซื่อสัตย์กับตัวเองให้มากที่สุด แล้วจะเห็นเองว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตคุณ”   ภาพ: https://th.m.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%A5%E0%B9%8C:Tommy_Hilfiger_portrait_2009_-_Tommy_Hilfiger_(cropped).jpg . อ้างอิง: https://global.tommy.com/en_int/about-us-biography https://usa.tommy.com/en/tommy-hilfiger-heritage?icid=2.1-tommystories-learn_more-explore-more-row-desktop-20220124 https://www.businessoffashion.com/community/people/tommy-hilfiger https://www.forbes.com/sites/danschawbel/2016/11/01/tommy-hilfiger-the-inspirations-that-made-him-become-a-fashion-icon/?sh=3ba1219c1668 https://www.imdb.com/name/nm0383966/bio?ref_=nm_ov_bio_sm https://everyhuman.com.au/blogs/blog/behind-the-brand-tommy-hilfiger-adaptive https://sourcingjournal.com/denim/denim-brands/tommy-hilfiger-adaptive-disabilities-modifications-velcro-inclusivity-nike-270291/ https://www.wolfandfriends.com/blog/dee-hilfiger-tommy-hilfiger-raising-children-on-the-autism-spectrum